Skip to main content
sharethis

 

อาชีพอิสระสมัครประกันสังคมม.40 ทะลุ 1.2 ล้าน

วันนี้ (8 พ.ย.) ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวเปิดงาน “ประกันสุขกับประกันสังคม” ว่า สปส.ตั้งเป้าหมายภายในปี 2555 ต้องมีแรงงานนอกระบบ ประกอบอาชีพอิสระเข้าสู่ระบบประกันสังคมเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 1.2 ล้านคน โดย ณ วันที่  7 พ.ย. มีถึง 1,247,848 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง เกษตรกรรม ค้าขาย หาบเร่แผงลอย

ทั้งนี้มีแรงงานอีกมากและหลากหลายอาชีพที่ยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร การจัดงานวันนี้ก็เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่มาร่วมงานเกิดความรู้ ความเข้าใจ และนำไปเผยแพร่แก่เพื่อนร่วมอาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสวัสดิการของตนเอง นอกจากนี้ได้มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกันตนภาคสมัครใจเป็นสมาชิกคนที่ 1 ตั้งแต่ปี 2546 และเป็นสมาชิกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และผู้ประกันตนรายที่ 1.2 ล้านเป็นลำดับที่ครบตามเป้า

พระธีรพันธุ์ อุปการศิลป์ อายุ 59 ปี จากวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ สมาชิกคนที่ 1 กล่าวว่า เป็นคนกรุงเทพฯ สมัครใจเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ตั้งแต่ปี 2546 ตอนนั้น ประกอบอาชีพค้าขาย ไม่ได้มองถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับแต่ในฐานะเป็นคนไทยก็อยากทำอะไรที่มีส่วน ช่วยภาครัฐบ้าง

ด้านนางสมใจ ภูตะมาตย์ อายุ 39 ปี อาชีพขายปลาในตลาดแจ้งสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย  ผู้ประกันตนรายที่ 1.2 ล้าน  กล่าวว่า สมัครเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาพร้อมกับครอบครัว เพราะเห็นว่าดี จ่ายเพียงเดือนละ 100 บาท  ในอนาคตถ้าต้องนอนรพ. 2 วันขึ้นไปจะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท นอกจากนี้ยังมีเงินออมด้วย.

(เดลินิวส์, 11-8-2555)

 

ครม.อนุมัติ 461ล.ดึงแรงงานนอกระบบเข้าประกันสังคม

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้ 1.รับทราบการดำเนินงานคุ้มครองประกันสังคมแก่แรงงานนอกระบบ 2.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2556 เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นวงเงินไม่เกิน 461,076,000 บาท เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย แต่ทั้งนี้แรงงานนอกระบบต้องสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นระยะเวลา 11 เดือน(พ.ย.2555-ก.ย.2556) 3.อนุมัติเงินงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 46,575,400 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และการประชาสัมพันธ์สำหรับ การรณรงค์ให้แรงงานนอกระบบสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533

นายภักดีหาญส์ ระบุว่า สาระสำคัญของเรื่องนี้ ก็เพื่อขยายความคุ้มครองประกันสังคมแก่แรงงานนอกระบบอาชีพต่างๆเช่น เกษตรกร ผู้ขับขี่ยานพาหนะรับจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ค้าขายหาบเร่ และแผงลอย เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต มีการกำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายเงินสมทบของประโยชน์ทดแทนตามมาตรา 20 ของพระราชกฤษฎีกากำหนด ซึ่งกำหนดให้ระยะแรกเริ่มผู้ประกันตนจะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนในอัตราเดือน ละ 70 บาท สำหรับผู้ประกันตนที่เลือกประโยชน์ตามมาตรา 8 ต้องจ่ายเงินสมทบทุนในอัตรา100 บาทต่อเดือน

รองโฆษกฯ กล่าวต่อว่า ทางกระทรวงแรงงานได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินงานให้แรงงานนอกระบบได้รับความ คุ้มครองภายในเดือนกันยายน 2555 จำนวน 1.20 ล้านคน โดยวันที่ 5 กันยายน 2555 มีผู้ประกันตนฯ จำนวน 1,068,839 คน หรือร้อยละ 89.07 ของเป้าหมาย ส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบที่ประกันตนอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

(เนชั่นทันข่าว, 12-11-2555)

 

จี้รัฐคุมเข้มนายจ้างใช้แรงงาน นศ.

