Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

แม้องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) จะประกาศรหัส “901” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเป็นฤกษ์ยามของการชุมนุม เพื่อหลอมรวมจิตใจของพสกนิกรให้ออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตรยิ่งไปกว่านั้น แกนนำการชุมนุมยังมั่นใจว่าข้อหาหมิ่นกษัตริย์จะเป็น “หมัดน็อค” ได้ ถึงขนาดเปิด “คลิปหมิ่นเจ้า” กลางเมืองหลวง โจมตีเครือข่ายทักษิณและขบวนการคนเสื่อแดงที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ทว่าก็ไม่สามารถเรียกทั้งประชาชนผู้จงรักภักดีทหาร และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนญู ให้เข้ามาร่วม “แชแข็งประเทศไทย” ตามนัดหมายได้ เพียงเวลาไม่ถึง10 ชั่วโมง การชุมนุมดังกล่าวก็ต้องสลายตัวลง

ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้ไม่ได้บอกว่าพลังอนุรักษนิยมหมดน้ำยาลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่อย่างน้อยก็ชี้ได้ว่าพลังกลุ่มนี้อ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เสื่อมมนต์ขลัง ใช้ไม่ได้ผลเหมือนเก่าการสถาปนาพระราชอำนาจนำโดยอาศัยอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเป็นธงนำเป็นกระบวนการที่เริ่มต้น ขึ้นอย่างจริงจังในชว่งทศวรรษ 2490-2510 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475ที่ฝ่ายชนชั้นนำจารีตกลับมาเป็นฝ่ายรุกทางอุดมการณ์-ความคิด กระบวนการดังกล่าวสถาปนาตั้งมั่นได้หลัง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และอาศัย ช่วงเวลาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสร้างเครือ ข่ายอำนาจที่เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งสามารถสร้างให้ “ราชา” กลายเป็นหนึ่งเดียวกับ “ชาติ” ได้

มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การสถาปนาพระราชอำนาจนำตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการเมือง - วัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยมที่หลงเหลืออยู่ การหนุนหลังของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น การสร้างอำนาจบารมีและความเป็นธรรมราชาผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับข้าราชการปัญญาชน และพสกนิกรไปด้วยในตัว ตลอดจนการควบคุมการสื่อสารทางเดียวให้เห็นแต่แง่งามอย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้ยากจะคงสภาวะเดิมสืบเนื่องไปตลอดหรือผลิตซ้ำได้ ประกอบกับสภาวะความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่าง “ราชา” กับ “ชาติ” ก็มีข้อจำกัดและความเปราะบางในตัวเองความปรารถนาของชนชั้นนำจารีตที่จะ “แช่แข็ง” ประเทศ เพื่อหยุดกาลเวลา หยุดความเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายครั้งใหญ่จากเครือข่ายอำนาจใหม่ที่ถูกสร้างภาพให้เป็น “ปีศาจ” ในนามของ“ระบอบทักษิณ” จึงไม่ใช่อะไรมากไปกว่าอาการละเมอหวาดกลัว

เป็นความละเมอหวาดกลัวดังคำของสาย สีมา ตัวเอกในนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่กล่าวต่อหน้าสมาคมของชนชั้นสูงว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้… เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ไดบ้างสิ่งบางอย่างชั่วครั้ง ชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”แตในช่วงปลายรัชกาลนี้ เรื่องอาจกลับตาลปัตรอย่างร้ายกาจ เมื่อโลกเก่า-ความคิดเก่ากำลังเพลี่ยงพล้ำ\อ่อนแรงลง ทว่าแทนที่รัฐบาลที่เป็น “ปีศาจ” ของเหล่าชนชั้นนำจารีต จะใช้โอกาสนี้เร่งถอนรื้อโครงสร้างที่เป็นแขนขามือไม้ของโลกเก่า แล้ววางรากสร้างฐานของโลกใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ กลับพยายามจะลอยตัวไม่กล้าทำอะไร นอกจากรอคอย “เวลา” แห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะต้องมาถึงตามกฎธรรมชาติที่ว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า

รัฐบาลเพื่อไทย ยังคิดด้วยว่า “เวลา” อยู่ข้างพวกเขา และลำพังอาศัย “เวลา” เป็นอาวุธไร้เทียมทานก็สามารถทำลายโลกเก่าได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปรื้อ ทำลายนั่งร้านค้ำยันโลกเก่าที่กำลังจะตายไปเอง ขอเพียงรักษาตัวให้รอดรอถึงวันที่ “เวลานั้น” มาถึง สังคมใหม่ก็ปรากฏเรืองรองขึ้นต่อหน้าต่อตาโดยอัตโนมัติ

แทนที่ความพ่ายแพ้ของพลังอนุรักษนิยมจะเป็นจุดหนุนเสริมให้มีการพัฒนาประชาธิปไตย กลายเป็นว่าปีศาจแห่งกาลเวลาสำหรับพลังอนุรักษนิยม กลับสร้างภาพพลังที่กำลังจะโรยรานี้ให้เป็น “ปีศาจ” ที่ยังมีพลังแฝงเร้นอีกมาก เพื่อคอยหลอกหลอนตัวเองและเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลง รักษาซากเดนแห่งโลกเก่าเอาไว้แล้วทำได้เพียงรอ “เวลา” ให้มาจัดการกับปีศาจที่ว่านี้เท่านั้น ความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นกลายเป็นข้ออ้างง่ายๆให้รัฐบาลใช้เลี่ยงพันธกิจที่มีต่อคะแนนเสียงที่ต้องการผลักดันกงล้อประชาธิปไตยให้ขับเคลื่อนต่อไป

เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ประธานรัฐสภาจากพรรคเพื่อไทยโยนร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอทิ้งอย่างไม่ไยดี ไม่เห็นความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่จะปฏิรูประบบตุลาการ ทั้งๆ ที่“ตุลาการภิวัตน์” เป็นเครื่องมือที่ถูก ใช้ในการล้มรัฐบาลมา 3 ครั้งแล้ว ไม่เห็นความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพทั้งๆ ที่กองทัพเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำรัฐประหารและสังหารประชาชนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553แต่กลับ เพิ่มงบประมาณให้ หรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ เช่น การแก้ไขกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน กลับมามีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี หลังจากที่คณะรัฐประหารแก้ไขให้กลับ ไปดำรงตำแหน่งจนเกษียณอายุ 60 ปี รัฐบาลเพื่อไทยก็ “ถอย” และยังไม่ต้องพูดถึงการผลักดันอย่างจริงจังให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เป็นมวลชนร่วมต่อสู้เพื่อขับไล่อำมาตย์มาด้วยกัน

ปีศาจแห่งกาลเวลา หรือจะเป็นเพียงปีศาจที่อาศัยเวลาเป็นเกราะกำลังเพื่อรักษาโลกขาดๆ วิ่นๆ ของสมาคมชั้นสูงเอาไว้ในที่สุด ไม่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์—การเมือง—กองทัพ—ศาล เพราะเชื่อว่าสถาบันและระเบียบการเมืองที่เป็นปฏิกิริยาจะหมดสิ้นพิษสงไปเองเมื่อถึงเวลาแห่งรัชสมัยใหม่

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างปีศาจ กาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงโลกที่ต่างกันเป็นเรื่องของสถานะ  การกำหนดท่าทีต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า และการเลือกยุทธศาสตร์ทางการเมืองในองคาพยพของปีศาจแห่งกาลเวลาที่ต่างกัน

อย่าปล่อยให้ “เวลา” กลายเป็น เครื่องมือแช่แข็ง “ปีศาจ” ที่เกิด ขี้นมาหลอกหลอนโลกเก่า-ความคิดเก่า เสียเอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net