ชาวบ้านกรณีปัญหาเขตป่าฯ ทับที่ทำกิน ร่วม อปท.จัดงานเรียนรู้วิถีชุมชน

“มหกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน ฟื้นฟูผืนป่า รักษาผืนน้ำปกป้องผืนดินป่าอีสานตะวันตก” ณ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ภาครัฐ และ อปท.เพื่อผสานความเข้าใจในวิถีการอนุรักษ์ของคนอยู่กับป่า

 
จากรอยแผลกว่า 30 ปี ของปัญหาการประกาศเขตป่าฯ ทับที่ทำกิน มาถึงความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการเปิดประตูผืนป่าอีสานตะวันตกสู่เส้นทางเรียนรู้นิเวศวัฒนธรรมภูผาแดง ปัจจุบัน ‘งานมหกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน ฟื้นฟูผืนป่า รักษาผืนน้ำปกป้องผืนดินป่าอีสานตะวันตก’ ด้วยความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างภาครัฐต่อชุมชน ได้เชื่อมความเข้าใจในวิถีการอนุรักษ์และการดำเนินชีวิตของคนอยู่กับป่า
 
เมื่อวันที่ 1 – 2 ธ.ค.55 เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าภูผาแดง และศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศ
วัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) จัดงาน “มหกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน ฟื้นฟูผืนป่า รักษาผืนน้ำปกป้องผืนดินป่าอีสานตะวันตก” ณ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว โดยมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมสนับสนุน อาทิ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูผาแดง อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว องค์การบริหารส่วนตำบลลานบ่า องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านติ้ว โรงพยาบาลชุมชนบ้านห้วยระหงส์ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนในพื้นที่เข้าร่วม เช่น โรงเรียนบ้านวังยาว โรงเรียนบ้านปากดุก เป็นต้น
 
อรนุช ผลภิญโญ ผู้ประสานงานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูนิเวศวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ ชี้ถึงวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ ว่า เพื่อเป็นการรณรงค์ให้หน่วยงานต่างๆ ได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเชื่อมร้อยให้เกิดความเข้าใจในวิถีของคนที่อยู่กับป่าในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกป่า
 
เนื่องด้วยบริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์โดยเฉพาะเขตผืนป่าอีสานตะวันตกซึ่งเป็นต้นน้ำสายเลือดสำคัญของภาคอีสาน ดังเช่นลำน้ำเซินซึ่งเป็นต้นน้ำสายสำคัญของลำน้ำชี ด้วยความสมบูรณ์ ที่หลากหลายไปด้วยพันธ์พืช พันธ์สัตว์ ทำให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่ทั้งอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทับที่ทำกินและต้องอพยพคนในชุมชนออกจากพื้นที่ กลายเป็นปัญหาพิพาทขัดแย้งระหว่างรัฐและชุมชนดั้งเดิม นับจากปี 2542 ต่อเนื่องมาถึงการใช้กำลังเข้ามาจับกุม ดำเนินคดีกับชาวบ้าน ที่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตป่า เมื่อปี 2548
 
 
กิจกรรมในงานยังมีการจัดเสวนา “วิถีชุมชนกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ชาวบ้าน นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน เข้าร่วมเป็นวิทยากรเพื่อร่วมสร้างความเข้าใจ ผ่านการแลกเปลี่ยนซึ่งกัน และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป อาทิ นายประยงค์ ดอกลำไยผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้อำนวยการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน นายวิสูตร อยู่คง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษกลุ่มงานวิชาการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 9 อุบลราชธานี ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล และนายหนูเกณ จันทาสี ผู้ประสานงานโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดงลาน รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตป่า
 
อรนุช กล่าวด้วยว่า ภายในงานนอกจากมีวงเสนาดังกล่าวแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งวัน ทั้งการประกวดทำอาหาร ประกวดวาดภาพ เรียงความ โดยฝีมือของนักเรียนที่เข้าร่วมงาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อวิถีชีวิตชุมชนรวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ต่อความงดงามทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
ที่มากไปกว่านั้นยังมีทริปท่องเที่ยวพิเศษกับมัคคุเทศก์น้อย ตามเส้นทางนิเวศวัฒนธรรมภูผาแดง เพื่อศึกษาถึงความเป็นอยู่ของชุมชนกับป่าที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ต่อเนื่องจากโครงการก่อนหน้านี้ที่ทางชุมชนได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐเปิดโปรแกรม “เปิดประตูสู่ผืนป่าอีสานตะวันตก สู่เส้นทางเรียนรู้นิเวศวัฒนธรรมภูผาแดง” เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.54 ณ เชิงสะพานห้วยตอง ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงสานต่อให้เกิดความต่อเนื่องจึงได้มหกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน ฟื้นฟูผืนป่า ขึ้นมาอีกครั้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท