สาวตรี สุขศรี: บทเรียนจากคำพิพากษายกฟ้องคดี 112 (คดีสุรภักดิ์)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เกริ่นนำ

หลายคนที่ติดตามสถานการณ์หรือสังเกตการณ์กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยอยู่ คงรู้สึกสงสัย หรือตั้งคำถามในใจว่า เป็นไปได้ด้วยหรือที่การยกฟ้องจำเลยในคดีมาตรา 112 จะเกิดขึ้นได้ใน พ.ศ.นี้ ภายหลังพบว่าในเช้าวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ณ ศาลอาญา รัชดา [1] ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์แล้วอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดี ซึ่งมีนายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลย ด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ มาตรา 3, 14, 17 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (ต่อไปจะเรียกว่า คดีสุรภักดิ์) ด้วยเหตุผลว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2  

หากจะกล่าวกันจริง ๆ แล้ว ในบรรดาคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  (โดยจะมีข้อหาอื่น เช่น ข้อหาตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ 2550 ด้วยหรือไม่ก็ตาม) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา คดีสุรภักดิ์ไม่ใช่คดีแรกที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลย เพราะ...

 

คดีนพวรรณ (ต) หรือที่บางคนรู้จักในชื่อ "คดี Bento" ศาลชั้นต้น (อ.599/2554) ก็มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่สามารถสืบพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด [2]  แต่สาเหตุที่ทำให้คดีสุรภักดิ์อยู่ในความสนใจมากกว่าคดี Bento อาจเป็นเพราะว่า คดีที่ตัดสินหรือสิ้นสุดลง (โดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด) ไปก่อนหน้าคดีสุรภักดิ์  ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสามัญชนเป็นจำเลย และได้รับความสนใจจากสาธารณะชน อาทิ คดีดา ตอร์ปิโด [3], คดีสุวิชา (ท่าค้อ) [4], คดีบุญยืน [5], คดีธันย์ฐวุฒิ (หนุ่ม นปช.) [6], คดีโจ กอร์ดอน [7], คดีจีรนุช (ประชาไท) [8] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีอำพล (อากง SMS) [9]  ทุกคดีล้วนแล้วแต่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย หรือจำเลยถอดใจไม่สู้คดี และหันไปขอพระราชทานอภัยโทษทั้งสิ้น กระทั่งคดีมาตรา 112  คดีล่าสุดที่พึ่งตัดสินไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 (ภายหลังคดีสุรภักดิ์) หรือคดีอุทัย (แจกใบปลิว) [10] ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยเช่นกัน แม้จะให้รอลงอาญาไว้ก็ตามที ดังนั้น ผลของคดีสุรภักดิ์จึงมีความน่าสนใจยิ่ง ว่าในช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ในบรรยากาศของการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมากชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ในบรรยากาศของการกล่าวหากันด้วยข้อหา "ล้มเจ้า" หรือในบรรยากาศที่มีการปะทะกันทางความคิดของมวลชนฝ่ายหนึ่งที่เรียกร้องให้ยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา 112 กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ห้ามแตะต้องมาตรานี้โดยเด็ดขาด แล้วเหตุใดจำเลยในคดีประเภทนี้จึงได้รับการพิพากษายกฟ้อง

กล่าวในทางกฎหมายอาญานั้น การพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุผลว่า โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายที่มี "ภาระการพิสูจน์" ไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นจนสิ้นสงสัยได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษอาญา ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงและกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างมากได้ จำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงยืนยันได้ว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดที่แท้จริง หรือการกระทำของเขาเป็นความผิดโดยไม่มีเหตุยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษ (มาตรา 185 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หากยังมีเหตุอันควรสงสัยอยู่ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำจริงหรือไม่ ศาลจำเป็นต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย กล่าวคือ ยกฟ้องจำเลยไป สอดคล้องกับสุภาษิตกฎหมายที่ว่า "ปล่อยคนผิดสิบคนดีกว่าจับ หรือลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว"  อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏว่าการพิจารณาและพิพากษาคดีมาตรา 112 ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีอากง SMS  ซึ่งมี นายอำพล ตั้งนพกุล (เสียชีวิตไปแล้วขณะอยู่ในเรือนจำ)  กลับถูกตั้งคำถามอย่างมากจากสังคม ว่าการบังคับใช้กฎหมายของศาลเป็นไปตาม "หลักการ" ดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้เพราะจำเลยในคดีนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความสั้น (SMS) ที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ โดยไม่มีประจักษ์พยาน ในขณะที่พยานแวดล้อมกรณีเองก็มีจำนวนไม่มาก และไม่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอ  แต่ศาลก็ยังพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี ท่ามกลาง "ความสงสัย" หลายข้อที่แม้แต่ตัวคำพิพากษาเองก็ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างแจ้งได้ แน่นอนว่า ด้วยผลของคำพิพากษาของคดีอำพล ได้ก่อกระแสต่อต้านและสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนที่ติดตามคดีประเภทนี้อยู่  รวมทั้งเคลือบแคลงในอุดมคติ ทัศนคติ อคติ กระทั่งความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจของทั้งผู้พิพากษา อัยการ และพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีมาตรา 112  ในฐานะที่ผู้เขียนติดตามคดีประเภทนี้มาบ้าง รวมทั้งได้รับรู้ถึงแนวคิด และขั้นตอนการต่อสู้ในคดีสุรภักดิ์ ซึ่งเป็นคดีที่มีประเด็นทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ด้วย จึงเห็นควรวิเคราะห์แนวทางการต่อสู้คดี รวมทั้งบทบาทและการทำหน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องถอดไว้เป็นบทเรียน หรือกรณีศึกษาต่อไป        

อนึ่ง บทเรียนชิ้นนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับบทบัญญัติมาตรา 112 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องอัตราโทษที่รุนแรงเกินไปและขัดกับหลักความได้สัดส่วน  ไม่เปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาใช้ดุลพินิจกำหนดโทษได้ตามความเหมาะสมแห่งความเสียหาย และความร้ายแรง ในขณะที่กลับเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เป็นผู้กล่าวโทษ ทั้งยังไม่มีบทมาตราใดอนุญาตให้จำเลยพิสูจน์ถึงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตที่ยังอยู่ในกรอบแห่งรัฐธรรมนูญ และแนวทางประชาธิปไตย  นอกจากนี้ ผู้เขียนยังไม่เห็นด้วยกับลักษณะการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาหรือจำเลย ด้วยการไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการประกันตัว โดยอ้างว่าเป็นความผิดต่อความมั่นคง หรือการละเลย ย่อหย่อนในการแจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหา เพราะพฤติการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่เป็นไปตามหลักแห่งวิธีพิจารณาความอาญาที่ "ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด" (Presumption of Innocence) อย่างไรก็ตาม ณ เวลาปัจจุบัน ที่กฎหมายมาตรานี้ยังไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข ผู้เขียนยังคงเห็นว่า หากข้อความที่เผยแพร่เข้าข่ายเป็นความผิดจริงตามองค์ประกอบความผิด ซึ่งได้รับการตีความภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย รวมทั้งฝ่ายผู้กล่าวหามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดจริง ไม่ใช่การกลั่นแกล้งฟ้องกัน หรือใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และไม่ใช่กรณีที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว นอกจากต้องลงโทษ บุคคลดังกล่าวก็ควรต้องรับผิดตามมาตรานี้ แต่ในอัตราโทษที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง

ข้อเท็จจริงแห่งคดี [11]

จำเลย คือ นายสุรภักดิ์ (สงวนนามสกุล) มีอาชีพโปรแกรมเมอร์ และมีบริษัทรับเขียนโปรแกรมสำหรับสำนักงานต่าง ๆ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 โดยข้อมูลจากศาลอาญาระบุว่า นายสุรภักดิ์ ถูกประชาชนรายหนึ่งกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวนว่าเป็นเจ้าของอีเมล dorkao@hotmail.com และน่าจะเป็นคนเดียวกับเจ้าของเฟซบุคที่ตั้งชื่อเพจว่า “เราจะครองแผ่นดินโดทำรัฐประหาร”  และเขียนข้อความที่อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ เผยแพร่ในเพจดังกล่าวจำนวน 5 ข้อความ ต่างวันและเวลากัน อันเป็นความผิด 5 กรรม ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ก็ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอีกรายหนึ่งว่า พบถ้อยคำดังกล่าวเช่นกันโดยน่าจะมีนายสุรภักดิ์ เป็นผู้สร้างหน้าเฟซบุคนี้ ตำรวจจากหน่วยงานปอท. จึงเข้าจับกุมนายสุรภักดิ์ในวันที่ 2 กันยายน 2554 เวลาประมาณ 14.00 น.  ตามที่อยู่ที่ได้รับแจ้งมา พร้อมเบาะแส รวมทั้งยึดของกลาง อันได้แก่  เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค 1 เครื่อง, แอร์การ์ด 1 อัน, ซิมการ์ดของบริษัททูมูฟ 2 อัน, ซิมการ์ดวันทูคอล 1 อัน, แผ่นซีดีบรรจุในกระเป๋าซีดี 52 แผ่น, โมเด็มเร้าท์เตอร์ 1 เครื่อง, คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 1 เครื่อง และ แผงวงจรไฟฟ้า 1 ตัว  ซึ่งเป็นของนายสุรภักดิ์เองไปตรวจพิสูจน์ 

ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ และนับตั้งแต่สุรภักดิ์ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเลย จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในวันที่ 31 ตุลาคม 2555  รวมระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวทั้งสิ้นราวหนึ่งปีกับอีกหนึ่งเดือน ในชั้นพิจารณาจำเลยยื่นคำให้การโดยปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ตลอดข้อกล่าวหา และยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคล 3 ปาก หนึ่งในนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ 1 ปาก ในขณะที่พยานหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำมาพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น นอกจากพยานบุคคลแล้ว ยังประกอบด้วยพยานเอกสารอีกหลายฉบับ แต่มีฉบับสำคัญๆ คือ 

1) เอกสารภาพถ่ายหน้าจอ (Screen shot) ข้อความที่เขียนในเฟซบุคจำนวน 5 ข้อความ 
2) เอกสารจากบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งฝ่ายโจทก์อ้างว่า แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเลขหมายประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP Address) ของจำเลย กับบัญชีผู้ใช้อีเมล dorkao@hotmail.com จนทำให้ทราบว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน รวมทั้ง Log File ที่บันทึกวันเวลาการลงทะเบียนเข้าใช้งานอีเมลดังกล่าว 
3) เอกสารประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์โดยพนักงานสอบสวน และ 
4) เอกสารที่โจทก์อ้างว่าแสดง "ข้อมูล" การเข้าใช้ทั้งอีเมล dorkao@hotmail.com และการลงทะเบียนเข้าใช้เฟซบุค "เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร" ซึ่งบันทึกอยู่ในแฟ้มเก็บบันทึกชั่วคราว (Temporary Internet File) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย

แนวทางการต่อสู้คดี และข้อค้นพบสำคัญ

คดีนี้ทนายจำเลยไม่ต่อสู้ในประเด็น "เนื้อหา" ของข้อความจำนวน 5 ข้อความที่ถูกกล่าวโทษเลย เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้อความที่เข้าองค์ประกอบเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ จริง จึงไม่มีประเด็น หรือความจำเป็นต้องกล่าวถึงเนื้อหาดังกล่าวซ้ำอีก แนวทางหลักในการต่อสู้คดีนี้จึงมุ่งเน้นที่ปัญหาว่า "จำเลย เป็นผู้เขียนหรือโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุคจริงหรือไม่"  ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ซึ่งทนายความโดยคำแนะนำของพยานผู้เชี่ยวชาญพบว่า พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มีปัญหาเรื่อง "ความแท้จริง" หรือมี "ข้อพิรุธทางเทคนิค" หลายส่วน รวมทั้งใช้วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้มาตรฐานการตรวจพิสูจน์ทาง "นิติคอมพิวเตอร์" (Computer Forensics) จนกลายเป็นสาเหตุให้เกิดความสงสัยแก่ศาล และพิพากษายกฟ้องจำเลยในท้ายที่สุด 

ประเด็นสำคัญ และข้อพิรุธด้านเทคนิคต่าง ๆ มีดังนี้ 
    

1)  ไม่มีความชัดเจนว่า จำเลยเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ใช้อีเมล  dorkao@hotmail.com  ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นอีเมลของผู้เขียนข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามที่ฟ้องจริงหรือไม่  

2) วิธีการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์โดยเจ้าพนักงานในคดีนี้ ไม่ได้มาตรฐานตามหลักนิติคอมพิวเตอร์ จึงขาดความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง 

3) ข้อมูลที่ถูกอ้างว่าพบในเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง มีพิรุธ หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในทางเทคนิคคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้  ทั้งในแง่ของจำนวนไฟล์ที่ค้นพบ และระยะเวลาการคงอยู่ของไฟล์ดังกล่าว 

4)  เฟซบุค มีนโยบายไม่อนุญาตให้บันทึกการใช้งานไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้  จึงย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ที่โจทก์จะค้นพบไฟล์การใช้งานดังกล่าว แล้วนำมาอ้างว่าเก็บบันทึกอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย

ทั้งนี้ รายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งภาพประกอบเพื่ออธิบาย "ข้อพิรุธทางเทคนิค" ทั้ง 4 ข้อ อยู่ใน "บทเรียนขนาดยาว"  หากท่านใดสนใจศึกษา สามารถคลิกเพื่อดาวน์โหลดได้ที่นี่ บทเรียนจากคำพิพากษายกฟ้องคดี 112 (คดีสุรภักดิ์) หรือที่ท้ายประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้

ข้อวิเคราะห์บทบาท และการทำหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดี 

ศาล หรือองค์คณะผู้พิพากษา

ปฏิเสธได้ยากว่า อุดมการณ์ ทัศนคติ ระดับความเป็นกลาง รวมทั้งความกล้าหาญในวิชาชีพของผู้พิพากษา มีผลอย่างมากต่อการพิจารณาคดีที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ ตามมาตรา 112  เพราะหากผู้พิพากษาผู้มีอำนาจพิจารณา และพิพากษาคดียังใช้และตีความมาตรา 112 ภายใต้แนวคิด และอุดมการณ์การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเป็นของพระมหากษัตริย์ ผู้ใดมิอาจกล่าวถึง หรือวิพากษ์วิจารณ์ได้เลย ย่อมทำให้ มิเพียงแต่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 112 เท่านั้นที่จะเป็นความผิด  หากแต่ยังขยายความอย่างกว้างขวางจนทำให้เพียงการพูดถึงในลักษณะที่ "ไม่เคารพ" หรือ “ไม่จงรักภักดี" (อย่างเพียงพอ) รวมทั้ง การวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของพระมหากษัตริย์ฯ ในขอบเขตและความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ถูกถือเป็นความผิดไปด้วย ซึ่งย่อมไม่ใช่ความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของมาตรา 112  ที่ถูกตราขึ้นในยุคของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อุดมการณ์และทัศนะคติราชาชาตินิยม หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังกล่าว นอกจากถือเป็น “สิ่งที่ไม่ถูกต้อง” และไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองในปัจจุบันแล้ว ยังไม่เป็นมิตรกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอีกด้วย

ทัศนคติ และอุดมการณ์เช่นว่านี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มักถูกสะท้อนออกมาในรูปของการเขียนคำพิพากษา ผ่านถ้อยคำเยินยอพระเกียรติ เทิดทูนอย่างมาก หรือสื่อเป็นนัยว่าใครก็มิอาจแตะต้องหรือกล่าวถึงสถาบันฯ ได้เลยไม่ว่าในทางใด กระทั่งเชิงตำหนิติเตียนจำเลยว่า เป็นผู้ไม่สำนึกในบุญคุณแผ่นดิน หรือขาดความจงรักภักดี ทั้ง ๆ ที่ ถ้อยคำที่สื่อถึงความนึกคิด หรืออารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ควรปรากฎอยู่ได้เลยใน “คำตัดสินที่อาศัยหลักกฎหมาย” โดยผู้พิพากษาที่กล่าวอ้างกับสังคมเสมอมาว่าเป็นผู้ "สิ้นแล้วซึ่งอคติ" นอกเหนือจากถ้อยคำในสำนวนหรือคำพิพากษาแล้ว ในบางคดีผู้พิพากษายังถูกตั้งคำถามถึงอคติส่วนตัว จากบรรดาผู้สังเกตการณ์คดีทั้งชาวไทย และต่างประเทศด้วย ต่อการไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยประกันตัวในเกือบทุกกรณี การสั่งตัดพยานฝ่ายจำเลยจนส่งผลต่อการแพ้ชนะในคดี  รวบรัดตัดตอนการพิจารณา และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ พิพากษาโดยไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ ในส่วนของศาลและผู้พิพากษานี้ ย่อมไม่อาจกล่าวได้อย่างเหมารวมไปเสียทุกคดี เพราะการพิจารณาคดีประเภทนี้ในบางคดี ไม่เฉพาะแต่คดีสุรภักดิ์เท่านั้น ผู้พิพากษาหลายคนก็ได้ทำหน้าที่พิจารณาไปตามสำนวน และรับฟังพยานหลักฐานทั้งโจทก์ และจำเลยอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน จริงอยู่ที่ว่า ผู้พิพากษาที่มีอคติเป็นผู้พิพากษาที่ต้องถูกตำหนิได้ แต่การตำหนิผู้พิพากษาโดยที่ผู้ตำหนิก็ตกอยู่ภายใต้อคติของตัวเองที่มีต่อผู้พิพากษาอย่างเหมารวม ย่อมถือเป็น “สิ่งไม่ถูกต้อง” เฉกเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ผู้ตำหนิมองไม่เห็นหรือมองข้าม “ข้อบกพร่อง” ในการสู้คดีอันเนื่องจากเหตุอื่น ๆ ไปด้วย  ไม่ว่าจะเป็น ความหนักแน่นเพียงพอของพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยเอง  ความรู้ความเชี่ยวชาญของพยานผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ความสามารถ ความแม่นยำในข้อกฎหมาย ประสบการณ์ รวมทั้งความขยันขันแข็งในการตระเตรียมคดีของทนายความฝ่ายจำเลย

ย้อนกลับมาที่ประเด็นทัศนคติของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม ควรต้องทราบด้วยว่า แม้ในคดีสุรภักดิ์จะไม่ได้มีการต่อสู้ในเรื่องถ้อยคำหรือเนื้อหาของข้อความที่ถูกกล่าวอ้างว่าผิดมาตรา 112  เลย หรือกล่าวอีกอย่างว่าเป็นการต่อสู้กันด้วย “ปัญหาเชิงเทคนิค” ล้วน ๆ แต่ประเด็นในเรื่อง “ทัศนคติต่อการบังคับใช้มาตรา 112”  ก็ยังปรากฏให้เห็นในคดีนี้ได้อย่างน่าสนใจ เพราะทนายความสามารถเลือกจังหวะ และรูปแบบการนำเสนอเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม ดังปรากฏตอนหนึ่งในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งทนายความฝ่ายจำเลยถามพยานผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ซึ่งรับราชการทหารว่า  “ทำไมอาจารย์จึงมาเป็นพยานในคดีนี้ ?”  พยานผู้เชี่ยวชาญ ตอบคำถามดังกล่าวไว้ทำนองว่า  

ด้วยหน้าที่การงานของผมซึ่งเป็นทหาร ผมเองย่อมต้องมีความจงรักภักดีในสถาบันฯ  สำหรับผม ความจงรักภักดีในสถาบันฯ มีหลายรูปแบบ แต่ผมไม่เห็นด้วยเลยกับการจงรักภักดี แบบที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน อย่างเช่น กลุ่มล่าแม่มด หรือกลุ่มที่อ้างตัวว่าเทิดทูนสถาบันฯ อื่น ๆ ที่ไล่ล่าฟ้องร้องคนที่ตัวเองสงสัยว่าหมิ่นสถาบันฯ โดยหลายครั้งไม่ทราบข้อกฎหมาย ไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่เพียงพอ  ในขณะที่ผู้ที่ถูกฟ้องได้รับความเดือดร้อนทันที  และเมื่อได้รับความเดือดร้อน ย่อมไม่พอใจในตัวสถาบันฯ เป็นธรรมดา และไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ถูกฟ้องเท่านั้น ญาติของผู้ที่ถูกฟ้องก็อาจไม่พอใจสถาบันฯ ไปด้วย และเราไม่รู้หรอกว่า ความไม่พอใจในสถาบันฯ ดังกล่าวนั้นจะขยายไปมากมายเพียงใด หน้าที่ของผมในครั้งนี้  ก็คือ การช่วยค้นหาความจริง เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก่ผู้ต้องสงสัย ซึ่งผมถือว่าเป็นวิธีการปกป้องสถาบันฯ รูปแบบหนึ่ง

บทเรียนหนึ่งที่อาจถอดได้จากคดีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เชื่อว่า จำเลย หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่ใช่ผู้กระทำความผิด แต่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทุก ๆ ฝ่ายที่รับผิดชอบคดี มักพิจารณาโดยติดอยู่ในกรอบคิดบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็คือ การต่อสู้คดีประเภทนี้ จำเป็นต้องมีการเน้นย้ำ และสอบทานอุดมการณ์ และทัศนคติของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีเสมอ ในจังหวะและด้วยวิธีการที่เหมาะสม ทั้งนี้  เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พิพากษาตัดสินคดีอย่างมีอคติ หรือตัดสินคดีเพียงเพื่อรับใช้อุดมการณ์ที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยของตนเอง หรือของผู้อื่น  หรือหากในที่สุดแล้ว แม้ผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบคดีนั้นจะไม่เคยสนใจหรือละอายใจต่อความมีอคติของตน รวมทั้งไม่เคยคิดว่าอุดมการณ์ที่ไม่เป็นมิตรกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเป็นเรื่องที่มีปัญหาต้องแก้ไข การทำคดีในลักษณะที่คอยกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงพิษภัยของการตีความมาตรา 112  อย่างเกินเลยออกไป ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็คือภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง ก็น่าจะทำให้ผู้พิพากษานั้นไม่อาจตัดสินลงโทษจำเลยได้โดยง่าย หรืออย่างไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นเพียงพอมารองรับการตัดสินใจของตน

ทนายความฝ่ายจำเลย

เนื่องจากระบบการพิจารณาคดีอาญาในประเทศไทยเป็น "ระบบกล่าวหา" (accusation system) กล่าวคือ เป็นระบบที่แยกองค์กรสอบสวนฟ้องร้องคดี กับองค์กรพิจารณาพิพากษาคดี ออกจากกันอย่างชัดเจน อีกทั้งฐานะของผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยก็เปลี่ยนจาก "วัตถุ" แห่งการถูกซักฟอก หรือเป็น “กรรม” ในคดีอาญามาเป็น “ผู้ร่วม” ในการเสนอ และค้นหาความจริงในคดี จำเลยจึงย่อมได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ [12]  ดังนั้น บทบาทของทนายความ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แม้อาจไม่ได้มีมากเท่ากับระบบกล่าวหาแบบที่มีลูกขุนก็ตาม คดีมาตรา 112  เป็นคดีที่มีความยากลำบากโดยตัวเอง เพราะดังกล่าวไปแล้วว่า คดีประเภทนี้มิอาจจบลงได้เพียงแค่การต่อสู้กันในเรื่อง “องค์ประกอบของความผิด” แบบคดีโดยทั่วไปเท่านั้น  แต่ยังต้องสู้กับอุดมการณ์ และทัศนคติของผู้พิพากษา รวมทั้งวัฒนธรรมความเชื่อ ความเข้าใจของคนในสังคมด้วย เช่นนี้ ทนายความจึงนอกจากต้องเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการต่อสู้คดี มีความแม่นยำในหลักกฎหมาย  มีความชัดเจนในการกำหนดประเด็นต่อสู้ รวมทั้งมีความกล้าหาญที่จะยืนยันความถูกต้อง แล้ว ยังต้องมีความทนทานต่อเสียงกดดันจากสังคมทั่วไปด้วย กล่าวเฉพาะสำหรับคดีสุรภักดิ์ หรือคดีที่มีประเด็นทางเทคนิค หรือเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ทนายความยังจำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตพอสมควรอีกโสตหนึ่ง

จริงอยู่ที่ว่าประเด็นทางเทคนิคที่ซับซ้อนมาก ๆ คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพยานผู้เชี่ยวชาญ แต่ความรู้พื้นฐานของทนายความยังคงมีความสำคัญ  เพราะทนายความคือคนที่ต้องวิเคราะห์สำนวน และตัดสินใจว่าประเด็นใดที่จะมีผลทางกฎหมาย หรือเป็นประโยชน์กับคู่ความฝ่ายตน ทนายความต้องสามารถถามคำถามพยานผู้เชี่ยวชาญได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น และสื่อความหมาย หรือสิ่งที่ต้องการให้ศาลรู้ได้ว่าคำถามที่ถามนั้นต้องการตอบโจทย์อะไร และมีความเกี่ยวพันอย่างไรกับคดี เพื่อให้ศาลสามารถเข้าใจและจดบันทึกเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาได้อย่างไม่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน  ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทนายความจำเป็นต้องทำการบ้าน และเตรียมคดีในระดับที่มากกว่าคดีปกติ หรือจำเป็นต้องขอคำปรึกษา หรือกระทั่งแนวคำถามจากพยานผู้เชี่ยวชาญ 

วิธีการต่อสู้ในคดีพื้นฐานทั่วไป หลาย ๆ กรณี เป็นเรื่องต้องห้าม หรือไม่ควรทำอย่างยิ่งในคดีเทคโนโลยี อาทิเช่น การถามคำถามวกวนไปมากับคู่ความ หรือพยานของฝ่ายตรงข้ามโดยคาดหวังว่าอีกฝ่ายอาจเผลอตอบในสิ่งที่เข้าตัว หรือเป็นประเด็นที่สำคัญแก่คดีออกมาเอง หรือการพยามปิดบังอำพรางสิ่งที่ฝ่ายตัวเองต้องการรู้เอาไว้ เพราะเกรงว่าทนายของคู่ความฝ่ายตรงข้ามจะเดาออก  แล้วหาทางต่อสู้หรือแก้ต่างได้ เนื่องจาก สิ่งเหล่านี้ในที่สุดแล้ว อาจทำให้ผู้พิพากษาไม่เข้าใจไปด้วย ซึ่งย่อมเป็นผลเสียอย่างยิ่งต่อฝ่ายผู้ถามเอง และข้อสำคัญที่ทนายความในคดีเทคโนโลยี ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็คือ การสรุปรวบยอด หรือขมวดประเด็นในตอนท้ายสุดของการถามคำถาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเทคนิค ให้ศาลเข้าใจได้ว่า  ที่ถามมาทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นถึงสิ่งใด หรือต้องการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานของอีกฝ่ายในเรื่องใด เป็นต้น 

พยานหลักฐาน พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์  และพยานผู้เชี่ยวชาญ

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าคดีเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวนมาก หรือโดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่มักไม่มี "ประจักษ์พยาน" (Eyewitness) ซึ่งหมายถึง พยานบุคคลที่ได้รู้เห็นหรือสัมผัส (perceive) กับข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่มาเบิกความด้วยตนเองโดยตรง ทั้งนี้ไม่ว่าจะรู้เห็นมาด้วยประสาทสัมผัสประเภทใดก็ตาม ดังนั้น ข้อยืนยันแบบแน่นอนถ่องแท้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจึงแทบเป็นไปมิได้เลย คดีลักษณะนี้จึงจำเป็นต้องอาศัย "พยานแวดล้อมกรณี" (Circumstantial Evidence) หรือ “พยานแวดล้อม” เป็นสำคัญ กล่าวคือ พยานหลักฐานที่มุ่งพิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งมิได้เป็นประเด็นพิพาทในคดีโดยตรง หากแต่ใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่จะช่วยบ่งชี้ได้ว่าข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นพิพาทนั้นน่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือถ้าเกิดขึ้นแล้วใครน่าจะเป็นผู้กระทำการนั้น

อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักสำคัญที่เกี่ยวกับการพิจารณา และพิพากษาคดีอาญาที่ว่า ในคดีอาญานั้นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้กล่าวหา หรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเขาเป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งความผิดนั้นจะต้องได้รับการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยด้วย (All defendants in criminal cases are presumed to be innocent until proven guilty beyond a reasonable doubt) อันเป็นหลักที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 227 ความว่า 

“ศาลมีดุลยพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
    เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” 

ดังนั้น แม้คดีที่เกิดขึ้นจะแสวงหาประจักษ์พยานได้ยาก แต่ก็มิได้หมายความโดยอัตโนมัติว่า คดีประเภทนี้ ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้ แม้ยังปรากฏข้อสงสัยอยู่ คดีลักษณะนี้ต้องอาศัยพยานแวดล้อมที่เพียงพอแน่นหนาจริง ๆ หรือที่มิอาจโต้แย้งได้ และเพื่อให้เกิดการอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงต้องใช้ความรู้ความสามารถ และความพยายามในการแสวงหา  วิเคราะห์ และรับฟังพยานหลักฐานต่าง ๆ มากกว่าในคดีปกติธรรมดา อาทิ ผู้พิพากษาควรต้องเปิดโอกาสให้มีการสืบพยานแวดล้อมประเภทต่าง ๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับคดีอย่างกว้างขวางและเท่าเทียม แม้อาจทำให้ดูเหมือนล่าช้าไปบ้าง อนุญาตให้มีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าสืบโดยตรงไม่ใช่แค่เพียงสืบจากสำเนา หรือ  Print out  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ต้องมีการแสดงให้เห็นถึงวิธีการทำงาน หรือระบบการประมวลผลของอุปกรณ์เหล่านั้น  กระทั่งความเป็นไปได้ในกรณีที่ข้อมูลซึ่งนำมาเป็นพยานอาจถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือสร้างขึ้น ฯลฯ  ในขณะที่ฝ่ายโจทก์เองก็ต้องหาพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ที่สามารถบ่งชี้ได้อย่างแน่นหนาว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้กระทำความผิด แม้จะไม่มีประจักษ์พยานผู้พบเห็นขณะกระทำความผิดก็ตาม  ซึ่งในที่นี้อาจหมายถึง พยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงถึงตัวผู้เป็นจำเลยได้ตามสมควร  หรือพยานที่แสดงพฤติกรรมของจำเลยที่เกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 

สำหรับคดีสุรภักดิ์ มีประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง ก็คือ ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฝ่ายจำเลยนำคอมพิวเตอร์ประกอบการสืบพยานในชั้นพิจารณาได้ ในขณะที่ศาลในคดี 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ คดีอื่น ๆ ที่ผ่านมา ศาลมักไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ด้วยเหตุผลทำนองว่า ไม่ว่าประเด็นในคดีจะมีความซับซ้อนเพียงใด คู่ความก็ต้องหรือควรสามารถอธิบายให้ศาล รวมทั้งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจได้โดยใช้ "ปากเปล่า" ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเฉพาะทาง เพียงการอธิบายปากเปล่านั้น หากเทคนิคไม่ซับซ้อนมากก็ “อาจ” พอทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจได้ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากการอธิบายด้วยถ้อยคำเพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้เห็นภาพใด ๆ ได้แล้ว ยังทำให้น้ำหนักของพยานที่กล่าวอ้างนั้นถูกลดทอนลง ในขณะที่ศาลเองเมื่อไม่เข้าใจก็พร้อมที่จะไม่เชื่อในพยานหลักฐานนั้น ซึ่งย่อมกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรม  

อนึ่ง เนื่องจากพยานส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดในคดีประเภทนี้ (รวมทั้งคดีนี้) เป็นพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการตีความหมาย ความน่าเชื่อถือ และความอ่อนไหวของตัวพยานหลักฐาน กล่าวคือ ลบ สร้างใหม่  แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงได้ง่ายดาย และรวดเร็ว การสืบพิสูจน์พยานอิเล็กทรอนิกส์จึงมีความจำเป็น หรือแทบมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องอาศัยการแปลความหมาย และการตรวจสอบ หรือยืนยันความถูกต้องแท้จริงจาก พยานผู้เชี่ยวชาญ (Expert witness) เสมอ ซึ่งในทางกฎหมายถือเป็น “พยานบุคคล” ประเภทหนึ่ง ที่มาเบิกความในลักษณะของการ “แสดงความเห็น” โดยอาศัยความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์ของตนต่อข้อมูลหรือประเด็นแห่งคดี ทั้งนี้ มิใช่ในฐานะที่ตนได้พบเห็นเหตุการณ์มา แต่เป็นเพราะคดีนั้นมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือวิทยาการเฉพาะทาง  โดยพยานผู้เชี่ยวชาญอาจให้ความเห็นเป็นถ้อยคำด้วยการเบิกความต่อหน้าศาลเลย หรือทำเป็นเอกสารความเห็นก็ได้ [13]  โดยนอกจากหลักฐานในเรื่องคุณวุฒิ การศึกษา ประสบการณ์ทำงาน และความรู้ความเชี่ยวชาญแล้ว คำพยานผู้เชี่ยวชาญจะมีน้ำหนักอย่างยิ่งก็ต่อเมื่อ ได้แสดงให้ศาลเห็นว่า พยานผู้เชี่ยวชาญที่นำเข้าสืบนั้นไม่ว่าจะมาจากฝ่ายโจทก์ หรือจำเลย มีความเป็นกลาง ไม่มีอคติ หรือกระทั่งสนิทสนมคุ้นเคยกับคู่ความมาก่อน โดยวิธีการหนึ่งที่อาจช่วยสะท้อนให้ศาลเห็นได้ ก็คือ การให้ตอบคำถามที่เกี่ยวกับทัศนคติของพยานผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อคดีความนั้น ๆ ก่อนเริ่มสืบพยาน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ากังวลว่า แม้พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 จะประกาศใช้บังคับมาแล้วกว่า 5 ปี แต่พนักงานสอบสวนผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในระดับที่ถือได้ว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” จริง ๆ นั้นยังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนคดีความประเภทนี้14  ในฝั่งฟากของเอกชนเอง แม้อาจมีจำนวนมากกว่า แต่ก็หาไม่ได้ง่ายนัก หรือมิเช่นนั้นก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่ตามกฎหมาย รวมทั้งแนวนโยบายแห่งรัฐไทยไม่เคยมีการสนับสนุนค่าใช้จ่าย หรือช่องทางการเข้าถึง “พยานผู้เชี่ยวชาญ” ให้แก่ฝ่ายจำเลย ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า  พยานผู้เชี่ยวชาญที่นำมาสืบในคดีจำนวนไม่น้อย ในที่สุดแล้วอาจมีความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่ถึงมาตรฐานของความเชี่ยวชาญ ฉะนั้น “การพิสูจน์ถึงความเชี่ยวชาญ” ของพยานผู้เชี่ยวชาญที่อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้าง ในคดีเทคโนโลยี จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ในคดีสุรภักดิ์นั้น ทนายความฝ่ายจำเลยขอให้พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์  ให้ความเห็นหรือยืนยันต่อศาลว่า  เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้สามารถเก็บบันทึกข้อมูลการใช้งาน (Cache File) เว็บไซต์เฟซบุค ไว้ในพื้นที่บันทึกชั่วคราว (Temporary File) ได้หรือไม่  ปรากฎว่าพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ยืนยันว่าสามารถเก็บบันทึกได้  แต่เมื่อพยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลย สามารถใช้คอมพิวเตอร์แสดงให้ศาลเห็นได้ว่า เฟซบุคไม่ Cache ไฟล์ (ดังอธิบายไว้ในบทเรียนขนาดยาว) จึงกลายเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า พยานผู้เชี่ยวชาญที่ฝ่ายโจทก์อ้างมา มีปัญหาในเรื่องของ “ความเชี่ยวชาญ” ซึ่งย่อมกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการให้ถ้อยคำของพยานนั้นเองโดยอัตโนมัติ

บทสรุป

แม้ในที่สุดแล้ว คำพิพากษายกฟ้องของศาลในคดีสุรภักดิ์ จะไม่ได้ตอบโจทก์ใด ๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับปัญหาของตัวบทบัญญัติ รวมทั้งการบังคับใช้มาตรา 112  เนื่องจากไม่มีการสืบสู้กันในประเด็นความหมายของถ้อยคำ หรือเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในอันที่จะกล่าวถึง หรือกระทั่งวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยสุจริต หรือในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ  แต่การตัดสินยกฟ้องคดีดังกล่าวท่ามกลางกระแสการเทิดทูนสถาบัน ฯ อย่างเกินพอดีในปัจจุบัน ภายใต้เงื่อนไขที่ไร้ข้อกังขาว่า “ถ้อยคำ” ที่ถูกฟ้องนั้นเป็นความผิดหรือไม่  ย่อมถือเป็นก้าวสำคัญอันน่ายินดี ทั้งยังทำให้ประชาชนมองเห็นแสงสว่างรำไรว่า “หลักกฎหมาย” สำคัญหลายข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักที่ว่า  “ต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด” นั้น ยังคง “ใช้การ” ได้อยู่บ้างในกระบวนการยุติธรรมไทย              

Montesquieu  เคยกล่าวว่า  ”There is no crueler tyranny than that which is perpetuated under the shield of law and in the name of justice.”  (ไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย หรือในนามของกระบวนการยุติธรรม) หากเรามองว่าทั้งตัวบทบัญญัติมาตรา 112  เอง การบังคับใช้  รวมทั้งอุดมการณ์ ทัศนคติของคนในกระบวนการยุติธรรม ณ ปัจจุบัน เป็นอุปสรรคในการแสวงหาความจริง หรือกระทบเลยเถิดไปถึงกระบวนการสร้างประชาธิปไตย อุปสรรคนี้ย่อมไม่น่ากลัว หรือยากที่จะฟันฝ่าไปได้เลย หากเราเองยึดมั่นในหลักนิติรัฐประชาธิปไตย รวมทั้งมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการช่วยกันแสวงหาความยุติธรรมให้กับบุคคลที่โดนคดีประเภทนี้ ดังที่ใครบางคน เคยกล่าวว่า “Obstacles are those frightful things you see when you take your eyes off your goals” (อุปสรรค คือ สิ่งที่น่าตกใจ ก็ต่อเมื่อคุณไม่ได้มองไปที่จุดหมายปลายทาง).  

----------------------------------
เชิงอรรถ

  1. ดูคำพิพากษาได้ที่ http://prachatai.com/journal/2012/10/43413
  2. ดูรายละเอียดคดีนี้ใน http://freedom.ilaw.or.th/th/case/27, https://www.facebook.com/serithai.net/posts/324251984254044
  3. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษาใน http://prachatai.com/journal/2011/12/38334
  4. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษาใน http://prachatai.com/journal/2009/04/20601
  5. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษาใน http://lmwatch.blogspot.com/2009/04/blog-post_2270.html
  6. ดูรายละเอียดคดี และคำพิพากษาใน http://prachatai.com/journal/2011/03/33552
  7. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษาใน http://prachatai.com/journal/2011/10/37320
  8. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษา ใน http://prachatai.com/journal/2012/05/40757
  9. ดาวน์โหลดคําพิพากษาได้ที่ http://prachatai.com/sites/default/files/Ampon.pdf
  10. ดูรายละเอียดคดี และคําพิพากษานี้ ใน http://prachatai.com/journal/2012/11/43892
  11. ดูรายละเอียดของคดีใน http://ilaw.or.th/node/1363
  12. ณรงค์ ใจหาญ, หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1, กรุ งเทพฯ : วิญญูชน, 2555, หน้า 28.
  13. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 243 “ผู้ใดโดยอาชีพหรือมิใช่ก็ตาม มีความเชี่ยวชาญในการใด ๆ เช่น ในทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ฝีมื อ พาณิชยการ การแพทย์ หรือ กฎหมายต่างประเทศ และซึ่งความเห็นของผู้นั้นอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยคดี ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา อาจเป็นพยานในเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า ตรวจร่างกายหรือจิตของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือจําเลย ตรวจลายมือทําาการทดลองหรือกิจการอย่างอื่นๆ 

    ผู้เชี่ยวชาญอาจทําความเห็นเป็นหนังสือก็ได้แต่ต้องส่งสําเนาหนังสือดังกล่าวให้ศาล และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบ และต้องมาเบิกความประกอบหนังสือนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือคู่ความไม่ติดใจซักถามผู้เชี่ยวชาญนั้น ศาลจะให้รับฟังความเห็นเป็นหนังสือดังกล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญไม่ต้องมาเบิกความประกอบก็ได้

    ในกรณีที่ผู้เชี่ยวชาญต้องมาเบิกความประกอบ ให้ส่งสําาเนาหนังสื อดังกล่าวต่อศาลในจําานวนที่เพียงพอล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันเบิกความ เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมารับไป

    ในการเบิกความประกอบ ผู้เชี่ยวชาญจะอ่านข้อความที่เขียนมาก็ได้”

  14. สาวตรี สุขศรี/ ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ/ อรพิณ ยิงยงพัฒนา, อาชญากรรมคอมพิวเตอร์?: งานวิจัยหัวข้อ ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําาความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, 2555, หน้า 114 – 117.

คลิกที่ชื่อเรื่อง หรือลูกศรเล็ก เพื่อดาวน์โหลด "บทเรียนขนาดยาว" 

 

ที่มา: ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 39 http://www.enlightened-jurists.com/blog/73

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท