รายงาน: ITU จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ไทยควรมีท่าทีอย่างไร

สรุปประเด็นเวที NBTC Public Forum ครั้งที่ 9 หัวข้อ ITU จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต : ไทยควรมีท่าทีอย่างไร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ณ อาคารหอประชุม กสทช.

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า หัวข้องานเสวนาในครั้งนี้เป็นเรื่องการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตซึ่งน่าจะมีการจัดประชุมเป็นครั้งแรก โดยหน้าที่การกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตจะมีความคาบเกี่ยวระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ กสทช. โดย กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาตบริการอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคม ส่วนกระทรวง ICT จะผลักดันการพัฒนา ICT และดูแลนโยบายระดับชาติ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเวทีระดับโลกที่จะกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จึงเป็นโอกาสดีที่ภาคประชาสังคมและผู้บริโภค จะได้ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับสากลและระดับชาติ และมีข้อเสนอในการกำหนดท่าทีของรัฐบาลไทยและองค์กรอิสระอย่าง กสทช.

พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวว่า งานนี้จัดขึ้นเนื่องจากตามที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จะมีการพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับการกำกับดูแลบริการอินเทอร์เน็ต โดยจะมีการพิจารณา และตัดสินใจขยายขอบเขตของข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITRs) ตามเอกสาร Draft of the future ITRs ให้รวมถึงบริการอินเทอร์เน็ต ในการประชุมว่าด้วยการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (World Conference on International Telecommunications : WCIT)  ณ ประเทศดูไบ ที่จะจัดขึ้นในสัปดาห์ที่หนึ่ง-สอง ของเดือนธันวาคม ในระหว่างวันที่  3 - 14 ธันวาคม 2555 ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องผูกพันตามร่างหลักเกณฑ์ที่จะมีการพิจารณาในการประชุมข้างต้น และโดยที่เรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT ในฐานะเป็น ITU Administrator และ กสทช. ในฐานะขององค์กรกำกับดูแลต่อไป

ดังนั้น ข้อคิดเห็น และข้อพิจารณาที่ได้จากงานเสวนาในวันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการที่จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในการใช้ประกอบการกำหนดท่าที และใช้พิจารณาการจัดทำร่างหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมที่จะเกิดประโยชน์ที่ดีที่สุดต่อประเทศไทย ซึ่ง กสทช. และกระทรวง ICT จะได้ดำเนินการนำเสนอในที่ประชุมดังกล่าวในเดือนธันวาคมต่อไป
 

6 ข้อกังวลแก้หลักเกณฑ์ "ควบคุม" การใช้เน็ต
ดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (ISOC) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ทุกวันนี้ที่เราใช้อินเทอร์เน็ตฟรีเพราะเกิดจากการพัฒนาเครือข่ายระบบโดยปราศจากการลงทุนของภาครัฐ โดย ISOC มีวิสัยทัศน์ว่า “Internet is for Everyone” ซึ่งมีหลายองค์กรอิสระที่มีบทบาทหน้าที่เฉพาะ เช่น IETF, W3C, ICANN ที่ควบคุมมาตรฐานในบางด้าน แต่องค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรวิชาชีพ ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) เป็นองค์กรนานาชาติด้านโทรคมนาคม ที่พยายามเข้ามากำกับดูแลอินเทอร์เน็ตอยู่เรื่อยๆ

ข้อบังคับของ ITU ที่สำคัญที่เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คือ International Telecommunication Regulations (ITRs) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่สำคัญในการดำเนินกิจการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ โดยมีการแก้ไขครั้งสุดท้ายในปี 1988 (ก่อนอินเทอร์เน็ตถือกำเนิดขึ้นในปี 1992) ซึ่งถือว่าข้อบังคับนี้ใช้มายาวนานกว่า 25 ปีโดยไม่ได้มีการแก้ไข  ในการประชุม WCIT-12 นี้ จะมีการทบทวนแก้ไข ITRs โดยประเทศไทยต้องเสนอจุดยืนผ่าน APT (Asia Pacific Telecommunity) ก่อน ซึ่งเป็นการประชุมของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกที่มีสมาชิก 38 ประเทศ จะมีการจัดประชุมครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทยในวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นครั้งสุดท้ายก่อนการประชุม WCIT-12

กลุ่มประเทศ APT ได้เสนอประเด็นแก้ไขไว้ 15 ประเด็น โดยมี 6 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ดังนี้

1. กำหนดให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตต้องจ่ายตามการใช้งานแบบ Pay per usage (หรือ pay-per-click) ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตจ่ายเป็นแพ็คเกจ การใช้บริการอื่นบนอินเทอร์เน็ต เช่น VOIP ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

2. กำหนดให้ผู้ให้บริการสารสนเทศ (Information service provider) จะต้องจ่ายเงินให้เจ้าของเครือข่าย หรือ Network operator (Sender Pay Model)

3. กำหนดให้มีการเปิดเผยประวัติการใช้งานของผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะรวมถึงผู้ใช้ทั่วไปและกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจธนาคาร โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เป็นต้น เพื่อต้องการควบคุมเนื้อหา (content) ที่อาจเป็นภัยต่อประเทศต่างๆ  ถ้าเงื่อนไขข้อนี้ผ่าน อาจมีปัญหาในอนาคตว่ากฎหมายจากประเทศอื่นๆ อาจมีสิทธิเหนือประเทศไทยที่สามารถนำข้อมูลของผู้ใช้งานในไทยไปได้ หรืออาจส่งผลให้เกิด 2 network แบบควบคุม (ใหม่) และแบบไม่ควบคุม (ปัจจุบัน) โดยแนวคิดของอินเทอร์เน็ตแบบควบคุมได้ คือมีองค์กรที่เข้าถึงทราฟฟิกของทุกคน รู้ว่าใครส่งอะไรไปหาใคร ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าใครจะลงทุนสร้างระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อควบคุมในส่วนนี้

4. กำหนดให้มีนิยาม Spam และขยายขอบเขตของ Cyber-security ให้ครอบคลุมถึงเนื้อหา (content), crime, security ด้วย ซึ่งการประชุมในปี 2010 ทุกประเทศเคยตกลงกันไว้ว่าจะไม่มี 3 ประเด็นนี้ คือ content, crime, security อยู่ในกรอบ ITRs แต่ก็ยังมีบางประเทศเสนอประเด็นดังกล่าวเข้ามา

5. กำหนดให้อินเทอร์เน็ตอยู่ภายใต้สนธิสัญญาใหม่ เช่น การกำหนดนิยาม ICT, Quality of Service ซึ่งสนธิสัญญาปัจจุบันมีไว้เพื่อควบคุมธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับอินเทอร์เน็ต

6. กำหนดให้สนธิสัญญาใหม่เป็นเชิงบังคับ (mandatory) ซึ่งต้องทำตามทุกอย่าง โดยเทียบกับสนธิสัญญาในปัจจุบันที่เป็นลักษณะสมัครใจ (voluntary) โดยสามารถกำหนดข้อยกเว้นได้

อนึ่ง บริการอินเทอร์เน็ตกับระบบโทรคมนาคมพื้นฐานมีความแตกต่างกันหลายประการ ดังนี้
1. การลงทุน (Investment)  ระบบโทรศัพท์ใช้เงินลงทุนมาก การกำหนดค่าบริการจำเป็นต้องคำนึงถึงเงินลงทุนและปัจจัยตลาด (capital recovery, high cost) ส่วนการลงทุนสร้างระบบอินเทอร์เน็ตไม่ได้ใช้เงินลงทุนมหาศาล เพราะทุกๆ เครือข่ายที่อยู่ในระบบจะลงทุนในส่วนที่ให้บริการ แต่อาศัยการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ ในการให้บริการแทน ดังนั้นค่าบริการอินเทอร์เน็ตไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนแต่อยู่ที่ความพอใจของผู้ใช้ ซึ่งปัจจุบันต้นทุนและค่าบริการอินเทอร์เน็ตถือว่าสอดคล้องกันและยิ่งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นจะยิ่งทำให้ค่าบริการน้อยลง หรือผู้ใช้สามารถเลือกใช้ตามกำลังซื้อหรือรายได้ (use more, pay less)

2. การให้บริการ(Service Delivery) ระบบโทรศัพท์อาศัยการเชื่อมโยงกับสายปลายทาง โดยจะต้องกำหนดราคาล่วงหน้ากับระบบโทรศัพท์เครือข่ายอื่น แต่ระบบอินเทอร์เน็ตไม่จำเป็นต้องจองหรือเช่าคู่สายหรือวงจร การส่งข้อมูลหรือสารสนเทศในอินเทอร์เน็ตสามารถทำได้หลายทาง โดยไม่ต้องขออนุญาตล่วงหน้า ซึ่งทำให้การทำงานของอินเทอร์เน็ตเร็วและมีต้นทุนต่ำ อีกทั้งระบบโทรคมนาคมปัจจุบันอาศัยการควบคุมเป็นหลัก (centralised) โดยจะกำหนดตามการใช้งาน ปริมาณงาน(traffic) และประเภทบริการซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าของเครือข่าย ตรงกันข้ามกับระบบอินเทอร์เน็ตที่ปราศจากการควบคุมจากฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น (self regulating) เพราะระบบอินเทอร์เน็ตได้ใช้หลักเสรี ซึ่งแปลว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมีฐานะเท่าเทียม(net neutrality=connection-less)

3. ความยืดหยุ่นในการใช้งาน (Scalable and flexible) ระบบโทรคมนาคมปัจจุบันอาศัยเทคโนโลยีที่พึ่งอุปกรณ์ที่แพงและใช้เวลาในการติดตั้งใช้นานเพราะจำเป็นที่จะต้องครอบคลุมพื้นที่ที่จะให้บริการในระยะยาว ส่วนระบบอินเทอร์เน็ตอาศัยเทคโนโลยีที่หลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายโทรศัพท์เท่านั้นเพราะสามารใช้เทคโนโลยีอื่น เช่น ดาวเทียม ระบบไร้สาย คลื่นความถี่ คลื่นโทรทัศน์ คลื่นไมโครเวฟ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การขยายเครือข่ายบริการอินเทอร์เน็ตรวดเร็วขึ้น และตุ้นทุนไม่สูง เมื่อเทียบกับเครือข่ายโทรศัพท์

4. นวัตกรรม (Innovation) ในเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ระบบอินเทอร์เน็ตได้ผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ ซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่ให้ผู้ใช้เป็นผู้กำหนด และไม่ต้องขออนุญาต หรือสมัครใช้ หรือจ่ายค่าใช้บริการใดๆ (open standard/software) ส่วนระบบโทรคมนาคมปัจจุบัน นวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นยากเพราะเป็นเทคโนโลยีที่อาศัยอุปกรณ์เป็นหลัก ซึ่งจะกำหนดมาตรฐานจากโรงงาน

5. ความมั่นคงของเครือข่าย (Network Security) ระบบโทรคมนาคมปัจจุบันอาศัยการส่งสารสนเทศผ่านสายโทรศัพท์ ซึ่งสามารถดักฟังได้ ยกเว้นเป็นสายโทรศัพท์ส่วนตัว ส่วนระบบอินเทอร์เน็ต เป็นการส่งข้อมูลหรือสารสนเทศในลักษณะกลุ่มข้อมูลที่ซอยลงมาก่อน (package) ส่งไปสู่ปลายทาง และระบบจะประกอบข้อมูลที่ซอยลงมานั้นเมื่อถึงปลายทางเท่านั้น ดังนั้นระบบอินเทอร์เน็ตจะทำงานในลักษณะ Best Effort (Embedded security) ตรงกันข้ามกับระบบโทรศัพท์ที่จะวัดประสิทธิภาพด้วยอัตราความสำเร็จในการโทรออกหรือรับสายปลายทางเท่านั้น

ถ้าสังคมต้องการให้อินเทอร์เน็ตปัจจุบันที่ใช้คงอยู่กับเราต่อไปได้เหมือนเดิม เราก็จะต้องถามตัวเองว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่ซึ่งจะให้อินเทอร์เน็ตไปอยู่ภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ควบคุมบริการโทรคมนาคม จะส่งผลที่เป็นบวกหรือเป็นลบสำหรับบริการอินเทอร์เน็ตของเรา

หวั่นอินเทอร์เน็ตถูกควบคุม ไม่เกิด "นวัตกรรม"
กาญจนา กาญจนสุต ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตในยุคบุกเบิกไม่มีการควบคุมโดยรัฐ (Governance without Governments) โดย 20 ปีแรก อินเทอร์เน็ตเติบโตขึ้นโดยไม่มีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการไม่ยุ่งกับรัฐบาลเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะรู้ว่าทำงานกับรัฐบาลต้องใช้เวลา และเป็นปัญหาต่อการสร้างนวัตกรรม โดยขณะนั้นมีองค์กรกำกับดูแล 2 องค์กร ได้แก่ Internet Engineering Task Force (IETF) ดูแลมาตรฐานของเทคโนโลยี และ Internet Assigned Numbers Authority (IANA) ดูแลทรัพยากรหลัก (core resources) เช่น Name & Address ของอินเทอร์เน็ต

ในยุคต่อมาเริ่มมีองค์กรอื่นๆ เกิดขึ้น เช่น Internet Society (ISOC) ตั้งขึ้นในปี 1992 โดยกลุ่ม activist ในฐานะเป็น non-profit educational organization เพื่อผลักดันอินเทอร์เน็ตให้พัฒนาขึ้นในวงกว้าง และ W3C ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับเว็บ โดยดูแลพัฒนาการทางเทคนิคด้านเว็บ และกำหนดมาตรฐาน เช่น Web Design and Applications ซึ่งโครงสร้างการกำกับดูแลในยุคนี้ จะมี IETF และ W3C ดูแลด้านเทคโนโลยี และ IANA และ ICANN ดูแลด้าน domain name, address, protocol

ทั้งนี้ โครงสร้างของอินเทอร์เน็ตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ใช้วิธีคิดค่าเชื่อมโยงการเข้าถึง (access) อินเทอร์เน็ตเท่านั้น ส่วนการเชื่อมต่อภายในอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้งานไม่ต้องจ่ายเงินใดๆ โมเดลนี้ทำให้ผู้สร้างแอปพลิเคชันหรือเนื้อหาสามารถเติบโตได้ เช่น Skype, Facebook, Youtube เพราะต้นทุนต่ำ เพราะจ่ายเฉพาะค่าเชื่อมโยงปลายทางเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากบริการโทรคมนาคมที่ ITU ควบคุม เพราะต้องจ่ายตามปริมาณข้อมูลที่ใช้บริการ

ITU เป็นหน่วยงานด้านโทรคมนาคมระดับนานาชาติ ถือกำเนิดมานานเป็นร้อยปี เดิมที ITU กำกับดูแลกิจการไปรษณีย์ และภายหลังก็ขยับขยายมาดูเรื่องรัฐวิสาหกิจหรือบริการโทรคมนาคมของรัฐ การออกข้อตกลง ITRs เมื่อปี 1988 ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของ ITU ในการเปิดเสรีภาคโทรคมนาคมในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
ในอดีต ITU ออกมาตรฐานที่แข่งขันกับ "อินเทอร์เน็ต" หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เช่น มาตรฐาน ITU-T X.25 เกิดขึ้นมาในยุค 70s แต่แพ้ให้กับ TCP/IP หรือ ITU-T ที่พยายามเสนอระบบ ATM ในยุค 80s ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีก เพราะกระบวนการออกแบบช้า และเทคโนโลยีราคาแพง เป็นต้น แต่ในปี 2012 ITU ต้องการขยายขอบเขต ITRs ให้รวมอินเทอร์เน็ตด้วย โดยเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2004 แต่เพิ่งผลักดันได้ ซึ่งแนวคิดหลายอย่างได้สร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก

ในส่วนของ ITRs ที่ ITU กำลังจะแก้ไข ด้วยจำนวนสมาชิกร้อยกว่าประเทศ การดำเนินการแก้ไขจึงทำได้ช้า ซึ่งมีแนวคิดเรื่องการควบคุมอินเทอร์เน็ต ทำให้ทุกคนตื่นตัวกันมากและออกมาต่อต้านกันมาก ซึ่งจริงๆ แล้วบริการอินเทอร์เน็ตกับบริการโทรคมนาคมที่ ITU ดูแลอยู่นั้นมีความแตกต่างกันมาก กล่าวคือ ระบบอินเทอร์เน็ต ไม่สนใจว่าข้อมูลที่ส่งคืออะไร เมื่อมีคำสั่งให้ส่งข้อมูลก็ส่ง และผู้ใช้จ่ายเงินปลายทางเพื่อเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีค่าบริการไม่สูง ไม่คิดค่าเชื่อมต่อ และสนับสนุนผู้มีความคิดสร้างสรรค์  ส่วนระบบโทรคมนาคมนั้น ส่งข้อมูลตามที่ต้องการ โดยเก็บเงินตามทราฟฟิค มีต้นทุน ทำให้ค่าบริการสูง

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ดำเนินรายการระบุว่า โครงสร้าง ITU คือ รัฐจะเข้ามากำกับดูแลโดยใช้กฎกติการะหว่างประเทศ ซึ่งมีผลผูกพัน ส่วนอินเทอร์เน็ต แม้รัฐจะมีส่วนร่วมแต่ก็ให้อิสระในการกำกับดูแลกันเอง

ICT แจงกระบวนการแก้ระเบียบ ITRs
อาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ITU มีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2426 และเป็นที่ตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคของ Asia Pacific ด้วย ในการประชุม World Conference on International Telecommunications 2012 (WCIT-12) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 3-14 ธันวาคม 2555 ที่ดูไบ

ความเป็นมาของ WCIT คือในปี ค.ศ. 1988 ได้มีการจัดประชุม WATCC-88 ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย เพื่อจัดทำกรอบความตกลงเกี่ยวกับข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ เนื่องจากมีการให้บริการโทรคมนาคมใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้มีพิจารณาทบทวนแก้ไขกฎระเบียบโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (หรือ ITRs) ซึ่งประกอบด้วยข้อบังคับในเรื่อง International Network, International Telecommunications Services, Safety of Life and Priority of Telecommunications, Charging and Accounting, Suspension of Services, Dissemination of Information และ Special Arrangements  ต่อมาในปี ค.ศ. 1992 ITU ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่และเปลี่ยนชื่อจาก WATCC เป็น WCIT และการประชุมใหญ่ปี ค.ศ. 2006 ได้เห็นชอบให้จัดประชุม WCIT ในปี 2012 เพื่อพิจารณาทบทวน ITRs ของปี 1988 ให้สอดคล้องกับกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน ทั้งนี้ ITU ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มประเทศสมาชิก และได้จัดทำเป็นเอกสาร “Draft of the Future ITRS” ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเสนอความเห็นต่อเอกสารดังกล่าวผ่าน website ของ ITU

ในการเตรียมความพร้อมในการประชุม WCIT-12 ของประเทศไทย กระทรวง ICT ได้ตั้งคณะทำงาน โดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย และมีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจดูแลเรื่องการแก้ไขข้อบังคับ โดยมี กสทช. พิทยาพลฯ เป็นประธาน

ตามปกติการเสนอข้อเสนอจะเสนอในนามของประเทศสมาชิก และเพื่อให้ข้อเสนอของประเทศตนมีเสียงสนับสนุนเพียงพอ แต่ละประเทศจะเสนอผ่านเวทีระดับภูมิภาคเพื่อเป็นข้อเสนอในนามประเทศต่างๆ ในระดับภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยจะเสนอผ่านองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Telecommunity หรือ APT) ซึ่งมีสมาชิก 38 ประเทศ จะเป็นเวทีกลางในส่วนของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อพิจารณาข้อเสนอของประเทศสมาชิก APT และพิจารณากำหนดท่าทีของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งตั้งแต่ปี 2011-2012 ได้มีการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง และจะมีการประชุมครั้งที่ 5 ในวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2555 ที่กรุงเทพ

ขั้นตอนการเสนอข้อเสนอของ APT คือ ประเทศสมาชิกจะพิจารณาร่างข้อเสนอร่วม (Preliminary APT Common Proposal: PACP) ซึ่งเสนอโดยประเทศสมาชิกหรือกลุ่มประเทศสมาชิก หากร่างข้อเสนอใดได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของจำนวนประเทศสมาชิก APT ทั้งหมด ร่างข้อเสนอนั้นก็จะเป็นข้อเสนอร่วม (APT Common Proposal: ACP) ก่อนนำเสนอในที่ประชุม WCIT-12 ในนามข้อเสนอของประเทศสมาชิกเอเชียและแปซิฟิกที่ได้ให้การรับรอง

สำหรับท่าทีของภูมิภาคอื่น (อเมริกา ยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก อาหรับ และแอฟริกา) ก็มีการพิจารณากำหนดท่าทีของแต่ละภูมิภาค ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ จะพบว่า สำหรับประเด็นเรื่อง Internet มีกลุ่มประเทศบางกลุ่ม (ซึ่งมีเป็นส่วนน้อย) ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อินเทอร์เน็ต ต้องการกำหนดให้เรื่องนี้อยู่ใน ITRs ดังนั้นท่านไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลกระทบกับเรา เพราะเป็นเสียงส่วนน้อย

