สลาวอย ชิเชคกับบทวิพากษ์ลัทธิคลั่ง(พระ)เจ้า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สลาวอย ชิเชค (Slavoj Zizek) เป็นนักทฤษฎีวิพากษ์ที่มักจะกลับหัวกลับหางโลกทัศน์ที่มีอยู่เดิมของพวกเรา ชิเชคมักมีความเห็นแสบๆคันๆเกี่ยวกับสังคมปัจจุบันที่ทำให้เราหัวเราะและร้องไห้ในเวลาเดียวกัน เพราะด้านหนึ่งสิ่งที่เขาพูดมันก็จริงแสนจริง แถมยังแทงใจดำจนเราอดขำไม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งโลกในมุมมองของชิเชคมันช่างดูน่าเศร้าและโหดร้าย เพราะดูเหมือนว่าชิเชคจะไม่พอใจกับทางแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันเอาซะเลย

ยกตัวอย่างเช่น ชิเชคบ่นว่าเขาเบื่อระอากับการรณรงค์ยัดเยียดภาพเด็กแอฟริกันผอมแห้ง เสื้อผ้าขาดวิ่นของพวกบริษัทข้ามชาติเช่น สตาร์บัค ที่ทำตัวรักมนุษย์โลกโดยชักชวนให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าของตนและชี้แจงว่ารายได้ส่วนหนึ่งจะบริจาคให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ ชิเชคประณามว่าแคมเปญรักเพื่อนมนุษย์ดังกล่าวมิได้ให้ประโยชน์อะไรมากไปกว่าการทำให้นักบริโภคผู้มีอันจะกินรู้สึกดีกับตัวเองในฐานะผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบและจริยธรรม ยิ่งไปกว่านั้น การบริจาคด้วยวิธีนี้ยังเป็นการช่วยรักษาระยะห่างระหว่างผู้บริจาคและผู้รับ กล่าวคือ ขณะที่เรานั่งกินกาแฟอยู่ในห้องแอร์ในซีกโลกหนึ่ง เราก็สามารถมีส่วนทำให้คนยากจนอีกฟากโลกหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นได้โดยที่เราไม่ต้องไปปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา การช่วยเหลือวิธีนี้ยังเป็นการมาตรการเบื้องต้นที่ป้องกันมิให้พวกคนที่อยู่ไกลๆมาก่อกวนหรือระรานเรา[1]

หากชิเชคไม่พอใจกับการแก้ปัญหาความยากจนโดยการบริจาคของผู้บริโภคผู้ใจบุญ เขาก็ยิ่งต่อต้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยหลักความอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกัน (tolerance) หรือการเปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม (multiculturalism)[2] ชิเชคให้เหตุผลง่ายๆก็คือ หลักการปรองดองข้างต้นมิได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคมเลย ชิเชคท้าให้เราลองไปค้นหาคำว่า tolerance ในคำปราศรัยทางการเมืองของมาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ นักเคลื่อนไหวสิทธิของคนแอฟริกันอเมริกัน “แทนที่เราจะเจอคำว่า tolerance มันกลับถูกแทนที่ด้วยคำว่า ไม่ความเท่าเทียมกัน (inequality)หรือการกดขี่(exploitation)” ไม่ต้องสงสัยว่าในปัจจุบัน การที่ประเด็นปัญหาทางการเมืองต่างๆถูกลดทอนให้เป็นเพียงแต่เรื่องของการไม่อดทนต่อความแตกต่างเป็นการบิดเบือนความเข้าใจที่มีเรามีต่อปัญหาในแง่ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีอำนาจ ชิเชคยังชี้ให้เห็นว่า มันคงเป็นเรื่องตลกหากปัญหาเรื่องความรุนแรงและความไม่เท่าเทียมกันทางเพศจะถูกแก้โดยมีผู้เสนอว่า ต่อจากนี้ขอให้ผู้หญิงและผู้ชายมีความอดทนอดกลั้นซึ่งกันและกันมากขึ้น[3]

จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าชิเชคมักจะมุ่งวิพากษ์วิจารณ์สังคมโลกเสรีนิยมตะวันตก (ถึงแม้ว่าจะสองประเด็นข้างต้นจะเกี่ยวข้องกับสังคมไทยไม่มากก็น้อย) อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีโอกาสได้ฟังการบรรยายของเขาที่มหาวิทยาลัยชิคาโกเมื่อปี 2006 ชิเชคได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กลุ่มศาสนาสุดโต่ง (fundamentalism) ในที่นี้ ชิเชคอ้างอิงถึงกลุ่มคริสต์และมุสลิมหัวรุนแรงที่มักปลุกเร้าคนในลัทธิตัวเองด้วยคำผรุสวาท และดูถูกเหยียดหยามคนที่คิดต่าง บางทีก็ระดมให้คนในลัทธิไปทำร้ายร่างกายคนที่คิดต่าง ชิเชคได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปรากฎการณ์คลั่งพระเจ้าจนเสียสติไว้ดังนี้[4]

  1. คลั่งแท้และคลั่งเทียม

ชิเชคบอกว่าก่อนอื่นเราต้องรู้จักที่จะแยกแยะระหว่างพวกคลั่งแท้และคลั่งเทียม (true and fake fundamentalism) ชิเชคอธิบายว่า พวกคลั่งศาสนาอย่างแท้จริง (พวกคลั่งแท้) มักคิดว่าตัวเองได้ค้นพบสัจธรรมวิถีแห่งความสุขแล้ว คนพวกนี้มักเมินเฉยกับคนที่คิดต่างจากตน  ด้วยความที่เขาเชื่ออย่างบริสุทธ์ใจว่านี่คือแนวทางชีวิตที่เขาจะอุทิศให้ เขาจึงไม่รู้สึกหวั่นไหวหรือขุ่นเคืองเมื่อเขาเผชิญหน้ากับคนที่คิดต่างจากเขา ตัวอย่างของพวกคลั่งแท้ในความคิดของชิเชคก็คือ พระทิเบต หรือชุมชนคนอามิชในอเมริกา ในทางตรงกันข้าม กลุ่มคลั่งเทียมมักถูกบดบังด้วยความโกรธแค้นและความริษยา (resentment and envy) ชิเชคชี้ให้เห็นว่าเมื่อยามพวกคลั่งเทียมเผชิญหน้ากับคนเห็นต่าง พวกเขามักตอบโต้ด้วยการด่าประณาม และความรุนแรงซึ่งจะแตกต่างจากพวกคลั่งแท้ที่มักจะไม่ตอบโต้

  1. ปมด้อยลึกๆในใจ

ชิเชคอธิบายต่อว่า เหตุผลเบื้องหลังการนิยมความรุนแรง อันเกิดจากความโกรธแค้นและริษยาของพวกคลั่งเทียมก็คือ แท้จริงแล้วพวกเขาไม่เคยเชื่อมั่นในสิ่งที่พวกเขายึดถือเลยต่างหาก “ปัญหาของคนพวกนี้ ไม่ใช่เรื่องที่พวกเขาชอบไปประกาศศักดาว่าข้าเหนือกว่าใคร หรือข้าอยากจะปกป้องรักษาอัตลักษณ์อันเก่าแก่ หากแต่ปัญหาของพวกเขาก็คือ การที่พวกเขาแอบคิดอยู่เสมอว่าพวกเขาด้อยกว่าพวกคนที่คิดต่าง (but they themselves secretly feel inferior.)” อีกนัยหนึ่ง ความเชื่อของพวกเขาช่างเปราะบางดั่งผ้าริ้วที่ฉีกขาดง่ายเมื่อโดนคมดาบล้อเลียนของพวกนอกรีต ปมด้อยของคนเหล่านี้จึงมักปะทุขึ้นมาเป็นความรุนแรง อาจกล่าวได้ว่าชิเชคกลับหัวกลับหางมุมมองที่เรามีต่อกลุ่มคลั่งสุดโต่ง แทนที่พวกเขาจะเป็นกลุ่มคนที่เชื่อมั่นในแนวทางของตัวเองอย่างสุดขั้ว ชิเชคกลับบอกว่า “what they really lack is the conviction of their own superiority (สิ่งที่คนเหล่านี้ขาดก็คือ ความศรัทธาในความเหนือกว่าของตัวเอง)” เอาเข้าจริงๆ พวกคลั่งเทียมพวกนี้ได้รับเอาบรรทัดฐานของคนที่คิดต่างจากเขาไปเป็นเกณฑ์วัดความเชื่อของเขาเอง พวกเขารำคาญโกรธเคือง แต่ในขณะเดียวกันก็ “ตื่นเต้นอัศจรรย์ใจ” เมื่อพบเห็นวิถีบาปของพวกนอกรีต (they are deeply bothered…and "fascinated" by the sinful life of the non-believers.) กล่าวสั้นๆก็คือ บรรทัดฐานของพวกนอกรีตนี้ทำให้พวกพวกคลั่งเทียมรู้สึกมีปมด้อย และนี่คือสาเหตุทำให้พวกคลั่งเทียมไม่มีความสุขตลอดเวลา  

  1. ไร้แก่นสาร มุ่งทำลายศัตรูอย่างเดียว (Lack of true conviction, destroy the enemy)

ชิเชคตบท้ายด้วยข้อวิพากษ์ที่เขามีต่อกลุ่มคลั่งเทียมว่า สาเหตุหลักที่กลุ่มหัวรุนแรงพวกนี้เป็นพวกของเทียมก็เพราะ วันๆพวกคลั่งเทียมเอาแต่หมกมุ่นกับการหาวิธีทำลายศัตรู จนไม่มีเวลาปฏิบัติตัวภายใต้แนวทางที่ตนอ้างว่ายึดถือ ด้วยเหตุนี้ ความสุขของพวกคลั่งเทียมจึงเป็นความสุขเชิงลบ (negative enjoyment) ชิเชคขยายความต่อว่า นี่คือความสุขที่ไม่ได้เกิดจากสภาวะไร้ทุกข์ของตัวเอง (our own well-being) หากแต่เป็นความสุขที่เกิดขึ้นจากการเห็นความทุกข์ของคนอื่น (the misfortune of the others)

ชิเชคยังตั้งข้อสังเกตว่า คนที่ชั่วช้า (evil person) อันที่จริงไม่ใช่คนที่เห็นแก่ตัว หรือพวกเอาตัวเป็นใหญ่ (Egoist) เพราะคนพวกนี้มักใช้เวลาส่วนใหญ่คิดถึงแต่ตัวเอง พวกเขายุ่งเกินกว่าจะมีเวลาไปสอดส่องจับผิดคนอื่น และทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะฉะนั้น คนที่ชั่วช้าก็คือพวกคลั่งเทียมที่มักไปหมกมุ่นกับคนคิดต่าง คนนอกรีต จนลืมนึกถึงความเชื่อของตัวเอง

หากเรามองด้วยตรรกะแบบชิเชค เราอาจสามารถทำความเข้าใจความรุนแรง ความหยาบคายไร้สติที่พวกคลั่งมีต่อคนที่คิดต่างได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็น การสรรหาวิธีทำร้ายศัตรูต่างๆนานาจนสุดท้ายมาลงเอยด้วยการคิดราดกาแฟร้อน การดิ้นพล่านอย่างโกรธแค้นกับแค่ซุ้มขายของเล็กๆของคนที่เขาเชื่อว่าเป็นพวกนอกรีต (ถ้าสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นมันยิ่งใหญ่ อัศจรรย์จริง เหตุไฉนจึงอ่อนไหวนักกับเรื่องพรรค์นี้) การพารานอยด์กับบทกลอนสี่ห้าบรรทัด หรือไปติดตามสเตตัสชีวิตประจำวันของnon-believerตัวพ่อตัวแม่บางคน โดยสรุปก็คือ พวกคลั่ง(พระ)เจ้าที่นิยมความรุนแรงและหมกมุ่นกับการจับผิดคนคิดต่างนั้นเป็นพวกคลั่งเทียม พวกเขามักไม่รู้จริงๆว่าแก่นสารของสิ่งที่ตัวเองเชื่อคืออะไรหรือไม่ก็แอบคิดอยู่ลึกๆว่าตัวเองนั้นด้อยกว่า พวกเขายุ่งแต่จะหาวิธีทำร้ายคนคิดต่าง แต่จริงๆแล้วก็แอบสนใจไปด้วย ผู้เขียนขอจบบทความสั้นๆนี้ด้วยความเห็นของชิเชคที่ว่า One can feel that in fighting the sinful other, they are fighting their own temptation.



[1] ดูชิเชคให้ความเห็นต่อทุนนิยมซึ่งเปิดรับแนวคิดรักเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=yzcfsq1_bt8 (เริ่มวิพากษ์สตาร์บั๊ค 3.20)

[2] ดูความเห็นของชิเชคต่อ tolerance ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=gsm1kBnM68w

[3] หากผู้อ่านต้องการรู้จักแนวคิดหลักๆของชิเชค (ภาษาไทย) โปรดดู สรวิศ ชัยนาม, จากการปฏิวัติ ถึง โลกาภิวัตน์ :ความรู้เบื้องต้นการเมืองโลกสู่โลกภาพยนตร์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สยามปริทัศน์, 2555)

[4] เป็นที่น่าเสียดายที่ไฟล์เสียงของเขาได้ถูกลบไปแล้ว หัวข้อการบรรยายของเขาคือ “The Ignorance of Chicken, or, Who Believes What Today?” – April 12th, 2006 แต่ผู้ที่สนใจในหัวข้อดังกล่าวสามารถฟังชิเชควิพากษ์fundamentalismได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=_GXPffEWS8g

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท