Skip to main content
sharethis

สถาบันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจและสันติภาพในสหรัฐอเมริกา ให้ไทยอยู่อันดับ 8 ก่อการร้าย องค์กรเพื่อความโปร่งใส จัดอันดับคอร์รัปชั่นไทยแย่หล่นจาก 80 มาที่ 88 สำนักข่าวกรองกลางสหรัฐให้ไทยลำดับ 114 ประเทศอายุยืน

ไทยถูกจัดอยู่อันดับ 8 ก่อการร้ายมากสุด
5 ธ.ค.55 เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานผลการจัดอันดับประเทศที่มีเหตุก่อการร้ายมากที่สุดในโลกระหว่างปี 2002-2011 ของสถาบันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจและสันติภาพในสหรัฐอเมริกา โดยวัดจากสัดส่วนการเกิดเหตุก่อการร้าย จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตและความเสียหายของทรัพย์สินที่เกิดขึ้น พบว่า อิรัก อยู่ในอันดับ 1 ส่วนประเทศไทยติดอันดับ 8 จากการจัดอันดับทั้งหมด 158 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ประเทศที่มีก่อการร้ายและได้รับความเสียหายมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน อินเดีย และสาธารณรัฐเยเมน ในส่วนของไทย ปัจจัยที่ส่งผลให้เหตุก่อการร้ายมีความรุนแรง สืบเนื่องจากเหตุรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่เกิดขึ้นกว่า 173 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 142 คน และบาดเจ็บ 427 คน ซึ่งหากเทียบกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยอยู่อันดับ 1 ตามด้วย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย และกัมพูชา ส่วนลาวเป็นชาติที่ไม่มีเหตุก่อการร้ายเกิดขึ้นเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ผลจัดอันดับคอร์รัปชั่นไทยแย่หล่นมาที่ 88
ด้านเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2012 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ หรือ ทีไอ  ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.55 ระบุว่า ชาติสมาชิกยูโรโซนมีการคอร์รัปชั่นเพิ่มมากขึ้น ทำให้อันดับแย่ลงจากการสำรวจทั้งหมด 176 ประเทศ โดยกรีซอยู่ในอันดับ 94 ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดาสมาชิกสหภาพยุโรป ลดลงจากอันดับ 80 ในปีที่แล้ว และอิตาลีอยู่ในอันดับ 72 ในปีนี้ ลดลงจากอันดับ 69 ในปีที่แล้ว และทีไอเรียกร้องให้ยุโรปเร่งขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นในการต่อสู้กับวิกฤติหนี้ 
 
ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นเป็นการสำรวจโดยให้คะแนนแต่ละประเทศจาก 0 ถึง 100 โดย 0 หมายถึงมีคอร์รัปชั่นมากสุด และ 100 คือ มีการคอร์รัปชั่้นน้อยที่สุดหรือมีความโปร่งใสมากที่สุด 
 
นักวิเคราะห์บอกว่า การคอร์รัปชั่นในชาติยุโรปบางชาติเกิดจากระบบยุติธรรมหย่อนประสิทธิภาพ หน่วยตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐไม่เข้มแข็ง และสายสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและธุรกิจ
 
ขณะที่เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ อยู่อันดับ 1 ร่วมกันโดยมีคะแนนเท่ากันคือ 90 คะแนน โดยก่อนหน้านี้นิวซีแลนด์ก็อยู่อันดับ 1 ในปีที่แล้ว ส่วนเดนมาร์กและฟินแลนด์อยู่อันดับสองเท่ากัน
 
ส่วนสหรัฐ มหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอยู่ในอันดับ 19 รองจากญี่ปุ่นและอังกฤษที่อยู่ในอันดับ 17 เท่ากัน และปีนี้มีประเทศที่ได้คะแนนต่ำกว่า 50 มากถึง 2 ใน 3 ของ 176 ประเทศที่ถูกสำรวจ เช่น จีนอยู่ในอันดับ 80 มี 39 คะแนน และไทยอยู่ในอันดับ 88 มี 37 คะแนน เท่ากับแซมเบีย โดยลดลงจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับ 80
 
