Skip to main content
sharethis

 

โอทีเกินเงินเดือน เร่งผลิตรถยนต์มือเป็นระวิง! เล็งปั้นแรงงานเพิ่ม

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต้องเพิ่มเวลาการทำงาน ทั้งเพิ่มกะผลิตและเวลาการทำงาน หรือโอที ส่งผลให้พนักงานมีความสุขจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น เพราะบางรายมีรายได้จากค่าโอทีมากกว่าเงินเดือนประจำ เช่น มีเงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือน แต่มีค่าโอทีเพิ่มอีก 20,000 บาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการได้เพิ่มกะเวลาทำงาน แต่ลูกค้าก็ต้องรอรถยนต์บางรุ่นนานถึง 8-9 เดือน เนื่องจากไม่สามารถผลิตรถยนต์ได้ทันต่อความต้องการลูกค้าได้ ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงานในการพัฒนาแรงงานใหม่ 200,000-250,000 คน มารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในปี 2560 ที่ค่ายรถยนต์ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ 3 ล้านคัน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกติดอันดับ 1 ใน 10 อย่างถาวร เบื้องต้นโรงงานผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วน ได้นำเด็กที่จบการศึกษา ปวช. และกำลังศึกษาต่อระดับ ปวส. มาทำงานโดยให้เงินเดือนเฉลี่ย 14,000-15,000 บาท โดยสามารถไปเรียนหนังสือได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนฝีมือแรงงานได้ระดับหนึ่ง

“ขณะนี้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งบริษัทแม่ในญี่ปุ่น ภาครัฐ และเอกชนไทย โดยปัจจุบันมีแรงงานในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนกว่า 500,000 คน และปี 2560 ต้องเพิ่มเป็น 800,000 คน เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ปีละ 3 ล้านคัน หากไม่สามารถเพิ่มแรงงานได้ในอนาคตจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของ อุตสาหกรรม”

สำหรับยอดการผลิตรถยนต์เดือน พ.ย.นี้ คาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้ 240,000-250,000 คัน และเดือน ธ.ค. จะผลิตได้ 190,000-200,000 คัน จากช่วง 10 เดือนของปี 55 (ม.ค.-ต.ค.) ผลิตรถยนต์ได้แล้ว 1.975 ล้านคัน หากรวมกับ 2 เดือนที่เหลือที่ผลิตได้รวม 440,000-450,000 คัน จะรวมกัน 2.3-2.4 ล้านคันแน่นอน ทั้งนี้ ไทยสามารถผลิตรถยนต์ติดอันดับ 1 ใน 10 เรียบร้อยแล้ว โดยแซงหน้าฝรั่งเศส, สเปน, อิหร่าน, รัสเซีย แล้ว โดยปี 54 ไทยยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 14 ของโลก.

(ไทยรัฐ, 26-11-2555)

 

แตะ 450 บาทแล้ว ! ค่าแรงเกี่ยวข้าวอีสาน ยังหาแรงงานไม่ได้

นายคมสัน หินอ่อน อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 193 หมู่ 3 ต.โนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ กล่าวถึงค่าแรงเกี่ยวข้าวปีนี้ว่า ค่าแรงพุ่งสูงเป็น 2-3 เท่าตัวจากในช่วงแรก 300 บาท ขณะนี้ขยับไปที่ 400-450 บาทแล้ว และยังหาแรงงานเกี่ยวข้าวลำบากเพราะชาวนาต่างเร่งรีบเก็บเกี่ยวและเมล็ดข้าว สุกไล่เลี่ยกัน ในขณะที่ความนิยมในการใช้รถเกี่ยวข้าวยังน้อย เนื่องจากเกษตรกรมองว่ามีความสูญเสียจากเมล็ดข้าวร่วงสูง และยังต้องการเก็บฟางข้าวไว้เพื่อเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหากจ้างรถเกี่ยวข้าวจะไม่ได้ฟางข้าว จึงถือได้ว่าค่าแรงเกี่ยวข้าวปีนี้พุ่งสูงในรอบ 30 ปีก็ว่าได้

ที่ จ.ตราด นายลพ นากแสง อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 17 หมู่ 3 ต.หนองโสน อ.เมือง จ.ตราด ได้นำสื่อมวลชนไปสำรวจแปลงนาข้าวของตนเองและของเพื่อนบ้านที่ได้รับความเสีย หายจากฝนตกหนักลงมาในพื้นที่ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ต้นข้าวที่รอการเก็บเกี่ยวล้มและจมอยู่ในน้ำได้รับความเสียหายเป็น อาณาบริเวณกว้างกว่า 2,000 ไร่

นายลพกล่าวว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทำให้เกษตรกรต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวอย่างเร่งด่วน โดยมีการว่าจ้างให้เอกชนที่มีเครื่องเกี่ยวข้าวมาเร่งเก็บเกี่ยว แม้ข้าวเปลือกจะเปียกชื้นก็ต้องรีบนำไปขายให้กับเอกชนที่มารับซื้อ หรือบางรายก็นำไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ซึ่งผลผลิตที่ได้จากเดิมที่เคยได้ 500-600 กิโลกรัม/ไร่ ขณะนี้เหลือเพียง 400 กิโลกรัม/ไร่เท่านั้น เมื่อนำไปขายจะได้ราคา 10,000-11,000 บาท/ตัน จากที่เคยขายได้ตันละ 13,000 บาท เพราะปัญหาความชื้น

(มติชนออนไลน์, 26-11-2555)

 

ก.แรงงานรุกตั้งศูนย์ฝีมือแรงงานนิคมฯ รับค่าแรง 300 บาท

ก.แรงงานบุกพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานรับค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เน้นความสามารถรอบด้านตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ เล็งจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมตามนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มความสะดวกแรงงานไทย
      
นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.มีแผนพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทที่เริ่มมีผลบังคับใช้ครอบคลุมทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 โดยการพัฒนาแรงงานจะมุ่งเน้นทั้งทักษะฝีมือและคุณลักษณะที่ดีในการทำงาน เช่น ความขยัน ความอดทน การมีวินัย ซึ่งจะทำในเชิงรุกด้วยการให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศฝจ.) ลงพื้นที่ไปสำรวจว่าสถานประกอบการต่างๆ มีความต้องการพัฒนาแรงงานในด้านใดบ้าง อีกทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและจัด ทำหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อให้การฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสอดคล้องกับความต้องการของสถาน ประกอบการ
      
นายนครกล่าวอีกว่า กพร.ได้ประสานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์ ฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นภายในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้สถานประกอบการมาแจ้งความต้องการฝึกอบรมแรงงานและคอยประสานความร่วม มือในการฝึกอบรม ซึ่งจะจัดฝึกอบรมภายในนิคมฯ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานและสถานประกอบการ
      
“กพร.จะร่วมมือกับภาคธุรกิจและสถานประกอบการในการพัฒนาฝีมือให้แก่แรง งานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการต่างๆ และให้ สพภ.และ ศฝจ.จัดฝึกอบรมแรงงานภายในศูนย์ดังกล่าว โดยจะเปิดรับเด็กที่จบ ม.3 และ ม.6 ที่ยังไม่มีงานทำ รวมถึงผู้ที่มีวุฒิ ปวช.และ ปวส.ในสาขาช่างต่างๆ ซึ่งต้องการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อป้อนแรงงานเข้าสู่ตลาดแรงงานแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน” อธิบดี กพร.กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-11-2555)

 

รมว.แรงงาน เชื่อ ส.อ.ท.ขัดแย้ง ไม่เกี่ยวค่าแรง 300

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีความขัดแย่งภายในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จนทำให้มีการสั่งปลดนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล พ้นจากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.และแต่งตั้งนายสันติ วิลาสศักดา ดำรงตำแหน่งแทนว่า เรื่องดังกล่าวไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เนื่องจากอำนาจในการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง และกระทรวงแรงงาน อีกทั้งที่ผ่านมานายพยุงศักดิ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อรองกับรัฐบาล หรือเข้ามาหารือกับกระทรวงแรงงานเพื่อขอให้ชะลอการปรับค่าจ้าง รวมถึงเสนอมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ มีเพียงนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท.สายแรงงาน และนายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. สายงานเศรษฐกิจโลจิสติกส์เท่านั้น เชื่อว่าการความขัดแย้งครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการออกมาตรการช่วยเหลือ ภาคธุรกิจ

ส่วนความคืบหน้าในการส่งรายชื่อตัวแทนจาก ส.อ.ท.เข้ามาเป็นคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ติดตามปัญหาและผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง ขณะนี้ ส.อ.ท.ยังไม่มีการส่งรายชื่อตัวแทนเข้ามา แต่ทางกระทรวงแรงงานจะทำงานไปล่วงหน้า โดยวันที่ 8 ธันวาคมนี้ จะเรียกหัวหน้าหน่วยงานของกระทรวงแรงงานทั่วประเทศเข้ามาประชุมเพื่อชี้แจง นโยบายในการลงพื้นที่หาข้อมูลผลกระทบของภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เพื่อหามาตรการในการช่วยเหลือต่อไป.

(ไทยรัฐ, 27-11-2555)

 

จ้างงานเดือน พ.ย.ลดวูบ 20%

กองวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัด|หางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงาน สถานการณ์การว่างงาน การเลิกจ้าง และความต้องการแรงงานประจำเดือน พ.ย.ระบุว่า ในเดือนนี้มีสถานประกอบการแจ้งตำแหน่งงานว่างมายังกรมการจัดหางาน 1.21 แสนอัตรา ลดลง 2.9 หมื่นอัตรา หรือ 19.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความต้องการแรงงานตามหมวดอาชีพ พบว่า หมวดอาชีพที่ความต้องการลดลงมากสุดคือ ผู้ปฏิบัติงานใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ ลดลงจาก 1.44 |หมื่นคน เหลือ 8,140 คน หรือ -43.56% รองลงมาผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมงจาก 453 คนเหลือ 286 คน หรือ -36.87%

ผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ จาก 5,463 คน เหลือ 4,097 คน หรือ -25% อาชีพงานพื้นฐานจาก 6.6 หมื่นคน เหลือ 4.9 หมื่นคน หรือ -24.96% พนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาดจาก 2.19 หมื่นคน เหลือ 1.89 หมื่นคน หรือ -13.64% และเสมียนเจ้าหน้าที่จาก 1.62 หมื่นคน เหลือ 1.46 หมื่นคน หรือ -9.87%

ขณะเดียวกัน หากนับตามจำนวนความต้องการที่ลดลง หมวดอาชีพงานพื้นฐานมีจำนวนความต้องการลดลงมากที่สุด 1.65 หมื่นคน รองลงมาคือ ผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ ลดลง 6,283 คน และพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด ลดลง 2,999 คน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราการว่างงานโดยรวม ตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ย. ยังคงที่ 2.4 แสนคน ลดลงจากเดือน ต.ค. 1 หมื่นคน แต่สัดส่วนอัตรายังอยู่ที่ 0.6% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในจำนวนผู้ว่างงานนี้แบ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.2 แสนคน และผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.2 แสนคน ทำงานอยู่ในภาคการผลิตมากที่สุด 0.55 แสนคน รองลงมาอยู่ในภาคการ บริการและการค้า 0.5 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 0.15 แสนคน ตามลำดับ

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณี|ว่างงาน เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มี 4.42 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 2,204 คน หรือ 5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขึ้น 4,496 คน หรือ 11.3%

ขณะที่นายอธิภูมิ กำธรวรรินทร์ เจ้าของโรงงานมีศิลป์เซรามิค อ.เมือง จ.ลำปาง เปิดเผยว่า อุตสากรรมเซรามิกเตรียมปรับลดแรงงานก่อนจะมีการขึ้นค่าแรง 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ประมาณ 20–30% และมีแผนจะนำเครื่องจักรมาทดแทน

(โพสต์ทูเดย์, 27-11-2555)

 

แรงงานโร่ร้อง ถูกเอาเปรียบ เก็บผลเบอร์รี่ที่สวีเดน

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ที่กระทรวงแรงงาน นายโพชฌงค์วัฒน์ ชื่นตา ผู้ใช้แรงงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน ได้ร้องเรียนต่อสื่อมวลชนประจำกระทรวงแรงงานว่า ตนและแรงงานไทยประมาณ 60 คน ได้เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม -19 กันยายน 2555 ผ่านบริษัท เค.เค.วาย. บิสซิเนส กรุ๊ป จำกัด และทำสัญญาจ้าง เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 75,000 บาท เป็นเงินที่กู้มาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องเสียค่าวีซ่า 2 ประเภท คือ วีซ่าในการเดินทางไปทำงานและวีซ่าท่องเที่ยวอีก 2,000 บาท ทั้งหมดไม่มีใบเสร็จหลังจากการจ่ายเงิน เพื่อแจกแจงรายละเอียดว่าเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

“เมื่อได้เดินทางไปทำงาน บริษัทไม่จ่ายค่าจ้างให้แรงงานแต่อย่างใดตลอดระยะเวลาที่ทำงานเก็บผลไม้อยู่ ที่สวีเดน ต้องรอจนกลับมาถึงประเทศไทยถึงได้เงินค่าจ้าง อยากให้กระทรวงแรงงานช่วยแก้ปัญหาเรื่องสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสภาพความ เป็นอยู่ที่ลำบากในการเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าครั้งต่อไปถูกเอารัดเอา เปรียบจากบริษัทที่จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานอีก” นายโพชฌงค์วัฒน์กล่าว

หลังจากนั้นนายโพชฌงค์วัฒน์และเพื่อนแรงงานได้เข้าพบนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเล่าถึงข้อเท็จจริงและให้ตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัท เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้าง นายสง่ากล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายสมบัติ นิเวศรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ปัญหาจากการไปเก็บผลไม้ป่าในครั้งนี้มีน้อยมาก มีเพียงแรงงานบางส่วนเท่านั้นที่เกิดปัญหา ทั้งนี้ หากพบว่าบริษัทใดเอาเปรียบแรงงาน ในปีหน้าจะไม่อนุญาตให้จัดส่งแรงงานไปเก็บผลไม้ป่าอีก ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคมนี้จะประสานกับสถานทูตประเทศสวีเดนและฟินแลนด์ เพื่อหารือเรื่องการส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่า ได้แก่ การลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร และการดูแลเรื่องสวัสดิการต่างๆ ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

(ประชาชาติธุรกิจ, 29-11-2555)

 

ประกาศแล้ว ! 300 บาท ทั่วประเทศ 1 มกราคม 56 เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา

มติชนออนไลน์ รายงานว่า วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕  ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่  ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๗)
 
ประกาศดังกล่าวระบุว่า  ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้าง
ที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ และมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและ ลูกจ้างทุกคน
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗๙ (๓) และมาตรา ๘๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ คณะกรรมการค่าจ้างจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
 
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกข้อ ๓ ข้อ ๔ ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ ข้อ ๑๑ ข้อ ๑๒ ข้อ ๑๓ ข้อ ๑๔ ข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ ข้อ ๑๗ ข้อ ๑๘ ข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ ข้อ ๒๑ ข้อ ๒๒ ข้อ ๒๓ ข้อ ๒๔ ข้อ ๒๕ ข้อ ๒๖ ข้อ ๒๗ ข้อ ๒๘ ข้อ ๒๙ ข้อ ๓๐ ข้อ ๓๑ และข้อ ๓๒ ของประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ ๖) ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน
พ.ศ. ๒๕๕๔
 
 
ข้อ ๒ ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยบาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ พะเยา มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ
 
 
ข้อ ๓ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป
 
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์
ปลัดกระทรวงแรงงาน
ประธานกรรมการค่าจ้าง

(มติชนออนไลน์, 30-11-2555)

 

นายกฯ ขอให้ผู้ประกอบการดูแลสวัสดิการให้ผู้แรงงาน

 30 พ.ย.- นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี 2555 ระบุต้องการให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแรง รับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกัน ขอให้ผู้ประกอบการดูแลสวัสดิการให้กับผู้ใช้แรงงานด้วย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในโอกาสเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2555  ว่า รางวัลดังกล่าวนอกจากเป็นประกาศเกียรติคุณยกย่องว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จ แล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันว่า บริษัทได้รับความภาคภูมิใจ จากการมุ่งมั่นทำงานด้วยความวิริยะ พัฒนาการบริหารจัดการด้านต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยิ่ง

“ดิฉันอยากเห็นผู้ประกอบการทุกรายมีความแข็งแรง สามารถต่อยอดเข้าไปสู่การแข่งขัน เพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน และแข่งขันในเวทีโลก เพราะเศรษฐกิจของประเทศจะแข็งแรงไม่ได้ ถ้าผู้ประกอบการไม่แข็งแรงด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศ นอกจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพแล้ว ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย พร้อมกันนี้ขอฝากผู้ประกอบการดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้ได้ยกระดับคุณภาพชีวิต และจัดสวัสดิการให้คนทำงานได้อย่างมีความสุขเพราะเมื่อทำให้มีความสุขแล้ว จะเกิดความรักองค์กรซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กรและทำให้ผลผลิตมี คุณภาพยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัลให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ารับ รางวัลอุตสาหกรรม จำนวน 30 บริษัท โดย บริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม

(สำนักข่าวไทย, 30-11-2555)

 

พนักงานการท่าเรือร้องถูกปลดจากสหภาพ

(30พ.ย.) ร.ต.ต.เสฏฐวุฒิ คู่นพคุณ ร้อยเวร สน.ท่าเรือ  ได้รับการร้องทุกข์เพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานจาก นายอนันต์ รัตนพันธ์ หัวหน้ากลุ่มพลังสร้างสรรค์พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมพนักงานการท่าเรือประมาณ 100 คน หลังพบว่าพวกตนไม่มีรายชื่อในการลงคะแนนเลือกตั้งกรรมการสหภาพแรงงานรัฐ วิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่มีการเลือกตั้งกันในวันนี้

โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่ง ประเทศไทย อ้างว่าพวกตนทั้ง 166 คนถูกปลดพ้นสภาพสมาชิกจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 2554 ที่จังหวัดระนอง ในมติลงความเห็นว่าพวกตนกระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อสหภาพแรงงานฯ แต่ตนได้นำหนังสือ ด่วนที่สุดจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ รง. 0509/010530 เรื่องขอให้นายทะเบียนมีคำสั่งให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่า เรือแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามคำวินิจฉัย  หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยนายปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย คืนสิทธิให้สมาชิกเพื่อให้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเพื่อลงมติเลือกตั้ง กรรมการ แต่ไม่เป็นผลจึงเดินทางมาร้องทุกข์ไว้ก่อน

(เดลินิวส์, 30-11-2555)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net