Skip to main content
sharethis

กิจกรรมห้องเรียนประชาธิปไตยที่ Book Re:public จัดเสวนาเรื่องสิทธิทางเพศและขบวนการเคลื่อนไหวด้านเพศสภาพ ผู้อภิปรายประกอบด้วย อัญชนา  สุวรรณานนท์  หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งอัญจารี กลุ่มทำงานเพื่อขจัดอคติเรื่องหญิงรักหญิง และกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน  และ คำ ผกา  หรือลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและพิธีกรรายการคิดเล่นเห็นต่าง และดีว่าส์ คาเฟ่

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ร้านหนังสือ Book Re:public  เวทีห้องเรียนประชาธิปไตยมีการเสวนาในหัวข้อ "สิทธิทางเพศและขบวนการเคลื่อนไหว" มี อัญชนา  สุวรรณานนท์  จากกลุ่มอัญจารี  หนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งอัญจารี ซึ่งก่อตั้งในปี  2529 เพื่อทำงานขจัดอคติเรื่องหญิงรักหญิง และกลุ่มคนรักเพศเดียวกันไม่ให้ถูกกีดกันสิทธิขั้นพื้นฐาน  และ คำ ผกา  หรือลักขณา ปันวิชัย นักเขียน  และนักจัดรายการ คิดเล่นเห็นต่าง ดีว่าส์ คาเฟ่จาก Voice TV มาร่วมแลกเปลี่ยน

การเสวนาเริ่มต้นโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากร้านหนังสือ Book Re:public  ตั้งโจทย์ในสามประเด็นในการแลกเปลี่ยนเสวนา 1.ตกลงเรื่องเพศ  หรือเพศสภาวะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่  ทำไมสังคมไทยจึงจับไปอยู่ในกรอบศีลธรรม 2.ขบวนการเรื่องสิทธิผุ้หญิง  กับขบวนการหญิงรักหญิงมันต่างกันอย่างไร  หรือเป็นอุปสรรคต่อกันหรือไม่ 3.เรื่องเพศมันเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างไร

อัญชนา

ธรรมชาติไม่ได้มีแค่หญิง-ชาย สู้เพื่อเพศที่หลากหลาย

ความเข้าใจเรื่องเพศเป็นเรื่องพื้นฐานที่ว่าทำไมต้องมีอัญจารี ภาพนี้ (ดูภาพ)

 

เป็นความพยายามในการอธิบายว่าเพศมันคืออะไร อันดับแรกคือเรื่องสรีระที่เกิดมา เรื่อง gender ความเข้าใจเรื่องเพศของคนส่วนใหญ่มันจะมีแค่หญิงกับชาย ปิ๊ กับจู๋ เป็นเฉพาะสรีระ เรามองข้ามกันไปว่าในความเป็นจริงแล้ว มีคนที่ไม่มีคุณสมบัติพร้อมที่ทางการแพทย์และสังคมว่าเป็นชาย หรือหญิงด้วย เพศมีหลายแบบมาก เช่นเพศก้ำกึ่ง นอกจากนี้ยังมีอัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึงที่เจ้าตัวรู้สึกว่าตัวเองเป็นหญิง หรือชาย และยังคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องการระบุเพศ ที่เรียกว่าเควียร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการแบ่งเพศจากอากัปกริยา หรือเสื้อผ้าที่เลือกใส่ เช่น ออกเป็นหญิง หรือเป็นชายที่เรียกว่า gender expressionหรือบางส่วนมีวิถีทางเพศ หรือรสนิยมแบบใด เป็น sexual orientation มีสองแบบคือชอบเพศตรงข้าม หรือชอบเพศเดียวกัน บางกลุ่มก็หญิงก็ได้ ชายก็ได้ (ดูภาพ)

 

เราดูแล้วก็จะเห็นว่าเพศมีหลากหลายมาก บางส่วนก็ดูแมน แต่จริงๆ ข้างในอาจไม่ใช่ อัตลักษณ์เขาอาจเป็นผู้หญิง อัตลักษณ์เป็นสิ่งที่เจ้าตัวเลือกเอง คนทุกคนมีสิ่งแหล่านี้อยู่แล้ว จะทำให้เราเห็นว่าคนชอบต่างเพศ ก็มีคนชอบเพศเดียวกันด้วย และนอกจากนี้ยังมีลักษณะเปลี่ยนไปมาในช่วงชีวิตของคนด้วย

ถ้าพูดถึงเรื่องเพศ มักจะมีการกรอบของสังคม สถาบันสังคมต่างๆ จะเข้ามากำหนด และที่ยากมากคือคนในสังคมถูกกรอบทางสังคมและถูกกรอกความเชื่อเหล่านี้มา และมักจะมองว่าธรรมชาติมีแค่สองเพศ  เป็นหญิงหรือชายตามเพศที่เกิดมา หญิงกับชายต้องคู่กัน เป็นครอบครัว ฉะนั้นคู่แบบอื่นไม่ได้รับการยอมรับ แต่กรอบดังกล่าวทำให้คนคนนั้นรู้สึกสับสนอย่างมาก ตั้งแต่เคลื่อนไหวเรื่องนี้เรื่องที่คนกลัดกลุ้มมาก และมีความทุกข์คือพ่อแม่ไม่เข้าใจ โรงเรียนไม่เข้าใจ แม้ปัจจุบันจะดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีคนกลัดกลุ้ม  คนทำงานแล้วไม่สามารถเลือกอัตลักษณ์ทางเพศ ขาดโอกาสในการทำงาน สถานะครอบครัว และมีลูก 

เมื่อปีที่แล้วมีข่าวแม่ของดี้จ้างคนไปฆ่าทอม ก็ยังปรากฏอยู่ มีข่าวทอมน้อยใจที่แม่กีดกัน ข่าวหลายข่าวที่เป็นเรื่องความคาดหวังของสังคม มีแรงกระทบจากสังคมมีตั้งแต่เบาะๆ ไปถึงสั่งฆ่า ในหลักสูตรการศึกษาก็ยังมีหนังสือที่มีเนื้อหา คือการห้ามคบกับคนที่มีเพศหลากหลายด้วย

องค์การอนามัยโลกเคยจัดเรื่องคนรักเพศเดียวกัน เป็นปัญหาสุขภาพจิต แต่ปัจจุบันก็ยกเลิกไปแล้ว แค่ในสังคมไทยก็ยังมีคนคิดแบบนี้อยู่ ในต่างประเทศมีหลายองค์กรที่ยกเลิกเรื่องคนรักเพศเดียวกันไปบ้างแล้ว แต่บ้านเรายังมีเรื่องนี้อยู่ก็เลยพยายามผลักดันเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ งานที่กลุ่มอัญจารีทำจึงมีการผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขออก จม.มาว่าคนรักเพศเดียวกันไม่ใช่คนโรคจิต นอกจากนี้ยังมีกระทรวงกลาโหมระบุว่ากระเทยเป็นโรคจิตถาวร ทำให้กลุ่มไปฟ้องกระทรวงกลาโหมให้ยกเลิกการระบุว่าผู้ชายที่เป็นหญิงเป็นโรคจิตถาวร ซึ่งเราก็ต้องติดตามต่อไป 

ในเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมีการผลักดันให้เคารพในเรื่องเพศด้วย ดังนั้นถ้าเราจะฟ้องร้อง หรือเรียกร้องสิทธิก็สามารถจะอ้างเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญได้

กรณีเหตุการณ์ที่เชียงใหม่ที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงมาคัดค้านไม่ให้เกย์ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อสองปีที่แล้ว  เหตุการณ์ที่ต่อต้านการออกมาเรียกร้อง เป็นสิ่งที่พวกเรากลัวกันมาก นอกจากนี้เรายังมีการเรียกร้องเรื่องการรับรองเรื่องชีวิตคู่ทางกฏหมายด้วย 

ล่าสุดก็คือกรณีของ ซีเอ็ดบุ๊คส์ที่ห้ามไม่รับจำหน่ายหนังสือที่มีเรื่องของหญิงรักหญิง ชายรักชาย ทางกลุ่มก็เคลื่อนไหวเรื่องนี้ด้วยในการล่าชื่อไม่เห็นด้วย และจะไม่ซื้อหนังสือจากร้านซีเอ็ด ตอนนี้บริษัทก็รีบร้อนออกมาแก้ตัว ก็ดีใจว่าประเทศก็เริ่มก้าวหน้ามากขึ้น เพราะอาจมีแรงกดดันจากสังคม

 

ปิ่นแก้ว การเป็นผู้หญิงเป็นเพศที่อยู่ในกล่องอยู่แล้ว แต่การเป็นผู้หญิงที่ชอบผู้หญิงด้วยกันมันยิ่งอยู่ในกล่องซ้อนกล่อง การที่สังคมคุกคามเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เราจึงต้องมองว่าสังคมว่ามันเป็นเพราะอะไร จึงคุกคามและไม่เข้าใจเพศที่หลากหลาย 

 

 

คำ ผกา

จุดกำเนิดการต่อสู้สิทธิสตรี สู้เพื่อความเป็นมนุษย์

อยากจะพูดถึงเรื่องขบวนการสตรีนิยมก่อน ก่อนที่จะตอบคำถามเรื่องการเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างไร

ขบวนการเคลื่อนไหวของอุดมการณ์สตรีนิยมเกิดขึ้นในยุโรปตะวันตก คลื่นลูกแรกของสตรีนิยมคือการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งอย่างเท่าเทียมระหว่างหญิงชายในทศวรรษที่ 1840-1850  และกว่าที่ผู้หญิงจะมีสิทธิเลือกตั้งก็คือต้นศตวรรษที่ 20 คือการขอเป็นมนุษย์

คลื่นลูกที่สองในสตรีนิยมเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1960 ที่นอกจากจะต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของผู้หญิงกับผู้ชายแล้ว ยังเน้นไปที่การปลดปล่อยผู้หญิง นั่นคือตัวผู้หญิงเองต้องไม่อยู่ภายใต้กรอบความคิดที่ถือเอาผู้ชายเป็นศูนย์กลางความถูกต้อง เช่น แนวคิดที่เห็นว่ากิจกรรมที่เป็นสาธารณะเท่านั้นที่เป็นการเมือง  กลุ่มสตรีนิยมจึงผลิตแนวคิดเรื่อง "เรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องการเมือง" ออกมาเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ทางอำนาจ ทวิลักษณ์ชาย-หญิง คือ violent of hierarchy

คลื่นลูกที่สาม เกิดทฤษฎีของเพศที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เควียร์ มองว่ารองเท้าส้นสูงจะเอ็มพาวเวอร์ผู้หญิงได้อย่างไร การที่ผู้หญิงแก้ผ้า ไม่ได้ถูกกระทำ ผู้หญิงขายบริการก็ไม่ได้ถูกกระทำ ผู้หญิงจะเลือกเอง เป็นตัวกำหนดความปรารถนา วิถีทางเพศของตัวเอง แต่ก็มีอีกสายหนึ่งที่แยกออกไปเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น แนวคิดเรื่อง mother แต่ก็ถูกวิจารณ์ความเหนือธรรมชาติมากไปหน่อย เป็นต้น

สตรีนิยมเกิดขึ้นในยุโรป มีการเรียกร้องให้ผู้หญิงมีความเป็นมนุษย์เท่าๆ กับผู้ชาย หมุดหมายแรกของขบวนการสตรีนิยม หนังสือชื่อ A Vindication of the Right of Woman (บทพิสูจน์แห่งสตรี) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1792   (กรุงรัตนโกสินทร์สถาปนาปี 1782 ) โดยนักเขียนชาวอังกฤษ คือแมรี่ โวลสโตนครัฟท์    อุดมการณ์สตรีนิยมถือเป็นผลพวงของการปฏิวัติฝรั่งเศส นั่นคือเป็นการยืนยันในสิทธิ และความเสมอภาคกับผู้ชาย เมื่อมีสองสิ่งนี้ ผู้หญิงจึงเป็นมนุษย์ที่มีอิสรภาพเช่นเดียวกับผู้ชายตามอุดมคติของการปฏิวัติฝรั่งเศส

ระบอบปิตาธิปไตย ทำให้ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชาย

จะเห็นว่าขบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยมเมื่อเริ่มต้นก็เป็นการเมืองแล้ว สิ่งที่นักสตรีนิยมพูดถึงมากคือระบบปิตาธิปไตย  ระบบปิตาธิปไตยเกิดขึ้นจากอะไร  ระบอบนี้มาจากระบอบคิดดั้งเดิมของตะวันตกที่สร้างภาพให้ผู้หญิงเป็นเพียงสัตว์โลกชนิดหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีอารมณ์แต่ปราศจากเหตุผล ใช้ความสังหรณ์ใจเป็นหลักนำทางชีวิต มันก็เกิดขึ้นในรัฐ รัฐนิยามว่าผู้หญิงเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่ง การมีอยู่ของผู้หญิง มีลักษณะต้องไปพึ่งพากับสิ่งอื่นๆ จึงจะเป็นตัวตนขึ้นมาได้ 

จะเห็นได้จากการสร้างภาพผู้หญิงในงานวรรณกรรมตะวันตก ความเป็น passive ไม่มีเสรีภาพ เรื่องผู้หญิงเป็นเรื่องในบ้าน เป็นเรื่องจำเพาะส่วนบุคคล หายไปจากพื้นที่สาธารณะของสังคม  ตกอยู่ในความมืด และเป็นด้านชั่วร้ายของชีวิต เป็นอีฟ ซึ่งหมายถึงโง่เขลา เป็นต้น เช่นงานของอริสโตเติลก็จะบอกว่าจิตวิญญาณที่ทรงเหตุผลนั้นไม่ทำงานในเด็ก และผู้หญิง งานของเซ็นต์ออกัสติน บอกว่ามีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่เป็นฉายาของพระผู้เป็นเจ้า ผู้หญิงเป็นได้แค่บางส่วน เพราะฉายานั้นผูกพันกับเหตุผล ส่วนรุสโซบอกว่าผู้หญิงควรได้รับการศึกษาอบรม มิใช่เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่เพื่อสร้างความพึงพอใจและเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ผู้ชาย

 

สำนักสตรีนิยมตะวันตกสู้อะไร

สตรีนิยมสายเสรีนิยม ถือเอาความคิดเรื่องความเสมอภาคเป็นหลัก เน้นเรื่องการแก้ไขกม. และการเลือกตั้ง การทำงาน ทรัพย์สิน และสวัสดิการ เป็นต้น

