Skip to main content
sharethis

 

คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาและองค์กรสิทธิฯ แถลงประณามผู้ก่อเหตุยิงอิหม่ามอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา พร้อมเรียกร้องรัฐมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยต่อผู้นำศาสนา
 
เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2555 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา (PUKIS) เครือข่ายผู้ช่วยทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (SPAN) เครือข่ายส่งเสริมสิทธิและเข้าถึงความยุติธรรม (HAP) สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ (Deep Peace) เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (IN south) และ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบในคดีความมั่นคง ได้ร่วมกันแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุยิงนายอับดุลลาเต๊ะ อิหม่ามมัสยิดบ้านอูเบง อำเภอยะหา จังหวัดยะลาและเรียกร้องให้รัฐมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยต่อผู้นำศาสนา
 
นายอับดุลลาเต๊ะ อายุ 50 ปี ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา นอกจากมีตำแหน่งเป็นอีหม่ามมัสยิดบ้านอูเบงแล้ว  เขายังเป็นประธานชมรมอิหม่าม อ.ยะหา เป็นครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาใน อ.ยะหา  และคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ยะลาอีกด้วย  เขาถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 11 มม. บนถนนสายยะหา-กาบัง อ.ยะหา จ.ยะลา   เหตุเกิดขณะที่นายอับดุลลาเต๊ะ ได้ขับรถยนต์ออกจาก อ.ยะหา เพื่อเดินทางไปรับภรรยาและบุตรสาวที่รักษาอาการหอบหืดอยู่ที่โรงพยาบาล แต่เมื่อขับมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเวลากลางวัน ทั้งยังมีผู้คนพลุกพล่าน บริเวณใกล้กับโรงพยาบาลพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลาได้มีคนร้าย จำนวน 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ตามหลังมา จากนั้น คนนั่งซ้อนท้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ นายอับดุลลาเต๊ะ ส่งผลให้รถเสียหลักตกลงข้างทาง เป็นเหตุให้นายอับดุลลาเต๊ะเสียชีวิต
   
ใบแถลงการณ์ของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมและเครือข่าวระบุ นายอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธปืนยิงชาวบ้านเสียชีวิต 5 รายในพื้นที่ม. 6 บ.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 
 
ก่อนหน้านี้ นายอับดุลลาเต๊ะ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประสานให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแก่ชาวบ้าน และเป็นสมาชิกเครือข่ายชาวบ้านของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งถือว่านายอับดุลลาเต๊ะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสังคมตลอดมา 
 
“เหตุการณ์ลอบสังหารในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและมาตรการทางกฎหมายในการนำคนผิดมาลงโทษ” แถลงการณ์ระบุ
 
นอกจากนี้ แถลงการณ์ได้ระบุด้วยว่าการที่คนร้ายมิได้มีความยำเกรงต่อกฎหมายย่อมทำให้ผู้นำศาสนาในพื้นที่มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตเพราะมีหลายเหตุการณ์ในห้วงระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา ที่ผู้นำด้านศาสนามักจะตกเป็นเป้าหมายในการถูกคุกคามหรือถูกลอบสังหาร และการก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้ยังทำให้เกิดผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบโดยสันติวิธีในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง
 
แถลงการณ์ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และองค์กรเครือข่ายขอแสดงความเสียใจต่อญาติพี่น้องและครอบครัวของผู้เสียชีวิต และประณามผู้ก่อเหตุและขอให้ทุกท่านได้ตระหนักต่อสิทธิของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในการใช้ชีวิตอย่างปกติสุข และเรียกร้องให้รัฐเร่งติดตามหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย รวมทั้งจัดให้มีมาตรการป้องกันความปลอดภัยต่อผู้นำศาสนาซึ่งเป็นผู้ที่ประชาชนเคารพและศรัทธา เพื่อดึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐในการปกป้อง และคุ้มครองประชาชนและสร้างค่านิยมของการไม่ใช้ความรุนแรงประหัตประหารต่อกัน” 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net