Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าวในมุมของนิธิ[1] ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสังคมผ่านชาวนาซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เสียเปรียบมาตลอด   แต่ในมุมของนิพนธ์ และอัมมารคือ การทำลายยุทธศาสตร์การค้าข้าวคุณภาพดีเพื่อการบริโภคและการส่งออกที่สั่งสมมา 20 ปี  สังคมจะจัดวางทั้งสองเรื่องอย่างไร  สังคมต้องช่วยกันตอบ

ผู้เห็นด้วยกับข้อสังเกตของนิธิที่ว่า  อัตราการเปลี่ยนอาชีพของชาวนาไทยเกิดขึ้นช้า ยังมีคนที่ทำนา (หรือเกษตรอย่างอื่น) ตกค้างอยู่ถึงเกือบ 40% ของประชากร แม้ว่ารายได้ส่วนใหญ่ของเขาไม่ได้มาจากภาคเกษตรก็ตาม แต่รัฐ และสังคมจะนำเสนอมาตรการสนับสนุนอย่างไร เพื่อมิให้นโยบายประกันราคาข้าวเป็นนโยบายเหมารวม   ข้อเสนอหนึ่งที่ควรนำไปพิจารณาประกอบด้วยการสนับสนุนชาวนาด้วย (ชาวนาจน ไม่มีที่ดิน ต้องการกระจายการถือครองที่ดิน ชาวนาที่ดินน้อย ไม่พอปลูกข้าวเพื่อขาย ให้สร้างนโยบายหลักประกันพื้นฐาน และชาวนากลางถูกบิดเบือนด้วยกลไกตลาด ควรแทรกแซงกลไกตลาดด้วยโครงการจำนำข้าว)  คือ บทความ‘ชาวนา’ และ 'อัมมาร'ของประชาชน ธรรมดา[2]

การที่นิธิคาดคะเนว่า การช่วยชาวนา จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภาพของตน (การยกระดับราคาให้สูง การเพิ่มมูลค่าข้าว  ส่งเสริมกระบวนการรักษาคุณภาพให้คงทนตามที่นิธิคาดคะเน) หรือไม่ชาวนาบางส่วนก็ขยับขยายไปทำอาชีพอื่น  ทั้งหมดคือการเปิดช่องทางให้ชาวนาขยับขยาย หรือพัฒนาตนเอง   ซึ่งก็เห็นด้วย  และผู้เขียนเห็นว่าสอดคล้องกับแนวคิดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนทางสังคม (social investment) นั่นเอง  หากแต่นิธิเรียกว่า เป็นการปฏิรูปสังคม   

หากทบทวนให้ดี  ประเทศไทยเคยใช้หลักการดังกล่าวมาแล้ว ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ (ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานล่างจริง) คือโครงการเพื่อการลงทุนทางสังคม (social investment  project-SIP) และเป็นที่มาของกองทุนชุมชน (social investment fund-SIF) รวมถึงเป็นต้นธารทางความคิดของโครงการประชานิยมของรัฐบาลทักษิณในเวลาต่อมา  หากแต่ว่า...  “SIF”  นั้น รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการแทรกแซง นอกจากให้หลักการกว้าง ๆ  กระบวนการทำงานของ “SIF” เปิดให้ประชาชนในระดับล่างช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ใช้เวลาถึง 40 เดือน โดยมีองค์กรอิสระช่วยควบคุมกำกับให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากประชาชน (มีอเนก นาคะบุตร และผู้ใหญ่อีกหลายท่านเกี่ยวข้อง บทเรียน กระบวนการไปลองศึกษาดู

จากที่กล่าวมาผู้เขียนจึงเห็นว่าสิ่งที่นิธิคาดคะเนว่าจะเกิดจึงเป็นไปได้ยาก (หากยังทำแบบเดิม) เพราะรัฐดำเนินการเอง โรงสี กับประชาชนขึ้นต่อรัฐ ขาดการมีส่วนร่วม และผลการวิจัยของนิพนธ์และอัมมาร์ก็ได้สะท้อนข้อเท็จจริงยืนยันอีกทางหนึ่งแล้ว

ใช่ว่า โครงการจำนำข้าวจะต้องล้มเลิก แต่กลไก มาตรการ กระบวนการต้องรื้อปรับ ขอให้ศึกษาจากอดีตว่า แนวคิด SIF ซึ่งเกิดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารโลกให้เงินกู้เพื่อลงทุนทางสังคม กระบวนการ SIF ได้ช่วย “ก่อหวอด”ให้เกิดแนวคิดของประชาชนมีสิทธิ มีเสียง มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเองและบ้านเมือง และไปรื้อฟื้นทุนทางสังคมอีกมากมายที่มีอยู่   และหากรัฐบาลจะลงทุนทางสังคมผ่านโครงการจำนำข้าวเปลือก ต้องตอบคำถามว่า

สังคมโดยรวมจะได้อะไรบ้าง (นอกจากช่วยกลุ่มชาวนา สร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนา ซึ่งก็เห็นดีด้วย) เพื่อแลกกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น (หากข้อเท็จจริง  ที่นิพนธ์และอัมมาร์เสนอออกมาเชื่อถือได้)[3] ไม่ว่าจะเป็นการทำลายกระบวนการผลิตและการค้าข้าวของไทยที่มีคุณภาพสูงที่สุด สามารถส่งออกไปเลี้ยงพลเมืองทั่วโลก ทำลายการมีส่วนร่วมของทุกตัวละครในกระบวนการผลิตและค้าข้าว ทำลายการเปิดตลาดข้าวระดับสูงที่ภาคเอกชนไทยทำกันมานานแล้ว กำลังผันตัวเองไปทำธุรกิจค้าข้าวที่เขมร ไม่หวนกลับมาทำธุรกิจในประเทศอีก   และคาดว่า กำลังจะทำลายโรงสีชุมชนและวิสาหกิจชุมชน  ทั้งหมดนี้เรียกว่าทุนทางสังคม ?   ซึ่งกำลังกลายเป็นว่า โครงการจำนำข้าวไปทำลายทุนทางสังคมที่สะสมมา 20 ปี  มากกว่าที่จะเพิ่มทุนทางสังคม  สิ่งนี้เป็นข้อกังวลที่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน

และข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้เขียน  “เวลาที่เรานำอะไรไปจำนำ เรามักเข้าใจกันว่า ของที่ไปจำนำจะราคาต่ำกว่าความเป็นจริง แถมการไปจำนำหากไถ่คืนก็เสียดอกเบี้ย หรือให้หลุดลอยไปเลย  แต่รัฐบาลนี้กำลังทำให้เข้าใจ การจำนำ ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ขอเถอะ ใช้คำใหม่ เพื่อไม่ได้เด็ก ๆ สับสนมากไปกว่านี้”

 


 

 

 


 




[1]  “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว”กระแสทรรศน์ มติชน 5 พ.ย. 2555 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352088566&grpid&catid=12&subcatid=1200

[2] http://www.prachatai.com/journal/2012/11/43880

[3] นิพนธ์ พัวพงศกร อัมมาร สยามวาลา เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว: ข้อเท็จจริงสำหรับ อ.นิธิ และประชาชน จากhttp://www.prachatai.com/journal/2012/11/43861
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net