Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการปรับปรุงด้านพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังเสียงประชาชนก่อนร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม (ICC) หลังพบไทยยังติดขัดในด้านกฎหมายและข้อห่วงใยหลายประเด็น ด้านโฆษกศาลยุติธรรมเขียนบทความแจงเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยดีพอหรือไม่ ทำไมต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ

 
7 ธ.ค. 55 – คณะกรรมการปรับปรุงด้านพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) แนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟังเสียงประชาชนก่อนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรม หลังพบประเทศไทยยังติดขัดในด้านกฎหมายและข้อห่วงใยหลายประเด็น
 
นายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงด้านพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งขึ้น กล่าวภายหลังการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) หรือไม่ ว่า การให้สัตยาบันแก่อนุสัญญากรุงโรมเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยให้มีการรับรองอนุสัญญาดังกล่าวเพราะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต แต่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยยังติดขัดในด้านกฎหมายและมีข้อห่วงใยอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นข้อห่วงใยของกระทรวงการต่างประเทศที่เห็นควรให้มีการแก้กฎหมายบางประเด็นก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ อาทิ กฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา และอำนาจของ ICC เนื่องจากการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาต้องตราพระราชบัญญัติอนุวัติการสนธิสัญญาดังกล่าวโดยฝ่ายบริหารจะต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อน นอกจากนี้ศาลทหารยังมีข้อห่วงใยข้อกฎหมายในอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อสังคมไทย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพิจารณาให้รอบคอบก่อนประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญากรุงโรมดังกล่าว โดยทางคณะกรรมการเตรียมเชิญคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงยุติธรรมเข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งต่อไป
 
 
โฆษกศาลยุติธรรม เขียนบทความแจงเรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยดีพอหรือไม่ 
 
วันเดียวกันนี้ (7 ธ.ค.) มติชนออนไลน์ได้เผยแพร่บทความของนายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม เรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยดีพอหรือไม่ ทำไมต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ มีเนื้อหา ดังนี้
 
เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีองค์กรที่มาเกี่ยวข้องคือ ตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์
 
ศาลอาญาระหว่างประเทศคืออะไร เป็นเช่นเดียวกับศาลอาญาภายในประเทศหรือไม่? คำตอบคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นเป็นองค์กรตุลาการระหว่างประเทศองค์กรหนึ่งที่มีหน้าที่พิจารณาคดีเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งคดีที่ถือว่าเป็นคดีอาญาระหว่างประเทศ มีฐานความผิดทางอาญาตามข้อ 5 ของธรรมนูญกรุงโรม ดังนี้คือ 
 
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความผิดต่อมนุษยชาติ อาชญากรสงคราม และความผิดล่าสุดคือ ความผิดฐานรุกราน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 ธรรมนูญกรุงโรมได้เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 หลังจากที่มีการให้สัตยาบันจากประเทศสมาชิกครบ 60 ประเทศ และในปัจจุบันมีประเทศ ที่เข้าเป็นภาคีสมาชิกกับธรรมนูญกรุงโรม ทั้งสิ้น 121 ประเทศ และมีจำนวน 18 ประเทศเป็นประเทศเอเชียแปซิฟิก โดยเกือบทั้งหมดเป็นประเทศในภาคพื้นทวีปยุโรปและแอฟริกา มีเพียง 3 ประเทศที่ปฏิเสธที่จะลงนามอย่างเปิดเผยคือ ประเทศซูดาน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา 
 
ในส่วนประเทศไทย ได้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรมไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน การไม่ให้สัตยาบันนั้น ตามสนธิสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (Vienna Convention on the Law of treaties) ถือว่ารัฐนั้นยังปฏิเสธหรือคัดค้านความมุ่งหมายของสัญญา ดังนั้น พันธกรณีหรือข้อตกลงต่างๆ จะดำเนินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐนั้นมีการให้สัตยาบันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงยังไม่ถือว่าเป็นรัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรม ดังนั้นจึงไม่มีพันธกรณีใดๆ ตามธรรมนูญกรุงโรม 
 
แล้วศาลอาญาระหว่างประเทศมีเขตอำนาจแค่ไหนเพียงไร ตามธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 11 ได้ระบุถึงเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศไว้คือ เมื่ออาชญากรรมระหว่างประเทศได้เกิดขึ้นภายหลังสนธิสัญญาบังคับใช้ และเมื่อรัฐเป็นประเทศภาคีภายหลังสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ โดยธรรมนูญกรุงโรมข้อ 12 ได้กำหนดเงื่อนไขในการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเบื้องต้น กล่าวคือการที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับการฟ้องร้องได้มี 2 กรณี 
 
