Skip to main content
sharethis

2 สื่อที่ถูกคุมตัววันสลายการชุมนุม 'ม็อบเสธอ้าย' ให้ข้อมูล อนุกมธ.หาข้อเท็จจริงฯ ยัน ผู้ชุมนุมยังไม่มีท่าทีคุกคาม ส่วน จนท.ไม่มีการประกาศใช้แก๊สน้ำตาก่อน แต่เหตุคุมตัวสื่ออาจเข้าใจผิด เพราะสีปลอกแขนคล้ายการ์ดผู้ชุมนุม 

 
 
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 55  นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาในฐานะ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภคและคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาธิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า หลังสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย ยื่นเรื่อง ให้ กมธ. สิทธิมนุษยชนฯตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งเจ้าหน้าที่ ได้ใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุม และสื่อมวลชน ทั้งสองคณะกรรมาธิการฯ มีมติตั้งคณะอนุกรรมการร่วมกันฝ่ายละ 5 คน มีตนเป็นประธานฯ และยังมีนักวิชาการ นักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชนร่วมด้วย ซึ่งในการประชุมอนุกรรมาธิการครั้งแรกวันนี้ได้เชิญผู้สื่อข่าว คือ ช่างภาพจาก TPBS และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันมาเป็นผู้ให้ข้อมูล
 
นายพัฒนศักดิ์ วรเดช ช่างภาพ TPBS และ นาย สันติ เต๊เตี๊ยะ จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ได้ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ในวันที่ 24 พ.ย.55 ขณะเกิดเหตุบริเวณสะพานมัฆวาน กลุ่มผู้ชุมนุมพยายามตัดลวดหนามและระหว่างที่ผู้ชุมนุมจะฝ่าเข้าไปที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามให้ผู้ชุมนุมใช้เส้นทางอื่นในการเข้าไปร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมหลักบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า แต่ผู้ชุมนุมดึงดันไม่ยอม ยืนยันจะเข้าไปทางนี้ให้ได้ จากนั้นจึงมีการขว้างแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งทั้งสองพยายามจะวิ่งฝ่าเข้าไปหาตำรวจเพื่อความปลอดภัยของตัวเองแต่ก็ถูกทำร้ายโดยกระบอง และกล้องก็หายจากมือไป ในระหว่างนั้นทั้งสองพยายามตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ว่าเป็นนักข่าวอยู่ตลอดเวลา แต่สุดท้ายก็ถูกจับกุมโดยถูกขังรวมกับผู้ชุมนุมอื่นๆ โดยบนรถคุมตัวมีนักข่าว 3 คน  เป็นนักข่าวจาก DNN อีกหนึ่งคน ที่คุมขังในรถมีสภาพอึดอัดมากเพราะไม่มีอากาสหายใจ 
 
"พยายามตะโกนว่าเป็นสื่อแต่ไม่มีใครฟัง ทั้งๆที่พยายามโชว์บัตรนักข่าวให้เจ้าหน้าที่ดูด้วย" ผู้ให้ข้อมูลคนหนึ่งกล่าว และว่าจนกระทั่งมีนักข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกับนักข่าวจากสำนักข่าวของตัวเองมายืนยันจึงได้รับการปล่อยตัวหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง 
 
ทางคณะกรรมาธิการได้ตั้งคำถามถึงประสบการณ์ในการทำข่าวในพื้นที่การชุมนุม ทั้งสองยืนยันว่ามีประสบการณ์และเข้าใจในขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการประกาศว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตาแต่อย่างใด นอกจากนี้ ยังมีการระบุว่า แก๊สน้ำตาที่ผู้ชุมนุมนำมาขว้างใส่ตำรวจนั้นเป็นแก๊สน้ำตาที่ตำรวจปาเข้ามาแล้วผู้ชุมนุมปากลับไปแต่ทิศทางลมไม่เป็นใจทำให้ควันส่วนใหญ่พัดไปทางฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง และในขณะที่มีการปาแก๊สน้ำตารถของผู้ชุมนุมยังไม่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ตำรวจประจำอยู่เลย
 
ในระหว่างการให้ข้อมูล คณะอนุกรรมาธิการพยายามถามคำถามเกี่ยวกับการลำดับเข้าจัดการกับผู้ชุมนุมว่า มีการเจรจา การฉีดน้ำ การเปิดรถคลื่นเสียง หรือการประกาศจะมีการใช้แก๊สน้ำตาต่อผู้ชุมนุมหรือไม่ ทั้งสองยืนยันว่า ไม่มีขั้นตอนดังกล่าวและผู้ชุมนุมไม่ได้มีท่าทีเป็นภัยต่อความมั่นคง ไม่ได้ตระเตรียมการเข้าไปทำร้ายบุคคลสำคัญของรัฐบาลแต่อย่างใด และเมื่อคณะอนุกรรมาธิการพยายามจะถามเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ชุมนุมและการปลุกระดมจากแกนนำของทั้งสองฝ่าย ช่างภาพจากสองสำนักข่าว กล่าวว่า จากจุดที่อยู่ไม่มีการพูดปลุกระดมจากทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด
 
นายสันติ ช่างภาพจากผู้จัดการายวัน ระบุถึงปัญหาในที่ชุมนุมอีกว่า อาจจะมีการเข้าใจผิดเพราะทางผู้ชุมนุมได้แจกปลอกแขนให้แก่สื่อมวลชนเป็นสีเหลือง ซึ่งเหมือนกับของการ์ด จึงอาจจะก่อให้เกิดความสับสนของเจ้าหน้าที่ได้ ก่อนจบการให้ข้อมูล ประธานคณะอนุกรรมาธิการได้ขอให้ทั้งสองนำภาพถ่ายวีดีโอจากกล้องของตัวเองมาให้กับคณะอนุกรรมาธิการและให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกับ กทม.เพื่อขอข้อมูลจากกล้อง CCTV ด้วย ทั้งนี้ ในการตรวจสอบครั้งต่อไปจะได้เชิญ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและนักข่าวอื่นๆที่เป็นพยานในที่เกิดเหตุมาให้ปากคำในวันที่ 11 ธันวาคม 2555 
 
 
ที่มาภาพและข่าว: เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net