Skip to main content
sharethis

รณรงค์ล่า23ล้านรายชื่อ ตัดปัญหาความขัดแย้ง ยืนยันไม่แตะสถาบันกษัตริย์ รองนายก ประชา พรหมนอก รับลูก รับปากชงเข้าที่ประชุม ครม.โดยเร็วที่สุด ประธานวิปชี้ถ้าไม่ผ่านแก้รายมาตรา

นสพ.มติชน รายงานว่า  เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 14 ธันวาคม ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค ได้มีการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกำหนดท่าทีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 หลังจากคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ได้ส่งรายงานเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณา โดยมีคณะทำงานพรรคร่วม ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ นายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วม นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายภูมิธรรม เวชยชัย นายวราเทพ รัตนากร อีกทั้งยังมีตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วม โดยมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมประชุม, พรรคชาติไทยพัฒนา นำโดย นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายนิกร จำนง, นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนา นายสันตศักย์ จรูญ งามพิเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชล เดินทางเข้าร่วมประชุม, ในส่วนของพรรคประชาธิปไตยใหม่ มีนายสุรทิน พิจารณ์ เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวได้ใช้เวลาในการหารือและรับประทานอาหารนานกว่า 1 ชั่วโมง
    

จากนั้นเวลา 13.30 น. ตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลร่วมแถลงข่าว โดยนายจารุพงศ์แถลงผลสรุปว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีข้อเสนอ เกี่ยวกับการจัดทำประชามติเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ดังนี้ 1.แม้การลงประชามติในวาระ 3 จะเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงขององค์กรรัฐสภาเท่านั้น แต่หากสมาชิกรัฐสภา หรือประชาชนห้าหมื่นคนที่เสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ประสงค์ให้มีการทำประชามติว่า สมควรจะมีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็ไม่มีช่องทางจะทำได้ มีเพียง ครม.เท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552
    

2.เพื่อให้ข้อเสนอแนะของคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลได้ข้อยุติลดความขัดแย้งเรื่องดังกล่าว จึงควรให้ ครม.จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า สมควรให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้เกิดความชอบธรรมเป็นประชาธิปไตย และเป็นธรรมขึ้นหรือไม่ โดยการเลือก ส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะไม่มีการแก้ไขเรื่องรูปแบบของรัฐ รูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ 
    

3.รัฐบาลควรสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง สถาบันการศึกษา องค์กรประชาธิปไตย และองค์กรประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลการทำประชามติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย 
    

4.การจัดทำประชามติครั้งนี้ เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง เป็นความปรารถนาดีให้สังคมไทยมีทางออกอย่างละมุนละม่อม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อไป ดังนั้นไม่ว่าผลของประชามติจะออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายต้องถือเป็นข้อยุติ และไม่มีกรณีที่จะอ้างประโยชน์หรือกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งให้ต้องรับผิดชอบในผลแห่งประชามติ 
    

5.ไม่ว่าผลแห่งประชามติจะออกมาทางใด ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่า รัฐสภาทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สอดคล้องต่อหลักนิติธรรมได้ตลอดไป
     

นายจารุพงศ์กล่าวต่อว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ต้องการให้เกิดข้อโต้แย้งคัดค้านทั้งปวง จึงให้ ครม.จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ได้ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจนว่า เป็นเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความปรารถนาดี จึงไม่ใช่ประเด็นให้มาเรียกร้องความรับผิดชอบของ ครม. หากประชามติไม่ผ่าน หรือสมาชิกรัฐสภาอาจเสนอให้มีกฎหมายเฉพาะให้ออกเสียงประชามติในเรื่องนี้ หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เพิ่มเติม การทำประชามติกรณีมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมเช่นเดียวกัน และต้องอธิบายให้ชัดเจนว่า ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่การดำเนินการเช่นนี้เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และดำเนินการไปพร้อมกับการรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชน
    

ส่วนนายประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก ครม.ให้มารับข้อเสนอของ 4 พรรคร่วมรัฐบาลที่ให้จัดทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อนเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ทั้งนี้จะนำเรื่องการจัดทำประชามติเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อย่างเร็วที่สุดโดยจะพยายามบรรจุเข้าที่ประชุมภายในสัปดาห์หน้า
    

ด้านนายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกรณีการเสนอแนวคิดให้ลดจำนวนเสียงในการทำประชามติว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดดังกล่าว จะยังใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ในการเดินหน้าทำประชามติคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ พ.ศ.2552 ส่วนจำนวนเสียงของผู้ออกมาใช้สิทธิในการทำประชามติที่จะต้องให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงนั้น ถือเป็นเรื่องรายละเอียด ยังไม่ขอพูดถึง แต่เราก็ต้องรณรงค์อย่างสุดความสามารถให้ประชาชนออกมามีส่วนร่วมมากที่สุด


ภายหลังการแถลงข่าว นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะไม่มีการแก้กฎหมายเพื่อลดจำนวนเสียงประชามติ เพราะหากทำเช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวายแล้วก็ไม่ได้แก้กันพอดี เราเคารพกติกา จะดำเนินการตามข้อบังคับที่มี หากประชาชนเห็นด้วยก็ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างขึ้นมา จากนั้นค่อยทำประชามติอีกครั้ง และวิธีการทำประชามติให้ได้เสียงประชาชนมา 23 ล้านเสียงนั้น ในส่วนของพรรคร่วมก็ต้องเดินหน้ารณรงค์ รวมทั้งกระทรวงมหาดไทยก็จะมีเวทีสานเสวนาที่มีนักวิชาการและผู้มีความรู้มาให้ความรู้แก่ประชาชน และไม่ใช่กลไกของรัฐในการเข้าไปช่วยเพราะกระทรวงมหาดไทยมีโครงการนี้อยู่ก่อนแล้ว
    

ด้านนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะทำงานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล กล่าวว่า หากการทำประชามติไม่ผ่านก็จะไม่แก้ทั้งฉบับ แต่ทั้งนี้เห็นว่ายังสามารถเสนอแก้เป็นรายมาตราได้

 

ที่มา: มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net