'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: คำแนะนำผู้ต่อต้าน 'ระบอบทักกี้' คิดปฏิรูปอำนาจดีกว่า

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปุจฉา: การรณรงค์คัดค้าน TPP ของกลุ่ม FTA Watch จะลงเอยอย่างไร

วิสัชฮา: ชะตากรรมถูกกำหนดไว้แล้ว แพ้ย่อยยับ เพราะอีกสักพัก พรรคประชาธิปัตย์ 40 ส.ว. รสนา โตสิตระกูล กลุ่มกรีน TDRI และสื่อ ฯลฯ จะออกมาช่วยฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ฟ้องศาลปกครอง ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

อ๊ะ อ๊ะ พูดแบบนี้ไม่ใช่ผมแช่ง FTA Watch นะครับ ผมเชียร์ต่างหาก แต่ผมกลัวมั่กๆ ว่าถ้าประเด็นการต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรยา-พันธุ์พืช กลายเป็นเรื่อง “สลิ่ม แมลงสาบ” จ้องล้มรัฐบาลละก็ FTA Watch จะแพ้ทั้งกระดาน

ซึ่งมันมีแนวโน้มว่าจะเป็นอย่างนั้นเสียด้วย

ลำพัง FTA Watch ก็เหนื่อยหนักอยู่แล้ว เพราะภาพลักษณ์ NGO “ตะบี้ตะบันค้านทุกเรื่อง” เสียหายหนักมาจากยุคพี่เปี๊ยก-ยะใส-อ.สมเกียรติ-บรรจง นะแส นำใส่เสื้อเหลืองชูอุดมการณ์ราชาชาตินิยมยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน แม้ NGO บางคนเป็นแดง ก็ถูกตีขลุมไปด้วย ทำให้การคัดค้านโครงการของรัฐบางเรื่องไม่มีพลังเท่าที่ควร

ยกตัวอย่าง แก่งเสือเต้น เขื่อนแม่วงศ์ พวกที่ออกมาเคลื่อนไหวที่จริงเป็น NGO แดงอยู่หลายคน แต่ก็ปลุกกระแสไม่ขึ้น มีคนเล่าว่าที่จริงชาวบ้านแก่งเสือเต้นก็เป็นแดงเสียส่วนใหญ่ แต่ NGO ในพื้นที่ดันเป็นเหลือง (ยุ่งอิ๊บอ๋าย)

ผมมี “เพื่อน” ใน fb รายหนึ่งเป็น NGO สายงี่เง่า โพสต์ต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้นสลับกับเชียร์ม็อบแช่แข็ง (และโหนสถาบัน) นี่มันโจ๊กชัดๆ อะไรจะสับสนกับชีวิตขนาดนั้น อุดมการณ์ NGO สอนให้ต่อสู้เพื่อชาวบ้านมีอำนาจตัดสินใจเลือกวิถีชีวิตของเขาเอง แต่พอเขาตัดสินใจเลือกทักษิณ NGO ก็โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยง เลิกสนับสนุนประชาธิปไตยหันไปเห็นด้วยกับการแช่แข็งประเทศไทย ปกครองโดยคณะบุคคล หรือเพ้อเจ้อว่าในคณะบุคคลนั้นจะมีหมอประเวศอยู่ด้วย

ลืมแล้วหรือว่ารัฐบาลสุรยุทธ์ แม้ทำ CL ยาเป็นเรื่องดี แต่ก็เซ็น FTA กับญี่ปุ่น และกลับไปปิดเขื่อนปากมูล ทั้งที่ตกลงกันได้แล้วในยุคทักษิณ

แต่ทำไงได้ ถึงจะเซ็งพวก NGO งี่เง่าเพียงไร ผมก็ค้านเขื่อนและ TPP อยู่ดี ที่บอกว่าค้านไม่ใช่เราต้องปิดประเทศ ยังไงไทยก็ต้องเข้า TPP เพียงแต่อย่าผลีผลาม ยอมเขาหมด เจรจาเสียเปรียบ “กลัวตกรถไฟ” ซึ่งพวกเชียร์ TPP อ้างเสมอ ทั้งที่ความจริงประเทศต่างๆ ก็กำลังเจรจาต่อรองอย่างเคร่งเครียด ไม่มีใครเขายอมเป็นหมูในอวยหรอก (โดยเฉพาะเมื่ออเมริกามองว่าเราเป็นจุดยุทธศาสตร์ต่อต้านจีน อเมริกาต่างหากที่อยากง้อเรา)

ปัญหาคือฝ่ายแดงระยะหลังๆ เซ็ง NGO มากๆ ก็ไม่ค่อยฟังคำอธิบาย เช่นเรื่องสิทธิบัตรยา ชอบพูดกันว่าเขาคิดค้นมา เป็นลิขสิทธิ์ของเขา เราก็ควรจ่าย ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ปัญหาของสิทธิบัตรยาที่ FTA Watch ต่อต้านคือมันมีหลายประเด็นที่ไม่เป็นธรรม ถ้าเขาคิดค้นยามา เราต้องจ่าย 10 ปี 20 ปี ตรงไปตรงมาก็ไม่ว่ากัน แต่บริษัทยามีเล่ห์ร้ายในการผูกขาด เช่น สิทธิบัตร 7 ชั่วโคตร ครบ 20 ปีไปเปลี่ยนส่วนประกอบนิดๆ หน่อยๆ แล้วจดสิทธิบัตรต่อ หรือบางเรื่องเช่นสิทธิบัตรพันธุ์พืช มันคว้าเอาภูมิปัญญาบรรพบุรุษเรา เช่นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ไปตัดแต่งพันธุกรรมเพิ่มรสเพิ่มกลิ่นหน่อย ก็ผูกขาดเรียบร้อย

แต่การรณรงค์เรื่องนี้ต้องระวัง เพราะถ้ากลายเป็นการเมืองเรื่องเสื้อสีเมื่อไหร่ ก็ฉิบหายเมื่อนั้น

ประเด็นที่ต้องพูดกันจริงจังคือ ถึงเวลาหรือยัง ที่พวกต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” โดยหวังพึ่งรัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ อำนาจพิเศษ จะตระหนักว่าสู้ไปก็มีแต่แพ้กับแพ้ ไม่ใช่แพ้แค่ตัวเอง แต่เข้าวงไหนฉิบหายหมด

ยอมจำนนไม่ฆ่า! วางอาวุธไม่ฆ่า! เอ๊ย ไม่ใช่ (ฮา) หันกลับมาสู้กันในวิถีประชาธิปไตยดีกว่าไหม นี่ไม่ใช่หลอกมาสู้กันในการเลือกตั้ง เพราะเลือกตั้งยังไงก็แพ้ทักษิณ แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง (พวกคุณก็พูดกันบ่อยจัง) มีหนทางไหมที่จะพัฒนาประชาธิปไตยไปสู่การลดอำนาจรัฐ พร้อมๆ กับขจัดอำนาจอำมาตย์ แต่มุ่งไปสู่การกระจายอำนาจ ให้ประชาชน ให้ท้องถิ่น มีอำนาจตัดสินใจ มีอำนาจจัดการตัวเองมากขึ้น

เอ้า ยกตัวอย่างง่ายๆ พรรคประชาธิปัตย์ เลือกตั้งยังไงก็แพ้ทักษิณ จะมัวดันทุรังร่วมมือกับรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ล้มรัฐบาลอยู่อย่างนี้หรือ จะหากินกับการปลุกความเกลียดชังอยู่อย่างนี้หรือ (ถ้าปลุกแล้วคนเกลียดทักษิณมากกว่าก็ยังพอทำเนา นี่ปลุกแล้วคนเกลียด ปชป.ดันมีจำนวนมากกว่า ยังไม่รู้สำนึก)

