น้ำยานักข่าวพลเมือง : กำเนิด ความเสื่อมถอย และการเกิดใหม่? กรณีศึกษาภาคเหนือประเทศไทย ตอนที่ 1 ก่อนจะมี “นักข่าวพลเมือง” [1]

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย การเกิดขึ้นและขยายตัวของนักข่าวพลเมือง กับความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยในภาคเหนือของประเทศไทย มุ่งเน้นจะเสนอคำอธิบายเกี่ยวกับการกำเนิด บทบาทและสถานภาพที่ดำรงอยู่ของ “นักข่าวพลเมือง” ในสังคมไทยโดยมีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับพื้นที่เฉพาะอย่างภาคเหนือ

นิยามคำว่า “นักข่าวพลเมือง” นั้นเกิดมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มอบอำนาจให้กับคนนอกวงการสื่อ ได้ถูกนิยามกันต่างๆ ไปเช่น Bowman and Willis (2005) จากสถาบันสื่ออเมริกา (The American Press Institute) ได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมในออกแบบด้านสื่อสารมวลชนของผู้รับสารว่า ประชาชนหรือพลเมืองหรือกลุ่มของพลเมืองที่เลือกสรร รายงาน วิเคราะห์ เผยแพร่ข่าวและข้อมูล ในเงื่อนไขที่อิสระ เชื่อถือได้ ถูกต้องแม่นยำ กว้าง และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตย จากความต้องการของตนและแบ่งปันเรื่องราวในพื้นที่สาธารณะ[2]

 Bentley, C และทีมวิจัยจากสมาคมเพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์และการสื่อสารมวลชน (Association for Education in Journalism and Mass Communication) (2005) หมายถึง การสื่อสารของผู้รับสารที่มีส่วนร่วมในการสื่อสาร เดิมทีเรียกกันว่า “การมีส่วนร่วมในการสื่อสาร”( Participatory  journalism) และ “การออกแบบการสื่อสาร” (Open source journalism)[3]

Mark Glaser (2006) ผู้สื่อข่าวอิสระและผู้เชียวชาญด้านสื่อใหม่ อดีตคอลัมนิสต์ใน The Los Angeles Times แ ได้กล่าวถึง “นักข่าวพลเมือง”ว่าเป็นกระบวนการที่ตรงข้ามกับแบบแผนปฏิบัติสื่อมวลชนกระแสหลักที่มีการคัดกรองและคัดเลือกเสนอข่าว แต่ในรูปแบบการสื่อสารของพลเมืองจะเน้นกระบวนการที่พื้นที่ของการสื่อสาร[4] และหมายถึงผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนมาเป็นนักข่าวมืออาชีพแต่มีความสามารถในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยในการสร้างสรรค์ โต้แย้ง ตรวจสอบข้อมูลการเมืองท้องถิ่นอย่างสภาเทศบาล สื่อกระแสหลัก [5]

สำหรับในเมืองไทย เราถือว่า สุทธิชัย หยุ่นเป็นผู้ที่ให้แปลความหมาย “นักข่าวพลเมือง” มาจาก 'Citizen journalist' [6] ในปี 2550 หลังจากเปิดตัวบล็อก Ok Nation ไม่นานโดยให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวของคนที่ไม่ใช่ นักข่าวในสื่อกระแสหลัก อันเนื่องมาจากการเติบโตทางเทคโนโลยี กล้องดิจิตอล อินเตอร์เน็ต ฯลฯ โดยไม่ต้องมีบรรณาธิการควบคุมเนื้อหา จึงสามารถมีเนื้อหาที่กว้างและฉับพลันได้ ทั้งข่าวสารบางประการผู้รายงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอาจทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ เช่นข่าวสารทางการแพทย์

ขณะที่ไทยพีบีเอส โดย สมเกียรติ จันทรสีมา ผู้อำนวยการ สำนักสื่อประชาสังคม[7] ยังมองเรื่องนี้เชื่อมโยงกับความเป็นประชาธิปไตย มองว่ากระบวนการทำงานของนักข่าวพลเมืองเป็นเรื่องการเสริมพลังชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตัวเอง เนื่องจากนักข่าวอาชีพไม่สามารถตามเรื่องย่อยๆได้ทุกเรื่อง  ไม่เพียงเท่านั้นนักข่าวพลเมืองของไทยพีบีเอส ไม่ใช่ชนชั้นกลางที่เข้าถึงเทคโนโลยีแบบต่างประเทศหรือแบบสุทธิชัย หยุ่น วิธีการเลือกของเราก็คือเลือกคนที่อ่อนแอที่สุด

งานวิจัยนี้มุ่งเน้นให้ คำว่า พลเมืองมีความเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชน สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นใหญ่ ดังนั้น “นักข่าวพลเมือง” จึงหมายถึง นักข่าวที่เป็นประชาชนที่มีสำนึกตื่นตัวทางการเมืองที่จะสื่อสารกับสาธารณะโดยมีรากฐานยึดโยงอยู่กับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารได้ด้วยตัวเอง

บทความต่อไปนี้ที่ต่อเนื่องถึง 2 ตอน จะทำให้เห็นบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่อำนาจการสื่อสารจะเปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นใหญ่ของ รัฐ ทุน ท้องถิ่น ประชาชน ที่จะเห็นได้ว่าอำนาจของกลุ่มดังกล่าวย้ายไปย้ายมา สอดคล้องไปกับอำนาจของการสื่อสารอีกด้วย จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดของผู้วิจัยเห็นว่าอยู่ที่รัฐประหาร 2549 ในตอนที่ 2 สำหรับตอนที่ 1 จะเน้นบริบทตั้งแต่ ทศวรรษ 2490-2530

 

ทศวรรษ 2490

พลังของสื่อทั้งฝ่ายซ้ายที่มีฐานอยู่ที่ประชาชนและฝ่ายขวาที่อยู่กับฝ่ายรัฐและทุน

(ประชาชน = ทุนท้องถิ่น)

อาจกล่าวได้ว่า รัฐไทยในช่วงที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ ทศวรรษ 2470-2480 มีความเข้มแข็งอย่างสูงและได้ให้กำเนิดโครงสร้างการสื่อสารที่เชื่อมกรุงเทพฯเข้าสู่พื้นที่ต่างๆอย่างเข้มข้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 เราพบว่า ตลาดสิ่งพิมพ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายตัวอย่างสูง และมีกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคและผู้ผลิตที่หลากหลาย ผิดกับช่วงทศวรรษ 2480 ที่การเมืองวางอยู่บนการต่อสู้อย่างแหลมคมระหว่างฝ่ายคณะราษฎรกับฝ่ายต่อต้านคณะราษฎรที่เกินเลยไปจนถึงใช้กำลัง คณะราษฎรได้ทำการปราบปราบฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างจริงจัง เราพบว่ามีการออกกฎหมายเซ็นเซอร์ในนาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484, พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2485 (ฉบับที่ 2) และ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2488  (ฉบับที่ 3) กลายเป็นว่าหลังยุคทองคณะราษฎร รัฐบาลไม่เข้มงวดเรื่องการเซ็นเซอร์มากจึงปรากฏงานเขียนการเมืองของฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมระดับคึกฤทธิ์ ปราโมช “กลุ่มสีน้ำเงิน” ที่เขียนโจมตีคณะราษฎร ฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดสนับสนุนสังคมนิยม, มาร์กซิสต์ ก็สามารถมีตลาดบนดินได้ด้วย เช่น วารสาร อักษรสาส์น (2492-2495) ที่ สุภา ศิริมานนท์ เป็นบรรณาธิการ รวมไปถึงหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คที่เผยแพร่อุดมการณ์ของฝ่ายซ้าย[8]

ที่น่าสนใจก็คือ ตลาดดังกล่าวยังสอดคล้องกับการเติบโตของสื่อท้องถิ่นด้วย[9] ท่ามกลางกระแสความเคลื่อนไหวทางภูมิปัญญาของปัญญาชนชาวเหนือ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งสมาคมชาวเหนือ(2489) การออกนิตยสารชาวเหนือที่ชื่อว่า โยนก ในปี 2490 ที่มีแสน ธรรมยศ (2457-2495) นักคิดนักเขียนชาวลำปางเป็นบรรณาธิการ คณะทำงานส่วนใหญ่มาจากสายตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุติมา วัตถุประสงค์ของนิตยสารนี้โดยสาระแล้วคือ เป็นการนำข่าวสารของสมาคมชาวเหนือและกิจการต่างๆ ให้ชาวเหนือทั่วประเทศได้รับทราบ แม้เป้าหมายหลักและสำนักงานจะอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นชาวเหนือที่จินตนาการถึงประเทศไทยในภาพรวมและสำนึกความเป็นคนเหนือที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆทั่วประเทศ

 ขณะที่บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2460-2516) นักเขียน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ก็ผลิตงานเขียนกึ่งวิชาการกึ่งสารคดีอย่าง 30 ชาติในเชียงราย (2493) เชียงใหม่และภาคเหนือ (2503) ชาวเขาในไทย (2506) ฯลฯ ที่เสริมสร้างความรับรู้เกี่ยวกับภาคเหนือ ต่อโลกภายนอก นักคิดนักเขียนร่วมสมัยชาวเหนือที่ได้ร่วมสร้างตัวตนคนเหนือที่โดดเด่นอีกคนก็คือ อำพัน ไชยวรศิลป์ (2461-2533) ชาวเชียงใหม่ผู้ใช้นามปากกาว่า อสิธารา อ.ไชยวรศิลป์ นักเขียนชาวเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน แม่สายสะอื้น, ริมฝั่งแม่ระมิงค์, นิยายเมืองเหนือ  ฯลฯ เธอเป็นนักเขียนนิยายที่สร้างตัวตนผู้หญิงเหนือให้ปรากฏอยู่กับความรับรู้ของคนไทยผ่านวรรณกรรม งานเขียนของอำพันยังถูกไปผลิตซ้ำในภาพยนตร์ ละครวิทยุกระจายไปทั่วประเทศ อำพันยังมีงานเขียนด้านสารคดีเกี่ยวกับภาคเหนือ เช่น เล่าเรื่องเมืองเหนือว่าสถานที่สำคัญต่างๆ,  เล่าเรื่องเมืองเหนือว่าด้วยประวัติบุคคลสำคัญ, สารนิยายใต้ฟ้าลานนา หรือจะเป็นงานเขียนในเชิงวัฒนธรรมของประเพณีของ สงวน โชติสุขรัตน์ (2464-2528) อันได้แก่ ตำนานเมืองเหนือ (2499) สารคดีจากลานทอง ประวัติศาสตร์ลานนาไทย (2503) เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นปริมาณงานเขียนที่เพิ่มขึ้น

 ความเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องไปกับการขยายตัวของสื่อสิ่งพิมพ์ทศวรรษ 2490 ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ตัวอย่างหนังสือพิมพ์ได้แก่ ชาวเหนือ (2490-เชียงใหม่) ไทยลานนา (2492-ลำปาง) คนเมือง (2496-เชียงใหม่) บางแสน (2498-ชลบุรี?) สระบุรีสาร (2498-สระบุรี) ก้าวหน้า (2500-ราชบุรี) เอกราช (2500-ลำปาง ปัจจุบันยังตีพิมพ์อยู่) เป็นต้น น่าสังเกตว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมักจะวางแผงพร้อมกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ในระดับท้องถิ่นไม่แน่ใจนักว่าเนื้อหาในช่วงดังกล่าวให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ ในทศวรรษ 2490 เป็นการเกิดหนังสือพิมพ์หัวสีอย่าง ข่าวภาพ ในปี 2493 (ที่ต่อมากลายเป็น เสียงอ่างทอง (2501-2505) และไทยรัฐ) ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มวัยรุ่นคนหนุ่มสาว และบรรดาชาวบ้านทั่วไป อันเป็นตลาดใหม่ที่แตกต่างจากหนังสือการเมืองในยุคนั้น ว่ากันว่า นิตยสารรายสัปดาห์มีอยู่ 7-8 ฉบับ ล้วนแล้วแต่เป็นการเมืองทั้งหมด[10] ข่าวส่วนใหญ่เป็นข่าวอาชญากรรม อุบัติเหตุ เรื่องแปลกๆในชีวิตประจำวันปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนกลายมาเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักจวบจนทุกวันนี้ การขยายตัวของสื่อท้องถิ่นจึงสนองความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคดังที่กล่าวมาแล้ว โดยที่ไม่ทราบชัดว่า ในมิติทางการเมืองแล้ว

 นอกจากนั้นยังมีการขยายตัวทางสื่อมวลชนแขนงอื่นเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร และความบันเทิงในสังคมไทยเพิ่มเติมขึ้นอีก เช่น  วิทยุที่เริ่มกระจายสถานีวิทยุไปยังจุดต่างๆ  และการเริ่มออกอากาศโทรทัศน์ในปี 2498 สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของเมืองในสังคมไทยที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่เริ่มแผ่กระจายไปทั่วประเทศพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการขยายตัวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่างานเขียนต่างๆ ของชาวเหนือนั้นมิได้เกิดมาลอยๆ ด้วยสำนึกความเป็นคนเหนือเพียงอย่างเดียว แต่ว่ามีตลาดของผู้อ่านและผู้บริโภคที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกับสังคมไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วต่างหาก

 

ทศวรรษ 2500

การสื่อสารอย่างจำกัดในการเมืองสงครามเย็น (ประชาชน = เด็กในโอวาท)

“ตลาดเสรี” ของสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นพลันสิ้นสุดลง หลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารและตั้งตนเป็น “คณะปฏิวัติ” ทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยด้วยการยกเลิกอำนาจอธิปไตยที่ยึดโยงกับประชาชนอย่างรัฐสภา เขียนอำนาจเบ็ดเสร็จให้รัฐมีอำนาจทำอะไรก็ได้โดยอ้างความมั่นคง ผ่านตัวบทที่เรียกว่า “ประกาศของคณะปฏิวัติ” ที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนโดยตรงก็คือ การคุกคามสื่อมวลชนผ่าน ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17[11] ที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ โดยให้เปลี่ยนแปลงการเสนอข่าวสารทางการเมืองต่อประชาชนเสียใหม่ ซึ่งห้ามมิให้มีข้อความละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ หรือกล่าวร้ายเสียดสี หมิ่นประมาท ดูหมิ่นเหยียดหยามพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือกล่าวร้าย เสียดสี เหยียดหยามประเทศชาติ ปวงชนชาวไทย และรัฐบาลไทย หรือส่งเสริมให้เกิดความนิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะส่วนหลังที่กล่าวถึง “ส่งเสริมให้เกิดความนิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์” เป็นการพูดที่กินขอบเขตได้กว้างมาก และอาจใช้เป็นข้อกล่าวหาได้เป็นอย่างดี

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็พยายามกุมอำนาจในการสื่อสารผ่านรูปแบบที่หลากหลาย การขยายกำลังส่งของวิทยุ การจัดทำสิ่งพิมพ์โดยฝ่ายกระทรวงมหาดไทยที่ให้จังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำและเผยแพร่ อย่างเช่น ลำปางสาร, ชัยนาทสาร ฯลฯ ในทศวรรษ 2500 การเกิดขึ้นและขยายตัวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ลำปาง แม่ข่ายประจำภาคเหนือ ที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ของความทันสมัย การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทศวรรษ 2500 ที่สฤษดิ์ ใช้พลังการเมืองผลักดันจนสามารถตั้งมหาวิทยาลัยภูมิภาคแห่งแรกได้สำเร็จ ก็เพื่อการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนรัฐและสนับสนุนกิจการทุนนิยมที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็เป็นศูนย์กลางสำคัญในการบ่มเพาะอุดมการณ์และวิธีคิดใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อมาในการที่คนส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยจะมีความกระตือรือร้นต่อการเรียกร้องประชาธิปไตย สัดส่วนการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน นับว่าทำให้สมดุลของตลาดการสื่อสารเปลี่ยนไปอยู่กับอำนาจรัฐแทบทั้งหมด ในระดับประชาชนอาจจะมีการสื่อสารผ่านสื่อพื้นบ้านอยู่บ้างแต่ก็เนื้อสารก็น่าจะเป็นตามขนบที่ผ่านมาที่ไม่ได้แตะเรื่องประชาธิปไตยมากนัก

ดังนั้นท่ามกลางการเติบโตของสื่อสิ่งพิมพ์นี้ รัฐเองนอกจากจะมีบทบาทในการควบคุมข่าวสารอย่างใกล้ชิดแล้ว รัฐยังได้ลงสนามเป็นอีกผู้เล่นหนึ่งด้วย เป็นที่น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถหาข้อมูลจำนวนพิมพ์ต่อครั้งและข้อมูลการกระจายตัวของสื่อนี้ แต่เพียงเท่านี้ก็ทำให้เห็นว่ารัฐนอกจากจะให้ความสำคัญในการบริหารการไหลเวียนของข่าวสารในพื้นที่ชนบทจากระยะไกลด้วยวิทยุแล้ว รัฐยังใช้ไม้นวมในการเลือกใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการสนทนากับคนในเมืองอีกด้วย ท่าทีที่อ่อนลงของรัฐประกอบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่ขยายกว้างขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นในต้นทุนทางสังคมทำให้มีการรวมตัวกันของนักหนังสือพิมพ์ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2506 มีประเด็นสำคัญอยู่ที่การกลับมาให้เสรีภาพแก่หนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะการพิจารณายกเลิกขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17[12] แต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ของการพิจารณาของรัฐบาลที่ปล่อยให้รอจนได้คำตอบในเวลาเกือบ 2 ปีผ่านไป ก็คือ คำปฏิเสธอย่างหนักแน่นโดยอ้างถึงความมั่นคง[13]

 

ทศวรรษ 2510

พลังการสื่อสารที่ตอบโต้กับรัฐเผด็จการ (ประชาชน = อำนาจอธิปไตย/เสียงจากคนข้างล่าง)

อำนาจของสื่อที่อยู่ในมือของรัฐมาอย่างยาวนานด้วยอำนาจของกฎหมายเผด็จการ ทำให้เนื้อหาทางการเมืองและการเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงถูกปิดตายมาโดยตลอด หากจะมีการขยายตัวของสื่อมวลชนก็เป็นหนังสือพิมพ์หัวสีที่เน้นข่าวอาชญากรรม ภัยธรรมชาติ บันเทิง ถึงจะเป็นข่าวการเมืองก็มีท่าทีที่เป็นมิตรกับรัฐบาล จนกว่ากลางทศวรรษ 2510 ที่กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยมากขึ้น จนการวิพากษ์วิจารณ์เริ่มปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว

ไทยรัฐอ้างว่า ปี 2514 กำพล วัชรพล รวมทั้งผู้เขียนในนามปากกา กะแช่ เรือใบ และนพพรมีเหตุที่จะต้องถูกจับกุมตัวในฐานะผู้ต้องหาของบุคคลระดับรัฐมนตรีพร้อมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อย่าง เดลินิวส์, สยามรัฐ ในฐานะที่หมิ่นรัฐมนตรีถนัด คอมันตร์ โชคดีที่เหตุการณ์จบลงด้วยชัยชนะเป็นของนักหนังสือพิมพ์ โดยไม่มีใครต้องติดคุกและไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดถูกปิด[14] นั่นอาจเป็นการปะทะกันทางความคิดอย่างเป็นรูปธรรมที่เป็นหมุดหมายหนึ่งระหว่างสื่อมวลชนกระแสหลักและรัฐก่อนเกิดเหตุ 14 ตุลาฯ

การเกิดขึ้นของสถาบันระดับอุดมศึกษาในปลายทศวรรษ 2500 ที่มีลักษณะต่างกับโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ประกอบกับการขยายตัวของวัฒนธรรมตะวันตกผ่านสื่อมวลชน สิ่งพิมพ์ต่างๆ ทำให้ชีวิตในมหาวิทยาลัยเปรียบเสมือนได้กับโลกใหม่ของพวกเขาที่มีอิสระกว่า อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่บรรยากาศของการอ่านและการเขียนหนังสือมีความคึกคักเป็นอย่างยิ่ง สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ช่วงนั้นเรียกกันว่ายุคหนังสือพิมพ์เล่มละบาท งานเขียนที่เกิดขึ้นมีทั้งเรื่องสั้น บทกวี และบทความ คอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นมากมาย โดยจะนำหนังสือเหล่านั้นไปวางขายตามแคนทีนคณะต่างๆ และกลุ่มผู้จัดพิมพ์หนังสือเดินเคาะห้องตามหอพักต่างๆเพื่อเสนอขาย ไม่เพียงเท่านั้น มีหนังสือพิมพ์แทบลอยด์เล่มละบาทออกมาเกือบ 10 เล่ม หนังสือ 8 หน้ายกแนวสายลมแสงแดดอีกหลายเล่ม รวมทั้งหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กประเภทเรื่องสั้นของนักเขียนอิสระชาว มช.อีกหลายเล่ม[15] การเกิดขึ้นของอุปสงค์และอุปทานตามหลักเศรษฐศาสตร์ในยุคดังกล่าวเป็นเงื่อนไขอย่างดีของการขยายตัวของงานและความต้องการการสื่อสารมากกว่าเพียงแค่เขียนและอ่านในพื้นที่ส่วนตัว