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า  เตรียมเข้าพบนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เวลา 15.00 น.วันนี้ เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลสถานประกอบการที่นำนักศึกษา ระดับ ปวช. มาทำงานในลักษณะของการฝึกงาน ภายใต้ความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่

นายชาลี กล่าวว่า คสรท.มีความเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของนักศึกษา เพราะแม้จะบอกว่าเป็นการฝึกงาน แต่ในทางปฏิบัติคือการทำงานเต็มเวลา นายจ้างใช้วิธีลักษณะนี้แก้ปัญหาการขาดแคลนคนงาน โดยทำข้อตกลงกับสถานศึกษาให้เวียนส่งนักศึกษามาทำงานเป็นรอบ รอบละ 3-4 เดือน นักศึกษาได้ค่าแรงไม่ถึง 300 บาท และหากเกิดอุบัติเหตุในการทำงานจนสูญเสียอวัยวะ จะกระทบกับอนาคตของนักศึกษาเหล่านั้นทันที ซึ่งที่ผ่านมาก็มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ 10-12 แห่ง รวมทั้งโรงงานรถยนต์บางแห่ง ใช้แรงงานนักศึกษาในลักษณะนี้ และแนวโน้มกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ

“นายจ้างใช้วิธีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เป็นภาระผูกพัน ค่าใช้จ่ายต่ำไม่ต้องจ่ายโบนัส จ่ายสวัสดิการอะไร และมีคนมาทำงานสม่ำเสมอ แต่ที่อ้างว่าฝึกงาน จริงๆแล้วมันก็คือการทำงานเต็มเวลา แถมยังให้ทำโอทีอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเพราะเด็กอยู่ในวัยเรียน ไม่ใช่วัยทำงาน และที่พบอีกอย่างคือไม่ได้ฝึกงานตามสายงานที่เรียนมา ส่วนใหญ่จะโดนจับลงไลน์ผลิตหมด แบบนี้นักศึกษาก็ไม่ได้ความรู้อะไร การทำโอทีก็ทำให้เด็กมีเวลาพักผ่อนน้อยลงด้วย”นายยงยุทธ กล่าว

นายยงยุทธ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าการจ้างงานในลักษณะนี้มีกฎหมายรองรับหรือไม่ อยากให้กระทรวงแรงงานมีความชัดเจนเรื่องมาตรการควบคุม เพื่อไม่ให้สถานประกอบการใช้งานนักศึกษาเกินขอบเขตฝึกงาน รวมทั้งมาตรการคุ้มครองสิทธิอื่นๆของนักศึกษาด้วย

ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัท เดอะพิซซ่า คอมปะนีประเทศไทย ในเครือบริษัท เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ประกาศเตรียมแผนการพัฒนาบุคลากรครั้งใหญ่ โดยนำธุรกิจร้านอาหารเดอะพิซซ่า คอมปะนี เข้าสู่โครงการนำร่องเซ็นบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู)โครงการผู้ประกอบการและสถานศึกษา เพื่อจัดหานักศึกษาเข้าทำงานในร้านเดอะพิซซ่าฯ เป็นครั้งแรกก่อนขยายไปยังแบรนด์อื่นๆ เบื้องต้นมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมโครงการแล้ว 22 แห่งและมีนักศึกษาเข้าร่วมในปีแรกอยู่ที่500 คน ศึกษาในหลักสูตรการบริหารธุรกิจ การโรงแรม และธุรกิจค้าปลีกพร้อมวางเป้าหมายภายใน 3-5 ปีข้างหน้า จะมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมในโครงการราว 100 แห่ง

(โพสต์ทูเดย์, 12-11-2555)

 

กรมจัดหางานคืนเงิน 78 แรงงานถูกหลอกทำงานอิสราเอล 37.5%

อุดรธานี 13 พ.ย.- เวลา 10.20 น. วันนี้ ที่สำนักงานจัดหางาน จ.อุดรธานี นางนฤมล ธารดำรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบเงินหักหลักประกันของบริษัทจัดหางานฟาเอซ เซอร์วิส จำกัด ให้แก่คนงานที่สมัครงานกับบริษัทฯ ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล แต่ไม่ได้เดินทางไป 78 คน มีคนงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.อุดรธานี และใกล้เคียง เดินทางมารับเงินที่ได้รับคืนเพียงร้อยละ 37.5 นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า บริษัท จัดหางานฟาเอซ เซอร์วิส ประกาศรับสมัครคนงาน และเรียกเก็บค่าบริการกับคนงานทั้ง 78 คน คิดเป็นเงิน 13,346,158 บาท แต่ไม่สามารถจัดส่งคนงานไปได้ กรมฯ เห็นว่า บริษัทฯ กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดหางาน และคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 จึงพิจารณาหักหลักประกันของบริษัทฯ ที่วางประค้ำประกันไว้จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อจ่ายคืนให้คนงานทั้ง 78 คน และเพิกถอนใบอนุญาตจัดส่งคนงานของบริษัทฯ ดังกล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้คนงานยังได้ไม่รับเงินครบตามที่จ่ายไป กระทรวงฯ จะดำเนินการต่อไปเพื่อที่จะให้คนงานได้รับเงินคืนเต็มตามจำนวนที่เสียไป เพราะส่วนใหญ่ต้องกู้หนี้ยืมสินเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก จึงมอบให้ สนง.จัดหางาน จ.อุดรธานี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินดีอาญาและแพ่งกับบริษัทฯ และผู้เกี่ยวข้องต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุดรธานี และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางช่วยเหลือต่อไป (สำนักข่าวไทย, 13-11-2555)

 

เครือข่ายแรงงานจี้ติด ประชุม ครม. 20 พ.ย.นี้ หากขึ้นค่าแรง 300 บ. ทั่วประเทศไม่ผ่านเคลื่อนพลแน่

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงานได้รับปากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ 70 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งจะมีผล 1 ม.ค.56 เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายใน 20 พ.ย.นี้ ซึ่งเครือข่ายแรงงานกำลังติดตาม หากไม่เข้าจริงจะเคลื่อนไหวทันที เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่าการประชุม ครม.ได้เลื่อนเป็นวันที่ 12 พ.ย. ประกอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ได้เซ็นเรื่องไว้ “การที่เอกชนระบุว่าจะขอเวลาศึกษามาตรการเยียวยาก่อนและให้ชะลอเข้า ครม.เป็นคนละเรื่องเพราะเรื่องนี้เราก็เข้าใจถึงผลกระทบต่อธุรกิจแต่เมื่อ เป็นนโยบายรัฐก็ต้องไปดูแลเอสเอ็มอีด้วย และค่าแรงที่ขึ้นก็ไม่ได้มากเลยเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงมาก เวลานี้เรามองว่าค่าแรงน่าจะอยู่ที่ 400 บาทต่อวันด้วยซ้ำไป” นายยงยุทธกล่าว

ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2556 ภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) มีความเสี่ยงสูงในการทำธุรกิจโดยเฉพาะต้นทุนที่จะต้องปรับขึ้นตามค่าแรงขั้น ต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ประกอบกับต้นทุนอื่นๆ ทั้งวัตถุดิบ ขนส่ง ก็เริ่มมีทิศทางขยับราคาทำให้แนวโน้มเอสเอ็มอีจะประสบปัญหาสภาพคล่อง และหากปรับตัวไม่ได้ ที่สุดมีทิศทางที่จะต้องปิดกิจการมากขึ้น

“มาตรการเยียวยาจากรัฐดูแล้วก็ช่วยได้ไม่มาก ที่สุดเชื่อว่าธุรกิจโดยรวมอาจต้องทยอยปรับราคาสินค้าในช่วงไตรมาส 2 ปีหน้าเป็นต้นไป  เพื่อที่จะลดภาระต้นทุนส่วนหนึ่งเพื่อความอยู่รอดเพราะไตรมาสแรกจะยังคงใช้ สต๊อกสินค้าเก่าอยู่ ขณะที่ธุรกิจส่งออกทิศทางตลาดยังไม่ฟื้นตัว”

นายทวี ปิยพัฒนา รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ราคาสินค้าในแง่ของอาหารทะเลแช่แข็งจะปรับราคาในประเทศได้ค่อนข้างยากเช่น เดียวกับตลาดส่งออก เพราะการแข่งขันทุกรายคงต้องพยายามรักษาการผลิตและส่วนแบ่งตลาดเอาไว้แม้อาจ จะต้องลดกำไรลงก็ตาม ซึ่งการขึ้นค่าแรงทั่วประเทศปีหน้าถือเป็นจุดอันตรายของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะ เอสเอ็มอีจะอยู่ลำบากหลัง เม.ย.56 เชื่อว่าจะเห็นชัดเจนถึงผลกระทบ.

(ไทยรัฐ, 14-11-2555)

 

บ.ยุโรปโอดขาดแคลนแรงงานหนัก

เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2555 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตัวแทนบริษัทที่ดำเนินการธุรกิจประเภทคมนาคมขนส่ง , ยานยนต์ , ยาและเวชภัณฑ์ ,บริการทางการเงิน , อาหารและเครื่องดื่ม , ประกันภัยและทรัพย์สินทางปัญญาจากประเทศแถบยุโรป 16 ประเทศซึ่งมีบริษัทในเครือกว่า 2,000 บริษัทได้มาเข้าพบตนเพื่อขอหารือการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากธุรกิจต่างๆในประเทศแถบยุโรปตั้งใจที่จะปักหลักลงทุนทำธุรกิจใน ประเทศไทย แต่เป็นห่วงปัญหาขาดแคลนแรงงาน จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในไทยขาดความมั่นคง

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า บริษัทจากยุโรปแจ้งด้วยว่าเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน จึงมีความต้องการที่จะจ้างแรงงานไทย รวมทั้งจะขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยและขอให้ไทยช่วยขยายเวลา ให้ช่างฝีมือ พนักงานของบริษัทต่างๆในยุโรปที่เข้ามาทำงานในไทยอยู่ในไทยได้นานขึ้นจาก ปัจจุบันอยู่ได้เพียง 1 ปีเพิ่มเป็น 2-3 ปี นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงแนวทางการพัฒนาแรงงานไทยเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน(เออีซี)ในปีพ.ศ.2558 ด้วย

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ตนได้ตอบกลับไปว่า กระทรวงแรงงานยินดีที่จะช่วยจัดหาแรงงานไทยให้ตามความต้องการ แต่ขอให้ทุกบริษัทรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานมาให้ชัดเจนเช่น ตำแหน่งงาน คุณสมบัติ เงินเดือนและจำนวนแรงงานในแต่ละตำแหน่งงานที่ต้องการจ้างงานมายังกระทรวงแรง งานโดยเร็วที่สุด และขอให้แจ้งความต้องการแรงงานมาล่วงหน้า 1-2 ปี เพื่อที่กระทรวงแรงงานจะได้จัดหาแรงงานรองรับ

(เนชั่นทันข่าว, 14-11-2555)

 

คนทำงานบ้านขอสิทธิเพิ่มอีก 4 ข้อ เตรียมหารือ 9 ธ.ค.

นางสมร พาสมบูรณ์ ประธานเครือข่ายสมาชิกคนทำงานบ้าน ได้กล่าวถึงประกาศกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ให้ความคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้าน มีผลบังคับใช้แล้วภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่แม่บ้านยังมีข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการต่อไปอีก 4 ข้อ ซึ่งด้านนายจ้างแสดงความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ยากที่จะทำตามสิ่งที่เสนอมา

สำหรับสิทธิ 4 ข้อที่เสนอมานั้น ได้แก่ 1.การเดินหน้าประกันสังคม ให้แม่บ้านเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งปัจจุบันแม่บ้านต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง เพราะใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้เพียงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลตามภูมิลำเนาเท่านั้น

2.การรับรองเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ให้เหมือนกันลูกจ้างทั่วไป เพราะปัจจุบันแม่บ้านไม่มีเวลาการทำงานที่แน่นอน 3.การคุ้มครองความปลอดภัยระหว่างการทำงาน จากอุบัติเหตุและภัยต่างๆ เพราะแม่บ้านบางคนไม่มีห้องพักส่วนตัว ต้องนอนในที่ที่อาจไม่ปลอดภัย และ 4.ขอให้รัฐบาลชี้ให้ชัดและรับรองว่า นายจ้างทุกคนจะปฏิบัติตามกฎกระทรวง เพราะแม่บ้านยังไม่เชื่อว่านายจ้างจะทำตาม

ทั้งนี้ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ จะมีการจัดงานสมัชชาคนทำงานบ้าน เพื่อเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรง งาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือถึงข้อเรียกร้องที่แม่บ้านต้องการแต่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการให้

ขณะที่ผู้ว่าจ้างรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นต่อสิทธิ 4 ข้อที่เสนอมาใหม่ว่า การปรับกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองและให้สิทธิกับแม่บ้านเพิ่มมากขึ้นเป็นเรื่อง ดี แต่ต้องดูเงื่อนไขหลายๆอย่าง ขณะที่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงๆ จะเกิดคำถามว่า ใครจะเป็นคนลงไปกำกับดูแลเรื่องนี้ได้ จะให้มาตรวจนับตามบ้านก็เป็นไปไม่ได้ หรือจะให้แรงงานที่ทำงานในบ้านออกมาเรียกร้องยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะอาจเกิดปัญหากับนายจ้าง ซึ่งทุกคนยังอยากมีงานทำอยู่

(MThai News, 16-11-2555)

 

ปชป.หวั่นนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท กระทบโรงงานภาคอีสาน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 ว่า  รู้สึกเป็นห่วง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าจะเป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดปัญหามากมาย  โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีโรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีข้อได้เปรียบทางด้านค่าจ้างแรงงานถูก เชื่อว่า หากปรับค่าแรงขึ้น จะทำให้  เอสเอมอีหรือโรงงานขนาดเล็กต้องปิดตัวทันที และโรงงานขนาดใหญ่จะต้องย้ายฐานการผลิตมายังกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจทางด้านค่าแรง และจะทำให้แรงงานในภาคอีสานตกงานเป็นจำนวนมาก ดังนั้นอยากให้รัฐบาลหามาตรการป้องกันและแก้ปัญหา  โดยขอให้รัฐบาล ประเมินว่า อุตสาหกรรมใดที่มีความจำเป็น ใช้แรงงานจำนวนมาก และไม่สามารถใช้เครื่องจักรทดแทนได้ ก็ขอให้ออกมาตรการช่วยเหลือ โดยอาจจะมีลักษณะจัดตั้งกองทุนให้กับอุตสาหกรรมเหล่านั้นในระยะเวลา 2 ปีได้หรือไม่ และรัฐบาลจะพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างไรเพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่ง ขัน

(มติชนออนไลน์, 17-11-2555)

 

เตือนรัฐบาลลดประชานิยมทบทวนค่าแรง

นักเศรษฐศาสตร์คาดเศรษฐกิจโลกโต 3.3% ขณะที่ไทยพุ่ง 4.6% ติงรัฐบาลลดประชานิยม เลิกจำนำข้าวก่อนหนี้สาธารณะเกินแบก ด้านนิด้าโพลระบุระเบิดเวลาค่าแรง 300 บาทต้นปีหน้า ทำแรงงานไทยพิ นาศ สินค้าพาเหรดขึ้นราคา "มาร์ค" แนะจับตาปัญหาเลิกจ้าง

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพล เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 35 แห่ง จำนวน 73 คน เรื่องคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2556 นักเศรษฐ ศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ราคาน้ำมันดิบ (WTI) จะอยู่ที่ 99.8 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 3.4

ในส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 31.5 เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับปัจจุบัน ที่ร้อยละ 2.75 ไปสู่ระดับร้อยละ 2.50 ภายในสิ้นปี 2556 ส่วนค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ 30.68  บาทต่อเหรียญสหรัฐ และการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 6.8  ด้านการเคลื่อนไหวของค่าเฉลี่ยของ  SET  Index นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 45.2 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2555 โดยจุดสูงสุดของปี 2556 จะอยู่ที่ 1,400 จุด

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2556 อันดับ 1 คือ เศรษฐกิจโลกในภาพรวม (ร้อยละ 79.5),  อันดับ 2 หนี้สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มยูโรโซน (ร้อยละ 69.9), อันดับ 3 ปัญหาการเมือง/การชุมนุมประท้วง/เสถียรภาพของรัฐบาล (ร้อยละ 64.4)

มีข้อเสนอจากผู้รับการสำ รวจถึงรัฐบาล/หน่วยงานด้านเศรษฐ กิจที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินนโยบาย ทางเศรษฐกิจปี 2556 คือ 1.ลดการ ดำเนินนโยบายประชานิยม ลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการคลังมากขึ้น 2.เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใน โครงการต่างๆ รวมถึงโครงการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ AEC มีการเบิกจ่ายเงินที่เป็นไปตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำ มีการพัฒนาการศึกษา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ 3.มีการดำเนินนโยบายการ เงินการคลังที่สอดประสานกัน โดยเห็นว่าควรดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและดำเนินนโยบายการคลังแบบขยาย ตัว ควรมีมาตรการควบคุมฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงควรมีแผนสำรองเพื่อรองรับวิกฤติ(shock) ที่อาจจะเกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก

ด้านนิด้าโพล ของสถาบันบัณ ฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ  เรื่องผลกระทบจากนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ประชาชนร้อยละ 48.04 ระบุว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อาจมีผลทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างเลิกจ้างงานแรงงานไทย หันไปใช้แรงงานต่างด้าวที่มีค่าแรงถูกกว่า และมีความอดทน ขยันทำงานมากกว่าแรงงานไทย ขณะที่ร้อยละ 45.07 ระบุว่า ไม่มีผล เพราะลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างเกินหรือใกล้เคียงวันละ 300 บาทอยู่แล้ว และผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องมีการปรับตัว

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.40 แสดงความกังวลด้วยว่า ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ส่วนร้อยละ 29.27 ไม่กังวล เพราะผู้ประกอบการหรือนายจ้างมีการปรับตัว เช่น ลดจำนวนแรงงาน ลดคุณภาพวัตถุดิบ ลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา เพื่อลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ร้อยละ 48.84 เห็นว่าการขึ้นค่าแรงจะไม่ทำให้มีการเลิกกิจการ เพราะทุกวันนี้ค่าแรงส่วนใหญ่ก็เกือบ 300 บาท หรือมากกว่าอยู่แล้ว และผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องมีการปรับตัวให้อยู่ได้ ขณะที่ร้อยละ 39.37 ระบุว่า มีผลทำให้เลิกกิจการ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ใน รายการฟ้าวันใหม่ ทางบลูสกายแชน แนล เมื่อวันที่16 พฤศจิกายนนี้ ถึงประเด็นธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือนว่า ทุกครั้งที่รัฐบาลมุ่งแต่เรื่องของประชานิยม เอาเงินไปให้ประชาชนกู้ ปัญ หานี้ก็จะเกิดขึ้น เพราะการบริหารจัด การที่ดี ต้องดูแลว่าเงินทุนที่ให้ไปนั้น ไปสู่การทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลตอบแทนในเรื่องของรายได้ในเรื่องของ เศรษฐกิจ แต่ถ้าเอาเงินไปแล้วไม่มีผลตอบแทนกลับมา หนี้ก็จะพอกพูนเพิ่มขึ้น

"ผมคุยกับนักธุรกิจ เขาบอกเวลารัฐบาลมีนโยบาย อย่างเช่น ขึ้นค่าแรง 300 บาท นักธุรกิจเขาไปร้องบอกว่าเขาจะอยู่ไม่ได้ เพราะว่าต้นทุนในบางจังหวัด ถ้าเกิดค่าแรงเป็นอย่างนี้เขาอาจจะต้องปิดกิจการไป รัฐบาลก็จะบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจะช่วย ช่วยคืออะไร เอาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ เขาก็งงครับ บอกว่ากู้มาให้เขาขาดทุนต่อ แล้วมันจะแก้ปัญหาได้ยังไง"

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า นโยบายประชานิยมด้วยการปล่อยกู้ให้ชาวบ้านเป็นการผูกใจเช่นที่เป็น อยู่ขณะนี้  สุดท้ายก็จะเกิดปัญหาแน่นอน ประชาชนจะคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวรัฐบาลก็จะยกหนี้ให้ ขณะที่ผู้ต้องการเงินไปลงทุนทำให้เกิดการหมุน เวียนทางเศรษฐกิจก็อาจกู้ได้ไม่เต็มที่อย่างที่เขาควรจะได้ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะหวังผลทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ และปัญหาขณะนี้เราก็ทราบดี ของยังแพง สินค้าเกษตรบริหารแล้วมีปัญหาทั้งสิ้น ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกำลังจะมาพร้อมๆ กันกับการเลิกจ้างค่อนข้างมากในช่วงต้นปีหน้า เศรษฐกิจต่างประเทศก็ยังไม่ได้มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวชัดเจน เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นแต่ว่าเราก็ไม่เห็นรัฐบาลมีแนวความคิด ที่ชัดเจนที่จะตอบโจทย์เหล่านี้

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวเตือนกรณีธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน โฆษณากระตุ้นให้คนเป็นหนี้ ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลนี้ก็ออกมติคณะรัฐมนตรี เตรียมที่จะแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กลับไปสู่สภาวะที่บอก ว่าถ้าสถาบันการเงินมีปัญหา ให้อำนาจ หรือให้กองทุนฟื้นฟูฯ ไปให้กู้ได้ กู้โดยไม่ต้องมีหลักประกันก็ได้ด้วย เพื่อจะช่วยอุ้มสถาบันการเงิน อันนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ผิด เพราะจะทำให้สถา บันการเงินไม่กลัวในการที่จะมีความเสี่ยงมากขึ้น.

(ไทยโพสต์, 17-11-2555)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net