ขณะที่โซมาเลีย เกาหลีเหนือและอัฟกานิสถานยังติดอันดับท้ายสุดของผลการสำรวจ โดยอยู่ที่อันดับ 174 มี 8 คะแนนเท่ากัน สาเหตุเกิดจากประเทศเหล่านี้ขาดทั้งผู้นำที่มีความรับผิดชอบ และขาดสถาบันของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ
 
ไทยรั้งที่ 114 ประเทศอายุยืน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.55 เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานการศึกษาของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) เผยผลจัดอันดับ “ประเทศที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก” (เวิลด์ ไลฟ์ เอกซ์เปกเทนซี) ประจำปี 2555 ที่นครรัฐโมนาโก ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส รั้งอันดับ 1 ติดต่อกัน ขณะที่ประเทศไทยร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 114 จากการจัดอันดับทั้งหมด 222 ประเทศ
 
รายงานซึ่งตีพิมพ์ในเดอะเวิลด์แฟกต์บุกของซีไอเอ ระบุว่า ประชาชนโมนาโกมีอายุเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกที่ 89.68 ปี ตามมาด้วยมาเก๊าในอันดับที่ 2 ที่ 84.43 ปี ญี่ปุ่น 83.91 ปี สิงคโปร์ 83.75 ปี และซานมารีโน ประเทศขนาดเล็กซึ่งตั้งอยู่ใกล้อิตาลี รั้งอันดับ 5 ด้วยอายุเฉลี่ย 83.07 ปี
 
ด้านสาธารณรัฐชาดในทวีปแอฟริกาอยู่ในอันดับสุดท้าย โดยประชาชนมีอายุเฉลี่ยเพียง 48.69 ปี ตามมาด้วยประเทศกินีบิสเซาที่ 49.11 ปี และแอฟริกาใต้ 49.41 ปี ขณะที่สหรัฐอยู่อันดับที่ 51 ด้วยอายุเฉลี่ยประชากรที่ 78.49 ปี และจีนครองอันดับที่ 96 ที่ 74.84 ปี
 
ทั้งนี้ โมนาโกเป็นประเทศที่มีจำนวนมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบเป็นรายได้ต่อหัว รวมทั้งมีสัดส่วนคนจนต่ำที่สุดในโลก สวนทางกับประเทศชาดซึ่งมีประชาชนกว่า 80% ที่มีฐานะต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
 
ในส่วนไทยนั้นหล่นมาอยู่อันดับที่ 114 ประชาชนมีอายุเฉลี่ย 73.83 ปี โดยแม้คนไทยจะมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นจากเมื่อปีก่อน ซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 73.1 ปี ทว่าอันดับของไทยร่วงลง 4 อันดับ ขณะที่หากเทียบกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยอยู่อันดับที่ 4 ตามหลังสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย
 
วันเดียวกัน ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงานอ้างผลการศึกษาของสถาบันศึกษานโยบายการคลังของอังกฤษ พบว่าชาวอังกฤษส่วนใหญ่คำนวณอายุเฉลี่ยไม่ถูกต้องจนนำไปสู่ความผิดพลาดในการคำนวณเงินออมหลังเกษียณ
 
“ชายอังกฤษอายุระหว่าง 50-60 ปี มักเชื่อว่าตัวเองจะมีอายุถึงแค่ 81 ปี ซึ่งน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 83 ปี ขณะที่ผู้หญิงอังกฤษซึ่งมีอายุเฉลี่ย 86 ปี จะคำนวณตัวเลขผิดพลาดไปราว 4 ปี” รายงานระบุ พร้อมเตือนว่า ปัจจุบันหลายบริษัทเปลี่ยนแผนเงินบำนาญของพนักงาน ส่งผลให้ความรับผิดชอบในการออมตกไปอยู่กับพนักงานมากกว่านายจ้าง
 
 
 
................................
ที่มา: เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net