Skip to main content
sharethis
 
2 ธ.ค. 55 - จากกรณีที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชนภายหลังตรวจเยี่ยมสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ได้รายงานความคืบหน้าการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อิสระ หรือไอพีพีรอบ 3 ที่จะเปิดขายซองเอกสารเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าเอกชน (RFP Package) วันที่ 20 ธันวาคมนี้ และเปิดให้ยื่นข้อเสนอวันที่ 12 มีนาคม 2556 และจัดประมูลเพื่อคัดเลือกในเดือนมิถุนายน 2556 
 
นายพงษ์ศักดิ์ระบุว่าการประมูลครั้งนี้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งจะเปิดรับซื้อไฟจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงการผลิตทั้งหมดขนาด 5,400 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 6 โรง เงินลงทุนประมาณ 1.13 แสนล้านบาท" ทั้งนี้นายพงษ์ศักดิ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มอีก 10,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะจากประเทศลาวและพม่า 
 
ด้านนายวิบูลย์ คูหิรัญ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแผนรองรับภาวะวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้า วุฒิสภา ระบุว่าตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เห็นชอบให้มีการรับซื้อไฟจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงการผลิตทั้งหมดขนาด 5,400 เมกะวัตต์นั้น ซึ่งแม้จะเป็นไปตามแผน PDP 2010 ปรับปรุงใหม่ครั้งที่ 3 ก่อนที่รัฐมนตรีพงษ์ศักดิ์จะเข้ารับตำแหน่งก็ตาม และจะให้ลดสัดส่วนการใช้ก๊าซโดยให้ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ 10,000 เมกะวัตต์นั้น
 
นายวิบูลย์ระบุว่าคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแผนรองรับภาวะวิกฤตด้านพลังงานไฟฟ้า วุฒิสภา ไม่เห็นด้วยในการที่จะไปเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ควรหันไปใช้ถ่านหินสะอาดเป็นเชื้อเพลิง เพราะ
 
1. เห็นด้วยที่จะซื้อพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน 10,000 เมกะวัตต์ เพราะจะได้เฉลี่ยให้สัดส่วนการใช้พลังงานจากก๊าซลดลง แต่กระนั้นต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่จะซื้อซื้อพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านว่ายังต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน
 
2. การที่จะให้ประมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซจะยิ่งเป็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซ ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนถึง 68% ไปแล้ว
 
3. การเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซอาจจะส่งผลกระทบต่อเรื่องสเถียรภาพการใช้ไฟฟ้า เช่น อาจจะเกิดปัญหาไฟฟ้าดับ มากขึ้น
 
4. การใช้ก๊าซเพิ่มอาจจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งจะต้องทำให้เกิดการสั่งซื้อก๊าซจากต่างประเทศ เช่น ก๊าซ LNG ซึ่งมีราคาสูง และอาจจะส่งผลกระทบต่อการขึ้นราคาค่าไฟ
 
5. การใช้ก๊าซเพิ่มก็คือการให้โรงไฟฟ้า IPP ใช้เครื่องผลิตชนิด Combined Cycle ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง แต่หากเกิดปัญหาไฟฟ้าดับขึ้น การกู้กลับมาก็จะทำยากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีระบบ Combined Cycle จำนวนมาก เช่นกรณีที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ในต่างประเทศก็มีการลดสัดส่วนการใช้โรงไฟฟ้าระบบ Combined Cycle ลง
 
นายวิบูลย์ระบุว่าจากเหตุผลขั้นต้นจึงเห็นควรควรชะลอหรือเปลี่ยนเป็นการประมูลใช้ถ่านหินสะอาดไปก่อน ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกกว่าการใช้ก๊าซ 
 
 
ที่มา: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net