ประธานอนุ กมธ. โลกมุสลิมฯ วุฒิ เชื่อ 'โอบาม่า' ยังเป็นความหวังในการแก้ไขปัญหาโลกมุสลิม

 

'วรวิทย์ บารู' ส.ว. ปัตตานีประธานอนุกมธ. โลกมุสลิมฯ วุฒิ เชื่อ 'โอบาม่า' ยังเป็นความคาดหวังในการแก้ไขปัญหาในโลกมุสลิม ส่วนปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้กับการมาของโอบามาคงไม่กระทบแม้มีการกล่าวหาอเมริกันอยู่เบื้องหลัง ฟันธงเป็นเรื่องท้องถิ่นมาก แนะทางแก้ศึกษาแนวทางฟิลิปินส์ที่เน้นเจรจา ระบุ ถ้าบริหารจัดการให้ดีขึ้นปัญหาจะจบลงเอง
 
 
นายวรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ไทยกับโลกมุสลิม (ที่มาภาพ: http://news.parliament.go.th)
 
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.55 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน ได้สัมภาษณ์นายวรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ไทยกับโลกมุสลิม ถึงสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซ่าซึ่งดำเนินติดต่อกันมาเป็นวันที่ 7 นับถึงวันอังคาร (20 พ.ย.) โดยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตนับแต่วันเกิดเหตุแล้ว 136 คน ในขณะที่การเจรจาหยุดยิงในไคโร ประเทศอียิปต์ยังไม่มีข้อสรุป แต่มีทิศทางที่ดีขึ้นหลังนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีสหรัฐ เข้าไปมีส่วนในการเจรจา
 
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซ่า เราคงเข้าไปมีส่วนในการแก้ไขสถานการณ์ได้ไม่มากนัก เพราะมีมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายอยู่เบื้องหลัง คือเชื่อมโยงกับประเทศมุสลิมและประเทศมหาอำนาจด้วย คงต้องแก้ไขด้วยการทูต ซึ่งถ้าดูในประเทศอียิปต์ในขณะนี้มีผู้นำมาจากกลุ่มภราดรภาพที่ทำให้กลุ่มอื่นเกรงกลัว แต่ความจริงแล้วอียิปต์พยายามจะช่วยแก้ปัญหา และทั้งๆที่อิสราเอลเองก็มีความเกรงกลัวกลุ่มภราดรภาพนี้จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะใช้ความรุนแรง แต่การที่อิสราเอลเลือกใช้ความรุนแรงอาจจะเพราะมีความพร้อมมากกว่า สุดท้ายก็มีการตายเกิดขึ้น คนที่อยู่ข้างหลังก็ต้องสูญเสีย สิ่งเหล่านี้จะแก้ได้ก็ต้องมาจากการพูดคุยและวิถีทางทางการทูต เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือน โดยทางออกที่ประเทศมหาอำนาจได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการจัดการปัญหาอย่างชัดเจน 
 
“ส่วนประเทศไทยได้ให้จุดยืนรับรองปาเลสไตน์ในองค์การสหประชาชาติแล้ว (UN) ซึ่งทางปาเลสไตน์ได้ส่งตัวแทนมาขอบคุณประเทศไทยในชั้นกรรมาธิการ เราได้รับรองสถานะของรัฐปาเลสไตน์ที่อยู่ที่นั่น พร้อมกันนี้ก็ยังให้การรับรองอิสราเอลด้วย เพราะความขัดแย้งนี้มีเรื่องประวัติศาสตร์มายาวนาน และอิสราเอลเองยังมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก มันจึงไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาดและรุนแรง  ประเทศไทยคงยอมรับไม่ได้ต่อความรุนแรงและการฆ่ากัน” นายวรวิทย์ กล่าว
 
เมื่อผู้สื่อข่าวได้ถามถึงกรณีที่นายบารัค โอบามา ได้กลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้งจะส่งผลอย่างไรต่อความขัดแย้งในโลกมุสลิม นายวรวิทย์ ตอบว่า ท่าทีต่อประเทศอิสลามของประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องไม่ดูแค่ บารัค โอบามา แต่ให้ดูที่นโยบายของพรรค ซึ่งพรรคเดโมแครตดีกว่าพรรคริพับลิกัน เพราะจะใช้นโยบายเสรีนิยมซึ่งดูเหมือนว่าใช้กระบวนการพูดจาพูดคุยมากกว่าต่อกรณีปัญหาในประเทศมุสลิม นอกจากนี้ นายโอบามาก็เป็นความคาดหวังในการแก้ไขปัญหาพอสมควรในโลกมุสลิม ซึ่งการยึดการเจรจาพูดคุยแม้ว่าจะยากลำบากกว่าการใช้ความรุนแรงแต่ก็ไม่มีคนตาย
 
“ทางโลกมุสลิมให้ความเชื่อถือเดโมแครตมากกว่า เพราะเคยได้รับความลำบากจากสมัยของริพับลิกัน และนโยบายของเดโมแครตก็ดีกว่า ดังนั้นจะเห็นว่าการรับรองรัฐปาเลสไตน์เกิดในสมัยโอบามา ประเทศไทยก็มองที่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มองเห็นมนุษยธรรมและเห็นว่าการที่โอบามาเป็นประธานาธิบเป็นผลดีต่อประเทศมุสลิมมากกว่า” 
 
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้ถามถึงกรณีที่ นายบารัค โอบามา มาเยือนประเทศไทยว่าจะส่งผลอย่างไรหรือไม่ต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายวรวิทย์ วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า 
 
“จุดอ่อนของเราอย่างหนึ่งคือ ความหลากหลายของสังคมแบบพหุสังคม ซึ่งในประเทศเราได้รับความสนใจน้อย ดังนั้นเวลาเราพิจารณาแต่ละเรื่องมันจะแก้ปัญหาไม่ได้ถ้าเราไม่แยกแยะเรื่องเหล่านี้มาพิจารณาด้วย ในเชิงสากลสามจังหวัดมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งโดยความเป็นจริงในรัฐธรรมนูญก็รับรองอัตลักษณ์เหล่านี้ ความหลากหลายเหล่านี้ไว้แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่การปฏิบัติ ซึ่งการที่โอบามาพูดถึงปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ว่า มันไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอในการฆ่ากันตรงนี้ส่งผลโดยตรงไปถึงปัญหาโรฮิงญาในพม่า และก็ได้ส่งผลต่อโลกมุสลิมในภาพรวมด้วยว่า การฆ่ากันนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาและไม่ใช่ทางออกที่ดี ส่วนการที่มีคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวหาว่าอเมริกาอยู่เบื้องหลังความรุนแรงที่รัฐไทยพยายามกระทำต่อคนมุสลิมในสามจังหวัดนั้น ก็เหมือนกับการที่ทางการไทยพยายามจะหาว่าใครอยู่เบื้องหลังขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งสุดท้ายรัฐไทยก็หาผู้อยู่เบื้องหลังไม่ได้ เพราะความจริงแล้วมันเป็นเรื่องท้องถิ่นมากๆ เป็นปัญหาเฉพาะท้องถิ่นจริงๆ ไม่เกี่ยวกับภายนอกแต่อย่างใด ดังนั้น เราต้องศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปินส์ว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร สุดท้ายก็คือการเจรจาซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจเลย เป็นแค่การสร้างมโนคติขึ้นมา และเราไม่เคยเจอการสนับสนุนอย่างชัดเจนสักที มันเป็นเรื่องท้องถิ่นและต้องบริหารจัดการให้ดีขึ้น ปัญหามันก็จะจบลงไปเอง” 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท