อนุกมธ.ฯ สอบสลาย 'ม็อบเสธอ้าย' 3 สื่อยัน ไม่มีการเจรจาหรือปฏิบัติตามขั้นตอน

 คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการชุมนุมม๊อบเสธอ้ายเชิญนักข่าวซึ่งเป็นพยานในเหตุการณ์การจับกุมนักข่าวขณะปฏิบัติหน้าที่ 3 สื่อยัน ไม่มีการเจรจาหรือปฏิบัติตามขั้นตอน สื่อ TPBS ระบุรถของผู้ชุมนุมได้ขับเข้าไปในเขตหวงห้ามของเจ้าหน้าที่แล้วจึงมีการยิงแก๊สน้ำตา กรรมาธิการเตรียหาตัวผู้บัญชาการสถานการณ์ขณะนั้นมาชี้แจง

11 ธ.ค. 55 - เว็บไซต์ข่าวรัฐสภาถึงประชาชนรายงานว่าในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายสื่อมวลชนและประชาชนในการชุมนุมเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 55 ขององค์การพิทักษ์สยาม โดยมี นายสมชาย แสวงการ เป็นประธานได้เชิญพยานในที่เกิดเหตุการณ์จับกุมตัวสื่อมวลชนในพื้นที่การชุมนุมมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ได้แแก่ นายพัฒนศักดิ์ วรเดช ผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุม นางสาวกิตติพร บุญอุ้ม จากสถานีโทรทัศน์ TPBS นายทศฤทธิ์ วัฒนราช จากสำนักข่าว T-NEWS และนายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง จาก NATION 

 
ทั้งนี้ นายจีรพงษ์ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว NATION ได้แสดงคลิปเหตุการณ์จากกล้องส่วนตัวที่บันทึกได้และชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า ขณะที่เกิดเหตุนั้นได้ติดตามสถานการณ์อยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลและทราบข่าวว่ามีการปะทะกันของเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมจึงรีบไปดู แต่เมื่อไปถึงสถานการณ์ก็เริ่มสงบลงแล้ว ซึ่งที่เข้าไปนั้นเป็นฝั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นตำรวจโดนแก๊สน้ำตาเหมือนกับผู้ชุมนุม จึงไปดูบริเวณรถคุมขังที่มีผู้ชุมนุมอยู่ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาบอกกับว่ามีช่างภาพโดนจับกุมไปด้วย 2 คนให้ไปช่วย พอเดินไปดูจึงพบกับนายสันติ จากสำนักพิมพ์ผู้จัดการ และนายพัฒนศักดิ์ จาก TPBS เลยไปเจรจากับตำรวจว่า ทั้งสองคนเป็นนักข่าวขอให้ตำรวจปล่อยตัว ซึ่งใช้เวลานานกว่า 15 นาทีกว่าเจ้าหน้าที่จะยอมปล่อยตัวกลับมา 
 
เมื่อกรรมาธิการถามว่าจากประสบการณ์การทำงานสื่อสารมวลชนของนายจีรพงษ์ เคยพบเหตุการณ์ในลักษณะนี้หรือไม่ นายจีรพงษ์ได้ยืนยันว่าตั้งแต่ปี 2548 เพิ่งจะมีครั้งนี้ที่นักข่าวโดนจับไปพร้อมกับผู้ชุมนุม ทั้งยังไม่มีการเจรจากันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่มี แต่ต่างคนต่างพูดไม่มีการตกลงกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
 
ด้านนางสาวกิตติพร จากสำนักข่าวTPBS ได้แสดงคลิปเหตุการณ์ชี้แจงเหตุการณ์ทั้งจากกล้องของสำนักข่าวเองและจากสำนักข่าวอื่นๆ ต่อคณะกรรมาธิการว่า เห็นนายพัฒนศักดิ์ซึ่งเป็นช่างภาพของสำนักข่าวได้เข้าไปอยู่ในวงล้อมของผู้ชุมนุมแล้ว ขณะนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการปราศรัยให้มวลชนมารวมตัวกันและพยายามขับรถเข้าไปในวงของฝ่ายเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ก็พยายามประกาศกับผู้ชุมนุมว่า  “อย่าพยายามสร้างเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่” เท่านั้น ไม่มีการประกาศว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตาแต่อย่างใด  
 
จนเวลา 8.55 น.ของวันที่ 24 พฤศจิกายน นางสาวกิตติพรได้ยืนยันต่อกรรมาธิการว่ารถของผู้ชุมนุมได้เข้าไปถึงบริเวณเขตกั้นของเจ้าหน้าที่เกือบครึ่งคันแล้ว เจ้าหน้าที่จึงปาแก๊สน้ำตาเข้ามาหาผู้ชุมนุม ซึ่งมีความสม่ำเสมอประมาณ 10 ลูก จนประมาณลูกที่ 3 ผู้ชุมนุมเริ่มวิ่งกระจายออกจากบริเวณนั้น ทั้งนี้ ได้มีการเปิดคลิปที่นางสาวกิตติพรถ่ายมาจากทางฝั่งผู้ชุมนุมแสดงต่อกรรมาธิการด้วย และว่าจากการใช้แก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นนายพัฒนศักดิ์มีสภาพไม่ค่อยดีนักจึงได้ตะโกนเรียก และได้ยินนายพัฒนศักดิ์ตะโกนกลับมาบอกว่า กล้องหาย จึงรีบออกไปตามหากล้องและได้พบกล้องอยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนหนึ่ง จึงแสดงตัวและขอกล้องกลับคืนมาพร้อมกับถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นจึงตรงไปตามหานายพัฒนศักดิ์ เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวออกจากรถคุมขัง และระหว่างนั้นได้ไปตามถ่ายบริเวณต่างๆได้พบเจ้าหน้าที่กำลังรื้อของออกจากกระเป๋าของผู้ชุมนุม พบกระสุนปืนและมีดสั้น แต่ไม่ปรากฏว่ามาจากผู้ชุมนุมคนใด 
 
นางสาวกิตติพร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณแนวหน้านั้นเป็นตำรวจจากภูมิภาค และไม่มีหน้ากากกันแก๊สน้ำตาเช่นเดียวกันกับผู้ชุมนุม อีกทั้งช่วงที่ผู้ชุมนุมได้รื้อถอนสิ่งกีดขวางของเจ้าหน้าที่นั้นก็ไม่มีการห้ามปรามหรือขัดขวางแต่อย่างใด  นอกจากนี้ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจในชั้นผู้บังคับบัญชาไม่สามารถจะสื่อสารทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานได้ว่ามีสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าวและต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งยังไม่มีองค์กรกลางที่จะประกาศจุดรับปอกแขนที่ทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ยอมรับ เพราะในการชุมนุมนั้นผู้สื่อข่าวต้องไปรับปลอกแขนจากฝั่งผู้ชุมนุม 
 
ทางด้านนายทศฤทธิ์ จากสำนักข่าว T-NEWS  ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการว่า ในการชุมนุมนั้นตนโดนแก๊สน้ำตาจากเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะยืนอยู่บนรถปราศรัยของผู้ชุมนุม ในขณะที่รถของผู้ชุมนุมกำลังจะเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กั้นเขตไว้ ตนเห็นว่ามีการใช้เครื่องยิงแก๊สน้ำตาเข้ามาหาผู้ชุมนุมและตกลงบริเวณขาของตนเองสองลูกหลังจากนั้นก็มองอะไรไม่เห็นแล้ว 
 
เมื่อคณะกรรมาธิการได้ถามว่าได้เห็นรถฉีดน้ำหรือรถคลื่นเสียงหรือไม่ นายทศฤทธิ์ยืนยันว่าไม่มีเครื่องมือดังกล่าว 
 
เมื่อได้มีการชี้แจงแก่คณะอนุกรรมาธิการเรียบร้อยแล้วได้มีการสอบถามความคืบหน้าของการดำเนินการทางกฎหมายของสำนักข่าว TPBS ซึ่งทางทนายความของสำนักข่าวได้ชี้แจงว่า ขณะนี้มีการตรวจสอบความเสียหายของอุปกรณ์เพื่อทำเรื่องฟ้องร้องต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอรมน.ต่อไป และในขั้นตอนต่อไปทางคณะอนุกรรมาธิการได้ลงมติความเห็นในการสืบหาผู้บัญชาการในเหตุการณ์นั้นเพื่อให้มาชี้แจงต่อไป
 
อนึ่งในการประชุมดังกล่าวได้มีการนัดหมายให้นายธนวัฒน์ บุระคร ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว DNN และนายธรรมสถิต พลแก้ว จากสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ มาให้การชี้แจงด้วย แต่นายธรรมสถิต ไม่สามารถมาให้ข้อมูลได้เพราะต้องติดตามทำข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนผู้สื่อข่าวของ DNN นั้นได้ทำหนังสือชี้แจงมายังคณะกรรมาธิการว่าไม่สามารถมาร่วมประชุมได้เนื่องจากสำนักข่าวไม่อนุญาตให้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการ ซึ่งในกรณีนี้กรรมาธิการจะพิจารณาต่อไปว่าสำนักข่าวมีอำนาจไม่อนุญาตหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท