Skip to main content
sharethis

สาวิตา ฮาลาปันนาวา สตรีเชื่อสายอินเดียในไอร์แลนด์ถูกปฏิเสธไม่ยอมให้ทำแท้งหลังถูกวินิจฉัยว่าบุตรในครรภ์ของเธอไม่สามารถอยู่รอดได้ ต่อมาเธอก็คลอดก่อนกำหนดและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวไอร์แลนด์ ประชาชน 10,000 คน จึงออกมาประท้วงในดับลินเรียกร้องให้ปฏิรูปกฏหมายทำแท้ง

เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2012 ประชาชนชาวไอร์แลนด์ราว 10,000 คน ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลไอร์แลนด์ทบทวนกฏหมายทำแทงค์ หลังเหตุเสียชีวิตของ สาวิตา ฮาลาปันนาวา หมอฟันชาวอินเดียในเมืองกัลเวย์ จากอาการติดเชื้อในกระแสเลือดหลังคลอดก่อนกำหนด (miscarriage) เนื่องจากถูกปฏิเสธไม่ให้ทำแท้งก่อนหน้านี้

ที่กรุงดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ ประชาชนราว 10,000 คน ออกมาเดินขบวนพร้อมตะโกนว่า "อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก" ก่อนที่จะสงบนิ่งจุดเทียนไว้อาลัยสาวิตา นอกสำนักงานของนายกรัฐมนตรี เอนดา เคนนี่

สำนักข่าว The Independent กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า มีความไม่พอใจเกิดขึ้นทั่วประเทศไอร์แลนด์หลังจากที่สาวิตาเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด 17 สัปดาห์หลังจากที่เธอแท้งบุตรโดยธรรมชาติ (miscarriage)

ปราวีณ สามีของสาวิตากล่าวว่า ร่างกายของภรรยาเขาเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ หลังจากที่ถูกปฏิเสธการทำแท้งหลายครั้ง แม้ว่าทารกของพวกเขาไม่สามารถอยู่รอดได้ในครรภ์ก็ตาม

กรณ๊ของสาวิตาได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วโลก เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการไต่สวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความยุ่งยากของคดีนี้อยู่ที่ว่า การเสียชีวิตของสาวิตา มีสาเหตุมาจากตัวกฏหมายโดยตรง หรือมีสาเหตุจากการตีความกฏหมายของพนักงานโรงพยาบาล

The Independent ระบุว่า รัฐบาลไอร์แลนด์จำต้องยอมรับความเห็นของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด มีรมต.ท่านหนึ่งยอมรับว่าจะต้องมีการดำเนินการทางรูปธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ไอร์แลนด์ยังตกอยู่ภายใต้การกดดันจากศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปที่ตัดสินโดยวิพากษ์วิจารณ์กฏหมายทำแท้งของไอร์แลนด์ในปัจจุบัน

เอกอัครราชทูตอินเดียประจำไอร์แลนด์ เดบาชีช จักรวาติ ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ของไอร์แลนด์เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อกดดันให้มีการสิบสวนที่โปร่งใสและเป็นอิสระในกรณีของสาวิตา


ความเห็นของผู้ชุมนุม

กลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวกันบนถนนใกล้กับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยกัลเวย์แสดงความโกรธออกมาอย่างชัดเจน หญิงสูงวัยคนหนึ่งชื่อ ฟราน ฮอสตี แสดงความหงุดหงิดออกมาเมื่อถูกถามถึงเรื่องนี้ เธอบอกว่า"ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เลวร้าย พระเจ้าทรงโปรดเถิด ในปี 2012 แล้วยังมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อยู่ เรื่องที่ทำให้ผู้หญิงอายุยังน้อยต้องทุกข์ทรมานเช่นนี้ ฉันไม่อยากคิดถึงมันเลย"

ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ริต้า แบรดดี้ กล่าวว่า "มันเป็นเรื่องที่แย่มาก ฉันไม่ได้เห็นด้วยเรื่องการทำแท้งทั้งหมด แต่ในกรณีเช่นนี้ฉันเห็นด้วย ให้เธอเสียชีวิตไปแบบนั้นทำให้ฉันอยากร้องไห้"

เด็กนักเรียนผู้หญิงอายุ 19 ปี คนหนึ่งมองต่างออกไป "ฉันไม่ยอมรับการทำแท้ง ฉันแค่ไม่เห็นด้วยกับมัน แม้ฉันจะแน่ใจว่าเพื่อนๆ ฉันจะยอมรับมันก็ตาม" แต่นักเรียนอีกคนหนึ่งประกาศว่า "ฉันไม่เคยรู้สึกว่าประเทศฉันน่าอับอายมากเท่านี้มาก่อนเลย"

20 ปีก่อนหน้านี้ มีการระบุในตัวคำวินิจฉันว่าสามารถดำเนินการทำแท้งได้หากมารดาอยู่ในภาวะเสี่ยงชีวิต แต่รัฐบาลไอร์แลนด์ 6 สมัยที่ผ่านมาก็หลบเลี่ยงในประเด็นนี้ โดยสูตินารีแพทย์อาวุโสบอกว่าจากความสับสนดังกล่าวส่งผลให้เหล่าแพทย์กลัวถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย


เรียบเรียงจาก

Irish demand reform to abortion law, 18-11-2012, The Independent
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net