Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
การค้าแรงงานเกี่ยวข้องกับการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ทำงานเยี่ยงทาส อยู่ในสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่เลวร้ายจนนำไปสู่การเสียชีวิตของแรงงาน  ทั้งเกี่ยวข้องกับภาวะจำยอม คือ แรงงานจ่ายเงินค่าบริการสูง รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆอีกจำนวนมาก มีหนี้สินรุงรังจากการขาดทุนไปทำงานต่างประเทศที่ผ่านมา ทำให้ต้องไปอีก  ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวสามารถนำไปสู่การค้ามนุษย์ได้
 
ทั้งนี้โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยขอเสนอข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาการค้าแรงงานไทยนี้มุ่งนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ โดยสรุปมาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศ และจากการวิเคราะห์ของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย ให้เป็นระบบมากขึ้น  ดังนี้
 
1. ควรให้ยกเลิกบริษัทจัดหางานเอกชนและให้รัฐจัดส่งแทน 
 
ตั้งเป็นหน่วยงานด้านการจัดส่งคนไทยไปทำงานต่างประเทศ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำ (หรือไม่เก็บเลย) กระจายโอกาสคนงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างเป็นธรรม รัฐจัดหางานที่ดีและเหมาะสมในต่างประเทศให้กับคนไทย
 
2. ปฏิรูปกองทุนเงินทดแทน 
 
เพิ่มระยะเวลาให้ครอบคลุม เมื่อคนงานกลับมายังประเทศไทยแล้วเกิดอาการเจ็บป่วย มีการจ่ายเงินให้กับคนงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการขยายสิทธิประโยชน์ให้มากกว่าเดิม
 
3. ปฏิรูปกระบวนการทางกฎหมาย
 
ปรับปรุงเรื่องระยะเวลาของกระบวนการทางกฎหมาย คนงานมิสิทธิยื่นคัดค้านการอุทธรณ์ของบริษัทจัดหางานได้ และเสนอให้คดีหลอกลวงแรงงานเป็นคดีพิเศษที่มีการสืบสวนสอบสวนในระยะเวลาที่เป็นธรรมแก่คนงาน และบทลงโทษแก่บริษัทจัดหางานที่มีการหลอกลวงคนงาน หากพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมแล้วมีความผิดจริงควรเป็นบทลงโทษที่หนักคือขึ้นบัญชีดำบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางเครือ ข่ายเส้นทางทางการเงินต่างๆ ไม่ให้สามารถกลับมาทำธุรกิจจัดหางานได้อีก
 
4. ข้าราชการกระทรวงแรงงานจะต้องมีความโปร่งใส
 
มีการตรวจสอบข้าราชการของกระทรวงแรงงาน ในเรื่องของความสัมพันธ์กับบริษัทจัดหางาน ไม่ว่าจะเป็นเครือญาติ ตัวแทน และเส้นทางการเงินต่างๆ โดยคนงานเสนอว่าข้าราชการกระทรวงแรงงานจะต้องไม่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจจัดหางานโดยเด็ดขาด   
 
5. รัฐต้องดูแลคุ้มครองคุณภาพชีวิตในการทำงานของคนงานไทยในต่างประเทศ
 
คนงานต้องได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่ตามกฎหมายในประเทศต้นทางและปลายทาง ที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องเพิ่มงบประมาณและบุคลากรดูแลสิทธิของประชาชนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น 
 
เนื่องจากแนวนโยบายที่ผ่านมา รัฐมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาทำธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เช่นส่งไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา เร่งสร้างตัว ประเทศที่เจริญแล้ว แต่พลเมืองภายในไม่ต้องการทำงานบางประเภท ในขณะเดียวกัน รัฐกลับลดบทบาทในการดูแลประชาชนในเรื่องการกระจายรายได้และหลักประกันต่างๆ ให้คุณภาพชีวิตแรงงานเทียบเท่ากับคนชั้นกลางมีฐานะในเมือง ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน  ด้วยเหตุนี้ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยจึงเน้นใช้แนวทางสิทธิมนุษยชน สิทธิตามมาตรฐานแรงงานสากลในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น และกระตุ้นรัฐให้แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบรายกรณี  อีกทั้งต้องโปร่งใสในการบริหารจัดการผลประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่ ผู้สร้างชื่อเสียงและประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลให้แก่ประเทศไทยและต่างประเทศเช่นกัน
 
 
 
อนึ่ง "บทวิเคราะห์ปัญหาการค้าแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ" นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการป้องกันปัญหาการค้าแรงงานไทยปี 2555 ซึ่งดำเนินงานโดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนำประสบการณ์จากการทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิและปัญหาการค้าแรงงานในส่วนกลางและส่วนพื้นที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์เฉพาะหน้าของกลุ่มแรงงานไทยกลุ่มนี้ รวมทั้งครอบครัวของพวกเขา บทวิเคราะห์นี้จึงเน้นที่กระบวนการจัดส่งแรงงานไทยในต้นทาง และปัญหาที่เกี่ยวกับสัญญาจ้างงาน เพื่อให้คนงานมีรายได้กลับมาอย่างคุ้มค่า และลดความเสี่ยงภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา
 
ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่ https://docs.google.com/open?id=0B97eeQltIv8ZRjFhdzNQVV9ueVE

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net