Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สงครามกลางเมือง
จุดกำเนิดของความขัดแย้งระหว่างสองชาติพันธุ์ ได้ฝังรากลึกในประวัติศาสตร์รวันดามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในช่วงระหว่างปี 1959 ถึง 1973 ชาวตุ๊ดซี่หลายพันคนถูกเนรเทศออกจากประเทศ โดยรัฐบาลที่มีชาวฮูตูเป็นผู้นำ ประชาชนที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศนี้รู้จักในชื่อว่า Banyarwanda ซึ่งแปลว่า “ประชาชนชาวรวันดา” (ภาษาเคินยารวันดา) คนเหล่านี้ได้อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อูกันดา เบอรันดี และแทนเซเนีย การเนรเทศชาวตุ๊ดซี่ นับเป็นสาเหตุหลักของสงครามกลางเมืองได้ถือกำเนิดในปี 1990

ในยุค 1980 ชาวตุ๊ดซี่ที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศได้ก่อตั้งกลุ่มแนวหน้ารักชาติรวันดา (RPF) โดยมีวัตถุประสงค์ในการแทรกแซงและรุกรานรวันดา เพื่อให้ชาวตุ๊ดซี่ที่ถูกเนรเทศได้กลับเข้าไปอยู่ในประเทศ เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกการเลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่อย่างไม่เป็นธรรม และที่สำคัญเพื่อเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลได้ปฏิรูประบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่สามารถทำให้ทั้งสองชาติพันธุ์ได้มีโอกาสปกครองประเทศร่วมกัน

ก่อนหน้าที่จะมีข้อตกลงสงบศึก ปี 1993 ประธานาธิบดีจูเวินนอล ฮาเบียริมานา (Juvenal Habyarimana) และพรรคปฏิรูปเพื่อการพัฒนา (MRND) ได้ต่อต้านการกลับเข้าประเทศของชาวตุ๊ดซี่ ที่ถูกเนรเทศ และต้องการอำนาจการปกครองให้คงอยู่กับชาวฮูตูต่อไป ชาวฮูตูหัวรุนแรงในรัฐบาล พรรค MRND และพรรคการเมืองอื่นๆได้ก่อตั้งกลุ่มทหารกองหนุนเพื่อที่จะสอบสวนความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากชาวตุ๊ดซี่และประนีประนอมกับชาวฮูตูบางส่วนที่ต่อต้านรัฐบาล กลุ่มทหารกองหนุนนี้รู้จักในนามของ The Interahamwe หมายถึง บุคคลซึ่งอยู่เคียงข้างกัน (ภาษาเคินยารวันดา) และมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้สงครามกลางเมืองซึ่งเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 1994

ผู้นำทางการเมืองและการทหาร สมาชิกของกลุ่มหัวรุนแรงและประชนในรวันดาต่างก็มีความคิดในการปกครองประเทศไม่เหมือนกัน ชาวฮูตูหัวรุนแรงต้องการที่จะกำจัดชาวตุ๊ดซี่ออกจากประเทศ และรักษาอำนาจเหนือที่ดินและรัฐบาล ชาวฮูตูทั่วไปซึ่งเหยียดเชื้อชาติน้อยกว่าพวกหัวรุนแรงต้องการที่จะมีส่วนในการปกครองประเทศร่วมกับชาวตุ๊ดซี่ เช่นเดียวกันกับชาวตุ๊ดซี่ซึ่งชื่นชอบความคิดให้มีรัฐบาลพรรคร่วมที่ทำให้ชาวตุ๊ดซี่และฮูตูมีส่วนในรัฐบาลและในการปกครองประเทศด้วยกัน แต่ยังมีชาวตุ๊ดซี่บางส่วนกลับเห็นตรงกันข้ามว่าชาวตุ๊ดซี่ควรจะเป็นชนเผ่าที่ปกครองประเทศแต่ผู้เดียว แต่โดยทั่วไปแล้วชาวฮูตูและตุ๊ดซี่เชื่อกันว่าหลังจากที่อาศัยอยู่ในรวันดาร่วมกันเป็นเวลา 1,000 ปี ทั้งสองชนเผ่าจะต้องแบ่งที่ดินให้กันและกันเพื่ออยู่ร่วมกัน

ชาวรวันดาที่ต้องการความสงบไม่เห็นด้วยกับกลุ่มทหารหรือกลุ่มการเมืองไหนที่สร้างความขัดแย้งแตกแยก พวกเขาเชื่อว่าความขัดแย้งของประเทศนั้นเกิดขึ้นเนื่องมาจากการเมืองมากกว่าความแตกต่างของชาติพันธุ์ เพราะเมื่อสงครามได้ถือกำเนิดขึ้น ชาวฮูตูและตุ๊ดซี่บางส่วนเพิกเฉยต่อคำโฆษณาชวนเชื่อของพวกหัวรุนแรงและหันมาช่วยชีวิตซึ่งกันและกันในสงครามกลางเมือง มีเพียงบางส่วนที่หลงผิดตามคำโฆษณาชวนเชื่อได้รุกฆาตฆ่าฟันเพื่อนของตนและคนใกล้ชิดรวมทั้งเพื่อนบ้านเพียงแค่เพราะคนเหล่านี้ต่างกันทางชาติพันธุ์เท่านั้น

ในปี 1990 สภาพปัญหาทางชนเผ่าได้ขยายตัวเติบโตกลายเป็นสงครามกลางเมือง ผู้เข้าร่วมสงครามประกอบด้วย กลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาวฮูตู หรือมีชื่อย่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า FAR และกลุ่มกองกำลังชาวตุ๊ดซี่ ที่เคยถูกเนรเทศจากรวันดาซึ่งรู้จักในนามของกลุ่มแนวหน้ารักชาติรวันดา หรือ RPF ความขัดแย้งนี้ยังคงรุนแรงต่อเนื่องจนกระทั่งปี 1993 ซึ่งเป็นปีที่ทั้งสองกลุ่มได้ลงนามในข้อตกลงสงบศึก แต่เมื่อเดือนเมษายน 1994 หลังจากเกิดความสงบสุขได้เพียง 8 เดือน สงครามกลางเมืองกลับประทุรุนแรงขึ้นอีกครั้งซึ่งรุนแรงจนเป็นที่จับตามองของประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด

การรุกฆาตต่อสู้และฆ่าฟันต่อกันใช้เวลายาวนานถึง 14 สัปดาห์ได้คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 500,000 คน ความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้ชาวรวันดาถูกกดดันให้ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่คิดว่าปลอดภัย แต่สุดท้ายประชาชนกลุ่มนี้ลงเอยด้วยการไปอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัย ซึ่งตั้งอยู่นอกรวันดาหรือไม่ก็ไปรวมในแคมป์ผู้ไม่มีถิ่นฐาน ในสถานที่พักชั่วคราวแห่งนี้ได้รวมผู้ลี้ภัยจำนวนมากทุกกลุ่มทุกวัย บางกลุ่มได้สร้างที่พักขึ้นมาใหม่มีลักษณะคล้ายเต๊นท์ ได้รับบริจาคอาหาร น้ำ ยารักษาโรคและเครื่องใช้อื่นๆ เท่าที่จำเป็นในการดำรงชีพเท่านั้น การใช้ชีวิตในแคมป์ผู้ลี้ภัยต้องประสบกับภาวะอดยาก เนื่องจากการขาดแคลนทั้งอาหาร ยารักษาโรคส่วนใหญ่จึงมีสุขอนามัยที่เลวร้าย ส่งผลให้ชาวรวันดาในหลายๆแคมป์เสียชีวิตลงจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง แม้ภายหลังที่สงครามได้สิ้นสุดลงไปแล้วหลายเดือนแต่ผู้อพยพในแคมป์ก็ยังเสียเสียชีวิตลงอย่างต่อเนื่องตลอดมา

สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า
ที่เมือง Goma – Zaire ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา มีร่างของผู้เสียชีวิตและร่างที่กำลังเน่าเปื่อย ได้ทับถมกันแนวยาวตลอดช่วงถนน เพื่อรอรถบรรทุกขนลำเลียงไปยังสุสาน ขนาดใหญ่ และหากมองไปยังกลางถนนอีกหลายเส้นยังคลาคล่ำไปด้วยกลุ่มคนชาวรวันดาที่รอดชีวิตจากโรคภัยและสงครามกลางเมือง แต่ต้องพบกับสภาพเป็นผู้หิวโหยและอ่อนล้าอีกหลายพันคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮูตู ที่เดินทางไกลร่วม 150 ไมล์เพื่อหลบหนีกองกำลังของชาวตุ๊ดซี่ ที่ต่อสู้เพื่อจะได้ปกครองรวันดา กองกำลังชาวตุ๊ดซี่ รู้จักในนามของ RPF ได้ตระเวนไปทั่วรวันดาเพื่อค้นหากลุ่มบุคคลที่รุกฆาตเข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่ ที่ได้เกิดขึ้นในเดือนเมษายน ปี 1994 ซึ่งได้ทำให้ชาวตุ๊ดซี่ไม่ต่ำกว่า 5 แสนคนและชาวฮูตูจำนวนหนึ่งเสียชีวิต

การหลบหนีของชาวรวันดาได้รวมประชาชนทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ บางคนแต่งกายด้วยชุดสูทและกระโปรงราคาแพง บางคนสวมใส่เสื้อผ้าขาดรุ่งลิ่ง เพราะถูกฉีกกระชาก หลายคนเปื้อนดินจากการทำงานในทุ่งนา หลายๆคนเดินเท้าเปล่า จนบวมและเจ็บปวดอันเนื่องมาจากจากการเดินทางไกลอย่างยาวนาน ด้วยความยากลำบาก บางคนถือของส่วนตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีอะไรเหลือนอกจากเสื้อผ้าที่อยู่บนหลัง บ่อยครั้งที่บางคนเหนื่อยอ่อนจากการแบกของส่วนตัวและต้องยอมทิ้งระหว่างทาง และบางครั้งก็ละทิ้งลูกหลาน ผลที่ตามมาคือนำไปสู่การจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า

สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าตั้งอยู่ที่ใจกลางรวันดารับเลี้ยงเด็กประมาณ 250 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวตุ๊ดซี่ ต้องพบกับสภาวะอดอยาก มื้อเย็นมีแต่ข้าวต้มแข็งๆสีเขียว หลังจากทานมื้อเย็นและอาบน้ำเสร็จ หมออาสาสมัครจะเข้าไปตรวจเด็ก ซึ่งเด็กบางคนต้องทุกข์ทรมานจากการติดโรค ทั้งเอดส์ วัณโรค และมาเลเรีย นี่เป็นกิจวัตรประจำวันของเด็กกำพร้าในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าหนึ่งในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าอื่นๆอีกประมาณ 100 แห่งในรวันดา ส่วนในประเทศเพื่อนบ้าน สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับแคมป์ผู้ลี้ภัยที่มีอยู่รายรอบรวันดา กลายเป็นบ้านของเด็กๆราว 1 ล้านคน ในช่วงวิกฤตสงครามกลางเมือง เด็กกำพร้าหลายคนที่หนีจากรวันดา ไปพร้อมๆกับญาติพี่น้อง แต่ก็มีหลายร้อยคนจากหลายพันคน ที่กลายเป็นเด็กกำพร้าหรือถูกแยกจากพ่อแม่ของตนในช่วงสงคราม เด็กบางคนเห็นพ่อแม่ของตนถูกฆ่าในขณะที่เด็กบางคนถูกพ่อแม่ทอดทิ้งเนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงหรือดูแลเด็กเหล่านี้ได้อีก

ความสงบสุขพังทลายลง
เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่ ประธานาธิบดี Juvenal Habyarimana มีอำนาจปกครองเหนือรวันดาในฐานะพรรคการเมืองพรรคเดียว รัฐบาลนี้ได้เลือกปฏิบัติต่อชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูที่ไม่ได้มาจากบ้านเกิดของตน และยังกีดกันไม่ให้ชาวตุ๊ดซี่ที่ถูกเนรเทศจากประเทศเบอรันดี อูกันดา และแทนเซเนีย กลับเข้ามาในรวันดา ดังนั้นนับตั้งแต่ปี 1990 RPF (กองกำลังชาวตุ๊ดซี่) ได้ต่อสู้กับรัฐบาลของประธานาธิบดี Juvenal Habyarimanaไม่เพียงแต่มุ่งให้ประชาชนที่ถูกเนรเทศได้กลับมาประเทศเท่านั้น แต่ยังมุ่งหมายที่จะก่อตั้งรัฐบาลผสมที่นำมาซึ่งการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อสมาชิกของทั้งสองชนเผ่า

สามปีผ่านไปหลังจากการต่อสู้ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในภูมิภาคห่างไกล ทำให้สมาชิกของ RPF(กองกำลังชาวตุ๊ดซี่) และฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดี Habyarimana ได้ลงนามสัญญาสงบศึก เรียกว่า “ข้อตกลงความสงบอรูชา” (Arusha Peace Agreement) ข้อตกลงนี้มีผลบังคับ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1993 กำหนดการวางแผนอนุญาตให้ชาวตุ๊ดซี่ที่เคยถูกเนรเทศให้กลับมาบ้านและให้รวมกองกำลัง RPF ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวตุ๊ดซี่กับกองกำลังรวันดา (FAR) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮูตูเป็นกองกำลังเดียวกัน นอกเหนือจากนั้น ข้อตกลงได้สร้างแผนซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งหลายพรรคการเมืองในปี 1995 หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ ประชาชนชาวรวันดาสามารถเลือกรัฐบาลซึ่งประกอบไปด้วยชาวฮูตูและตุ๊ดซี่ ได้เพื่อให้ปกครองประเทศร่วมกัน

ชาวรวันดาบางคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกหัวรุนแรงชาวฮูตูภายในรัฐบาล Habyarimana และ พรรคการเมือง MRND ไม่พอใจกับข้อตกลงสงบศึกนี้ กลุ่มหัวรุนแรงชาวฮูตูนั้นต่อต้านที่จะแบ่งอำนาจให้ประชาชนรวันดาที่เป็นชาวตุ๊ดซี่ หรือพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งๆที่ประชาชนรวันดาส่วนใหญ่จากทั้งสองชนเผ่าหวังว่าข้อตกลงความสงบนี้ จะยุติความขัดแย้งที่รุนแรง ระหว่างชาวตุ๊ดซี่และฮูตูลงได้ ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ในครั้งนี้ Faustin Twagiramungu นักการเมืองชาวฮูตูซึ่งไม่ได้เป็นพวกหัวรุนแรงได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการชั่วคราวในช่วงเวลา 18 เดือน ซึ่งเป็นระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมือง เพื่อเดินเข้าสู่การเลือกตั้งที่มีพรรคการเมืองผสมจะเกิดขึ้น ผู้คนหวังว่า Faustin Twagiramungu จะเป็นผู้นำรัฐบาลที่สามารถนำพาประเทศไปสู่สันติสุข และยุติความขัดแย้งของชนเผ่าลงได้ การลงนามในข้อตกลงความสงบอรูชา ดูเหมือนว่ารวันดาเกือบจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางชนเผ่าได้สำเร็จ แต่ด้วยเหตุบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะเมื่อเดือนเมษายน 1994 ประธานาธิบดี Habyarimana เสียชีวิตลงเพราะเครื่องบินตกอย่างปริศนา ซึ่งมองกันว่าเป็นการปองร้ายของอีกฝ่ายหนึ่ง ด้วยเหตุดังกล่าวส่งผลทำให้สงครามกลางเมืองปะทุกลับมาอีกครั้ง ความรุนแรงครั้งใหม่นี้ได้ขยายไปทั่ว ประเทศ ทั้งพลเรือน ทั้งกองกำลัง และทหารจำนวนมาก มีส่วนร่วมในการต่อสู้ที่รุนแรงครั้งนี้ด้วย

ความรุนแรงและการแก้แค้น
หลังจากการเสียชีวิตของประธานาธิบดี Habyarimana กลุ่มหัวรุนแรงชาวฮูตูได้ยึดอำนาจรัฐบาล และได้กล่าวหาในทันทีทันใดว่าเหตุการณ์เครื่องบินตกนั้นมีสาเหตุมาจากการกระทำของ RPF(กองกำลังชาวตุ๊ดซี่) และอาศัยการเสียชีวิตของประธานาธิบดีเป็นข้ออ้างในการก่อสงครามกลางเมืองและยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อชาวตุ๊ดซี่และศัตรูทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์เครื่องบินตก กลุ่มคนหัวรุนแรง Interahamwe ได้ก่อตั้งและตั้งตนเป็นผู้นำการรณรงค์ให้ใช้ความรุนแรง เพื่อต่อชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูที่มีความคิดประนีประนอมและกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุนข้อตกลง อรูชา หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 14 สัปดาห์ที่กองกำลังที่มีสมาชิก FAR พลเรือนผู้มีอำนาจและพลเรือนชาวฮูตูได้เข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูไม่ต่ำกว่าห้าแสนคน

การสังหารอย่างรุนแรงนี้ได้มุ่งเป้าไปที่บุรุษ สตรี และเด็ก หลายๆคนที่หนีการสังหารนี้เข้าไปในโบสถ์ สนามกีฬา โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ในบางกรณีกองกำลังฮูตู จงใจที่จะไล่ต้อนให้ประชาชนเข้าไปรวมกันอยู่ในสถานที่เหล่านี้เพื่อที่จะสังหารในคราวเดียวไม่ละเว้นแม้แต่ศาสนสถาน ตัวอย่างเช่น ใน Kibuye กลุ่มทหารชาวฮูตูและกองกำลังได้บอกกล่าวให้ชาวตุ๊ดซี่หลายพันคนว่าพวกเขาจะปลอดภัยหากหลบอยู่ในสนามกีฬาของเมือง เมื่อสนามกีฬาเต็มไปด้วยผู้คน ทหารเหล่านั้นกลับกราดยิงชาวตุ๊ดซี่ราว 7,000 คนที่อยู่ในนั้น แม้บางคนที่ไม่เสียชีวิตเพียงได้รับบาดเจ็บจากการยิงทหารก็จะมาฆ่าด้วยมีดในเวลาต่อมา ในโบสถ์ห่างจากเมือง Kigali ไปประมาณ25 ไมล์ทางตะวันออก กองกำลังชาวฮูตูได้สังหารหมู่ชาวตุ๊ดซี่ 1,200 คน ครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก โดยใช้อาวุธกึ่งอัตโนมัติ มีด กระบองและหอก ชาวตุ๊ดซี่หลายคนได้สร้างสถานที่หลบภัยในบ้านหรือใกล้ๆบ้านและอาศัยอยู่ในนั้นหลายเดือนซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่มีน้ำหรืออาหารที่เพียงพอในการดำรงชีวิต บางครั้งถูกค้นพบและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

กลุ่มคนหัวรุนแรงชาวฮูตูทั่วประเทศใช้คำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อยั่วยุให้ชาวฮูตูฆ่าเพื่อนบ้านของตนที่เป็นชาวตุ๊ดซี่ วิทยุของรัฐบาลและกลุ่มคนหัวรุนแรงชาวฮูตูประกาศเตือนอย่างต่อเนื่องว่าพวก RPF ต้องการสร้างอำนาจปกครองของชาวตุ๊ดซี่ขึ้นมาใหม่และใครก็ตามที่น่าสงสัยว่าเป็นพวกสนับสนุน RPF

ต้องจัดการให้หมด บ่อยครั้งที่กองกำลังชาวฮูตูชี้แนะและบังคับผู้นำชุมชนและเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ จัดการสั่งฆ่าชาวตุ๊ดซี่ในพื้นที่ของตน โดยใช้ทั้งมีดยาว มีดสั้นและไม้พลอง บางครั้งคนที่กำลังจะถูกฆ่ามีทางเลือกวิธีการตาย นั่นคือพวกเขาสามารถจ่ายค่ากระสุนเพื่อที่ตนจะได้ถูกยิงโดยไม่ทรมาน เพราะมิฉะนั้นจะถูกฆ่าโดยมีดยาวหรืออาวุธที่ทำขึ้นมาเอง เนื่องจากว่ากระสุนมีราคาแพง นอกจากนั้นทหารชาวฮูตูและสมาชิกกองกำลังยังข่มขืนผู้หญิงชาวตุ๊ดซี่อีกหลายพันคน

ในช่วงเวลาของความขัดแย้งนี้ ชาวรวันดาทั้งหมดจำต้องพกบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งระบุว่าพวกเขาเป็นชาวฮูตูหรือชาวตุ๊ดซี่ เพราะสมาชิกกองกำลังจะตรวจบัตรประจำตัวของบุคคลที่พยายามหนี ประชาชนที่มีบัตรประจำตัวระบุว่าเป็นชาวตุ๊ดซี่จะถูกดึงตัวออกจากรถและถูกฆ่า

สมาชิกกองกำลังและเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจบังคับและในบางกรณีขู่เข็ญพลเรือนให้มีส่วนร่วมในการสังหารชาวตุ๊ดซี่ ดังนั้นชาวฮูตูบางคนฆ่าชาวตุ๊ดซี่ซึ่งเคยเป็นเพื่อนหรือเพื่อนบ้านมายาวนาน แต่ก็มีบางคนกลับเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อช่วยชีวิตชาวตุ๊ดซี่โดยให้ที่หลบซ่อนในบ้านของตนทั้งๆที่การกระทำเช่นนั้นเสี่ยงต่อชีวิต ประชาชนชาวรวันดาบางคนเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เป็นเรื่องปัญหาทางการเมืองมากกว่าเป็นผลมาจากความเกลียดชังทางด้านชาติพันธุ์ ความกังวลหลักๆของประชาชนคือห่วงเรื่องการดูแลที่ดินและครอบครัวของตน ในช่วงเวลาแห่งความกลัวและหวาดผวา หลายคนต้องยอมจำนนต่อความรุนแรง

เวลาไม่นานหลังจากการเริ่มเข่นฆ่าชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูผู้ประนีประนอม ฝ่ายกองกำลังRPF แก้แค้นโดยโจมตีจากทางตอนเหนือของประเทศ ทหาร RPF ไล่ตามกองกำลังชาวฮูตูและทหาร FAR ไปที่ทางตอนใต้และทางตะวันตกของรวันดา ในการโจมตีนี้ RPF ได้ใช้ AK-47 และปืนใหญ่ ภายในไม่กี่สัปดาห์ทหาร RPF ได้ต่อสู้ตั้งแต่ทางตอนใต้ของรวันดาและจากฐานที่ตั้งภายในประเทศจนเอาชนะได้ในเมือง Kigali กระทั่งกรกฎาคม ปี 1994 RPF ก็สามารถควบคุมส่วนใหญ่ของประเทศไว้ได้ และในกลางเดือนกรกฎาคมสงครามกลางเมืองได้ยุติลง อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า RPF จะได้ยุติความรุนแรงลงไปแล้ว แต่พลเรือนชาวฮูตูบางส่วนที่กลัวการแก้แค้นของทหารได้ละทิ้งบ้านเรือนถิ่นที่อยู่และประเทศของตนไปเป็นจำนวนมาก

วิกฤติของผู้ลี้ภัย
เนื่องจากรัฐบาลรวันดาและ ชาวรวันดาเกือบ 1 ล้านคนในจำนวนนี้มีชาวตุ๊ดซี่มากกว่า 5 แสนคนและชาวฮูตูหัวไม่รุนแรงซึ่งถูกสังหารโดยกองกำลังชาวฮูตูได้เสียชีวิตไปภายในระยะเวลาเพียง 14 สัปดาห์ระหว่างการต่อสู้ ซึ่งองค์กรช่วยเหลือหลายองค์กรคาดว่าตัวเลขของยอดผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการน่าจะสูงถึง 2.7 ล้านคน จริงๆแล้วนั้นไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่ายอดผู้เสียชีวิตแท้จริงแล้วมีจำนวนเท่าใด เพราะการเข่นฆ่าเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือก็มักจะฝังศพผู้เสียชีวิตครั้งละมากๆโดยไม่ได้นับจำนวน ในบางกรณีผู้ที่สังหารได้ปิดบังและทิ้งศพไว้เพื่ออำพรางจำนวนที่ตนได้ฆ่า

นอกเหนือจากนั้นแล้ว กองกำลัง RPF บังคับผลักใสให้ชาวฮูตูจำนวนประมาณ 2.3 ล้านคนให้หนีไปแซร์ เบอรันดี และแทนเซเนีย ส่วนชาวฮูตูคนอื่นๆอีกประมาณ 2.1ล้านคนกลับตั้งรกรากในอีกพื้นที่หนึ่งของประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่ขัดแย้งซึ่งพวกเขาก็หวังว่าจะปลอดภัย เนื่องจากว่า RPF ได้โจมตีจากทางเหนือของประเทศและได้ใช้เส้นทางไปจนถึงทางตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่จึงลงเอยหลบภัยอยู่ที่เบอรันดี ในแซร์หรือทางตอนใต้หรือทางตะวันตกของประเทศ

แซร์เป็นภูมิภาคที่รองรับกลุ่มผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลไว้ เมืองบูคาวูซึ่งตั้งอยู่ที่ทะเลสาบคิวูทางตอนใต้ของแซร์ได้รับผู้ลี้ภัยจำนวน 3 แสน 6 หมื่นคนเอาไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ของแซร์ได้ปิดเขตแดนที่บูคาวูเพียงหนึ่งวัน ผู้ลี้ภัยซึ่งสิ้นหวังกับการหนีออกนอกรวันดาถึงกับกระโดดลงทะเลสาบและว่ายน้ำข้ามมาที่แซร์ ในขณะที่บางส่วนข้ามมาโดยใช้เรือแคนู ในขณะเดียวกันชาวรวันดาประมาณ 1 แสน 8 หมื่นคนหนีไปที่เบอรันดีและผู้ลี้ภัยจำนวน 6 แสนคนได้หนีไปที่แทนเซเนีย ในครั้งนี้ในเดือนเมษายน มีผู้ลี้ภัยเกือบ 2 แสน 5 หมื่นคนหนีไปที่เมืองงารา แทนเซเนีย เมืองเล็กที่เขตชายแดนรวันดาภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง เหตุการณ์นี้เป็นการอพยพของประชาชนจำนวนมหาศาลที่เร็วที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก หลังจากนั้นหลายเดือนต่อมา แซร์ได้รับผู้ลี้ภัยจำนวน 8 แสนคนในเวลาไม่กี่วัน การอพยพของประชาชนจำนวนมากล้นหลามนี้ได้กลายเป็นวิกฤตทางด้านมนุษยธรรมตามมา

ภายในแคมป์ผู้ลี้ภัยผู้คนจำนวนมาก ที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะอยู่รอด นอกเหนือจากก่อสร้างที่พักพิงแล้ว ผู้ลี้ภัยได้สร้างโรงอาหาร โบสถ์และร้านค้าเล็กๆ ที่สามารถขายทุกอย่างตั้งแต่ผลผลิตจากพืช บุหรี่ ไม้ขีดไฟ ไปจนถึงโซดา บางคนปลูกข้าวโพดเป็นหย่อมๆในพื้นที่เล็กๆ ในขณะที่คนอื่นๆเก็บไม้ ไม้ไผ่ และของอื่นๆเพื่อขาย แม้ธุรกิจผิดกฎหมายยังคงอยู่รอดในแคมป์ผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยในบูคาวู และ แซร์ มักจะเดินทางไปไคยานกูซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรวันดาเพื่อจะปล้นทรัพย์สินตามท้องถนน ตามร้านค้าหรือบ้านเรือนแถบนั้น หลังจากที่รวบรวมทรัพย์สิน เช่นยางรถ เบาะนั่งรถ ชิ้นส่วนยนต์ ชิ้นส่วนห้องน้ำ และประตูได้แล้ว ก็จะเอาทรัพย์สินเหล่านั้นจำหน่ายภายในแคมป์ คนกลุ่มนี้ใช้เงินจากธุรกิจผิดกฎหมายเพื่อซื้ออาหารและสิ่งของอื่นในการอยู่รอด ในขณะที่ผู้ลี้ภัยที่ใช้ชีวิตปกติและพยายามอยู่รอด จากการช่วยเหลือขององค์กรการกุศล องค์กรช่วยเหลือเอกชนได้สร้างห้องน้ำ หลุมฝังศพ และจัดหาเสื้อผ้า อาหาร น้ำและยาให้ผู้อพยพแต่ก็ไม่เพียงพอ

น้ำสะอาดเป็นสิ่งที่หาได้ยาก และเป็นไปไม่ได้ที่จะหามาได้ในช่วงวิกฤตของผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ในแซร์ได้ตั้งถิ่นที่อยู่ชั่วคราวของตนริมทะเลสาบคิวู อย่างไรก็ตามทะเลสาบเป็นพิษเนื่องจากก๊าซมีเทนจำนวนมากและได้คร่าชีวิตสัตว์ป่าทั้งหมดที่อยู่แถบนั้น ก๊าซพิษถูกสร้างขึ้นจากการเน่าเปื่อยของอินทรีย์วัตถุในท้องทะเลสาบ นอกจากนั้นทะเลสาบคิวูก็ยังปนเปื้อนด้วยซากศพและอุจจาระของมนุษย์ซึ่งก่อให้เกิดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์และสัตว์ องค์กรที่ดูแลแคมป์ที่พักพิงของผู้ลี้ภัย ไม่สามารถสรรหาน้ำสะอาดให้ได้จำนวนเพียงพอกับการอุปโภคและบริโภคของทุกคน ดังนั้นถึงแม้ว่าผู้ลี้ภัยจะรับรู้ถึงอันตรายของน้ำในทะเลสาบ แต่ความสิ้นหวังดังกล่าวจากทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากก็ยังคงดื่มน้ำจากทะเลลาบต่อไปโดยไม่มีทางเลือก

การขาดแคลนน้ำสะอาดในแคมป์ผู้ลี้ภัยทำให้เกิดโรคระบาด ทั้งอหิวาตกโรคและโรคบิด อหวิตกโรคซึ่งเป็นโรคเกิดจากแบคทีเรียส่งผลให้ร่างกายมนุษย์เกิดการสูญเสียน้ำอย่างรุนแรงและหากไม่ได้รับการรักษาในทันท่วงทีส่วนใหญ่จะถึงแก่ชีวิต อหิวาตกโรคได้รับการรักษาในแคมป์นี้โดยใช้วิธีแบบง่ายๆกล่าวคือโดยการใช้น้ำและเกลือเท่านั้น ส่วนโรคบิดเป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้เล็กทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและต้องการการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างน้อยห้าวันติดกัน แต่เนื่องจากแคมป์ไม่สามารถรักษาทั้งสองโรคดังกล่าวนี้ได้ผู้ลี้ภัยหลายพันคนจึงเสียชีวิตลง เมื่อถึงช่วงฤดูฝนซึ่งมีระยะเวลาอันยาวนาน โรคภัยต่างๆลุกลามในหมู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว เพราะมีการเบียดเสียดยัดเยียดอย่างแออัดจึงทำให้มีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น การระบาดของอหิวาตกโรคและโรคบิดได้คร่าชีวิตประชากรประมาณ 2,000 คนต่อวัน โดยรวมแล้วโรคภัยทั้งหลายได้คร่าชีวิตผู้ลี้ภัยไปประมาณไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคนในปี 1994

ความหิวโหย ร่างกายขาดน้ำ ความอ่อนล้าของร่างกายและโรคภัย เช่น อหิวาตกโรค โรคบิด ได้ก่อให้เกิดความสิ้นหวังภายในแคมป์ เพราะได้คร่าชีวิตผู้ลี้ภัยไปแล้วหลายหมื่นคน มีการฝังศพอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค การที่ผู้ลี้ภัยเสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้องค์กรช่วยเหลือได้แต่รวมและกองศพไว้ในหลุมศพขนาดใหญ่ โดยไม่มีเวลาที่จะกลบฝังให้มิดชิด แต่เมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจนเหลือจำนวนน้อยกว่า 200 คนต่อวัน ศพจะถูกห่อในเสื่อและใช้ดินและปูนขาวทับปกคลุม หลุมศพขนาดใหญ่ยักษ์นี้มีขนาดใหญ่กว่าสนามฟุตบอล ตั้งอยู่กึ่งกลางแคมป์มูกันกา อันเป็นสถานที่ฝังศพเหยื่อจากโรคภัย โดยมีธงสีขาวปักอยู่ใกล้กับหลุมศพเป็นสิ่งระลึกผู้ลี้ภัยและสมาชิกองค์กรช่วยเหลือ และที่สำคัญเพื่อระลึกถึงหายนะที่โหมกระหน่ำและการรุกฆาตชีวิตมนุษย์ในภูมิภาคนี้

ตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลงรวันดาพยายามที่จะกลับมาอยู่ได้ด้วยตัวเอง รัฐบาลได้กระตุ้นให้ผู้ลี้ภัยกลับเข้าประเทศ ในเดือนสิงหาคม และในปลายปีของปี 1994 รถประจำทางได้วิ่งระหว่างโกมา และคิกาลีเพื่อขนส่งผู้ลี้ภัยกลับบ้าน ภายในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1995 ประชาชนจำนวน 3 แสนคนได้กลับสู่ถิ่นฐาน แต่การดำเนินการยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ จนกระทั่งปลายปี 1996 ผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลได้กลับประเทศจากแซร์และแทนเซเนีย รัฐบาลหวังว่าการกลับมาของผู้ลี้ภัยจะทำให้ปิดที่พักพิงผู้ลี้ภัย(แคมป์)ลงได้ ซึ่งแคมป์เหล่านี้เป็นที่หลบภัยของกองกำลังชาวฮูตูที่หลงเหลืออยู่ ตั้งแต่การยุติของสงครามกลางเมือง สมาชิกกองกำลังได้ใช้แคมป์ในการรวมกลุ่มและวางแผนการโจมตีครั้งใหม่ต่อรัฐบาล การปิดแคมป์จะทำให้การวางแผนโจมตีนี้หมดสิ้นไป

รัฐบาลรวันดาได้ต้อนรับการกลับมาของผู้ลี้ภัยแต่ก็ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างการอพยพคืนถิ่นฐาน ชาวรวันดาบางคนเชื่อว่าการกลับมาของชาวฮูตูที่หนีไปก็ เพราะว่าพวกเขารู้สึกผิดที่มีส่วนร่วมในการสังหารชาวตุ๊ดซี่ และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรง ชาวเมืองได้จู่โจมการกลับมาของชาวฮูตูก็เพราะด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม นอกเหนือจากปัญหาของประเทศที่มีอยู่แล้วการไหลทะลักของชาวตุ๊ดซี่กลับเข้ามาประเทศจากอูกันดาและเบอรันดีหลังจากชัยชนะของ RPF ก็เป็นปัญหาสำคัญ ประชาชนเหล่านี้ได้เข้าครอบครองบ้าน ธุรกิจและที่ดินที่ถูกทอดทิ้งและไม่คิดจะคืนแก่เจ้าของที่แท้จริง ผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่กลับเข้าประเทศหวาดกลัวเกินกว่าจะกลับบ้านเพราะพวกเขากลัวว่าหากพวกเขาพยายามที่จะอ้างสิทธิในทรัพย์สินของตนกลับคืนมาแล้วพวกเขาจะถูกทำร้าย ขณะนั้นประชาชนหลายคนยังคงถูกพลัดพรากจากที่อยู่ของตนภายในประเทศ

ปัญหาที่ยังโต้เถียงกันอีกเรื่องคือความยุติธรรม รัฐบาลรวันดาต้องการให้บุคคลที่รับผิดชอบต่อความรุนแรงถูกลงโทษและได้จับกุมชาวฮูตูหลายพันคน เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว และเมื่อปี 1998 รัฐบาลได้จับกุมประชาชนเกือบ 1แสน 2 หมื่นคน ในการมีส่วนร่วมการใช้ความรุนแรงต่อชาวตุ๊ดซี่และชาวฮูตูหัวไม่รุนแรง เมื่อปี 1994 หลายคนที่ถูกจับยังไม่ได้ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการว่ากระทำผิดในขณะที่คนอื่นๆต้องรอเป็นเวลาหลายปีเพื่อตัดสินคดี นอกเหนือจากนั้นการจับกุมจำนวนมากได้ก่อให้เกิดปัญหาอีกอย่างตามมานั่นคือ นักโทษล้นคุกซึ่งนักโทษที่อยู่ในนั้นต้องอยู่ในลักษณะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ กลุ่มนักส่งเสริมสิทธิมนุษยชนก็เริ่มมีความกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้

สงครามกลางเมืองนั้นยุติอย่างเป็นทางการแล้วแต่การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไประหว่างกองกำลังของรัฐบาลรวันดาชุดใหม่กับกองกำลังชาวฮูตูที่เหลือ การโจมตีอย่างทันควัน การลุกขึ้นก่อจลาจลและการซุ่มโจมตีเป็นสิ่งที่รัฐบาล ทหารและพลเรือนผู้ที่ต้องการแก้แค้นหรือไม่ก็พยายามทวงสิทธิในทรัพย์สินของตนคืนพยายามปลุกปั่นขึ้น ความรุนแรงต่อเนื่องนี้ได้คุกคามความคาดหวังต่างๆของขบวนการการเจรจาประนีประนอมระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ เช่นกัน

รวันดานั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกมานานแล้ว โดยเมื่อปี 1997 รวันดาได้รับการพิจารณาให้เป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดอันดับที่ 2 ของโลก ด้วยอาณาเขตบางส่วนถูกทิ้งรกร้าง ถนนและทุ่งหญ้านั้นก็ปกคลุมด้วยหญ้ารก จำเป็นจะต้องใช้กำลังแรงงานสำคัญเพื่อที่จะทำให้ใช้งานได้อีกครั้ง ในขณะที่ประชาชนกลับมาตั้งรกรากอีกครั้ง ก็ต้องเผชิญกับปัญหาในการเตรียมผืนดินจากทุ่งหญ้ารกและต้องรอคอยเป็นเวลาหลายฤดูกาลเพื่อที่จะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิต ในบางพื้นที่เกิดการขาดแคลนอาหารและความอดอยาก โดยเฉพาะเด็กต้องทุกข์ทรมานอย่างที่สุด หลายคนที่ถูกพบในใจกลางทุ่งสังหารได้รับบาดเจ็บสาหัส เด็กเหล่านั้นจึงเป็นประจักษ์พยานได้พบเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ทั้ง การเข่นฆ่าเพื่อนและสมาชิกของครอบครัวตน เด็กบางคนที่หนีไปได้แต่ต้องดำรงชีวิตอยู่กับภาพความทรงจำเลวร้ายมาหลอกหลอน องค์กรช่วยเหลือองค์กรหนึ่งได้รายงานว่าจนถึงปี 1998 เด็กชาวรวันดาประมาณ 3 แสนคนกลายเป็นเด็กกำพร้าหรือถูกทอดทิ้งโดยไม่มีผู้ใหญ่ปกครอง

เหตุการณ์เมื่อปี 1994 ได้ทำลายรวันดาลงอย่างย่อยยับ ผู้สังเกตการณ์นานาชาติได้ประเมินว่าสงครามกลางเมืองและวิกฤตผู้ลี้ภัยได้ทำให้ประชาชนในรวันดา เหลือเพียง 5 ล้านคน จากที่มีอยู่ 8 ล้านคน ยิ่งกว่านั้นความขัดแย้งได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและเหลือไว้เพียงแต่ซากแห่งความหายนะทางสังคมและเศรษฐกิจตามมา ปัญหาของชนชั้น และชาติพันธุ์ได้กลายเป็นเงื่อนไขที่ผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกัน เพื่อแสวงหาอำนาจให้กับฝ่ายตน อำนาจจึงเป็นเมฆหมอกอุปสรรคปกคลุมบดบังความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติพันธุ์ลงหมดสิ้น กระทั่งได้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการใช้ความรุนแรงตลอดศตวรรษที่ยี่สิบ ดังนั้นการที่จะเข้าใจรากเหง้าของการใช้ความรุนแรงได้ดียิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะค้นหาจุดเริ่มต้นของตำนานและการตีความผิดๆของชาวรวันดาซึ่งได้สร้างประวัติศาสตร์ในระยะเวลาที่ผ่านมา.....

 

............................................
*บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict. Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง: Bodnarchuk, Kari. World in conflict. Rawanda : country torn apart . Manufactured in the United States of America. By Lerner Publications Company.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net