Skip to main content
sharethis

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โกรธจนตัวสั่น-ลั่นนักวิชาการละเลยประเด็นปฏิรูปสถาบัน, เดือนวาด พิมวนา ชำแหละศิลปินเพื่อชีวิต ปลุกคนธรรมดาลุกขึ้นเขียนวรรณกรรมตัวเอง, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ชี้เนื้อหาบางอย่างยิ่งไม่พูด ยิ่งชัด : งานสัมมนาวิชาการ วรรณกรรมบันทึก ‘รักเอย’ ของภรรยาอากง

8 ธ.ค.55 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สำนักพิมพ์อ่าน จัดสัมมนาวิชาการ เรื่องเล่าและความทรงจำในงานวรรณกรรมบันทึก กรณีศึกษา “รักเอย” ภายในงานมีการสัมภาษณ์นางรสมาลิน ตั้งนพกุล หรือป้าอุ๊ ภรรยาอากง ผู้เขียน ‘วรรณกรรมบันทึก’ เล่มนี้ ตลอดจนการอภิปรายทางวิชาการ และมีการอ่านบทกวี

ทั้งนี้ อากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ถูกพิพากษาจำคุก 20 ปีในความผิดตามมาตรา 112 แต่เสียชีวิตภายในเรือนจำด้วยโรคมะเร็งหลังจากถูกคุมขังเกือบสองปี ส่วนหนังสือรักเอย เป็นหนังสือที่เขียนโดยภรรยาอากง เรียบเรียงและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่านสำหรับแจกในงานฌาปนกิจศพอากง

การอภิปรายครั้งนี้ ประกอบด้วยวิทยาการหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น เดือนวาด พิมวนา นักเขียนซีไรต์, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มธ., สุธิดา วิมุตติโกศล คณะศิลปศาสตร์ มธ. นอกจากนี้ยังมีเวทีอภิปรายเสียงสะท้อนจากเครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112 ด้วย

ไอดา อรุณวงศ์ บก.นิตยสารอ่าน กล่าวว่า ผู้คนคงไม่อาจลืมได้ว่าการตายของอำพลเกี่ยวข้องกับ 2 สถาบันคือ สถาบันตุลาการที่แม้ว่าจะมีบุคลากรที่แตกต่างหลากหลายอย่างไร มีหลายท่านมีใจเป็นธรรมอยู่บ้างอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือศาลได้ตัดสินจำคุก 20 ปีแก่ประชาชนคนไทยที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง ทั้งหลักการก็มีอยู่ว่า จำเลยย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์จนสิ้นสงสัยและภาระการพิสูจน์อยู่ที่โจทก์ ไม่ใช่จำเลย โดยเฉพาะคดีความเกี่ยวกับมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง อีกสถาบันหนึ่งคือสถาบันกษัตริย์ ที่สังคมจำกัดสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการควบคุมทางกฎหมายและวัฒนธรรม จนทำให้ประชาชนไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความระมัดระวังและหวาดระแวง แม้แต่การจะพูดว่ารักก็ยังต้องพูดในแบบที่อนุญาตให้พูดเท่านั้น


รสมาลิน

รสมาลิน ตั้งนพกุล ได้กล่าวขอบคุณผู้ร่วมงานและทุกคนที่ยังให้กำลังใจและไม่ละเลยครอบครัวของคนธรรมดา นอกจากนี้ยังได้อ่านกวีที่แต่งขึ้นเพื่องานนี้ มีใจความว่า “เปรียบเรือน้อยลอยล่องต้องอับปาง ลอยลิ่วคว้างกลางกระแสสินธุ์ เหลียวทางไหนไม่มีใครได้ยลยิน ตะเกียกตะกายป่ายดิ้นแทบสิ้นใจ สะเปะสะปะมาทางใหม่ได้เจอบก รีบกระโจนหนีนรกที่เลวร้าย หวังพ้นทุกข์ที่แรงร้อนได้ผ่อนคลาย แต่ที่ไหนได้กลับเป็นทะเลทรายที่ล้อมเรา"

เดือนวาด พิมวนา กล่าวถึงวรรณกรรมเล่มนี้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการลุกขึ้นมาเขียนวรรณกรรมจากชีวิตจริง ของคนธรรมดาที่ได้รับความอยุติธรรม ในยุคสมัยที่ปัญญาชน ศิลปิน นักเขียน ไม่ทำหน้าที่นี้ แต่เดิมความเป็นคนธรรมดา ยากจน ขาดโอกาส ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องคิดดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่และดูถูกตนเองว่าไม่มีความรู้จะไปถกเถียงเรื่องการเมือง ไม่ยุ่งเรื่องการเมืองโดยคิดว่าการเมืองจะไม่เข้ามายุ่งกับชีวิตของพวกเขา แต่ความเป็นจริงคนตัวเล็กตัวน้อยต่างก็เป็นพลเมือง มีส่วนเกี่ยวข้องการเมือง และพร้อมจะได้รับความอยุติธรรมเหมือนๆ กัน ป้าอุ๊เป็นตัวอย่างของชาวบ้านคนหนึ่งที่ความรู้ก็มีไม่มาก โอกาสต่างๆ ก็แทบไม่มี มีเพียงประสบการณ์ของการถูกกระทำอย่างรุนแรง และลุกขึ้นมาเขียนงานที่เป็นความจริง

“งานเขียนของเขาแม้พยายามทำให้เป็นวรรณกรรมมากขนาดไหน ถ้าส่งเข้าประกวดก็ยังไม่ดีพอเท่ากับปัญญาชนที่มีความรู้ มีโอกาสที่ดีทำ แต่สิ่งที่เป็นอยู่จริงในวันนี้ก็คือ งานเขียนของชาวบ้านคนหนึ่งที่ผ่านสถานการณ์มา มีความจริงทุกตัวอักษร มีความจริงมาจากเลือดเนื้อ จากชีวิตของเขา ทุกอณู ทุกตัวอักษร ทุกถ้อยคำ แม้จะเป็นถ้อยคำที่ธรรมดาสามัญมาก เป็นถ้อยคำที่อ่านในสถานการณ์ธรรมดาอาจโน้มน้าวใครไม่ได้เลย แต่ว่าในสถานการณ์แบบนี้ต่อให้เขียนผิดทุกประโยค ก็เป็นสิ่งจริงทุกถ้อยคำอยู่นั่นเอง”


เดือนวาด (ภาพเก่า)

เธอยังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ปัญญาชนนักเขียนเพื่อชีวิตด้วยว่า ตกอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบคนชั้นกลางเพื่อแสวงหาชื่อเสียง ความมีตัวตน ผลงานเพื่อชีวิตของศิลปินใหญ่ๆ ที่เราเคยเข้าใจว่าพวกเขาได้รับการบ่มเพาะมาจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลานั้น ต้องทบทวนความเชื่อนั้นกันใหม่ เพราะเมื่อสถานการณ์ความรุนแรง โหดร้ายเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยนี้ พวกเขากลับไม่ยืนเคียงข้างประชาชน และยึดติดอยู่แต่กับผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการ

“คุณแสดงออกไม่ได้ เพราะคุณมีผู้ใหญ่ มีพวกพ้อง มีพี่ มีคนที่ขอร้องคุณเต็มไปหมดที่อยู่ในแวดวง ถ้าผู้ใหญ่ของคุณไม่ใช่หัวขบวนของระบบอุปถัมภ์ก็อาจจะพาคุณให้ก้าวไปสู่ความคิดที่ดีได้ว่า ความอยุติธรรมกำลังเกิดขึ้นตรงหน้า แต่ถ้าผู้ใหญ่ของคุณไม่เห็น ถึงคุณเห็นก็ออกมาไม่ได้ เพราะมีโซ่ที่ล่ามคุณอยู่”

