เครือข่ายองค์กรผู้หญิงชี้ 'ความรุนแรง' ต่อเด็ก-สตรี ซับซ้อนและแรงขึ้น แม้มี กม.คุ้มครอง

วันนี้ (15 พ.ย.55) ภาคีเครือข่ายองค์กรผู้หญิง ภาคประชาชนกว่า 40 องค์กรได้ร่วมกันแถลงกิจกรรมรณรงค์ “WE: เรา ผู้หญิง ไม่เป็นเหยื่อ เปิดความจริง หลากหลายความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง จากกลุ่มผู้หญิง ถึงนายกหญิง” ณ ห้องประชุม 4 ชั้น 2 ตึกสภาคริสตจักรในประเทศไทย ใกล้สะพานหัวช้าง แขวงราชเทวี เขตพญาไท กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาส 25 พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรง ต่อเด็กและสตรีสากล ประจำปี 2555

องค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานในระดับพื้นที่ชุมชน ได้ร่วมทำกิจกรรมอันเป็นภารกิจสำคัญ เพื่อการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย การสร้างความเข้มแข็งด้านร่างกาย จิตใจ อาชีพให้ผู้หญิง และการทำกิจกรรมรณรงค์ในพื้นที่ชุมชน จังหวัด ประเทศ และในเวทีสากล

มีการระบุว่า จากการทำงานขององค์กรผู้หญิงภาคประชาชนหลายภาคส่วนมากว่า 30 ปี ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างนโยบาย และกลไกการปฏิบัติของหน่วยงานภาครัฐในหลายส่วน เช่น การมีกฎหมายหลายฉบับประกาศใช้อย่างเป็นทางการ อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว 2550, พ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551 และการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเพศ ในมาตรา 276 และ มาตรา 277 ที่มีผลให้ภรรยาหรืออดีตภรรยา ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายกรณีที่ถูกคุกคามทางเพศจากสามีหรืออดีตสามี ดังกล่าว

ทั้งนี้ พบว่า แม้จะมีมาตรการการบังคับใช้กฎหมายมากว่า 5 ปี แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรีก็ยังปรากฏตัวเลข รูปแบบของความรุนแรงก็ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น ดูจากข่าวหนังสือพิมพ์ปีนี้มีกรณีสามีใช้น้ำมันเบนซินเผาภรรยาทั้งเป็น ภายในปี 2555 นี้ มีถึง 6 กรณี และหนึ่งใน 6 กรณีขณะนี้ได้เสียชีวิตแล้วส่วนที่เหลือก็ยังอาการสาหัสอยู่ในห้อง “ไอซียู” ที่เป็นตายเท่ากันและบางคนยังมีภาระต้องเลี้ยงลูกและครอบครัว จึงเห็นได้ว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิง มิได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะผู้หญิง แต่หมายรวมถึง ลูก ครอบครัว และชุมชน ที่จำทนอยู่กับภาพการเห็นสามีทำร้ายภรรยาอันยาวนาน บุคคลในครอบครัวข่มขืนกระทำชำเราเด็ก เด็กหญิงตั้งครรภ์ มีเด็กสาวอายุไม่เกิน 15 ปี ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว บังคับให้ขายบริการทางเพศ อยู่ในหลายพื้นที่ กลายเป็นความเคยชินของชุมชน และไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือเด็ก เด็กสาว ผู้หญิง ครอบครัว เหล่านี้ในรูปแบบไหน อย่างไร หรือควรสร้างความเข้าใจในชุมชนจากพื้นฐานอะไรเพราะยังไม่ได้มีการยกระดับให้เป็นประเด็นที่สำคัญเร่งด่วนเหมือนยาเสพติด

ผลการทำงานคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรง มีข้อมูลการเข้ารับบริการของกลุ่มผู้เสียหายของภาคีองค์กรสตรีประจำปี 2555 ดังนี้
มูลนิธิเพื่อนหญิง เดือนมกราคม - 13 พฤศจิกายน 2555 มีเด็ก/ผู้หญิง เข้ารับการช่วยเหลือจำนวน 733 ราย แบ่งเป็น
1. ความรุนแรงในครอบครัว  จำนวน 593 ราย
2. ความรุนแรงทางเพศ        จำนวน 85  ราย
3. ท้องไม่พร้อม                จำนวน 22  ราย
4. ค้ามนุษย์                      จำนวน   3  ราย
5. คลิปวิดีโอ                      จำนวน  7   ราย
6. ต้องการหางานทำ สามีทอดทิ้ง  จำนวน  21 ราย

มูลนิธิพิทักษ์สตรี เป็นกรณีผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทางเพศ แรงงาน จากประเทศ ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม  มีผู้เข้ารับบริการ จำนวน 328 ราย
มูลนิธิรักษ์ไทย   มีผู้เข้ารับบริการ  จำนวน -  ราย
สมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมาย   มีผู้เข้ารับบริการ จำนวน  258 ราย
ขอเข้ารับคำปรึกษา   จำนวน  147 ราย
ขอเจรจาไกล่เกลี่ย    จำนวน   15 ราย
ดำเนินคดี    จำนวน   96  ราย
แบ่งเป็นคดีทั่วไป     จำนวน    17 ราย
คดีครอบครัว   จำนวน   43 ราย
คดีครอบครัว   จำนวน   2  ราย
คดีข่มขืน อนาจาร  จำนวน  34 ราย

สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี   มีผู้เข้ารับบริการทั้งหมค  1,589 ราย
แบ่งเป็น ให้บริการทางโทรศัพท์ 1,236 ราย
เข้าพักในบ้านพักฉุกเฉิน จำนวน   328   ราย แยกเป็น
ท้องไม่พร้อม   จำนวน   234  ราย
ความรุนแรงในครอบครัว  จำนวน   80  ราย
ความรุนแรงทางเพศ  จำนวน   14  ราย

 

ข้อมูลแสดงความพึงพอใจของผู้เสียหายจำนวน 1,061 คน เข้ารับบริการของหน่วยงานรัฐ จากการสัมภาษณ์ ผู้เข้ารับบริการของภาคีเครือข่ายองค์กรสตรี รอบปี 2555

1. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ ร้อยละ 80 บอกว่า ไม่พึงพอใจเพราะ 1300 ติดต่อไม่มีคนรับสาย เจ้าหน้าที่ไม่ว่างติดประชุม เข้าช่วยเหลือช้า ไม่มีกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้เข้าพักในบ้านพักเด็กและครอบครัว คุณภาพและเพียงพอ เปลี่ยนบุคลากรบ่อย ดีในเรื่องจับขอทาน
 
จังหวัดที่ประชาชนรู้สึกประทับใจ จังหวัดศรีสะเกษ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ขอนแก่น ตาก และนราธิวาส

2. สถานีตำรวจ ร้อยละ 90 ตำรวจไม่ให้ความสำคัญ ไม่อธิบายสิทธิทางกฎหมายให้เข้าใจ /แนะนำให้เจรจายอมความกับคู่กรณี ไม่ทราบว่ามีพนักงานสอบสวนหญิง เข้าช่วยเหลือช้า เปลี่ยนบุคลากรบ่อย /ดีในเรื่องในเรื่องจับแรงงานข้ามชาติ จับมอเตอร์ไซค์
 
สถานีประทับใจ  สน. หาดใหญ่ สน. ราษฏร์บูรณะ สน. บางซื่อ สน. เมืองเชียงใหม่ สภ.นราธิวาส

3. ศูนย์พึ่งได้ OSCC ของโรงพยาบาล ร้อยละ 75 พึ่งได้บ้างพึ่งไม่ได้บ้าง บางพื้นทีมีแต่ชื่อไม่มีตัวตน เข้าช่วยเหลือช้า เปลี่ยนบุคลากรบ่อย ไม่ทราบว่ามีศูนย์พึ่งได้ ขาดนักจิตและแพทย์ที่ชำนาญ ดีในเรื่องการรักษาพยาบาลเบื้องต้น

จังหวัดที่ประชาชนประทับใจ  โรงพยาบาลชุมพร โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลวชิร  โรงพยาบาลตำรวจ  โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลสงขลา และโรงพยาบาลปัตตานี
 

ข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีหญิง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
  เพื่อการยกระดับให้ประเด็นความ-รุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นวาระแห่งชาติที่มีผลปรากฏเป็นรูปธรรมเชิงคุณภาพต่อการคุ้มครองเด็ก สตรีและครอบครัวเหมือนนโยบายยาเสพติด รวมพลังแผ่นดินยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ
 
1) รัฐบาลควรแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหญิง 1 คน เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อน กลไก การบูรณการ ภาคีหน่วยงานของรัฐและเอกชน เพื่อการบูรณการนโยบาย แผน ข้อมูล งบประมาณ กลไกที่เกี่ยวข้องด้านสตรี ให้สามารถมีการขับเคลื่อน กลไก แบบองค์รวม หรือเกิดกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงและต่อยอด เสริมพลังอันจะนำไปสู่สุขภาวะที่เข้มแข็ง แข็งแรงและมีความมั่นคงในชีวิตของผู้หญิงและครอบครัว โดยใช้กรอบแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติฉบับที่ 11 และนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นกรอบการขับเคลื่อน
 
2) การจัดทำฐานข้อมูลและตัวชี้วัดที่ชัดเจนภายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ พบว่าแต่ละหน่วยงานมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เพื่อให้สามารถเห็นถึงผลของการคุ้มครอง ผู้เสียหาย แบบครบวงจร ทั้งการลงโทษและกระบวนการบำบัด ผู้กระทำความผิดที่สามารถส่งผลต่อการปรับเปลี่ยน ทัศนคติ พฤติกรรมที่ไม่เป็นผู้กระทำความผิดแบบซ้ำซาก เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของการกระทำความความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

3) มีการติดตามประเมินผล ภายใต้ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ความก้าวหน้าต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย เพื่อขับเคลื่อนระบบการให้บริการของภาครัฐเชิงคุณภาพ

  1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเพิ่มอัตรากำลังพนักงานสอบสวนหญิงที่มีภารกิจโดยตรงต่อการทำคดีเกี่ยวกับผู้เสียหายเด็กและสตรี และหน่วยกำลังพลที่สามรถเข้าคุ้มครองผู้เสียหายได้อย่างรวดเร็ว ให้มีเพียงพอในทุกจังหวัด
  2. การมีบ้านพัก ศูนย์บำบัดฟื้นฟู ต้องมีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ที่สามารถบริการได้ 24 ชั่วโมง ที่เป็นจริง เพราะกรณีของความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญ ต้องการการเข้าถึงการคุ้มครอง ภายใน 10 นาที

4) ควรสร้างความรู้ความเข้าใจ และมีบทลงโทษต่อเจ้าหน้าที่และพนักงานของรัฐ ที่มีทัศนคติ พฤติกรรม ที่ยังไม่เห็นความสำคัญ และแสวงหาประโยชน์ หรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดด้วยเป็นผู้มีอิทธิพล เป็นผู้มีฐานะหรือร่วมเป็นหุ้นส่วน จนทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับการคุ้มครอง

จากข้อมูลขององค์กรสตรีพบว่า มีหลายกรณี ตัวอย่างของกรณีการกระทำชำเราเด็ก การค้ามนุษย์เด็ก เด็กหญิง อันเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้ยอมความโดยไม่ได้ให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดี หรือพยายามหาช่องว่างของกฎหมายคุ้มครองผู้กระทำความผิดมากกว่าคุ้มครองผู้เสียหาย

5) ด้วยสัดส่วนของประชากรหญิงสูงถึง 33 ล้านคน รัฐต้องสนับสนุนกลไก บุคลากร เครื่องมือ งบประมาณที่เพียงพอให้ หน่วยงานรัฐ เอกชน ที่มีภารกิจเกี่ยวกับเด็กและสตรี สามารถทำงานไปได้อย่างต่อเนื่อง ต่อยอดและขยายผล จึงขอให้มีการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าการทำงาน ปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการสนับสนุน การทำงานให้มีผลต่อการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

6) ขอให้รัฐบาลออกมาตรการที่จริงจังต่อการกวาดล้างจับกุมดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับอบายมุข เช่น แหล่งมั่วสุม ยาเสพติด สื่อลามกอนาจาร บ่อนการพนัน สถานบริการที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใกล้วัด โรงเรียน ชุมชน เพราะเป็นปัจจัยร่วม กระตุ้นให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ถึงร้อยละ 75 ของกลุ่มผู้กระทำความผิด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท