Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น้อยคนนักที่จะรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของชนเผ่าที่กลายเป็นประชาชนของรวันดาในยุคปัจจุบัน เป็นเวลาหลายพันปีประชากรชาวแอฟริกันต่างชนเผ่าได้อพยพเข้าและออกภูมิภาคแห่งนี้  แต่เมื่อศตวรรษที่ 15 บรรพบุรุษของประชากรในยุคปัจจุบันได้เริ่มตั้งรกรากถิ่นฐานในภูมิภาคนี้อย่างถาวร

ชาวทวา เป็นนักล่าสัตว์และนักเก็บของป่า     ซึ่งดำรงชีวิตจากการอาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์และพืชในภูมิภาคป่ารกขึ้นหน้าแน่น ชาวฮูตูดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำเกษตรกรรม ครอบครัวชาวฮูตูอาศัยและเพาะปลูกในพื้นที่บางส่วนของประเทศเป็นหลักแหล่ง ทำการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในครอบครัวเป็นหลักเท่านั้น ชาวตุ๊ดซี่เป็นนักเลี้ยงปศุสัตว์เร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ จึงไม่ได้มีถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งถาวร แต่จะอยู่ในพื้นที่หนึ่งๆเพียงชั่วคราว เมื่อทุ่งเลี้ยงสัตว์ถูกใช้เลี้ยงสัตว์จนหมดประโยชน์แล้วชาวตุ๊ดซี่  ก็จะย้ายไปหาหลักแหล่งแห่งใหม่  พฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบเร่ร่อนนี้บีบคั้นให้ชายชาวตุ๊ดซี่แข็งแกร่งกลายเป็นนักรบ เพราะว่าจำเป็นต้องมีความสามารถในการต่อสู้  เพื่อปกป้องฝูงสัตว์  ปกป้องครอบครัว และปกป้องชุมชน  เมื่อพวกเขาได้เคลื่อนย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในดินแดนแห่งใหม่

ประวัติศาสตร์บอกเล่า
เป็นการยากที่จะติดตามร่องรอยในประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมโดยเฉพาะหากวัฒนธรรมนั้นไม่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  ในอดีตเป็นเวลาหลายศตวรรษประวัติศาสตร์ในช่วงแรกของรวันดาบันทึกไว้ในรูปแบบของประเพณีเก่าแก่ เช่น เพลง คติพจน์และเรื่องเล่า หลังจากที่ประเทศมีชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่มาตั้งรกรากถิ่นฐาน การบันทึกไว้ด้วยวาจาเหล่านี้จะถูกต้องหรือไม่ไม่มีใครยืนยันได้ และไม่มีทางที่จะรู้ได้แน่นอนว่าความจริงเป็นเช่นไร เมื่อเรื่องเล่าถูกส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น เรื่องเล่าเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไป บางครั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ  อย่างไรก็ตามในเวลาอื่นๆการเปลี่ยนแปลงนี้หมายถึงการได้รับประโยชน์ทางส่วนตัวหรือทางการเมือง นอกเหนือจากนั้นเหตุการณ์ของบ้านเมืองหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ มีบางเรื่องหรือบางความเชื่อที่ถูกทำให้เชื่อและเลือกบันทึกไว้เท่านั้นเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและล้วนแล้วเป็นประโยชน์กับผู้ปกครอง  ส่วนที่ไม่มีประโยชน์กับผู้ปกครองมักจะไม่ได้รับการบันทึก

