Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป จึงมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานมาก อย่างไรก็ตาม ประเทศเยอรมนีกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรต่ำ ก่อมลพิษต่ำ โดยเยอรมนีตั้งเป้าว่าจะลดการใช้พลังงานต่อหัวประชากรเหลือเพียง 2,000 วัตต์เท่านั้น โดยพลังงานเท่านี้คือพลังงานเพียง 1 ใน 3 ของการใช้พลังงานต่อหัวประชากรของยุโรปเท่านั้น เรามาดูกันว่าประเทศใหญ่อย่างเยอรมนีจะทำได้อย่างไร

ยุทธศาสตร์หลักของการพัฒนาของเยอรมนีอันเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวใหญ่ของประเทศ คือยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ (National Strategy for Sustainable Development: NSSD) เป็นแผนยุทธศาสตร์สู่ปี ค.ศ. 2020 ของเยอรมนี

ยุทธศาสตร์ประกอบด้วยแนวทางสู่ความยั่งยืน 4 ประการที่สำคัญ คือ

· คุณภาพชีวิต 

· ความเท่าเทียมของประชาชนในปัจจุบันกับคนรุ่นต่อไป

· ความสมานฉันท์ทางสังคม และ

· ความรับผิดชอบต่อชุมชนระหว่างประเทศ

โดยมีประเด็นนโยบาย 21 สาขาครอบคลุมประเด็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การปกป้องสภาพภูมิอากาศ พลังงานหมุนเวียน การใช้ที่ดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วยดัชนีชี้วัดในเชิงปริมาณ 35 ตัว ได้แก่

· ประเด็นยุทธศาสตร์ด้านความเท่าเทียมระหว่างรุ่น ตัวชี้วัดเชิงปริมาณครอบคลุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ งบประมาณของรัฐ นวัตกรรมและการศึกษา

· ประเด็นยุทธศาสตร์คุณภาพชีวิต ตัวชี้วัดครอบคลุมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพของสิ่งแวดล้อม สารอาหาร การเคลื่อนย้ายคน สุขภาพและอาชญากรรม

· ประเด็นยุทธศาสตร์ความสมานฉันท์ในสังคม ตัวชี้วัดครอบคลุมการจ้างงาน โอกาสความเท่าเทียมกันและครอบครัว

· ประเด็นยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อชุมชนระหว่างประเทศ ตัวชี้วัดครอบคลุมงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา และการเปิดตลาดของสหภาพยุโรป

ตัวชี้วัดที่ 1 คือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดของเยอรมนีเพื่อขับเคลื่อนประทศให้ไปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

โดยมีตัวชี้วัดย่อย 1A คือ ผลิตภาพการใช้พลังงาน และตัวชี้วัดย่อย 1B ผลิตภาพการใช้ทรัพยากรเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ

เป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติเน้นเพิ่มผลิตภาพการใช้พลังงาน (ปีฐาน 1990) และผลิตภาพการใช้ทรัพยากร (ปีฐาน 1994) ให้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2020 และได้บูรณาการแผนงานด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศ (Integrated Energy and Climate Programe: IECP, 2007/2008) เข้ากับยุทธศาสตร์ในปี 2007 เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2020 โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนให้เป็นร้อยละ 30 ของพลังงานไฟฟ้าและร้อยละ 10 ของพลังงานขั้นต้น และการประหยัดพลังงานทุกสาขาโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานโดยมุ่งที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 40 ในปี 2020

 

ตัวชี้วัดที่สำคัญตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติของเยอรมนี

ประเด็น

เป้าหมายปี 2020

สถานะปี 2009/2010

การคุ้มครองทรัพยากร

 

 

ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 1990

เพิ่มขึ้น 40.5%

ประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ

เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 1994

เพิ่มขึ้น 39.6%

การคุ้มครองสภาพภูมิอากาศ

 

 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ลดลง 40% เทียบกับปี 1990-1995

ลดลง 22.4%

พลังงานหมุนเวียน

 

 

สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการบริโภคพลังงานขั้นต้น

เพิ่มขึ้นเป็น 10% (จาก 1.3%)

8.9%

สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการบริโภคไฟฟ้า

เพิ่มขึ้นเป็น 30% (จาก 3.1%)

16.1%

การใช้ที่ดิน

 

 

การใช้ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและการขนส่ง

จำกัดการใช้ที่ดินไม่เกิน 30 เฮกตาร์/วัน

95 เฮกตาร์/วัน

ความหลากหลายทางชีวภาพ

 

 

จำนวนนก 59 สปีชีส์ที่เป็นตัวแทนในการวัดความหลากหลายทางชีวภาพ

รักษาให้อยู่ในระดับสูงสุดภายในปี 2015

บรรลุผล 69% ของเป้าหมาย

การเกษตร

 

 

ส่วนเกินไนโตรเจน (nitrogen surplus) จากที่ดินเพื่อการเกษตร

ลดลงเป็น 80 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ภายในปี 2010

103 กิโลกรมต่อเฮกตาร์

ฟาร์มออแกนิก

สัดส่วนของพื้นที่ที่เป็นฟาร์มออแกนิกเท่ากับ 20%

5.4%

คุณภาพอากาศ

 

 

ระดับมลพิษทางอากาศ โดยวัดจากระดับ SO2, NOx, VOC, NH3

ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศลง 70% ภายในปี 2010 (หรือเท่ากับดัชนี 30 เทียบจาก 100)

ลดลง 55.3 % (หรือเท่ากับดัชนี 44.7 จาก 100)

 

ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนียังได้วางวิสัยทัศน์สู่ “สังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร” (The 2000 Watt per Capital Society) โดยได้แนวความคิดมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์

เนื่องจากเยอรมนีเห็นว่าสังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากรเป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะได้รวบรวมวิสัยทัศน์ด้านประสิทธิภาพของพลังงานเข้ากับด้านประสิทธิภาพของวัสดุ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวมีการถกเถียงกันอย่างมากในเยอรมนี โดยพลังงาน 2,000 วัตต์ต่อประชากร เทียบเท่ากับ 65 จิกะจูลต่อประชากร (GJ per capita) ซึ่งถือเป็นระดับหนึ่งในสามของการใช้พลังงานต่อประชากรของยุโรปเท่านั้น  ซึ่งสถาบันวิจัยของเยอรมนีได้ศึกษาและแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ทางเทคนิคของวิสัยทัศน์นี้

ทั้งนี้ โลกมีการบริโภคพลังงานเฉลี่ยเมื่อสองทศวรรษที่แล้วเท่ากับ 70 จิกะจูลต่อประชากร ดังนั้น การมุ่งสู่เป็นสังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร หรือ 65 จิกะจูลต่อประชากรจะสามารถทำให้ระบบพลังงานของโลกยั่งยืนเหมือนกลับไปใช้พลังงานในระดับ 20 ปีที่แล้วในขณะที่สามารถรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้

เงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญก่อนที่จะทำให้สังคมก้าวไปสู่สังคม 2,000 วัตต์ต่อประชากร คือ การมุ่งเพิ่มผลิตภาพการใช้พลังงานและผลิตภาพของวัสดุ การเปลี่ยนแปลงระบบนวัตกรรมให้ส่งเสริมผลิตภาพด้านพลังงานและวัสดุ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในรูปแบบการบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืนขึ้น

วิสัยทัศน์ในการเข้าสู่สังคมที่ใช้พลังงานที่ยั่งยืนได้รับความสนใจและมีความพยายามปฏิบัติอย่างเป็นลำดับขั้น เยอรมนีมีฐานข้อมูลที่ละเอียดและมีภาพสถานการณ์ที่พร้อมใช้ ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและเป็นตัวอย่างที่ดีด้านการวิจัยเพื่อรองรับการบูรณาการยุทธศาสตร์ คือ กระทรวงพลังงานของเยอรมนีและสถาบันพลังงานแห่งเยอรมนีได้มีโครงการวิจัย 4 ปีในเรื่องประสิทธิภาพวัสดุและการอนุรักษ์ทรัพยากรโดยร่วมกับเครือข่ายสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย อุตสาหกรรม จำนวน 30 แห่ง โดยเหตุผลหลักของแผนงานนี้คือการมุ่งบูรณาการ 3 ประเด็นคือ

1. บูรณาการ 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ การสร้างตลาดที่ยั่งยืน การสร้างสถาบันและเครือข่ายที่แข็แกร่งเพื่อแพร่กระจายเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนโดยใช้แนวคิดจากอู่สู่อู่ (Cradle to Cradle approach) การใช้พลังทางการตลาดของภาครัฐ การสร้างแนวคิดใหม่ผ่านการศึกษาและฝึกอบรม เช่น แนวคิดมหาวิทยาลัยด้านทรัพยากร (Resource University)

2. บูรณาการนโยบายรายสาขา โดยการบูรณาการเป้าหมายเชิงนโยบายของกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ กระทรวงวิทยาศาสตร์และการศึกษา กระทรวงการขนส่งและอาคาร และกระทรวงทรัพยากรที่ควรมีความร่วมมือกัน

3. บูรณาการเทคโนโลยีและวัฏจักรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้วัสดุและพลังงาน

UNEP ได้สรุปบทเรียนของเยอรมนีในการพยายามเข้าสู่สังคมที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพว่า

“เยอรมนีถือเป็นตัวอย่างประเทศที่มีหลักฐานโดยประจักษ์ของการพยายามเพิ่มประสิทธิภาพทรัพยากรในระยะยาว ในลักษณะที่นำไปสู่ผลประโยชน์สุทธิให้ภาคเอกชน สร้างธุรกิจและงานใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความตึงเครียดทางสังคมจากการใช้ทรัพยากร (win-win-win situation)”

หันกลับมามองประเทศไทยแล้ว การขับเคลื่อนการพัฒนาในขั้นตอนต่อไปจะอยู่บนฐานความสิ้นเปลืองของทรัพยากรและพลังงานไม่ได้อีกต่อไป เพราะทรัพยากรและพลังงานของประเทศและของโลกได้ลดน้อยและเสื่อมโทรมลงไปมาก ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องกลับมาคิดกันอย่างจริงจังที่จะหาทางที่จะมุ่งไปสู่พัฒนาประเทศบนฐานการใช้ทรัพยากรและพลังงานต่ำแต่ให้ประสิทธิผลหรือสร้างผลผลิตได้สูง ซึ่งการพัฒนาในขั้นตอนนี้จะต้องใช้ความรู้ สมองและภูมิปัญญามากขึ้น และต้องเริ่มคิดถึงนโยบายระยะยาวของประเทศอย่างจริงจัง นอกเหนือไปจากการแก้ไขปัญหาไปแบบวันต่อวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net