‘วันความหลากหลายทางเพศ’ จี้ออกกฎหมายรับรองสถานภาพชีวิตคู่ LGBT

กรรมการสิทธิฯ ร่วมกับหลายองค์กร ร่วมรณรงค์กำจัดอคติทางเพศ เนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยจัดเวทีสาธารณะ ‘ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ’

 
ภาพจาก: http://sapaan.org/
 
29 พ.ย.2555 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สมาคมฟ้าสีรุ้ง เครือข่ายเพื่อกะเทยไทย มูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กลุ่มสะพาน และกลุ่มบ้านเราแสนสุขใจ ร่วมจัดงานสัมมนาเรื่อง “ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” โดยมีวิทยากรจากแวดวงวิชาการ ทหาร และผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคกันในทางเพศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนต่อประเด็นดังกล่าว
 
กำเนิดวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ
 
จากกรณีที่ “สามารถ มีเจริญ” ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อความในใบรับรองผลการตรวจเลือกทหารกองเกิน (แบบ สด. 43) ใบสำคัญสำหรับคนจำพวกที่ 4 (แบบ สด. 5) และใบสำคัญ (แบบ สด. 9) ในส่วนที่ระบุว่าตน "เป็นโรคจิตถาวร" ซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความมนุษย์และทำให้เสื่อมเสียหรืออับอาย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2549
 
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สามารถเป็นผู้มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่เลือกดำเนินชีวิตเพศหญิง (เรียกกันโดยทั่วไปว่าสาวประเภทสองหรือกะเทย) ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาเพิกถอนใบสำคัญดังกล่าวของนายสามารถ เฉพาะในส่วนที่ระบุข้อความว่า "เป็นโรคจิตถาวร" และแก้ไขเป็น "ภาวะเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด" เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554[i]
 
นับว่าเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นในเรื่องการยอมรับของสังคมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศจึงได้ถือเอาวันที่ 29 พ.ย.ของทุกปีเป็น “วันสิทธิความหลากหลายทางเพศ”
 
บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกับการคัดเลือกทหารเกณฑ์
 
พันเอกไตรจักร์ นาคะไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการสัสดี กระทรวงกลาโหม อธิบายเรื่องใบรับรองผลการตรวจคัดเลือกเข้ารับราชการทหารของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศว่า ปัจจุบันจะไม่จัดผู้ที่มีเพศกำเนิดเป็นชายแต่เลือกดำเนินชีวิตเพศหญิง เป็นบุคคลจำพวกที่ 4 หรือจำพวก "พิการ ทุพพลภาพ หรือ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้" เหมือนแต่ก่อน แต่จะกลายเป็นบุคคลจำพวกที่ 2 หรือจำพวก "ไม่สมบูรณ์ดีแต่ไม่ถึงกับทุพพลภาพ"
 
ไตรจักร์กล่าวด้วยว่า บุคคลจำพวกที่ 2 ไม่ถือว่าเป็นโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหารแต่อย่างใด และยังต้องเข้ารับราชการทหารอีกด้วย ถ้าบุคคลจำพวก 1 หรือคนจำพวกร่างกายสมบูรณ์ดีนั้นมีไม่เพียงพอ
 
คำนำหน้านามและบาดแผลที่เริ่มจางหาย
 
สิริลดา โคตรพัฒน์ หรือ ดาเป็นบุคคลที่มีอวัยวะเพศกำกวม (Intersex) ขณะที่เกิดมีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง โดยแพทย์ระบุว่าเป็นเพศชาย จึงได้แจ้งเกิดว่าเป็นเพศชาย แต่ตลอดระยะเวลาที่คำนำหน้าของดาเป็น “ด.ช. หรือ นาย” นั้น ดากลับมีวิถีทางเพศอย่างเพศผู้หญิง และยังได้ผ่าตัดเป็นเพศหญิงแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ดาถูกล้อเลียน ถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการ ดายังเล่าให้ฟังว่ายังเคยเกือบถูกข่มขืนถึง 3 ครั้ง
 
แต่บาดแผลก็เริ่มจางหาย เมื่อในที่สุดดาได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมด้วยใบรับรองแพทย์ที่วินิจฉัยยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อขอให้เปลี่ยนคำนำหน้านามจาก “นาย” เป็น “นางสาว” ซึ่งก็สำเร็จด้วยดีจากความร่วมมือกันระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาจติกับกรมการปกครอง
 
อย่างไรก็ตาม ดาและเครือข่ายความหลากหลายทางเพศยังมีเป้าหมายต่อไปอีก คือการผลักดันให้มีการอนุญาตให้ผู้ที่มีเพศภาวะไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้เช่นเดียวกัน
 
อคติทางเพศที่สะท้อนผ่านการรับบริจาคเลือด
 
สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เล่าถึงครอบครัวหนึ่งซึ่งมีลูกอยู่ 4 คน ต่อมาพบว่าลูกคนหนึ่งติดเชื้อ HIV ทั้งๆ ที่ไม่มีใครในบ้านติดเชื้อ HIV เลย พอย้อนกลับไปดูก็พบว่ามีพฤติการณ์ที่โอกาสได้รับเชื้ออยู่ คือการรับบริจาคเลือด ซึ่งเป็นเลือดจากสภากาชาดไทย ที่การรับบริจาคเลือดจากสถากาชาดไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะชุดน้ำยาตรวจหาเชื้อ HIV สามารถตรวจพบเชื้อได้เฉพาะในผู้ที่ติดเชื้อมาแล้ว 16-22 วัน หมายความว่าถ้ามีผู้ได้รับเชื้อมาเพียง 2 วันก็จะไม่สามารถตรวจพบได้ว่าติดเชื้อมาแล้ว
 
สุภัทรา กล่าวด้วยว่า การคัดกรองผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ในขั้นต้นจะมีการให้กรอกแบบฟอร์มซึ่งมีคำถามทำนอง “ท่านมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่” ซึ่งเธอแสดงความคิดเห็นว่ามันไม่ได้อะไรจากการถามคำถามแบบนี้ ทำไมไม่ถามว่า “ภายใน 1 เดือน ท่านมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวยถุงยางหรือไม่” คำถามแบบนี้จะมีประสิทธิภาพในการคัดกรองมากกว่าการใช้คำถามที่มีอคติทางเพศ ซึ่งได้ตีตราแบบเหมาเข่งว่าคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เป็นผู้มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ HIV และได้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติในอีกหลายมิติ เช่นล่าสุดก็มีการไม่รับบริจาคเลือดจากกลุ่มชายรักชาย
 
กฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่จะนำไปสู่การยอมรับของสังคม
 
ช่วงบ่ายของการสัมมนา “ก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชนกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” เป็นการนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายการสมรสและข้อเสนอกฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่ โดยมีผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย ทินกิจ นุตวงษ์ นักวิจัยอิสระ, รณภูมิ สามัคคีคารมย์ นักวิชาการประจำศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล, ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ กลุ่มสะพาน, ไพศาล ลิขิตปรีชากุล มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ
 
ในเวทีดังกล่าวมีการระบุว่ากฎหมายของไทยกำหนดให้คู่สมรสต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น ทำให้ครอบครัวของผู้ที่มีเพศทางสรีระเหมือนกันไม่ได้รับการยอมรับในการใช้ชีวิตคู่ และมองว่าเป็นเรื่องอับอายและกลัวว่าจะไม่มีลูกให้สืบสกุล ซ้ำยังด่าว่า เสียดสี หรือบังคับให้บวชซึ่งถือว่าเป็นการทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง นำไปสู่ความรุนแรงอย่างกว้างขวางจากบุคคลรอบตัว การล่วงละเมิดทางเพศ ทุบตีหรือทำร้ายจนเสียชีวิตก็มีให้เห็นบ่อยครั้งในหน้าสื่อ
 
และการที่ไม่สามารถแต่งงานกันได้นี้ก็ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายและทางสังคมจากการเป็นคู่สมรสได้ เช่น สิทธิในผลประโยชน์จากการทำประกันภัย สิทธิในกรณีคู่สมรสเป็นข้าราชการ การแบ่งทรัพย์สินกันตามกฎหมายครอบครัว
 
การรณรงค์กฎหมายรับรองสถานภาพชีวิตคู่จึงไม่เพียงช่วยรับรองชีวิตคู่ของ LGBT เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นกลไกทางสังคมประการหนึ่งที่ช่วยทำลายอคติ สร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีขึ้นในตัวตนทางเพศของ LGBT[ii]  นอกจากนี้ต้องมีมาตรการทางสังคมอื่นๆ เพื่อสร้างความยอมรับของคนในสังคมต่อการใช้ชีวิตคู่ของ LGBT ซึ่งปัจจุบันมีการวางแนวทางปฏิบัติไว้แล้ว แต่ยังไม่มีคณะทำงานที่ชัดเจนและหลากหลาย
 
 
 
 

[i] ข่าวศาลปกครอง ครั้งที่ 49/2554 อ่านฉบับเต็มได้ที่ http://www.admincourt.go.th/attach/news_attach/2011/09/press13092554.pdf
 
[ii] “สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีความก้าวหน้า” เอกสารประกอบการสัมมนา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท