Skip to main content
sharethis

นักวิจัยทีดีอาร์ไอเสนอ เพื่อให้ไทยรับมือกับประชาคมศก.อาเซียน นอกจากต้องปรับปรุงกฎหมายในประเทศ ยังต้องพัฒนาฝีมือแรงงานภาคบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และต้องเปิดเสรี-ลดการผูกขาดบริการที่สนับสนุนธุรกิจ เช่น พลังงาน การเงิน และโทรคมนาคม 

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 55 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ในหัวข้อ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย"  ในงาน มีการนำเสนอรายงานวิจัยในหัวข้อ "AEC กับการปฏิรูปสาขาบริการ" โดยดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เสนอว่า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน นอกจากจำเป็นต้องปรับปรุง แก้ไขกฎหมายภายในประเทศแล้ว ยังจำเป็นต้องพัฒนาฝีมือแรงงานภาคบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และต้องเปิดเสรีและลดการผูกขาดสาขาบริการที่สนับสนุนธุรกิจ เช่น พลังงาน และโทรคมนาคม 

 
"มายาคติและข้อเท็จจริง" - การเปิดเสรีภาคบริการมีมาแล้วตั้งแต่ 2539
 
ดร. เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า มายาคติที่เข้าใจกันทั่วไปโดยเฉพาะจากการรายงานของสื่อ มักเข้าใจว่าภายในปี 2558 ทุกสาขาของการบริการจะสามารถเข้ามาแข่งขันได้อย่างเสรี คล้ายกับการเปิดเสรีของสหภาพยุโรป แต่ความจริงแล้ว กรอบการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC มิได้มีข้อผูกพันทางกฎหมายในตัวมันเอง ต่างจาก FTA หรือการเจรจาอื่นๆ ในอดีต แต่เป็นการกำหนด Roadmap เพื่อให้การเจรจาการเปิดเสรีมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน และหากไม่ทำตาม ก็จะไม่มีบทลงโทษ นอกจากนี้ ก็มิได้เปิดเสรีเต็มรูปแบบเหมือนในสหภาพยุโรป 
 
เดือนเด่นกล่าวถึงที่มาของข้อตกลงการเปิดเสรีในอาเซียนว่า ที่จริงมีมานานแล้ว โดยมีการเจรจาการค้าบริการในอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services หรือ AFAS) เกิดขึ้นเมื่อปี 2539 ซึ่งมีข้อผูกมัดตามกฎหมาย  โดยเป็นตามรูปแบบของ request/offer เป็นการเปิดเสรีระหว่างประเทศที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญโดยสามารถกำหนดเฉพาะประเทศที่พร้อมก็ได้ แต่ในความเป็นจริง ในประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นไปได้ยากที่จะเปิดเสรีทางด้านบริการระหว่างกัน เพราะยังไม่ใช่กลุ่มผลประโยชน์ของซึ่งกันและกันโดยตรง  ทำให้ 17 ปีที่ผ่านมา กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย จึงได้มีการกำหนด Roadmap ของ AEC ซึ่งกำหนดเป้าหมายและเงื่อนเวลาในการเปิดเสรีดังกล่าว 
 
ในทางปฏิบัติ จึงต้องนำกรอบข้อตกลง AEC ไปปฏิบัติผ่าน AFAS เพื่อทำให้มีข้อผูกพันตามกฎหมาย แต่ตามตารางการปฏิบัติ จะเห็นว่าประเทศไทยได้ล่าช้ากว่ากำหนดไปแล้วกว่า 4 ปี เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายในประเทศที่ยังเป็นอุปสรรค ดังนั้น การเปิดเสรีผ่านทาง AFAS คงจะไม่สำเร็จก่อนปี 2017 
 
เรื่องการเปิดเสรีทางภาคบริการ จะเห็นว่ามิได้เปิดเสรีกับทุกสาขาบริการ แต่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะสาขา โดยตามข้อตกลง ประเทศไทยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่เร่งรัด ซึ่งต้องเปิดเสรีให้ต่างชาติมาถือหุ้นลงทุนร้อยละ 70 ภายในปี 2553 ได้แก่ e-อาเซียน การบริการสุขภาพ การท่องเที่ยว การขนส่งทางอากาศ​ ส่วนในภาคโลจิสติกส์ ต้องเปิดได้ร้อยละ 70 ภายในปี 2556 ส่วนภาคบริการอื่นๆ กำหนดให้เปิดร้อยละ 70 ภายในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ตามกรอบข้อตกลง มีข้อกำหนดที่ยืดหยุ่น สามารถผลัดการเจรจาไปรอบต่อไปได้หากว่ายังไม่พร้อม หรือทดแทนภาคบริการอื่นๆ ซึ่งกันและกันได้ หากว่าสาขาบริการไหนมีความพร้อมก่อน และอนุญาตให้เปิดเสรีก่อนเฉพาะประเทศที่พร้อมได้ ซึ่งมีความคลุมเครือและข้อจำกัดว่าอาจนำไปสู่ความล่าช้าในการเปิดเสรีภาคบริการอีกหลายปี 
 
เดือนเด่นชี้ให้เห็นถึงข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่แย่ที่สุดในอาเซียนในแง่การขยายการถือหุ้น โดยที่ผ่านมา การขยายการถือครองหุ้นจากต่างชาติเพื่อการเปิดเสรี ได้ล่าช้าไปแล้ว 4 ปี เนื่องจาก พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้ห้ามชาวต่างชาติการถือครองหุ้นในธุรกิจเกินร้อยละ 49 ในทุกสาขาบริการ ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังมีอุปสรรคในประเทศต่อการเปิดเสรี ต่างจากบางประเทศ อย่างสิงคโปร์ที่เปิดเสรีเต็มที่แล้ว หรือมาเลเซียห้ามเฉพาะในบางสาขาบริการเท่านั้น 
 
ทั้งนี้ ข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 8 ของประเทศไทย ที่จะใช้ในปี 2559 ประกอบด้วย การบริการโรงแรมการท่องเที่ยว  การบริการด้านสุขภาพ การให้คำปรึกษาด้านโทรคมนาคม และบริการโทรคมนาคม แต่ด้านโทรคมนาคม กลับจำกัดอยู่ที่บริการโทรเลขและโทรสาร ซึ่งจะเห็นว่าเป็นสาขาบริการที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างน้อยมาก จึงสรุปได้ว่า ประเทศในอาเซียนยังไม่สามารถเปิดเสรีตามโรดแมพที่กำหนดไว้ได้ ยกเว้นประเทศสิงคโปร์เท่านั้นที่สามารถบรรลุได้ตามเป้าหมาย ส่วนประเทศไทยก็มิได้มีนโยบายในประเทศที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์เพื่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการเปิดเสรีภาคบริการในอาเซียนตามโรดแมพปี 2558 ถือว่าค่อนข้างเป็นไปได้น้อยมาก
 
"โอกาส" - ถ้าไม่แก้เรื่องการถือหุ้นของต่างชาติในภาคบริการ อาจตกขบวนรถไฟ
 
เดือนเด่นอธิบายว่า อาเซียนมีฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดลำดับที่ 6 ของโลก เป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญโดยมีทุนมุ่งมาภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อดูอย่างใกล้ชิดในกรณีของประเทศไทย จะเห็นว่า ส่วนแบ่ง การลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment - FDI) กลับน้อยกว่าจีดีพีของประเทศเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ การลงทุนในอาเซียน ถึงแม้ว่าไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสอง แต่กลับมีการลงทุนในอาเซียนค่อนข้างน้อยมาก สิงคโปร์ต่างหากที่เป็นผู้ลงทุนขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ 
 
จากสถิติ ชี้ว่า บริษัทข้ามชาติในไทยใช้สิงคโปร์เป็น "ทางผ่าน" ในการลงทุน โดยมีการตั้งสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ และเมื่อยิ่งเปิดเสรีภาคบริการในปี 2558 แล้ว คาดว่าทุนจะยิ่งกระจุกตัวที่สิงคโปร์มากขึ้นเพราะทุนต่างชาติจะใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการมาลงทุนที่ประเทศไทย และมิใช่เพียงผู้ลงทุนจากสิงคโปร์เท่านั้น แต่รวมถึงผู้ลงทุนจากยุโรปและสหรัฐที่จะมาเปิดฐานที่สิงคโปร์ด้วย เนื่องจากเป็นประเทศที่เปิดเสรีในภาคบริการมากที่สุด 
 
"ฉะนั้นเมื่อเปิดเสรีแล้ว สิงคโปร์จะกลายเป็น Hub (ดุมล้อ) ของการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น และเราจะเป็น spoke (ซี่ล้อ) เท่านั้นเองจากตัวเลขที่แสดงให้เห็น" เดือนเด่นกล่าว
 