พรรคประชาธิปัตย์ควรคิดว่า ยังไงก็แพ้เลือกตั้งอีก 20 ปีจะไปทำอะไรกิน คำตอบในระบอบนี้คือคุณต้องต่อสู้ผลักดันให้ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่นมากขึ้น คุณจะได้ “แบ่งแยกภาคใต้ไปปกครอง” อย่างถูกต้องตามระบอบ เป็นนายก อบจ.นายก อบต.นายกเทศมนตรีกันไป ได้เป็นนายกฯ เหมือนกันนั่นแหละ ไม่ต้องมารอเหงือกแห้งแย่งเก้าอี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ฮิฮิ แต่ทำไงให้ อปท.มีอำนาจมากขึ้น เช่น งบประมาณการศึกษา สาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค ตัดแบ่งไปเลย ตามจำนวนประชากร การไฟฟ้าภูมิภาค การประปาภูมิภาค ฯลฯ ไม่ต้องมีแล้ว เป็นไฟฟ้าจังหวัด ประปาจังหวัด หรือไฟฟ้าอำเภอ ไฟฟ้าเทศบาล ราชการส่วนภูมิภาคที่ไม่จำเป็นก็ยุบเสีย เหลือผู้ว่าฯ ไว้เหมือนผู้ตรวจการ มีตำรวจท้องถิ่น ตำรวจจังหวัด แต่มีสอบสวนกลาง DSI ไว้ตรวจสอบถ่วงดุลกัน

ด้าน NGO ก็ต้องคิดเรื่องกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ เหมือนอย่างที่เกษียร เตชะพีระ เขียนไว้ในเรื่อง “ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน” นั่นแหละ ขอยกเกษียรมาทั้งดุ้นเพราะเขียนใหม่ก็ไม่ชัดเจนเท่าเกษียร

“มองกว้างออกไป ผมคิดว่ากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะ (public policy-making process) ของเรามีปัญหา คือมันหลุดจากระบบราชการ/เทคโนแครตในสมัยเผด็จการทหารแต่ก่อน แล้วมาหล่นตุ้บบนหน้าตักนักการเมืองจากการเลือกตั้งในสมัยประชาธิปไตย โดยเฉพาะหลังรัฐบาลทักษิณ ณ ไทยรักไทย เป็นต้นมา พวกเขา (รัฐบาล/รัฐสภาเสียงข้างมาก) ก็ใช้อำนาจเลือกตั้งผูกขาดมันไปมาก ทำให้กระบวนการนโยบายเป็นแบบอำนาจนิยม ไม่เปิดกว้างออกให้แก่กลุ่มผลประโยชน์ และแนวคิดต่างๆ อันหลากหลายในสังคม อันนี้ยุ่งมาก เพราะทำให้กลุ่มผลประโยชน์และแนวคิดต่างๆ กลายเป็นแนวร่วมหรือเข้าไปยืมมือฝ่ายขวาจัดการต่อต้านประชาธิปไตยโดยปริยาย รวมทั้งไปวิ่งเต้นหาใช้ช่องทางผลักดันนโยบายทางอื่นอย่างสับสนอลหม่านไปหมด คือดึงสถาบันการเมืองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายโดยตรง มาเป็นเครื่องมือเวทีต่อสู้เชิงนโยบาย เช่น ยื่นฟ้องร้องนโยบายเรื่องจำนำข้าวและสัมปทาน 3 จี กับศาลปกครองบ้าง ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง, หรือสถาบันวิจัยนโยบายอย่าง TDRI นับวันก็เสริมขยายบทบาทเชิงผลักดัน/ต่อต้านนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลโดดเด่นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้ระบบปั่นป่วนผิดฝาผิดตัว แทนที่ศาลจะทำงานด้านตุลาการ ศาลต่างๆ กลับกลายเป็นสถาบันวีโต้นโยบายฝ่ายบริหาร หรือสถาบันวิจัยเชิงวิชาการก็กลับกลายเป็น policy lobbyist ไปเสียฉิบ

ในระยะยาวแล้วคงต้องปรับกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะเสียใหม่ หาทางเปิดกว้างกระบวนการออกไปให้หลายกลุ่มหลากแนวคิดเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะใช้อำนาจเลือกตั้งเสียงข้างมากเขี่ยกลุ่มอื่นออกหมด รังแต่จะขัดแย้งยุ่งยากลุกลามออกไปนอกระเบียบสถาบันที่ควรจะเป็น”

สิ่งที่เกษียรพูดคือการเตือนสติ “ผู้ชนะ” ได้แก่รัฐบาล พรรคเพื่อไทย เสื้อแดง ว่าสังคมประชาธิปไตยจะต้องเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างสามารถแสดงบทบาทในระบอบ สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ คนเห็นต่างนี้ไม่ใช่เฉพาะพวกแช่แข็งที่ดิ้นพล่านเหมือนเสียสติ แต่ต้องคำนึงถึงคนที่ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็มีสิบกว่าล้าน พลังเงียบอีกสิบกว่าล้าน ส่วนพวกดิ้นพล่านที่คุยว่ามีเป็นล้าน ถ้าสงบสติอารมณ์ได้ก็เข้าสู่กระบวนการบำบัด เอ๊ย เข้ามาร่วมมีบทบาทในระบอบ ถ้าใครไม่ไหวจริงๆ ค่อยปล่อยเข้าป่าตั้งสำนักสงฆ์สาขาสันติอโศกไป

แต่ที่ผมยกมาก็เพื่อเตือนสติ “ผู้แพ้” ว่าคุณจะเอาแต่แพ้ซ้ำซาก พ่ายแพ้แล้วสู้ใหม่ๆ จนแพ้ไม่นับ อย่างนั้นหรือ ถ้าได้สติว่าท้ายที่สุดแล้วต้องยอมอยู่กับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คุณก็ต้องหาช่องทางว่าอยู่ยังไง ให้มีบทบาท ให้คานอำนาจได้ ไม่ใช่อะไรๆ ก็ทำตัวเป็นลูกอีช่างฟ้อง จ้องล้มรัฐบาลทุกเรื่อง ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้ศูนย์

สู่ประชาธิปไตยทางตรง ฮิฮิ
ผมเพิ่งคุยกับเพื่อนเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ว่าแก้รายมาตราถึงไม่เป็นไปตามหลักวิชาก็มีข้อดี เพราะสังคมไทยไม่ชอบเรียนหนังสือทั้งเล่ม การยกเอามาถกทีละประเด็นผู้คนจะเข้าใจง่ายกว่า เช่น วุฒิสมาชิกต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อนซึ่งเห็นด้วยกับพันธมิตรบางเรื่องก็แย้งว่าเลือกตั้งมันก็ซื้อเสียงสิ ทำไมไม่เอาจากกลุ่มอาชีพ

ผมบอกว่ากลุ่มอาชีพมันเป็นตัวแทนตรงไหน ส.ว.สรรหาที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพจริง ยกตัวอย่างนายห้างน้ำมันเครื่องเวลลอย เป็น ส.ว.สรรหาสายวิชาการ ฮาโคตร ฝีมือกรรมการสรรหาจากองค์กรเทวดาทั้งหลาย

ยังไงก็ต้องเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง และเมื่อมีการเลือกตั้งจะไปไล่จับซื้อเสียงก็เปล่าประโยชน์ ด้านหนึ่งทำอย่างไรให้การเลือกตั้งมีความหมายโดยตรงต่อชะตาชีวิตประชาชน เขาจึงจะเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งมากกว่าเงิน อีกด้านหนึ่งทำอย่างไรไม่ให้การเลือกตั้งนำมาซึ่งอำนาจที่มากเกินไป หรือทำให้มีการคานอำนาจ แต่ไม่ใช่คานอำนาจจากการเลือกตั้งด้วยอำนาจจากการแต่งตั้ง ต้องทำให้เลือกตั้งซ้อนเลือกตั้งซ้อนเลือกตั้งเข้าไว้ ตัวอย่างเช่นอเมริกา โอบามาชนะประธานาธิบดี แต่รีพับลิกันก็ยังชนะในสภาคองเกรส รีพับลิกันก็ยังเป็นผู้ว่าการรัฐ นายกเทศมนตรี หรือนายอำเภอ ตามรัฐและเมืองต่างๆ ทำอย่างไรจะศึกษาระบบของเขามาดัดแปลงใช้กับเราได้บ้าง

ยกตัวอย่าง เลือกตั้ง ส.ว.ครั้งแรกทำไมไม่ค่อยมีซื้อเสียง อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล, ทองใบ ทองเปาด์, เตือนใจ ดีเทศน์, ลุงแคล้ว นรปติ, พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ได้รับเลือกมาจากต่างจังหวัด ดงซื้อเสียงทั้งนั้น ไม่ใช่เพราะนักการเมืองกลัว กกต.แต่เพราะตอนนั้นนักการเมืองยังไม่ตระหนักถึงอำนาจขององค์กรอิสระ ยังมองไม่เห็นอำนาจ ส.ว. แต่พอทักษิณเห็นว่า ปปช.ศาลรัฐธรรมนูญ แม่-เกือบจะถอดถอนกรูได้ กกต.แจกใบเหลืองใบแดงเป็นเบือ ทักษิณก็พยายามเข้าไปแทรกองค์กรอิสระ จนเกิด กกต.ชุด “สามหนา” เลือก ส.ว.ครั้งต่อมาก็เป็นสภาผัวเมีย ครั้นเกิดรัฐประหาร พวกตุลาการภิวัตน์ก็ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ยึดองค์กรอิสระไปครอง เพื่อเอาไว้ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ตัวเองไม่ต้องการ

ถามว่าถ้า กกต.ไทยไม่มีอำนาจแจกใบแดง ไม่เป็นมหาดไทย 2 ขยายอาณาจักรใหญ่โต มีอาณาจักรให้ปกครอง มีลูกน้อง มีเลขา มีรถประจำตำแหน่ง ฯลฯ ถ้า กกต.ไทยเป็นอย่าง กกต.อินเดียต้นฉบับที่เราลอกเขามา มีเจ้าหน้าที่แค่สิบกว่าคน มีอำนาจแค่สั่งเลือกตั้งใหม่ มันจะมีใครอยากแทรกแซง กกต.ไหม มันจะมีใครอยากยึด กกต.ไหม ในทางกลับกัน กกต.จะมีโอกาสเป็นกลางได้อย่างเป็นจริง กว่าการมีอำนาจมากๆ

ถามว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจแค่ตีความกฎหมายว่าขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่มีอำนาจยุบพรรค ไม่ต้องตีความคุณสมบัติหยุมหยิม เราจะต้องมากังวลทำไม ว่าเลือกใครเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลจะกลายเป็นองค์กรพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่ข้ามมามีอำนาจกระทั่งยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

อำนาจเป็นพิษอยู่ในตัวของมัน ยิ่งมีอำนาจมาก ยิ่งให้อำนาจศักดิ์สิทธิ ยิ่งยากจะรักษาความเที่ยงธรรม ถ้าคิดแบบจารีตนิยม คืออำนาจนั้นต้องให้ “คนดี” มาใช้ แต่คิดแบบประชาธิปไตย คือเราทุกคนเป็นมนุษย์ กินปี้ขี้นอนอยู่ในสังคมทุนนิยม ที่แตะตรงไหนก็เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน จึงต้องไม่ให้มีใครมีอำนาจมากเกินไป ต้องกระจายอำนาจไปให้องคาพยพต่างๆ ของสังคมสามารถถ่วงดุลกัน คานกันไว้

รัฐไทยมีลักษณะสมบูรณาญาสิทธิ เพราะระบบบริหารราชการแผ่นดินตกทอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งมันเหมาะกับร้อยกว่าปีก่อน แต่ไม่เหมาะกับรัฐประชาธิปไตย พอตกทอดมาถึงนักการเมือง มันก็เป็นระบอบที่ใครชนะเลือกตั้งคนนั้นกินรวบ  กระบวนการนโยบายจึงเป็นแบบอำนาจนิยม โดยเฉพาะในยุคทักษิณ อย่างเกษียรว่า

ทำอย่างไรจะ “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” อย่าถามผม นี่ไม่ใช่ศัพท์ผม พวก NGO นักเคลื่อนไหวพูดไว้ก่อนไปสนับสนุนรัฐประหาร หมอประเวศก็ขายฝัน “ประชาธิปไตยทางตรง” แต่เอาเข้าจริงนำสาวกเข้าข้างการยึดอำนาจรัฐด้วยปากกระบอกปืน

รัฐธรรมนูญ 2540 เพิ่งสนับสนุนการกระจายอำนาจ (ก็มีอิทธิพลหมอประเวศด้วย ไม่ปฏิเสธ) ให้กำเนิด อปท.และการเลือกตั้งระดับต่างๆ ซึ่งงานวิจัยของนักวิชาการประชาธิปไตย กลุ่ม อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อ.อภิชาต สถิตนิรามัย อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ฯลฯ ชี้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนชนบทตื่นตัว จนกลายเป็นมวลชนเสื้อแดง

เพียงแต่การกระจายอำนาจของเราเพิ่งเริ่ม ยังมีจุดอ่อนช่องโหว่เยอะ ทำอย่างไรจะคิดวางกลไกเสริม คาน ถ่วงดุล ให้เข้มแข็ง ไม่แปลกหรอกที่เลือกนายก อบจ. จะได้กลุ่มการเมืองทุนท้องถิ่น เนวินต้องชนะเลือกตั้งบุรีรัมย์วันยังค่ำ แต่ยังไงพวกเขาก็ต้องดำเนินนโยบายเอาใจประชาชนหลังบ้านตัวเอง เพียงต้องคิดว่าจะวางหลักเกณฑ์อย่างไรให้ตรวจสอบถ่วงดุลได้ ให้ราชการท้องถิ่นมีระบบแต่งตั้งโยกย้ายให้ความดีความชอบที่เป็นธรรม ทำอย่างไรไม่ให้ชนะนายก อบจ.แล้วกินรวบ กำหนดกระบวนการตัดสินใจที่ฝ่ายต่างๆ มีส่วนร่วม มีการแบ่งแยกอำนาจ คานอำนาจระหว่างนายก อบจ. นายกเทศมนตรี นายก อบต.

คนกรุงคนชั้นกลางมักมอง อปท.ทางลบ ผมว่ามันเป็นแค่ระยะเริ่มต้น พอกระจายอำนาจมาระยะหนึ่ง องค์กรปกครองที่ใกล้ชิดชาวบ้านก็ต้องปรับตัว ลองดูน้ำท่วมใหญ่ปี 54 สิครับ พระเอกที่ดูแลชาวบ้านคือ อปท.

โอเค อบจ.ยังมีปัญหาอยู่ เพราะเขตใหญ่ ผู้ชนะเลือกตั้งคือผู้ที่สามารถผนึกกลุ่มทุนท้องถิ่นหลากหลายกลุ่มเข้าด้วยกัน และยังห่างตัวชาวบ้าน ไม่เหมือนนายกเทศมนตรี นายก อบต. ดีๆ ชั่วๆ ซื้อเสียงไหม โกงกินอย่างไร โกงบ้างแล้วทำงาน หรือโกงอย่างเดียวไม่ทำงาน หรือไม่โกงแต่ซื่อบื้อไร้ความสามารถ ชาวบ้านเขารู้จักกันหมด (คุณสมบัติที่เป็นจริง อย่ามาโทษชาวบ้านโง่เลือกคนโกง)

ปัญหาของการกระจายอำนาจที่ผ่านมาก็คืออำนาจไปหล่นตุ้บหน้าตักผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการ หรือนายก อปท.สมัยทักกี้มีผู้ว่า CEO แต่ก็ยังเหมือนเจ้าเมือง ระบบราชการยังเป็นเจ้าขุนมูลนาย ผอ.ยังล่อลูกน้องใน “แรงเงา” การกระจายอำนาจในระบบราชการ จึงต้องวางกลไกประชาธิปไตยในหน่วยงานควบคู่กัน การกระจายอำนาจให้ อปท.ก็ต้องให้อำนาจตัดสินใจบางอย่างลงไปถึงชุมชนหรือประชาชนโดยตรง

ปัญหาของประชาธิปไตยไทย หรืออาจรวมประเทศเอเชียทั้งหลาย ที่มี “วัฒนธรรมแบบเอเชีย” คือเราไม่มีรากฐานของชุมชนปกครองตัวเอง

ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่ต้องมีการศึกษาสูง หรือมีฐานะก่อน จึงจะเป็นประชาธิปไตย อเมริกาเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยคาวบอยพกปืนต้อนวัวอ่านหนังสือไม่ออกสักตัว อเมริกันชนมาจากผู้อพยพ ไปหักร้างถางพง สร้างชุมชนที่ต้องพึ่งพากัน ต้องเลือกนายอำเภอ เลือกผู้พิพากษา มาปกครองกันเอง จากนั้นจึงรวมเป็นรัฐ เป็นประเทศ ขณะที่เมืองไทยถ้ายังยึดติดวัฒนธรรม “พ่อปกครองลูก” ให้จบดอกเตอร์ทั้งประเทศก็ไม่มีวันเป็นประชาธิปไตย

แน่นอนที่พอรากฐานเป็นอย่างนี้ การกระจายอำนาจจึงยากเย็นแสนเข็ญ แต่ถ้าไม่กระจาย ประชาชนก็ไม่เติบโต (เป็นเสื้อแดง-ฮา) ไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนได้มาจากการจับประชาชนเข้าโรงเรียนแช่แข็ง กระจายอำนาจยากแน่ แต่ก็อยู่ที่การใช้หัวคิดออกแบบ ผมไม่ใช่นักวิชาการรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องลดอำนาจรัฐ กระจายอำนาจให้ประชาชน ก็มองได้แค่นี้ แต่อย่างที่บอก นักเคลื่อนไหว นักวิชาการรัฐศาสตร์ หันไปสนับสนุนการรวมศูนย์อำนาจโดยอำมาตย์หมด 6 ปีที่ผ่านมา เลยไม่มีใครพูดเรื่องนี้แล้ว มีแต่ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง กับเพื่อนพ้องหยิบมือที่ผลักดัน “เชียงใหม่จัดการตนเอง”

ผมรู้ว่าพูดเรื่องนี้ไป พี่น้องเอ๊ยก็ไม่มีใครฟัง เพราะยังเพ้อฝันว่าจะล้มรัฐบาลได้อยู่ ฮ่ะๆๆๆ ขอพักหัวเราะจนท้องแข็ง ไม่มีใครสามารถนำประเทศไทยไปสู่ระบอบที่ไม่มีการเลือกตั้ง และเลือกตั้งยังไงก็แพ้ทักษิณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพี่น้องเอ๊ย สลิ่ม แมลงสาบ ทำให้การ “ล้มระบอบทักษิณ” เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ “ล้มระบอบประชาธิปไตย” ก็บีบให้ผู้รักประชาธิปไตย ตลอดจนกระแสรักสงบ จำต้องปกป้องรัฐบาล ทั้งที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบนักการเมือง คัดค้านการตัดสินใจหลายเรื่องที่ก่อปัญหาให้สังคม

ใครจะดันทุรังต่อก็ตามใจ แพ้ซ้ำซากแล้วจะเปิดเปิงไปไหนก็ตามแต่ ผมเพียงอยากเตือนว่าโอกาสดีที่สุดที่จะทำเรื่องลดอำนาจกระจายอำนาจ ก็คือเวทีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องเกิดขึ้นแน่ ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือรายมาตรา ใครอยากไปตะโกนอยู่วงนอกว่าแก้เพื่อทักษิณ แก้เพื่อคนคนเดียว จ้องล้มเจ้า ฯลฯ เอาแต่ป่วน ก็ตามใจ แต่ใครอยากมีส่วนร่วมพัฒนาประชาธิปไตย นี่คือโอกาสกลับตัวกลับใจ กลับมาต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ในวิถีประชาธิปไตย

 

                                                  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท