Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถานการณ์ประเทศไทยและวิกฤติในปัจจุบัน
            สืบเนื่องจากข้อเสนอของ คอป. ที่กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะการครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม การขาดการคุ้มครองทางสังคมและ ‘รัฐสวัสดิการ’  ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงลิบลิ่วอันเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย จึงมีการประชุมทางการเมืองกันในวันนี้และเสวนาเรื่อง  ’สังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ทางออกจากวิกฤติประเทศไทย’ เพื่อระดมความเห็น องค์ความรู้ ไปสู่ทางออกจากวิกฤติร่วมกัน และเพื่อสร้างเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy Movement) ขึ้นเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกสายที่สามในประเทศไทยและเป็นทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งในปัจจุบัน โดยมีภารกิจการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยดังกล่าว และผลักดันให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริงต่อไป

            นับจากการปฏิวัติ 2475 เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้มีการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายเรื่อง มีการช่วยเหลือประชาขนที่ต้องแบกรับภาษีที่ไม่เป็นธรรม ด้วยการยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการ และอากรค่านาหรือเงินส่วย (ซึ่งชาวนาต้องเสียแก่เจ้าศักดินา) มีการออกพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีก้าวหน้า โดยผู้ใดมีรายได้มากก็เสียภาษีมากหากมีรายได้น้อยก็เสียภาษีน้อย และผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากขึ้นตามลำดับ มีการการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นโดยการจัดตั้ง ‘เทศบาล ทั่วราชอาณาจักรสยามตามพระราชบัญญัติเทศบาล โดยมุ่งหวังให้การปกครองทัองถิ่นเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และได้ให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ รวมถึงการสถาปนา ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ขึ้น เพื่อให้สิทธิและโอกาสของประชาชนตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา นอกจากนี้ ปรีดี พนมยงค์ ยังได้พยายามเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจหรือ ‘สมุดปกเหลือง’ ต่อรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในราชอาณาจักรสยามตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยเสนอให้ดำเนินเศรษฐกิจแบบสหกรณ์ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้จัดการเศรษฐกิจเอง โดยแบ่งการเศรษฐกิจนั้นออกเป็นสหกรณ์ต่างๆ แต่ไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน และได้วางหลักการประกันสังคมแก่ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนในหมวดที่ 3 แห่งเค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร แต่ทั้งหมดนั้นได้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ต่อมาได้มี พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งเพราะมีการจำกัดการถือครองที่ดินให้ไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2503 ให้มีการยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้เอกชนได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรโดยไม่มีมาตรการรองรับ และเดินตามแนวทางการพัฒนาของธนาคารโลกนับแต่นั้นมา จนเกิดปัญหาการสะสมกรรมสิทธิ์ที่ดินขึ้นอย่างรุนแรงจนถึงปัจจุบัน

            หลังจากนั้น การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ล้วนล้มลุกคลุกคลานไปตามยุคสมัย ทั้งในสมัยเผด็จการทหารและสมัยที่มีประชาธิปไตยครึ่งใบ สลับกับการรัฐประหารของกองทัพเรื่อยมากว่า 12 ครั้งในประวัติศาสตร์และครั้งสุดท้ายในปี 2549 ขณะที่ตลอดเวลา โครงสร้างทางอำนาจยังคงเป็นของชนชั้นนำทางสังคม อันประกอบไปด้วย เครือข่ายเจ้านาย นักการเมือง นายทุน ทหาร และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เติบโตในระบบมาโดยตลอด พวกเขาผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นชนชั้นปกครอง โดยที่ชนชั้นล่างของสังคมไทย อันประกอบไปด้วย ผู้ด้อยโอกาส กรรมกร เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ คนจนเมือง แทบไม่เคยได้โอกาสเข้าไปสู่อำนาจรัฐเพื่อออกแบบนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมเลย แม้ชัยชนะของประชาชนจะได้ประกาศชัดในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่ก็เป็นการปฏิรูปประเทศในช่วงเวลาสั้นๆ อันนับได้ว่าโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่กระจุกตัวทางอำนาจดังกล่าวยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะไม่เอื้อให้พรรคการเมืองของประชาชน หรือพรรคการเมืองอุดมการณ์ทางเลือกอื่นๆ ที่หลากหลายได้เข้าสู่ระบบรัฐสภาเหมือนนานาอารยะประเทศ โดยเฉพาะการปิดกั้นโอกาสจากรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้ง และกลไกการปกครองอื่นๆ ที่ถูกออกแบบขึ้นโดยชนชั้นปกครองซึ่งประกอบด้วยชนชั้นนำดังกล่าว และพวกเขาได้เป็นผู้จัดการผลประโยชน์สาธารณะแต่ฝ่ายใดมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่เราเห็นว่า ทำไมรัฐธรรมนูญ 2550 ถึงให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว) จากการสรรหากึ่งหนึ่ง จากการที่เราเคยปฏิรูปการเมืองและยกเลิกมาแล้ว หรือเหตุใดพรรคการเมืองจึงใช้ชื่อ ‘สังคมนิยม’ ไม่ได้และถูกห้ามจดทะเบียนโดย กกต. ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิทางการเมือง ขณะที่ในสังคมประชาธิปไตยในรัฐอื่น มีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวและอนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางอุดมการณ์ที่หลากหลาย เพื่อแข่งขันนโยบายทางสังคม-เศรษฐกิจอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เช่นรัฐสังคมประชาธิปไตยในสหภาพยุโรปหรือสแกนดิเนเวีย ซึ่งให้สิทธิทางการเมืองอย่างเต็มที่ และรัฐไม่สามารถรอนสิทธินั้นได้ตราบที่ไม่ขัดแย้งรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยของเขา แม้แต่กลุ่มอนาธิปไตยก็ยังมีพื้นที่อยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และประชาชนสามารถเรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลายได้เต็มที่และเสนอทางเลือกที่หลากหลายให้แก่สังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจแบบราชอาณาจักร, สาธารณะรัฐหรือสหพันธรัฐ การจัดการเศรษฐกิจแบบผสม, สังคมนิยมหรือว่ากลไกตลาดในระบบเสรีนิยม แต่ประเทศไทยถูกจำกัดการเรียนรู้ด้าน Civic Education เหล่านี้ จึงเข้าถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอย่างจำกัด ท่ามกลางวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมเนียมและกฎหมาย แบบอุปถัมภ์ อำนาจนิยม ที่ชนชั้นนำควบคุมอยู่

             โครงสร้างทางอำนาจที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ทั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมเสียสมดุล การพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงมักเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำทางสังคมเท่านั้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในปัจจุบัน จนประเทศไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุดในเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า ขณะที่อินเดียและจีนซึ่งมีพลเมืองมากกว่า ห่างกันเพียง 8 เท่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2553 จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกของประเทศมีรายได้เพียง 1.69% ของรายได้รวมเท่านั้น ความขัดแย้งจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ คือความขัดแย้งหลักของสังคมที่รอวันปะทุความรุนแรง รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นำมาสู่ค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันด้วย อันเป็นเหตุผลให้รัฐต้องจัดรัฐสวัสดิการการศึกษาอย่างถ้วนหน้าในอนาคตเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ

            ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนซึ่งเป็นวิกฤติของสังคมไทยที่ผ่านมานั้น สาเหตุหลักมาจากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของชนชั้นนำมาโดยตลอดและทำให้เกิดการผูกขาดทางเศรษฐกิจของพวกเขาโดยปริยาย จนธุรกิจและการเมืองเหมือนจะกลายเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว และคณะรัฐบาลของทหารและนายทุนที่ผ่านมาก็ไม่เคยเยียวยาปัญหานี้ทางโครงสร้างเพราะกลัวสูญเสียประโยชน์ ประเทศไทยจึงไม่มีการจัดรัฐสวัสดิการและบริการสาธารณะจากรัฐอย่างเต็มที่เหมือนเจตนารมณ์เค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ความเหลื่อมล้ำมหาศาลของประเทศในขณะนี้นั้น สังคมไทยต้องตั้งคำถามต่อทิศทางการนำพาประเทศด้วยระบบทุนนิยมเสรีที่ใช้กลไกตลาดโดยไม่แยแสต่อทุนผูกขาดใดๆ ที่ควบคุมกลไกตลาดและเอาเปรียบสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องไม่ได้อีกต่อไปแล้ว รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการเศรษฐกิจแบบผสมผสานโดยเร็ว และควบคุมการเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติสาธารณะของสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความถี่ โทรคมนาคม อากาศ ดิน น้ำ ป่า น้ำมันและพลังงาน หรือสิ่งที่มนุษย์ไม่ได้สร้างสรรค์ขึ้นเองอื่นใด ซึ่งถือว่าควรเป็นกรรมสิทธิ์ของสังคม

            การผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำดังกล่าวโดยไม่เปิดโอกาสให้โครงสร้างอำนาจได้ขยับตัวเปลี่ยนแปลง ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียบรรทัดฐานทางสังคมการเมืองซ้ำซ้อน  จากวัฒนธรรมทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมไทยที่ไม่สามารถทลายวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมและอุปถัมภ์นิยมในสังคมไทยลงได้ จะด้วยการปฏิรูปกฎหมายหรือการบังคับใช้แก่ทุกฐานะทางสังคมอย่างเท่าเทียมกันก็ตาม กระบวนการยุติธรรมที่เป็นความหวังและหลังพิงความยุติธรรมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบจึงยังไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมความรับผิดชอบแก่ผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ต่อทุกความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปมปัญหาเรื่องบทบาทของเครือข่ายเจ้านายและสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย ยังถูกถกเถียงอย่างจำกัดในวงกว้างถึงบทบาทที่ควรจะเป็นตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพยังคงรุนแรงและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอยู่

            วิกฤติสังคมไทยและความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังสะท้อนถึงทิศทางประชาธิปไตยไทยที่กำลังเดินทางมาสู่ทางแพร่ง และปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างแนวทาง ‘ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม’ หรือประชาธิปไตยครึ่งใบแบบเก่า (semi democracy) และ ‘ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม’ (libertarian democracy) ซึ่งแนวทางแรกนำโดยชนชั้นนำกลุ่มทุนเก่าที่ต้องการแช่แข็งนักการเมืองคอร์รัปชั่นและปฏิรูปประเทศครั้งใหม่โดยกองทัพและประชาชน แนวทางที่สองนำโดยชนชั้นนำกลุ่มทุนใหม่ที่ต้องการผลักดันประเทศไปสู่เสรีนิยมเต็มที่เพื่อกำจัดอำนาจจารีตเดิมออกไป โดยแทบไม่มีทางเลือกอื่นใดให้แก่ประชาชนได้ยืนอยู่ในสถานการณ์สงครามการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ และปรากฏการณ์ ‘สี’ ที่ผลักใสไล่ส่งคนที่ไม่เข้าร่วมหรือเห็นต่างให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

            ทั้งสองแนวทางดังกล่าว ยังไม่มีคำตอบเรื่องการแก้ไขปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำแต่อย่างใด และภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ แนวทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หรือ ประชาธิปไตยแบบอนุรักษ์นิยม ทั้งสองแบบต่างก็เติบโตได้ดีในสังคมดังกล่าว โดยการแย่งชิงพื้นที่ระบบอุปถัมภ์นิยมเพื่อยึดโยงอำนาจของตนเอง แต่พลังภาคประชาชนไม่สามารถเติบโตได้เนื่องเพราะไม่สามารถเป็นอิสระจากรัฐและทุนได้อย่างแท้จริงภายใต้โครงสร้างและแนวทางเหล่านี้ การเมืองในโครงสร้างนี้จึงไม่มีพื้นที่ของประชาชนชั้นล่าง ไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองทางชนชั้นหรือพรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์ที่หลากหลาย เช่น พรรคสังคมนิยม หรือพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เกษตรกร คนงาน ประชาชนชั้นล่างของสังคม ถูกเลือกปฏิบัติมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า เราจะร่วมกันปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปทางไหน อย่างไร จะเดินถอยหลังไปสู่ ประชาธิปไตยครึ่งใบ แบบเก่า หรือเราจะเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อไปสู่ เสรีนิยมประชาธิปไตย (Libertarian Democracy) แบบสหรัฐอเมริกา ที่เน้นเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือว่าเราต้องการทิศทางใหม่ไปสู่ ‘สังคมนิยมประชาธิปไตย’ (Social-Democracy) แบบหลายรัฐในสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.)                                                                                  

แนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy)
            เริ่มต้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ขบวนการ ’สังคมนิยมประชาธิปไตย’(Social-Democracy) ในยุโรปเริ่มแรกเป็นชื่อเรียกกลุ่มพวก Republican  ที่มี ‘สีสัน’ ทาง ’สังคมนิยม’ ต่อมาเมื่อเกิดพรรค SPD เยอรมันในปี 1869 โดยลาสซาลล์ และสาวกของคาร์ล มาร์กซเอง ก็ได้ใช้คำนี้ในความหมายที่เป็น ผู้ต่อสู้เพื่อสังคมนิยมและประชาธิปไตย เพราะในยุโรปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐใหญ่ๆ เช่น เยอรมนี, ออสเตรีย-ฮังการี, รัสเซีย ยังปกครองด้วยระบบกษัตริย์อยู่ ดังนั้น การที่พวกสังคมนิยมเรียกตัวเองแบบนี้ จึงมีความหมายทั้งในแง่ต่อสู้เพื่อสังคมนิยมและประชาธิปไตย (สาธารณรัฐ) - (ในสมัย ร.7 ของไทย ความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปตัย’ คือ Republic) ซึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 19  มีทั้งฝ่ายที่เรียกตนเองว่า สังคมนิยมปฏิรูป เช่น คาน เค้าท์สกี้ กับ เบอร์นสไตน์ และ สังคมนิยมปฏิวัติ เช่น เลนิน กับ โรซา ลักเซมเบิร์ก

            เมื่อเกิดการแตกตัวในขบวนการฝ่ายซ้ายยุโรป เป็น ’คอมมิวนิสต์’ กับ ’สังคมนิยมประชาธิปไตย’ คำหลังจึงหมายถึงสังคมนิยมที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ โดยให้ความสำคัญกับเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) และ เศรษฐศาสตร์สังคม’ (Social-Economy) เป็นหลัก และสนับสนุนการปกครองที่ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ตรงที่ต้องการประชาธิปไตยทางการเมืองแบบรัฐสภานั่นเอง ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ คงปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนไม่ได้อีกต่อไป ไม่ว่าในโครงสร้างการปกครองแบบใด ดังนั้น สังคมนิยมประชาธิปไตย จึงมีรากฐานมาจากอุดมการณ์สังคมนิยม แล้วแตกตัวออกมาเป็น 1.สังคมนิยมปฏิวัติ หรือคอมมิวนิสต์ 2.สังคมนิยมปฏิรูป หรือ Social-Democracy ซึ่งมีแนวทางในการสร้าง ‘ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง’ หรือความเป็นสังคมทางเศรษฐกิจ ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.) และประชาธิปไตยทางการเมือง ตามสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) นั่นเอง 

            ในประเทศไทยเอง นอกจากมีแนวคิดสังคมนิยมที่เป็นสายธารประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แล้ว ยังมีสายธารการเคลื่อนไหวสังคมนิยมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเรียกรวมๆ ว่าสาย ‘พุทธสังคมนิยม’ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปรีดี พนมยงค์, กุหลาย สายประดิษฐ์ หรือ พุทธสังคมนิยมคนสำคัญอย่าง พุทธทาส ภิกขุ ซึ่งเสนอแนวคิดหลักทางการเมืองที่เรียกว่า ’ธรรมิกสังคมนิยม’ เชื่อในแนวทางสังคมนิยมว่า ถึงที่สุดแล้วมนุษย์ต้องเสมอภาคกัน และปัญหาไม่ใช่แค่การเสียดุลทางสังคม หากรากของปัญหาคือวิกฤติที่เสียดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย

            คำว่า ’สังคมนิยมประชาธิปไตย’ แม้มีหลายความหมายในประวัติศาสตร์ แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจร่วมกันว่าเป็นแนวทางการเมืองที่พยายามปฏิรูปทุนนิยมภายในโครงสร้างรัฐและเศรษฐกิจ มีการสร้างรัฐสวัสดิการโดยรัฐเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม หลายคนเรียกระบบเศรษฐกิจแบบนี้ว่า ’เศรษฐกิจผสม’ (Mixed Economy) เพราะมีการผสมภาคเอกชนกับภาครัฐภายในกรอบทุนนิยม โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป  แต่ปัจจุบัน หลายประเทศที่ขบวนการประชาชนเข้มแข็ง เริ่มพัฒนาสู่การปฏิรูปนโยบายสังคม(Social-Policy)ใหม่ตามแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยมากขึ้น เช่นในแถบละตินอเมริกา เวเนซุเอลา โบลิเวีย หรือกัวเตมาลา ที่พรรคแนวสังคมนิยมได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งความคิดแบบ Socialist, Social-Democracy ในทางสากลจะเน้นการเคลื่อนไหวนโยบายสังคม การเข้าไปปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมของตนเองเข้าไปต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภา ซึ่งในปัจจุบัน สังคมนิยมปฏิรูปได้ลงหลักปักฐานในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในรูปของประเทศรัฐสวัสดิการ มีระบบประกันสังคมถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพ โดยการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าในระดับสูง

            แนวทางในอนาคตของสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น ต้องสร้างสถาบันประชาชนให้มีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะในรูปแบบองค์กร หรือกลุ่มขบวนการใด ทั้งในทางชนชั้น อาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการของชาวนา ชาวไร่ กรรมกร คนงาน พนักงานสาขาอาชีพต่างๆ จะต้องมีขบวนการของตนเองที่เข้มแข็ง เพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางชนชั้นหรือกลุ่มทางสังคมของตนเองได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดในรูปของพรรคการเมืองทางชนชั้น สาขาอาชีพ หรือในนามกลุ่มพลังทางการเมืองก็ได้ แนวคิดการใช้พรรคการเมืองเชิงอุดมการณ์เป็นเครื่องมือในอนาคตนั้น เพราะว่าประชาชนไม่อาจสร้างความเป็นธรรมทางสังคมขึ้นได้ หากชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมนั้นไม่เข้าไปสู่อำนาจรัฐ และใช้อำนาจรัฐนั้นจัดวางความเป็นธรรมทางสังคม ตลอดจนผลประโยชน์ทางชนชั้น เนื่องจากระบอบการเมืองนั้นเป็นตัวกำหนดระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในประเทศแถบยุโรปนั้นสามารถสร้าง ’สังคมนิยมประชาธิปไตย’ ให้เกิดขึ้นได้ เพราะมีพรรคการเมืองที่ต่อสู้ทางอุดมการณ์เข้าไปสู่อำนาจรัฐ หรือพรรคตัวแทนทางชนชั้นเข้าไปต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง เช่น พรรคสังคมนิยมในประเทศสเปน, ฝรั่งเศส, อิตาลี พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศเยอรมัน ที่เคยเปลี่ยนแปลงการเมืองในประเทศหลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไป

ทางออกจากวิกฤติของประเทศไทยและข้อเสนอทางการเมือง
            เพื่อเปลี่ยนผ่านจากทิศทาง เสรีนิยมประชาธิปไตย (Libertarian Democracy) ที่เน้นเฉพาะสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่ไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคม ไปสู่ทางออกจากวิกฤติของประเทศไทยตามแนวทาง ‘สังคมนิยมประชาธิปไตย’ (Social-Democracy) ที่ให้ความสำคัญทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR.) และสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR.) เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนจน-คนรวย และสร้างการกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่เป็นธรรมมากขึ้น ตามข้อเสนอของ คอป. เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง รวมถึงผลักดันให้ประเทศนี้เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ (ปัจจุบันประเทศที่เป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย Social-Democracy มากที่สุดในโลก ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอรเวย์ และเยอรมัน เป็นต้น) จึงมีข้อเสนอทางการเมือง เพื่อปฏิรูปประเทศและสังคม ดังนี้

            1.ขอเรียกร้องให้ชนชั้นนำในสังคมไทย อันประกอบไปด้วยเครือข่ายเจ้านาย เครือข่ายชินวัตร กองทัพ นักการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนายทุน ทั้งกลุ่มทุนเก่าและกลุ่มทุนใหม่ ร่วมกันก้าวข้ามผลประโยชน์ตนเองไปสู่ผลประโยชน์ร่วมของสังคม โดยไม่ใช้วิธีการต่อสู้ทางการเมืองด้วยการใช้ความตายของประชาชนเป็นเครื่องมือ และสนับสนุนการปฏิรูปสังคมใหม่อย่างสันติผ่านระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย โดยสนับสนุนประชาชนในการเสนอทางเลือกใหม่ไปจากอุดมการณ์ประชาธิปไตย 2 กระแสในปัจจุบันไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เน้นสังคม หรือ สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) ที่สนับสนุนให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ และสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกใหม่ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเป็นทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งในปัจจุบัน

            2.ต้องมีการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะปัญหาการครอบครองทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้และโภคทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำมหาศาลและเป็นปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคมไทย โดยมีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริง รวมถึงแนวทางแก้ไขการเข้าผูกขาดทรัพย์สมบัติสาธารณะของเอกชน หรือการสัมปทานแบบได้เปล่าที่เอื้อผลประโยชน์ต่อรัฐน้อยเกินไป โดยรัฐจะต้องเข้ามาดูแลโภคทรัพย์ส่วนรวมของสังคมและกระจายสู่ประชาชนอย่างเต็มที่ โดยยุติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เอกชนแต่ปฏิรูปการบริหารจัดการใหม่แบบทันสมัยโดยถือให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนหลัก โดยเฉพาะ การซื้อคืนกิจการ ปตท. การจัดการเรื่องพลังงานของประเทศเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์เต็มที่ การขนส่งมวลชนสาธารณะขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อทั้งประเทศ และการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสังคมอื่นๆ

            3.ต้องมีการสร้างหลักประกันการคุ้มครองทางสังคมอย่างเร่งด่วน และผลักดันให้ประเทศนี้เป็น ‘รัฐสวัสดิการ’ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบทุนนิยมที่รัฐปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้มหาศาลจากการคุ้มครองดูแลของรัฐเอง โดยมีการนำเอานโยบายใน ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจ’ ของนายปรีดี พนมพยงค์ ขึ้นมาทบทวนและปรับใช้ใหม่ โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร และแนวคิดของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เรื่อง ‘จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน’ เพื่อให้รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างแท้จริง รวมถึงสร้างพันธกิจและหน้าที่ของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใด จะต้องมีหน้าที่ดูแลสวัสดิภาพของประชาชน สร้างรัฐสวัสดิการและการบริการสาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การสาธารณสุข  การประกันสังคม การประกันการว่างงานและการสนับสนุนระบบสหกรณ์ โดยทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค

            4.ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา โดยพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบสนองต่อสังคมและชุมชนท้องที่อย่างเต็มที่ มากกว่าการผลิตบัณฑิตตอบสนองกลไกตลาดอย่างเดียว โดยยุติการนำมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบและแปรรูปไปเป็นของคณะบุคคล การศึกษาต้องเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของรัฐ ตามหลักด้านเสรีภาพทางการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่ใคร่ศึกษาหาความรู้ควรได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างเสมอภาค มิใช่เพียงเปิดโอกาสอย่างจำกัดทางด้านการศึกษาเท่านั้น โดยอาจผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดละ 1 แห่งเป็นทั่วประเทศเป็นการให้การบริการสาธารณะด้านการศึกษาแก่ทุกคนที่สนใจ และมีการเปิดการเรียนรู้พลเมืองหรือ Civic Education อย่างเปิดกว้างโดยไม่ปิดกั้น มีการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองอย่างกว้างขวาง และสนับสนุนการศึกษาทางเลือก

            5.เพื่อให้มีงบประมาณในการสร้างรัฐสวัสดิการดังกล่าว รัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง และภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทางนั่นเอง อย่างไรก็ดี ประเทศไทย ควรมีนโยบายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า ทั้งจากสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์เหมือนภาษีทรัพย์สินในต่างประเทศ ไม่ใช่จากอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียวตามที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาว รวมถึงการเก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม และเป็นหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ เพื่อให้รัฐและท้องถิ่น นำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสวัสดิการทางสังคม เช่น การขนส่งมวลชนสาธารณะ การศึกษาและการสาธารณะสุข เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพปลอดพ้นจากความอดอยากแร้นแค้น โดยเฉพาะชนชั้นล่างทางสังคม ซึ่งหากภาษีที่รัฐเก็บมา ใช้จ่ายไปในกลุ่มที่เป็นกลุ่มรายได้ระดับล่างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะสามารถลดช่องว่างของคนในสังคมได้มากยิ่งขึ้น

            6.ต้องมีการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบและจำกัดการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง ในปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีที่ดินประมาณ 360 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติประมาณ 25% คงเหลือประมาณ 270 ล้านไร่ให้ใช้ประโยชน์ซึ่งจะเฉลี่ยได้เพียงคนละ 4-5 ไร่เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมากของเอกชนจนเกิดการกระจุกตัว โดยไม่มีนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ที่ดินไม่ควรเอาเข้าสู่ระบบกลไกตลาดด้วยซ้ำ, ประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง โดยการรื้อฟื้นปรับปรุง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมีการจำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ และห้ามคนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยรัฐบาลและกระทรวงการคลังอาจร่วมกันปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวให้ทันสมัยขึ้น โดยมีมาตรการจำกัดการถือครองเพิ่มขึ้นไม่เกิน 100 ไร่ หรือตามความจำเป็น เป็นต้น และสนับสนุนนโยบายการเก็บภาษีที่ดินฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ครอบคลุมมาตรการดังกล่าว เพราะหากรัฐบาลไม่มีนโยบายเรื่องนี้ เกษตรและชาวนาไทยอาจจะกลายเป็นเพียงแรงงานในท้องไร่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ของนายทุนไร้สัญชาติในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ยังเป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า รัฐมีหน้าที่กระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงโดยการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่น ทั้งนี้ กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้เก็บ นอกจากเป็นมาตรการสำคัญในการปฏิรูประบบภาษีที่ดิน และสามารถพัฒนาโครงสร้างทางการคลังเพื่อนำไปสู่ภาวการณ์กระจายรายได้ที่ดีขึ้นได้ ยังเป็นการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวอีกขั้นหนึ่ง เพราะเป็นรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรทรัพยากรและกระจายการพัฒนาสาธารณูปโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องเพราะประเทศไทยยังไม่มีภาษีที่จัดเก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริงเช่นนี้ นอกจากฐานรายได้ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงสร้างภาษีที่ไม่มีความเป็นธรรม แม้ว่าในอดีตถึงปัจจุบัน เราจะมีการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ไม่ได้เก็บจากมูลค่าของทรัพย์สินอย่างแท้จริง เพราะเป็นการคำนวณภาษีบนฐานรายได้ โดยคำนวณจาก ‘ค่ารายปี’ หรือค่าเช่าที่เจ้าของได้รับในแต่ละปี ถ้ามีการออกกฏหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากฐานทรัพย์สินที่แท้จริง

7.ต้องมีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตอย่างมีส่วนร่วมของประชาชน โดยใช้กลไก ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามหลักประชาธิปไตยและเจตจำนงค์ประชาชนอย่างแท้จริงในการมีส่วนออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อแก้ไขข้อครหาที่มาของรัฐธรรมนูญ 2550 และผลพวงของการรัฐประหาร 2549 ซึ่งได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มาจากเจตจำนงค์ของประชาชนลง โดยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ตามกติกาสากลระหว่างประเทศ (ICCPR.) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี (2539) และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (2491) จะต้องถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลักการที่ว่า “ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยผ่านผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ และเจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล โดยเจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง” รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศ (ICESR.) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี (2542) ด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ต้องยกเลิกการบังคับ ส.ส. สังกัดพรรคและการกีดกันการเข้าสู่การเมืองด้วยรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะระดับการศึกษา รวมถึงการแก้ไขการบัญญัติระบบเศรษฐกิจที่ให้ขึ้นต่อกลไกตลาดด้วย เพราะถือเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการทุนนิยม หากไม่สามารถใช้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสานได้ ฯลฯ

            8.ต้องมีการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ปิดกั้นการรวมตัวทางการเมืองของประชาชนและเป็นอุปสรรคให้เกิดประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อปฏิรูประบบพรรคการเมืองในประเทศไทยให้มีประชาธิปไตยภายในพรรค มีลักษณะพรรคของมวลชนอย่างแท้จริง ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ทางการเมืองได้อย่างเสรี โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองโดยเฉพาะการรวมตัวเป็นพรรคของประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนทางนโยบายและเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง, รวมถึงการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา การกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ทั้งแบบเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมือง ทั้งยังสนับสนุนให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองของพลเมืองและพรรคการเมืองทางเลือกของประชาชนจากกลุ่มชนชั้นต่างๆ โดยต้องแก้ไขให้มีการเลือกตั้งจากสถานที่ประกอบการหรือในโรงงานที่ทำงานได้ตามการเรียกร้องสิทธิแรงงานในเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน           

            9.ต้องมีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชน เพราะที่ผ่านมาอำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถมีอำนาจที่แท้จริงตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมืองได้ เพราะมีความลักลั่นและทับซ้อนกันในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคของระบบราชการไทย โดยให้มีการรับรองสิทธิการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชน และการจัดการเศรษฐกิจตามลักษณะพื้นที่ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของชุมชนเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนในท้องที่อย่างแท้จริง โดยไม่ถูกอำนาจแทรกแซงจากอำนาจรัฐและทุนในการผลักดันอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้าไปทำกิจการในพื้นที่โดยไม่ผ่านการประชามติ และให้มี ‘สภาหมู่บ้าน’ ที่กฎหมายรับรองอำนาจในการตรวจสอบ ถ่วงดุลและถอดถอนผู้แทนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ในกรณีไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ในชุมชน ฯลฯ

            10.ให้มีการทบทวนแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ โดยพิจารณาหลักสิทธิมนุษยชนสากล และลดโทษลงกว่าที่มีอยู่ ตามข้อเสนอของ คอป. ที่ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการฟ้องร้องดังกล่าวตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและทำให้ส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์

 




[1]  อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544, ประธานศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (YPD) 2545-2550, เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (2550-2552), อดีตอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตรวจสอบและค้นหาความจริงเฉพาะกรณี 1-5 ในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา

[2]   เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) ก่อตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางการเมืองบนแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social-Democracy) ประกอบไปด้วยคณะบุคคล-ประชาชนทั่วไปที่เห็นว่า ความเป็นสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางการเมือง คือทางออกของประเทศไทย โดยมีโครงการจัดตั้งสถาบันสังคมประชาธิปไตย (Social-Democracy Think Tank) ทำหน้าที่เป็นกองเลขานุการและ Think Tank ของขบวนการ ดำเนินการจัดเวทีสร้างองค์ความรู้/อภิปรายสาธารณะ รวมถึงการจัดตั้ง/สร้างนักสังคมนิยมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่อุดมการณ์ทางสังคมและสร้างเครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งต่อไป

ทั้งนี้ เครือข่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat Movement) มีเป้าหมายที่จะทำงานเป็นภาคีความร่วมมือทางการเมืองร่วมกับองค์กรประชาชนต่างๆ ทุกสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนงาน เกษตรกร นักศึกษา ปัญญาชนและนักวิชาการ, กลุ่มขบวนการคนจนต่างๆ  กลุ่มสหพันธ์/สหภาพแรงงานต่างๆ รวมถึงแรงงานนอกระบบ และกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ โดยสนับสนุนองค์กรเยาวชน (Youth Wing) ของขบวนการให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) สหภาพเยาวชนแรงงาน (YWU) และพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อขับเคลื่อนขบวนการคนหนุ่มสาวในประเทศไทย ให้เป็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่เข้มแข็งต่อไป รวมถึงเชื่อมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นภาคีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Socialist International(SI), The Party of European Socialists (PES) , International Union of Socialist Youth (IUSY) ซึ่งมีเยาวชนของพรรคสังคมประชาธิปไตย, พรรคสังคมนิยม, พรรคแรงงาน และขบวนการเคลื่อนไหวสังคมนิยมประชาธิปไตยทั่วโลกเป็นสมาชิกกว่า 100 ประเทศ, World Federation of Democratic Youth (WFDY) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ทั่วโลก และ Young Progressives South East Asia (YPSEA) องค์กรเยาวชนซึ่งมีสมาชิกกว่า 16 องค์กร ในประเทศอาเซียน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net