นอกจากนี้ เธอยังชี้ให้เห็นว่า การลงทุนจะมาลงที่ภาคบริการมากขึ้น แต่ประเทศไทยกลับจำกัดการถือหุ้นของต่างชาติในภาคบริการที่ร้อยละ 49 แต่ภาคอุตสาหกรรมกลับเปิดการถือหุ้นของต่างชาติให้ 100% เต็มที่ ทำให้นโยบายและโครงสร้างการลงทุนไม่สอดคล้องกับทิศทางการลงทุนจากต่างชาติที่จะเข้ามา ซึ่งประเทศไทยยังไม่เห็นภาพรวมตรงนี้ ทำให้เสียโอกาสในการได้รับการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีในภาคบริการจากต่างประเทศ 
 
"ความท้าทาย" - ต้องพัฒนาคุณภาพแรงงานภาคบริการให้มีประสิทธิภาพ  
 
ด้านประสิทธิภาพแรงงานในภาคการผลิตและบริการในประเทศไทย เดือนเด่นกล่าวว่า คุณภาพแรงงานถือว่ายังต่ำ โดยหากจัดอันดับคุณภาพของบริการในอาเซียน อาทิ การเงิน พลังงาน การสื่อสาร ไทยอยู่ที่อันดับ 3 และจากสถิติได้ชี้ให้เห็นว่า คุณภาพของแรงงานไทยภาคบริการ กลับมีประสิทธิภาพน้อยกว่าภาคการผลิตราวสองเท่าตัว นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งภาคบริการคิดเป็นราวร้อยละ 50 ของจีดีพี 
 
"นี่คือโครงสร้างของประเทศที่ไม่พัฒนา หากเราอยากจะหลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มันเป็นไปไม่ได้หากเรายังมีคุณภาพแรงงานของภาคบริการที่ไม่ถึงครึ่งของภาคอุตสาหกรรม" เดือนเด่นระบุ
 
ในส่วนของโทรคมนาคม เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนแล้ว ค่าโทรศัพท์ของไทยสูงที่สุดอันดับสี่ในอาเซียน ทำให้เห็นว่าเรามีต้นทุนที่สูงพอสมควร ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอื่นๆ ที่มาลงทุนในประเทศไทย ทำให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออก ไม่ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ ต้องแบกต้นทุนจากภาคบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร 
 
"ข้อเสนอแนะ" - เปิดเสรีภาคบริการที่สนับสนุนธุรกิจ และแก้กฎหมายภายใน 
 
เดือนเด่นกล่าวว่า ประเทศไทย ควรเปิดเสรีภาคบริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น โทรคมนาคม พลังงาน สถาบันการเงิน การขนส่ง และบริการที่มีลักษณะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด เช่น ไฟฟ้า พลังงาน และโทรคมนาคม 
 
เธอกล่าวว่า ตราบใดที่กฎหมายภายในประเทศยังไม่มีการปรับปรุง และธุรกิจยังมีการผูกขาดอยู่ การเปิดเสรีอาเซียนก็ไม่มีความหมาย เพราะไทยไม่เอื้อสำหรับการเข้ามาถือหุ้น และยกตัวอย่างที่กสทช. ได้ประกาศข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2555 ทำให้ต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนในด้านโทรคมนาคม 
 
เช่นเดียวกับท่อก๊าซ ที่ตอนนี้ผูกขาดโดยปตท. และกฟผ. ต่างชาติก็ไม่สามารถเข้ามาลงทุนในสาขานี้ได้ ทำให้เออีซีไม่มีความหมาย สิ่งที่ต้องมีคือกฎหมายในประเทศที่ลดการผูกขาด และเอื้อให้การใช้โครงข่ายในประเทศได้อย่างเสรีและเป็นธรรม 
 
ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวย้ำว่า ภาคบริการจำเป็นต้องปฏิรูป เพราะถึงร้อยละ 45 ของประชากรไทยอยู่ในภาคบริการ โดยต้องทำให้แรงงานมีคุณภาพ เพื่อให้อัตราขยายตัวของภาคบริการสูงขึ้นให้ถึงร้อยละ 5-6 เและให้สามารถหลุดออกจากกับดักที่มีประเทศรายได้ปานกลางได้
 
สรุปข้อเสนอแนะในการเปิดเสรีภาคบริการ คือ ไทยควรมีโรดแมพของตนเอง และแทนที่จะทำตามข้อกำหนดจากต่างประเทศ เช่น AEC หรือ TPP นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อไม่ปิดกั้นในการเปิดเสรีภาคบริการ และคุ้มครองสาขาบริการบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของเศรษฐกิจส่วนรวม มิใช่ของผู้ประกอบการธุรกิจนั้นๆ นอกจากนี้ ยังควรเร่งปรับปรุงกฎระเบียบภายในที่ไม่จูงใจการลงทุนจากต่างประเทศ และทบทวนนโยบายการลงทุนที่เน้นเพียงธุรกิจอุตสาหกรรม อย่างสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ปัจจุบันสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net