Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัจจุบัน กลุ่มผู้ที่คัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลไม่เพียงแต่มีพรรคฝ่ายค้านและนายทุนส่งออกข้าวเท่านั้น แต่ยังรวมเอานักวิชาการจำนวนหนึ่งด้วย ล่าสุดเป็นบทความจากสองนักวิจัยคือ อัมมาร สยามวาลาและนิพนธ์ พัวพงศกร ตอบโต้บทความเรื่อง “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักวิจัยทั้งสองออกตัวตั้งแต่แรกว่า “ต้องการให้มีนโนบายข้าวที่ประโยชน์ตกกับชาวนาทุกคน โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนจริงๆ โดยไม่สร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่นๆ ในสังคม” สิ่งที่สองนักวิจัยพยายามชี้ก็คือ “โครงการรับจำนำข้าวไม่เป็นประโยชน์ต่อชาวนาที่ยากจนและจะสร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่น ๆ”

บทความนี้ตั้งอยู่บนมายาคติที่เชื่อว่า “ตลาดข้าวในประเทศไทยเป็นตลาดแข่งขันที่เสรี” ดังที่สองนักวิจัยนี้บรรยายไว้อย่างสวยหรูว่า “ก่อนที่จะมีการจำนำข้าวทุกเม็ด กระบวนการผลิตและการค้าข้าวของไทยถูกกำหนดโดยกลไกตลาด จนช่วยให้ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงที่สุด ... ทุกคนที่อยู่ในกระบวนการผลิตและค้าข้าวมีบทบาทในการปรับปรุงและควบคุมคุณภาพข้าว และได้รับผลตอบแทนเป็นสัดส่วนกับต้นทุนและหยาดเหงื่อแรงงานของตน”

แต่สองนักวิจัยกลับไม่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนว่า ถ้าตลาดข้าวไทยเป็นตลาดแข่งขันเสรีจริง นายทุนและพ่อค้าข้าวไม่ได้ตักตวงส่วนเกินทางเศรษฐกิจไปจากชาวนา แล้วเหตุใดชาวนาส่วนใหญ่จึงมีหนี้สินเรื้อรังชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า? เหตุใดการแบ่งปันผลประโยชน์ในตลาดข้าวไทยจึงบิดเบี้ยวไปตกหนักอยู่ที่นายทุนพ่อค้าข้าวและโรงสี และสภาวะปัจจุบันที่ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงยากจน หนี้สินล้นพ้นตัว ต้องกระเสือกกระสนไปหางานทำนอกภาคเกษตรนั้น ถือว่า “ได้รับผลตอบแทนเป็นสัดส่วนกับต้นทุนและหยาดเหงื่อแรงงานของตน” แล้วหรือ?

ยิ่งกว่านั้น ในตลาดแข่งขันเสรี กลไกตลาดจะจัดสรรความเสี่ยงไปยังกลุ่มบุคคลที่สามารถแบกรับและบริหารความเสี่ยงนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด (ในภาษาเศรษฐศาสตร์คือ “มีต้นทุนธุรกรรมต่ำสุดในการแบกรับความเสี่ยง”) เช่น บุคคลที่สามารถเข้าถึงตลาดประกันความเสี่ยงในราคาต่ำสุด แต่ในตลาดข้าวไทย ความเสี่ยงในราคาข้าวกลับไปตกอยู่กับชาวนาเนื่องจากราคาข้าวกำหนดจากตลาดโลก แล้วกดราคาลดหลั่นกันมาลงผ่านนายทุนพ่อค้าส่งออก โรงสี ไปตกที่ชาวนา จะมีใครกล้ายืนยันหรือไม่ว่า ชาวนาเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้ดีที่สุดยิ่งกว่าโรงสีและพ่อค้าข้าว? หรือในตลาดข้าวไทย อำนาจเหนือตลาดรวมศูนย์อยู่ที่พ่อค้าส่งออกและพ่อค้าข้าวรายใหญ่จำนวนหนึ่งที่สามารถผลักภาระความเสี่ยงเป็นทอดๆ ไปสู่ผู้ที่มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดในห่วงโซ่ของตลาด ซึ่งก็คือ ชาวนา!

ส่วนข้อวิจารณ์ที่ว่า ชาวนากลุ่มที่ยากจนที่สุดได้ประโยชน์น้อยกว่าชาวนากลุ่มอื่น ๆ ที่มีฐานะดีกว่านั้น ทุกคนย่อมรับรู้ได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้นักวิจัยทั้งสองท่านใช้กราฟและตัวเลขมายืนยัน ชาวนาจนมีที่ดินน้อยกว่าหรือต้องเช่าที่ดิน ย่อมได้ผลผลิตไปขายหรือจำนำข้าวในปริมาณน้อยกว่า จึงได้รับเม็ดเงินน้อยกว่าชาวนากลางและรวย อย่างไรก็ตาม ชาวนาจนก็ยังได้ประโยชน์ ดังจะเห็นได้จากข้อมูลในบทความว่า ในการผลิตข้าวนาปี 2554/55 “ชาวนาจน” (ซึ่งนิยามจากตัวเลขของ ธกส.ว่า จำนำข้าวได้เงินไม่เกินสองแสนบาทต่อราย) มีจำนวนร้อยละ 80 ของชาวนาที่ร่วมโครงการ ได้รับเงิน 57,900 ล้านบาทหรือร้อยละ 48.9 ของเม็ดเงินทั้งหมด เฉลี่ยแล้วได้รับเงินรายละประมาณ 85,000 บาท ส่วนข้าวนาปรัง 2555 ชาวนาจนมีจำนวนร้อยละ 56.4 ของชาวนาในโครงการ ได้รับเงิน 32,600 ล้านบาทหรือร้อยละ 23.0 ของเม็ดเงินทั้งหมด เฉลี่ยแล้ว ได้รับเงินรายละประมาณ 96,000 บาท นี่เป็นประโยชน์ที่เหนือกว่าก่อนมีโครงการรับจำนำข้าวอย่างแน่นอน เพราะราคารับจำนำหักด้วยความชื้นของรัฐบาลนั้นสูงกว่าราคาตลาดสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก

เป้าหมายของโครงการรับจำนำข้าวคือ ช่วยเหลือชาวนาโดยรวมโดยไม่ได้เจาะจงเฉพาะชาวนาที่ยากจน ฉะนั้น การที่ชาวนาจนได้รับเม็ดเงินส่วนแบ่งน้อยกว่ากลุ่มอื่นจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะมายกเลิกโครงการ ในทางนโยบายแล้ว การช่วยเหลือชาวนากลุ่มที่ยากจนที่สุดแยกจากชาวนากลุ่มอื่น ๆ นั้นจะต้องเป็นโครงการเฉพาะต่างหากที่เจาะจงไปที่ชาวนาจน (เช่น การกระจายที่ดิน ต้นทุนการผลิต เงินกู้หรือเงินอุดหนุนภาครัฐ ฯลฯ) โดยการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าร่วมที่ชัดเจน เช่น กำหนดจากจำนวนที่ดินที่เป็นเจ้าของหรือเช่า เป็นต้น

หากจะยกเลิกโครงการด้วยเหตุผลที่ว่า “ชาวนาที่ยากจนไม่ได้ประโยชน์” นักวิจัยทั้งสองท่านอาจจะลืมไปว่า โครงการที่จะต้องยกเลิกด้วยเหตุผลเดียวกันคือ โครงการประกันรายได้ชาวนาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งมีส่วนคิดค้นให้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวนาที่ยากจนที่สุดและชาวนาไร้ที่ดินแทบไม่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวเลย คนที่ได้ประโยชน์เต็มที่คือ ชาวนาที่มีที่ดินมากและพวกพ่อค้าที่สามารถกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาได้อย่างเต็มที่ โดยยังไม่ต้องพูดถึงคนที่ไม่ใช่ชาวนาแต่มีที่ดินให้ชาวนาเช่า แล้วไปจดทะเบียนเป็น “ชาวนา” กับเขาด้วย ดังคำพูดในท้องถิ่นที่ว่า “ขี่เบ็นซ์ ขี่วอลโว่ ไปรับเช็ค (จากรัฐบาล)”

