Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในความคุ้นชินของผู้ชมภาพยนตร์ นักแสดงหนึ่งคนในภาพยนตร์หนึ่งเรื่องมักมีหนึ่งบทบาท หากเขาและเธอรับบทเป็นพระเอกนางเอกหรือตัวโกงก็จะรับบทนั้นตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง นี่คือมายาคติซึ่งผู้ชมภาพยนตร์ต่างคิดว่าคือธรรมชาติที่พึงเกิดขึ้นในโลกเซลลูลอยด์ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเช่นนั้นแน่หรือ

 

Mekong Hotel ผลงานความยาวเพียง 60 นาทีนิด ๆ เรื่องล่าสุดของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุลท้าทายต่อขนบการเล่าเรื่องและมายาคติอันว่าด้วยบทบาทของนักแสดงที่พึ่งมีเพียงสถานะเดียว งานภาพยนตร์เล่าเรื่องกึ่งทดลองเรื่องนี้พาเราไปพบกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงแรมเล็ก ๆ ริมฝั่งโขงแสนธรรมดาและตกแต่งภายนอกด้วยรูปปั้นเทวดาสไตล์โรมันซึ่งไม่ได้เข้ากันเลย เรื่องอุปโลกน์ว่าแม่ลูกคู่หนึ่ง (ซึ่งต่อมาเรารู้จักในชื่อว่าป้าเจนและฝน) ตัวแม่นั้นเป็นปอบที่นิยมกินเนื้อเป็น ๆ วิญญาณปอบของเธอนั้นสามารถเข้าไปสิงในร่างคนอื่นเพื่อหากินได้ เธอทุกข์ทรมานแสนสาหัสจากการเป็นปอบและภาวนาให้หลุดพ้นจากพันธนาการนี้เสียที

ลำพังเล่าเรื่องเพียงเท่านี้คงมิต่างอะไรจากการ์ตูนภาพเล่มละ 10 บาทที่วางขายตามแผงหนังสือในสถานีขนส่ง แน่นอนว่าอภิชาติพงศ์มีความประทับใจในตำนานเรื่องลึกลับเหล่านี้ หนังหลาย ๆ เรื่องของเขามีการแฝงเอาตำนานพื้นบ้านลึกลับไว้ ที่เด่นชัดที่สุดคงไม่พ้นลุงบุญมีระลึกชาติที่จุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจเกิดจากหนังสือระลึกชาติที่เขาอ่านพบ อภิชาติพงศ์มิได้เพียงเล่าเรื่องราวแม่ลูกผู้เป็นปอบแต่ยังตัดสลับเหตุการณ์จริงหลาย ๆ ชิ้นผสมกับเรื่องเล่าจนถ้าไม่ครุ่นคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนขณะดู ก็อาจจะแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าฉากใดคือเรื่องเล่า ฉากใดคือเรื่องจริงกันแน่

เปิดฉากเริ่มเรื่องเป็นอภิชาติพงศ์กำลังนั่งดูและฟังทีมงานคนหนึ่งเล่นกีตาร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเพลงประกอบในผลงานสักเรื่องหนึ่ง เสียงกีตาร์กล่อมเราอยู่พักใหญ่ (และท้ายที่สุดก็เล่นจนจบเรื่องและกลายเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ไปโดยปริยาย) ภาพการ fitting เสื้อผ้าให้นักแสดง จากนั้นก็ตัดไปให้รู้จักตัวละครชายหนุ่มหญิงสาวที่ชื่อ โต้ง และ ฝน ตามลำดับ (ซึ่งนักแสดงก็มีชื่อว่าโต้งและฝนในชีวิตจริง) ทั้งคู่เริ่มต้นบทสนทนาอย่างขวยเขินและพบว่าฝน เป็นลูกสาวของป้าเจน เพื่อนบ้านของโต้ง (และป้าเจนก็ชื่อป้าเจนในชีวิตจริงเช่นกัน)

ภาพตัดสลับเหตุการณ์ทั้งเรื่องจริงและเรื่องเล่าโดยไม่บอกกล่าวคนดูด้วยเทคนิคทางภาพ ขณะที่เล่าเหตุการณ์หญิงสาวขณะโดนวิญญาณปอบเข้าสิงกำลังกินเนื้อสด ซีนต่อมาอภิชาติพงศ์ก็ตัดไปเป็นการพูดคุยกันของทีมงานและนักแสดง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้ช่วยผู้กำกับคุยกับฝนเรื่ององค์ภาและมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก, ป้าเจนเล่าเรื่องฝึกเป็นทหารต้านคอมมิวนิสต์ช่วงสมัยเด็ก ๆ และการอพยพของคนลาวเข้ามาฝั่งไทยในช่วงลาวแตกให้ฝนฟัง ไปจนถึงโต้ง ป้าเจน และฝน ยืนคุยกันที่บันไดเรื่องน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งป้าเจนก็กล่าวอย่างเป็นห่วงต่อลูกสาวที่ไม่ยอมหนีน้ำท่วมกลับมาพักที่บ้าน (ซึ่งหากดูประเด็นที่พูดคุย เห็นได้ว่าอภิชาติพงศ์ยังสนใจเรื่องเกี่ยวกับสังคมในสมัยคอมมิวนิสต์ไม่น้อย นับต่อเนื่องจากโปรเจคส์ Primitive และต่อยอดถึงลุงบุญมีระลึกชาติที่แฝงเรื่องราวและสัญญะเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ไว้)

บทบาทของนักแสดง (รวมถึงตัวทีมงานที่ปรากฎในเรื่อง) ไหลเลื่อนไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะโต้ง ป้าเจน และฝน บทบาทแรกที่ทั้งสามได้รับคือตนเอง การเล่าเรื่องจึงมีลักษณะคล้ายสารคดีตามติดชีวิตทีมงาน ได้ฟังเรื่องราวความคิดของนักแสดง ณ ขณะนั้น ส่วนอีกบทบาทคือการเป็นนักแสดง (ซึ่งชื่อตัวละครเหมือนตัวจริง) ป้าเจนรับบทแม่ที่เป็นปอบ ฝนรับบทลูกสาว ส่วนโต้งรับบทชายหนุ่มข้างบ้านที่เป็นแฟนของฝน และหนังก็ยิ่งไกลกว่าเดิมเมื่ออยู่ดี ๆ ก็ให้โต้งกลายเป็นมาซาโตะ ผู้มีหญิงสาวตามรักทุกชาติ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าสถานะของนักแสดงหนึ่งสามารถไหลเลื่อนไปได้โดยไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องเป็นใคร อย่างไร ตายตัว ที่สำคัญอภิชาติพงศ์ไม่ได้ให้ hint คนดูมากนัก อย่างเสื้อผ้าหน้าผมรวมถึงเทคนิคถ่ายทำไม่ว่าฉากไหนล้วนเหมือนกันไปเสียหมด

ฉากหนึ่งที่ผู้เขียนพบว่าเส้นแบ่งความจริงลวงและสถานะของตัวละครในหนังช่างแสนพร่าเลือนมากคือฉากที่ป้าเจนและฝนขณะรับบทเป็นปอบ ป้าเจนคร่ำครวญทรมานถึงชีวิตที่เป็นปอบของเธอ ขณะเดียวกันฝนเองก็ร้องไห้และขอร้องให้แม่หยุดทำกรรมเสียที ทั้งคู่ร้องไห้อยู่บนเตียง เราคิดว่านี่อาจจะเป็นฉากจบของเรื่อง ทว่าเมื่อเพ่งพินิจภาพกลับเห็นกระดาษขาวซึ่งมีบทถูกพิมพ์ไว้วางอยู่ แน่นอนว่าเราเดาไม่ได้ว่านี่คือฉากในละครหรือการซ้อมบทกันแน่ โดยเฉพาะป้าเจนที่ร้องไห้ไปถักนิตติง (ซึ่งก่อนหน้านี้หนังแสดงให้เห็นว่านี่เป็นงานอดิเรกของเธอ) ตัวละครกำลังเล่นบทอะไรกันแน่ นี่คือฉากซ้อมหรือละครจริง นี่คือเบื้องหลังหรือภาพที่ถูกคัดมาแสดง ความไหลเลื่อนเหล่านี้คือเสน่ห์สำคัญที่พบได้ตลอดหกสิบนาทีในแม่โขงโฮเต็ล

หนังสั้นยุคแรกของอภิชาติพงศ์หลายเรื่องมีลักษณะคล้ายกัน อาทิ ทองประกายแสด ที่อภิชาติพงศ์ให้ชาวบ้านหลายคนมารับบทเป็นตัวละครตัวเดียว ชาวบ้านสี่คนต่างมาอ่านบทเป็นนางเอกเรียกเสียงหัวเราะให้กับคนดูพอสมควร หนังเรื่องนั้นต้องการทดลองว่าหากบท ๆ เดียวเปลี่ยนนักแสดงไปจะเกิดอะไรขึ้น ในทางกลับกันหากนักแสดงคนเดียวรับบทหลายบทบาท เป็นทั้งคนอื่นและตนเองในเรื่องเดียวกัน คนดูจะเข้าใจและเกิดประสบการณ์ ความรู้สึกอย่างไรบ้าง

สำหรับผู้เขียนแล้ว การไหลเลื่อนของสถานะตัวละครแม้มิใช่สิ่งใหม่ในการทดลองเชิงภาพยนตร์แต่ก็เป็นการบอกย้ำได้ว่าตัวละครในภาพยนตร์นั้นไม่จำเป็นต้องดำรงอยู่ด้วยสถานะเดียว นั่นมิใช่สิ่งที่ธรรมชาติปั้นสรร พวกเขาสามารถดำรงอยู่ในหลากหลายสถานะตามการเสริมแต่งของผู้กำกับได้อย่างไร้ขอบเขต และหากสังเกตดู ผู้กำกับไม่น้อยเริ่มสนใจในประเด็นเช่นนี้ ในวงการหนังไทย แต่เพียงผู้เดียว ของคงเดช ก็มีการสลับสถานะตัวละครจนทับซ้อนกันว่าใครเป็นใครกันแน่ หรือในเทศกาลเมืองคานส์ Holy Motors ของ Leos Carax ก็ให้นักแสดงคนเดียวรับบทถึงสิบสองบทบาทอันแสนเหนือจริงและสวิงไปสุดข้างเช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net