ที่ประชุม WCIT-12 จะพิจารณาข้อเสนอของภูมิภาคและประเทศต่างๆ ซึ่งอาจมีการรวมข้อเสนอระหว่างภูมิภาค หรือหากข้อเสนอใดไม่มีเสียงสนับสนุนเพียงพอก็จะตกไป ทั้งนี้ เนื่องจาก ITRs เป็น International Treaty จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกตั้งข้อสงวน (reservation) ได้

การประชุม WCIT-12 จะเป็นการประชุมที่ประเทศสมาชิก ITU (ปัจจุบันมี 193 ประเทศ) ที่ประสงค์จะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมจะต้องมีหนังสือตราสารแต่งตั้งผู้แทน (Credentials) เพื่อมอบอำนาจให้ผู้แทนเข้าร่วมการประชุมฯ ให้ความเห็น ลงคะแนนเสียง และลงนามในกรรมสารสุดท้าย (Final Acts) ซึ่งจะเป็นผลของการประชุม WCIT-12

ตามอนุสัญญาสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศกำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจลงนามในตราสารแต่งตั้งผู้แทนที่จะเข้าร่วมการประชุม WCIT ได้แก่ ผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบการประชุม WCIT ซึ่งในกรณีของประเทศไทยคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ตามขั้นตอนของการมีผลบังคับใช้ ประเทศสมาชิกใดต้องการเข้าเป็นภาคี ITRs ฉบับแก้ไขใหม่ (ซึ่งต้องรอผลการพิจารณาจากที่ประชุม WCIT-12 เห็นชอบ) จะต้องให้สัตยาบัน (ratify) ในภายหลัง โดยจะต้องมีจำนวนประเทศสมาชิกให้สัตยาบันไม่น้อยกว่าที่ ITU กำหนด จึงจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ก่อนการให้สัตยาบัน แต่ละประเทศก็จะมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยในส่วนของประเทศไทย ก็จะต้องนำผลการประชุม WCIT-12 มาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายภายใน ก่อนเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
 

ไม่แน่ใจมีประเด็น pay per click
กัลยา ชินาธิวร ผู้อำนวยการกลุ่มงานองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ประเด็นในการพิจารณาข้อเสนอจะมีเรื่องการแก้ไขคำจำกัดความ กับประเด็นข้อเสนอใหม่ (Emerging Issue) ในประเด็นคำจำกัดความ ท่าทีของประเทศไทย รวมถึง APT จะไม่มีการกำหนดคำนิยามใหม่ และต้องไม่มีคำนิยามที่ขัดแย้งกับที่กำหนดไว้ในธรรมนูญและอนุสัญญาสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศเดิม เช่น คำว่า Telecommunications ก็มีคำจำกัดความอยู่แล้ว แต่มีบางกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อินเทอร์เน็ต อยากจะให้เพิ่มคำว่า ICT ขึ้นมา เพราะเห็นว่าควรมีการพัฒนาขึ้นจากเดิม แต่ในการประชุม ITU หลายครั้งที่ผ่านมา ก็มีการโต้เถียงเรื่องนี้เยอะ แต่ส่วนใหญ่เห็นว่าคำจำกัดความของ Telecommunications ก็ครอบคลุมอยู่แล้ว ดังนั้นท่าทีประเทศไทย และกลุ่มประเทศ APT จะไม่เพิ่มนิยามคำว่า ICT เข้าไปใน ITRs

ทั้งนี้ ข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การให้สิทธิพิเศษในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว ITU จึงจะยกเลิกข้อบังคับนี้ หรือ หน่วยงานกำกับดูแลในสมัยก่อนอยู่ภายใต้กระทรวง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีการปรับแก้ถ้อยคำให้ถูกต้อง แต่สำหรับข้อเสนอในเรื่อง pay per click ที่คุณดวงทิพย์นำเสนอนั้น ดิฉันยังไม่แน่ใจว่าอยู่ในส่วนของข้อเสนอ APT ส่วนใด หรือตีความมาจากข้อเสนอใด

ทั้งนี้ APT เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จัดขึ้นสำหรับกลุ่มประเทศสมาชิก และกลุ่ม affiliate member ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน โดยสามารถเข้าร่วมประชุมได้โดยเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วม ส่วนการกำหนดท่าทีนั้น ITU เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อ Draft of the Future ITRs ได้

ด้านดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (ISOC) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ในฐานะที่ ISOC เป็น affiliate member ของ APT จะสามารถดู proposal ภาพรวมของภูมิภาคได้ แต่ไม่สามารถดู proposal แยกตามประเทศ ส่วนบริษัทอื่นที่เข้าไปฟังที่จ่ายเงิน ไม่มีสิทธิเข้าไปดูข้อมูลพวกนั้นเลย ซึ่งข้อมูลไม่ค่อยเปิดให้สาธารณะสักเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม ITU เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยตรงได้โดยไม่ต้องผ่าน APT ก็ได้ หรือผ่านกระบวนการภายในประเทศไทยก็ได้ ภายในวันที่ 3 พ.ย. จึงยังมีเวลาที่จะเสนอข้อเสนอเข้าไปแม้จะน้อย

WCIT เป็นการประชุมที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ แต่เป็นการประชุมที่ใช้กระบวนการต่อรอง คำถามคือมีร้อยกว่าประเทศมาคุยกัน แยกเป็นภูมิภาค แต่กระบวนการยังไม่ชัดเจนว่า ทุกประเทศสามารถลงคะแนนเสียงได้ 1 เสียง แต่เมื่อมีข้อเสนอแต่ละภูมิภาคด้วย จะลงคะแนนเสียงอย่างไร

กังวลภาคธุรกิจเสียหายแน่ หากมีการเก็บเงินผู้ใช้
ยงยศ พรตปกรณ์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการ หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน IT สำคัญมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ หากมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ดังที่นำเสนอมา เด็ก ป.1 ที่ได้รับ Tablet ไปจะมีภาระต้นทุน หรือหากเรียกเก็บจากผู้ให้บริการ โรงแรมขนาดเล็กที่ต้องจ่ายค่าหัวคิวให้ Agoda จะต้องจ่ายตามกฎ ITU อีก ธุรกิจ SME จะอยู่ได้อย่างไร แต่ผมยังไม่ได้รับคำตอบว่าเป็นเรื่องจริงเท็จอย่างไร เพราะมีการกล่าวว่าไม่ได้มีการเขียนไว้ แต่ฟังจากที่ประชุมแล้วเห็นว่า เป็นประเด็นที่น่ากังวล อีกทั้งอยากรู้ว่าตอนนี้มีประเทศสมาชิกกี่ประเทศที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ขอเสริมเรื่องการให้ความคิดเห็นต่อ ITU ภายในวันที่ 3 พ.ย. โดยเอกสารต่างๆ จะถูกรวบรวมเพื่อส่งให้รัฐสมาชิกอ่านเพื่อเป็นข้อมูลประกอบพื้นฐานเท่านั้น โดยรัฐสมาชิกต้องสนับสนุนความเห็นต่างๆ เหล่านั้นภายในวันที่ 6 พ.ย. ดังนั้นกระบวนการก็ไม่เปิดเสียทีเดียวแม้จะเปิดช่องให้แสดงความเห็นได้
 

เชื่อภาระ "จ่าย" ไม่ถึงผู้บริโภค
ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหารเว็บไซต์ Kapook.com มองว่า ภารกิจแรกที่ควรทำคือ 1. ชี้แจงข้อเท็จจริงที่ชัดเจนก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะมีคนกล่าวถึงมากโดยเฉพาะเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตแล้วต้องเสียเงิน 2. ท่าทีของภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร

ในช่วงแรกของอินเทอร์เน็ต ไม่ค่อยมี content มากนัก ตอนแรกต้องเสียเงินเข้าไปดู content ของ America Online เพราะดีมาก แต่ตอนหลังมีผู้ให้บริการ content และ application ฟรีมากมายเกิดขึ้น ซึ่งทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป โดยตอนแรก ISP ได้เงินจากคนทำ content แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ISP กลับมีภาระที่ต้องจ่ายค่าอุปกรณ์เพื่อรองรับผู้สร้าง content ที่ใช้ bandwidth สูงในการให้บริการนี้ เช่น Facebook, Google ที่สามารถหารายได้จำนวนมหาศาล เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการ content เหล่านั้นได้เร็ว ซึ่งคิดว่า ITU อาจมองประเด็นนี้ว่าผู้สร้าง content เหล่านี้ควรจะเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนดังกล่าว ซึ่งมีข่าวว่า Google จะเปิด ISP และวาง Fiber Optic เองที่เร็วกว่ารายอื่น หรือแม้แต่กรณี  Youtube หากจะเปิดเองแล้วบอกว่าสามารถโหลดได้เร็วกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ก็จะมีผู้ใช้สนใจที่จะใช้บริการ เพราะผู้ให้บริการ content ที่มีลูกค้าติด content นั้นแล้ว จึงเริ่มมีอำนาจเหนือตลาดแล้ว ส่วนแนวคิดที่ว่าจะผลักภาระไปยังผู้ใช้บริการขั้นสุดท้ายที่ต้องจ่าย pay per click คงไม่มีสิทธิ เพราะมีการแข่งขันกันสูงระหว่าง ISP จึงน่าจะผลักภาระไปที่ ISP ต่อไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงคุณภาพบริการด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องความเท่าเทียมกันของบริการ (Net Neutrality) ผมอยากให้มีการจัดลำดับความสำคัญของการโหลดข้อมูลมากกว่าที่จะให้บริการทุกอย่างโดยเท่าเทียมกัน เช่น ผมอยากได้รับบริการ VOIP หรือ email ที่ดีมากกว่าเรื่องการโหลด Bit Torrent หรือกรณีมีเหตุฉุกเฉินภัยพิบัติ ควรตัด Bit Torrent ออก เพื่อให้สื่อสารข้อมูลพื้นฐานให้ได้ก่อน ซึ่งคิดว่าควรนำไปเป็นข้อเสนอของเราว่าต้องมีกลไกรองรับในส่วนนี้

สำหรับการเรียกเก็บเงินจาก Content Provider มองว่า มีความเป็นไปได้ แต่สหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย เพราะสหรัฐฯ ได้เปรียบทุกทาง แต่ยุโรปเสียเปรียบ เพราะยุโรปเชื่อมไปสหรัฐฯ แล้วต้องจ่ายเงินข้อมูลเข้าออก ยุโรปจึงอยากปรับตรงนี้ใหม่ แต่คิดว่าเขาคงบีบคอพวก content provider ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ให้จ่าย คงไม่ให้ผู้บริโภคจ่าย

จีรนุช เปรมชัยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากข้อเสนอของ European Telecommunication Association เป็นกลุ่มบริษัทโทรคมนาคมของยุโรป ที่เสนอเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งข้อมูลจากผู้ส่ง (sender pay) ซึ่งอาจตีความหมายไปเป็น pay per click ได้ แต่สิ่งที่กังวลคือ กรณีไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในประเทศที่มีตลาดขนาดเล็ก ธุรกิจใหญ่ก็อาจเลือกไม่ลงทุนในตลาดเหล่านี้ จะเกิดการจำกัด content และจำกัดการเข้าถึงโดยปริยาย

เกรงกำหนดนิยาม "สแปม" เปิดรัฐยุ่งเนื้อหา
ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง  กล่าวว่า ในฐานะคนทำโฮสติ้ง เป็นสมาชิก ICANN ที่เปิดช่องให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้ และเป็นผู้ใช้บริการ เมื่อดูเอกสาร Draft of the Future ITRS ซึ่งอาจใช้แนวทางในการอ่านเดียวกันกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2555 คือจะมีส่วนเกี่ยวกับคำนิยาม ผู้มีอำนาจ ผู้ใช้บริการ ฐานความผิด เนื้อหา และเงิน ซึ่งร่างแก้ไขนี้จะแสดงความเห็นของประเทศสมาชิกไว้ในแต่ละหัวข้อ โดยสรุปประเด็นได้ ดังนี้

1. มีการกำหนดนิยามเรื่อง ICT เข้ามาด้วย ซึ่งอาจมีปัญหา เพราะแต่ละประเทศมีนิยามที่แตกต่างกัน หากเรากำหนดนิยามได้ไม่ดี จะผูกพันยาว เพราะกว่าจะแก้ไขแต่ละครั้งก็ต้องใช้เวลาตั้ง 25 ปี

2. เรื่อง Authority ซึ่งปกติเป็นเรื่องของตัวแทนภาครัฐ (member state) แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าหมายถึงใครในภาครัฐ เพราะได้ตัดคำว่า administration ทิ้ง โดยเพิ่มคำว่า operating agency ซึ่งต้องมาคิดว่าหมายถึงใคร หรือระบุผู้มีอำนาจคือ Commanders-in-Chief of military forces, land, sea or air land air ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยมีรัฐประหารสูง ก็แสดงว่าให้อำนาจกับรัฐบาลทหารด้วย

3. เรื่องเนื้อหาที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีปัญหาคือ Cybercrime ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการส่ง spam แต่นิยาม spam ของทั่วโลกมีความแตกต่างกัน เช่น spam เพื่อเชิงพาณิชย์หรือไม่ใช่เพื่อเชิงพาณิชย์ การกรอง spam ก็ทำได้ยาก เพราะจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อความนี้เรียกว่า spam ถ้าไม่ได้อ่านเนื้อหาข้างในก่อน ดังนั้นถ้าทุกรัฐบาลเห็นด้วยกับเรื่องนี้ รัฐบาลทุกรัฐบาลมีสิทธิบอกได้ว่า content ไหนคือ spam ซึ่งแต่ละคนมีความสนใจในเนื้อหาที่ต่างกัน เช่น ประเทศมุสลิมก็อาจสนใจอีกแบบ ไทยก็สนใจอีกแบบ เราจะหาความหมายที่ตรงกันได้อย่างไร ซึ่งมีข้อบังคับหนึ่งที่กำหนดให้ต้องร่วมมือกันกำกับดูแล spam

4. ส่วนในด้านผู้ใช้ตาม Article 5A กำหนดว่าประเทศสมาชิกต้องรู้ว่าผู้ใช้เป็นใคร เพื่อบอก Identity หรือ ID ได้ จะได้รู้ว่าจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเส้นทางใด ซึ่งทำให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกรู้ว่าเราเป็นใคร โดยแต่ประเทศสมาชิกมีข้อเสนอที่ต้องการรู้รายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยส่วนตัวอาจไม่ต้องการแบบนั้น เพราะบางทีเราคลิกเว็บผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ จะถือว่าผิดกฎหมายและถูกจับหรือไม่

5. ในเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมใน Article 6 กำหนดให้ประเทศสมาชิกคิดค่าธรรมเนียม และวิธีการเก็บมา แต่การเชื่อมต่อเป็นทอดๆ จะคิดเงินได้อย่างไร คิดว่าการทำ ID ก็เพื่อทำให้เก็บเงินได้ถูกต้อง

6. ส่วนการหยุดบริการชั่วคราว Article 7 ถ้าประเทศสมาชิกสามารถหยุดบริการชั่วคราวได้ โดยการแจ้งให้ทราบ อาจเกิดเหตุการณ์ว่าแต่ละประเทศสมาชิกก็จะหยุดให้บริการชั่วคราวระหว่างกันไปมา อาจจะวุ่นวายทั่วโลกเพราะไม่มีความแน่นอน หากประเทศใดไม่ชอบประเทศใด ก็จะจำกัดบริการกันเอง

7. ข้อดีในร่างข้อบังคับนี้ คือ การร่วมมือกันด้านภัยพิบัติเพื่อให้สามารถสื่อสารกันได้หากเกิดเหตุ โดยรัฐบาลสามารถควบคุม (take over) สื่อเพื่อการสื่อสารของประเทศตัวเองหรือระหว่างประเทศได้ โดยขอให้มีเบอร์ฉุกเฉินเบอร์เดียว (single emergency number)

หวั่นกระทบเสรีภาพแสดงความเห็น-ความเป็นส่วนตัว
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการและนักเขียนอิสระ กล่าวว่า มี 3 ประเด็นที่จะกล่าวถึง คือ 1. ประเด็นที่มีการถกเถียงกัน 2. ความเห็นส่วนตัวและผลกระทบต่อผู้ใช้ และ 3.ข้อเสนอต่อกระทรวง ICT ในฐานะหน่วยงานที่ต้องไปเจรจา
ประเด็นที่ 1 ที่ถกเถียงกันสรุปได้ 4 เรื่อง คือ
1. เหตุผลที่ ITU ต้องการขยายขอบเขตการดูแลไปถึงอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการข้ามพรมแดนและมีความจำเป็นที่ต้องดูแล แต่ยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก แต่จะมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะ ITU ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เพราะที่ผ่านมากำกับดูแลด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการดูแลระหว่างรัฐสมาชิก หากใช้รูปแบบเดียวกันในการกำกับอินเทอร์เน็ต อาจไม่เปิดโอกาสให้คนภายนอกมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลแบบล่างขึ้นบน อีกทั้งก็มีหน่วยงานเช่น UN convention ดูแลเรื่อง cybercrime อยู่แล้ว 

2. ข้อเสนอเรื่องความมั่นคง หรือ cybercrime ซึ่งประเทศที่เสนอเรื่องนี้ คือ รัสเซีย กับจีน โดยกำหนดให้ต้องระบุตัวตนของผู้ใช้บริการได้ตั้งแต่ต้น 

3. การใช้มาตรฐานอินเทอร์เน็ตเดียวกันทั่วโลก อาจมีผลกระทบต่อการใช้อินเทอร์เน็ต เพราะที่ผ่านมาอินเทอร์เน็ตเป็นแบบ open standard ใครจะพัฒนาอะไรก็ทำได้ ถ้าได้รับการยอมรับก็จะแพร่หลายออกไป

4. ประเด็นทางธุรกิจ ที่บริษัทโทรคมนาคมต้องการเก็บค่าบริการจากผู้ให้บริการ content เช่น Google, Youtube, Netflix เพราะใช้ bandwidth สูงและมีกำไรจากการประกอบการสูง แต่ ISP เป็นผู้รับภาระต้นทุนนี้ จึงควรเก็บค่าบริการแบบ sender pay คือผู้ส่งเป็นคนจ่าย ส่วนในเรื่องคุณภาพบริการ มีการกล่าวถึงในร่าง ITRs ไว้ด้วย ซึ่งหากพูดถึง Net Neutrality จะเป็นหลักการพื้นฐาน เรารู้ว่าถ้าเราเสียค่าบริการอินเทอร์เน็ตรายเดือน 500 บาทจะได้บริการความเร็วที่เท่าไหร่ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะดู content ในรูปแบบใด จะเป็น email หรือวิดีโอ จึงเป็นกลาง ไม่ได้แยกประเภทบริการ หากมีการแยกคุณภาพบริการ (Quality of Service) เหมือนร่าง ITRs ที่เห็นว่า BitTorrent กินพื้นที่ในการโหลดมาก จึงใช้การบีบอัดข้อมูลเพื่อทำให้คุณภาพลดลง หรือกำหนดให้บริการช้าลง ก็ถือว่าไม่เป็น Net Neutrality ดังนั้นปัญหาที่อาจตามมาคือ ผู้ให้บริการ ISP แล้วทำธุรกิจทีวีด้วย อาจบอกว่าถ้าลูกค้าดูรายการช่องทีวีของเรา จะสามารถดูได้เร็วกว่าช่องอื่น จึงอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ประเด็นนี้ก็มีการถกเถียงกันอยู่ ว่าทำไม ISP ต้องแบกรับภาระสำหรับคนที่โหลดอินเทอร์เน็ตสูงๆ ทำให้ผู้ใช้รายอื่นเดือดร้อน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการตัดสินเรื่อง Net Neutrality ว่าแต่ละฝ่ายคิดว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น กรณีฟ้องร้องระหว่าง Comcast กับ FCC ของสหรัฐฯ โดย Comcast บีบอัดข้อมูลของ BitTorrent เพราะเห็นว่าเป็นภาระในการโหลด ทำให้อินเทอร์เน็ตช้า แต่ FCC เห็นว่าก่อให้เกิดความไม่เป็นกลางในการใช้อินเทอร์เน็ต หรือไม่มี Net Neutrality โดยศาลชั้นต้นให้ FCC ชนะ แต่พอถึงศาลอุทธรณ์ กลับให้ Comcast ชนะ โดยให้เหตุผลว่า FCC ไม่มีอำนาจออกกฎบังคับเรื่อง Net Neutrality

ประเด็นที่ 2 ผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ คือ กรณีที่ต้องการระบุ ID ว่าเป็นใคร จะต้องใช้อุปกรณ์ขนาดไหน แต่หากเราเห็นว่าอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์ที่ช่วยส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องบอกว่าตัวเองเป็นใคร ข้อเสนอนี้ก็จะขัดแย้งกับแนวคิดนี้   ส่วนกรณีข้อเสนอเรื่องการเก็บค่าเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต อาจทำให้เกิดผลเรื่องที่ผู้ให้บริการ content เช่น Facebook ไม่อยากให้บริการในประเทศเล็กๆ เพราะเขาต้องเป็นคนจ่ายค่าเชื่อมต่อ ส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นถูกจำกัดการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ และผลทางอ้อมก็คือ ผู้ให้บริการ content รายใหญ่มีกำลังพอที่จะจ่ายเงิน แต่รายเล็ก อาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด กฎ sender pay จึงเป็นการกีดกันการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และทำให้ผู้ใช้มีทางเลือกน้อยลง