เรื่องเล่าที่สามารถติดตามได้เมื่อประวัติศาสตร์ช่วงต้นอาจไม่ได้เป็นตัวแทนความเชื่อของทุกๆคนในสังคมในช่วงนั้น และไม่ทุกเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้เช่นกัน บ่อยครั้งที่บุคคลที่เรืองอำนาจอยู่จะเป็นผู้ควบคุมว่าเรื่องเล่า ความคิดและความเชื่อใดที่จะบันทึกไว้ได้ ในช่วงแรกของการก่อตั้งประเทศรวันดานักประวัติศาสตร์ของราชสำนักจะยื่นเรื่องที่ถูกเลือกโดยราชวงศ์ตุ๊ดซี่ บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ ในบางกรณีเรื่องเล่านี้ก็อคติหรือมีรากฐานมาจากตำนานซึ่งสร้างโดยชาวตุ๊ดซี่เพื่อสนับสนุนการปกครองของตน ดังนั้นเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นประวัติศาสตร์ของรวันดาอย่างเป็นทางการโดยจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดที่ว่าชาวตุ๊ดซี่เป็นชนชั้นสูงสุดและเป็นชาติพันธุ์ที่ถูกเลือกโดยพระเจ้าให้เป็นผู้ปกครอง

ตำนานเก่าแก่ของรวันดาเรื่องหนึ่งได้กล่าวถึงกิฮานกา ชาวรวันดาคนแรกซึ่งตกลงมาจากสวรรค์พร้อมกับบุตรชายสามคน กาฮูตู   กัตวา และกาตุ๊ดซี่ จากตำนานนี้กิฮานกาจะต้องเลือกว่าบุตรชายคนใดจะเป็นผู้สืบทอดตระกูล เพื่อที่จะรู้ว่าบุคคลใดเหมาะสมที่สุด  กิฮานกา จึงได้ทดสอบบุตรของตน บุตรชายแต่ละคนได้รับเหยือกนมคนละเหยือกให้ดูแลตลอดเวลาหนึ่งคืน เมื่อรุ่งเช้าวันต่อมากิฮานกา พบว่ากัตวา ดื่มนมของเขาทั้งหมดขณะที่ กาฮูตู ผลอยหลับทับเหยือกนม แต่กาตุ๊ดซี่ ได้เฝ้าดูเหยือกนมของตนตลอดคืน ดังนั้นสำหรับกิฮานกาแล้วกาตุ๊ดซี่เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบมากที่สุด และหมายถึงเขาเท่านั้นที่ต้องเป็นผู้สืบทอดตระกูล เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วกาฮูตูจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของกาตุ๊ดซี่

เรื่องเล่าในตำนานและประวัติศาสตร์บอกเล่าของรวันดา  ล้วนแล้วเป็นกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับบรรดาชนชั้นสูงและผู้ปกครองในการครอบงำทางความคิดและอุดมการณ์ต่อประชาชน เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทุกคนในสังคมรวันดาต้องยอมรับความเป็นไปของชนชั้น และการดำรงอยู่ของชนชั้น  

การแบ่งแยกชนชั้น
ระบบสังคมในช่วงแรก ประชากรได้หลายๆครอบครัวจะรวมกลุ่มตั้งรกรากอาศัยและทำกินอยู่บนเนินเขาเพื่อที่จะอยู่รอด ครอบครัวชาวฮูตูแต่ละครอบครัวจะมีลักษณะขยายเป็นกลุ่มเครือญาติเรียกว่า ตระกูล (clan ) ซึ่งจะร่วมทำงานด้วยกันในการปลูกพืช ผลผลิตเป็นของส่วนรวม มีหัวหน้าตระกูลเป็นผู้ดูแลจัดสรรแบ่งปัน ในบางกรณีตระกูลหนึ่งจะรวมกลุ่มด้วยกันกับตระกูลอื่นๆเพื่อที่จะสร้างอาณาจักรขึ้นมาปกครองโดยมีผู้นำขึ้นมาทำการปกครอง เรียกว่า “บาฮินซา” (bahinza) ผู้ปกครองอาณาจักรเกษตรกรรมนี้มีอำนาจขยายไปทั่วชนบท แทนที่จะมีผู้ปกครองเพียงคนเดียวตลอดทั่วแผ่นดินรวันดากลับกลายเป็นว่ามีผู้ปกครองหลายคนด้วยกัน แต่ละคนก็มีอำนาจเหนือตระกูลเฉพาะๆไป เช่นเดียวกันชาวตุ๊ดซี่ก็ดำรงชีวิตอยู่โดยการสร้างระบบตระกูลขึ้นมา ในบางกรณีตระกูลหลายตระกูลอยู่รวมกัน   รวมทั้งได้รวมชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ไว้ด้วยกัน

ถึงแม้ว่าต้นกำเนิดของชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่จะมาจากที่ใดไม่มีใครรู้แต่นักวิชาการในปัจจุบันเห็นด้วยว่าทั้งสองชนเผ่าไม่ได้ใช้ชาติพันธุ์ในการแบ่งแยกความแตกต่างทางชนชั้น แต่พวกเขาจะให้ความสำคัญกับประเภทของอาชีพเป็นสำคัญ        เพราะจะเป็นสิ่งที่แยกแยะว่าใครเป็นชาวนา ใครเป็นนักเลี้ยงปศุสัตว์  การตรีตราแบ่งแยกนี้ได้บ่งชี้ความแตกต่างถึงสถานะทางสังคมอย่างชัดเจน

กรณีของชาวตุ๊ดซี่ ที่มีความสามารถทางการรบ  แสดงถึงอำนาจอภิสิทธิ์และความแข็งแกร่ง    เพราะชายชาวตุ๊ดซี่เป็นนักรบที่มีความชำนาญและมีฝูงสัตว์ไว้ในครอบครองมากมาย  พวกเขาจึงเชื่อว่าพวกเขาเป็นผู้มีฐานะสูงกว่าชาวฮูตูที่เป็นเจ้าของฝูงสัตว์น้อยกว่าและมีความสามารถทางการรบด้อยกว่า การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ของฝูงสัตว์จึงแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งร่ำรวยและบ่งบอกสถานะทางสังคม นอกจากนั้นทั้งสองชนเผ่าต่างก็ดูถูกชาวทวาซึ่งเป็นประชากรจำนวนเล็กน้อยของประชากรทั้งหมด(ชนส่วนน้อย)เพราะชาวทวาไม่ได้ทำนาและไม่ได้เป็นเจ้าของฝูงสัตว์ แต่เป็นเพียงนักล่าสัตว์และเก็บของป่าเพื่อดำรงชีพเท่านั้น    

โครงสร้างทางสังคม
ถึงแม้ว่าชาวตุ๊ดซี่จะมีจำนวนน้อยกว่าชาวฮูตูมากแต่พวกเขาได้ใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายและการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่วว่องไว เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการควบคุมสังคมซึ่งกลายเป็นประเทศรวันดาปัจจุบัน  การได้มาซึ่งอำนาจปราศจากการสู้รบที่รุนแรง จุดเริ่มต้นของการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่เริ่มจากตระกูลชาวตุ๊ดซี่ตระกูลหนึ่งคือ ตระกูล “งิกินยา” ซึ่งเป็นตระกูลร่ำรวยเป็นเจ้าของฝูงสัตว์ขนาดใหญ่จึงต้องการที่จะขยายพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ออกไปอีก เริ่มแรกตระกูลนี้ได้รับชัยชนะทางการเมืองในศูนย์กลางของรวันดาและเมื่อเวลาผ่านไปได้ขยายอำนาจผ่านทางความร่วมมือของตระกูลอื่นๆและแย่งชิงที่ดินมาจากชาวฮูตู

จนถึงทศวรรษที่ 1500 งิกินยาได้ก่อตั้งระบบราชาธิปไตยขนาดย่อมขึ้น นั่นคืออาณาจักรรวันดาในปัจจุบัน อันมีรากฐานมาจากพื้นที่เล็กๆของรวันดาภายใต้การปกครองของราชาเรียกว่า มวามิ (mwami) ราชาองค์แรกคือ มวามิ มิบามเวที่ 1 มูตาบาซิ (Mwami Mibambwe I Mutabazi) มวามิคือผู้ที่ถูกสรรเสริญว่าเป็นเทพมาเกิด  และเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในอาณาจักร  และเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการจำแนกแจกจ่ายที่ดินให้แก่ราษฎร โดยปกติแล้วมวามิจะให้รางวัลเป็นที่ดินแก่สมาชิกผู้สืบเชื้อสายตระกูลงิกินยา และชาวตุ๊ดซี่ชั้นสูงซึ่งมีอำนาจภายในการปกครองระบอบราชาธิปไตย  ซึ่งจุดศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ศูนย์กลาง ชาวตุ๊ดซี่จะมีทั้งนักเลี้ยงปศุสัตว์ ทหาร และเจ้าเมือง ในขณะที่ชาวฮูตูดำรงชีพเป็นเพียงชาวนา

การบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคมทั้งหลายก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ปกครองชาวตุ๊ดซี่ ในสถานะชนชั้นพิเศษ  ชาวตุ๊ดซี่ได้สร้างทั้งนิทาน ตำนาน เรื่องเล่า และกุศโลบายต่างๆเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครอง และพิสูจน์ถึงพลังอำนาจของราชารวมทั้งเหตุผลในการมีอภิสิทธิ์ชนของชนชาวตุ๊ดซี่ ที่มีเหนือชาวฮูตู ทั้งหลายทั้งปวงนี้คือกระบวนการครอบงำของชาวตุ๊ดซี่  ผู้มีอำนาจ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ตนอยู่ในสถานะที่เหนือกว่า และให้ชาวฮูตูยอมรับในความด้อยกว่า จนเป็นที่มาของการปกครองโดยลำดับชั้น

ที่จริงแล้วการปกครองโดยลำดับชั้นนี้คือระบบศักดินา ซึ่งทางตอนใต้และตอนกลางของภูมิภาค  เรียกว่า อูบูฮาเก (Ubuhake) ทางตอนเหนือเรียกว่า อูบูคอนเด (Ubukonde) จากระบบการปกครองแบบนี้ทำให้ประชาชนทั้งชาวตุ๊ดซี่ผู้ถือครองที่ดินและชาวฮูตูซึ่งเป็นชาวนาได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย อูบูฮาเก(Ubuhake) เป็นข้อตกลงทางวาจาระหว่างไพร่ (ราษฎร) และเจ้าขุนมูลนาย โดยไพร่ต้องสรรหาผลผลิตและรับใช้เจ้านาย (มูลนาย)และเพื่อเป็นการตอบแทน ส่วนเจ้านาย(มูลนาย)จะให้ฝูงสัตว์แก่ไพร่และจะคอยปกป้องจากภัยอันตรายทั้งปวงรวมทั้งอนุญาตให้ไพร่ใช้ประโยชน์จากที่ดินได้ ซึ่งเจ้าขุนมูลนายส่วนใหญ่เป็นชาวตุ๊ดซี่  ไพร่ส่วนใหญ่ก็คือชาวฮูตู ถึงแม้ว่าอูบูฮาเก(Ubuhake) จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากการอุปถัมภ์ต่อกัน แต่สิ่งนี้ได้เป็นปฐมบทของการก่อกำเนิดการแบ่งแยกระบบสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของชาวรวันดาอย่างรุนแรงระหว่างชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่

ต่อมาการปกครองโดยชาวตุ๊ดซี่ที่มีเหนือชาวฮูตูนั้นยิ่งแข็งแกร่งขึ้นอันเนื่องมาจากการพัฒนาการปกครองที่อาศัยโครงสร้างทางชนชั้น ใช้อำนาจผ่านระบบชนชั้นที่ซับซ้อนขึ้น  ทำให้ “มวามิ” ประสบความสำเร็จในการปกครองอาณาจักรของตน  ยิ่งขึ้น