สตรีนิยมสายสังคมนิยม หรือมาร์กซิสต์ สำนักนี้ไม่เชื่อว่าความเสมอภาคเป็นไปได้จริง และเป็นเพียงภาพลวงตาของพวกกฎุมพี เพราะสังคมทุนนิยมจะต้องมีผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ความเสมอภาคอย่างแท้จริงแก่สมาชิกในสังคม เบื้องหลังแนวคิดเกี่ยวกับความเสมอภาพอันสวยหรู เต็มไปด้วยความแตกต่างในปัจจัยการผลิต ทรัพย์สิน รายได้ อำนาจทางการเมือง ฐานะทางสังคมและความแตกต่างทางเพศสภาพของบุคคล ความเสมอภาคที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิวัติสังคมนำไปสู่สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เท่านั้น

สิ่งที่ต้องปลดแอกคือ ปลดแอกผู้หญิงจากการเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกำลังผลิตของระบบเศรษฐกิจ การคลอดลูก การสืบเผ่าพันธุ์ การเลี้ยงดูเด็ก เป็นสิ่งบำเรอทางเพศ

สตรีนิยมสายแรดิคัล (Radical Feminism) กลุ่มนี้ไม่เน้นความเสมอภาค เพราะเห็นว่าผู้หญิงเหนือกว่าผู้ชายอยู่แล้วตามธรรมชาติ เกิดขึ้นในในทศวรรษที่ 1970 สตรีนิยมกลุ่มนี้อ้างว่าเพราะผู้หญิงตั้งท้อง มีลูกได้ ผู้หญิงจึงเหนือกว่าผู้ชาย และผู้หญิงยังเหนือกว่าผู้ชายในด้านศีลธรรมด้วย ดังนั้นกลุ่มนี้ก็จะให้ความสำคัญกับผู้หญิงในแง่ให้คุณค่าความเป็นแม่ เชิดชูระบบคุณค่าเอกลักษณ์ความเป็นหญิง เป็นต้น ก็มีแนวโน้มจะเป็นเลสเบี้ยน

สำนักสตรีนิยมไทย กับการสร้างความเป็นชาติ

สิ่งที่น่าสนใจคือสตรีนิยมมันเกี่ยวข้องกับสังคมไทยอย่างไร ก่อนที่จะมาดูของไทย การสร้างเพศของพลเมืองเป็นผลผลิตของสังคมสมัยใหม่อย่างไร ความเป็นหญิง เป็นชายมันไม่เคยมีขึ้นมาก่อนอย่างไร นอกจากผู้หญิงจะเป็นฉายาของความมืดและความชั่วร้ายอย่างไร ขอให้นึกถึงแฟชั่นในราชสำนักฝรั่งเศสในสมัยพระมารีอังตัวแนต เราจะเห็นผู้ชายใส่ส้นสูง ใส่ผ้าลูกไม้ ผูกโบว์ นั่นแปลว่าความเป็นหญิงและความเป็นชายของรัฐของสังคมก่อนสมัยใหม่กับรัฐปัจจุบัน นั้นมีความเป็นหญิงหรือชายที่ไม่เหมือนกันเลย ก่อนหน้าที่รัฐจะสถาปนาอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ ความเป็นหญิงชายเป็นสิ่งที่ตายตัวเหมือนในปัจจุบัน มันเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เชื่อว่ามันมีอยู่มาก่อนพร้อมๆ กับการกำเนิดของโลกใบนี้ นั่นก็หมายความว่าครอบครัวแบบที่เรารู้จักทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ครอบครัวแบบที่เคยเกิดมาก่อน ก่อนที่จะมีรัฐชาติสมัยใหม่มีลักษณะของครอบครัวที่หลากหลาย  เช่น ครอบครัวมีผู้หญิงเพื่อผลิตลูก สิ่งที่จะพูดคือการสร้างรัฐ อีกด้านหนึ่งนั้นต้องสร้างเพศให้ชัดเจนขึ้น เพราะรัฐสมัยใหม่คือการสร้างพลเมือง หน่วยพลเมืองเป็นเครื่องมือในการฟอร์มรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา แต่รัฐสมัยใหม่ก็มีกระบวนการที่ทำให้ครอบครัวไม่เป็นการเมือง    ทำให้คนที่เกิดในรัฐสมัยใหม่จึงเกิดมาพร้อมกับความเชื่อว่าครอบครัวไม่ได้เป็นการเมือง  เกิดเป็นผู้ชายก็ต้องชอบผู้หญิง ทำให้คนเชื่อว่าการเป็นการครอบครัว มีครอบครัวที่อบอุ่น มีความโรแมนติกแบบนี้ ซึ่งกระบวนการต่อสู้ของขบวนการเกย์แบบไทยก็ยังอยู่ในกรอบนี้ รับเอาความคิดรัฐสมัยอยู่ ดังนั้นจึงเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อจะแต่งงาน และมีครอบครัวอบอุ่นก็ยังอยู่ในกรอบนี้

รัฐไทย ชาติไทยเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทอะไรบ้าง สำนึกประชาธิปไตยที่มีมาพร้อมกับการเรียกร้องสิทธิสตรีในยุคแรกของไทย เริ่มมีงานวรรณกรรมของศรีบูรพา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านระบบศักดินา ระบบผัวเดียว หลายเมีย มีการเรียกร้องผู้หญิงเรียนหนังสือ มีโอกาสการทำงานแบบผู้ชาย เป็นสตรีนิยมแบบคลื่นลูกที่หนึ่ง คือเรียกร้องการเป็นคนเหมือนผู้ชาย เพราะฉะนั้นเฟมินิสต์ยุคแรกคือเทียนวรรณ กุหลาย สายประดิษฐ์ มีการเรียกร้องให้ยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เรียกร้องความรักแบบลูกผู้ชายแบบศรีบูรพา เป็นรักที่ข้ามชนชั้น

การต่อสู้การปฏิวัติ 2475 เกิดขึ้น คุณค่าถูกทำลายไปเมื่อมีการรัฐประหารปี 2490 คุณค่าที่ 2475 ทำลายลงไปคือการระบอบศักดินา เครื่องแต่งกาย ทรงผมหญิง หรือชาย ระบบผัวเดียวหลายเมีย  สถาปัตยกรรมที่เน้นระดับชั้นต่ำสูง รัฐสมัยใหม่ได้สร้างการแบ่งเพศที่ชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นมาคือการแต่งกายแบบตะวันตก เลิกเปลือยอก มีมารยาทแบบสากล หนังสือสมบัติผู้ดี เป็นมารยาทของชนชั้นกลาง  เป็นสิ่งที่ประชาธิปไตยกำลังสร้างขึ้นกับคนป่าเถื่อนแบบไทย  แต่อย่างไรก็ตามสังคมไทยก็ยังมีความลักลั่น จอดรถไม่เป็นที่เป็นทาง แต่งตัวไม่ถูกต้องตามกาละเทศะ นี่คือสิ่งที่ 2475 ทำไม่สำเร็จ และถูกตัดทอนไปอีกในปี 2490นั่นเอง

การยกสถานะสตรีของไทยเป็นกระบวนของการพัฒนาประชาธิปไตย การปฏิเสธระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในที่สุด บางด้านนักสตรีนิยมรู้สึกว่าการสร้างรัฐชาติ และการแบ่งเพศหญิงกับชายมันเป็นการแบ่งแยก ทำให้ไม่มีพื้นที่ให้กลุ่มเกย์ คุณค่าของครอบครัวเดี่ยว  เช่น การให้คุณค่าความเป็นเมีย และแม่มากเกินไป  อันนี้เป็นสิ่งที่ประชาธิปไตยในยุคเริ่มต้นสร้างขึ้นมา แต่ก็ยังไม่สำเร็จ  นอกจากจะไม่สำเร็จแล้วยังไม่ได้ลงหลักปักฐาน ตอนหลังก็โดนด่ามากขึ้นจากนักสตรีนิยมบางกลุ่มว่าเพราะไปรับแนวคิดจากตะวันตกเข้ามากลับกลายเป็นช่องว่างให้กับคนที่ไม่ยอมรับเอาแนวคิดนี้ไม่เห็นด้วยกับพวกเฟมินิสต์ แล้วก็จะไปอ้างเอาประเด็นเรื่องผู้หญิงไทยก่อนมีรัฐสมัยใหม่ว่ามีอำนาจมากกว่าผู้ชาย เป็นต้น และการที่ผู้ชายไทยมีเมียหลายคนไม่ใช่การกดขี่ผู้หญิง ความลักลั่นที่เกิดขึ้นเมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือว่าผู้ชายไทยแต่งงานแล้ว ผู้ชายไทยมักจะรู้สึกว่าได้เขาแล้ว ต้องเห็นเขาเป็นเมีย มันก็มาเถียงกันว่าคอนเซปท์ไทยโบราณ กับคอนเซ็ปท์ของรัฐสมัยใหม่ที่แบ่งแยกกันชัดเจน 

นอกจากนี้ยังมีความลักลั่นอีกอย่างเช่น เวลาเถียงกันว่า เรื่องเด็กวัยรุ่นไทยแต่งตัวโป๊ คนบางส่วนบอกว่าแต่งตัวโป๊ก็เหมือนผู้หญิงสมัยโบราณก็เปลือยอก แต่บางส่วนก็บอกว่าการแต่งตัวโป๊ทำลายคุณค่าวัฒนธรรมไทย แต่ในความคิดของตัวเองคิดว่ามันผิดทั้งคู่ เพราะเราไม่สามารถเอาการแต่งตัวโป๊ของเด็กไปเปรียบเทียบกับการเปลือยอกของผู้หญิงไทยสมัยโบราณ เพราะผู้หญิงไทยเปลือยอกมันไม่ใช่ว่าเขาโป๊หรือไม่โป๊ มันเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัวมาก

ในขบวนการสตรีนิยมในไทยมีกี่แบบ ก็มีแบบนักสังคมสงเคราะห์ เช่นมูลนิธิปวีณา สตรีนิยมนักกฎหมาย เช่น ไม่ส่งเสริมความรุนแรงภายในครอบครัว ปกป้องผู้หญิง เพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภา มีสตรีนิยมแบบอนุรักษ์นิยมไทยแบบคุณระเบียบรัตน์ เพราะเชื่อว่านี่คือคุณค่าของผู้หญิงแบบเลอค่าอมตะ สตรีนิยมแบบอัญจารีที่ยกเลิกการแบ่งแยกเรื่องเพศ แต่ทั้งหมดเป็นการต่อสู้ที่เรารับเอาแนวคิดของตะวันตกเข้ามา เวลาเข้ามาต่อต้าน คือสตรีนิยมเป็นความฟุ่มเฟือย  ประเทศยังจนอยู่ ปัญหาสิทธิสตรีไม่ใช่ปัญหาคอขาดบาดตาย ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยอยู่ในฐานะที่เป็นอาณานิคม ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ทำให้สิ่งที่หายไปจากเมืองไทยคือไม่มีนักสตรีนิยมที่สู้เพื่อผิวสี หรือสตรีนิยมในระดับรากหญ้า ถ้าจะมีการต่อสู้ของสตรีในท้องถิ่นก็ไปผูกติดกับการอนุรักษ์ท้องถิ่น คุณค่าความเป็นไทย  ฟ้อนเล็บ ใส่ชุดพื้นเมือง เป็นต้น คำถามคือว่าสิ่งเหล่านี้อธิบายการต่อสู้เรื่องเพศที่มาพร้อมกับความเป็นประชาธิปไตยอย่างไร

หันมาดูเรื่องกรณีคนเสื้อแดงต่อต้านการต่อสู้ของกลุ่มเกย์ ทั้งๆ ที่การต่อสู้ประชาธิปไตยมันควรจะยอมรับการต่อสู้ของเกย์ได้ มันกลายเป็นว่าการต่อสู้ประชาธิปไตยยังมีลักษณะของความเป็นชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมไทย ซึ่งก็จะต้องเป็นคำถามคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยว่าเราจะผลักดันคุณค่าประชาธิปไตยนี้อย่างไร กลับมาดูคนที่ต่อสู้เรื่องเพศ ก็ไม่เอาเสื้อแดงมาก เชิดชูสถาบัน ความเป็นประเพณีนิยม แล้วคุณจะต่อสู้เรื่องการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้อย่างไร

การที่ประเทศไทยตกอยู่ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าเราไม่เคยตกเป็นอาณานิคม จึงมีผลต่อการต่อสู้เรื่องสตรีนิยมในไทยไม่ได้เป็นขบวนเดียวกันกับการต่อสู้เรื่องเอกราช เราจึงมีนักสตรีนิยมที่ไม่ใช่เป็นผู้หญิงรากหญ้า เราจึงมีนักสตรีนิยมที่เป็นอีลิทเป็นส่วนใหญ่ นักสตรีนิยมที่มีแนวหลังอาณานิคม ที่เห็นคือคุณจิตรา คชเดช ก็เห็นว่าเป็นการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย สิทธิแรงงาน

 

อัญชนา

ทำไมจึงเลือกการแต่งงานในการเคลื่อนไหว 

ย้อนกลับไปเรื่อง สิทธิไม่ใช่เรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงความจริงแล้วเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน การแบ่งพื้นที่ต่างๆ ในสังคมควรจะหมดไป เป็นเรื่องที่เราต้องไปให้ถึง ในประเด็นเรื่องแต่งงาน เป็นเรื่องของสองระดับ  ในแง่ของการเข้าถึงสิทธิตรงนี้ ถ้าจะให้ลึกจริงๆ สำหรับคนที่จะเลือกเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่ใช่กรอบแต่งงานแบบปัจจุบันซึ่งเป็นแนวแบบตะวันตก ในเรื่องที่ว่าคู่นั้นต้องเป็นสองคน มีความรักต่อกัน สิ่งที่กลุ่มเรียกร้องคือ ให้เป็นแบบผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิงได้มั้ย แต่การต่อสู้ที่ไปจากกรอบของตะวันตกนั้นยังไปไม่ถึง

