Skip to main content
sharethis

หมอชนบทเคลื่อนไหวเตรียมข้อมูลผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลไม่เพิ่มงบเหมาจ่ายระบบบัตรทอง 3 ปี แต่กลับเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ รพ.ในพื้นที่ จะทำให้ระบบบริการสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของไทยที่เคยเข้มแข็ง เสียหายครั้งใหญ่ นัดเข้าชี้แจง รมว.สาธารณสุข แต่ถูกปฏิเสธการเข้าพบ

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ  นักวิชาการในเครือข่ายหมอ รพ.ชุมชน และผู้อำนวยการ รพ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายแช่แข็งงบเหมาจ่ายรายหัว สปสช.เป็นเวลา 3 ปี ว่าจะทำให้ รพ.ของรัฐในชนบทหยุดการพัฒนาเพราะประสบปัญหารายรับลดลงรายจ่ายเพิ่มขึ้น คุณภาพการให้บริการแย่ลง ส่งผลให้คนพอมีเงินหนีไปใช้บริการ รพ.เอกชน ที่มีข่าวกลุ่มนายทุนกว้านซื้อไว้ทำกำไรในตลาดหุ้น เป็นนโยบายที่กระทบต่อชีวิตของผู้ป่วย  เรียกร้องให้ รมว. สาธารณสุขทบทวนนโยบายใหม่ก่อนที่จะเกิดความเสียหายจนแก้ไม่ได้

นพ.สุภัทร  กล่าวว่า ระบบสุขภาพไทยที่มีกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบนั้น ถูกรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร โดยการแนะนำของกุนซือการเมือง แช่แข็งอย่างเงียบๆ ด้วยการไม่เพิ่มงบในระบบหลักประกันสุขภาพเป็นเวลา 3 ปี ทั้งๆ ที่ รพ.ของรัฐในพื้นที่มีรายจ่ายเพิ่ม เงินเดือนเพิ่ม ภาระผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่รัฐบาลแช่แข็งงบประมาณระบบสุขภาพภาครัฐนั้น รัฐบาลกลับมีนโยบายส่งเสริมการเติบโตของภาคเอกชนภายใต้นโยบายเมดิคอลฮับ หวังดึงดูดชาวต่างชาติระดับวีไอพีเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งกำลังส่งผลต่อการเกิดสมองไหลออกจากภาครัฐตามมา และนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบหลักตกกับประชาชน เมื่อคุณภาพบริการในโรงพยาบาลของรัฐลดลง บริการยังคงแออัด สถานพยาบาลดูซอมซ่อไม่ได้รับการพัฒนา คนชั้นกลางที่พอมีเงินก็เบื่อหน่ายและหันไปใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสิบปีจะถดถอยกลายเป็นระบบอนาถา

“หรือนี่คือเบื้องหลังความคิดที่แท้จริงของรัฐบาลที่มีนายทุนโรงพยาบาลเอกชนอยู่เบื้องหลัง และหากคุณภาพของโรงพยาบาลด้อยลงไปบ้างใน 3 ปีนี้ ขอประชาชนอย่ามาโทษโรงพยาบาล แต่ให้รู้ว่า ต้นเหตุเพราะรัฐบาลแช่แข็งระบบสาธารณสุขไทย” นพ.สุภัทรกล่าว

นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่า แพทย์และนักวิชาการที่ปฏิบัติงานให้บริการประชาชนอยู่ในพื้นที่ชนบทมีความวิตกห่วงใยถึงความเสียหายที่เกิดจากนโยบายเพิ่มรายจ่ายแต่แช่แข็งงบเหมาจ่ายรายหัวและงบลงทุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ตามโครงการเงินกู้ไทยเข้มแข็ง (DPL) ของรัฐบาล เพราะขณะนี้เริ่มมี รพ.หลายแห่งที่ประสบปัญหาทางการเงิน และขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น รพ.บางแห่งไม่มีเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองใช้ เพราะเครื่องเดิมหมดอายุใช้งานไม่ได้ และทางชมรมได้ติดตามรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบบริการสาธารณสุขและระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เพื่อขอเข้าพบ นพ.ประดิษฐ์  สินธวณรงค์  รมว.สาธารณสุข เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาเพราะเห็นว่าเป็น รมว.ใหม่ เป็นความหวังที่จะทบทวนนโยบายใหม่ แต่ทุกคนผิดหวังที่ รมว.สาธารณสุขปฏิเสธไม่มีเวลาให้กับหมอที่ทำงานอยู่ในชนบทเข้าพบ 

“พวกเราไม่เข้าใจว่าทีเรื่องความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับระบบบริการกระทบกับผู้ป่วยโดยตรง รมว.สาธารณสุขกลับไม่มีเวลา แต่สนใจจะให้ตั้งรองเลขาธิการ สปสช.เพิ่มจากคนภายนอกให้ได้เพื่อดูแลการบริหารเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และบอกในหลายเวทีว่าจะยุบกองทุนย่อยของ สปสช. ที่เป็นเครื่องมือสำคัญทำให้ผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น มะเร็ง ไตวาย เอดส์ โรคหัวใจเข้าถึงบริการได้ ทุกคนกำลังเป็นห่วงถึงความเสียหายที่จะเกิดกับระบบบริการสาธารณสุขของไทยและติดตามว่าเป็นเรื่องทุจริตเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเอกชนหรือไม่” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net