อาณาจักรของมวามิถูกแบ่งเขตปกครองออกเป็นชีฟ ซึ่งแต่ละชีฟได้สร้างสภาชีฟขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของมวามิ เขตแดนของมวามิ เรียกว่า อูมูโสซิ (Umusozi) ซึ่งซึ่งแบ่งไปตามเขตพื้นที่ แต่ละพื้นที่จะบริหารโดยชีฟ และจะถูกแบ่งออกเป็นเขตอีกทีหนึ่ง โดยมีรองชีฟปกครอง ตัวมวามิเองก็มีชีฟผู้บริหารอีกคน ชีฟกองกำลังทหารเป็นผู้รับผิดชอบในการปกป้องภูมิภาค ชีฟแต่ละเขตแดนจะมีหน้าที่เก็บส่วย กล่าวคือภาษีที่จ่ายให้เจ้านายโดยผู้อยู่อาศัยในแต่ละเขตในรูปของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการคุ้มครองดูแลของเจ้านาย ชีฟปศุสัตว์มีหน้าที่เก็บส่วยในรูปของฝูงสัตว์

ผู้ปกครองทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมวามิจะได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีเหล่านี้ มวามิเองได้ใช้ผลผลิตทางการเกษตรและฝูงสัตว์บางส่วนแจกจ่ายให้แก่ชีฟและผู้บัญชาการกองกำลังทหาร มวามิทำเช่นนี้ก็เพื่อได้รับความสวามิภักดิ์ตอบแทน ภายใต้ระบบปกครองลำดับชั้นที่ซับซ้อนเช่นนี้ ทั้งผู้ปกครองสูงสุด ทหาร ชีฟ และรองชีฟล้วนแล้วแต่เป็นชาวตุ๊ดซี่  ขณะที่มีชีฟและทหารเพียงบางส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่เป็นชาวฮูตู  โดย 95%ของการบริหารในลักษณะดังกล่าวนี้กระทำโดยชาวตุ๊ดซี่แทบทั้งสิ้น

หลายศตวรรษที่ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ได้อยู่ร่วมกันภายใต้ระบบปกครองลำดับชั้นแบบนี้ แม้จะมีความแตกต่างทางสถานะแต่ชนเผ่าทั้งสองอาจรวมกันเป็นหนึ่งได้เพราะมีลักษณะคล้ายๆกัน พวกเขาใช้ภาษาเดียวกันคือ เคินยารวันดา มีประเพณีเหมือนกันและมีค่านิยมเหมือนกัน อาจจะมีความเชื่อแตกต่างกันบ้างแต่ความแตกต่างนี้ปกติแล้วจะดำรงอยู่ระหว่างประชาชนที่มีสถานะเหลื่อมล้ำทางสังคมอยู่แล้ว ชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่ยังบูชาพระเจ้าองค์เดียวกันอีกด้วย เรียกว่า ลินกอมเด้ (Lyngomde) และรวมถึงเทพเจ้าอีกหลายๆองค์เช่น ลิเยนกอมเด้และงาบิงงิ (Lyengomde and Ngabingi) ความเหมือนกันหลายๆอย่างเช่นนี้ทำให้นักวิชาการเชื่อกันว่าชาวฮูตูและชาวตุ๊ดซี่เป็นกลุ่มชนเดียวกันและไม่ได้มีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์แต่อย่างใด

ระบบการปกครองลำดับชนชั้นทางสังคมของรวันดามิได้ก่อตั้งขึ้นมาจากพื้นฐานความเป็นชนเผ่า แต่มีพื้นฐานมาจากความร่ำรวยและสถานะทางสังคม โดยอาศัยสถานะจากการมีฝูงสัตว์ในครอบครองและการเป็นอภิสิทธิ์ชนของผู้เป็นเจ้าของฝูงสัตว์  โดยทั่วไปแล้วชาวตุ๊ดซี่เป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่และอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าในสังคม แต่ระบบอูบูฮาเก(Ubuhake) ก็เปิดโอกาสให้มีการเปลี่ยนแปลงทางชั้นทางสังคมได้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่าชาวฮูตูเองสามารถผันตัวเองเป็นชาวตุ๊ดซี่ได้หากได้ครอบครองจำนวนฝูงสัตว์มากพอ การใช้วิธีดังกล่าวนี้ทำให้บุคคลที่มีเชื้อสายจากเผ่าพันธุ์ชาวฮูตูมีสถานะทางสังคมเช่นเดียวกับชาวตุ๊ดซี่ได้ เพราะพวกเขาก็จะได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นชาวตุ๊ดซี่ ในลักษณะเดียวกันชาวตุ๊ดซี่ที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยไม่ได้เป็นเจ้าของฝูงสัตว์จำนวนมากพอ  อาจได้รับการพิจารณาจากสังคมว่าเป็นชาวฮูตูได้เช่นกัน   สถานะทางสังคมจึงขึ้นกับเศรษฐกิจของบุคคลเป็นสำคัญมากกว่าความเป็นชาติพันธุ์ 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการอุปถัมภ์ต่อกันของคนต่างชนชั้น แต่ความท้าทายอย่างหนึ่งของ มวามิที่สำคัญ คือการทำให้แน่ใจว่าพลเรือนทั้งหมดมีความศรัทธาและบูชาตน ดังนั้นการปกครองระบบศักดินาของรวันดาจึงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์โดยการทำหน้าที่ดำรงการควบคุมเหนือประชาชนในแต่ละภูมิภาคเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นให้บูชาและศรัทธาผู้ปกครองและชนชั้นสูงในสังคม ถึงแม้ว่าระบบนี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ปกครองแต่อำนาจนี้ไม่ได้ขยายไปถึงดินแดนทั้งหมดของอาณาจักร ยิ่งดินแดนห่างไกลจาก มวามิเพียงใด ความศรัทธาของประชาชนก็ยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย เช่น ในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชาวฮูตูอาศัยอยู่จำนวนมากกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้ศรัทธาในตัวมวามิเท่าใดนัก   และยิ่งหลังจากการก่อตั้งระบบราชาธิปไตยของชาวตุ๊ดซี่ขึ้นมาแล้ว เจ้าเมืองชาวฮูตูที่ไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ใดก็ยังคงดำรงสถานะอยู่ในดินแดนของตนและพวกเขาก็ไม่ได้ยอมรับคำสั่งจากมวามิแต่อย่างใด เพราะขณะนั้นระบบอูบูฮาเก(Ubuhake) ไม่ได้มีอิทธิพลขยายไปถึงดินแดนดังกล่าว  จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ที่ระบบการปกครองของชาวตุ๊ดซี่ได้ขยายมาถึงดินแดนเหล่านี้ ระบบอูบูฮาเก(Ubuhake)  จึงเริ่มมีอิทธิพลตามมา

ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันของโครงสร้างการปกครอง เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่เหนือกว่ามีอิทธิพลทางความคิดเกิดการครอบงำความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับความเหลือมล้ำต่ำสูง  ความเชื่อในบุญบารมีและโชควาสนา จนกลายเป็นพลังหนุนและตอกย้ำในการสร้างแบบแผนแห่งความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันขึ้นอีก จนนำไปสู่การจัดชนชั้นของการดำรงชีพ การอยู่  การกิน  การใช้ภาษา การศึกษา การควบคุมกำลังคน การจัดแบ่งผลประโยชน์ และอำนาจหน้าที่ตามยศศักดิ์ในระบบราชการ รวมทั้งโอกาสต่างๆ ซึ่งแบบแผนแห่งความสัมพันธ์ดังกล่าวกลายเป็นความชอบธรรมทางสังคม  ส่งผลให้ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมกลายเป็นระบบศักดินา  ซึ่งระบบคิดของชนชั้นศักดินาก่อให้เกิดการแสดงออกทางการเมืองแบบศักดินา  นั่นคือผู้ที่จะปกครองรวันดาต้องเป็นชนชั้นสูงเท่านั้นและเป็นชาติพันธ์อื่นไปไม่ได้นอกจากชาติพันธุ์ตุ๊ดซี่เท่านั้น .....

 

..............................
*บทความแบ่งเป็น 10 ตอน โดยแปลสรุปจาก World in conflict.  Rawanda : country torn apart. และนำมาเรียบเรียงใหม่เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

อ้างอิง : Bodnarchuk, Kari. World in conflict.  Rawanda : country torn apart .

                Manufactured in the United States of America.

                By Lerner Publications Company.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net