Skip to main content
sharethis

หลายครั้งที่ฉันอยากเขียนหรืออยากบันทึกเรื่องราวที่พบเจอระหว่างการเดินทาง ฉันจะถามตัวเองว่า  เขียนแล้วใครจะอ่านล่ะ  ก็ทำให้นึกถึงคำพูดของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ ที่บอกกับลูกศิษย์ที่เรียนจบไปว่า “ว่างๆ เขียนอะไรมาเล่าให้ผมฟังบ้างนะ”  ฉันเองก็นึกในใจว่า “เขียนอะไรล่ะเนี่ย งานวิชาการก็ไม่ค่อยจะได้เรื่อง” แต่เมื่อคิดอีกที  “แม้แต่เนื้อหาสาระในวิทยานิพนธ์ที่แทบจะหาสาระให้ตรงกับแนวคิดที่จะใช้วิเคราะห์ไม่ค่อยได้นั้น อาจารยยังทนอ่านให้ตั้งหลายรอบ ก็แสดงว่า อาจารย์ต้องอ่านได้ทุกอย่างแน่เลย”

สำหรับการเดินทางไปประเทศศรีลังกาครั้งนี้  แว้บแรกที่นึกออกว่า ฉันจะบันทึกเรื่องราวครั้งนี้เนื่องในโอกาสอะไรดี นั่นก็คือ  “เขียนหนังสืองานศพตัวเองงัย ใครๆเขาก็ทำกัน ( แต่ต้องเก็บตังค์ให้พวกเขาไว้พิมพ์เป็นหนังสือด้วย) ”  แต่เมื่อได้สัมผัสกับเรื่องราวประจำวันที่ประทศศรีลังกาแล้ว ฉันก็พบว่า เรื่องราวว่าด้วย  "ฉัน" กับ "ความเป็นพุทธ" ซึ่งเป็นประเด็นที่ฉันเคยหยิบยกไปคุญกับอาจารย์ฉลาดชายในช่วงที่เก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ความทุกข์ทางสังคมของผู้หญิงมอแกลน หลังสึนามิ”  วันนั้นฉันเล่าให้อาจารย์ฉลาดชาย ฟังว่า   หลังเกิดสึนามิเพียงไม่กี่วัน เหล่าองค์กรช่วยเหลือซึ่งรวมถึงองค์กรทางศาสนาโดยเฉพาะศาสนาคริสต์ต่างก็มุ่งหน้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน จนทำให้เจ้าอาวาสวัดหนึ่งในพื้นที่นั้นเปรยๆ ออกมาว่า “ต่อไปถนนเส้นนี้คงเต็มไปด้วยโบสถ์คริสต์” และฉันก็สนทนากลับไปด้วยคำตอบที่ว่า “ก็ศาสนาพุทธสอนให้ท่องอะไรก็ไม่รู้ ท่องไปก็ไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอย่างไร คนอาจจะเลือกทางที่จะทำให้ชีวิตเขามีทางออกก็ได้”    บันทึกการเดินทางครั้งนี้ฉันเลยอยากเขียนเล่าเรื่องราวว่าด้วย “ฉัน” กับ “ความเป็นพุทธ” ประสบการณ์จากศรีลังกาให้อาจารย์ฉลาดได้อ่าน(ด้วย) อีกครั้ง

การเดินทางครั้งนี้ ฉันเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้คิดจะไปเที่ยวศรีลังกาแบบไปจาริกแสวงบุญอะไร แม้ว่าส่วนหนึ่งของสถานที่ที่ฉันจะไปเยือนมีวัดมีถ้ำที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาก็ตาม  ฉากแรกที่ฉันลงจากเครื่องบินแล้วเดินออกจากทางเดินงวงช้างเข้าสู่อาคารผู้โดยสารขาเข้า ณ สนามบิน Bandaranaike   ฉันเห็น องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ อยู่ตรงทางเข้าอาคารขาเข้าผู้โดยสารต่างประเทศก่อนผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ฉันรู้สึกแปลกใจกับการต้อนรับชาวต่างชาติ (หรืออาจรวมถึงคนในประเทศด้วย) ด้วยองค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ และมีข้อห้ามว่า “ขณะถ่ายภาพคู่กับองค์พระพุทธรูป ห้ามหันหลังให้องค์พระ”  ซึ่งนอกจากเพื่อนร่วมทางจะเตือนกันเองแล้ว เพื่อนๆร่วมทางของฉันที่มีความประสงค์จะถ่ายภาพคู่องค์พระพุทธรูปก็มักจะถูกตักเตือนจากเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่นั้นๆด้วยเช่นกัน

และเหตุการณ์ที่ทั้งสร้างความประทับใจต่อมิตรภาพและความแปลกใจระหว่างการเดินทางครั้งนี้ คือ ฉันไม่คาดคิดว่าฉันจะเผชิญกับคำถามที่เชื่อมโยงกับ “ความเป็นพุทธ” ตลอดการเดินทาง  ไม่ว่าจะเป็นคำถามที่ว่า  “Are you Buddhist?” หรือ “Thailand is Buddhist country?”  หรือแม้กระทั่งการทักทายก่อนขึ้นเครื่องกลับเมืองไทยของนักศึกษาผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่ไปโต้คลื่นที่ศรีลังกาก็ยังทิ้งท้ายไว้เชื่อมโยงกับศาสนาพุทธ “หนูมาโต้คลื่น 2 สัปดาห์ แต่ไมได้ไปวัดเลยค่ะ”

หากถามว่าฉันรู้สึกอย่างไรต่อคำถาม “Are you Buddhist?”  ซึ่งฉันก็ตอบว่า “yes” ตลอดการเดินทางครั้งนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับคำตอบที่ผ่านมา ที่หากมีใครถามว่า "นับถือศาสนาอะไร" ตัวฉันเองก็ไม่เคยตอบตัวเองเหมือนกันว่า  ตกลงจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และขณะเดียวกันก็รู้สึกว่า การตอบว่า "ไม่มีศาสนา" ก็ดูเหมือนจะถูกตราว่าเป็น "สาวมั่นมากไป" ที่จะหาเหตุผลมารองรับว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น  ฉันจึงตอบได้เพียงว่า "ฉันไม่ชอบเข้าวัด ฉันไม่ชอบตักบาตร ไม่ชอบฟังเทศน์ฟังธรรม และไม่ได้ห้อยพระ"  

ครั้งแรกๆ ที่ถูกถามก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมากนัก แต่เมื่อถูกถามหลายครั้งแล้วตามด้วยการชวนท่องบทสวดมนต์ อย่าง “อิติปิโส.....” ก็ทำเอาฉันงงและแปลกใจมากขึ้น เมื่อฉันถูกถามด้วยคำถามเดียวกันจากนักพฤกษศาสตร์ ประจำสวนสมุนไพรแห่งหนึ่งของรัฐบาลซึ่งตั้งอยูบนเส้นทางจากเมือง Sigiriya ไปเมือง Kandy  และตบท้ายด้วยการท่องบทสวดอิติปิโสให้ฉันเพื่อนอีกคนฟัง  ท่าทีของเขาทำให้ฉันรู้สึกว่า "เขากำลังบอกฉันว่า เขาก็ท่องบทสวดของพุทธศาสนาได้" งั้นหรือ  ซึ่งฉันก็อดสงสัยต่อไม่ได้ว่า "ความสามารถในการท่องบทสวดนี้เป็นความสามารถพิเศษหรือเป็นเขากำลังบอกอะไรกับฉันกันแน่”  และเมื่อย้อนกลับมาเปรียบเทียบกับคนไทยที่ถูกสอนให้ท่องจำทุกวันว่า “เมืองไทยคือเมืองพุทธ" นั้นมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีใครอยากท่องอยากอวดความสามารถนี้แก่เพื่อนหรือนักท่องคนต่างชาติเลย”

วันต่อมา ฉันและเพื่อนร่วมทางอีก 5 คน เดินทางด้วยรถไฟจากเมืองแคนดี้ ศรีลังกา ไป Ella ตลอดเส้นทาง ราว 8 ชั่วโมง ในตู้รถไฟ ชั้นfirst class ที่มีต้นทางจากเมืองโคลัมโบ ใครจะคิดบ้างล่ะว่า บทสนทนาว่าด้วยบทสวดมนต์จะเกิดขึ้นในตู้รถไฟขณะเดินทางบนเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่สร้างโดยรัฐบาลอังกฤษในยุคที่อังกฤษครอบครองศรีลังกา  เส้นทางรถไฟที่นักท่องเที่ยวมุ่งหน้ามาชมอุโมงค์ 42 อุโมงค์และวิวสองข้างทางที่เต็มไปด้วยเนินเขาและไร่ชา ท่ามกลางความหนาวเย็นของอากาศช่วงปลายฝนต้นหนาว ตู้รถไฟที่ฉันนั่งมีคนศรีลังกานั่งมาเกือบเต็มตู้แล้ว ที่นั่งของฉันอยู่ใกล้กับที่ชาวศรีลังกาสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่รู้ภายหลังว่าเป็นนักศึกษาจากโคลัมโบที่ชวนกันมาเที่ยว อีกกลุ่มหนึ่งมาเป็นครอบครัว ความสนิทสนมของคนเหล่านี้ทำให้ฉันและเพื่อนเกิดรู้สึกเอาเองว่า พวกเขาเป็นญาติพี่น้องกัน ซึ่งมารู้ภายหลังก่อนที่จะแยกย้ายจากกันเมื่อแต่ละกลุ่ม แต่ละครอบครัวถึงที่หมายว่า พวกเขาเพิ่งรู้จักกันหลังจากก้าวเข้ามาในตู้รถไฟขบวนนี้

ฉันเริ่มคุยกับ “กาญจนา”  หญิงชาวสิงหล รุ่นราวคราวเดียวกับฉัน ที่เปลี่ยนตัวเองจากพนักงานเย็บรองเท้ามาเป็นแม่บ้านหลังจากที่เธอแต่งงาน เมื่อ 10 ปีที่แล้ว  หลังจากที่เธอคะยั้นคะยอให้กินอาหารท้องถิ่นที่เธอจัดเตรียมมาสำหรับตัวเธอ สามี และลูกสาวอีก 2 คนที่มาจากโคลัมโบเพื่อไปพิกนิคช่วงปิดเทอมที่เมือง Badulla ฉันก็พยายามบอกว่า ฉันเพิ่งกินข้าวเที่ยงมา แต่ฉันก็กินหมดจานที่เธอตักให้ 

จากนั้นเธอถามฉันว่า  “Are you Buddhist?”  ฉันเริ่มรู้สึกอึดอัดกับคำถามนี้ แต่จะตอบว่า “เป็นพุทธเฉพาะในบัตรประชาชน” ก็คิดประโยคภาษาอังกฤษไม่ออก เลยได้แต่ตอบว่า “yes”  และแล้วเธอก็พิสูจน์ “ความเป็นพุทธ” ของฉันด้วยการชวนท่องบทสวด อิติปิโส.....แบบเดียวกันกับนักพฤกษศาสตร์คนนั้นพิสูจน์ให้ฉันเห็นว่า เขาคือ “พุทธศาสนิกชน”  ณ เวลานั้น ความทรงจำตอน ม. 4 วิชาพุทธศาสนาของ อ.ดิเรก ก็ผุดขึ้นมา เราท่องกันจนจบ และเต็มไปด้วยรอยยิ้มของคนนั่งข้างๆ แต่ดูเหมือนความสุขของเพื่อนใหม่อย่างกาญจนาจะไม่จบลงที่บทสวดอิติปิโส เธอยังชักชวนเพื่อนร่วมทางของฉันอีก 2 คนมาร่วมท่องบทสวดด้วย และชักชวนให้ท่องบทสวดมนต์ที่ชื่นชอบ พี่คนหนึ่งก็เดินไปควักหนังสือสวดมนต์ที่พกติดตัวมาด้วย และพยายามอ่านบทสวดนั้นให้กาญจนาฟัง....

สำหรับฉันแล้ว สิ่งเหล่านี้ มันคือการท่องบทสวดตามที่เคยท่องจำสมัยเรียนมัธยมเท่านั้น โดยที่ฉันจำไม่ได้ว่า มีความหมายอย่างไร สำคัญอย่างไร แล้วเหตุใดคนที่นี่เขาย้ำนักย้ำหนากันล่ะ โดยเฉพาะกาญจนา คำตอบของเธอทำให้ฉันทั้งแปลกใจและสงสัย เพราะแม้แต่เรื่องที่ฉันชมว่าลูกสาวคนโตของเธอน่ารักมากมีมนุษยสัมพันธ์ดี เดินทักทายและหยิบยื่นขนมให้ผู้โดยสารทั้งตู้เลย เธอก็ยังตอบว่า “ฉันให้ลูกสาวของฉันสวดมนต์ทุกเช้า การสวดมนต์จะทำให้ชีวิตครอบครัวเรามีความสุข”

และเมื่อฉันไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งปลายทาง ฉันก็พบว่า “ความเป็นพุทธศาสนิกชน” ของคนที่นี่ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน เพราะราว 6 โมงเช้า เมื่อฉันตื่นขึ้นมา ก็จะได้ยินเสียงสวดมนต์บทอิติปิโส... และเมื่อเดินตามเสียงนั้นไปก็พบศาลาที่มีองค์พระพุทธรูปอยู่ด้านใน และข้างๆ ศาลามีศาลาเล็กๆ ที่มีองค์พระพิฆเนศ  ที่มีผู้คนที่ทั้งเดินผ่านแวะเข้าไปเคารพองค์พระพุทธรูป ส่วนคนที่ขับรถผ่านมาก็จะหยุดแสดงความศรัทธาต่อรูปเคารพที่แต่ละคนนับถือ ....ประสบการณ์ “ความเป็นพุทธ” ของคนที่นี่ช่างแตกต่างจากประสบการณ์ชีวิตของฉันที่ “ความเป็นพุทธศาสนิกชน” มีอยู่เฉพาะในชั่วโมงเรียนวิชาพุทธศาสนาเท่านั้น

ฉันก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า เหตุใดคนในประเทศแห่งนี้อย่างน้อย 4-5 คนที่ฉันคุยด้วยจึงเลือกที่จะแสดงตัวตน “ความเป็นพุทธ” ด้วยการแสดงความสามารถในการท่องบทสวดมนต์ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ฉันเกิดความรู้สึกว่า “เราเป็นพวกเดียวกัน” บนฐาน “ความเป็นพุทธ” ที่ท่อง (มิใช่อ่าน) บทสวดมนต์ได้  แต่ก็มีบางช่วงขณะบางเหตุการณ์ที่ทำให้ฉันรู้สึกอึดอัดแทนเพื่อนร่วมทางของฉันคนหนึ่งที่ถูกตามตื้อโดยคนขายพระพุทธรูปองค์เล็ก ณ สถานที่ท่องเที่ยว จนฉันคิดในใจว่า ถ้าฉันบอกไปว่า  " I' m not Buddhist. เนี่ยจะเกิดอะไรขึ้น...ซึ่งฉันก็ได้แต่คิดในใจ.....

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net