Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ก่อนอื่น เพื่อให้เป็นที่สบายใจของทุกฝ่าย ผมผู้เขียนบทความนี้ขอเรียนว่า ข้อเขียนนี้แม้จะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการรับจำนำข้าวที่กำลังเป็นประเด็นเห็นต่างกันอย่างกว้างขวางในบ้านเราเวลานี้ แต่ใจความหลักก็ไม่ได้มุ่งที่จะเสนอว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะพาเราไปสวรรค์หรือนรกกันแน่ อันนี้อยู่นอกเหนือความสามารถทางสายวิชาการของผมที่จะพยากรณ์ วัตถุประสงค์หลักของบทความอยู่ที่ต้องการมาชวนพ่อแม่พี่น้องพิจารณาเรื่องการรับจำนำข้าวจากสายตาของคนวัด คือคนที่เคยบวชเรียนมานานอย่างผม ปกติคนวัดมักจะเขียนอะไรเชยๆ แต่ก็มาจากความหวังดี อยากให้คนเขาสบายใจกัน ผมก็ตั้งใจอย่างนั้นครับ

ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องการทอดกฐิน สมัยก่อนโน้นผ้าเป็นของหายาก พระแต่ละรูปกว่าจะได้จีวรมาครองสักผืนก็เป็นเรื่องยาก เวลาออกพรรษา พระท่านก็จาริกไปตามที่ต่างๆเพื่อนสอนญาติโยม ระหว่างทางหากเห็นเศษผ้าที่เขาทิ้งไว้ข้างทาง ท่านก็เก็บเอาไว้ เพื่อเอามาเย็บต่อกันเป็นผืนจีวร ด้วยระบบการค่อยๆสะสมเช่นนี้ หลวงพี่หลวงตาแต่ละองค์ท่านก็จะมีเศษผ้าเก็บไว้ครอบครองมากบ้างน้อยบ้าง ตามอัตภาพ

เมื่อมาจำพรรษาอยู่ด้วยกัน พระในวัดเดียวกันเมื่ออยู่ด้วยกันนานๆก็จะทราบว่าท่านรูปใด “ต้องการ” จีวรมากกว่าเพื่อน ดูง่ายๆจากสภาพจีวรที่ท่านครอง พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า เศษผ้าที่พระแต่ละรูปท่านเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวนั้นเนื่องจากเป็นเศษผ้าก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ใคร เพราะปริมาณมันน้อย ตรงนี้เองครับคือที่มาของแนวคิดเรื่องการทอดกฐินที่พระพุทธเจ้าท่านทรงคิดขึ้น หลักคิดก็ง่ายๆครับ เศษผ้าที่พระหลายรูปมีอยู่เมื่อเอามารวมกันก็จะกลายเป็นจีวรได้ เมื่อเป็นจีวรก็เป็นประโยชน์คือใช้ห่มได้

แต่ประโยชน์นี้จะตกแก่พระบางรูปเท่านั้น เนื่องจากเศษผ้าเมื่อรวมกันแล้วก็เป็นจีวรได้เพียงผืนเดียวเท่านั้น การทำกฐินสมัยพระพุทธเจ้าก็คือการที่พระในวัดสำรวจดูว่าหลวงพี่หรือหลวงตารูปไหนท่านมีจีวรเก่าที่สุด สมควรเปลี่ยนได้แล้ว เมื่อกำหนดตัวได้เช่นนั้น ก็จะป่าวประกาศให้ทราบล่วงหน้าว่ากฐินปีนี้จะตกแก่ท่านรูปนั้น เพราะท่านต้องการสิ่งนี้มากกว่าคนอื่น

จากนั้นพระทั้งหลายท่านก็จะเอาเศษผ้าที่ท่านสะสมไว้มาบริจาค นอกจากจะบริจาคด้วยความเต็มใจเพราะเห็นว่าเป็นบุญแล้ว พระเณรทั้งวัดก็จะถือเป็นภาระว่าจะต้องช่วยกันเย็บจีวรเพื่อถวายท่านที่ต้องการจีวรที่สุดนั้น คำว่า “กฐิน” เป็นภาษาบาลี แปลว่าไม้สะดึง หมายถึงไม้ไผ่สี่ท่อนที่ท่านเอามาทำเป็นกรอบขนาดเท่าจีวร เวลาเย็บก็ใช้ไม้สะดึงที่ว่านี้แหละสำหรับยึดผ้าให้ตึง แล้วค่อยๆไล่เย็บต่อกันไปเรื่อยๆจนเสร็จทั้งผืน

การทำกฐินนั้นเป็นสังฆกรรม คือเป็นหน้าที่ของพระในวัดที่จะต้องช่วยกันทำ ขาดไม่ได้ ถือว่ามีความผิด เห็นไหมครับว่า พระพุทธเจ้าท่านทรงเห็นประโยชน์ของการที่สังคมจะพึงช่วยเหลือคนที่ขาดแคลนมากขนาดไหน การกำหนดว่า หลวงพี่หลวงตารูปใด เขาช่วยกันทำกฐินอยู่ข้างล่าง แต่ตัวเองยังนอนเฉยอยู่บนกุฏิ เปิดคอมฯอ่านประชาไทอยู่เฉยเลย ไม่ลงมาช่วยเขา ถือว่าผิด ต้องปรับอาบัติ ผมคิดว่าสะท้อนแนวคิดของพระพุทธศาสนาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและสังคมเอาไว้มาก ฝากไปคิดด้วยนะครับ

งานกฐินสมัยพุทธกาลนั้นเป็นงานรื่นเริง แม้ไม่มีมหรสพแห่งันอย่างทุกวันนี้ งานนี้เป็นกิจของสงฆ์ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับญาติโยม พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ญาติโยมมาร่วมด้วย (หมายถึงร่วมเย็บ ซัก และย้อมจีวร ส่วนจะเอาน้ำท่ามาถวายพระที่ท่านทำงาน อันนี้ไม่ทรงห้าม ทรงยินดีด้วยซ้ำไป) ก็เพื่อจะให้เป็นจารีตสงฆ์ว่า สงฆ์ต้องช่วยเหลือกัน ดูแลกัน ผมเคยอ่านพระพุทธวจนะตอนหนึ่งนานมาแล้ว ใจความก็จำไม่ได้แม่นตามถ้อยอักษร แต่เนื้อหาจำได้แม่น พระองค์ตรัสว่า “หากพวกเธอที่อยู่ด้วยกันเป็นชุมชนไม่ดูแลกัน ใครเล่าจะดูแล”

ผมคิดว่าหากเราเอาปรัชญาสังคมเล็กๆน้อยๆที่พระพุทธเจ้าท่านทรงบัญญัติอย่างเรื่องกฐินนี้มามองสังคมในวงกว้าง ในบางเรื่อง ในบางสถานการณ์ ก็อาจช่วยให้เรามองเห็นช่องทางใหม่ๆที่จะเข้าใจประเด็นทางสังคมนั้นมากขึ้น

พวกเราที่อยู่ด้วยกันในประเทศไทยมีหลายฐานะ ตั้งแต่รวยมากๆ มาถึงจนมากๆ ที่รวยมากๆก็คงไม่ต้องการกฐิน ที่ต้องการก็คงเป็นคนพวกหนึ่งซึ่งผมไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์พอที่จะระบุว่าใครบ้าง คนที่ต้องการกฐินเหล่านี้อาจต้อง “รอคิว” เพื่อรับกฐินจากรัฐ เพราะคนที่ต้องการมีมาก แต่รัฐตอบสนองได้ทีละไม่มาก

ความยุติธรรมในทัศนะของพระพุทธเจ้าก็คือการที่เรามีระบบการจัดคิวที่เป็นธรรม โดยเรียงจากที่ต้องการมากสุดไปหาที่ต้องการรองลงมา เมื่อทอดกฐินปีนี้แล้ว ท่านรูปนี้ได้จีวรไป ปีหน้าท่านก็มาช่วยเขาทำกฐินเพื่อมอบให้รูปที่อยู่ในคิวถัดไป ระบบเช่นนี้พระพุทธเจ้าท่านว่า หากทำได้ดี ทุกคนก็จะได้ไม่ต่างกันในท้ายที่สุด ความต่างไม่ได้อยู่ที่ลาภอันจะพึงได้ แต่อยู่ที่เวลาที่ลาภจะลอยมาหา ซึ่งความต่างทางลำดับเวลานี้ก็อธิบายได้ว่ามาจากความจำเป็น หรือความต้องการ ที่แต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มคน มีไม่เท่ากัน

หากคิดว่าชาวนา (เหมารวมนะครับ ไม่ดูว่ามีนามากนาน้อย เอาว่าเป็นชาวนาก็แล้วกัน อาชีพนี้ไม่สนุกนักดอกครับ) ปีนี้กำลังจะรับกฐิน พวกเราที่ไม่ใช่ชาวนาจะพอทำใจได้ไหม มนุษย์เงินเดือนบางท่านอาจบอกว่า ผมก็ต้องการกฐิน ครับ หากมีตัวเลขระบุชัดเจน เถียงไม่ได้เลย สังคมเราก็ต้องถือเป็นหน้าที่หรือสังฆกรรมกันเลยล่ะที่จะต้องเอาพ่อแม่พี่น้องที่เป็นมนุษย์เงินเดือนในเมืองเหล่านี้เข้าไปรอคิวต่อไป ซึ่งชาวนาที่รับไปก่อนแล้วก็คงอนุโมทนา

แต่อย่าลืมนะครับว่า ลาภของสังคมมันก้อนเท่าเดิม ลดบ้างเพิ่มบ้างก็คงไม่มากในแต่ละปี ดังนั้นจีวรทุกผืนที่ตกแก่ใครในแต่ละปีก็ต้องมาจากเศษผ้าที่คนอื่นๆครอบครองอยู่ ผมคิดว่าหากเจ้าของเศษผ้าอย่างเช่นกองทัพ หรือใครก็ไม่รู้หละจะยินดี ไม่ถือสาที่จะถูกลดงบ ก็จะเป็นบุญของสังคม

ผมก็ขอถือโอกาสนี้เชิญชวนเจ้าของเศษผ้าทั้งหลายแหล่ในบ้านเรามาร่วมกันทอดกฐินในทางสังคม ถือเป็นการแบ่งบุญกัน ตายแล้วจะได้ไปขึ้นสวรรค์ อาจจะเห็นสตีฟ จอบส์รออยู่บนนั้นแล้วก็ได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net