Skip to main content
sharethis

ชี้ถึงเวลาประชาชนตรวจสอบและประเมินผลงานรัฐ รัฐต้องให้ความกระจ่างในการใช้กฎหมายพิเศษ อีกทั้งผลักดันนโยบายเขตปกครองพิเศษเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาไฟใต้ได้

เวทีเสวนานักการเมืองชายแดนใต้ครั้งที่ 9 แนะรัฐต้องให้ความสำคัญข้อเสนอภาคประชาสังคมเท่าๆ ของฝ่ายความมั่นคง ชี้ถึงเวลาประชาชนตรวจสอบและประเมินผลงานรัฐ รัฐต้องให้ความกระจ่างในการใช้กฎหมายพิเศษ อีกทั้งผลักดันนโยบายเขตปกครองพิเศษเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาไฟใต้ได้

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมขวัญจุฑา 1 โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อ.เมือง จ.ปัตตานีสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล จัดสานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 9 เพื่อเดินหน้าสู่สันติสุขที่มั่นคง มีนักการเมืองจากพรรคการเมืองต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 15 คน

เวลา 13.00 น. นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคมาตุภูมิ นายนิมุคตาร์ วาบาอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคภูมิใจไทยและ นายดาโต๊ะสุทธิพันธ์ ศรีริกานนท์ อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนผู้ร่วมเสวนาแถลงข่าวสรุปการสานเสวนา

นายเด่น แถลงสรุปผลการแลกเปลี่ยนในประเด็นทั่วไปว่า ที่ผ่านมาองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักการเมือง ได้ทำการศึกษาและเสนอแนะทางออกแก่รัฐบาลในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องกฎหมายความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม และด้านการบริหารจัดการหลายประการ ซึ่งที่ประชุมเสวนาเสนอว่าขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญและนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาพิจารณาด้วย

“อยากให้ทางรัฐบาลนำข้อเสนอแนะต่างๆ ของภาคประชาชน องค์กรภาคประชาสังคมไปพิจารณาและให้ความสำคัญกับข้อเสนอเหล่านี้ไม่น้อยไปกว่าข้อเสนอแนะจากฝ่ายความมั่นคง” นายเด่น กล่าว

นอกจากนี้ ในเวทีเสวนายังได้มีข้อเสนอถึงแนวทางการใช้กฎหมายพิเศษว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนพึงมีสิทธิและมีโอกาสตรวจสอบและประเมินผลงานของภาครัฐให้มากขึ้น เช่น ประเมินความเหมาะสมของการจัดทำงบประมาณ ประเมินความรัดกุมและประสิทธิผลการใช้งบประมาณ ประเมินนโยบายที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาชน เป็นต้น

ในส่วนของการนำเสนอในประเด็นทั่วไป ที่ประชุมมีความกังวลว่า ปัจจุบันมีการลอบทำร้ายซึ่งกันและกันระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ โดยไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นปัญหาการก่อความไม่สงบโดยตรง เพราะผู้ตกเป็นเหยื่อคือชาวบ้านธรรมดา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงมีข้อสันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา เช่น เป็นการไล่บุคคลต่างชาติพันธุ์ออกจากพื้นที่ มีกระบวนการติดอาวุธที่มิใช่ฝ่ายขบวนการฯ หรือเป็นการแก้แค้นกันไปมา ที่ประชุมจึงขอเสนอให้รัฐบาลให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ และให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น  เพื่อลดบรรยากาศความหวาดระแวงและฟื้นฟูการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ในประเด็นการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน กฏอัยการศึก และพรบ.ความมั่นคงภายในในบางพื้นที่ทำให้เกิดผลกระทบแก่คนในพื้นที่อย่างมาก เช่น มีข้อมูลให้เชื่อถือได้ว่าผู้ที่ถูกเชิญตัวไปและมีรายชื่ออยู่ในระบบสารสนเทศ อาจถูกตัดสิทธิ์ในการสมัครเข้ารับราชการ ไม่ได้รับความสะดวกในการขอลงตราหนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจจ์อย่างทันท่วงที และไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

“เพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ฝ่ายรัฐควรทำความกระจ่างในเรื่องนี้ ว่ามิได้มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ไม่ใช่ผู้ต้องข้อหาแต่อย่างใด โดยเฉพาะ ให้บุคคลเหล่านั้นได้รับใบรับรองจากฝ่ายความมั่นคง ให้ได้รับสิทธิการเยียวยา ตามกฎเกณฑ์ของ ศอ.บต. ด้วย” นายเด่น กล่าว

สำหรับข้อเสนอให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษตามนโยบายการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยนั้น ที่ประชุมขอให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง แม้ ในขณะที่ยังไม่มีการออกกฎหมายมารองรับ แต่รัฐบาลสามารถดำเนินการโดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารได้เลย โดยไม่ต้องรอให้ดำเนินการให้เหมือนกันเสมอไปทั้งประเทศ เพราะเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา โดยการโอนอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อำนาจด้านนโยบายและบุคลากรด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านคดีครอบครัวและมรดก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์และภาษา

นายเด่น แถลงสรุปว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ฝ่ายรัฐบางฝ่ายมักอ้างว่า ถ้าไม่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษทั้งสามฉบับ ใครจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบ แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการรับผิดชอบของตนนั้นมีส่วนช่วยลดความรุนแรงได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องมีสิทธิ ในการตรวจสอบและประเมินผลงานของภาครัฐ

“ข้อเสนอเวทีของ 8 เวทีผ่านมายังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ดังนั้นที่ประชุมมติว่าในการประชุมครั้งต่อในวันที่ 14 มกราคม 2555 ที่จังหวัดยะลาจะต้องมีการเชิญตัวแทนจาก ศอ.บต.และตัวแทนจากหน่วยงานความมั่นคงเข้ามาประชุมด้วย เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวรับทราบข้อเสนอและคิดอย่างไรต่อข้อเสนอเหล่านี้” นายเด่น กล่าวในระหว่างแถลง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net