Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมจั่วหัวด้วยการยกเอาคำพูดของคุณภูมิธรรม เวชยชัย  เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ปรารภขึ้นในที่ประชุมพรรคเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เพราะเห็นด้วยกับคำพูดนี้เกินร้อยเลยครับ โดยเฉพาะในช่วง ”ปรากฎการณ์เสธ.อ้าย”  หรือแม้กระทั่งในยุทธการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีก 3 ท่านในระยะที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้-นี่เอง

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มีคุณยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตั้งขึ้นมาหลังเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 นั้น เริ่มต้น ก็เอาคุณกฤษณา สีหลักษณ์  ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมีฐานะระดับคหบดีคนหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ค่อนข้างจะโนเนมในวงการเมืองมาเป็นรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ดูแลสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และวิทยุทั้งเอเอ็มและเอฟเอ็มหลายสถานีอยู่ในมือ นอกจากนั้นยังกำกับ อ.ส.ม.ท. อันเป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำงานด้ารสื่อวิทยุและโทรทัศน์ เช่นกัน  แต่ว่าสื่อต่างๆเหล่านั้น  ก็ดำเนินการกันเสมือนเป็น “ รัฐอิสระ” รัฐมนตรีที่เข้ามากำกับ ดูเหมือนจะไม่มีท่าทีหรือสติปัญญาอันใดที่จะเข้าไปวางนโยบายกำกับทิศทางเพื่อให้พวกเขาปฏิบัติที่พอจะเป็นประโยชน์แก่รัฐบาลใหม่บ้าง   เพราะเราได้เห็นกันอย่างชัดเจนตลอดเวลาว่ารายการของสำนักข่าวทีนิวส์  หรือรายการอื่นๆที่ผลิตออกมาเพื่อมุ่งโจมตีพรรคเพื่อไทย ตีและใส่ร้ายป้ายสี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเฉพาะ ทั้งปลุกปั่นในเรื่อง” แผนล้มเจ้า”  ทั้งๆที่ไม่มีมูลแห่งความจริงแม้แต่น้อย แต่สำนักข่าวนั้นได้ทำขึ้นสมัยรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ  เพื่อสร้างความชิงชังและความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน    เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นพรรคเพื่อไทยและมีรัฐมนตรีเป็นคนในพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่รายการเหล่านั้นที่โจมตีใส่ร้ายพรรคเพื่อไทยหรือโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังดำเนินต่อไป จนเพิ่งได้ยกเลิกไปเมื่อปลายปี 2554 เกือบจะพร้อมๆกับที่มีการปรับปรุงรัฐมนตรีใหม่ และรัฐมนตรี.กฤษณา สีหลักษณ์ ก็หลุดเก้าอี้ไป

ต่อมาเมื่อปรับ ครม.เป็น ยิ่งลักษณ์ 2 รัฐมนตรีที่มาดูแลงานด้านนี้คือนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล  อันเป็นพนักงานเก่าแก่ของกลุ่มบริษัทชินคอร์ป  แต่สื่อของรัฐทั้งหลายก็ดูเหมือนว่า “ เคยทำกันมาอย่างไร ก็ทำต่อไปอย่างนั้น” การกระจายเสียงออกข่าวที่ช่วยทำให้รัฐบาลติดลบก็ยังมีให้เราได้ยินกันแทบทุกวัน ส่วนข่าวด้านดีๆมักจะเป็นข่าวของฝ่ายค้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวของบุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์   ซึ่งเรื่องอย่างนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นอันมาก  โดยเฉพาะทีวีช่อง 11 เมื่อนายกฯไปทำรายการนายกยิ่งลักษณ์พบประชาชน เมื่อนำออกแพร่ภาพ ก็มักจะเกิดปัญหาขัดข้องในการแพร่ภาพอยู่บ่อยมาก ความที่รัฐมนตรีก็ไม่ได้เป็นคนมาจากสายการเมือง จึงดูท่าทางจะไม่ค่อยเข้าใจปัญหาทางการเมือง ไม่กล้าที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลง”แนวความคิด” ของผู้ดำเนินรายการ หรือ กำกับทิศทางไปยังผู้บังคับบัญชาระดับสูงของคนผลิตสื่อในกรมประชาสัมพันธ์หรือ อ.ส.ม.ท. ผลก็ออกมาในลักษณะเดิมๆ คือ ติดนิสัยมาจากรัฐบาลก่อน และดำเนินการเสนอข่าวหรือทำรายการที่ไม่ค่อยจะเอื้อประโยชน์อันใดให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยดังที่เคยเป็นมา

เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เดินทางมาได้ปีเศษ ก็มีการปรับครม.ใหม่ เป็นยิ่งลักษณ์ 3 เมื่อ 28 ตุลาคม 2555 .และนำคุณศัณศนีย์ นาคพงศ์ มาเป็นรัฐมนตรีดูแลกรมประชาสัมพันธ์ นายวราเทพ รัตนากร มากำกับ อ.ส.ม.ท. แต่ก็แม้ว่าท่านทั้ง 2 จะรับตำแหน่งกันมาร่วม เดือนแล้ว  ก็ดูเหมือนกับว่าจะยังไม่มีนโยบายอะไรใหม่ เพราะเรา-ท่านก็ยังไม่ได้ยินว่าทั้ง 2 ท่านนั้นจะพูดอะไรบ้างในการที่จะปฏิรูปสื่อของรัฐ เพื่อให้ ”สอดคล้องกับยุคสมัยและบ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนไปในแนวทางประชาธิปไตย” ทั้งๆที่ในระยะนี้ รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีกำลังเจอกับการถูกใส่ไคล้ การปั้นน้ำเป็นตัว สาดโคลนเข้าใส่ และรุกโจมตีนายกรัฐมนตรีอย่างบ้าคลั่งทุกทิศทุกทาง จากสื่อเลือกข้างของคู่แข่งขันทางการเมือง อย่างบลูสกาย ทีนิวส์  หรือ เอเอสทีวี  ซึ่งไม่ใช่เท่านั้น หากแต่สื่อ ทีวีที่เรียกตัวเองว่าสื่อสาธารณะที่ยึด ไอทีวี ไปโดยอาศัยอำนาจรัฐประหาร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ทีพีบีเอส( TPBS) ก็หาจังหวะและโอกาสเข้าใส่ไคล้-โจมตี ดิสเครดิตทั้งรัฐบาลและนายกฯอยู่เสมอ ในกรณี ปรากฎการณ์เสธ.อ้าย กระทั่งถึงวันเกิด ม็อบเสธ.อ้าย 24 พ.ย. ทีวีช่องนี้ได้แสดงตัวอย่างชัดเจนมากในการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวที่แสดงตัวว่าเขายืนอยู่กับฝ่ายที่มุ่งจะ   ”โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมากของประชาชน”

และในเวลาเดียวกัน สื่อของรัฐที่รัฐมนตรีทั้ง 2 ท่านนั้นช่วยกันดูแล ก็ไม่มีบทบาทอันใดที่จะช่วยชี้แจงความจริงให้ประชาชนได้ทราบบ้าง  ในยามที่พวกสื่อเลือกข้างทั้งหลายเสนอข่าวเชิงโปรโมทหรือเชียร์ม็อบกันโครมๆ เมื่อเราเปิดทีวีไปดูสื่อรัฐก็ปรากฎว่ายังเป็นรายการวาไรตี้ หรือปกิณกะอะไรอยู่ก็ไม่รู้ ยิ่งเมื่อม็อบเกิดปะทะกับตำรวจ สื่อหลวงทั้งหลายก็เงียบฉี่ ทั้งๆที่ขณะนั้น สื่อเชียร์ม็อบทั้งหลายเสนอการวิเคราะห์เจาะลึกกันไปต่างๆนาๆเพื่อจะชักนำให้ประชาชนคิดตามกันไปว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐและรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์มุ่งใช้ความรุนแรงกับประชาชนมากเกินไป มีการสัมภาษณ์ ส.ส.ฝ่ายค้าน หรือผู้คนวงการต่างๆให้ช่วยกันกล่าวโทษประนามรัฐบาล  ยิ่งทางด้านวิทยุนั้นก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะหน่วยงานของรัฐพวกนี้ได้ให้เอกชนสัมปทานไปโปรโมทเพลงโฆษณาโทรศัพท์มือถือหรือสินค้าต่างๆกันไปหมดแล้ว

ดังนั้น หากเราจะหวังฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงจากสื่อของรัฐ เป็นอันหวังไม่ได้เอาเลย !!!

ความจริงนายกรัฐมนตรี ดลอดถึงรัฐมนตรีต่างๆ ดูเหมือนจะพยายามทำงานกันอยู่อย่างแข็งขัน  เพราะยุคนี้ใครๆก็ต้องการจะประชาสัมพันธ์งานของตนเองกันทั้งนั้น  และรัฐบาลก็ทำงานท่ามกลางการตรวจตราควบคุมอย่างเข้มข้นของพรรคฝ่ายค้านและองค์กรอิสระอีกมากมาย  แต่สื่อของรัฐซึ่งควรที่จะช่วยนายกฯในทางนั้นๆบ้าง  กลับยังทำงานกันแบบ “ เดิมๆ” ตามทัศนคติเดิมๆ  ซึ่งมีบทบาทน้อยมากที่จะช่วยนายกฯหรือรัฐบาลในการชี้แจงความจริงให้ประชาชนทราบ

แต่ก็จะให้ไปโทษใครล่ะครับ ?   เพราะท่านเหล่านั้นที่ได้รับการแต่งตั้งกันมา ก็ได้รับการ “ ประทับตรา” ดี 1 ประเภท 1มาจากพี่น้องในตระกูล “ ชินวัตร” กันทั้งนั้น  มิใช่หรือ?

                                        ..........................................................................................

              

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net