Skip to main content
sharethis

อภิปราย ‘ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาบนเวทีนานาชาติ: ตัวตนและบทบาท’ บอกเล่าประสบการณ์เกษตรใน 4 ภูมิภาค ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา พร้อมประกาศการประชุมนานาชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ และเมล็ดพันธุ์ของชาวนา

                                                                                        
 
การขับเคลื่อนครั้งล่าสุด ของลาเวียคัมเปซินา (La Via Campesina) ขบวนการเคลื่อนไหวในระดับโลกของชาวนาชาวไร่กว่า 200 ล้านคน จากสมาชิก 150 องค์กรใน 70 ประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการปฏิเสธตัวแบบการพัฒนาชนบทแบบเสรีนิยมใหม่ ดำรงไว้ซึ่งความเข้มแข็งของชาวนาชาวไร่รายย่อย และสร้างอิสรภาพให้กับระบบอาหาร ในประเทศไทย
 
วันที่ 12 พ.ย.55 ลาเวียคัมเปซินา รวมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (Focus on the Global South) และมูลนิธิชีววิถี จัดอภิปราย ‘ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาบนเวทีนานาชาติ: ตัวตนและบทบาท’ บอกเล่าประสบการณ์เกษตรใน 4 ภูมิภาค ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา และแอฟริกา ในเวทีวิชาการเรื่อง ‘การเกษตรนิเวศ สิทธิชาวนา อธิปไตยทางอาหาร และขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนา’ โดยมีชาวนาจาก 9 ภูมิภาคทั่วโลก กว่า 70 คนเข้าร่วม
 
 
‘แอฟริกา’ กับภัยคุกคามของ ‘ทุนนิยม’
 
Mr.Ibrahima Coulibaly จากสาธารณรัฐมาลี (Mali) ในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา กล่าวในการอภิปราย ‘ขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาบนเวทีนานาชาติ: ตัวตนและบทบาท” ว่า เกษตรในแอฟริกาประสบภัยคุกคามในระดับโลกหลายประการ ทั้งปัญหาเรื่องหนี้สินและการดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรต้องรวมตัวกันขึ้นมาต่อสู้กับทุนนิยมข้ามชาติและนโยบายการนำเข้าอาหารที่ทำลายเกษตรกรผู้ผลิต เพราะเกษตรกรไม่มีทางเลือกมากนักในโลกโลกาภิวัตน์ ในขณะที่รัฐเองไม่สามารถให้บริการและดูแลประชาชนของตนเองได้
 
“เราไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน เพราะที่ดินเป็นเจ้าของเรา” ตัวแทนจากสาธารณรัฐมาลีกล่าวถึงแนวคิดของเกษตรกรที่ให้ความสำคัญกับที่ดิน ปัจจัยการผลิตที่กำลังถูกแย่งชิงโดยการพัฒนาตามกระแสทุนนิยม
 
Mr.Ibrahima กล่าวด้วยว่า ขบวนการชาวนาชาวไร่รวมตัวกันด้วยแนวความคิดที่ว่าทำอย่างไรจึงจะต่อรองในระดับนโยบายได้ โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่มีอยู่ และมีการจัดทำข้อเสนอของตัวเองขึ้นมา ซึ่งเมื่อขบวนการเคลื่อนไหวก้าวขึ้นมาสู่ในระดับโลก เกษตรกรก็ต้องพยายามสะท้อนความต้องการ และพยายามเรียนรู้เรื่องต่างๆ พร้อมๆ กับนำความรู้ที่มีอยู่มาใช้ และสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือการสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันต่อสู้กับลัทธิทุนนิยมใหม่ เพราะแต่ละกลุ่มไม่สามารถต่อสู้ได้โดยลำพัง
 
 
‘สหภาพยุโรป’ เงินอุดหนุนที่ทำให้เกษตรกรกลายเป็นเพียงผู้รอรับ
 
ขณะที่ Ms.Henny Van Geel จาก Eurovia Europe บอกเล่าประสบการณ์จากสหภาพยุโรปซึ่งมีการผลิตเกษตรนิเวศจำนวนมากว่า ที่ผ่านมานโยบายการอุดหนุนภาคเกษตรทำให้เกิดการแบ่งแยกเกษตรกรในสหภาพยุโรปออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เกษตรกรรายใหญ่ที่ร่ำรวย และเกษตรกรรายย่อยๆ เช่นในยุโรปทางใต้อย่างสเปน โปรตุเกส อิตาลี และออสเตรียซึ่งมีการทำเกษตรอยู่บนภูเขา เงินอุดหนุนทำให้เกิดการกระจุกตัวของสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม อีกทั้งกระทบกับสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อการพัฒนาในชนบท เพราะทำให้เกษตรกรในชนบทกลายเป็นเพียงผู้รอรับการสนับสนุนจากรัฐ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ไม่อยากเป็นเกษตรกร
 
Ms.Henny กล่าวด้วยว่าในปี 2013 มีการพยายามที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แต่ก็ด้วยพลังเบื้องหลังบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าอาจส่งผลให้การปฏิรูปไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก ทั้งนี้ สิ่งที่เกษตรกรในยุโรปต้องการจริงๆ ซึ่งไม่ใช่การกดดันจากองค์กรการค้าโลก นั่นคือ นโยบายสนับสนุนเกษตรที่ยั่งยืน สนับสนุนการรักษาเมล็ดพันธุ์ รักษาพื้นที่เกษตรเพื่อผลิตพืชอาหารไม่ใช่เพื่อผลิตพืชพลังงาน คนในภาคเกษตรถูกให้ความสำคัญ สามารถเข้าถึงที่ดิน สินเชื่อ และปัจจัยการผลิต แรงงานในฟาร์มไม่ถูกแบ่งแยก แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิเท่ากับแรงงานในประเทศ และการเข้าถึงบริการสาธารณะสุขของคนทุกคนในภาคเกษตร
 
ส่วนการเคลื่อนไหนที่จะมีต่อไปคือการกดดันผ่านผู้แทนสหภาพยุโรปในเรื่องนโยบาย เพื่อทำให้เกษตรกรถูกรับรู้และมีตัวตนจริงๆ ในรัฐสภาของสหภาพยุโรป
 
 
‘คิวบา’ ความล้มเหลวของสังคมนิยม และเกษตรนิเวศเพื่อเลี้ยงดูผู้คน
 
สำหรับ Ms.Debora la O Calana จากกลุ่มประเทศและหมู่เกาะในเขตทะเลแคริเบียน (The Caribbean) บอกเล่าถึงประสบการณ์ของประเทศคิวบาซึ่งถือเป็นเกาะใหญ่แห่งหนึ่งในแคริเบียนว่า ปัจจุบันคิวบามีแนวความคิดที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับประชากรโลก จากอดีตนับตั้งแต่การปฏิวัติเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1959 ซึ่งมีการคิดผลิตอาหารเพื่อคนคิวบานับแสนคน ช่วงเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมามีหลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์
 
ในราวปี ค.ศ.1989-2000 ประชาชนคิวบาต้องทุกข์ยากเมื่อรัฐบาลสังคมนิยมล้มเหลว เทคโนโลยีจากยุโรปตะวันออกไม่สามารถนำเข้าได้ เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ต่อมาสหรัฐตัดความสัมพันธ์และคว่ำบาตรทางการค้า คิวบาต้องพยายามหาทางเลือกใหม่โดยนำทรัพยากรในที่ดินของเกษตรกรมาใช้ในการผลิตเพื่อเลี้ยงดูผู้คนในประเทศ จึงเกิดการทำเกษตรในพื้นที่เมือง พื้นที่ว่างเปล่าถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก ผู้คนต้องเปลี่ยนวิถีการกินเพื่อความอยู่รอด ดังนั้นเกษตรนิเวศจึงไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกแต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้เพื่อเลี้ยงดูผู้คน
 
Ms.Debora กล่าวด้วยว่า มีคนตั้งคำถามว่าหากไม่มีการนำเข้าเทคโนโลยีการเกษตรจะอยู่ได้ไหม คำตอบคืออยู่ได้ อยู่แบบที่เป็นอยู่ ก่อนหน้านี้คิวบาทำเกษตรเชิงเดี่ยวแล้วเปลี่ยนมาใช้เกษตรนิเวศในการผลิต โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่น สภาและรัฐบาลมีการออกกฎหมายปรับปรุงดินและกฎหมายฟื้นฟูป่าเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนด้วย
 
ส่วนปัจจุบันมีการส่งเสริมการทำเกษตรนิเวศให้กับกลุ่มเยาวชนเพื่ออนาคตของประเทศ จากปัญหาเยาวชนอยากอยู่ในเมืองมากกว่าชนบท โดยมีการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาวางหลักสูตรให้เยาวชนได้ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรในชนบท อีกทั้งมีการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นๆ ในการเรียนรู้ประสบการณ์ของคิวบาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้
 
 
‘อเมริกา’ สังคมเกษตรของชาวนาสูงอายุ
 
ด้าน Mr.Blain Snipstal จากอเมริกาเหนือ ภูมิภาคที่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์และพืชจีเอ็มโอได้ขยายอิทธิพลทางธุรกิจไปทั่วโลกกล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรในชนบทของอเมริกาเหลือเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ เพราะความเข้มแข็งของเกษตรถูกทำลายไปมาก คนที่ยังอยู่และผลิตอาหารเป็นผู้สูงวัย มีอายุเฉลี่ย 65 ปี ดังนั้นขบวนการชาวนาชาวไร่จึงต้องพยายามทำงานกับคนหนุ่มสาวเพื่อให้หันกลับไปทำการเกษตร
 
นอกจากนั้น การที่เกษตรกรลดจำนวนลง การทำเกษตรต้องทำในแปลงใหญ่ขึ้น ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ก็มีแรงงานจากลาตินอเมริกาและแคริเบียนเข้ามาทำงาน ภาคเกษตรของอเมริกาจึงยังเดินหน้าต่อมาได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันอเมริกามีแรงงานในภาคเกษตรที่ขึ้นทะเบียนจำนวนถึง 40,000 คน
 
Mr.Blain กล่าวด้วยว่า ช่วงปี 1920 ที่อเมริกาประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถ่อย ทำให้แรงงานภาคเกษตรจากตอนใต้อพยพไปทำงานเป็นแรงงานทางตอนเหนือ ขณะนั้นรัฐได้มีการออกกฎหมายเรื่องอาหารและการเกษตร เพื่อพยายามสร้างงานและให้การอุดหนุนราคาผลผลิตในภาคเกษตรเชิงเดี่ยว แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การอุดหนุนนี้ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในภาคเกษตร ทั้งนี้ ปัจจุบันประชาชนอเมริกาถึง 1 ใน 3 ยังอยู่ในภาวะยากจน คนในชนชั้นแรงงานอยู่ในภาวะอดยาก อีกทั้ง ภาวะฝนแล้งที่เกิดขึ้นเป็นปีที่ 3 คือสิ่งที่เกษตรกรจะต้องเผชิญ
 
 
‘ไทย’ ปัญหาจากนโยบายพัฒนา สู่การรวมตัวของ ‘สมัชชาคนจน’
 
นายอุทัย สะอาดชอบ เกษตรกรบ้านโคกอีโด่ย จาก จ.สระแก้ว ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าวว่า ขบวนของสมัชชาคนจนคือพื้นที่ร่วมของประชาชนที่ประสบปัญหาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำประมงขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องมือทำลายล้างอย่างอวนรุน-อวนลาก กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศพื้นที่ป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งกลุ่มเกษตรในขบวนที่รัฐส่งเสริมซึ่งประสบปัญหาเรื่องหนี้สิน สุขภาพ และการสูญเสียที่ดิน และกลุ่มชาวบ้านที่ประสบปัญหาจากโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ นอกจากนั้นล่าสุดยังพบกรณีของเกษตรกรที่ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาทำให้โลกร้อนด้วย
 