คณะกรรมาธิการรัฐสภากำลังร่าง คือการเป็นชีวิตคู่ไม่จำกัดว่าสองคนนั้นเป็นเพศไหน คนที่เป็นชีวิตคู่มีเงื่อนไขว่าต้องมีสถานการณ์เข้าและออกจากการเป็นชีวิตคู่ที่เท่ากันทั้งสองฝ่าย เช่นเงื่อนไขการหย่า  ผู้ชายใช้เงื่อนไขว่าผู้หญิงมีชู้สามารหย่าได้ แต่ถ้าผู้ชายมีชู้ ผู้หญิงกลับหย่าไม่ได้ แต่ทั้งหมดเป็นการจัดแจงเรื่องครอบครัวในแบบเดิมๆ แต่ทั้งหมดก็จะเห็นว่ารัฐเป็นคนกะเกณฑ์เรื่องชีวิตครอบครัวอยู่ดี แต่ถ้าเราไม่ไห้รัฐเข้ามายุ่ง เราจะป้องกันปัญหาที่พ่อแม่เข้ามากีดกันลูกที่รักเพศเดียวกันได้หรือไม่ เพราะเรายังไม่สามารถเปลี่ยนสังคมได้ทั้งหมด

เรายังไม่ได้เติมเรื่องการวิเคราะห์ทางชนชั้นที่เป็นอุปสรรคในการวิเคราะห์เรื่องเพศด้วย ดังนั้นเราก็จะเห็นว่าคนที่ทำงานเรื่องสิทธิสตรีจึงเป็นชนชั้นกลาง เพราะประโยชน์ที่เขาได้รับ ทำอะไรได้ แต่เรื่องความหลากหลายทางเพศก็เป็นตัวลดทอน

กลับมาเรื่องการแต่งงาน อันดับแรกต้องอธิบายมาพูดในฐานะของคนคนหนึ่ง เป็นองค์กรหนึ่ง เวลาที่เราเห็นข้อเรียกร้อง มาจากคนที่ไม่ได้เป็นนักกิจกรรม ข้อเรียกร้องของกลุ่มเป็นลักษณะมาจากชุมชน เขาถ่ายทอดความเดือดร้อนมาจากความต้องการของเขา ในกลุ่มไม่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่ใช่การตัดสินใจแบบรวมศูนย์ เราเป็นขบวนการที่ขาดทรัพยากร ขาดเงื่อนไขที่จะเรียนรู้ร่วมกันมีน้อย นี่คือสถานการณ์ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

ส่วนเรื่องแต่งงาน บางคนก็ต้องการเรื่องสิทธิทางกม. เพราะบางคนก็เจอปัญหาในชีวิตคู่มาแล้วจึงอยากแต่งงานให้การองรับทางกฎหมาย เช่น เรื่องการประกันชีวิต กู้เงินเพื่อซื้อบ้านร่วมกัน เขาเจอปัญหาในการดำเนินชีวิตคู่แบบคนธรรมดา ไม่ได้เป็นลักษณะแบบนักกิจกรรม นอกจากนี้เราก็อาจคิดว่าเรามีจุดอ่อน การแต่งงานเป็นก้าวข้ามอุปสรรคขั้นสูงมากสำหรับกลุ่มนี้ การทำพิธีเล็กๆ เหมือนก้อปปี้การแต่งงานชายหญิง แต่มันก็เป็นอีกมุมหนึ่งของการต่อสู้ และก้าวข้ามอุปสรรค ในขณะนี้ยังไม่เปลี่ยน และจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร 

ตลอดที่ทำกิจกรรมนี้ ได้รับฟังความเดือดร้อนของคนเหล่านี้มาก บางคู่แค่ไม่ปฏิเสธตัวเอง ไม่ใช่คนผิดปกติ หลายคนยอมรับตัวเองไม่ได้ บางคนไม่รังเกียจตัวเอง การแต่งงานที่มองว่าเป็นมรดกของอาณานิคม แต่ก็มีความหมายสำหรับคนเหล่านี้มาก

การทำงานกับคนเหล่านี้ ก็เป็นการเปิดพื้นที่ เคยลาออกจากกลุ่มแล้ว แต่พอคนเดือดร้อนก็กลับมาทำงานใหม่ 

 

คำ ผกา

เสนอสู้เพื่อสิทธิทางเพศ ต้องออกจากความไทย เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน

ตอนนี้เราเข้าตรงกันว่าปัญหาสิทธิผู้หญิงน่าจะจบไปแล้วเมื่อทศวรรษ 60 แต่ควรจะไปให้ความสำคัญกับอำนาจที่กำกับอุดมการณ์ อำนาจนี้ไม่ได้ทำงานเฉพาะผู้หญิง ผู้ชายเท่านั้น แต่ทำงานกับครอบครัว  สถาบันต่างๆ ด้วย ดังนั้นมันจึงกลายเป็นแรงดันกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึงผู้หญิงที่เป็นดอกทองด้วย มันกลายเป็นบทลงโทษทางจิตใจ และอุดมการณ์ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะบอกว่าเราต่อสู้ในภาษาเดิม ก็เหมือนคนพิการที่ต่อสู้เพื่อสิทธิคนพิการ เราต้องเปลี่ยนภาษาก่อน เราต้องการสิ่งที่เป็นตัวของเราเอง ดังนั้นการต่อสู้ทางอุดมการณ์จึงเป็นส่วนสำคัญ ไม่ใช่การต่อสู้เพียงแค่ขอให้แค่การยกเว้น น่าสงสาร น่าเห็นใจ เราไม่ไต้องการแค่นั้น ดังนั้นอนาคตของการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ใหม่ คือต้องออกจากความเป็นไทยในทุกมิติ เลิกคิดได้แล้ว เราก้าวเข้าสู่ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เราไม่ต้องแคร์ว่าการต่อสู้ของเรามันเป็นไทยหรือไม่ไทย เราต้องต่อสู้โดยยกเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาแทน เราจะต้องทบทวนขบวนการสตรีนิยมของไทยด้วยว่าจะเดินไปสูทางไหน กลุ่มเกย์ กลุ่มเลสเบี้ยนต้องไปร่วมเคลื่อนไหวเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่นการต่อสู้เรื่องรัฐฆราวาสด้วย การท้าทายเรื่องการเผด็จการ ถ้าคุณแต่งงานได้แล้วรัฐเป็นเผด็จการจะแฮปปี้หรือไม่ เป็นต้น

 

อัญชนา

สู้เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่มีโอกาสข้ามาผลักดันสังคม  

ในกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยกัน มันก็คิดไม่เหมือนกัน แต่สังคมอาจจะออกมาเป็นภาพรวม บางกลุ่มก็ทำเรื่องสุขภาพ ป้องกันเอดส์ บางคนก็ทำงานช่วยเหลือสงเคราะห์  บางคนก็ทำงานเพราะเป็นงานอาชีพแบบเอ็นจีโอ ดังนั้นจึงเป็นลูกผสม ไม่มีกระบวนการที่จะทำให้กระบวนนี้มาแลกเปลี่ยน และมาสรุปบทเรียนร่วมกัน ในส่วนตัว สิ่งที่อยากจะเห็นคืออยากจะเห็นคนที่เดือดร้อนมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่กดเขาอยู่ กลุ่มคนที่เดือดร้อนมีพลัง และกำหนดทิศทางต่อไป ไม่ได้เป็นรูปแบบที่ว่ารากหญ้ามีส่วนร่วม  เราจะปรับอย่างไร พี่กลับมาใหม่เพื่อจะเปิดพื้นที่ใหม่เรื่องสิทธิทางเพศ  มีมุมมองเรื่อง gender ไม่ได้มีเป้าระยะไกล อยากให้มีการเปิดพื้นที่ให้กับคนทีไม่มีโอกาสในการผลักดันสังคมเข้ามามากขึ้น

จริงๆ แล้วกลุ่มหลากหลายทางเพศไม่ได้ต่อสู้เฉพาะเรื่องสิทธิเรื่องการแต่งงาน เราไม่ได้เลือกประเด็นนี้  แต่กลุ่มหลากหลายทางเพศเขาเลือกประเด็นนี้ในการเคลื่อนไหว แต่เราไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ  เราคิดว่าเรื่องการถูกทำร้าย การถูกไม่เข้าใจ นั้นสำคัญกว่า

 

ปิ่นแก้ว

รูปธรรม-อุดมการณ์ต้องก้าวไปด้วยกัน

การมองเรื่องสิทธิสตรี สิทธิทางเพศจากคนที่เป็นนักเคลื่อนไหวอย่างคุณอัญชนา กับคุณคำ ผกาจะเห็นว่ามันสามารถcomplement กันได้ คืออัญจารีก็ต้องทำงานกับคนที่มีความเดือดร้อน อาจไม่มีเวลามากพอในการคิดอะไรในเชิงนามธรรม หรืออุดมการณ์ ดังนั้นสิ่งที่คุณคำ ผกาพยายามกระตุ้นคือการตั้งคำถามเพื่อพัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวในเชิงอุดมการณ์ ในขณะเดียวกันการฟัง กับคนที่คลื่นสตรีนิยมเป็นสามคลื่น เหมือนที่คำผกาพูด คลื่นของสตรีนิยมติดอยู่ในข้อแรก ขณะที่กลุ่มอัญจารีพูดทำให้เข้าใจสามัญชนที่เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยนว่าเขาไม่ได้มีอุดมคติ โจทย์ที่เขาอยากเห็นสังคมไปทางไหนมันอาจไม่มี เราอยากเห็นสังคมเปลี่ยนกฎหมาย มันยังไปไม่ถึง ดังนั้นเราจึงเห็นว่ามันจำเป็นที่จะต้องมีสององค์ประกอบนี้. 

ดูภาพบรรยากาศการเสวนาเพิ่มเติมได้ที่ 
http://bookrepublic.org/photos/pic-school-gender/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net