Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เตรียมจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี 2555 เพื่อมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประจำปี 2555  และเพื่อรณรงค์เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชน โดยใช้หัวข้อในการจัดงานครั้งนี้ว่า  “เมื่อถูกละเมิดสิทธิ ความจริงต้องปรากฏ” ในวันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม  2555  ตั้งแต่เวลา 8.30 - 14.15 ณ  ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี)  ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ  กรุงเทพมหานคร

โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย  การปาฐกถาพิเศษโดย พระมหาวุฒิชัย  วชิรเมธี   การมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น  ประจำปี 2555  การแสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน  การเสวนา เรื่อง “เมื่อถูกละเมิดสิทธิ ความจริงต้องปรากฏ งดย่ำยีผู้เสียหาย”  การแข่งขันโต้สาระวาทีภาษาไทยระดับอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนรอบชิงชนะเลิศ  และการจัดนิทรรศการของหน่วยงานและองค์กรเครือข่าย 

สำหรับผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศ และผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่น ด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2555 ได้แก่

รางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน”
บุคคลชาย ได้แก่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี
บุคคลหญิง ได้แก่
1) แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
2) นางสายสุรี จุติกุล

บุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2555
1. ประเภทบุคคลชาย ได้แก่ นายวีระ สมความคิด
2. ประเภทบุคคลหญิง ได้แก่ นางสาวอรุณี ศรีโต
3. ประเภทเด็กและเยาวชนชาย ได้แก่ นายพีรพล บงค์บุตร
4. ประเภทเด็กและเยาวชนหญิง ได้แก่ นางสาวมินตรา จันทร์นวล
5. ประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชน ได้แก่ นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์
6. ประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนชาย ได้แก่ นายเสด็จ เขียวแดง
7. ประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนหญิง ได้แก่ นางเกษร ศรีอุทิศ
8. ประเภทองค์กรภาครัฐ ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านกลาง จังหวัดลำพูน
9. ประเภทองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
10. ประเภทองค์กรสื่อสารมวลชนหรือรายการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สถาบันอิศรา

 


   
ต่อมา เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเผยแพร่ข่าวการจัดงานดังกล่าว โดยอธิบายเหตุผลประกอบการมอบรางวัล ดังนี้

รางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน”
รางวัลเกียรติยศ บุคคลชาย จำนวน 1 คน ได้แก่

1) พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี

               พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2530 ณ พัทธสีมาวัดครึ่งใต้ ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ต่อมาได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ณ  พัทธสีมาวัดครึ่งใต้ ปัจจุบันพระมหาวุฒิชัยจำพรรษาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพมหานคร การศึกษา สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค  เมื่อปี 2543 ได้รับปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2543 และพุทธศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี 2546

               พระมหาวุฒิชัย เป็นอาจารย์พิเศษและบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาให้แก่หน่วยงานและมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยหลายแห่ง เป็นประธานกลุ่มธรรมะการ์ตูน ซึ่งผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น ชุด “พุทธประวัติ” เพื่อทูลเกล้าในมงคลวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา  เป็นผู้เขียนตำราหมวดวิชาพระพุทธศาสนาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ นิตยสารรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิมุตตยาลัย ภายใต้หลักการ "พุทธศาสนาเพื่อสันติภาพโลก"  จัดทำเว็บไซต์ www.dhammatoday.com เพื่อเป็นวัดออนไลน์ในโลกเสมือนจริงทางอินเทอร์เน็ต และสื่อทางอินเทอร์เน็ต  พระมหาวุฒิชัยเป็นผู้ที่เชื่อมโยงหลักธรรมคำสอนกับงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการหลักการการสร้างสันติให้ประชาชนอยู่อย่างเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน  จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