เดือนวาดสรุปว่า ผลงานเพื่อชีวิต เชิดชูประชาชนทั้งหลายสุดท้ายก็เป็นเพียงคำโฆษณาทางการเขียน โฆษณาชวนเชื่อทางความคิดเท่านั้น โดยไม่ได้มาจากรากทางความคิดของบรรดาศิลปินที่แท้จริง  

“งานเขียนของผู้ที่มีความรู้ งานเขียนของปัญญาชน จินตนาการดีมาก ภาษาดีมาก เรื่องราวที่คิดมาจากความรู้ที่คิดค้น มาจากภูมิรู้ที่แน่นมาก แต่เรื่องราวซึ่งสามารถสะท้อนความรู้สึก ที่อ่านแล้วน้ำตาไหลหรือทำให้เราเปลี่ยนชีวิตมาได้เมื่อสิบปีที่แล้ว บัดนี้กลับกลายเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อเพื่อยกย่องตัวเองเท่านั้น ขณะนี้สิ่งที่จะทำให้เกิดวรรณกรรมขึ้นในยุคสมัยซึ่งสถานการณ์รุนแรงขนาดนี้ กลับเป็นชาวบ้านคนหนึ่ง ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ โดนเล่นงานด้วยความอยุติธรรม”

หลังจากเดือนวาดวิจารณ์แวดวงนักเขียนและศิลปินแล้ว สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล  ได้วิจารณ์บทบาทของปัญญาชน นักวิชาการ  โดยในตอนต้นของการอภิปรายสมศักดิ์ได้กล่าวขอบคุณทีมงานกลุ่มต่างๆ ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสดงานเสวนา งานอภิปรายต่างๆ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนมาเป็นเวลายาวนาน เป็นการปิดทองหลังพระที่ทำให้ผู้คนได้มีโอกาสฟังการแลกเปลี่ยนต่างๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นและเป็นหลักฐานดิจิตอลที่สำคัญมากในทางประวัติศาสตร์

สมศักดิ์กล่าวว่า กรณีอากงกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 มีความน่าสนใจที่สามารถสะท้อนเรื่องน่าเศร้าของการขาดความกล้าหาญทางคุณธรรม (moral courage) ของสังคมไทยได้ โดยเฉพาะนักวิชาการที่คิดว่าตนเป็นนักวิชาการฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งสมศักดิ์เชื่อว่ามีเป็นจำนวนมากหลายร้อยคน

เขากล่าวว่า กรณีอากงและกรณีสวรรคต สะท้อนลักษณะการเสียสติ ของ royalist ของไทย โดยย้ำว่า ‘เสียสติ’ ไม่ใช่การกล่าวขำๆ แต่เสียสติในที่นี้คือ เสียอะไรบางอย่างที่เป็นสามัญสำนึก ซึ่งโดยปกติสามารถมีวิจารญาณได้ ในชีวิตประจำวันของเรามีเรื่องจำนวนมากที่โดยสามัญสำนึกของทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาทางการเมืองบางอย่างซึ่งโดยสามัญสำนึกควรได้ข้อสรุปโดยไม่ต้องคิดมาก แต่คนกลับทำเป็นประเด็นขึ้นมา

สมศักดิ์ยกกรณีล่าสุดเรื่องทราย เจริญปุระทำกาแฟลวกมือแล้วโพสต์ในเฟซบุ๊กในวันที่ 5 ธ.ค. แล้วถูกตีความว่าพูดถึงสถาบัน หรือกรณีมติชนเขียนบทอาเศียรวาทแล้วกลายเป็นประเด็นการตีความว่าจาบจ้วง โดยชี้ว่า พนันได้เลยว่าอีก 40-50 ปีข้างหน้า คนต้องหันมามองว่าสมัยหนึ่งคนเราเสียสติขนาดนี้ได้อย่างไร นี่คืออาการเสียสติในความหมายของเขา

เขาชี้ว่าประเด็นสำคัญที่ต้องตั้งคำถามคือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร โดยเขานิยามด้วยว่า อาการลักษณะนี้เป็นลักษณะใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและแตกต่างจากยุค 6 ตุลา เพราะกลุ่มกระทิงแดง นวพล เป็นกลไกรัฐ ฝ่ายขวาจัดตั้งขึ้น และส่วนใหญ่เป็นชนชั้นล่าง แต่ปัจจุบันเกิดอาการนี้ในหมู่คนมีการศึกษา ดูแล้วระดับปริญญาตรีขึ้นไปทั้งสิ้น ซึ่งเป็นภาวะที่ใหม่มากๆ

เขาอธิบายต่อว่า อุดมการณ์กษัตริย์นิยมแบบเสียสติแบบนี้ เป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับการปลดปล่อยตัวเองแบบยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งผู้คนปลดปล่อยชีวิตตัวเองหลายอย่าง ที่ชัดเจนคือ ชีวิตเซ็กส์ ซึ่งมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ทำไมพร้อมๆ กันนี้กลับเกิดอุดมการณ์แบบนี้ได้อย่างเข้มข้นมากในหมู่คนชั้นกลางผู้มีการศึกษา ทั้งที่การศึกษาน่าจะนำมาซึ่งความมีเหตุมีผลมากขึ้น


สมศักดิ์ (ภาพเก่า)

สมศักดิ์ กล่าวว่า เขาจะลองเสนอคำตอบต่อคำถามนี้ว่า  ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ มีทั้งปัจจัยที่นักวิชาการคุมได้และคุมไม่ได้ ปัจจัยที่คุมไม่ได้คือ การเติบโตของชนชั้นกลางไทย ซึ่งโตมาโดยไม่มีอะไรเป็นอุดมการณ์ของตัวเองจริงๆ ศาสนาพุทธก็ไม่สามารถรองรับได้ ต่างจากสังคมตะวันตกที่ยังมีอุดมการณ์เสรีนิยม ปัจเจกชนนิยมให้คนชั้นกลางยึดถือ คนชั้นกลางไทยจึงต้องคว้าอุดมการณ์กษัตริย์นิยมไว้ยึดเหนี่ยว อีกปัจจัยหนึ่งคือความล้มเหลวของเศรษฐกิจในปี 2540 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก กระแสกษัตริย์นิยมขึ้นสูงมากๆ ผ่านกระแสเศรษฐกิจพอเพียง การโปรโมตประมุขในฐานนักเขียนและผู้นำทางคิดนั้นเป็นเรื่องใหม่แตกต่างจากในอดีต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกี่ยวพันกับบทบาทปัญญาชนซึ่งจะมีส่วนช่วยไม่ให้สถานการณ์หนักหน่วงอย่างปัจจุบันได้ก็มี โดยสมศักดิ์ชี้ว่า เป็นความผิดพลาดสำคัญตั้งแต่ประมาณปี 2535 เป็นต้นมา เพราะปัญญาชนที่มีชื่อเสียงทั้งหลายพร้อมใจกันยอมประเด็นสถาบันกษัตริย์กันหมดและเห็นว่าไม่สำคัญ เช่น กรณีที่นิธิ เอียวศรีวงศ์  เกษียร เตชะพีระ ชลิดาภรณ์  ส่งสัมพันธ์ เสน่ห์ จามริก ออกมาพูดเชียร์เศรษฐกิจพอเพียง สมศักดิ์ยังหยิบยกตัวอย่างกรณีนิธิ ว่าพลาดอย่างมากที่เคยพูดหลังรัฐประหารใหม่ๆ ว่า ทักษิณอันตรายกว่าสฤษดิ์ ผู้ซึ่งฟื้นระบอบกษัตริย์นิยมขึ้นมา เพราะสะท้อนให้เห็นว่าภูมิปัญญาของปัญญาชนไทยไม่ชัดเจนขนาดไหนในประเด็นสถาบันกษัตริย์ หรือกรณีเกษียรมีงานในลักษณะ network monarchy ทำเหมือนนิธิคือ อัดนักการเมืองอย่างเดียวอย่างหนักหน่วง  นอกจากนี้ยังมีความล่าช้าในการเข้าใจปรากฏการณ์เรื่องนี้กว่าประชาชนรากหญ้าเสียอีก ทั้งนี้ เขาระบุว่าไม่ได้ต้องการโจมตีตัวบุคคลแต่หยิบยกตัวอย่างสำคัญมาเพื่อให้เห็นถึงปัญหา

“ตั้งแต่ปี 35 เป็นต้นมา ปัญญาชนพร้อมใจกันดร็อปประเด็นสถาบันกษัตริย์หมด แล้วในช่วงเดียวกันนี้ที่มีการโปรโมตสถาบันกษัตริย์อย่างมโหฬาร ปัญญาชนไม่เพียงแต่วันดีคืนดีก็ไปเชียร์ มิหนำซ้ำยังทำอีกอย่างหนึ่งซึ่งช่วยอย่างมากในการเสริมกระแสนั้น คือ การอัดนักการเมือง” สมศักดิ์กล่าว  

สมศักดิ์ยังยืนยันว่า ถึงวินาทีนี้ปัญญาชนที่คิดว่าตัวเองเป็นปัญญาชนปีกซ้ายก็ยังไม่ยอมตระหนักถึงประเด็นนี้อย่างแท้จริงว่ามันสำคัญขนาดไหน เพราะคนเหล่านี้ไม่เคยใช้ความคิดจริงๆ เกี่ยวกับเรื่องสถาบัน เมื่อเร็วๆ นี้ไปดีเบตในวงวิชาการ เขาบอกว่าสมศักดิ์เห็นแต่เรื่องสถาบัน ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ได้ยินแล้วเศร้ามาก เพราะถ้าคุณปลดล็อกประเด็นนี้ไม่ได้ เรื่องอื่นก็ไม่สามารถอ้างความสำคัญได้

“ถ้าไม่ปลดล็อกอันนี้ เรื่องอื่นๆ ไม่มีความหมายเลย เรื่องนักการเมือง ผมพูดมาหลายปีแล้วว่าต่อให้คุณด่านักการเมืองให้ตาย ในแง่หนึ่งมันไม่มีความหมาย ผมถามง่ายๆ ว่าคำวิจารณ์พวกนี้มันแอพพลายได้เฉพาะนักการเมืองหรือเปล่า ถ้ามันไม่ได้แอพพลายเฉพาะนักการเมืองแล้วคุณด่าเฉพาะนักการเมือง ก็เท่ากับคุณผลิตซ้ำสิ่งที่เป็นกรอบที่เขาขีดไว้ให้คุณเท่านั้นเอง”สมศักดิ์กล่าว

“ตราบเท่าที่มีเพดานความคิดอย่างนี้ สิ่งที่คุณทำมันไม่เรียกว่าวิชาการด้วยซ้ำ วิชาการคือเลือกที่จะทำอะไรก็ได้ ด้วยวิธีไหนก็ได้” สมศักดิ์กล่าว

เขากล่าวว่า เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ความรุนแรงปี 53 ที่เขาวิจารณ์ว่า ศปช. ควรไปทำเรื่องสถาบันมากกว่าทำเรื่องคนตาย นั่นเพราะทุกวันนี้เราสามารถเรียกร้องให้เอาผิดกับนักการเมืองได้อยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ต่อให้นำอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มาลงโทษได้ ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหา การรัฐประหารซึ่งเป็นบ่อเกิดของเรื่องก็จะยังเกิดขึ้นได้ต่อไป

“ในฐานะอยู่ในวงการศึกษา ผมเฮิร์ต ผมชอบอาชีพนี้ ผมรักมัน แล้วการมองเห็นคนเสียสติซึ่งจบปริญญาตรีเต็มไปหมดขนาดนี้ คำถามในฐานะที่คุณเป็นอาจารย์สอนอะไรก็แล้วแต่ คุณทนเห็นมันได้อย่างไร”สมศักดิ์กล่าวและว่าหัวใจการศึกษาคือคนต้องมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เชื่อข้อมูลที่ตรวจสอบไม่ได้หรือข้อมูลด้านเดียว แต่เมื่อยังมีกรอบเรื่องนี้ เรียนอะไรไม่มีความหมาย เพราะหัวใจของการศึกษาสมัยใหม่ถือว่ายังไม่มีในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าทำไมนักวิชาการจึงไม่เข้าใจการกระตุ้นของเขา และไม่ออกมามีบทบาทเรื่องนี้ให้มากขึ้น ขณะที่ปัจจุบันดูเหมือนรากหญ้าจะกล้าและเป็นแนวหน้าในเรื่องนี้มากกว่าปัญญาชน และกระแสปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะปัญญาชนไม่ช่วยกันส่งเสียงเรื่องนี้จริงจัง

เขายังวิจารณ์ข้อเสนอของนิติราษฎร์และ ครก.112 ที่ให้แก้ไขมาตรา 112 ด้วยว่า ไม่เห็นด้วยและเสียดายโอกาสในการนำเสนออย่างยิ่ง เพราะนักวิชาการกลุ่มนี้ควรจะเสนอให้ยกเลิกไปเลย แต่เหตุที่เสนอเพียงแก้ไขเพราะคิดเผื่อโอกาสที่จะเป็นไปได้มากกว่า แต่เรื่องนี้คาดเดาได้แต่แรกอยู่แล้วว่าจะไม่ได้รับการผลักดันต่อจากภาครัฐ ดังนั้น ถ้านิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิก แม้รัฐสภาไม่รับลูกต่อหรือเรื่องเงียบไปก็ยังพูดได้ว่า นิติราษฎร์เคยเสนอให้ยกเลิก และเมื่อเรื่องราวถูกฟื้นขึ้นมาใหม่ก็สามารถดำเนินต่อจากจุดนั้นได้เลย

เขาชี้ว่าประเด็นที่สำคัญของการเสนอให้ยกเลิกคือ การทำในเชิงความคิด เป็นการเปิดพื้นที่และช่วงชิงพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 นั้นทำได้ และควรต้องทำ

 “มันเสนอได้ ไม่อย่างนั้นผมลงหลุมไปแล้ว” สมศักดิ์กล่าวและว่านักวิชาการส่วนใหญ่มักสร้างข้ออ้างต่างๆ ให้ตนเอง หรือเห็นว่าสังคมยังไม่พร้อมทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะพร้อมทั้งหมด แต่ความพร้อมในที่นี้คือ การนำเสนอได้โดยไม่ถูกหาว่าเป็นคนบ้าหรืออันตรายถึงชีวิต  

“ภาวะเสียสติในหมู่ชนชั้นกลางที่พวกเราสอนเกิดขึ้นได้ ความรับผิดชอบส่วนหนึ่งเป็นของพวกเรา ผมสามารถอ้างได้ไหมว่าผมไม่ต้องรับผิดชอบกับความบ้าอันนี้เลย ผมเขียนเรื่องสถาบันกษัตริย์ตั้งแต่คนยังไม่ยอมพูดถึง แต่ผมก็ยังรู้สึกรับผิดชอบต่อความบ้าของคนเรียนมหาวิทยาลัยแต่ยังไร้เหตุผลขนาดนี้ และผมก็ไม่เข้าใจว่าเพื่อนนักวิชาการของผม ที่บอกว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย เป็นปัญญาชนทวนกระแส ยอมทนเห็นสภาพแบบทุกวันนี้ได้อย่างไร ยอมทนทำงานประจำได้ยังไง จะยอมให้ภาวะแบบนี้เกิดไปอีกนานแค่ไหน” สมศักดิ์กล่าว

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์  ในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรม ได้กล่าวถึงหนังสือเรื่องรักเอยว่า ต้องขอสารภาพว่าตั้งแต่ทราบว่ามีหนังสือเล่มนี้ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่อ่าน กลัวจะน้ำตาไหล เพราะรู้เรื่องความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อได้อ่านแล้วน้ำตาไหลจริงๆ แต่คนละเหตุผลกับที่คาดคิดไว้ตอนต้น เป็นน้ำตาที่ไหลด้วยอีกเหตุผลหนึ่งแทนความบีบคั้นอารมณ์ เศร้าสะเทือนใจ

ตอนอ่านจนจบทำให้นึกถึงการได้เสวนาที่เชียงใหม่กับสำนักพิมพ์อ่าน เรื่อง พลังของการอ่านและเพดานของการวิจารณ์ วันนั้นคุยว่าการวิจารณ์มีเพดานอย่างไรบ้าง แต่พออ่านหนังสือรักเอย ทำให้เห็นเพดานอีกอันหนึ่ง คือ เพดานของการเขียน ในสังคมที่มีปัญหาหรือมีกฎหมายที่ปิดกั้น โดยเฉพาะกฎหมาย 112 ทำให้การเขียนมีเพดาน เราเขียนมากกว่านั้นไม่ได้ ถ้าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ ต้องอ่านใน 3 สิ่ง คือ 1.อ่านเพื่อจะหาว่า สิ่งที่พูดในหนังสือคืออะไร 2.สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พูดไม่ได้คืออะไร 3. หนังสือเล่มนี้พูดไม่ได้แต่ต้องพูด คืออะไร ใช้วิธีใด


ชูศักดิ์ (ภาพเก่า)

ชูศักดิ์กล่าวถึงประเด็นแรกว่า  เราตระหนักว่าเรารู้ว่ามีเพดานของการเขียนและอ่านอยู่ แต่หนังสือก็พูดอะไรไว้จำนวนหนึ่ง ความประทับใจที่ได้อ่านมันเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องชีวิตธรรมดาครอบครัวหนึ่งที่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ ขณะเดียวกันเห็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่คนในครอบครัวแสวงหาจากชีวิตประจำวัน  หนังสือเล่าตั้งแต่ชีวิตคู่ของคนที่อยู่กันมา 44 ปี เล่าตั้งแต่รู้จักกันใหม่ๆ 

เมื่ออ่านแล้วรู้สึกผิดไปจากความหมายค่อนข้างมาก เพราะทำให้เห็นภาพอากงอีกภาพที่ไม่เคยเห็น ฝ่ายที่เกลียดชังอากงอาจจะมองเหมือนปีศาจซาตาน อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจเห็นเป็นอากงที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรม แต่เราจะไม่เห็นภาพแง่มุมเล็กๆน้อยๆ อารมณ์ขันของอากง ซึ่งทำให้เราเข้าถึงชีวิตจริงของคนๆ หนึ่ง คนที่เขาไม่ได้เป็นปีศาจซานตานหรือเหยื่อที่น่าสงสาร แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนเราๆ ท่านๆ  

ขณะที่ป้าอุ๊ก็ได้ขยาย “ความเป็นมนุษย์” ไปสู่ผู้อื่นด้วย ในหนังสือป้าอุ๊พูดถึงความเป็นมนุษย์ของนักโทษทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะสามีตัวเองหรือนักโทษ 112 และเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นมนุษย์

อย่างไรก็ตาม มีอยู่ครั้งเดียวที่ป้าอุ๊เขียนถึงคดีหมิ่น ถ้าไม่รู้ประวัติมาก่อนก็รู้สึกเป็นครอบครัวธรรมดา ทำไมไม่พูดเรื่องนี้ นี่คือประเด็นที่สอง สิ่งที่หายไป โดยชูศักดิ์ระบุว่าการหายไปของสิ่งนี้ยิ่งกลับทำให้หนังสือเล่มนี้มีความโดดเด่นขึ้นมา เพราะมันทำให้เราเห็นถึงลักษณะของสิ่งที่หนังสือพูดไม่ได้ 

“เป็นการหายที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องมีอะไรผิดปกติแน่...ถ้าบอกคนอาจไม่รู้สึก แต่พอไม่พูดมันทำให้คนรู้สึก” ชูศักดิ์กล่าวพร้อมกับเปรียบเทียบว่าหนังสือรักเอยให้อารมณ์เหมือนนิยายของคาฟคา เรื่องคำพิพากษา และเรื่องคดีความ

ประเด็นที่สาม สิ่งที่พูดไม่ได้แต่จำเป็นต้องพูด แม้ในหนังสือจะไม่มี xxx หรือแถบดำ แต่ใช้อีกวิธีหนึ่ง คือ วิธีการสร้างบริบทชุดหนึ่งขึ้นมา สร้างเรื่องแวดล้อม ถ้าเราเข้าใจบริบทของการพูดนั้นก็จะทำให้เรารู้ว่าเขากำลังพูดอะไรอยู่

ชูศักดิ์เทียบเคียงกับบันทึกส่วนตัวของผู้หญิงตะวันตกสมัยก่อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในยุคหลัง  บันทึกเขียนว่า “การดำเนินชีวิตและการใช้ชีวิตในแต่ละวันช่างดูละม้ายคล้ายคลึงกันหมดจนฉันไม่มีอะไรจะบันทึก” เราก็อาจนึกว่าแล้วเขียนทำไม แต่หากดูวันที่บันทึกข้อความ เมื่อมีคนไปสืบค้นปรากฏว่าวันนั้นคือวันที่ไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับสามีของเธอจะเห็นว่าเราจะไม่รู้ความหมายของประโยคนี้ได้เลยถ้าไม่รู้บริบทหรือสถานการณ์ของเธอ

“ผมคิดว่าวิธีการแบบนี้มันก็ช่วย เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เขียนอะไรออกมาได้โดยที่ไม่ต้องเขียน อาศัยบริบทของเรื่องทำให้คนอ่านรู้ได้ว่ากำลังเขียนอะไร”  ชูศักดิ์กล่าวพร้อมยกตัวอย่างหลายตอนจากหนังสือรักเอย

 “ในท้ายที่สุด รักเอย เป็นหนังสือที่อดน้ำตาซึมไม่ได้เมื่ออ่านจนจบ น้ำตาที่พาลจะไหลหาใช่เพราะหนังสือเล่มนี้บอกเล่าความรักยิ่งใหญ่หวานหยดย้อยปานน้ำผึ้งเดือนห้า หรือซาบซึ้งดื่มด่ำปานจะกลืนกิน แล้วก็ไม่ใช่เพราะหนังสือเล่มนี้พูดถึงความเศร้ารันทดหมดสิ้นใดๆ เหมือนที่หาอ่านได้ในนวนิยายทั่วไป  เหตุที่น้ำตาจะไหลซึมออกมาเพราะหนังสือเล่มนี้ทำให้เราตระหนักว่าความรักธรรมดาๆ ของปุถุชนคนธรรมดาๆ ใช้ชีวิตร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามากกว่า 40 ปี มีอันต้องพลัดพรากจากกันแบบไม่มีวันได้หวนพบกันอีก เพียงเพราะบ้านนี้เมืองนี้มีความรักอันเบ็ดเสร็จอันยิ่งใหญ่ท่วมท้นล้นฟ้าชนิดหนึ่งที่พร้อมจะเข่นฆ่าคนธรรมดาๆ เพราะความรักธรรมดาๆ อย่างไร้ความปราณี” ชูศักดิ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net