Skip to main content
sharethis

นับเป็นการเยือนพม่าครั้งแรกของปธน.สหรัฐ โดยได้เข้าพบกับปธน. เต็ง เส่ง และนางออง ซาน ซูจี ก่อนที่จะกล่าวปราศรัยที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ชี้การปฏิรูปในพม่าเป็นก้าวแรกของการเดินทางอีกยาวไกล ขณะที่มีรายงานว่าวันนี้ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีก 66 คน

19 พ.ย. 55 - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์วันนี้ โดยได้เข้าพบกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่า และผู้นำฝ่ายค้าน นางออง ซาน ซูจี และได้กล่าวปราศรัยที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศกัมพูชา โดยใช้เวลาเยือนพม่าทั้งหมดเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ขณะที่มีรายงานว่าในวันเดียวกัน ทางการพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีก 66 คน ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา พม่าได้ปล่อยตัวนักโทษจำนวน 518 คน แต่ไม่มีใครเป็นนักโทษการเมือง


ประชาชนพม่ารอต้อนรับประธานาธิบดีบารัก โอบามา (ที่มา: The Myanmar Age)

โอบามาชี้ การปฏิรูปในพม่าเป็นก้าวแรกของการเดินทางที่ยาวนาน

ในการแถลงข่าวร่วมระหว่างประธานาธิบดีโอบามาและเต็ง เส่ง ที่อดีตรัฐสภาในเมืองย่างกุ้ง ปธน. สหรัฐกล่าวถึงการปฏิรูปในพม่าว่า เป็นเพียงก้าวแรกของสิ่งที่จะเป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่การปฏิรูปทางประชาธิปไตยและเศรษฐกิจที่ได้ริเริ่มขึ้น จะสามารถนำไปสู่โอกาสด้านการพัฒนาอีกมากมาย

ด้านประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กล่าวด้วยภาษาพม่าและแปลผ่านล่ามว่า ทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกัน "ด้วยความไว้วางใจ ความเคารพและความเข้าใจ" เขากล่าวต่อว่า "ในระหว่างการพูดคุย เราได้บรรลุข้อตกลงสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล" 

 
 

ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กับบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่างแถลงข่าวหน้าบ้านพักริมทะเลสาบอินยา ของนางออง ซาน ซูจี วันนี้ (19 พ.ย.)
(ที่มา:
The Myanmar Age
 

หลังจากนั้น โอบามา ร่วมกับรมต. กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ฮิลลารี คลินตัน ได้เดินทางเข้าพบนางออง ซาน ซูจีที่บ้านของเธอบริเวณริมทะเลสาบ ซูจีได้กล่าวขอบคุณโอบามาสำหรับความสนับสนุนต่อกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตย และกล่าวเตือนให้ระวังถึง "ภาพลวงตาของความสำเร็จ" โดยย้ำว่าจำเป็นต้องทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงกับประชาชน

ในขณะที่โอบามากล่าวว่า นางอองซานซูจีเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก และชี้ว่า การมาเยือนของทางการสหรัฐในครั้งนี้ นับเป็นก้าวต่อไปในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและพม่า โดยก่อนที่ปธน. สหรัฐจะเดินทางต่อไปกล่าวปราศรัยที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ทั้งสองได้กอดกัน และโอบามาได้จุมพิตนางซูจีบริเวณแก้ม 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าการเยือนพม่าหนนี้โอบามาเมื่อพบประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ใช้คำเรียกประเทศพม่าว่า "เมียนมาร์" ซึ่งเป็นชื่อที่ผู้นำประเทศพม่าและอดีตผู้นำทหารเลือกใช้ แทนที่จะใช้คำว่า "เบอร์ม่า" ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามเมื่อพบกับนางออง ซาน ซูจี โอบามากลับมาใช้คำว่า "เบอร์ม่า" ตลอดการแถลงข่าว

ส่วนการกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง โอบาม่าทักทายนักศึกษาว่า "Myanmar Naingan, Mingalaba!" (ประเทศพม่า, สวัสดี) แต่นอกจากนั้นก็ใช้คำว่า "เบอร์ม่า" ในการเรียกชื่อประเทศตลอดสุนทรพจน์

 

ปล่อยตัวนักโทษการเมืองเพิ่มอีก 66 คน 

ในขณะที่วันเดียวกัน เว็บไซต์อิระวดี รายงานว่า ทางการพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 66 คน ในฐานะการนิรโทษกรรมที่จารึกการมาเยือนของปธน. สหรัฐ นักโทษการเมืองดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) กองทัพรัฐฉาน และแนวหน้านักศึกษาประชาธิปไตยพม่าทั้งมวล (ABSDF) เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา มีรายงานว่าทางการพม่าได้ปล่อยตัวนักโทษ 452 คน แต่ไม่มีใครเป็นนักโทษการเมือง 

 
 
นักโทษการเมืองพม่าที่ได้รับการปล่อยตัววันนี้ (19 พ.ย.) ซึ่งเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาเดินทางเยือนพม่า นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่มาเยือนพม่า (ที่มา: The Myanmar Age)
 

เลทยา ทูน อดีตนักเคลื่อนไหวนักศึกษา หนึ่งในผู้ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำวันนี้ ให้สัมภาษณ์กับอิระวดีว่า เขารู้สึกว่ารัฐบาลพม่ากำลังใช้นักโทษการเมืองเป็นเบี้ยหมากทางการเมืองเพื่อการต่อรอง ในขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์ ตำหนิการกระทำดังกล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยทันที

การเดินทางมาเยือนพม่าของปธน. โอบามา เกิดขึ้นท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ซึ่งชี้ว่าเป็นการมาเยือนที่เร็วเกินไป และเป็นการให้รางวัลแก่รัฐบาลพม่าที่ยังประสบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักโทษการเมือง ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะความรุนแรงในรัฐยะไข่ แต่ในระหว่างการแถลงข่าวร่วมระหว่างโอบามาและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โอบามากล่าวว่า การเดินทางเยือนพม่ามิได้เป็น "การรับรอง" รัฐบาลพม่า หากแต่เป็นการให้ความสำคัญกับความคืบหน้าด้านการปฏิรูปที่ได้บรรลุ และเพื่อย้ำถึงการปฏิรูปอีกมากที่จำเป็นต้องมีอีกในอนาคต  

 
 
ที่มาภาพปก: The Myanmar Age

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net