ในเวลานั้น เหตุใดนักวิจัยที่ต่อต้านโครงการรับจำนำข้าวในปัจจุบันจึงพากันเงียบกริบ ไม่คัดค้านว่า โครงการประกันรายได้ไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ชาวนาที่ “ยากจนจริง ๆ”?

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า โครงการรับจำนำข้าวให้ประโยชน์แก่โรงสีมากเกินไปนั้น ประเด็นหลักคือ รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจให้โรงสีเข้าร่วมโครงการให้มากที่สุด ซึ่งก็คือ ต้องให้ประโยชน์แก่โรงสีมากกว่าที่ได้จากกิจกรรมการสีข้าวปกติ หากโรงสีไม่ได้ประโยชน์ส่วนเพิ่ม แล้วโรงสีจะเข้าร่วมโครงการของรัฐทำไม? แต่แน่นอนว่า ประโยชน์ที่โรงสีได้รับควรจะอยู่ที่เท่าใดจึงจะถือว่า “ไม่มากเกินไป” นั้นย่อมเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ และขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่แต่ละฝ่ายยึดถือ

แต่สองนักวิจัยยังวิจารณ์ว่า รัฐบาลจำกัดจำนวนโรงสีข้าวที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้โรงสีข้าวในโครงการกลายเป็น “กลุ่มผูกขาดล็อบบี้” ที่เอารัดเอาเปรียบชาวนาสารพัดและวิ่งเต้นจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ใบอนุญาต ข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยมีโรงสีข้าวประมาณ 1,400 โรง เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวประมาณ 700 โรงโดยมีการจำกัดเขตรับจำนำด้วย โรงสีแต่ละแห่งที่ร่วมโครงการจะมีอำนาจผูกขาดในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการกระจายของโรงสีเหล่านี้ในแต่ละเขต จึงย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกระจายโรงสีในโครงการให้เหมาะสมกับจำนวนชาวนาที่เข้าร่วม เพื่อให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้ประโยชน์มากที่สุดและลดการสมรู้ร่วมคิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและโรงสี

สองนักวิจัยยังแสดงความเป็นห่วงถึงภาระค้ำประกันหนี้ของรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวที่สูงถึง 3.17 แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้ให้ภาพรวมว่า ณ สิ้นมิถุนายน 2555 หนี้สาธารณะของไทย (รวมภาระค้ำประกัน) อยู่ที่ 4.8 ล้านล้านบาท ภาระค้ำประกันในโครงการรับจำนำข้าวจึงมีสัดส่วนน้อยคือเพียงร้อยละ 6.6 ในภาระหนี้สาธารณะทั้งหมด ความจริงแล้ว หนี้สาธารณะที่ใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งคือ หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.13 ล้านล้านบาท ซึ่งก็คือ เงินที่เอาไปอุ้มบรรดาสถาบันการเงินที่ล้มละลายเมื่อเกิดวิกฤต 2540 นั่นเอง สำหรับนักวิจัยทั้งสองท่าน การที่รัฐบาลเจียดเงินอันน้อยนิดมาช่วยเหลือชาวนานั้นถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง แต่เมื่อรัฐบาลในอดีตเอาเงินมากมายมหาศาลไปอุ้มพวกคนรวยในสถาบันการเงิน นักวิจัยทั้งสองท่านไปอยู่ที่ไหน?

