Skip to main content
sharethis

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. กล่าวถึงความคืบหน้าการออกหลักเกณ์การประมูลทีวีดิจิตอลว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุราคาตั้งต้นการประมูลช่องรายการของทีวีดิจิตอลช่องบริการธุรกิจได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) จัดทำมาให้ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนช่วงเดือน ก.พ.2556 จากกำหนดเดิม ธ.ค.2555 จากนั้นจะให้ใบอนุญาตผู้ประกอบการจัดสรรช่องบริการในหมวดชุมชนในช่วงปลายปี 2555 และจัดสรรช่องรายการในหมวดบริการสาธารณะ ในเดือน ม.ค.2556 การเปิดประมูลช่องบริการในหมวดธุรกิจช่วงเดือน มี.ค.- เม.ย.2556

ทั้งนี้ จำนวนช่องประกอบด้วย ช่องบริการสาธารณะ 12 ช่อง บริการชุมชน 12 ช่อง รวมทั้งช่องบริการธุรกิจที่ให้เผยแพร่รายการเป็นการทั่วไปแบบปกติ 20 ช่อง และในแบบความคมชัดคุณภาพสูงรายการคมชัดสูง หรือไฮเดฟิเนชั่น 4 ช่อง

ประธาน กสท. กล่าวต่อว่า วานนี้ (3 ธ.ค.) กสท. จัดทำบันทึกความเข้าใจ เรื่องความร่วมมือในการทดลองระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ระหว่างสำนักงาน กสทช.  สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (ช่อง 9) และกรมประชาสัมพันธ์ (ช่อง 11) เพื่อการทดลองอุปกรณ์โครงข่ายระบบวิทยุโทรทัศน์ร่วมกัน โดยมุ่งหวังว่า ความรู้ที่ได้จากการทดลองจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนา การใช้ หรือการให้บริการระบบวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล การใช้โครงข่ายร่วมกัน และการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลต่อไป

ทั้งนี้ กสทช. ได้ประกาศใช้แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (ปี2555-2559) เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา โดยกำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และได้ออกประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องหลายฉบับรวมทั้ง ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว เนื่องจากคลื่นความถี่วิทยุเป็นทรัพยากรที่จำกัด จึงมีความจำเป็นต้องให้เกิดการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณในระบบดิจิตอล จึงจำเป็นต้องทดลองอุปกรณ์โครงข่าย ระบบวิทยุกระจายเสียง และระบบวิทยุโทรทัศน์ร่วมกัน

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งมีวัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือดังต่อไปนี้ 1.การดำเนินการทดลองอุปกรณ์ระบบการรับส่งสัญญาณฯ ในระบบดิจิตอล 2.การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบการรับส่งสัญญาณฯ ในระบบดิจิตอล 3.การสนับสนุน และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล 4.การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับส่งสัญญาณฯ ในระบบดิจิตอล โดยเริ่มนำร่อง 2 พื้นที่ คือ 1.กรุงเทพฯ และ 2.เชียงใหม่ มีกรอบระยะเวลาทดลอง 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค.2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net