Skip to main content
sharethis

สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาถอดบทเรียนการเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตยในเนปาล ที่ไม่ราบรื่นและยังคงอยู่บนเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลง

ดร.นิสชาล ปานเดย์

ดร.นิสชาล ปานเดย์ (Dr.Nishchal Pandey)  ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา จากมหาวิทยาลัยกาฐมัณฑุ เนปาล กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านในเนปาล โดยระบุถึงสาเหตุของปัญหาใหญ่ นั่นคือ สถาบันกษัตริย์ที่ความนิยมตกต่ำลงหลังการสังหารหมู่ –การพยายามเข้ามาแสดงบทบาททางการเมือง, กองทัพที่รับศึกหลายด้าน ทั้งไม่สามารถจัดการความไม่สงบภายในประเทศจากกลุ่มก่อความไม่สงบเหมาอิสม์ และในฐานะเป็นฐานที่มั่นสำคัญให้ระบอบกษัตริย์ก็ไม่สามารถรับมือกับพรรคการเมืองได้

“ครั้งหนึ่ง เนปาลนั้นเคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ของสันติภาพ ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม แม้แต่ในช่วงที่สหราชอาณาจักรล่าอาณานิคมและเข้ามาปกครองอินเดีย แต่ก็ไม่เคยได้ปกครองเนปาล เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจของเนปาล และที่สามารถคงความเป็นอิสระไว้ได้ก็เพราะอัจริยภาพของกษัตริย์

“ในปี 1990 มีการก่อตั้งการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหลายพรรค จนกระทั่งปี 1996 กลุ่มเหมาอิสต์ที่เป็นฝ่ายซ้ายสุดโต่งก็เริ่มก่อเหตุไม่สงบ (Insurgency) จนถึงปี 2006 ก็มีคนตายไปจากเหตุรุนแรง 16,000 คน นั่นคือสถานการณ์ที่นำเนปาลกลับไปสู่สงครามกลางเมือง”

จุดหักเหของประวัติศาสตร์ กษัตริย์เล่นการเมือง กองทัพรับศึกหลายด้าน

ดร. นิสชาลระบุว่า หลังเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเมืองของเนปาลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งสะท้อนจากการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีบ่อยเกือบจะรายปี ภายในระยะเวลา 19 ปี เนปาลมีนายกรัฐมนตรี 19 คน ขณะที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็กระทบต่อสิทธิมนุษยชนในเนปาลและลำพังกองกำลังของตำรวจก็ไม่สามารถจัดการได้ กระทั่งในปี 2001 มีการใช้กำลังทหารเพื่อจัดการกับเหตุไม่สงบ แต่เมื่อทหารเริ่มเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ไม่สงบก็เริ่มมีการฆ่าประชาชน และประชาชนก็เริ่มมองกองทัพเป็นศัตรู ขณะที่รัฐบาลก็เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนก็เริ่มมองเห็นว่า กองกำลังเหมาอิสต์เป็นคำตอบและสามารถปลดปล่อยประชาชนได้มากกว่าบรรดาพรรคการเมือง

ในปี 2006 สถานการณ์อยู่ในภาวะที่ไม่มีผู้ชนะ เพราะว่ากองกำลังเหมาอิสต์ก็ไม่สามารถยึดกุมชัยชนะได้ ขณะเดียวกันกองทัพก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาเช่นกัน แต่สำหรับสถานการณ์ปะทะระหว่างกองทัพกับกองกำลังเหมาอิสต์แล้ว ดร. นิสชาลระบุว่า กองกำลังเหมาอิสต์นั้นสามารถที่จะสู้โดยไม่สูญเสีย ขณะที่กองทัพสูญเสียโดยไม่สามารถเอาชนะได้ สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อเนื่องและเมื่อเวลาผ่านไปเป็นปี ประชาชนก็เริ่มหมดความอดทน กองทัพพ่ายแพ้เพราะว่าแคมเปญ ข่าวลือ และโซเชียลมีเดีย

ในด้านกองทัพ เดิมก่อนปี 1996  มีกองกำลังประมาณสามหมื่นห้าถึงสี่หมื่น ก็เพิ่มกองกำลังขึ้นเป็นเก้าหมื่น แต่ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่สงบได้

ดร.นิสชาลระบุว่า สถานการณ์ที่ชายแดนคือ ความรุนแรงนั้นเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างอินเดียกับเนปาล แต่กองทัพของเนปาลนั้นเป็นอิสระโดยสิ้นเชิงจากกองการช่วยเหลือของอินเดีย แต่การจัดการกับปัญหาความไม่สงบนั้นต้องการความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถ้าเพื่อนบ้านนั้นเล่มเกมสองชั้นแล้ว ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่สงบภายในประเทศได้ เขาระบุโดยยกตัวอย่างกรณีของปากีสถานนั้นเราจะเห็นว่ากองทัพจำเป็นต้องปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนเพราะว่าชายแดนคือพื้นที่ซ่องสุมกำลัง และเป็นฐานที่มั่นในการปฏิบัติการทั้งการเจรจา ระดมสรรพกำลัง ล็อบบี้ เจรจาหาความร่วมมือ รวมไปถึงส่งอีเมลและแฟกซ์

ในส่วนของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองนั้น ดร.นิสชาลกล่าวว่า แม้ว่าพรรคการเมืองจะได้รับเลือกตั้งจากประชาชนตามกลไกประชาธิปไตย แต่ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาอื้อฉาว รัฐมนตรีต่างมีข้ออื้อฉาวเกี่ยวกับคอร์รัปชั่น ถูกกล่าวหาว่าต้องการรักษาเก้าอี้ ต้องการรักษาสถานภาพของตัวเองมากกว่าที่จะต้องการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งนี่ก็ยิ่งไปเอื้อประโยชน์ให้กับกองกำลังเหมาอิสม์

เมื่อกษัตริย์เล่นการเมือง
สถาบันกษัตริย์ของเนปาลเป็นสถาบันที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมานานกว่า 240 ปี แต่ว่าเกิดเหตุสังหารหมู่ในปี 2001 ซึ่งมกุฏราชกุมารฆาตรกรรมพระบิดาและพระมารดา ซึ่งจนปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถสืบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ คนเดียวที่รอดชีวิตก็คือน้องชายของกษัตริย์องค์ก่อน คือเจ้าชายคยาเนนทรา ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์คยาเนนทราท่ามกลางเหตุการณ์ไม่สงบและปัญหาการเมือง

อดีตกษัตริย์คยาเนนทราของเนปาล ซึ่งพ้นจากอำนาจหลังรัฐสภาเนปาลลงมติเมื่อปี 2551 ให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ (ที่มา: nepaldemocracy.org /แฟ้มภาพ)

ดร. นิสชาลกล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลาแห่งการผันผวนทางการเมืองที่นักการเมืองกำลังทำร้ายประเทศและกองกำลังเหมาอิสต์ก่อความไม่สงบอยู่ในพื้นที่ชนบท ประชาชนก็เริ่มมีคำถามว่ากษัตริย์จะเป็นผู้เฝ้าดูอยู่ได้อย่างไร มีความคาดหวังว่ากษัตริย์ต้องทำอะไรบางอย่างในสถานการณ์เช่นนั้น เพราะกษัตริย์นั้นเป็นความหวังสุดท้ายสำหรับชะตากรรมของประชาชน

ปี 2001 และ 2005 มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กษัตริย์เข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ขณะที่รัฐมนตรีหลายคนก็ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชั่น ส่งผลคณะรัฐมนตรีก็เลยไปร่วมมือกับกลุ่มกบฏเหมาอิสต์ ผู้พ่ายแพ้ที่ยิ่งใหญ่ในเกมนี้จึงกลายเป็นสถาบันกษัตริย์

“สถาบันกษัตริย์นั้นขึ้นอยู่กับกองทัพเพียงอย่างเดียวและกองทัพไม่สามารถต่อสู้ทั้งในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบและในเมืองหลวง กองทัพไม่สามารถต่อสู้ทั้งกับกองกำลัง และไม่สามารถต่อสู้กับพรรคการเมืองในเวลาเดียวกัน

“อันที่จริงแล้ว กองทัพนั้นได้รับการฝึกมาอย่างดี มีการฝึกในต่างประเทศ เช่นในอังกฤษ ในฮาวาย ผู้บัญชาการกองทัพก็เป็นผู้ได้รับการศึกษาอย่างดี พวกเขาไม่โง่ แต่พวกเขาก็มีความจงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์ “แต่โชคไม่ดีที่กองทัพต้องต่อสู้ในหลายสมรภูมิพร้อมๆ กัน ต่อสู้กับพรรคการเมืองในกาฐมัณฑุ ต่อสู้กับกองกำลังปลดแอกในหมู่บ้าน กองทัพไม่สามารรถต่อสู้ในสองสมรภูมิ” 

เมื่อเกิดการปฏิวัติในเดือนเมษายน 2006 กองทัพก็พยายามที่จะเข้ามาควบคุมพื้นที่ด้วยการประกาศเคอร์ฟิวส์ จับกุมผู้นำ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ พรรคการเมืองตัดสินใจเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ยอมรับสถาบันกษัตริย์และระบอบพรรคการเมืองหลายพรรค ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกสถาบันกษัตริย์ด้วย

โดยสรุปแล้ว สถาบันกษัตริย์ก็ถูกยกเลิกไปในปี 2008 และมีการเลือกสมาชิกรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งกันในวันที่ 10 เดือนเมษายน 2008

“เป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้เลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนเอง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ นั้นกษัตริย์เป็นผู้มอบให้กับประชาชน และในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา เนปาลก็มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 5 ฉบับ นี่เป็นครั้งแรกที่เติมเต็มสัญญาที่ประชาชนรอคอยมากว่า 57 ปี ว่าพวกเขาจะได้กำหนดชะตากรรมของตัวเอง ประชาชนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ออกมาลงคะแนนเสียง มีสื่อและผู้สังเกตการณ์จากทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 80,000 คนเดินทางมายังเนปาล เป็นครั้งแรกที่เกิดความหวังอย่างแท้จริงว่าสถานการณ์ในเนปาลจะลงตัว”

ปัญหาความนิยมในรัชทายาท
“เรายังมีปัญหาเกี่ยวกับมกุฏราชกุมารอีกด้วย ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น รัชทายาท ไม่เคยถูกฝึกปรือให้เป็นรัชทายาท ...มีเหตุการณ์อยู่สองสามเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องเสื่อมเสีย โดยเหตุการณ์หนึ่งคือ กรณีที่รัชทายาทขับรถจี๊ปกลับจากปาร์ตี้และชนเข้ากับรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งมีนักร้องชื่อดังผู้หนึ่งเป็นผู้ขับ และนักร้องผู้นั้นเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ แม้ว่าในการสอบสวนจะพบว่าความเป็นจริงมอเตอร์ไซค์จะเป็นฝ่ายขับสวนเลนมา และเมื่อสื่อต้องการทำข่าวเหตุการณ์ก็ถูกตำรวจขัดขวางไว้ นี่ทำให้เกิดข่าวลือขึ้น และข่าวลือนั้นเป็นอาวุธทรงพลัง เช่นที่ทุกวันนี้มีการส่งเอสเอ็มเอส มีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์และโซเชียลมีเดียอื่นๆ แม้จะมีความพยายามโน้มน้าวว่ากรณีนี้ไม่ใช่ความผิดของพระองค์ แต่ใครล่ะจะเชื่อ ในอีกด้านหนึ่ง มีพนักงานขับรถมากมายในพระราชวัง ทำไมพระองค์ต้องขับรถด้วยพระองค์เอง”

ดร. นิสชาลกล่าวว่า ในด้านตรงกันข้าม มหันตภัยด้านการข่าวและการประชาสัมพันธ์ก็มาจากการการที่มกุฏราชกุมารี (พระชายาของมกุฏราชกุมาร) ซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากราชาสถาน อินเดีย กลับที่เป็นที่นิยมชมชอบของประชาชนเนปาล ด้วยความมีสเน่ห์ พูดจาดี และหลังจากที่ราชวงศ์ล่มลง ก็ทรงทำมูลนิธิให้ความช่วยเหลือชาวเนปาล และมีชื่อเสียงมากขึ้นหลังการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์ โดยให้สัมภาษณ์ว่าไม่สนใจว่าเนปาลจะยังเป็นสมบูรณาญาสิทธิหรือเป็นสาธารณรัฐ ความนิยมชมชอบจากประชาชนนี้ เป็นด้านที่ตรงข้ามกับพระสวามีของพระองค์เอง

“เพื่อที่จะทำภาพลักษณ์ของมกุฏราชกุมารให้สะอาด มีการพีอาร์ขนาดใหญ่ ทั้งผ่านคอลัมน์ โบรชัวร์ รวมถึงมีความคิดว่า มกุฏราชกุมารควรเสด็จไปเยี่ยมเยียมประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะประชาชนทุกวันนี้ฉลาดขึ้นมาก”   ดร.นิสชาลกล่าว

ลองมาทุกทางแล้ว ลองเหมาอิสต์ดูบ้าง
สิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนก็คือ การที่ผู้นำกลุ่มเหมาอิสต์ชนะเลือกตั้ง และผู้แข่งขันจากพรรคเหมาอิสต์ก็ชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรคใหญ่ในสภา โดยได้ 120 ที่นั่งในการเลือกตั้งโดยตรง และอีก 100 ที่นั่งได้รับเลือกสรรจากระบบสัดส่วนของพรรคการเมือง ทั้งในสภามีที่นั่งทั้งหมด 601 ที่นั่ง นายประจันดรา หัวหน้ากองกำลังเหมาอิสต์ก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ของสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล

“นี่เป็นความเซอร์ไพรซ์อย่างใหญ่หลวงสำหรับทุกคน เพราะว่าการก่อความไม่สงบของกองกำลังเหมาอิสต์ส่งผลให้มีการสังหารคนไปกว่า 16,000 คนในช่วงเวลาที่ผ่านมา แล้วเหตุไฉนพรรคเหมาอิสต์จึงชนะเลือกตั้ง คำตอบก็คือว่ากองกำลังเหมาอิสต์ได้ทำการเปลี่ยนแปลงสังคมในชนบทไปแล้ว บรรดาประชาชนตามหมู่บ้านในชนบทนั้นสนับสนุนพรรคเหมาอิสต์ ชาวบ้านต้องการความเปลี่ยนแปลง พวกเขาเห็นสถาบันกษัตริย์มานานกว่า 250 ปีแล้ว พวกเขาได้เห็นบทบาทที่ผิดพลาดของพรรคการเมืองต่างๆ มาแล้วกว่า14 ปี พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง และสโลแกนหลักของเหมาอิสต์ก็คือ 'คุณได้ลองทางเลือกต่างๆ มาแล้ว ถึงเวลาที่จะลองเลือกพวกเราบ้าง' (You have tried everybody. Now try us) และสโลแกนนี้ก็จับใจผู้คน”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรคเหมาอิสต์จะเป็นพรรคใหญ่ในสภา แต่ก็ไม่ใช่เสียงข้างมาก ดังนั้นก็ต้องการการสนับสนุนจากพรรคการเมืองเล็กๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และก็พบกับปัญหาว่าไม่สามารถที่จะหาขอตกลงกันได้ในประเด็นสหพันธรัฐ 

 

จากภาพจะแสดงให้เห็นว่าผลการเลือกตั้งนั้น สีแดงต่างๆ คือพื้นที่ที่เลือกพรรคเหมาอิสม์

 


มีพื้นที่เล็กๆ บริเวณตอนใต้ที่มีพรมแดนติดกับอินเดียที่พรรคทารัยชนะเลือกตั้ง ทั้งนี้สิ่งที่ปรากฏขึ้นหลังจากที่คว่ำสถาบันกษัตริย์ลงไปแล้ว ก็เหมือนการเปิดเปลือกที่ห่อหุ้มไว้เห็นหนอนตัวเล็กๆ อยู่ภายในมากมาย ปรากฏการณ์การเผยตัวให้เห็นของกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนาที่หลากหลาย รวมถึงการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนชาติพันธุ์ซึ่งมีความซับซ้อน 

พรรคทารัย ก็เป็นส่วนหนึ่งในประเด็นเหล่านี้ โดยพรรคทารัยชนะการเลือกตั้ง พื้นที่ที่พรรคทารัยได้ชัยก็เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ชายแดนติดกับอินเดีย พื้นที่นี้เกิดเหตุรุนแรง เกิดเหตุระเบิด การฆาตกรรม ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา พื้นที่นี้มีกลุ่มสุดโต่งที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากรรมในอินเดีย

ก้าวสู่ secular state เผชิญความสุดโต่งอันหลากหลาย
ดร. นิสชาลกล่าวว่า ประเด็นศาสนาภายในเนปาลก็เป็นอีกเรื่องที่มีความพยายามผลักดันจากองค์กรเอกชนจากภายนอก เช่นองค์กรจากยุโรป ซึ่งเห็นว่าเนปาลควรเป็นรัฐที่เป็นกลางทางศาสนา (secular state)

สำหรับสถาบันกษัตริย์แล้ว เดิมนั้นเป็นสถาบันกษัตริย์ภายใต้ศาสนาฮินดู แต่ก็มีประชาชนบางกลุ่มที่คิดว่าเนปาลควรเป็นรัฐที่เป็นกลางทางศาสนา เพราะเนปาลนั้นมีประชาชนที่นับถือพุทธ อิสลาม และคริสต์ ขณะที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเป็นฮินดู แต่ก็ไม่ต้องการให้กษัตริย์เป็นตัวแทนศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของ ดร. นิสชาล ในยุคที่เนปาลเป็นประเทศฮินดู ไม่เคยมีกรณีขัดแย้ง ในทางปฏิบัติแล้วเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางศาสนา แต่เมื่อเนปาลปรับตัวมาสู่การเป็นรัฐที่มีความหลากหลายทางศาสนา กลับมีกลุ่มฮินดูขวาสุดโต่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่ในอินเดียมีกลุ่มฮินดูขวาสุดโต่งอยู่ มีกรณีการระเบิดโบสถ์ในกาฐมัณฑุในปี 2009 โดยกลุ่มฮินดูสุดโต่งนี้เอง เป็นผลให้มีคนตายในโบสถ์ 7 คน

กลุ่มมุสลิมสุดโต่งก็เกิดขึ้นเช่นกัน เช่นกัน ศาสนาอื่นๆ เช่นคริสต์ก็พยายามแผ่ขยายแสวงหาผู้ศรัทธาเพิ่ม

บทบาทของสหประชาชาติ และสถานการณ์ที่เนปาลกำลังเผชิญ
“ในช่วงเวลาที่สถาบันกษัตริย์ปกครองประเทศอยู่นั้นไม่มีการเปิดให้สหประชาชาติเข้ามาข้องเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะเราคิดว่าเราเป็นประเทศที่เป็นเอกราช และไม่เคยเป็นอาณานิคม ทำไมเราจะต้องเปิดให้องค์การสหประชาชาติเข้ามา แต่หลังจากสถาบันกษัติรย์ถูกล้มไป ก็มีการดึงเอาองค์การสหประชาชาติเข้ามา” ดร.นิชาลให้ความเห็นและระบุว่ามีการลงนามความตกลงสันติภาพในปี 2006 เช่นกัน ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ เห็นชอบในการยอมรับกองกำลังลัทธิเหมา พวกเขาวางอาวุธแต่ไม่ได้วางอาวุธทั้งหมด พวกเขาเพียงแต่ว่าอาวุธที่เคยยึดมาจากกองทัพและได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ 

ดร.นิสชาลกล่าวว่าสหประชาชาตินั้นก็ประสบความสำเร็จมากในการจัดการกับความไม่สงบ ตอนนี้กองกำลังเหมาอิสต์กว่า 3,000 นาย เข้ามาประจำการในกองทัพของเนปาล และถือเป็นครั้งแรกที่ในเอเชียใต้ ที่อดีตนักรบของกองกำลังกบฏได้เข้ามาประจำการในกองทัพของรัฐ ซึ่งต้องผ่านการอบรมอีกถึง 2 ปี รวมไปถึงการล้างสมองด้วย

กลุ่มลัทธิเหมายังก่อปัญหาเมื่อเข้าไปแทรกแซงในสหภาพแรงงานต่างๆ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ที่ต้องเผชิญกับการสไตรค์ของคนงาน

นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องพลังงานไฟฟ้าซึ่งทุกวันนี้คนเนปาลต้องเผชิญกับภาวะไฟดับต่อเนื่อง 18 ชม. ในฤดูหนาว ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่กองกำลังเหมาอิสม์ไปถล่มโรงไฟฟ้าสำคัญๆ ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบ

ตอนนี้เนปาลนั้นขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว ซึ่งกลายมาเป็นอุตสหากรรมสำคัญของเศรษฐกิจเนปาล แต่นั่นก็ได้รับผลกระทบจากการสไตรค์ของคนงานเช่นกัน

สิ่งที่ดีที่พอจะมีก็คือการส่งคนงานไปยังประเทศในตะวันออกกลางและมาเลเซีย ซึ่งพวกเขาจะส่งเงินกลับมายังครอบครัว

สถานการณ์ปัจจุบัน กลับไปนับหนึ่งใหม่ ไม่มีรัฐสภา ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเลือกตั้ง
“สิ่งน่าเศร้าที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือ แม้ว่าสถาบันกษัตริย์จะล่มลงไปแล้ว  เราก็ยังไม่มั่นคง เรามีนายกรัฐมนตรี 5 คน ใน 6 ปีของการเป็นสาธารณรัฐ รัฐสภาถูกยกเลิกในเดือนพฤษภาคม 2012 หลังจากที่ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้” ดร. นิชาล กล่าว และว่าขณะนี้ เนปาลไม่มีรัฐธรรมนูญ “เราอาจจะกล่าวในเชิงเทคนิคว่า ประชาธิปไตยได้ถูกประกาศใช้แต่ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นในสาธารณรัฐแห่งนี้”

กลุ่มสหภาพและเหมาอิสต์ยังคงมีบทบาทอย่างสูงในการยึดทรัพย์สินจากกลุ่มชนชั้นสูง แต่ก็ยังไม่มีการคืนทรัพย์สมบัติเหล่านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ก็มาจากพรรคเหมาอิสต์ แต่พวกเขาก็รีดไถจากกลุ่มผู้ประกอบการ หมอ ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาต้องคืนทรัพย์สินที่ยึดมาให้กับประชาชน

“จริงแล้วเรากลับมาที่จุดเริ่มต้น เพราะเราไม่มีทั้งรัฐสภา และไม่มีรัฐธรรมนูญ กองทัพนั้นอยู่ได้เพราะว่าจะว่าไปแล้วโดยพื้นฐาน กองทัพก็คือข้าราชการ พรรคการเมืองที่ฉลาดก็จะไม่แตะต้องกองทัพ เมื่อตอนที่ล้มสถาบันกษัตริย์ลงไป เพราะเขารู้ดีว่ามันอาจจะมีการตอบโต้จากกองทัพได้ เป็นความฉลาดของพรรคการเมืองที่จะกำจัดสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่มีการกำจัดนายพล และตำแหน่งต่างๆ ในกองทัพ พวกเขาฉลาดพอที่จะรู้ว่า กองทัพที่มีกองกำลังอยู่ถึงเก้าหมื่นนายนั้นอาจจะมีการโต้ตอบอย่างฉับพลัน เมื่อพรรคการเมืองฉลาดพอที่จะไม่แตะต้องกองทัพ กองทัพก็ไม่ต้องทำอะไร นอกจากนั่งรอและดูความเป็นไปในประเทศ”

นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากภายในกองกำลังเหมาอิสต์ในด้านแนวคิดในการปกครองรัฐ มีการเยี่ยมเยียนประเทศจีนและเกาหลีเหนือ และมีบางซีกของกลุ่มลัทธิเหมาที่ต้องการเปลี่ยนประเทศไปสู่ระบบสังคมนิยม หรือเผด็จการยิ่งขึ้น ซึ่งไม่มีใครในเนปาลต้องการเช่นนั้น ซึ่ง ดร.นิชาลกล่าวว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรที่เนปาลจะเป็นคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 21 นี้ เขากล่าวว่าเมื่อมองกลับไป สถาบันกษัตริย์นั้นดีที่สุดถ้ารักษาบทบาทในเชิงพิธีการไว้ แต่เมื่อสถาบันกษัตริย์พยายามแสดงบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ ในประเทศ นั่นก็เปิดทางให้สถาบันตกเป็นเหยื่อ ฐานสนับสนุนของสถาบันกษัตริย์ก็คือประชาชน นั่นคือสิ่งที่เราได้ตระหนัก

พรรคการเมืองก็ต้องตระหนักเช่นกันว่า การโค่นสถาบันกษัตริย์ลงในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมาในประเทศต่างๆ นั้นเป็นการเปิดทางให้กับพวกสุดโต่ง ไม่ใช่ประชาธิปไตย

รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ผู้นำพรรค หรือนักการเมืองทั้งหลายก็ต้องตระหนักเช่นกันว่า การล้มสถาบันกษัตริย์ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาใน 4 ประเทศ คือ อิหร่าน กัมพูชา เอธิโอเปีย และเนปาล จะเห็นได้ว่า ทั้ง 4 ประเทศนี้เมื่อล้มสถาบันกษัตริย์ไปแล้วสิ่งที่มาแทนนั้นไม่ใช่พรรคการเมืองที่นิยมประชาธิปไตย และเป็นพรรคสังคมนิยมสุดโต่ง หรือเผด็จการที่เข้ามาแทนที่

"คุณล้มเลิกระบบหนึ่งไป แล้วเอาอีกระบบเข้ามาแทนที่ แต่ตัวละครยังเหมือนเดิม นักการเมืองยังเป็นกลุ่มเดิม ไม่ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิหรือระบอบสาธารณรัฐก็อยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ขมขื่นเช่นนั้น และผมหวังว่าจะไม่มีประเทศไหนที่ต้องตกอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกับที่เนปาลเผชิญ"

เงื่อนไขสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในการเมืองเนปาล: กษัตริย์ กองทัพ และผู้นำรัฐบาล
ดร. นิสชาลกล่าวว่า สิ่งทีเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่นำเนปาลเปลี่ยนแปลงมาเป็นอย่างทุกวันนี้ ประเด็นแรกคือ ในปี 2001 นั้นเนปาลมีกษัตริย์ที่เป็นที่นิยมอย่างยิ่ง ครองราชย์มาตั้งแต่ปี 1971 โดยไม่เคยแทรกแซงการเมืองเลย ปะชาชนนั้นคิดว่ากษัตริย์เป็นพระเจ้า แต่เมื่อเกิดเหตุสังหารหมู่ราชวงศ์ขึ้น ประชาชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวเริ่มตั้งคำถามกับสถาบันว่าพระเจ้าฆ่าคนในครอบครัวของตัวเองได้อย่างไร

ปัจจัยต่อมา นายกรัฐมนตรีนั้นสำคัญมากสำหรับระบอบกษัตริย์ หากมองกรณีของอังกฤษ พระราชินีอลิซาเบธได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของนายกรัฐมตรีหลายคน แต่ก็ไม่เคยมีปัญหาระหว่างประมุขของรัฐ กับผู้นำรัฐบาล อย่างน้อยที่สุดความขัดแย้งหากจะมีก็ไม่ปรากฏอย่างเปิดเผย แต่ในประเทศเนปาลนั้น ประมุขของรัฐกับผู้นำรัฐบาลขัดแย้งอย่างเปิดเผย มีองคมนตรีคนหนึ่งที่ไปพูดกับนายกรัฐมนตรีถึงความไม่พอพระทัยที่กษัตริย์คยาเนนทรามีต่อตัวนายก

ดร. นิสชาลเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับนายกรัฐมนตรีควรดำเนินไปด้วยการหารืออย่างอิสระและจริงใจระหว่างกัน

“ปัญหาระหว่างประมุขของรัฐกับผู้นำรัฐบาลก็ยังเป็นปัญหาอยู่แม้ว่าทุกวันนี้จะเป็นประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ในบริบทเช่นนี้เราควรเรียนรู้จากประเทศยุโรป ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประมุขของรัฐกับผู้นำรัฐบาลได้รับการสถาปนาและดำเนินไปได้อย่างดี นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้ว่าจะเป็นทางออกให้กับความมั่นคงทางการเมือง”  ดร.นิสชาลกล่าวในตอนท้ายเพื่อเป็นข้อเสนอสำหรับปัญหาการเมืองระดับบนภายในเนปาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net