Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

In Time (2011) เป็นหนังฮอลลีวู้ดแนวไซไฟกำกับและเขียนบทโดย แอนดรูว์ นิคโคล และได้นักแสดงแม่เหล็กอย่างจัสติน ทิมเบอร์เลค และ อมันดา เซย์ฟรีดแสดงนำ พล็อตเรื่องหนังกล่าวถึงในอนาคตที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้าสามารถพัฒนายีนที่ทำให้มนุษย์คงสภาพความแก่ให้หยุดนิ่งที่ 25 ปี โดยไม่แก่ตาย แต่เนื่องด้วยความไม่แก่ตายนี้เป็นสาเหตุให้เกิดประชากรล้นโลกได้ หนังจึงสร้างให้เห็นภาพของความชั่วร้ายของทุนนิยม เสรีนิยมและการกระจายทรัพยการอย่างไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยการสร้างให้เวลา เป็นสกุลเงินรูปเดียวในโลกที่สามารถใช้จ่ายซื้อของ และถ่ายโอนกันได้ โดยนาฬิกาเวลาของทุกคนจะเริ่มเดินเมื่ออายุ 25 ปีโดยทุกคนมีทุนติดตัวกันเป็นเวลาคนละหนึ่งปี ซึ่งแต่ละคนไปบริหารจัดการเอง หรือหาเวลาเพิ่มจากการทำงาน ถ้าบริหารจัดการเวลาไม่ดีเวลาในข้อมือหมดเมื่อไรก็ถึงเวลาตายเมื่อนั้น  

สังคมในหนังแบ่งกันอย่างชัดเจนระหว่างคนจนกับคนรวย บรรดาคนรวยจำนวนหยิบมือ สามารถสะสมเวลามีชีวิตหรูหราในเขตเมือง และมีชีวิตยืนยาว ในขณะที่คนจนเป็นจำนวนมากยากจนหาเช้ากินค่ำเพื่อแลกกับ ค่าแรงเวลาแบบชนวันต่อวัน “คนจำนวนมากอยู่อย่างชีวิตสั้นแบบไม่ควรจะเป็น เพื่อให้คนรวยจำนวนน้อยมีชีวิตยืนยาว และนี่เป็นระบบธรรมชาติสังคม” ธีมหนังสำคัญคือประโยคข้างต้น

น่าเสียดายที่หนังเริ่มต้นค่อนข้างน่าสนใจ แต่สุดท้ายก็พัฒนาไม่สุดจนเดาออกได้ว่าหนังเป็นยังไง พระเอกเป็นคนยากจนไปปิ๊งลูกสาวเศรษฐีที่อยู่ในโอวาท พระเอกลักพาตัวมาให้เห็นอีกสังคม สุดท้ายพระเอก นางเอกจึงก่อขบถปล้นธนาคารที่พ่อนางเอกเป็นเจ้าของเพื่อแจกจ่ายเวลาแบบโรบินฮูด

ผู้เขียนบทหนังไม่ใช่คนแรกที่เสนอภาพว่า เวลา หรือความยั่งยืนของชีวิตเป็นทุนอย่างหนึ่ง เมื่อปี 1972 Michael Grossman ได้เขียนงานเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขชื่อ Demand for Health : A theoretical and Empirical Investigation งานของเขาโดยสรุปมีเนื้อหาคือ สุขภาพเป็นทุนอย่างหนึ่งที่มีการเสื่อมค่าและต้องมีการลงทุนเพื่อการชลอการเสื่อมค่าเพื่อให้มีสุขภาพและชีวิต (จำนวนเวลาที่มีชีวิตอยู่)ยาวนาน แต่ละคนมีสต็อกสุขภาพแตกต่างกันกล่าวคือ แต่ละคนมียีนที่กำหนดว่าจะมีชีวิตอยู่กี่ปี แล้วแต่ฟ้ากำหนด และค่าเสื่อมราคาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน บางคนค่าเสื่อมราคาไม่มากก็ไม่ต้องลงทุนในการดูแลสุขภาพมากเพื่อให้มีชีวิตยืนยาว ในทางตรงกันข้ามบางคนค่าเสื่อมสูงก็ต้องลงทุนมากหน่อย ในการลงทุนเพื่อสุขภาพสามารถทำได้เช่น ใช้เงินจ่ายค่ารักษา ค่ายาบำรุง หรือ การออกกำลังกายดูแลสุขภาพ ฉีดวัคซีนเป็นต้น

สุขภาพที่ดี(จำนวนวันที่มีสุขภาพดี)  นั้นแต่ละคนเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่เพื่อประโยชน์สูงสุด เช่นเอาเวลาไปเสวยสุข เอาเวลาไปทำงานเพื่อหาเงินแล้วเอาไปลงทุนยืดชีวิตต่อ สุดแล้วแต่ละคนตัดสินใจเพื่อให้ได้อรรถประโยชน์สูงสุด เช่น การเสียสละเวลาไปทำงานเพื่อหาเงิน ก็คือการเสียเวลาไปเสวยสุข และการทำงานก็อาจทำให้เสียสุขภาพ หรือการใช้จ่ายเงินเพื่อสุขภาพก็เป็นการลดงบประมาณที่จะไปใช้จ่ายอื่นๆเช่น กินเที่ยว และเมื่อเงินหมดก็ต้องทำงานเพิ่มเพื่อหาเงินมาต่อชีวิต แต่ละคนต้องชั่งน้ำหนักส่วนได้ส่วนเสียกันเอาเอง อย่างไรก็ตามการลงทุนเองก็มีข้อจำกัดซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วไม่ว่าจะลงทุนมหาศาลเท่าไรก็ไม่สามารถยืดชีวิตได้หรือตายไป  และเมื่อถึงจุดนี้ปัจเจกชนหรือหมออาจจะประเมินว่าเงินที่เสียไปมันไม่คุ้มสู้ปล่อยให้จากไปอย่างสงบดีกว่า

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตัวหนังสร้างขึ้นมาแตกต่างจากโมเดลนี้ และเห็นภาพทุนนิยมสุดโต่งคือ กรณีที่ทุกคนถูกกำหนดสต็อกสุขภาพให้เท่าๆกันหมดคือ 25+1 ปี และไม่มีค่าเสื่อมราคา ซึ่งแตกต่างจากกรอสแมนที่แต่ละคนเกิดมามีสตอกสุขภาพเริ่มต้นนั้นขึ้นอยู่กับโชค บางคนถึงแม้เกิดมายากจนก็สามารถโชคดีมีอายุยืนได้ หรือคนรวยเกิดมาอายุสั้นก็มี นับว่าเป็นการกระจายสวัสดิภาพโดยธรรมชาติโดยแท้ นอกจากนี้การทำให้สต็อกสุขภาพกลายเป็นสินค้าอย่างหนึ่งซึ่งสามารถแลกเปลี่ยน ถ่ายโอนได้ในตลาดสินค้าทั่วไป คนสามารถนำเวลาไปซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆได้ (ซึ่งของกรอสแมน สุขภาพไม่สามารถแลกเปลี่ยน ขายในตลาดสินค้าทั่วไป เช่น ถ้าเราลงทุนยืดเวลาชีวิตไปแล้ว แต่วันนึงเกิดเงินขาดมือก็ไม่สามารถนำเงินไปแลกเป็นเงินโดยตรงไม่ได้ ต้องทำงานเพื่อแลกกับเงิน ) มิหนำซ้ำแต่ละคนไม่มีจุดคริติคัลพอยน์ทที่ไม่ว่าลงทุนเท่าไรชีวิตก็ไม่ยืดขึ้นไปอีก ทุน(เวลา)ในที่นี้จึงสามารถสะสมได้มากเรื่อยๆ ยิ่งมากเท่าไรยิ่งอายุยืนเท่านั้น และมีชีวิตหรูหรามากขึ้นเท่านั้น และความวิบัติของสังคมก็ตามมา

สังคมที่หนังสร้างขึ้นเลวร้ายกว่าทุนนิยมปัจจุบันมากนัก เมื่อทุนนิยมปัจจุบันถึงแม้จะสะสมทุนมากเท่าไรก็ไม่สามารถหยุดความตายซึ่งเสมือนเป็นความเท่าเทียมสิ่งเดียวที่พระเจ้าสร้างมา หาเงินมากเท่าไรตายไปก็เอาไม่ได้และถ้าไม่มีใครสืบทอดความเป็นเจ้าของต่อ รัฐก็สามารถยึดมาเป็นเจ้าของเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะต่อไป แต่สังคมในหนังยิ่งสะสมทุนมากเท่าไรยิ่งมีชิวตยืนยาวเพื่อเสพสุขกับทุนที่มีอยู่ตลอดไป นอกจากนี้รัฐในหนังก็ทำหน้าที่เสรีนิยมแบบฉบับได้ดีเยี่ยมเมื่อ Time Keeper หรือตำรวจเวลาทำหน้าที่สืบสวนดูแล กำราบเพื่อไม่ให้เกิดการก่ออาชญากรรมในการเอาเวลาจากคนอื่นโดยผู้อื่นไม่ยินยอม ซึ่งถูกใจพวกเสรีนิยมสุดขั้วที่ให้รัฐทำหน้าที่ปกป้องกรรมสิทธิและความปลอดภัยของเอกชนเท่านั้น จะว่าไปแล้วหนังไม่ปรากฏด้วยซ้ำว่าองค์กรรัฐบาลมีหน้าตาเป็นอย่างไร และนโยบายสาธารณะที่ออกมาจากรัฐบาลเป็นอย่างไร ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชนทั้งหมด สิ่งที่กุมอำนาจในระบบสังคมคือ สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เวลาและสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าครองชีพ

ในเสรีนิยมนั้น กรรมสิทธิเอกชนสำคํญที่สุด ปัจเจกชนสามารถครอบครองผลผลิตที่เกิดจากแรงงานของตน การกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียมไม่ใช่สาระสำคํญ การกระจายจะเกิดขึ้นได้เมื่อปัจเจกชนยินยอมพร้อมใจสละทรัพยากรส่วนตัวโดยไม่มีกำลังบังคับ ดังนั้นการลดความไม่เท่าเทียมกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนอย่าง Henry Hamilton ตัวละครตอนต้นเรื่องที่มีอายุร้อยปีในสตอคโอนเวลาให้พระเอกไป หรืออย่างองค์กรการกุศลที่ทำหน้าที่บริจาคเวลาให้คนในTime Zones อย่างไรก็ตาม คนหรือองค์กรดังกล่าวมีไม่มากนักในสังคม พระเอกของเราจึงต้องทำตัวเป็นโรบินฮูดไปปล้นจากคนรวยไปให้คนจน ไม่ต่างอะไรกับองค์กรมาเฟียใน Time Zones ที่ปล้นคนอื่นเหมือนกัน เพียงแต่ว่าสิ่งที่ต่างกันคือ มาเฟียปล้นแล้วเก็บคนเดียว แต่พระเอกปล้นแล้วไปแจกจ่ายคนอื่น (ถึงแม้ว่าเก็บเงินส่วนหนึ่งที่ปล้นมาไปใช้จ่ายเสวยสุขส่วนตัว หรือ มือเติบปิดปากคนโน้นคนนี้เต็มไปหมด)

ถึงแม้โรบินฮู้ด จะปล้นเงินมาแจกจ่ายคนจน แต่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกว่าการปล้นสามารถเปลี่ยนระเบียบสังคมได้  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net