รางวัลเกียรติยศ บุคคลหญิง จำนวน 2 คน ได้แก่

1) คุณหญิงพรทิพย์  โรจนสุนันท์

         คุณหญิงพรทิพย์  โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม  เป็นคนกรุงเทพมหานคร  เป็นผู้นำหลักวิทยาศาสตร์ การตรวจดีเอ็นเอ มาคลี่คลายคดี รวมทั้งตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ของครอบครัว เพื่อการปกป้องหรือใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ด้วยมิติสิทธิมนุษยชน  ให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองสิทธิอย่างเสมอภาคตามหลักสิทธิมนุษยชน  ซึ่งในหลายคดีเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การพิสูจน์สารพันธุกรรมเพื่อหาความสัมพันธ์ทางครอบครัว การพิสูจน์บุคคลสูญหายและศพนิรนาม  เป็นผู้ริเริ่มการจัดทำฐาน ข้อมูลสารพันธุกรรมชาติ  ข้อมูลดีเอ็นเอ ฐานข้อมูลผู้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้ง ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและวุฒิสภา จัดทำโครงการตรวจหาสารทางพันธุกรรมของผู้ไร้สัญชาติ เพื่อยืนยันความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับผู้มีสัญชาติไทย การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลในกรณีศพนิรนามที่ถูกส่งมาจากพนักงานสอบสวนรวมทั้ง สามารถติดตามหาญาติในกรณีศพนิรนามช่วงสงครามยาเสพติดปี 2546 ได้หลายราย การจัดทำระบบการติดตามคนหายและศพ   นิรนาม โดยจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายและระบบพิสูจน์ศพนิรนาม มีการพัฒนาระบบการตรวจพิสูจน์ศพนิรนามด้วยทีมงานที่มีองค์ความรู้โดยอ้างอิง ตามมาตรฐานสากล จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

2) รองศาสตราจารย์ ดร. สายสุรี จุติกุล

อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   อดีตกรรมาธิการ สหประชาชาติว่าด้วยสถานภาพสตรี (UN Commission of the Status of Women)  เป็นผู้เชี่ยวชาญงานด้านเด็กและสตรี เป็นผู้ริเริ่มรณรงค์และผลักดันคณะรัฐมนตรียกเลิก ปร.ฉบับที่ 337 ตลอดจนการออกพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 ให้บุตรที่เกิดแก่สตรีไทยที่สมรสกับชาวต่างชาติได้รับสัญชาติไทย แก้ไขระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการสตรี ในประเด็นการลาคลอดบุตร โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้ลาคลอดได้ 90 วัน (จากเดิม 60 วัน) ผลักดันกระทรวงมหาดไทยให้มีการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานสตรีให้ขยายเวลา การลาคลอดของลูกจ้างหญิง รณรงค์และผลักดันเรื่องสิทธิเด็กให้รัฐบาลลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ และการลงนามในสัตยาบันเรื่องการพัฒนาเด็กของสหประชาชาติ ริเริ่มและดำเนินการให้กระทรวงศึกษาธิการให้เด็กไทยที่ไม่มีสูติบัตรและใบทะเบียนบ้านได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียน ประถมศึกษา และเด็กได้รับเอกสารหลักฐานการเรียนเพื่อให้สามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น เสนอคณะรัฐมนตรีให้ปี 2535 เป็นปีสตรีไทย และริเริ่มให้มีการจัดสรรงบประมาณแก่จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อการพัฒนาสตรีเนื่องในโอกาสปีสตรีไทย รณรงค์ให้ยุติการเที่ยวโสเภณีกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี   รณรงค์ให้บิดาและสามีมีส่วนร่วมในการอบรมเลี้ยงดูบุตรและงานของครอบครัว รณรงค์ให้มีการแก้กฎหมายปรามการค้าประเวณี โดยเฉพาะให้เพิ่มโทษแก่ผู้เที่ยว ผู้ค้า ผู้บังคับเด็ก และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการค้าเด็ก จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

1.  ประเภทบุคคลชาย ได้แก่ นายวีระ  สมความคิด

วีระ สมความคิด นักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้านการพัฒนาประชาธิปไตย เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น เป็นชาวกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน อายุ 55 ปี     เริ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปลาย  ในช่วงตุลาคม 2516  และจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ต้องหนีภัยการเมืองเข้าไปอยู่ในป่าได้อุปสมบทระยะหนึ่ง หลังจากออกจากป่าได้บวชเป็นเวลานานถึง 5 ปี เมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535  ได้ร่วมกับสมาพันธ์ประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ รสช. ขับไล่รัฐบาล จนถูกจับคุมขังเป็นเวลา 3 วัน และได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา  เมื่อปี 2539  ได้ร่วมก่อตั้ง “กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน” ขึ้น เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เนื่องจากเห็นว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจรัฐ  โดยไม่เคารพสิทธิคนและมีการทุจริต  และร่วมผลักดันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยเฉพาะมาตราที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้ อำนาจรัฐ  ซึ่งนายวีระฯ เป็นคนแรกที่ใช้กลไกดังกล่าวตรวจสอบนักการเมืองระดับสูง ที่แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เป็นเท็จ จนต้องยุติบทบาททางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี   นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งองค์กรภาคประชาชนในนาม “เครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชั่น” ได้ช่วยเหลือราชการตรวจสอบการคอรัปชั่นมากกว่า 1,500 เรื่อง สามารถป้องกันไม่ให้สูญเสียงบประมาณแผ่นดินได้จำนวนมาก เพราะถือว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

2.  ประเภทบุคคลหญิง ได้แก่ นางสาวอรุณี  ศรีโต

อรุณศรี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา  สตรีนักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน ปัจจุบันอายุ 59 ปี เป็นชาวพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  เริ่มทำงานที่ บริษัทไทยเกรียงสิ่งทอ จำกัด เมื่อปี 2514  และได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นผู้มีบทบาทนำในการรวมกลุ่มเรียกร้องกฎหมายกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ อรุณีได้เป็นผู้นำการเรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมายแรงงาน 2 เรื่องคือ กรณีให้นายจ้างเพิ่มค่าชดเชยให้แก่คนงาน ในกรณีถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และกรณีแรงงานหญิงให้มีสิทธิได้รับค่าจ้างในระหว่างลาคลอดบุตรได้ 90 วัน

เป็นแกนนำช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน กรณีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ ทำให้นายจ้างยอมจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิต การศึกษาของบุตร และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าทำขวัญ

อรุณีเป็นผู้จัดกลุ่มเพื่อฝึกอาชีพและระดมทุนช่วยเหลือแรงงาน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  เปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ในชุมชน จัดตั้งสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา เพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการรวมกลุ่มพึ่งตนเอง ส่งเสริมความเท่าเทียมและความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร สภาพแวดล้อม จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

3. ประเภทเด็กและเยาวชนชาย (อายุไม่เกิน 25 ปี) ได้แก่ นายพีรพล บงค์บุตร

พีรพล บงศ์บุตร  รองประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเลย ปัจจุบันอายุ 20 ปี เป็นชาวสกลนคร กำลังศึกษาอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาชีววิทยา ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พีรพลเป็นอาสาสมัครร่วมโครงการและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม พัฒนาเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ ปี 2551  

เป็นผู้มีความประพฤติดี มีภาวะผู้นำ มีจิตสาธารณะชอบช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี อนุรักษ์ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่รักของทุกคน มีบุคลิกภาพที่โดดเด่น กตัญญู ขยันขันแข็ง ช่วยเหลืองานครอบครัว ได้รับทุนเรียนดี ใฝ่หาความรู้ พีรพลเป็นผู้นำในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการรณรงค์ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความรู้สึกว่าเป็นสิทธิของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้ประหยัดไฟฟ้าและน้ำมัน ใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า ปลูกตันไม้  เป็นนักกิจกรรม ทำงานด้วยความเสียสละ อดทน มีความรับผิดชอบ รู้จักแบ่งเวลาอย่างคุ้มค่า จนได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลด้านต่างๆ จำนวนมาก  จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

4. ประเภทเด็กและเยาวชนหญิง(อายุไม่เกิน 25 ปี)ได้แก่ นางสาวมินตรา  จันทร์นวล

มินตรา จันทร์นวล ปัจจุบันอายุ 18 ปี เป็นชาวกาฬสินธุ์ กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา จังหวัดกาฬสินธุ์   ในระหว่างศึกษาได้ทำกิจกรรมต่างๆ อันเป็นประโยชน์ในด้านสิทธิมนุษยชน  เช่น เป็นเลขานุการศูนย์ยุติธรรมเยาวชน อำเภอ สหัสขันธ์ และเป็นประธานกลุ่มเยาวชนพลยุติธรรม โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา เป็นแกนนำเผยแพร่ความรู้ในเรื่องกฎหมาย สิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ชุมชนและนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายเยาวชนพลยุติธรรม

จากการเป็นแกนนำให้ความรู้เรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยมุ่งมั่นจนสำเร็จไปได้ด้วยดี จึงได้รับเกียรติบัตร ในระดับเหรียญทอง จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสสส.  ซึ่งโรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา เป็น 1 ใน 9 โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกในภาคตะวันตะวันออกเฉียงเหนือ  จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

5. ประเภทบุคคลภาคสื่อมวลชน ได้แก่ นางสาวณาตยา  แวววีรคุปต์

ณาตยา  แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย  (Thai PBS) เป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานด้านสื่อ อาทิ ผู้สื่อข่าว     ผู้ดำเนินรายการ และนักจัดรายการวิทยุ และยังเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง รวมไปถึงการเป็นผู้นำเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่

เป็นผู้มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนในฐานะสื่อมวลชน กล่าวคือ เป็นผู้ดำเนินรายการ “เวทีสาธารณะ” ของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ซึ่งเป็นรายการที่เปิดพื้นที่สาธารณะหน้าจอโทรทัศน์ ลักษณะ “เวทีของการร่วมคิด ร่วมขับเคลื่อนสังคม”  เพื่อคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม สนทนาสะท้อนสถานการณ์ เจาะลึกปัญหา สร้างความเข้าใจและแสวงหาทางออกร่วมกัน  รวมทั้ง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการขับเคลื่อนสังคมเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจาก ยังเป็นผู้ดำเนินรายการ “เสียงประชาชน เปลี่ยนประเทศไทย” ของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย  ซึ่งมุ่งเน้นนำเสนอประเด็นของกระแสทางเลือกของสังคมในทุกแง่มุมที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน จุดประกายและก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับผู้ชมทุกระดับไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันสังเคราะห์และวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ แม้ว่าบางเรื่องจะยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้สำเร็จ แต่อย่างน้อย ประชาชนก็ได้ส่งเสียงตั้งคำถามและแสดงออกถึงบทบาทในการเป็นผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดความเสมอภาคและความยุติธรรมขึ้น

จากการทำงานมาอย่างยาวนาน โดยการเปิดพื้นที่และให้โอกาสแก่กลุ่มคนต่างๆ ในสังคม ได้ส่งเสียงเรียกร้องถึงสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิด และร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ เพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอย่างยั่งยืน ทำให้นางสาวณาตยาฯมีผลงานประจักษ์แก่สาธารณชน

6. ประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนชาย ได้แก่  นายเสด็จ  เขียวแดง

เสด็จ เขียวแดง ปัจจุบันอายุ 63 ปี  เป็นประธานชุมชนโคราชคฤหาสน์ทอง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา  18 สมัย จนถึงปัจจุบัน บริหารงานหมู่บ้านเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนและหมู่บ้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน การจัดทำทะเบียนหมู่บ้าน การเก็บเงินสวัสดิการ เป็นเวลา 25 ปี โดยไม่มีเงินเดือน ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ เป็นผู้มีความคิดว่า การทำงานเพื่อบ้านเมือง หากได้เริ่มในชุมชนก่อน โดยให้เข้มแข็งที่สุด ดีที่สุด มีความสุขที่สุด ย่อมทำให้ภาพรวมทั้งประเทศดีขึ้น

เป็นผู้เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับชุมชน โรงเรียน สถาบันการศึกษาในภาคอีสาน โดยเน้นการแก้ไขที่ต้นเหตุคือการทำลายแหล่งผลิต  แก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชน โดยเฉพาะคนเก็บขยะ คนจร คนไร้ที่พึ่ง ให้ได้รับการช่วยเหลือ โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย

เมื่อปี พ.ศ. 2549 ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ได้เสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เช่น ให้รัฐจัดระบบขนส่งสาธารณะ โดยเน้นสำหรับผู้ด้อยโอกาสใช้บริการฟรี การลดการใช้พลังงาน การให้ออกโฉนดที่ดินนอกเขตป่าไม้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น

เป็นแกนนำในการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยพัฒนาการบริหารจัดการชุมชนด้วยชุมชน เพื่อชุมชน และนำวิธีการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชน  จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

7.  ประเภทนักสิทธิมนุษยชนชุมชนหญิง ได้แก่ นางเกษร ศรีอุทิศ

เกสร ศรีอุทิศ ปัจจุบันอายุ 40 ปี เลขานุการชุมชนหลังไปรษณีย์สำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ เป็นผู้พิทักษ์สิทธิเด็ก สตรี  เฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี การถูกล่วงละเมิดทางเพศ  ประสานความร่วมมือกับชุมชนให้ลด ละ เลิกเหล้า อบายมุข ยุติความรุนแรง โดยพัฒนาคนในชุมชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างความเข้าใจบทบาทหญิงชายในครอบครัว พัฒนากลไกในชุมชน รวมทั้งทำงานขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาร่วมกับสหวิชาชีพในพื้นที่ รณรงค์สร้างกระแสผลักดันนโยบายสาธารณะและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย

เกสรเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหลายแห่ง มีเครือข่ายองค์กรในประเทศและต่างประเทศสนใจมาศึกษาดูงานชุมชน และได้รับเชิญเป็นวิทยากรตามหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการความรู้ การลดความรุนแรงในสตรีและเยาวชน ประการสำคัญการทำงานด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในชุมชนให้รู้และเข้าใจถึงสิทธิของชุมชนและตนเอง โดยชุมชนได้รับรางวัลชุมชนนำร่องดีเด่นการคุ้มครองสิทธิสตรี กรุงเทพมหานคร ปี 2553 และตนเองได้รับรางวัลสตรีดีเด่นระดับเขตกรุงเทพมหานคร จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

8. ประเภทองค์กรภาครัฐ ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านกลาง

เทศบาลตำบลบ้านกลาง ตั้งอยู่เลขที่ 201 หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีบทบาทสำคัญในการดูแลและเรียกร้องสิทธิให้กลุ่มแรงงาน ซึ่งเป็นคนต่างพื้นที่ที่เข้ามาอาศัยบริเวณหน้าบ่อขยะเพื่อเก็บขยะ  ช่วยแก้ไขปัญหา เรื่อง สถานะทางทะเบียนราษฎร์ ด้านที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย เพื่อป้องกันการถูกล่อลวง และเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์  โดยสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านสิทธิและสวัสดิการทางสังคม รวมทั้งได้รับการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และฟื้นฟูศักยภาพ เพื่อสามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ เทศบาลตำบลบ้านกลางยังจัดกิจกรรมกับกลุ่มผู้พ้นโทษ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับเรือนจำจังหวัดลำพูน จัดทำโครงการช่วยเหลือครอบครัว     ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากจนและผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อน ก่อสร้างบ้านผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้และผู้ยากจน และส่งเสริมคุณภาพชีวิตเด็กด้อยโอกาส  ยากจนที่ขาดผู้อุปการะดูแล  รวมทั้ง  จัดตั้งกลุ่มทานตะวันซึ่งเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อเอดส์ที่เปิดเผยตนเองตำบลบ้านกลางขึ้น เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลรักษาตนเอง

การดำเนินงานของเทศบาลตำบลบ้านกลางดังกล่าว ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิ  จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

9. ประเภทองค์กรภาคเอกชน  ได้แก่  สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 จากการรวมตัวกันของนักพัฒนาและนักกฎหมายที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี มีภารกิจหลัก  2 ประการ คือเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นกับสาธารณชน เยาวชนและผู้ที่สนใจทั่วไป เกี่ยวกับปัญหา ต้นเหตุ และแนวทางป้องกันแก้ไขเกี่ยวกับวิกฤตการณ์โลกร้อน  และติดตาม ตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองท้องถิ่น ที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน กฎหมาย หรือโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม หรือละเลย ล่าช้า รวมถึงการติดตามตรวจสอบผู้ประกอบการเอกชนที่กระทำผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชนและทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนในการเรียกร้อง ฟ้องร้อง ปกป้องสิทธิภาคประชาชนและชุมชนมาโดยตลอด โดยใช้หลักกระบวนการยุติธรรมเป็นแนวทางยุติข้อขัดแย้งและประเด็นข้อพิพาท มากกว่า 60 คดี เช่น คดีมลพิษทางเสียงสนามบินสุวรรณภูมิ คดีน้ำท่วมปี 2554 คดีโรงไฟฟ้าเขาหินซ้อน คดีสารแคดเมียม จังหวัดตาก  คดีแม่เมาะจังหวัดลำปาง คดีโรงไฟฟ้าชีวะมวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คดีเขื่อนแม่วงก์ คดีป่าพรุแม่รำพึง คดีเพิกถอนการบุกรุกทุ่งบึงกะโล่ จังหวัดอุตรดิตถ์ คดีโรงงานยางพาราปล่อยกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน จังหวัดบุรีรัมย์ คดีเพิกถอนคอนโดมิเนียมซอยชินเขต เขตหลักสี่  จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

10. ประเภทองค์กรสื่อสารมวลชนหรือรายการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

สถาบันอิศรา เดิมชื่อ สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ก่อ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 ในปี 2527  นักวิชาชีพและนักวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์กลุ่มหนึ่ง มองเห็นถึงความจำเป็นในการก่อตั้งองค์กรลักษณะสถาบันฝึกอบรมทางด้านวิชาชีพ หนังสือพิมพ์ให้กับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เรียนทางสายวิชาชีพนี้  จึงร่วมกันก่อตั้งสถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยขึ้น 

ต่อมาในปี 2547 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันพัฒนาวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานจัดการฝึกอบรมทักษะด้านวิชาชีพโดยเฉพาะ  โดยในปี 2550 ได้รวมสถาบันทั้ง 2 สถาบันดังกล่าวเข้าด้วยกัน  และเรียกว่า   สถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และศูนย์ข่าวอิศรา การดำเนินงานในรูปแบบการตั้งกองบรรณาธิการข่าวอิสระจากการร่วมมือกันของสื่อมวลชนจากส่วนกลางและสื่อมวลชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เนื่องจากภารกิจของทั้ง 2 สถาบัน มีความเชื่อมโยงเกี่ยวกัน ประกอบกับความซ้ำซ้อนทั้งในด้านบุคลากรและทรัพยากร จึงได้ปรับชื่อเป็น  “สถาบันอิศรา”  ซึ่งทำหน้าที่ตามภารกิจเดิมของทั้ง 2 สถาบัน

นอกจากจะมีภารกิจในการฝึกอบรมด้านวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว สถาบันอิศรายังเป็นสื่อสารมวลชนที่มีการนำเสนอข่าวสารข้อมูลที่สะท้อนภาพสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นข้อมูลข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net