Spaun สมองเทียมที่เลียนแบบทั้งความสามารถและข้อบกพร่องของมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ ม.วอเตอร์ลู แคนาดา สร้างซอฟท์แวร์จำลองการทำงานสมองมนุษย์ด้วยเซลล์ประสาทเทียม 2.5 ล้านเซลล์ชื่อ Spaun ซึ่งมีความสามารถในการโต้ตอบ คิดเลข แต่ก็ทำพลาดหรือมีควมลังเลแบบมนุษย์จริงอยู่ เหมาะกับการพัฒนาเพื่อทดสอบด้านสุขภาวะและการพัฒนาระบบหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์

เมื่อปลายเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา วารสารวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้นำเสนอเรื่องที่ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู ประเทศแคนาดา ได้สร้างซอฟท์แวร์จำลองสมองของมนุษย์ขึ้นมาในชื่อว่า Spaun ซึ่งทำจากเซลล์ประสาทเทียม 2.5 ล้านเซลล์ (เทียบกับสมองของคน 100 พันล้านเซลล์) มีทั้งความสามารถและข้อบกพร่องแบบเดียวกับสมองของมนุษย์

คริส อิไลสมิทธ์ วิศวกรและนักประสาทวิทยา จากม.วอเตอร์ลู กล่าวว่า Spaun สามารถเล่นเกมที่มีรูปแบบง่ายๆ วาดในสิ่งที่เห็น และคิดเลขในใจได้เล็กน้อย แต่สิ่งที่ทำให้เขาแปลกใจไม่ใช่ความสามารถของสมองนี้ แต่เป็นการที่มันทำผิดพลาดได้เหมือนมนุษย์

เมื่อถามคำถาม Spaun มันจะหยุดอยู่ชั่วครู่หนึ่งในเวลาเช่นเดียวกับที่คนหยุดก่อนจะให้คำตอบ เมื่อให้ Spaun จดจำรายการตัวเลข มันจะเริ่มตอบตะกุกตะกักเมื่อให้รายการตัวเลขยาวเกินไป และ Spaun ก็สามารถจดจำตัวเลขตั้งแต่ช่วงต้นและช่วงท้ายได้มากกว่าตัวเลขช่วงกลาง เช่นเดียวกับมนุษย์เรา

อิไลสมิทธ์ กล่าวว่าสมองจำลองนี้มีรายละเอียดพฤติกรรมในแบบของมนุษย์ แม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับสมองของมนุษย์ แต่ก็สามารถทำอะไรหลายอย่างในแบบที่มนุษย์ทำได้

ทีมนักประสาทวิทยาจากวอเตอร์ลูบอกว่า Spaun เป็นแบบจำลองสมองชิ้นแรกที่ทั้งสามารถทำงานและมีลักษณะพฤติกรรม พวกเขาต้องการใช้มันในการศึกษาการทำงานของสมองมนุษย์ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ยังสามารถใช้การกระตุ้นเฉพาะส่วนเพื่อตรวจหาความผิดปกติทางสมองหรือทดสอบการใช้ยาทางจิตเวทย์ด้วย Spaun ได้

Spaun ถูกโปรแกรมมาให้โต้ตอบคำขอ 8 อย่าง เช่น การบอกว่ามันมองเห็นอะไร, จดจำตัวเลขที่ถูกเขียนด้วยลายมือต่างกัน, ตอบคำถามเกี่ยวกับรายการตัวเลขและทำตามแบบหลังจากเห็นตัวอย่างแล้ว

อิไลสมิทธ์บอกอีกว่าความสามารถเหล่านี้แสดงให้เห็นทักษะหลากหลายที่สมองมนุษย์สามารถทำได้ และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์นำไปพัฒนาความยืดหยุ่นให้กับหุ่นยนต์หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ได้ เนื่องจากระบบปัญญาประดิษฐ์ในตอนนี้มีแค่ความสามารถเฉพาะอย่างแต่ไม่สามารถสับเปลี่ยนการทำไปทำอย่างอื่นได้

และจากการที่ Spaun มีการเลียนแบบให้ใกล้เคียงโครงสร้างเซลล์สมองของคนอย่างมาก ทำให้สามารถใช้ศึกษาในเรื่องสุขภาพแทนการใช้คนจริงซึ่งเป็นเรื่องผิดศีลธรรม โดยล่าสุดอิไลสมิทธ์ได้ทำการทดลองกำจัดเซลล์ของ Spaun ในระดับเดียวกับการเสื่อมสภาพของเซลล์ประสาทในสมองคนจริงเมื่ออายุมากขึ้น เพื่อดูว่าการตายของเซลล์กระทบต่อการทดสอลสติปัญญาหรือความสามารถหรือไม่

อิไลสมิทธ์บอกว่าการทดลองกับ Spaun เป็นเพียงก้าวแรกของการทดลองในระยะยาว สมองของมนุษย์จริงยังคงซับซ้อนกว่าแบบจำลอง และหากนักวิทยาศาสตร์ยังคงพัฒนาแบบจำลองสมองไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นช่องทางที่ดีในการศึกษาด้านสุขภาวะได้

Spaun ทำงานด้วยระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของม.วอเตอร์ลู มันต้องใช้พลังในการประมวลผลสุงมากในการทำงานเล็กๆ น้อยๆ และคอมพิวเตอร์ก็ใช้เวลาทำงานสองชั่วโมงในการจำลอง Spaun หนึ่งวินาที ดังนั้นงานลำดับต่อไปของนักวิจัยคือการพัฒนาฮาร์ดแวร์เพื่อให้แบบจำลองทำงานได้รวดเร็วแบบเรียลไทม์

อิไลสมิทธ์บอกว่าในอนาคต Spaun อาจถูกนำไปใช้สร้างเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยจากการที่มันมีข้อบกพร่องในแบบมนุษย์ เพราะการที่มันมีลักษณะความจำในแบบที่คนเราคุ้นเคย จะทำให้คนเราปฏิสัมพันธ์กับมันได้อย่างเป็นธรรมชาติกว่า

เรียงเรียงจาก

Artificial Brain Mimics Human Abilities and Flaws, TechNewsDaily, 29-11-2012
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท