Skip to main content
sharethis

วันที่ 6 ธ.ค. 2555 ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (มีเดียมอนิเตอร์) ร่วมกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “สื่อกับการผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศ"

อมรเทพ กมลศักดิ์กำจร จากมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) รายงานผลการศึกษาว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สื่อยังนำเสนอภาพเหมารวมและค่านิยมในคติเรื่องเพศในแบบเดิม ในส่วนของละครได้ศึกษาจากละครซิทคอมไทยที่ออกอากาศทางฟรีทีวี ได้แก่ ผู้กองเจ้าเสน่ห์ ระเบิดเที่ยงแถวตรง สี่สหายสบายดี นัดกับนัด และลูกไม้หลายหลายต้น พบว่า ผู้ชายจะได้รับบทบาทเด่น เป็นผู้ตัดสินใจ ผู้ปกป้องคุ้มครอง เป็นผู้ที่ได้รับความสำคัญ โดยมีค่านิยมที่ผู้ชายต้องหล่อ หุ่นบึกบึนและเข้มแข็งอดทน แต่ผู้หญิงนั้นจะได้รับบทบาทรองลงมา มักได้รับความสำคัญในฐานะคนรักของผู้ชาย จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายในเรื่องแรงกาย ความรัก การทำงาน โดยมีค่านิยมในรูปลักษณ์ที่ผู้หญิงต้องสวย ผอม ผิวขาว บอบบาง นอกจากนั้นผู้หญิงต้องอ่อนหวานและท้ายที่สุดผู้หญิงต้องมีคู่ครอง 

อมรเทพ ระบุว่า ในส่วนของชายรักเพศเดียวกันจะได้รับบทเป็นตัวประกอบเพื่อเรียกเสียงหัวเราะผ่านความประหลาด หรือถูกนำเสนอว่าเป็นคนลามก หมกมุ่นเรื่องเพศ ชอบเข้าหาผู้ชายหน้าตาดี เป็นที่น่ารังเกียจ แต่ทั้งนี้ก็พบว่ามีค่านิยมใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงออกมากขึ้น โดยผู้หญิงสามารถแสดงออกเรื่องความรักได้ สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานโดยตัวคนเดียวได้

อมรเทพ กล่าวว่า ในส่วนของหนังสือพิมพ์ ศึกษาจากลักษณะของข่าวในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ และมติชนรายวัน ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 31 ตุลาคม 2555  โดยพบว่า ยังนำเสนอข่าวในรูปแบบเดิมโดยขาดมุมมองทางสังคม เช่น มักเน้นการบรรยายสรีระและการแต่งกายของผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ว่าผู้หญิงเป็นต้นเหตุของปัญหาข่มขืน เพราะแต่งตัวโป๊ หรือกรณี “ท้องไม่พร้อม” ที่มักนำเสนอในแง่ที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายผิด เหมาว่าการทิ้งเด็กเป็นปัญหาของเด็กผู้หญิงใจแตก ทั้งหมดนี้ไม่มีการอธิบายว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาของสังคม ผลักให้เป็นปัญหาของปัจเจก

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า พบว่ามีการพัฒนาการที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ในการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ เช่น ข่าวการล่อลวงค้าประเวณี มีการนำเสนอในแง่ที่เจาะลึกประเด็นปัญหาและเปิดช่องทางให้ความช่วยเหลือ หรือข่าวเรื่องความหลากหลายทางเพศ ที่มีการนำเสนอสิทธิของกลุ่มคนข้ามเพศ และเน้นการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้อง

แนวทางการแก้ปัญหา
ณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สสส. กล่าวว่า ไม่มีใครเป็นจำเลย ไม่มีใครเป็นผู้ต้องหา แต่อคติทางเพศมันถูกผลิตและแสดงผ่านหลายๆ ระบบในสังคมไทย เช่น ค่านิยมเรื่องเพศที่มีในแบบเรียน การปลูกฝังจากครอบครัว คำสอนในศาสนา อย่างเช่นว่าการที่ผู้หญิงต้องปฏิบัติธรรมโดยใช้ความพยายามมากกว่าผู้ชายถึงจะบรรลุธรรมได้ ปัจจุบันเรามีการพูดถึงโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ แต่เรื่องเพศยังไม่มีการพูดกันในที่สาธารณะมากเท่าที่ควร สื่อกระแสหลักไม่ตั้งคำถามเรื่องค่านิยมในเรื่องเพศ เมื่อเราไม่เปิดพื้นที่ในการตั้งคำถามในเรื่องเพศ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เรื่องเพศจึงเป็นเรื่องที่พัฒนาไปน้อยที่สุด

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การเป็นสื่อมันทำหน้าที่ผลิตซ้ำโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งการผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศอาจเป็นไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นสื่อมวลชนควรเปิดเวทีให้สื่อตรวจสอบการทำงานของสื่อด้วยกันเอง สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยต้องไม่มีเหลือคติที่ว่า "แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน" อีก นอกจากนี้ต้องมีการตรวจสอบจากภายนอกด้วย ควรตั้งหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล

กฤตยา แสดงความคิดเห็นต่อว่า จะไปเรียกร้องจากสื่ออย่างเดียวก็ไม่ถูก เราต้องปรับทัศนคติของเราด้วย การที่ประเทศไทยมีระบบวิธีคิดอะไรที่ทำให้เราลุกขึ้นมาทำร้ายคนอื่นได้โดยไม่ตั้งคำถาม มันสะท้อนว่าเป็นความรุนแรงทางวัฒนธรรม มันเป็นสิ่งที่อันตรายและฝังลงลึกในจิตใจ วัฒนธรรมทางเพศเป็นกลไกสำคัญเป็นทำให้ปัญหายังคงอยู่ เราต้องช่วยกันให้ความเข้าใจโดยทำให้เห็นว่าเรื่องเพศและความรุนแรงเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เราต้องหยุดตีตราคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศไปต่างๆ นานา เราต้องอย่ามองว่าการที่มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดในขึ้นองค์กรเป็นความเสียหายขององค์กร เพราะมันจะทำให้เรื่องเพศกลายเป็นวัฒนธรรมเงียบ เราต้องทำให้วัฒนธรรมเงียบมันพูดได้

รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแบ่งขั้วตรงข้าม คือในลักษณะไม่ขาวก็ดำ ไม่ดีก็ชั่ว ปรากฏในกรอบคิดเรื่องเพศที่แบ่งเป็นขั้วตรงข้ามหมดเลย มันเลยทำให้สื่อผลิตซ้ำ เพราะมันฝังลึกจนแนบเนียนกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติปั่นแต่ง สื่อใช้กรอบคิดนี้ในการตีความปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมชาติไป ดังนั้นจึงเสนอให้มีองค์กรกำกับดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องเพศ เพื่อให้สื่อได้เรียนรู้และพัฒนามุมมองในเรื่องเพศที่กว้างขวางกว่ามุมมองเดิมที่ถูกจำกัดโดยวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า “สื่อต้องชี้นำสังคมไปทางที่สร้างสรรค์ด้วย ไม่ใช่จะสะท้อนสังคมอย่างเดียว”

“มันต้อง Gender Inclusion ในทุกๆ นโยบาย” วิลาสินีกล่าวและยกตัวอย่างว่า การรับสมัครพนักงานก็ต้องเท่าเทียมกันในเรื่องเพศ หรือในมิติอื่นๆ ทุกเพศก็ควรเท่าเทียมกัน นี่เป็นความหมายของ Gender Inclusion ซึ่งต้องทำให้แนบเนียนเข้าไปกับทุกๆ กลไกของสังคม

ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวปิดท้ายว่า นอกจากนโยบายที่เกี่ยวกับสื่อแล้ว ภาคประชาชนก็ต้องเข้มแข็ง ปัจจุบันผู้บริโภคนั้นมีอำนาจน้อยที่สุดทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ทำให้ผู้ผลิตอยู่ได้ การจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของสังคมสามารถทำได้โดยการผลักดันจากผู้บริโภค โดยยกตัวอย่างกรณีการรณรงค์กรณีจอดำฟุตบอลโลกเป็นอุทาหรณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net