ขณะที่นายพฤกษ์ ยิบมันตะสิริ ประธานคณะทำงานการปฏิรูประบบเกษตรกรรม กล่าวในการอภิปราย ‘ความท้าทายต่อเกษตรนิเวศ สิทธิชาวนา และอธิปไตยทางอาหารในกระแสโลก’ โดยสรุปถึงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า ขณะนี้นโยบายรัฐบาลเน้นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย และคุณภาพของอาหาร แต่ไม่ได้ขยายไปนอกเหนือจากเรื่องเทคนิค มีการพูดถึงเรื่องการส่งออก-นำเข้า แต่เชื่อมโยงน้อยกับเรื่องทรัพยากรทางการเกษตร ที่ดิน ป่าไม้ อีกทั้งการลงทุนสาธารณะในเรื่องนี้มีน้อยซึ่งส่งผลให้เกษตรกรแต่ละคนต้องช่วยเหลือตัวเอง อย่างไรก็ตามในระดับชุมชนยังมีการสนับสนุนโดยมูลนิธิด้านสุขภาพ ซึ่งมีการเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเกษตรกรรมยั่งยืนไว้ด้วยกัน   
 
ทั้งนี้ เวทีวิชาการสาธารณะดังกล่าว ต่อเนื่องมาจาก ‘การประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ และเมล็ดพันธุ์ของชาวนา’ ในช่วงวันที่ 6-12 พ.ย.55 ที่มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศ จ.สุรินทร์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมีสมัชชาคนจนซึ่งเป็นสมาชิกของลาเวียคัมเปซินาในประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อทบทวนสถานการณ์และแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค และร่างแผนปฏิบัติการรวมระดับนานาชาติ
 
 
จากนั้นปิดท้ายเวทีเสวนาด้วยการอ่านคำประกาศ ‘การประชุมนานาชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศ และเมล็ดพันธุ์ของชาวนา โดยตัวแทนเกษตรกรจากประเทศไทย รายละเอียดดังนี้
 
 
 
คำประกาศ
การประชุมนานาชาติครั้งที่ 1 ว่าด้วยเกษตรนิเวศและเมล็ดพันธุ์ของชาวนา
6-12 พฤศจิกายน 2555
จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย
 
ผู้แทนองค์กรสมาชิกในทุกภูมิภาคของลาเวียคัมเปซินา ได้มารวมกันที่จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย ในทวีปเอเชีย เพื่อร่วมการประชุมระดับโลกครั้งที่หนึ่งเรื่องเกษตรนิเวศและเมล็ดพันธุ์ วัตถุประสงค์หลักของการประชุมนี้ ก็เพื่อให้ลาเวียคัมเซินาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ว่าด้วยเกษตรนิเวศและเมล็ดพันธุ์ ด้วยความเข้าใจอย่างเป็นองค์รวมว่า ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อบรรลุถึงอธิปไตยทางอาหาร
 
ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ประชุม เนื่องจากในประเทศนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากชาวนาและกำลังเติบโต นั่นคือ การเปลี่ยนจากตัวแบบการทำไร่นาเชิงอุตสาหกรรมที่อาศัยการปฏิวัติเขียวมาเป็นเกษตรนิเวศ การที่ผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศมารวมกัน ณ ที่นี้ จะหนุนเสริมการขยายตัวของขบวนการชาวนาที่ทำการเกษตรนิเวศในประเทศไทย ผู้ที่ประกาศว่า “ความอยู่รอดของชาวนาชาวไร่รายย่อยก็คือการอยู่รอดของสังคม!” ผู้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ได้เรียนรู้มากมายจากประสบการณ์การสร้างความเข้มแข็งให้กับการเกษตรนิเวศโดยชาวนา
 
ภายหลังจากที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็น และอภิปรายกันในประเด็นที่กำลังท้าทายพวกเราอยู่ เราก็มีความเชื่อว่า เกษตรนิเวศ คือเสาหลักของอธิปไตยทางอาหาร เราไม่อาจบรรลุถึงอธิปไตยทางอาหารได้ หากการเกษตรยังคงพึ่งพาสิ่งนำเข้าที่ควบคุมโดยบรรษัท หากผลกระทบของเทคโนโลยียังทำลายแม่พระธรณีอยู่ หากเราไม่ท้าทายกับการทำให้อาหารและที่ดินเป็นสินค้าเพื่อค้าขายและเก็งกำไร และหากเรายังไม่สร้างอาชีพที่ดีกว่าเดิม ให้แก่คนที่จัดหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเข้าถึงได้ให้แก่ชุมชน
 
การทำไร่นาแบบเกษตรนิเวศมีชื่อเรียกมากมายนับไม่ถ้วนในแต่ละที่ทั่วโลก และลาเวียคัมเปซินาไม่กังวลกับชื่อหรือยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตรนิเวศ เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรยั่งยืนใช้สิ่งนำเข้าจากภายนอกต่ำ หรืออื่นๆ ตรงกันข้ามเราต้องการจะระบุหลักการสำคัญๆ ทางนิเวศวิทยา ทางสังคม และทางการเมืองที่ขบวนการของเราสนับสนุนอยู่ สำหรับลาเวียคัมเปซินาแล้ว การเกษตรยั่งยืนโดยชาวนาที่แท้จริงเกิดจากการฟื้นฟูวิธีการเกษตรของชาวไร่ชาวนาแบบดั้งเดิม นวัตกรรมของแนวทางปฏิบัติเชิงนิเวศใหม่ๆ การควบคุมและปกป้องอาณาเขตและเมล็ดพันธุ์ และความเสมอภาคทางสังคมและความเสมอภาคระหว่างเพศ และเรายินดีต้อนรับชาวไร่ชาวนาที่ทำการเกษตรแบบทั่วไป เข้ามาสู่ขบวนการเช่นนี้
 
การถือครองที่ดินแบบศักดินาไม่อาจถือว่าเป็นการทำการเกษตรนิเวศ แม้ว่าจะปลอดสารเคมีก็ตาม ไร่นาที่ผู้ชายควบคุมโดยไม่ให้อำนาจการตัดสินใจแก่ผู้หญิง หรือถ้าปริมาณงานระดับโลกของผู้หญิงสูงกว่า ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเกษตรนิเวศเช่นกัน เกษตรอินทรีย์ที่ใช้สิ่งนำเข้าอินทรีย์ราคาแพงมาแทนที่สิ่งนำเข้าเคมีราคาแพงโดยไม่แตะต้องโครงสร้างของการเกษตรเชิงเดี่ยว ก็ไม่ถือว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ด้วย อย่างเช่นวิธีการที่รัฐให้ตรา “อาหารอินทรีย์” (เช่นตรา “เชียปาสออร์แกนิค”) ซึ่งเราต่อต้านอย่างเต็มที่
 
จากประสบการณ์ การปฏิบัติการ และการวิเคราะห์ของลาเวียคัมเปซินา เป็นเวลาอย่างน้อย 4 ปีมาแล้ว ได้แสดงให้เห็นว่า เกษตรนิเวศคือส่วนประกอบในเชิงยุทธศาสตร์ของการสร้างอธิปไตยทางอาหารและอธิปไตยของประชาชน เรารู้ว่าเกษตรนิเวศคือแก่นของคำตอบระดับโลกต่อปัญหาท้าทาย และวิกฤติหลักๆ ที่พวกเราในฐานะมนุษย์กำลังเผชิญอยู่
 
ประการแรก เกษตรรายย่อยสามารถเลี้ยงดูมนุษย์ชาติได้และกำลังทำหน้าที่นี้อยู่ และสามารถแก้ไขวิกฤติอาหารโดยอาศัยเกษตรนิเวศและความหลากหลาย ซึ่งตรงกันข้ามแนวคิดผิดๆ ทั่วไปว่าระบบธุรกิจการเกษตรมีผลิตภาพมากกว่า ตอนนี้เรารู้ว่าระบบเกษตรนิเวศสามารถผลิตอาหารต่อเฮกเตอร์ได้มากกว่าการเกษตรเชิงเดี่ยวทุกประเภท และผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า มีคุณค่าอาหารมากกว่า และมีให้ผู้บริโภคได้ซื้อหาโดยตรงได้ตลอดเวลา
 
ประการที่สอง เกษตรนิเวศมีส่วนช่วยต่อต้านวิกฤติสิ่งแวดล้อม การเกษตรของชาวนาซึ่งประกอบด้วยการเกษตรนิเวศและความหลากหลาย จะทำให้โลกเย็นลงโดยการเก็บกักคาร์บอนไว้ในดิน และทำให้ชาวนาชาวไร่รายย่อยแบบครอบครัวมีทรัพยากรที่จะช่วยให้ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้น เกษตรนิเวศเปลี่ยนแปลงตัวแบบที่อาศัยพลังงานที่พึ่งพาน้ำมันและการเกษตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่จำเป็นเพื่อยุติการปล่อยแก๊ส
 
ประการที่สาม เกษตรนิเวศสนับสนุนประโยชน์ร่วมและประโยชน์รวมหมู่ พร้อมกับที่เกษตรนิเวศสร้างเงื่อนไขให้เกิดการทำมาหากินที่ดีขึ้นสำหรับชนบทและในเมืองนั้น เกษตรนิเวศก็ยังเริ่มต้นการทวงคืนที่ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ และความรู้ ซึ่งเป็นเสาหลักของอธิปไตยทางอาหารและอธิปไตยของประชาชน และเกษตรนิเวศยังคงเป็นมรดกของประชาชนสำหรับรับใช้มวลมนุษย์
 
ด้วยเกษตรนิเวศ เราจะเปลี่ยนแปลงตัวแบบการผลิตอาหารที่ทรงอำนาจ ทำให้เกิดการฟื้นฟูของระบบนิเวศการเกษตร ฟื้นฟูการทำงานให้เกิดความสัมพันธ์ที่ประสานสอดคล้องของธรรมชาติและสังคมขึ้นมาใหม่ และเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อเลี้ยงดูประชาชน ดังที่ชาวนาฟิลิปปินส์กล่าวไว้ว่า “กาบูฮานัน กาลูซูกัน กาลิกาซัน” (เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อสุขภาพ และเพื่อธรรมชาติ)
 
สำหรับเราที่เป็นชาวนาชาวไร่แบบครอบครัว เกษตรนิเวศยังเป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้กับธุรกิจเกษตรข้ามชาติและตัวแบบการเกษตรเพื่อส่งออกที่ครอบงำอยู่ เราไม่อาจปลดปล่อยชาวนาชาวไร่จากโครงสร้างที่กดขี่ที่บรรษัทสร้างขึ้นมา จนกว่าเราจะมีอิสรภาพทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจจากรูปแบบการเกษตรและทุนการเงินในปัจจุบัน
 
อีกประการหนึ่ง ในส่วนของคนงานในไร่นาและแรงงานภาคเกษตรอื่นๆ ถ้าเราไม่ฟื้นฟูพลังแรงงานกลุ่มนี้ ที่ถูกทุนนิยมกดลงเป็นทาส ดังเช่นในกรณีของสหรัฐอเมริกาแล้ว เราไม่อาจจะบรรลุถึงเกษตรนิเวศและอธิปไตยทางอาหารได้ ดังนั้น เกษตรนิเวศจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเป็นธรรมทางสังคมในระบบสังคมใหม่ที่มีความเสมอภาค ที่ไม่ได้ถูกครอบงำด้วยทุน
 
เกษตรนิเวศกำลังให้ความหมายใหม่กับการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เพื่อสร้างอำนาจให้กับประชาชน ชาวนาชาวไร่ไร้ที่ดินผู้ที่ได้ต่อสู้เพื่อทวงคืนที่ดิน และผู้ที่ได้รับที่ดินจากโครงการปฏิรูปที่ดินในประเทศบราซิลและซิมบับเวกำลังนำเกษตรนิเวศไปปฏิบัติ เพื่อปกป้องและดำรงการเกษตร ไม่เพียงเพื่อครอบครัวของตนเท่านั้น แต่เพื่อสร้างอาหารที่ดีต่อสุขภาพยิ่งกว่าเพื่อชุมชนของตน ดังนั้น การปฏิรูปที่ดินและเกษตรนิเวศคือสิ่งที่ชาวนาชาวไร่แบบครอบครัวจะช่วยผลักดัน ที่จะทำให้มีอาหารที่ดีกว่าและอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แก่ประชาชนในสังคมของเรา ในอาร์เจนตินา เราสนับสนุนคำประกาศนี้ และยืนยันว่า “โซโมส เทียรา ปารา อาลีเม็นตาร์ เดอ ปัวบโล” (เราคือแผ่นดินที่เลี้ยงดูประชาชน)
 
พี่น้องชาวนาของเราจากประเทศอินเดียเล่าว่า ตั้งแต่ปี 2538 มีชาวนาฆ่าตัวตายราว 75,000 คน เพราะกับดักหนี้สินที่เกิดจากการพึ่งพาสิ่งนำเข้าจากอุตสาหกรรม ยังดีที่วิธีการของขบวนการเกษตรนิเวศใหม่ทำให้ชาวนาพบกับแสงสว่างแห่งความหวังในความมืดมน ทำให้ชาวนานับพันๆ ครอบครัวสามารถอยู่ในหมู่บ้านได้ และยังคงผลิตอาหารพร้อมกับมีอาชีพที่ดีกว่าเดิม ขบวนการนี้ที่เรียกว่าการทำเกษตรธรรมชาติปลอดต้นทุน ได้ทำให้พื้นที่ชนบทของอินเดียมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง
 
ในยุโรป วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินกำลังเป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงศักยภาพของเกษตรนิเวศ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ขบวนการชาวนาเสนอต่อสังคม โดยการนำตลาดกลับคืนสู่ชุมชนใหม่อีกครั้งและผลิตอาหารโดยพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยกว่าเดิมมาก สร้างพลวัตรใหม่ๆ แก่เศรษฐกิจในท้องถิ่น และสร้างงานแก่ผู้ตกงานที่กลับคืนสู่ชนบท ดังในกรณีของยุโรปตะวันออก การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรและการกำกับตลาดด้วยกฎหมาย เพื่อมุ่งสู่อธิปไตยทางอาหารโดยอาศัยเกษตรนิเวศก็ยังเป็นทางออกต่อปัญหาสำหรับชาวนาชาวไร่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่กำลังเผชิญความทุกข์ยากจากราคาที่ตกต่ำเนื่องจากการที่มีสินค้านำเข้าราคาถูกมาแข่งขัน
 
ชาวนาชาวไร่รายย่อยจากประเทศมาลี รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในแอฟริกากำลังถูกโจมตีจากกลุ่มแอ็ก-กรา (พันธมิตรเพื่อการปฏิรูปเขียวในแอฟริกา) ที่นำการปฏิวัติเขียวเข้ามา ชาวนาชาวไร่จากประเทศนี้กำลังแสดงให้เห็นว่า ตัวแบบการผลิตแบบการเกษตรนิเวศดั้งเดิมของตนจะทำให้อาหารและอาชีพมีความยั่งยืนสำหรับประชาชนนับล้านๆ ได้อย่างไร และแก้ไขการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยไม่ใช้สิ่งนำเข้าจากภายนอกใดๆ ผ่านการบริหารจัดการที่มีอิสรภาพ และแบ่งปันความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตรและความรู้ในท้องถิ่น
 
ยิ่งกว่านั้นเกษตรนิเวศ ยังเป็นทางเลือกสำหรับเยาวชนในชนบทให้ยังคงอยู่ในชนบทต่อไป และมีอาชีพที่มีเกียรติ และมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตและกระจายอาหารสำหรับชุมชน พวกเขาคือคนที่จะเลี้ยงดูคนรุ่นต่อไปในอนาคต
 
ตลอดเวลา 20 ปี ลาเวียคัมเปซินาได้ต่อสู้อย่างเข้มแข็งเพื่อการปฏิรูปที่ดิน และในช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์นี้ จำเป็นต้องมีการใคร่ครวญเรื่องการปฏิบัติให้สอดคล้องกับการต่อสู้ ดังเช่นแรงงานไร้ที่ดินชาวบราซิลตะโกนก้องว่า “ออคูปาร์ รีซิสตีร โปรดุซีร!” (เข้ายึด ต่อต้าน และผลิต!) ชาวนาชาวไร่ทั่วโลกได้เริ่มต่อสู้แล้วเพื่อที่ดิน ได้ต่อต้านเพื่อปกป้องที่ดิน และในตอนนี้ เราประกาศว่าการทำไร่นาแบบเกษตรนิเวศจะเลี้ยงดูประชาชน และถึงเวลาแล้วที่จะทำการผลิต
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net