กรณีแรกคือในกรณีที่อาชญากรรมได้เกิดในรัฐภาคีหรือเกิดภายในเรือ เครื่องบินที่มีสัญชาติรัฐภาคี หรือผู้กระทำความผิดเป็นคนชาติของรัฐภาคี ส่วนกรณีที่สองเป็นกรณีตามข้อ 12 วรรคสาม ที่คดีอาชญากรรมเกิดภายนอกรัฐภาคี แต่รัฐภาคีได้ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลต่อนายทะเบียนว่าจะยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยประเทศคู่กรณีต้องประกาศอย่างชัดเจนว่าจะให้ความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศในทุกด้าน เมื่อผ่านเขตอำนาจศาลเบื้องต้นแล้วคดีจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาภายในประเทศนั้น ต้องผ่านตำรวจเพื่อทำการสอบสวน และอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล หรือผู้เสียหายฟ้องต่อศาล ซึ่งศาลก็จะไต่สวนมูลฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เนื่องจากศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลระหว่างประเทศจึงไม่มีตำรวจในการทำสำนวนการสอบสวน 
 
อย่างไรก็ตาม ในศาลอาญาระหว่างประเทศมีอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศในการเสนอคดีนั้น ตามธรรมนูญกรุงโรมข้อที่ 13 ได้บัญญัติถึงการเสนอคดีต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ 3 ทาง คือ ทางแรก คือ รัฐภาคีเสนอเรื่องอาชญากรรมนั้นต่ออัยการ ทางที่สอง คือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Security council) ซึ่งปฏิบัติตามหมวด 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติได้เสนอเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรรมต่ออัยการ และทางสุดท้ายคืออัยการกระทำหน้าที่คล้ายตำรวจ คืออัยการเริ่มสืบสวนและสอบสวนเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นและฟ้องคดี โดยในการฟ้องคดีในกรณีสุดท้ายนั้น อัยการจะต้องดำเนินการสอบสวนตามข้อ 15 กล่าวคือ อัยการต้องวิเคราะห์ความหนักแน่นของข้อมูลที่ได้รับ โดยอาจแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากรัฐ สหประชาชาติ องค์การระหว่างรัฐบาล หรือองค์การที่มิใช่รัฐบาล หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่นที่อัยการเห็นสมควร 
 
หากมีพยานหลักฐานสนับสนุนพอสมควร ทางอัยการจะส่งให้องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาระหว่างประเทศ (Pre-trial chamber) หากองค์คณะไม่เห็นด้วยอัยการต้องยุติคดี แต่ถ้าองค์คณะไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวเห็นด้วยและเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ ก็จะอนุญาตให้อัยการดำเนินคดีต่อไป โดยอัยการต้องแจ้งต่อรัฐซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลในการให้ความร่วมมือ ตามธรรมนูญกรุงโรมข้อ 18 วรรคแรก 
 
และภายหลังอัยการได้รวบรวมและตรวจสอบพยานหลักฐาน โดยอาจให้ผู้เสียหายมาให้ปากคำหรือขอความร่วมมือจากรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศ ภายหลังรวบรวมพยานหลักฐานแล้วต้องให้องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าพยานหลักฐานเพียงพอและมีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้น องค์คณะไต่สวนมูลฟ้องจะรับคดีไว้พิจารณา โดยประธานศาลอาญาระหว่างประเทศจะตั้งองค์คณะเพื่อพิจารณา แต่หากหลักฐานไม่เพียงพอ ก็จะยกฟ้อง 
 
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น สืบเนื่องมาจากคดีการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน 2553 โดยเหตุการณ์ดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นคดีอาญาระหว่างประเทศตามข้อ 5 ประกอบข้อ 7 แห่งธรรมนูญกรุงโรม เรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) ที่เป็นการกระทำต่อพลเมืองในประเทศของตน โดยตั้งใจและเป็นระบบในการใช้กำลัง โดยการจับกุม กักขัง หรือฆ่าหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของผู้มีหน้าที่ต้องว่ากล่าวกันไป ในการสั่งสลายการชุมนุมดังกล่าวมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี 
 
อย่างไรก็ตาม การที่จะนำตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดไปดำเนินคดียังศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ผู้ถูกกล่าวหาต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย กรณีจึงจะตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลระหว่างประเทศ ตามข้อ 11 และข้อ 12 และประการสำคัญคือ การที่จะเริ่มคดีได้นั้น ประเทศไทยต้องประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเสียก่อนตามข้อ 12 วรรคสาม จึงจะทำให้คดีดังกล่าวสามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ ตามข้อ 13 ของธรรมนูญกรุงโรม โดยภายหลังการยอมรับแล้วอัยการจึงสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้ตามข้อ 13 วรรคสาม 
 
แต่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นประเทศไทยเองยังไม่ได้มีการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลแต่อย่างใด อัยการจึงไม่สามารถเริ่มคดีได้ สำหรับรัฐบาลปัจจุบันจะมีแนวโน้มในการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลหรือไม่คงต้องพิจารณาทางได้ทางเสียทุกแง่มุมภายใต้ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งการประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศก็เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศเท่านั้นเอง หาใช่กรณีที่ประชาคมโลกไม่ได้ไว้ใจกระบวนการของศาลไทยแต่อย่างใดไม่ และมิได้เกี่ยวข้องกับความจริงใจหรือไม่จริงของศาลยุติธรรมแต่อย่างใดอีกเช่นกัน
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net