Skip to main content
sharethis

รวมประกาศ ศอ.รส. ฉบับที่ 1-4 ลงนามโดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.ศอ.รส.)


ประกาศ ศอ.รส.ฉบับที่ 1/2555
เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด
ลงวันที่ 22 พ.ย.55
1. ห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด เข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ และอาคารทำเนียบ รัฐบาล และรัฐสภา เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาต หรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 
2. ห้ามบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด เข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ผู้ซึ่งได้รับอนุญาต หรือได้รับคำสั่งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 

ก.ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สะพานมัฆวาน ถึงแยกถนนศรีอยุธยา
ข.ถนนลูกหลวงตั้งแต่สะพานวิศุกรรมนฤมาณ ถึงสะพานเทวกรรม 
ค.ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกวังแดง ถึงแยกพาณิชย์
ง.ถนนนครปฐม ตั้งแต่สะพานอรทัย ถึงแยกวัดเบญจมบพิตร 
จ.ถนนพระราม 5 ตั้งแต่แยกพาณิชย์ ถึงถนนลูกหลวง
ฉ.ถนนลิขิต
ช.ถนนราชวิถี ตั้งแต่แยกการเรือนถึงแยกราชวิถี ซ.ถนนพิชัย ตั้งแต่แยกขัตติยานี ถึงถนนราชวิถี
ญ.ถนนอู่ทองใน  ตั้งแต่แยกอู่ทองใน ถึงลานพระราชวังดุสิต ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า

3.ให้ ผอ.รมน. ผอ.ศอ.รส. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้


ประกาศ ศอ.รส. ฉบับที่ 2/2555 
เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ
ลงวันที่ 22 พ.ย.55
1. ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมดังนี้  เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ 
ก.ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่สะพานมัฆวาน ถึงแยกถนนศรีอยุธยา
ข.ถนนลูกหลวงตั้งแต่สะพานวิศุกรรมนฤมาณ ถึงสะพานเทวกรรม 
ค.ถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกวังแดง ถึงแยกพาณิชย์
ง.ถนนนครปฐม ตั้งแต่สะพานอรทัย ถึงแยกวัดเบญจมบพิตร 
จ.ถนนพระราม 5 ตั้งแต่แยกพาณิชย์ ถึงถนนลูกหลวง
ฉ.ถนนลิขิต
ช.ถนนราชวิถี ตั้งแต่แยกการเรือนถึงแยกราชวิถี
ซ.ถนนพิชัย ตั้งแต่แยกขัตติยานี ถึงถนนราชวิถี
ญ.ถนนอู่ทองใน  ตั้งแต่แยกอู่ทองใน ถึงลานพระราชวังดุสิต ด้านหลังพระบรมรูปทรงม้า


2.ห้ามใช้ยานพาหนะใดๆ กระทำการอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แก่ประชาชน หรือกระทำการยั่วยุหรือปั่นป่วนการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงาน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่หรือความสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ตามข้อ 1

3.ห้ามนำรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊ส สารเคมี หรือวัตถุอัตรายใดๆ เข้าไปในพื้นที่ตามข้อ 1 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 

4.ให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊สในพื้นที่ตามข้อ 1  ควบคุมการเก็บรักษาน้ำมัน แก๊ส และรถบรรทุกสิ่งดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม ปลอดภัย

5.ห้ามมิให้จอดยานพาหนะกีดขวางการจราจรในพื้นที่ตามข้อ 1

6.ให้ผอ.รมน. ผอ.ศอ.รส. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้

      
ประกาศ ศอ.รส.ฉบับที่ 3/2555
เรื่องห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
ลงวันที่ 22 พ.ย.55
1.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
2.ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนำสิ่งใดที่อาจนำมาใช้ได้อย่างอาวุธ เช่นหนังสติ๊ก ลูกเหล็ก ท่อนเหล็ก ดอกไม้เพลิง หรือสิ่งอื่นใดทำนองเดียวกันที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ของบุคคลใด รวมถึงเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน หรือทางราชการ ในพื้นที่ ที่ประกาศเป็นพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (เขตดุสิต พระนคร และป้องปราบศัตรพ่าย)
3.ให้ ผอ.รมน. ผอ.ศอ.รส. หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้ โดยให้ประกาศมีผลตั้งแต่ออกประกาศ (22 พ.ย.55)


ประกาศ ศอ.รส. ฉบับที่ 4/2555
เรื่องห้ามการใช้ยานพาหนะในเส้นทางคมนาคม
ลงวันที่ 23 พ.ย.55

ตามที่ได้มีการประกาศให้เขตพื้นที่ดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฎเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555และมีข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่ง พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควรนั้น

เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ในพื้นที่ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประสิทธิภาพ สามารถป้องกันและควบคุมไม่ให้สถานการณ์ขยายลุกลาม จนเกิดความารุนแรงเกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ  อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และวรรคสามของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรพ.ศ. 2551 ผู้อำนวยนการศูฯย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยจึงออกประกาศกำหนดดังนี้

1. ห้ามการใช้ยานพาหนะในเส้นทางคมนาคมดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ก.ถนนศรีอยุธยาตั้งแต่สะพานวัดเบญจมบพิตร ถึงแยกกองพล 1
ข.ลานพระราชวังดุสิต

2. ห้ามมิให้จอดยานพาหนะทุกชนิดกีดขวางการจราจรในพื้นที่ตามข้อ 1
3. ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรหรือเทียบเท่าเป็นผู้ดำเนินการตามประกาศนี้
4. ประกาศกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

 

แผนปฏิบัติการ "ศอ.รส." รับมือการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม

มติชนออนไลน์รายงานว่า พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และเลขาธิการ ศอ.รอ. แถลงแนวทางการปฏิบัติของ ศอ.รส.ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 24 พฤศจิกายน โดยเนื่องจากการชุมนุมในครั้งนี้ ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงไม่ใช้แผนกรกฎ 52 แต่ ศอ.รส.ได้ออกแผนปฏิบัติการที่ 1/2555 เป็นหลักในการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่

1.ขั้นเตรียมการจะเป็นขั้นที่ดำเนินการก่อนการชุมนุม โดยดำเนินการด้านการข่าว การเตรียมการด้านกำลังพล การจัดเตรียมสถานที่ควบคุมกรณีเหตุการณ์บานปลาย การเตรียมการด้านแผนต่างๆ ที่สำคัญ

2.ขั้นการเผชิญเหตุจะเป็นขั้นที่ดำเนินการขณะชุมนุม โดยยึดถือแนวทางตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ระบุให้ตำรวจท้องที่เข้ารักษาความสงบบริเวณที่ชุมนุมและใกล้เคียง ดำเนินการรักษาความปลอดภัยสถานที่และบุคคลสำคัญ ใช้ศูนย์ปฏิบัติการทุกระดับ ในการติดตาม ควบคุม และสั่งการ ชี้แจงทำความเข้าใจต่อแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมให้ทราบถึงขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดำรงการเจรจาต่อรอง เพื่อคลี่คลายสถานการณ์

3.ขั้นการใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์จะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ 22-30 พฤศจิกายน โดยแจ้งเตือนและเจรจากับผู้ชุมนุม เพื่อป้องกันการปลุกระดมและสร้างความวุ่นวาย พร้อมทั้งปฏิบัติการข่าวสารควบคู่กับการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน เมื่อการเจรจาต่อรองหรือการปฏิบัติการอื่นใดไม่เป็นผล สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์พิจารณาสั่งใช้กำลังเข้าแก้ไขสถานการณ์และรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผ่านศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ทราบทันที และการใช้กำลังให้ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลังในการควบคุมฝูงชน

4.ขั้นการฟื้นฟู เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการหลังการชุมนุม โดยจะดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด การฟื้นฟู เยียวยาการจัดทำรายงานภายหลังการปฏิบัติ และบทเรียนจากการปฏิบัติงาน และชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชน

สำหรับกฎการใช้กำลังตำรวจต้องพึงระลึกและยึดถือรัฐธรรมนูญว่า การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายโดยมีแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้ 1.ต้องพิจารณาถึงความชอบธรรมในการใช้กำลังตามที่กฎหมายกำหนด 2.ยึดหลักในการคุ้มครองเสรีภาพและหลักในการรักษาความสงบเรียบร้อย 3.การใช้กำลังตามกฎนี้ให้หมายความรวมถึงการใช้อุปกรณ์หรืออาวุธประกอบการใช้กำลังด้วย และ 4.การจัดการเมื่อมีการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ตำรวจจะต้องดำเนินการจัดการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ หลักการใช้กำลังของตำรวจที่ควบคุมฝูงชนที่มีผลต่อชีวิตร่างกายตำรวจต้องคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ หลักแห่งความจำเป็นให้ตำรวจใช้กำลังเท่าที่จำเป็น พยายามใช้วิธีการอื่นเท่าที่สามารถทำได้ก่อน เลือกวิธีการใช้กำลังที่เบาที่สุด (เป็นอันตรายต่อผู้ชุมนุมน้อยที่สุด) และหากผู้ชุมนุมลดหรือยุติความรุนแรง ต้องลดระดับหรือยุติระดับกำลังด้วย หลักแห่งความได้สัดส่วน ให้ใช้วิธีการและกำลังที่เหมาะสม สอดคล้องกับภยันตรายที่คุกคามเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น หลักความถูกต้องตามกฎหมายให้พิจารณาใช้กำลังและเครื่องมือ หรือยุทโธปกรณ์ตามที่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือตามหลักสากลกำหนด และหลักความรับผิดชอบให้พิจารณาถึงผลที่เกิดจากการใช้กำลังโดยต้องมีผู้รับผิดชอบในการสั่งการ

ตำรวจต้องใช้กำลังตามระดับความรุนแรงของผู้ชุมนุมหรือได้สัดส่วนกับความรุนแรงที่คุกคาม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิผล ตามภัยคุกคามหรือความรุนแรงของผู้ชุมนุมดังนี้ 1.ผู้ชุมนุมโดยสงบ ให้ตำรวจดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ด้วยการแสดงกำลัง การเจรจา ให้ข้อมูลข่าวสาร หรือชักจูงแนะนำ 2.ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำแนะนำของตำรวจในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่มีพฤติการณ์ก้าวร้าวหรือก่อเหตุ หรือกระทำผิดกฎหมายเล็กน้อย ให้ตำรวจแสดงกำลัง หรือใช้วิธีการในการเจรจาหรือดำเนินกลยุทธ์กดดันผู้ชุมนุม (Offensive Movement) ที่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิดเล็กน้อย หรือการก่อเหตุนั้นๆ หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ประกอบก็ให้ใช้อุปกรณ์ที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต 3.สถานการณ์การชุมนุมที่ไม่สงบหรือมีอาวุธหรือมีการก่อเหตุวุ่นวาย ทำร้ายตำรวจหรือบุคคลอื่น ให้ตำรวจพิจารณาใช้กำลังและเครื่องมือที่เหมาะสมในรูปแบบที่เป็นระดับที่สูงขึ้นเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ การใช้กำลังที่อาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ชุมนุม ได้แก่ การใช้แก๊สน้ำตา หรือเครื่องเปล่งเสียงความถี่สูง การใช้กำลังผลักดัน การใช้น้ำฉีดแรงดันสูง และการยิงกระสุนยาง ต้องมีการประกาศแจ้งเตือนผู้ชุมนุมก่อนทุกครั้ง และให้เวลาพอสมควรเพื่อให้ ผู้ชุมนุมสามารถปฏิบัติตามคำเตือนได้ทันเว้นแต่ไม่สามารถประกาศเตือนได้ก่อนหรือหากไม่ใช้กำลังเช่นว่านั้นในทันทีทันใดจะเกิดภัยอันตรายต่อบุคคล สถานที่ หรือทรัพย์สิน

แนวทางการปฏิบัติหลังการใช้กำลัง เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะต้องดำเนินการ คือ 1.การช่วยเหลือทางการแพทย์ โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บต้องได้รับการปฐมพยาบาล และรีบส่งไปรับการรักษาพยาบาลตามความจำเป็นรวมทั้งแจ้งญาติให้รับทราบ 2.การบันทึกและการรายงาน หน่วยจะต้องบันทึกรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งหมดและรายงานตามสายการบังคับบัญชาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 3.การปฏิบัติต่อพื้นที่เกิดเหตุ ให้ปิดกั้นบริเวณพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ ไว้จนกระทั่งมีการดำเนินการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรวบรวมหลักฐานสำหรับใช้ดำเนินการทางกฎหมายต่อไป 4.โดยถือปฏิบัติด้วยความมีมนุษยธรรมและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ศอ.รส.มีข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คือ 1.ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ มีคำสั่ง หรือเป็นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินการ เพื่อป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

2.ห้ามบุคคลใดเข้าหรือต้องออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายในระยะเวลาปฏิบัติหน้าที่ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลที่มีประกาศของบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น

3.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน 4.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะหรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด

5.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามชนิด ประเภทลักษณะการใช้หรือภายในเขตบริเวณพื้นที่ที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการ ประกาศกำหนด เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net