และสุดท้ายในเรื่องการดูแลเรื่องคุณภาพบริการ หรือ การกำหนดให้ไม่มี Net Neutrality โดยให้เลือกปฏิบัติได้ตามประเภทเนื้อหา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราต้องติดป้ายว่าเนื้อหาใดจะส่งเร็วหรือส่งช้า ซึ่งปัจจุบันการส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตไม่ได้สนใจว่าเนื้อหาว่าเป็นอย่างไร หากจะเลือกปฏิบัติโดยต้องติดป้ายที่เนื้อหาไว้ จะเป็นช่องทางให้คนรู้ว่าเราส่งเนื้อหาอะไรมากน้อย อาจทำให้ความเป็นส่วนตัวของเราลดน้อยลง

ประเด็นที่ 3 ข้อเสนอสำหรับกระทรวง ICT คือ ต้องเผยแพร่ข้อมูลให้รู้ในวงกว้าง เพราะมีผลกระทบทุกภาคส่วน เพื่อขจัดความสับสนในเนื้อหาที่จะแก้ไข เช่นเรื่อง pay per click ก็พยายามหาอยู่แต่ไม่เห็น แต่เรื่องที่มีแน่ๆ ก็คือ เรื่อง Sender pay และการระบุ ID โดยอยากให้กระทรวงเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมถึงคิดถึงในอนาคตว่าควรมีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้เราทุกคนได้ร่วมกันรับรู้เรื่องราวไปพร้อมๆ กัน

มองต่างมุม "ภาคโทรคมนาคม" กำกับดูแล "อินเทอร์เน็ต" ได้หรือไม่
อาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า คิดว่า ITU สามารถกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตได้ด้วย เพราะใช้โครงข่ายโทรคมนาคมในการให้บริการ ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้น มีเทคโนโลยีที่สามารถทำได้ เช่นมีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ สามารถติดไปกับ transaction ที่วิ่งไปด้วย ก็จะรู้ว่าเป็นใคร เพียงแต่มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ส่วนการส่งข้อมูลแล้วต้องจ่ายเงินนั้น สามารถทำได้ให้คิดเหมือนการส่งไปรษณีย์ไปในแต่ละประเทศก็จะมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน

ขณะที่กาญจนา กาญจนสุต ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า มีความเห็นแย้งในเรื่องอินเทอร์เน็ตว่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคม เพราะปัจจุบันอินเทอร์เน็ตมีเครือข่ายของตัวเอง ดังเช่น Google ลากสายเคเบิ้ลของตัวเองแล้ว ไม่ต้องวิ่งบนเครือข่ายโทรคมนาคมแล้ว ส่วนเรื่องที่กังวลในคุณภาพบริการนั้น ปัจจุบัน Router อินเทอร์เน็ตมีอุดมการณ์ว่าไม่มีหน้าที่แกะดูว่า content ข้างในที่ส่งคืออะไร จะดูแต่เฉพาะ IP Address เท่านั้น แต่เมื่อมีการกำกับเรื่องคุณภาพบริการ จะเปิดช่องทางให้ดูข้อมูลข้างในได้

กัลยา ชินาธิวร ผู้อำนวยการกลุ่มงานองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะทำงานในเรื่องนี้ ซึ่งจะมีปลัดกระทรวง ICT เป็นประธาน จะขอรวบรวมความเห็นและข้อกังวลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้เสนอต่อคณะทำงาน ทั้งในเรื่องคำจำกัดความ, User charging, Quality of Service, Identity สำหรับขั้นตอนการจัดทำ Draft ITRs นั้น เป็นข้อเสนอของแต่ละประเทศสมาชิก ซึ่งเวทีการเจรจาจริงจำเป็นต้องมีเสียงสนับสนุนมากพอที่จะทำให้ข้อเสนอไหนผ่านการรับรอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างน้อยในภูมิภาคเอเชีย ก็ต้องผ่าน APT ซึ่งมีการตกลงกันไว้แล้วว่าจะไม่แก้ไขคำจำกัดความ รวมถึงไม่เพิ่มคำจำกัดความเรื่อง spam โดยไทยมีท่าทีไม่เห็นด้วยที่จะเพิ่มคำจำกัดความเช่นกัน ทางกระทรวงกับ กสทช. จะพิจารณาร่วมกัน เพื่อกำหนดท่าทีไม่ให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์

อุดม ศรีมหารัชตะ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมโรงแรมไทย และคณะอนุกรรมการของสภาหอการค้าภาคบริการ เสนอว่า อยากให้กระทรวง ICT พิจารณาข้อเสนอต่างๆ ของแต่ละประเทศ โดยควรจัดประชุมเพื่อให้ผู้ประกอบการร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ เพราะกรณีธุรกิจโรงแรม ลูกค้าต้องมีภาระแน่นอน เพราะปัจจุบันเว็บไทยจ่ายให้ Agoda อย่างน้อย 25% หาก Agoda ต้องเสียค่าบริการ ก็ต้องมาคิดกับเรา ซึ่งเราก็ต้องไปคิดจากผู้บริโภคต่อแน่นอน

ยงยศ พรตปกรณ์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการ หอการค้าไทย กล่าวว่า อยากให้เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแก้ไขข้อบังคับนี้ โดยควรมีเวทีรับฟัง และใครจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น แต่เท่าที่ฟังมาท่าทีของเราคงไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนกฎครั้งนี้

ชวนตั้งคณะทำงานทำข้อเสนอต่อรัฐบาล
มรกต กุลธรรมโยธิน บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หัวข้อเรื่องในการประชุมครั้งนี้มีความสำคัญมาก แต่น่าแปลกใจว่าเราเพิ่งจะมาจัดประชุมทั้งๆ ที่ควรจัดก่อนหน้านี้  และยังมีความสับสนในข้อมูลว่าสาระสำคัญที่กำลังจะแก้ไขคือส่วนไหนบ้าง จากมุมมองส่วนตัวเห็นว่า รูปแบบการบริการโทรคมนาคมกับผู้ให้บริการ content  20 ปีก่อนกับปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงต้องพิจารณาว่าแนวทางที่ทั้งสองฝั่งได้ประโยชน์ทั้งคู่คืออะไร (win-win solution) โดยให้กิจการโทรคมนาคมอยู่ได้ ผู้ให้บริการ content อาจต้องยอมจ่ายบ้าง และผู้ใช้อยู่ได้อย่างไร ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่มีผลอย่างมากคือ การแข่งขันเสรี ทำให้แม้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอยากจะขึ้นราคา แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะผู้ใช้สามารถเปลี่ยนไปใช้รายอื่นได้

