Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ประเทศจีนได้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554-2558) เพื่อกำหนดทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Stephen S. Roach (2011) “China’s 12th Five-Year Plan: Strategy vs. Tactics  Morgan Stanley)  โดยในอดีต รัฐบาลจีนมุ่งเน้นรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักและการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งถือว่าจีนประสบความสำเร็จมากมาโดยตลอดการขยายตัวในอัตราเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าตัวเลข 2 หลัก อย่างไรก็ตาม ในด้านคุณภาพการพัฒนาเศรษฐกิจยังมีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะปัญหาการกระจายรายได้และปัญหาสิ่งแวดล้อม 
 
ส่งผลให้จีนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าวในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 11 (2549-2553) โดยเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นแต่เพียงการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างเดียวมาให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “Harmonious Society” เพื่อให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะความแตกต่างของรายได้ระหว่างประชากรในเมืองและในชนบทยังอยู่ในระดับสูงและปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับการแก้ไข 
 
ในแผนพัฒนา 5 ปี ฉบับที่ 12 จีนจึงให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปยังกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียมกันภายใต้แนวคิด “Inclusive Growth” ร่วมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อมสรุปได้ 6 ประการ ดังนี้
 
1. การปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
 
ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้ตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเทศจีนกลับทำตรงข้ามโดยจีนได้ปรับลดจากเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในแผน 11 เป็นเฉลี่ยร้อยละ 7 ในแผน 12 เพื่อส่งสัญญาณว่าจะเน้นการพัฒนาเชิง “คุณภาพ” มากกว่าเชิง “ปริมาณ” 
 
การปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงน่าจะเหมาะสมกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มต่ำลงในระยะต่อไปจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จำนวนของคนวัยทำงานมีแนวโน้มลดลง 
 
2. การลดการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออก หันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ
 
ประเทศจีนเน้นการลดการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออกต่างประเทศ ตลอดจนลดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนและลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยหันมาส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศจากการมีประชากรจำนวนมากให้มีบทบาทมากขึ้น ผ่านการเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภคในประเทศโดยเน้นให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต้องสอดคล้องกับการขยายตัวของรายได้ครัวเรือนและการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างจะต้องสอดคล้องกับผลิตภาพการผลิต 
 
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มสัดส่วนของประชากรในเขตเมือง การปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมโดยเฉพาะด้านการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่อาศัย เพื่อลดรายจ่ายของครัวเรือน รวมถึงการปฏิรูประบบภาษีโดยจะปรับเพิ่มเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาเพื่อลดภาระของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่จะปรับเพิ่มภาษีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ และภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)
 
3. การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม
 
แผนที่ 12 ของจีนจะมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยจะส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ 7 สาขา (Strategic Emerging Industries) ได้แก่ 
 
• เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) 
• พลังงานใหม่  (New Energy) 
• เครื่องมือเครื่องจักรขั้นสูง (High-End Equipment Manufacturing) 
• เทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน (Energy Conservation and Environmental Protection) 
• รถยนต์พลังงานสะอาด (Clean-Energy Vehicles)  
• วัสดุใหม่ (New Materials)  
• เทคโนโลยีสารสนเทศยุคต่อไป (Next-Generation IT) 
 
อุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จากร้อยละ 3 ต่อ GDP ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 8 ภายในปี 2558 
 
ส่วนอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกหรือ “World Factory” ที่เป็นกลยุทธ์หลักในแผนพัฒนาฉบับก่อนคาดว่าจะมีบทบาทลดลงจากต้นทุนที่เริ่มสูงขึ้นทั้งในส่วนของค่าจ้าง ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมดั้งเดิม เช่น เหล็ก ถ่านหิน และกระดาษ จะเน้นการส่งเสริมการควบรวมกิจการการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต และการปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
 
4. การพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองตามแนวคิด “Design in China” 
 
แผน 12 เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองตามแนวคิด “Design in China” และส่งเสริมการใช้นวัตกรรมท้องถิ่น (Indigenous Innovation) เพื่อลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) จากร้อยละ 1.75 ต่อ GDP ในปี 2553 เป็นร้อยละ 2.2 ในปี 2554
 
5. การให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
 
แผนที่ 12 ต่อเนื่องจากแผนที่ 11 ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยจีนได้ตั้งเป้าลดสัดส่วนการใช้พลังงานต่อ GDP ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปฏิรูประบบราคาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และส่งเสริมการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
6. การเร่งปฏิรูปภาคการเงิน
 
แผนฉบับที่ 12 ได้เน้นการปฏิรูปภาคการเงินของประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการเงินจีนและรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 
 
โดยนโยบายที่สำคัญได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการส่งผ่านของนโยบายการเงินพร้อมกับการปฏิรูประบบอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น การจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก การเพิ่มสัดส่วนของ Direct Financing การส่งเสริมและพัฒนาตลาดอนุพันธ์ทางการเงิน การพัฒนาระบบ Managed Floating Exchange Rate โดยให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น การเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในระบบการเงินโลกทั้งด้านการค้าและการลงทุน โดยส่งเสริมให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการใช้เงินหยวน (RMB Offshore Center)  
 
และที่สำคัญคือการสนับสนุน ให้เงินหยวนเป็น Reserve Currency และผ่อนคลายข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
 
ดังนั้น ที่ผ่านมา ประเทศจีนได้เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงและประสบความสำเร็จอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงของการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในภาวะของวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ แผนที่ 12 ของจีนจึงได้หันมาพึ่งพาตลาดภายในประเทศ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และรักษาสิ่งแวดล้อม แม้อุดมการณ์ทางการเมืองของจีนจะแตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในโลก แต่ในด้านเศรษฐกิจแล้ว จีนจึงได้หันมาใช้ระบบตลาดและปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศจีน
 
กล่าวกันว่า ศตวรรษที่ 21 จะกลายเป็นศตวรรษแห่งเอเชีย โดยการทะยานขึ้นของจีนและอินเดียเป็นสำคัญ พร้อมๆ กับประเทศสมาชิกอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก 
 
ประเทศไทยได้วางยุทธศาสตร์เพื่อปรับตัวทั้งในเชิงรุกและเชิงรับกับการเปลี่ยนแปลงและการเคลื่อนไหวการพัฒนาประเทศยักษ์ใหญ่เหล่านี้อย่างไร   
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net