Skip to main content
sharethis

เสวนาที่ Book Re:public "กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา" ชี้ให้เห็น "การเมืองในอาหาร" ตั้งแต่กระบวนการผลิต การกระจายอาหาร และการบริโภค พร้อมเสนอว่า “ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเผด็จการอาหาร” เพราะในทางเลือกที่ดูหลากหลายนั้น แท้ที่จริงแล้วประชาชนแทบไม่มีทางเลือกในการบริโภคมากนัก

วันที่ 1 ธ.ค.55 เวลา 13.00 น. ร้าน Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมโรงเรียนประชาธิปไตย และเสวนาในหัวข้อ “เมื่ออาหารกลายเป็นประเด็นทางการเมือง” โดยมีวิทยากรคือ กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai Foundation) และดำเนินรายการโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา เปิดประเด็นวงเสวนาโดยชี้ให้เห็นถึงความเป็นการเมืองในอาหาร ในกระบวนการทั้งหมดของการเดินทางของอาหาร ตั้งแต่การเมืองในแง่ของการผลิต การกระจายอาหาร และการบริโภคอาหาร ทั้งสามประเด็นนี้ กิ่งกรเสนอว่า “ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเผด็จการอาหาร” เพราะในทางเลือกที่ดูหลากหลายนั้น แท้ที่จริงแล้วประชาชนแทบจะไม่มีทางเลือกในการบริโภคมากนัก แสดงให้เห็นถึงความ (ไม่) มั่นคงในอาหารได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญของอาหารสำหรับคนไทย จากตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในครัวเรือน ในปี 2553 คิดเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารประมาณ 32% และเฉพาะสำหรับกลุ่มคนจนเมืองค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารอาจจะอยู่ที่ 45% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด “เรื่องกินของคนไทยจึงเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ ค่าใช้จ่ายกว่า 30 % ถูกใช้สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหาร แต่เราคิดถึงเรื่องอาหารน้อยลง...”

กิ่งกรเห็นว่าคำถามสำคัญที่เราควรตั้งต่อ ‘ระบบอาหาร’ คือ อาหารที่เรากินทุกวันนี้มาจากไหน ผลิตโดยใคร และใครเป็นคนกำหนดปัจจัยการผลิต  จากตัวอย่างกรณีอุตสาหกรรมการผลิตไก่ ชี้ให้เห็นถึง การผูกขาดของอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ข้อมูลจาก FAO ระบุว่าการผลิตไก่ 70 % มาจากการผลิตในฟาร์มใหญ่ และ 20% มาจากฟาร์มขนาดเล็ก ที่เหลือเพียง 10% เป็นการผลิตจากระบบครัวเรือน ฟาร์มขนาดใหญ่จึงยึดกุมอำนาจในการผลิตมากที่สุด รวมไปถึงอำนาจทางการเมือง มีอิทธิพลในเชิงโครงสร้าง ระบบการศึกษา บริษัทอย่างซีพีเอฟ, สหฟาร์ม, เบทาโกร ถือครองระบบตลาดส่วนใหญ่ และครอบคลุมไปถึงปัจจัยการขยายผลิตอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การผลิตพืชอาหารสัตว์ ปุ๋ย วัคซีน บรรษัทใหญ่เหล่านี้จึงเป็นเป็นตัวแปรทีสำคัญในการกำหนดระบบอาหาร

ภายใต้ความคิดแบบเสรีนิยมใหม่นั้น เมื่อเอาเข้าจริงๆ ทุนนิยมก็ไม่เสรี ยิ่งโตก็ยิ่งผูกขาด ทั้งทางราบและทางดิ่ง กรณีเรื่องอาหารเป็นตัวอย่างที่ชัดมาก เมื่อทุนยิ่งเติบโตหรือไร้การควบคุม ทุนได้ขยายตัวเป็นระบบผูกขาดในทุกสินค้าตลอดห่วงโซ่ของระบบ