จึงอยากเสนอให้เชิญผู้เกี่ยวข้องที่อยากอาสามาช่วยกันระดมความเห็นและจัดทำเอกสารร่วมกัน เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการเจรจาได้มีแนวทางเพื่อไปนำเจรจาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งโดยส่วนตัวยินดีช่วยเต็มที่ นอกจากนี้ อยากให้ผู้มีหน้าที่ร้บผิดชอบในเรื่องนี้แปลร่าง ITRs เผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับทราบด้วย เพื่อให้คนแสดงความคิดเห็นได้ง่ายขึ้น

เกรียงไกร ภูวณิชย์ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI)  กล่าวว่า ในการให้บริการของธุรกิจรายย่อย สิ่งที่พูดมาจะเป็นต้นทุน จะตัดต้นทุนตรงนี้ได้อย่างไร อีกทั้งกรณีที่ไทยจะทำ Business process outsourcing ซึ่งต้องมีต้นทุนต่ำจริง การส่งบริการผ่านอินเทอร์เน็ตแต่หากมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญ ส่วนกระบวนการรับฟังความเห็นวันนี้ ผมเห็นว่ามันช้าเกินไป ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ ควรลองทำประชาพิจารณ์ในเรื่องที่จะไปเจรจาในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางส่วนรวมร่วมกัน

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ก่อนเดือนธันวาคม จะมีเวทีนานาชาติ Internet Governance Forum (IGF) ที่บากู อาเซอร์ไบจาน ในวันที่ 6-9 พ.ย. นี้ ซึ่งรัฐบาลไทยสามารถมีบทบาทได้ แม้จะไม่ใช่เวทีที่ผูกพัน แต่ก็มีความสำคัญ ซึ่งขณะนี้ผู้ลงชื่อเข้าร่วมจะมีคุณดวงทิพย์ และผม แต่ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลไทย หรือ กสทช. ส่วนชาติอาเซียนที่เข้าร่วมมีเวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่คุยกันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน, Net Neutrality และ บริการโอนข้อมูลข้ามพรมแดน (cross border data transfer) ซึ่งตัวแทนบริษัท Fujitsu ได้ให้ความเห็นว่าการให้บริการ Business process outsourcing จะทำไม่ได้เลย หากประเทศปลายทางไม่มีเรื่อง data protection ซึ่งสิงคโปร์ได้ให้ความสำคัญและผ่านกฎหมายเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว

ดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (ISOC) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า แม้ว่าการประชุม IGF จะไม่ผูกพัน แต่เป็นแหล่งข้อมูลของประเทศที่ต้องการวางท่าทีของอินเทอร์เน็ตในอนาคตและบอกแนวโน้มในอนาคต ซึ่งบางประเทศที่ไม่เน้นการส่งเสริมการเปิดเสรีจะเข้าร่วมเพื่อไปดูทีท่าและเป็นข้อมูลในการประชุม WCIT ที่ดูไบ  ทั้งนี้ ยินดีช่วยเหลือและแบ่งปันข้อมูลในการเจรจาครั้งนี้ เพราะกฎการกำกับอินเทอร์เน็ตนี้มีผลกระทบต่อไทยแน่ เนื่องจากปัจจุบันคนกรุงเทพใช้ Facebook เป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นฐานลูกค้าที่สำคัญ

ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหารเว็บไซต์ Kapook.com ระบุว่า แม้การประชุม WCIT จะเป็นเรื่องของ ITU ซึ่งดูแลด้านโทรคมนาคม แต่มีประเด็นเรื่องอินเทอร์เน็ตด้วย จึงควรส่งผู้เจรจาด้านอินเทอร์เน็ตไปร่วมประชุมด้วย เพื่อให้คนมีความรู้ด้านนี้เข้าร่วมรับฟังและเสนอความเห็นได้

ในอดีตอินเทอร์เน็ตไปผูกติดกับบริการโทรคมนาคม แต่อนาคตอินเทอร์เน็ตอาจมีบทบาทมากกว่าบริการโทรคมนาคมได้ ซึ่ง ITU คงมองเห็นประเด็นนี้ จึงอยากควบคุมอินเทอร์เน็ต แต่อินเทอร์เน็ตมันควบคุมไม่ได้เพราะทุกคนร่วมกันสร้างให้เกิด

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการและนักเขียนอิสระ ย้ำว่า อยากให้ กสทช. ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวง ICT และไทยควรมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย เพราะปัจจุบันยังไม่มี

ภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้งคณะทำงานและมีอาสาสมัครจากคนนอกเข้าร่วมด้วย ส่วนในเรื่องผลกระทบต่อธุรกิจ hosting นั้น อาจเดือนร้อนถ้า ISP ผลักภาระมาที่ hosting ก็มีภาระเพิ่ม แต่ก็อาจผลักภาระต่อไปที่ลูกค้าต่อ สุดท้ายอยากฝากผู้เจรจาไทยต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว (privacy) และความปลอดภัย (security) ในการใช้อินเทอร์เน็ต รัฐบาลไทยซึ่งเป็นตัวแทนของคนไทย แต่กำลังถูกประเทศอื่นแทรกแซง เราจะทำอย่างไรในประเด็นที่น่าเป็นห่วงนี้

อาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า กระทรวง ICT ได้ดำเนินการโดยการประชุม APT ที่ผ่านมา จะมีตัวแทนจากทีโอที กสท. Intel และคุณดวงทิพย์เข้าร่วมด้วย เราถามผู้ประกอบการทั้งหมด และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยงข้อง โดยไม่ได้ตัดสินเพียงลำพัง หากตอนนี้ท่านมีความคิดเห็นใดก็แจ้งมาที่กระทรวงได้ เพราะเราต้องกำหนดนโยบายตามประชาชน หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรรับข้อเสนอที่ร่างใหม่ กระทรวงก็คงไม่รับ

ดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ (ISOC) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า แม้ไทยจะมีทีท่าเป็นกลาง แต่อาจมีบางประเด็นที่ไม่ได้ถกในระดับภูมิภาคเอเชีย แต่อาจคุยในภูมิภาคอื่นที่เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งสุดท้ายไทยจำเป็นต้องออกเสียง ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะออกเสียงรูปแบบไหน ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีทีท่าที่ชัดเจนว่าประเด็นใดรับได้หรือรับไม่ได้

สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. กล่าวในช่วงท้ายว่า เรื่องนี้ผู้รับผิดชอบโดยตรงคือ กระทรวง ICT ที่ต้องไปเจรจา แต่ กสทช. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องนำไปปฏิบัติ ซึ่งมีคณะทำงานอยู่แล้ว จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ดิฉันจะส่งความเห็นต่อให้ กทค. หรือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันต่อไป ส่วนการตั้งคณะทำงานในส่วนของ กสทช. นั้น วันนี้มีส่วนสำนักงาน กสทช. เข้าร่วมด้วย ก็ขอฝากให้ดำเนินการต่อด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นในการประชุมครั้งนี้ ก็อาจเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงที่ให้บริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ต จึงขอรับความเห็นดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อวางนโยบายด้วยเช่นกัน แต่ขอฝากให้กระทรวง ICT จัดรับฟังความเห็นอีกสักเวที เพื่อเชิญภาคอุตสาหกรรม, ISP และผู้ใช้บริการได้ร่วมแสดงความเห็นก่อนที่จะไปประชุมที่ดูไบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท