Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 พ.ย.55 ณ ห้องโถงใหญ่อาคารรัฐสภาชั้น 1 ได้มีการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลตามพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (กสทช.) ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ลงคะแนนเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการ 5 ด้าน

เมื่อเวลา 09.00 น. นายนิคม ไวรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และเจ้าหน้าผู้เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่ และคูหาลงคะแนนเลือกผู้สมัครเข้ารับการดำเนินการคัดเลือกเป็นกรรมการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และ กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม. พ.ศ.2553 (พรบ.กสทช.) รอบแรก ที่บริเวณห้องโถงอาคารรัฐสภา ก่อนที่จะให้ สมาชิกวุฒิสภา ลงคะแนนเลือกบุคคลเพื่อเข้าเป็นกรรมการ ในการตรวจสอบดังกล่าวได้มีการตรวจสอบคูหาลงคะแนน และหีบบัตร ซึ่งได้มีการเปิดหีบบัตรให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ได้ตรวจสอบว่าเป็นหีบเปล่า ไม่มีบัตรปลอมอยู่ในตู้แต่อย่างใด และได้มีการปิดหีบ ใช้แม่กุญแจล็อคอย่างแน่นหนา ซึ่งบริเวณงาน มีการจัดบอร์ดขั้นตอนการเลือกตั้งคณะกรรมการ ประวัติผู้รับเลือกตั้งโดยย่อ และหลังจากนั้นนายนิคม จึงได้แจ้งต่อสมาชิกวุฒิสภาถึงการไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าวในเวลา 9.30-11.00 น.
 
ในเวลา 9.30 น. ใน บรรยากาศในการลงคะแนนในช่วงแรกนั้นมีสมาชิกวุฒิสภามีใช้สิทธิบางตา เพราะบางส่วนต้องเข้าประชุมวุฒิสภาและบางส่วนยังเดินทางมาไม่ถึงรัฐสภา
 
ทั้งนี้ในการประชุมวุฒิสภาช่วงที่แจ้งวาระดังกล่าว ได้มี ส.ว. ลุกสอบถามถึงกรณีการใช้พื้นที่ห้องโถงอาคารรัฐสภา 1 เพื่อลงคะแนนเลือก แทนที่จะใช้ภายในห้องประชุมรัฐสภาเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมา ทั้งนี้ได้ท้วงติงว่าอาจจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส และเสี่ยงที่จะถูกนำประเด็นไปฟ้องร้องเป็นคดีความได้ ซึ่ง นายนิคม ชี้แจงว่า เหตุที่ได้ใช้พื้นที่อื่นจัดการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการบริหารเวลาระหว่างการพิจารณาเรื่องตามระเบียบวาระและการลงคะแนนเลือกกรรมการติดตามและประเมินผลงานของกสทช. ส่วนประเด็นเรื่องฟ้องร้องนั้น ขณะนี้ทราบว่า นายสุทธิพร เดี่ยวพานิช ผู้สมัครเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลงาน กสทช. ซึ่งไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติได้ฟ้องร้องอยู่ที่ศาลปกครองกลางแล้ว โดยศาลได้จัดไต่สวนในวันนี้ ( 19 พ.ย.) เวลา 10.00 น. เบื้องต้นหากศาลไต่สวนแล้วมีคำสั่งคุ้มครอง กระบวนการลงคะแนนเลือกกรรมการดังกล่าว ต้องยุติลง แต่หากศาลไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา ตนพร้อมจะเดินหน้าการลงคะแนนเลือกตั้งดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้เมื่อการเลือกตั้งรอบแรกแล้วเสร็จและไม่เกิดปัญหา ตนจะนัดประชุม ส.ว.อีกครั้งในวันที่ 23 พ.ย. เพื่อให้เลือกกรรมการฯ ในรอบสุดท้าย ให้เหลือจำนวน 5 คน
 
จากนั้นพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ได้ลุกท้วงติงว่าไม่ทราบถึงประเด็นการเลือกตั้งกรรมการติดตามและประเมินผลงาน ของกสทช. นอกห้องประชุมมาก่อน ซึ่งจากการรับฟังคำชี้แจงนั้นระบุว่าเพื่อความโปร่งใสและไม่เสียเวลาการประชุม ทั้งนี้ตนมีประเด็นเรียกร้องในส่วนการทำลายบัตรลงคะแนนที่ทำโดยกรรมการอยากให้มีการทำลายจริงๆ เพราะในการเลือกเลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งที่เป็นการลงคะแนนลับ แต่กลับพบว่ามีการพิมพ์ใบลงคะแนนของ ส.ว.มาเผยแพร่ ว่าใครโหวตอย่างไรบ้าง ดังนั้นขอให้ทบทวน อย่าคิดแค่ว่าเป็นการเรื่องเสียเวลาเท่านั้น เพราะประเด็นนี้ ส.ว.ได้รับหน้าที่มาดำเนินการแล้ว ขอให้ทำด้วยความรอบคอบ เช่นเดียวกับนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ของให้มีการทำลายบัตรลงคะแนนต่อหน้า เพราะก่อนหน้านั้นมีคนมาพูดกับตนว่าทราบว่าตนได้ลงคะแนนลับให้กับบุคคลใดบ้าง จึงทำให้เห็นว่าการลงคะแนนลับไม่ใช่ความลับอย่างแท้จริง
 
ด้านนางทัศนา บุญทอง ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่จัดทำบัญชีรายชื่อและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการดำเนินการคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อนำเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาคัดเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินผล กสทช. รายงานการตรวจสอบว่า จากผู้สมัครเป็นกรรมการทั้ง 72 คน พบว่ามีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติทั้งหมด 67 คน และมี 5 รายที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ ได้แก่ 1.นายเจตศักดิ์ บุญสุยา เพราะเป็นผู้ถือหุ้มบริษัททรู คอเปอร์เรชั่น จำกัด, 2.นายชนัด เผ่าพันธุ์ดี เพราะถือหุ้นบริษัททีทีแอนด์ที จำกัด, 3.นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล เป็นกรรมการบริษัทจีเดด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการโทรคมนาคม และไม่พ้นจากตำแหน่งเป็นระยะเวลา 1 ปีตามที่กฎหมายกำหนด, 4.นายวุฒิพร เดี่ยวพานิช เป็นกรรมการบริษัทไอทีวี และ 5.พล.ต.ต.ภานุรัตน์ มีเพียร เป็นกรรมการบริษัทสหพัฒนพิบูลย์ 
 
จนเวลาประมาณ 11.00 น.จึงมีสมาชิกวุฒิสภาเดินทางมายังบริเวณจุดลงคะแนนมากขึ้นจนต่อเป็นแถวยาวเลยเขตที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ไปถึงบริเวณประตูทางเข้าอาคารรัฐสภา จึงต้องมีการขยับเขตการเลือกตั้งออกไปให้กว้างกว่าเดิม  จนกระทั่งเวลา 12.05 น.คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้ปิดหีบเลือกตั้ง ซึ่งจากการนับจำนวนสมาชิกที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งปรากฏว่ามีสมาชิกที่ ไม่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งจำนวน  7 คน 
 
ทั้งนี้การนับคะแนน แบ่งเป็น 5 ด้าน โดยมีกระดานคะแนนและผู้นับคะแนนแยกเป็นแต่ละด้าน 1.ด้านกิจการกระจายเสียง 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 5.ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งการนับคะแนนเต็มไปด้วยผู้สื่อข่าวและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน และผู้สังเกตการณ์ของผู้สมัคร
 
โดยผลการลงคะแนนของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อคัดเลือกกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553  จำนวน 2 เท่า หรือจำนวน 10 คน จากผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมจำนวน 67 คน นั้นปรากฏว่าบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกประกอบด้วย ด้านกิจการกระจายเสียง ได้แก่ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และน.ส.ลักษมี ศรีสมเพ็ชร กรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเชียงใหม่ หรือ กรอ.เชียงใหม่ ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ นายพิชัย อุตมาพินันท์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกฎหมายสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และพล.อ.จิรเดช คชรัตน์ อดีตที่ปรึกษากรรมการบริษัทกิจการโทรทัศน์กองทัพบก ด้านกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ นายอนันต์ วรธิติพงศ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา สรรหา และนายอมรเทพ จิรัฐิติเจริญ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ นายพันธ์ศักดิ์ จันทร์ปัญญา อนุกรรมการกิจการกระจายเสียง บริการธุรกิจ และนายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการสำนักงาน กสทช.และกิจการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ พล.อ.บุญยวัจน์ เครือหงส์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม และนายจเด็จ อินสว่าง อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
       
สำหรับขั้นตอนต่อไป ที่ประชุมวุฒิสภานัดพิเศษในวันที่ 23 พ.ย.นี้ สมาชิกวุฒิสภาจะทำการลงคะแนนลับในคูหา ซึ่งจะดำเนินการภายในห้องประชุมวุฒิสภา เพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมให้เหลือเพียง 5 คน ขณะเดียวกัน มีสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนเห็นว่าสมควรตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติและจริยธรรมของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 10 คนอีกครั้ง ทำให้ต้องขอมติจากที่ประชุมวุฒิสภาต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net