ประเด็นต่อมาในเรื่องการกระจายอาหาร กิ่งกรชี้ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในการขนส่งอาหารในแบบระบบรวมศูนย์ ลักษณะการเกษตรสมัยใหม่ที่ต้องพึ่งพาพลังงาน ทำให้ปัจจัยเรื่องน้ำมันเป็นอีกปัจจัยที่กำหนดอนาคตของอาหาร ปัจจัยการผลิตส่วนหนึ่งจึงผูกอยู่กับตลาดราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบการผลิตอาหารเกษตรที่พึ่งพาน้ำมัน ไม่น่าจะมีอนาคตเท่าไร น้ำมันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ไม่เกิน 100 ปี น่าจะเข้าสู่ยุคขาดแคลนอย่างมหาศาล

ยกตัวอย่างเช่นการขนส่งอาหารของไทยกรณีตลาดไท โดยพืชอาหารจากเชียงใหม่ พืชจากปทุมธานี และพืชจากพื้นที่อื่นๆ ที่ระยะทางในการขนส่งไม่เท่ากัน แต่รับซื้อที่ตลาดไทในราคาเท่ากัน เท่ากับว่าเกษตรผู้ผลิตต้องเป็นผู้ถูกขูดรีดและแบกรับส่วนต่างของราคาอย่างไม่เป็นธรรม

กิ่งกรชี้ว่าปัญหาเรื่องอาหารถูกละเลยราวกับว่าไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ของโลก พึ่งจะมีระยะหลังๆนี้เองที่เริ่มมีการตื่นตัวเรื่องอาหารกันมากขึ้น และแท้จริงแล้วปัญหาเรื่องอาหารไม่ใช่เพียงแค่เรื่องคุณภาพของอาหารเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรมและชีวิตทางเศรษฐกิจของผู้คนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด

“ยิ่งมีการพัฒนาแก้ไข คนที่กุมเรื่องปัจจัยการผลิตคนที่ได้ประโยชน์คือบรรษัท ยิ่งพัฒนามากเท่าไหร่ทางเลือกของผู้บริโภคยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ” หลังจากการปฏิวัติเขียวเป็นต้นมา การปลูกพืชใช้ต้นทุนทางเคมีสูงมาก ทำให้นำมาสู่วิกฤตเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เกษตรกรถูกทำให้เชื่อว่า “พืชนั้นจะโตไม่ได้หากไม่ได้รับสารเคมี” ซึ่งระบบการผลิตเช่นนี้ไม่ได้สร้างความงอกงามในชีวิตให้เกษตรอย่างยั่งยืน

สำหรับคนไทยนั้นยิ่งไม่รู้สึกถึงปัญหาเพราะเราอยู่ในความอุดมสมบูรณ์จนเคยชิน พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการกิน เช่น ความนิยมในอาหารกล่องแช่แข็ง  “จากการกินของสดของดีมาเป็นของแช่แข็งเรายังไม่รู้ตัวเลยว่าเปลี่ยนมาได้อย่างไร เราถูกทำให้ไม่รู้ตัว ถูกคุมทางวัฒนธรรม ถูกออกแบบทางวัฒนธรรม โดยเริ่มจากความเท่แล้วถูก ถัดมาเป็นความเคยชินแล้วเราก็คิดว่ามันตอบโจทย์กับวิถีชีวิตปัจจุบัน มันทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยน แล้วสุดท้ายคุณก็ชิน”

ความไม่มั่นคงในอาหาร สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงในช่วงที่น้ำท่วมกรุงเทพฯ ร้านสะดวกซื้อขาดแคลนอาหารและสินค้าเพื่อบริโภค  แต่เราจะเห็นได้ว่าร้านค้าแบบโชห่วยเข้ามามีบทบาทช่วยคลี่คลายปัญหาได้ โดยการใช้ระบบการกระจายอาหารอย่างเป็นธรรม ทำให้เห็นคุณค่าของร้านขายของชำ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยมากขึ้น

วิกฤติอาหารช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม

กิ่งกร กล่าวว่าถ้าจะกินอาหารปลอดภัยจริงๆ ในขณะนี้หาไม่ได้เลย ถ้าผู้บริโภคไม่สร้าง ผู้บริโภคเองต้องลุกขึ้นมาบอกว่าคุณไม่ยอมรับระบบการผลิตและการกระจายอาหารแบบนี้  และจำเป็นต้องคิดถึงการกระจายตลาดขนาดเล็กลงหรือระบบตลาดที่รองรับของดี

“ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค ผู้เป็นหน่วยหนึ่งของการเมือง หน่วยหนึ่งของสังคม ควรตั้งคำถามกับตนเองและสังคมว่าอาหารมันเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แต่เพียงว่ามีอะไรก็กินๆไปเถอะ  หากคุณมองเห็นความไม่มั่นคงของชีวิต มองเห็นความไม่เป็นธรรม ถ้าคุณรับไม่ได้ คุณจะต้องออกมา ‘เห่าหอน’ ให้มากกว่านี้ คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ที่มีเสียงทางการเมืองสูงกว่า คุณควรออกมาพูดให้มากกว่านี้”

จุดสำคัญที่สุดในฐานะปัจเจก คือต้องเป็นผู้บริโภคที่กระตือรือร้น มีความรู้พอสมควรว่าผลผลิตต่างๆ นั้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร และเลือกกินให้มันตอบโจทย์ของโลกบ้าง ยิ่งไปกว่านั้นแล้วผู้บริโภคนั้นยังต้องแอคทีฟทางการเมือง ต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบายเรื่องการเกษตรและอาหาร  ซึ่งสำคัญพอๆกันกับนโยบายทางการเมืองอื่นๆ

โดยส่วนตัวของกิ่งกรเองนั้น ไม่ได้คิดว่าการรณรงค์เรื่องกินเปลี่ยนโลกนั้นเป็นทางออกทั้งหมด แต่จำเป็นจะต้องรณรงค์กับผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อ มีอำนาจทางการศึกษา มีอำนาจทางการผลิต ที่จะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง คุณกิ่งกรได้ย้ำว่าผู้บริโภคชนชั้นกลางนั้นมีทางเลือกแต่ไม่เลือก ผู้บริโภคจริงๆ แล้ว สามารถสร้างทางเลือกทางนโยบายได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่เช้าตีห้าต้องขึ้นรถตู้ไปทำงานซึ่งไม่มีเวลาและรายได้เพียงพอ ต้องกินอาหารแย่แบบไม่มีทางเลือก แต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่ฉลาดพอที่จะเลือกหรือไม่ใส่ใจ

กิ่งกรยังได้พูดถึงสิทธิในการเข้าถึงอาหาร ว่าต้องมีระบบที่เอื้อให้คนกลุ่มที่มีรายได้น้อย กลุ่มที่ปากกัดตีนถีบ ที่ไม่สามารถมีทางเลือกในอาหารมากนัก มีสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ โดยมีผู้ที่มีเสียงทางการเมืองเป็นปากเสียงแทน  จึงเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรเราจึงจะสามารถสร้างหรือขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการสร้างระบบอาหารที่ดี แล้วระบบนั้นสามารถตอบโจทย์ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน เป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน ซึ่งควรจะมีระบบที่มาสร้างหลักประกัน การสร้างระบบที่มีหลักประกันได้นั้นก็จะต้องมีเสียงทางการเมืองที่เข้มแข็งที่จะไปบอกกับรัฐบาลว่าควรจะมีนโยบายสาธารณะที่จะไปสร้างระบบอาหารที่ดีกับทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินเท่านั้นจึงจะเข้าถึงของดีได้

ในตะวันตก มีการพูดถึงประชาธิปไตยทางอาหาร (Food Democracy) เพื่อตอบโต้กับการขยายการควบคุมระบบอาหารของบรรษัท และการที่ผู้บริโภคไม่ได้มีส่วนร่วมใด ๆ ในระบบอาหาร โดยแนวคิดนี้เชื่อว่าพลเมืองมีอำนาจที่จะกำหนดนโยบายด้านอาหาร และปฏิบัติการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับสากล เป้าหมายของประชาธิปไตยทางอาหารคือการมีหลักประกันการเข้าถึงอาหาร  ที่มีราคาเหมาะสม ดีต่อสุขภาพ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมอาหาร และเน้นความเป็นธรรมทางสังคมในระบบอาหาร เพราะเชื่อว่าอาหารคือหัวใจของกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่การกระแสการก่อเกิดขององค์กรและขบวนการของผู้บริโภคจำนวนมากในตะวันตก

ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคอาหารในตะวันตก

 

“ในส่วนกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในบ้านเราล้าหลังยุโรปไป 30 ปีได้ ซึ่งกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคก็ต้องอาศัยพัฒนาการทางการเมืองและมันจะไปสะท้อนเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีสิทธิมีเสียงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น free vote หรือ free speech โดยหากเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคเราห่วยก็สะท้อนให้เห็นเลยว่าการเมืองเราห่วย”

ปัญหาเรื่องอาหารจึงสะท้อนโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งโครงสร้างการผลิต การตลาดและการบริโภค เป็นภาพสะท้อนปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง “ทุกวันนี้เราถูกทำให้มึน เราไม่สนใจเลยว่าอาหารที่เรากินเข้าไปปฏิบัติการทางการเมืองของเรามีความสำคัญ แต่เราไม่เคยคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีอะไรก็กินๆเข้าไป มันมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ผลิตและต่อสังคมการเมือง”

ถ้าทุกคนเริ่มลุกขึ้นมาตั้งคำถามจากชีวิตประจำวัน  ก็จะเห็นเรื่องราวที่เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เต็มไปหมดไม่ต่างกัน แล้วก็จะสามารถเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่เห็นชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากๆ เราไม่มีนโยบายควบคุมสารเคมี ไม่มีนโยบายการควบคุมการโฆษณา เราจึงต้องคุยกับผู้บริโภคว่าต้องเข้ามาส่งเสียงให้มากขึ้น ต้องมีนโยบายมากำกับดูแลเรื่องกระบวนการผลิตอาหาร แต่ก็ยังพบปัญหาอีกคือชนชั้นกลางที่เป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัวกลับมองไม่เห็นปัญหาที่เป็นโครงสร้างแต่เห็นปัญหาเป็นพรรคการเมือง ซึ่งก็ยังคงก้าวไปไม่พ้นกรอบคิดแบบเดิม

ในช่วงท้าย กิ่งกรยังได้ตอบคำถามของผู้เข้าร่วม โดยได้แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายจำนำข้าวว่า เห็นด้วยกับหลักการที่ว่าจำเป็นต้องอุดหนุนให้ชาวนามีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะต้องมีการเปิดจุดรับซื้อที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อให้ชาวนาได้เงินมากกว่าที่ได้รับจากโรงสี เพราะงานนี้คนกินกำไรเยอะที่สุดน่าจะเป็นโรงสี ดังนั้นปัญหาแรกคือจะเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่านี้ได้อย่างไร ตามมาด้วยปัญหาที่สองคือปัญหาคุณภาพข้าวไทย ซึ่งก็ยังไม่มีใครตอบโจทย์นี้ได้เลย กล่าวคือ ข้าวขณะนี้อายุสั้นมากขึ้นเรื่อยๆ คุณภาพแย่ลง เพราะว่าพอมีราคารับประกันมาอยู่ตรงหน้าชาวบ้านก็มีความหวัง แล้วพร้อมที่จะลดความเสี่ยงความเสียหายของผลผลิตทุกวิถีทางจึงยอมทุ่มทุน  การพัฒนาผลิตภาพทางอื่นก็ไม่เกิด ปัญหาเรื่องการผูกขาดก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ย้ายการผูกขาดจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นการผูกขาดโดยรัฐ การอุดหนุนแบบรับจำนำจึงเป็นการตอบโจทย์ในช่วงสั้น ดังนั้นจะอุดหนุนอย่างไรให้ตอบโจทย์ระยะยาวนั้นเป็นเรื่องนโยบายที่ต้องปรับปรุงพอสมควร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net