ชาวนาไทยนั้นเสียสละหยาดเหงื่อแรงงานและชีวิตให้กับประเทศชาติมานานมากแล้ว ตั้งแต่สนธิสัญญาเบาริ่งปี 2398 ไทยก็ส่งออกข้าวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกมาโดยตลอด รายได้ภาษีหลักของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นภาษีส่งออกข้าว การพัฒนาอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2504 ก็ใช้วิธีขูดรีดชาวนาด้วยพรีเมี่ยมข้าว (ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว) ข้าวไทยที่ส่งออกไปนั้นก็แลกเป็นเครื่องจักรและวัตถุดิบอุตสาหกรรมเข้ามาป้อนภาคอุตสาหกรรม ความเจริญทางอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันจึงเป็นความเจริญบนหลังของชาวนาโดยแท้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมควรจะ “คืนกำไร” ให้ชาวนาบ้าง?

ที่น่าแปลกใจคือ จนป่านนี้แล้ว สองนักวิจัยก็ยังพร่ำบ่นถึง “การส่งออกข้าวไทยเป็นจำนวนตันที่ลดลงในปีนี้” ซ้ำกับคำพูดของพวกนายทุนพ่อค้าส่งออก แต่การส่งออกข้าวเป็นจำนวนตันสูงสุดจะมีประโยชน์น่าภาคภูมิใจอะไรหากผู้ผลิตยังคงยากจน จมปลักอยู่กับหนี้สินดังที่เป็นกันตลอดมา?

ดูเหมือนสองนักวิจัยจะเป็นห่วงเป็นใยพ่อค้าส่งออกข้าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ปรารภว่า “ขณะนี้บริษัทส่งออกข้าวที่เก่งที่สุดของไทยเกือบทุกราย ... กำลังผันตัวเองไปทำธุรกิจค้าข้าวที่เขมรและประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าและกำไรมากกว่าการทำธุรกิจในประเทศ หากรัฐยังคงจำนำข้าวต่อไปอีก 1-2 ปีแล้วเลิกโครงการ พ่อค้าเหล่านี้คงไม่หวนกลับมาทำธุรกิจในประเทศอีก” แล้วการที่ชาวนาจำนวนมากจำต้องละทิ้งท้องนา หนีความยากจนและหนี้สินก้อนโต ทิ้งภูมิปัญญาการปลูกข้าวที่ตกทอดมาหลายชั่วคน แล้วไปขายแรงงานในเมืองหรือประกอบอาชีพอื่น มีใครเป็นห่วงพวกเขาบ้าง?

แน่นอนว่า โครงการของรัฐจำนวนมากมีรั่วไหลทุจริต โครงการรับจำนำข้าวก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามอย่างเด็ดขาด ตลอดจนทำให้การระบายข้าวออกไปในราคาที่ขาดทุนเป็นไปอย่างโปร่งใสและเสียหายให้น้อยที่สุด

ส่วนข้อวิตกของสองนักวิจัยที่ว่า จะมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวแทนพืชเกษตรอื่น ๆ นั้น ในความเป็นจริง คงเกิดขึ้นน้อยมากเพราะที่ดินที่จะทำนาได้นั้น ต้องมีน้ำท่วมถึง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ที่นาเก่าที่รกร้างจะถูกนำกลับมาเพาะปลูกอีก รวมทั้งแรงงานในเมืองที่อพยพกลับท้องนาด้วย ส่วนการลดคุณภาพข้าว เน้นปลูกเอาแต่ปริมาณและเร็วนั้น คงต้องคอยดูกันต่อไปว่า จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

ในประเด็นการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว สองนักวิจัยได้ประมาณการไว้ที่ 1.73 แสนล้านบาท สูงกว่าตัวเลขประมาณการแหล่งอื่น ๆ ซึ่งคาดคะเนไว้ที่ 5 หมื่นถึงหนึ่งแสนล้านบาท สาเหตุคือ สองนักวิจัยได้คำนวณรายรับจากการระบายข้าวของรัฐบาลโดยสมมติให้รัฐบาลไทยขายข้าวในราคาที่สูงกว่าข้าวเวียดนามเพียงแค่ตันละ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อตรวจสอบดูข้อมูล ณ สิ้นกันยายน 2555 ของสำนักงานอาหารและเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติ จะพบว่า ราคาข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาข้าวเวียดนามอยู่ที่ตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ นัยหนึ่ง ผู้วิจัยกำลังสมมติให้รัฐบาลไทยขายข้าวในราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลกเกือบ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน! การสมมติตัวเลขให้ขาดทุนมากเช่นนี้จะน่าเชื่อถือเพียงใด ผู้อ่านย่อมพิจารณาได้

นักวิจัยทั้งสองท่านยังแสดงความห่วงใยอีกว่า การขาดทุนมโหฬารของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นเม็ดเงินที่มี “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” คือไปลดโอกาสการใช้เงินในโครงการอื่น ๆ เช่น เป็นอันตรายสารพัดต่อโครงการ30 บาทรักษาทุกโรค แต่บังเอิญ คนไทยวันนี้ไม่ได้เป็น “คนขี้ลืม” อีกต่อไปแล้วและยังจำได้ว่า เคยมีนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งออกมาโวยวายคัดค้านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคตั้งแต่แรกเริ่มยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย โดยกล่าวหาว่า จะทำลายระบบสาธารณสุขของประเทศ ลดคุณภาพการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลรัฐจะล้มละลายทั้งระบบ ฯลฯ

นักวิจัยทั้งสองท่านตั้งโจทย์ในตอนต้นว่า “ต้องการให้มีนโนบายข้าวที่ประโยชน์ตกกับชาวนาทุกคน โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนจริงๆ โดยไม่สร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่นๆ ในสังคม” ผู้อ่านจึงอดสงสัยมิได้ว่า แล้วโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้าง “ประโยชน์ตกกับชาวนาทุกคน โดยเฉพาะชาวนาที่ยากจนจริงๆ” ตรงไหน? และ “ไม่สร้างความเสียหายใหญ่โตกับคนอื่น ๆ ในสังคม” จริงหรือ? ความเสียหายจากโครงการดังกล่าวซึ่งมีตัวเลขอยู่ระหว่าง 7 หมื่นถึง 1.2 แสนล้านบาทนั้น “ไม่ใหญ่โต” และไม่มี “ต้นทุนค่าเสียโอกาส” หรืออย่างไร? และในเวลานั้น นักวิจัยทั้งสองท่านไปอยู่ที่ไหน จึงไม่มีความเห็นอะไรเลย?

ในตอนต้นบทความ นักวิจัยทั้งสองท่านยังออกตัวว่า “เราเคารพกระบวนการทางการเมืองของระบบประชาธิปไตย ในเรื่องการใช้คะแนนเสียงเลือกตั้งกำหนดนโยบาย แต่เราต้องการประชาธิปไตยที่ดี” แต่นักวิจัยทั้งสองก็มิได้ขยายความแต่อย่างใดว่า “ประชาธิปไตยที่ดีคืออะไร?” ทว่า นี่ก็เป็นอีกครั้งที่คนไทยในวันนี้ไม่ใช่คนขี้ลืมอีกต่อไปแล้ว และยังจำได้ว่า เมื่อครั้งมีการเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลไทยรักไทยปี 2549 นั้น ก็มีนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งออกมาสนับสนุนกันอย่างคึกคัก และเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแห่งเดียวกันนี้ก็พากันตบเท้าเข้าไปเป็นทั้งรัฐมนตรี ที่ปรึกษา และคณะทำงานในรัฐบาลเผด็จการที่ทหารแต่งตั้ง รวมทั้งมีผลงานช่วยรัฐบาลทหารทำลายสถานีโทรทัศน์ไอทีวีอีกด้วย บางที สำหรับนักวิจัยกลุ่มนี้ “ประชาธิปไตยที่ดี” ของพวกเขาก็คือ ระบอบรัฐประหารนั่นเอง!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net