เราพบได้จากกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มเล็กๆ นั่นคือ กลุ่มวลัญชทัศน์ ที่นำโดย นิสิต จิรโสภณ นักศึกษาวิชารัฐศาสตร์, สงวน พิศาลรัศมี นักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์, สถาพร ศรีสัจจัง นักศึกษาวิชาภาษาไทย, นิติธารก์ มานะทัต นักศึกษาวิชาสื่อสารมวลชน, วัฒนา สุกัณศีล นักศึกษาวิชาสังคม-มานุษยวิทยา เป็นต้น พวกเขาได้ออกหนังสือของกลุ่มเล่มแรกต้นปี 2514 ชื่อ ‘วลัญชทัศน์ : ฉบับมนุษย์และปัญหา’  คำถามและคำตอบของพวกเขานำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย กรณีที่เป็นข่าวคราวใหญ่โตก็คือ การประท้วงที่รัฐบาลออกกฎหมายโบว์ดำ หรือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 (พ.ศ.2515 มีฐานะเท่ากับพระราชบัญญัติ) ที่ตราขึ้นในเดือนธันวาคม 2515 หลังจากการที่ถนอม กิตติขจร รัฐประหารตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 เพื่อล้มกระดาน ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2511 ซึ่งทำให้ระบบรัฐสภาหายไปจากประเทศอีกด้วย โดยตัวเองขึ้นยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ กฎหมายโบว์ดำดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำความเป็นเผด็จการ เนื่องจากว่าได้ให้อำนาจกับรัฐในการเข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายตุลาการ

นั่นได้นำไปสู่การประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรากฏภาพในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งปรากฏภาพนิสิต จิรโสภณยืนปราศรัยอยู่บริเวณด้านหน้าหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักศึกษาจำนวนมากยืนมุงกันอยู่ ว่ากันว่าการชุมนุมครั้งนั้นมีการเดินขบวนจาก ม.เชียงใหม่ไปยังบริเวณศาลากลางจังหวัดเพื่อปราศรัยอีกด้วย[16]

บรรยากาศการเรียกร้องประชาธิปไตยคงมิได้มีเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัย คาดว่าภายนอกรั้วก็มีการเติบโตของสื่อมวลชนไปพร้อมๆกัน มีการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเชียงใหม่ ไทยนิวส์ ในปี 2512 ซึ่งมีบทบาทในการรายงานข่าวสำคัญในปลายทศวรรษ 2510 การขยายตัวของตลาดของสื่อมวลชนไปกันได้ดีกับการเรียกร้องเสรีภาพและความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมันบรรลุอย่างสวยงามในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคนี้ปรากฏหลักฐานที่กระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัดภาคเหนือ

 

ความเคลื่อนไหวและการตื่นตัวทางการเมืองทั่วภาคเหนือ

เนื่องจากมีกรณีจับกุมผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่กรุงเทพฯ 11 คน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวกันอย่างกว้างขวาง ที่เชียงใหม่ได้พบบันทึกความเคลื่อนไหว ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2516 ด้วยการติดโปสเตอร์โจมตีรัฐบาล[17]  เช่นเดียวกับที่เชียงราย[18] ในลำพูน[19] ที่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ก็มีการเข้าไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม จังหวัดอื่นๆ มีรายงานความเคลื่อนไหวภายหลังที่ได้รับชัยชนะแล้วนั่นคือ ปฏิกิริยาที่ตามมาหลังจากทราบข่าวที่มีการปะทะจนบาดเจ็บเสียชีวิต ก็มีลักษณะที่คล้ายกันเยียวยาและสดุดีวีรกรรมดังกล่าวกระจายตัวไปทั่วทุกจังหวัดที่ลำปาง[20] นักศึกษาวิทยาลัยครูเป็นตัวละครสำคัญ มีการบริจาคโลหิต ออกรับบริจาคเงินส่งไปยังศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และการทำบุญอุทิศส่วนกุศล แด่วีรชน 14 ตุลาฯ ขณะที่นักเรียนในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนรับบริจาคเงินจากประชาชนแล้วรวบรวมส่งให้ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย

นักเรียนโรงเรียนการช่างเชียงรายร่วมกันไว้ทุกข์แด่ วีรชน 14 ตุลา เดินขบวนไปวางพวงมาลาที่อนุสาวรีย์พญามังราย มีการติดโปสเตอร์สดุดีวีรกรรม ที่เสียชีวิตในการต่อสู้ และรับบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ    

นักเรียนจากโรงเรียนการช่างแพร่ โรงเรียนอาชีวศึกษาแพร่ โรงเรียนพาณิชยการแพร่ และโรงเรียน พานิชยการลานนา ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มอาชีวะขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รับบริจาคเงินจากประชาชนนำไปสมทบ กับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย[21]

นอกจากนั้นยังมีความเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกับภาครัฐที่น่าสนใจ 2 กรณีนั่นคือ ที่น่าน[22]  วันที่ 16 ตุลาคม 2516 นักเรียนโรงเรียนการช่างน่าน โรงเรียนเกษตรกรรมน่าน โรงเรียนสตรีน่าน โรงเรียนสตรีสวัสดิ์วิทยากร และโรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา ร่วมกันรับบริจาคเงิน รวมทั้งเปิดอภิปรายถึงการเสียชีวิตของวีรชน 14 ตุลา และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ ตามปกติ แต่พบความไม่พอใจรัฐเผด็จการเกิดการทำลายป้ายชื่อสะพาน"กิตติขจร 9" แล้วทางจังหวัดได้นำป้ายชื่อ "พัฒนาภาคเหนือเขต 8" ไปติดตั้งแทน

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาภาคเหนือมีหนังสือถึงโรงเรียนต่างๆ ให้ไปร่วมไว้อาลัยแด่วีรชน 14 ตุลา ที่เสียชีวิต ณ สนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ แต่ที่ลำพูนถูกข้าราชการของจังหวัดขัดขวางไม่ให้รถประจำทาง จอดรับ นักเรียนจึงพากันขวางถนนให้รถจอดแล้วขึ้นรถ ไปร่วมไว้อาลัยได้ จนวันที่ 19 ตุลาคม 2516 นักเรียนและประชาชนในจังหวัดลำพูน เดินขบวนขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด

 

ความกระตือรือร้นหลัง 14 ตุลาฯ

เชื้อแห่งความขบถและการต่อต้านรัฐถูกจุดติดขึ้นแล้ว หลังจากการไล่รัฐบาลเผด็จการออกไป เรายังพบการรุกคืบของนักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งก็ลงพื้นที่ในชนบทหาชาวนาชาวไร่ ส่วนหนึ่งก็เข้าเมืองเข้าหากรรมกรผู้ใช้แรงงาน และส่วนหนึ่งก็มีการจัดสัมมนา จัดตั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่กระตือรือร้นและตื่นตัวจากคลื่นประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลาคม 2516 งานมวลชนที่สำคัญก็คือเพื่อเผยแพร่สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย และการต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นสำนึกพลเมืองตื่นตัวจากการไร้อำนาจอย่างสิ้นเชิงมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ ที่น่าสนใจก็คือ สัมพันธภาพความเคลื่อนไหวดังกล่าวระหว่างประชาชน นักเรียน นักศึกษา กับ สื่อมวลชน [23]

         

การแพร่หลายของข่าวสารหลัง 14 ตุลาฯ

มีบันทึกกล่าวว่า หลังจากที่นิสิต จิรโสภณ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ เขาตัดสินใจลาออกมาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว นั่นคือ หนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนนท.) [24] นิสิตติดตามและทำความข่าวที่เชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของประชาชน และยังเป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ “ชมรมแสงตะวัน” ที่ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับฝ่ายซ้าย[25] ในเชียงใหม่ พบว่ามีหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 2 ฉบับ นั่นคือ ถิ่นไทย และ ไทยนิวส์  และในเวลาไกลกันนักที่แพร่ ก็มีหนังสือพิมพ์ แพร่ข่าว (2520) นอกจากนั้นยังมีหนังสือพิมพ์ เสียงชนบท ที่ไม่ทราบชัดว่าเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือไม่ การขยายตัวของหนังสือพิมพ์นนี้ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 ที่ให้เสรีภาพกับการรายงานข่าวมากขึ้น[26] เชื่อได้ว่าการรายงานข่าวยังจำกัดวงอยู่ในแวดวงนักข่าวที่รับเรื่อง หรือตามข้อมูลจากประชาชน มากกว่าจะเป็นเสียงประชาชนเอง

เสียงที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายรัฐอย่างชัดเจนนั่นก็คือ เสียงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่พยายามสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายคือ ชาวนา ผู้ยากไร้ และผู้ถูกกระทำโดยรัฐไทย พคท.ก็ทำงานอย่างหนักในการสื่อสารผ่านสื่ออย่าง สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทยที่ส่งสัญญาณมาจากปักกิ่งประเทศจีนที่มีกำลังส่งสูงและเป็นอีกทางเลือกในการสื่อสารสมัยนั้น

 

การรุกไปข้างหน้าของประชาชน

ความเคลื่อนไหวของประชาชนเกิดอย่างต่อเนื่องด้วยการประสานกันของ นักศึกษา เกษตรกรและกรรมกร ทำให้ทั้งรัฐและฝ่ายเอกชน นายทุน ต่างตระหนักดีถึงภัยคุกคาม ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในที่สุดก็มีการจัดตั้งมวลชนฝ่ายขวาขึ้นมาเพื่อดุลอำนาจมวลชนฝ่ายประชาชน ไม่เพียงเท่านั้นสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศเพื่อนบ้านเสียท่าให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ เช่น ลาว และกัมพูชาในปี 2518 ย่อมทำให้ชนชั้นนำตระหนักถึงภัยคุกคามมหาศาล

สำหรับภาคเหนือ ปรากฏการผนึกกำลังกันระหว่างนักศึกษาและเกษตรกรเพื่อต่อสู้กับปัญหาที่มีนายทุนเป็นคู่ต่อสู้สำคัญ โดยเฉพาะในระบบการผลิตและการแบ่งปันผลประโยชน์ในที่นาอันไม่ชอบธรรม พบว่าในปี 2517 นักศึกษากับชาวบ้านร่วมกันเคลื่อนไหวในกรณีที่ดิน อ.ห้างฉัตร ลำปาง และปัญหาของโรงงานน้ำตาล อ.เกาะคา ลำปาง รวมไปถึงปัญหาเหมืองแม่เลียง อ.เสริมงาม ลำปาง[27] รวมไปถึงการจัดตั้งมวลชนเพื่อสนับสนุนความเคลื่อนไหวอื่นๆของเกษตรกร และกรรมกรอีกด้วย ดังนั้นเนื้อหาของการสื่อสารดังกล่าวจึงไปด้วยกันกับการเรียกร้องสิทธิของประชาชนที่เสียงของพวกเขาถูกละเลย

 

ความรุนแรงที่เผยร่าง

ในอีกด้านหนึ่งที่ตกเป็นข่าวและสถานการณ์ตึงเครียดไม่เพียงแต่ฝ่ายรัฐเท่านั้นที่ใช้ความรุนแรง ปรากฏว่ามีการต่อต้านงานบอลล์ลีลาศวันรับปริญญา ช่วงปลายปี 2517 โดยกลุ่มนักศึกษา ม.เชียงใหม่ พบว่า ฝ่ายต่อต้านได้ขู่ว่าจะวางระเบิดหากไม่ยกเลิกงาน[28] ในปี 2518 ความรุนแรงทางกายภาพขยายตัวลามไปทั่วประเทศ กรณีที่เป็นประเด็นที่สนใจมากก็คือ กรณีถีบลงเขาเผาลงถังแดง ที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนนท.) จัดชุมนุมประท้วง ณ ท้องสนามหลวง มีคนร่วมกว่า 30,000 คน ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์

ที่เชียงใหม่พบว่ามีกลุ่มนักศึกษาจัดตั้ง โครงงานนักศึกษาเพื่อกรรมกรเชียงใหม่ สำนักงานอยู่บริเวณหลังวัดสวนดอก ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2518 ถูกปาระเบิด กล่าวว่ามีทั้งนักศึกษาที่เจ็บและตาย[29] นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้นำเกษตรกรภาคเหนือทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน ก็ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ต้องบาดเจ็บ เสียชีวิตจากอาวุธสงคราม หรือไม่ก็หายสาบสูญไปเฉพาะในภาคเหนือเกิดเหตุ 32 รายในปี 2518-2519[30]

ถัดจากชาวนาชาวไร่ ปรากฏว่าปี 2519 เป็นต้นมา ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาถูกทำให้เป็นอื่นด้วยการโจมตีว่ามีส่วนพัวพันกับคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อยๆ ผสานกับการใช้กรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นเครื่องมือในการโจมตีนักศึกษาให้กลายเป็นศัตรูของชาติยิ่งทำให้อารมณ์ขุ่นเคืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมพุ่งสูงขึ้นไปอีก ดังพบว่ามีนักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ถูกจับในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พอในวันรุ่งขึ้นพบว่า มีนักศึกษาและประชาชนเชียงใหม่กว่า 500 คนอภิปรายโจมตีและข่มขู่ว่าจะฆ่านักศึกษาฝ่ายซ้ายให้หมด ในวันที่ 12 นักศึกษา ม.เชียงใหม่กว่า 2,000 คนตั้งขบวนจะขึ้นไปยังภูพิงคราชนิเวศน์เพื่อแสดงความจงรักภักดี และประท้วงกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ถูกขัดขวางโดยสมาชิกกลุ่มนวพล ลูกเสือชาวบ้านและนักศึกษาแม่โจ้ และในที่สุดก็ตกลงกันได้[31] ที่น่าสนใจก็คือ ในกรณีนี้ หนังสือพิมพ์ถิ่นไทย นำไปพาดหัวข่าวว่า “นศ.หมิ่นในหลวง จำคุก 4 ปี” วันที่ 29 กุมภาพันธ์

ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2519 ก็พบว่าตำรวจค้นบ้านพักแถบ ต.ช้างเผือก และได้จับเอานักเรียน นักศึกษา ชาวนา จำนวน 6 คนที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ ในโครงการช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ โดยถูกตั้งข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนและกระสุนไว้ในครอบครอง และการกระทำการบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ[32] ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นใจในการจับกุมดังกล่าว และในอีกด้านก็มีการนำผู้ถูกจับกุมไปปรึกษาสหพันธ์นักกฎหมายแห่งประเทศไทยเพื่อหาทางฟ้องรองตำรวจในข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำให้เสียอิสรภาพ

กรณีที่เป็นชนวนสำคัญก็คือ ถนอม กิตติขจร กลับเข้ามายังประเทศไทย นักศึกษาในกรุงเทพฯรวมตัวกันประท้วงขับไล่ถนอม ขณะเดียวกันที่เชียงใหม่ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาภาคเหนือ นัดชุมนุมขับไล่ถนอมเช่นกัน ณ สนามเด็กเล่น ประตูท่าแพ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม หนังสือพิมพ์ ถิ่นไทย ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2519 เริ่มต่อต้านพระถนอม นัดชุมนุมใหญ่แล้ว หลังจากเกิดการปราบปรามใหญ่ที่สนามหลวง เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถิ่นไทย ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ก็พาดหัวว่า “เชียงใหม่วุ่น ลูกเสือชาวบ้านยื่นคำขาด นศ.ยอมออกศาลากลาง” ทั้งยังมีภาพประกอบให้เห็นบรรยากาศ “พลังอาชีวะ” ที่เรายังไม่ทราบว่าเป็นฝ่ายนักศึกษาหรือไม่เดินขบวนรอบรั้วศาลากลาง, “ตำรวจถูกสั่งให้ระวังเหตุการณ์รอบๆศาลากลาง”  และ “กลุ่มนศ.ตั้งแคมป์กลางสนาม”

 

ปิดฉากเสียงของประชาชนด้วยการรัฐประหาร 2519

หลังจากการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว ความรุนแรงทางกายภาพแม้จะจบลง แต่ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างยังดำเนินต่อไปด้วยการรัฐประหารในเย็นวันนั้น พลเอกสงัด ชะลออยู่ประกาศยึดอำนาจรัฐบาล นอกจากจะยุติสิทธิเสรีภาพ ล้มรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอันเป็นเรื่องปกติของการรัฐประหารแล้ว ยังพบว่า รัฐบาลยังได้ออกคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน 2 ฉบับ นั่นคือ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 ที่เป็นคำสั่งให้สื่อมวลชนอยู่ในความควบคุมของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 7 ตุลาคม พุทธศักราช 2519  มีคำสั่งให้หนังสือพิมพ์รายวัน และสิ่งตีพิมพ์อื่นๆ อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการตรวจสอบข่าวสาร และ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 36 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 ที่ระบุหลักเกณฑ์ในการขออนุมัติดำเนินการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวัน และสิ่งตีพิมพ์ต่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งก็คือการคุมกำเนิดหนังสือพิมพ์และเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นนั่นเอง แม้ว่าคำสั่งบางตัวจะถูกยกเลิกไปเพราะว่ามีความรุนแรงมาก แต่นั่นทำให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างยิ่งที่จะสถาปนาคำว่าความอดทนอดกลั้น สิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตยในประเทศแห่งนี้

           

ทศวรรษ 2520

ศูนย์กลางของข่าวสารแบบท้องถิ่นนิยม (ประชาชน = ท้องถิ่นนิยมราชการ)

นโยบายเซ็นเซอร์จากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดอนุรักษ์นิยมถึงขนาดที่จะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง รวมไปถึงกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลหวาดผวานั้น มิใช่เฉพาะการต่อสู้ทางกายภาพด้วยกำลังทหารเท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้ในสมรภูมิของความคิดผ่านทางสื่อมวลชน เราจึงเห็นได้ว่า รัฐบาลประกาศเซ็นเซอร์อย่างเป็นเอาตายและทำการจับกุมผู้ที่มีหนังสือต้องห้ามในครอบครอง หนังสือต้องห้ามก็คือหนังสือที่มีแนวคิดทางการเมืองไปทางซ้ายไม่ว่าจะสายจีน หรือสหภาพโซเวียต ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังประสาทไปถึงขั้นว่า หนังสือใดที่ใช้คำว่า “ประชาชน” “ความยากจน” หรือมี “สีแดง” ก็มีความเสี่ยงว่าจะเป็นเอกสารเผยแพร่ของพวกคอมมิวนิสต์

จึงไม่แปลกอะไรที่สื่อมวลชนจึงไม่มีผลงานที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน หรือคนที่ไม่มีที่ยืนในสังคมอีกเลย นอกไปจากการปรนเปรอด้วยความรุนแรงทางอาชญากรรม ความสนุกสนานของสังคมบันเทิง และข่าวเตือนภัยธรรมชาติ ฯลฯ ที่ล้วนอยู่ห่างไกลกับคำว่า การสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็นที่มีมิติเชื่อมโยงกับการเมือง

กลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา หลังจากความตึงเครียดเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านคอมมิวนิสต์เริ่มลดน้อยลงแล้ว หลังจากที่รัฐประกาศคำสั่ง 66/2523 ซึ่งเป็นแผนแรกนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์จากเหตุผลของการเมืองภูมิภาค หนังสือพิมพ์เริ่มเติบโตโดยมีเนื้อหาทางการเมืองผสมผสานกับข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิง ข่าวภัยพิบัติที่มีอยู่เดิมมากยิ่งขึ้น แม้จะมีรัฐประหารหรือความพยายามรัฐประหารอีกหลายครั้ง ก็ไม่พบว่ามีการเซ็นเซอร์อย่างรุนแรงเหมือนปลายทศวรรษ 2510 ถึงต้นทศวรรษ 2520 อีกต่อไปแล้ว ที่น่าสนใจก็คือ สิ่งที่ไทยรัฐอ้างว่า การพาดหัวข่าวที่เปรม ติณสูลานนท์สั่งปลด อาทิตย์ กำลังเอกให้เหลือเพียงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดตำแหน่งเดียว ในปี 2529 ทำให้ยอดขายพุ่งสูงขึ้นมาก จนน่าจะได้ยอดรวมถึง 7 หลัก[33] นั่นอาจหมายถึง ความกระหายใคร่รู้และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ

จากแกนกลางของข่าวในสถานการณ์การเมืองที่มีใจกลางอยู่ที่ประชาชน และการทำมาหากินของคนระดับล่างในทศวรรษที่แล้ว  มีการเปลี่ยนการสื่อสารท้องถิ่นไปปรากฏตัวอยู่คู่กับอำนาจของสถาบันการศึกษาในนามของกระแสท้องถิ่นนิยมที่มี วิทยาลัยครูเป็นรากฐานสำคัญ การศึกษาท้องถิ่นในแง่มุมต่างๆ ขยายตัวขึ้นไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คติชนวิทยา ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม กระแสท้องถิ่นนิยมที่กลับมาอีกครั้งนั้น พ่วงมากับอุดมการณ์ชาตินิยมและอนุรักษ์นิยมที่มุ่งเน้นหวนกลับไปหาสิ่งเก่าๆอันดีงาม สวนทางกลับท้องถิ่นที่กำลังเติบโตขึ้นด้วยอำนาจของทุนที่ทำให้ชนบทเริ่มเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเกิดแรงงานข้ามชาติขึ้น แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน นอกจากนั้นกระแสท้องถิ่นนิยมนี้ยังพยายามเชื่อมกับการตลาดการท่องเที่ยวที่ขยายตัวจากตัวเมืองไปสู่พื้นที่ป่าเขาอุทยานที่ปลอดจากคอมมิวนิสต์แล้ว

สำนึกท้องถิ่นนิยมที่เกิดขึ้นในยุคนี้จึงกลายเป็นสำนึกที่อยู่ภายใต้เขตการปกครองแบบจังหวัด สอดคล้องกับกำเนิด “คำขวัญประจำจังหวัด” การเติบโตอย่างต่อเนื่องของระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาคทำให้ท้องถิ่นนิยมถูกผูกกับความเป็นราชการมากขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้างกับภาพลักษณ์ข้าราชการที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับประชาชนช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2510

 

ทศวรรษ 2530

สังคมและสื่อที่ขยายตัวหลากหลายมากขึ้นบนฐานทุนนิยม

(ประชาชน = การเข้าถึงทุนที่หลากหลาย)

ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ระบบการสื่อสารสาธารณะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นไปอีก หมุดหมายที่สำคัญเรามักจะนึกถึงพลังสื่อสารที่เกิดจากการต้านรัฐบาลเผด็จการทหารของสุจินดา คราประยูร ที่ทำให้เกิดการรวมตัวประท้วงของชนชั้นกลางที่เรียกว่า “ม็อบมือถือ” มีการสื่อสารแบบใหม่ๆ มีการใช้แฟกซ์แจ้งข่าว แต่กระนั้นรัฐบาลก็พยายามปิดหูปิดตาประชาชนเช่นเดียวกับที่ทุกรัฐบาลพยายามปฏิเสธหลักฐานการใช้ความรุนแรงของตน ในโลกที่เริ่มเข้าสู่ข่าวสารที่ไร้พรมแดนมากขึ้น การรายงานภาพและข่าวของโทรทัศน์ CNN ทำให้เรื่องดังกล่าวปิดไม่อยู่ ทั้งยังทำให้เห็นการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของฝ่ายรัฐจนในที่สุดนำไปสู่การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ที่มีแนวคิดเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐนั่นก็คือ ไอทีวี ในปี 2538

ขณะที่ไทยรัฐ ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นหนังสือพิมพ์ 4 สีฉบับแรก ในวันที่ 4 มิถุนายน 2531 สื่อมวลชนในยุคนี้น่าจะกลายเป็น รูปแบบมาตรฐานของสื่อมวลชนกระแสหลัก ทั้งในแง่โมเดลความสำเร็จทางธุรกิจและการเผยแพร่ข่าวสารที่หลากหลาย รวมไปถึงความครอบคลุมของข่าวสารและพื้นที่กระจายตัว ไม่ว่าจะเป็น ทีวีช่อง 7 และทีวีช่อง 3 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, เดลินิวส์, มติชน, ผู้จัดการ ฯลฯ รวมไปถึงสถานีวิทยุแบบกรมประชาสัมพันธ์, สถานีวิทยุอสมท. ฯลฯ

นั่นทำให้เราพบเห็นการขยายตัวของสื่อในท้องถิ่นที่ล้อมาจากรูปแบบสื่อมวลชนมาตรฐาน ทั้งในรูปแบบข่าวภูมิภาค โทรทัศน์ในระดับภูมิภาคสำหรับภาคเหนือก็คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 ลำปางที่มีการจัดรายการที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะเน้นกิจกรรมของราชการ, สถานีวิทยุที่มีการเปิดให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

ขณะที่เราพบว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เคยลงทุนจัดทำหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ภาคเหนือ ในทศวรรษ 2530 อีกด้วย ที่น่าสนใจก็คือ กระแสหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่งที่จะเชื่อมไปถึงทศวรรษ 2540 ด้วย ดังที่เราเห็นได้จาก เชียงใหม่นิวส์ รายวัน (ปี 2534) ส่วนที่ลำปาง ได้แก่ ฅนเมืองเหนือ รายสัปดาห์ (ปี 2537) ลานนาโพสต์ รายสัปดาห์ (ปี 2540) ไม่นับก่อนหน้านี้อย่าง อิสรภาพ (ต้นทศวรรษ 2530) ที่อยู่ไม่ยืด แม้ก่อนหน้านี้ จะมีหนังสือพิมพ์เก่าแก่อย่าง เอกราช รายสัปดาห์ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2500 แล้วก็ตาม แต่ก็พบว่ามีรูปแบบคนละอย่างกัน

ฅนเมืองเหนือ มีบุคลิกที่คล้ายคลึงกับ ไทยรัฐ ที่มีการพาดหัวข่าวที่หวือหวา เนื้อข่าวหลักอยู่ที่ข่าวอาชญากรรม ภัยสังคม ภัยพิบัติ ความแปลกประหลาด ฯลฯ ขณะที่ ลานนาโพสต์ เน้นข่าวการเมือง เศรษฐกิจมีลักษณะคล้ายกับ มติชน ขณะที่เชียงราย ก็มีเชียงรัฐ (2537 ชื่อน่าจะมาจาก ไทยรัฐ)  ส่วนลำพูนกับน่านยังไม่มีข้อมูลว่าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในปัจจุบันเริ่มเมื่อไหร่แต่ที่น่าสนใจก็คือ นวัตกรรมการสื่อสารรูปแบบใหม่ นั่นคือ การสื่อสารแบบสองทางที่ผู้ส่งข่าวสารได้ร่วมกันสร้างความเป็นชุมชนข่าวสารขึ้นมาในนามของสำนึกความเป็นสาธารณะ สิ่งเหล่านี้พบจากกรณีการก่อตั้งสถานีวิทยุ จส.100 วันที่ 2 กันยายน 2534[34] โดยกองทัพบก ข้อสังเกตก็คือ เป็นช่วงเวลาหลังจากทหารได้การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลชาติชายไปแล้ว อ้างวัตถุประสงค์การก่อตั้งก็คือ เพื่อคลี่คลายวิกฤตปัญหาจราจร กองทัพบกจึงมอบสถานีให้ บ.แปซิฟิค โดยปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ดูแล ในระนาบผิวเผินเราจะเห็นว่า นี่คือ อำนาจการสื่อสารที่สร้างชุมชนการสื่อสารบนท้องถนน ที่สร้างอาสาสมัครรายงานข่าว และบางคนก็อาสาเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ หรือเหตุขัดข้องของรถบนท้องถนน แต่ในระดับโครงสร้างแล้วเราจะเห็นว่า มันไม่ได้เกิดมาจากการเรียกร้องหรือความต้องการร่วมกันของกลุ่มคนใช้รถใช้ถนน แต่เกิดจากการที่มี “ผู้หวังดี” อย่างทหารยินยอมมอบทรัพยากรสาธารณะที่ตัวเองยึดครองเป็นกรรมสิทธิ์แบ่งปันให้เป็นประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรคลื่นและที่ดินมหาศาลทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามรายการเช่นนี้ยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นเวลาอีกหลายปีเมืองทางเหนืออย่างเชียงใหม่ที่มีปัญหาจราจรมากขึ้นจะเปิดช่วงรายการเพื่อรายงานเช่นนี้ขึ้น

อีกส่วนหนึ่งก็คือ การขยายตัวของกลุ่มอาสากู้ภัย ที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนประเภทหนึ่งที่เป็นอาสาสมัคร คนพวกนี้จะมีอำนาจในการสื่อสารผ่านวิทยุสื่อสาร, เครือข่ายความสัมพันธ์กับตำรวจและโรงพยาบาล หน่วยงานของรัฐ พบว่าในปี 2531 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองและส่วนท้องถิ่น ได้มีการอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เพื่อเป็นกำลังสนับสนุนส่วนราชการในยามเกิดเหตุภัยพิบัติหรือเหตุ สาธารณภัย[35] ขณะที่ในปี 2534 สมาคมกู้ภัยลำปางแยกตัวออกมาจาก อปพร.เทศบาลนครลำปาง ต่อมา พ.ศ.2537 ได้ทำการจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนนครลำปาง” [36] นอกจากนั้นยังมี ชมรม อปพร.กู้ภัยนครเชียงราย, ศูนย์ อปพร. จังหวัดแพร่ ฯลฯ ซึ่งลักษณะการรวมตัวดังกล่าวถือได้ว่าคนเหล่านี้เป็นผู้กระตือรือร้นต่อภารกิจในการกู้ภัย ช่วยเหลือ สงเคราะห์ เป็นอาสาสมัครที่มาเติมเต็มช่องว่างระหว่าง ตำรวจ แพทย์ เจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อเกิดเหตุอาชญากรรม ภัยพิบัติ ฯลฯ โดยมีวิทยุสื่อสารเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรับฟังข่าวสารและแจ้งข่าวต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ

นี่คือสถานการณ์ก่อนจะเข้าสู่ทศวรรษ 2540 ที่ข่าวสารและความเคลื่อนไหวท้องถิ่นต่างๆ ได้ก่อรูปไปพร้อมกับกระแสปฏิรูปการเมืองที่มีหลังพิงสำคัญคือ “ภาคประชาชน” กลุ่มเอ็นจีโอต่างๆที่มีบทบาทอย่างมาก ที่อาศัยพลังทางการเมืองของผู้ทำงานกับชนบทสายสุขภาพอย่างประเวศ วะสี, เอ็นจีโอ หรือองค์การพัฒนาเอกชน (อพช.) ได้มีบทบาทเข้ามาร่วมรณรงค์เรื่องการปฏิรูปการปกครองอันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พลังของการเมืองกระแสรองที่พยายามคานอำนาจการเมืองแบบพรรคการเมืองได้ขยายตัวอย่างทรงพลังในช่วงนี้[37]



[1] บทความประกอบการเสวนาสาธารณะ “น้ำยานักข่าวพลเมือง : กำเนิด ความเสื่อมถอย และการเกิดใหม่? : กรณีศึกษาภาคเหนือประเทศไทย” ที่ตัดมาจากงานวิจัย การเกิดขึ้นและขยายตัวของนักข่าวพลเมือง กับความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยในภาคเหนือของประเทศไทย วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555 ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

[2] BOWMAN, Shayne and WILLIS, Chris.(2003). We Media.” How audiences are shaping the future of news and information”. Search from:  www.hypergene.net/wemedia,July, [28 July 2012]

[3]Bentley, C., Littau, J., Hamman, B., Meyer, H., Welsh, B., & Watson, B. (2005).The citizen journalism movement: Mymissourian as a case study, Association for Education in Journalism and Mass Communication. San Antonio, TX.

[4]Glaser, M. (2004). “The new voices: Hyperlocal citizen media sites want you (to write)” Online Journalism Review: University of Southern California

[5]Glaser, M. (2006). “Your Guide to Citizen Journalism”(online). Search from: PBS http://www.pbs.org/mediashift/2006/09/your-guide-to-citizen-journalism270.html.[28 July 2012]

[6]สุทธิชัย หยุ่น. (2550). “ปรากฏการณ์ citizen journalism กำลังทำให้สื่อกระแสหลักต้องขยับตัว”(ออนไลน์). สืบค้นจาก: http://www.oknation.net/blog/black/2007/03/30/entry-1 . [29 กรกฎาคม 2555]

[7] ฐิตินบ โกมลนิมิ, เบญจมาศ บุญฤทธิ์(สัมภาษณ์/เรียบเรียง). (2552). “สมเกียรติ จันทรสีมา : นักข่าวพลเมืองและความหมายใหม่ของสื่อสาธารณะ” (ออนไลน์). สืบค้นจาก:สำนักข่าวชาวบ้านhttp://petitpor.wordpress.com/2009/08/21/citizenreporter-publicmedia[29 กรกฎาคม 2555]

[8] Kasian Tejapira. Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 (Kyoto : Trans Pacific), 2001, p.111-117

[9] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "ไกรศรี นิมมานเหมินท์ มิใช่นักรบท้องถิ่น แต่เป็นผู้สร้าง "คนเมืองกระฎุมพี" รับใช้รัฐไทย" ใน ประชาไทออนไลน์. http://prachatai.com/journal/2009/09/25812 (14 กันยายน 2552)

[10] ไทยรัฐออนไลน์. "ประวัติความเป็นมา, ยุคที่ 1 พ.ศ.2493-2501". http://www.thairath.co.th/corp?subMenu=history&era=era01 (5 ธันวาคม 2555)

[11] ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 75, ตอนที่ 85 , 27 ตุลาคม 2501, ฉบับพิเศษ หน้า 7-10

[12] ระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 45/2506 “เรื่องที่ 19 เรื่อง มติที่ประชุมสัมมนาหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ใน สบ.5.1.1/289  เอกสารส่วนบุคคล ม.ร.ว.ปิ่น มาลากุล  

[13] การประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 1/2508 “เรื่องที่ 32 เรื่อง มติที่ประชุมสัมมนาหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ใน สบ.5.1.1/348 เอกสารส่วนบุคคล ม.ร.ว.ปิ่น มาลากุล  

[14] ไทยรัฐ. "ประวัติความเป็นมา ยุคที่ 4 พ.ศ.2513-2531" . http://www.thairath.co.th/corp?subMenu=history&era=era04 (10 ธันวาคม 2555)

[15] Siam Intelligence Unit, ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย. "วลัญชทัศน์". http://politicalbase.in.th/index.php/%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C (27 พฤษภาคม 2551)

[16] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “003 การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ โดย ผดุงศักดิ์ พื้นแสน”. จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.9-10

[17] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, เชียงใหม่" http://www.14tula.com/province/chiangmai.htm (9 ธันวาคม 2555)

[18] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, เชียงราย" http://www.14tula.com/province/chiangrai.htm (9 ธันวาคม 2555)

[19] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, ลำพูน" http://www.14tula.com/province/lamphun.htm (9 ธันวาคม 2555)

[20] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, ลำปาง" http://www.14tula.com/province/lampang.htm (9 ธันวาคม 2555)

[21] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, แพร่" http://www.14tula.com/province/phrae.htm (9 ธันวาคม 2555)

[22] อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา. "14 ตุลาในต่างจังหวัด, น่าน" http://www.14tula.com/province/nan.htm (9 ธันวาคม 2555)

[23] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “003 การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ โดย ผดุงศักดิ์ พื้นแสน”. จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.16-28

[24] Haberkorn, Tyrell. Revolution Interrupted : Farmers, Students, Law and Violence in Northern Thailand (Bangkok : O.S. Printing House), 2001. p.183

[25] 2519.net. "บทที่ 2 เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นได้อย่างไร(หน้าที่6)" .http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&s_id=29&d_id=1&page=15&start=9 (9 ธันวาคม 2555)

[26] "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517". ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 91, ตอนที่ 169,  วันที่ 7 ตุลาคม 2517, น.18-19 เนื้อความปรากฏอยู่ใน มาตรา 40 ดังนี้
“มาตรา 40 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา

การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน

การปิดโรงพิมพ์หรือห้ามทำการพิมพ์เพื่อบั่นรอเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ปิดโรงพิมพ์ หรือห้ามทำการพิมพ์

การให้เสนอเรื่องหรือข้อความในหนังสือพิมพ์ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนโฆษณา จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง

เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติ

การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์ของเอกชน รัฐหรือหน่วยราชการหรือหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ จะกระทำมิได้”

[27] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “003 การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ โดย ผดุงศักดิ์ พื้นแสน”. จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.29-30

[28] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “003 การต่อสู้ของกระบวนการนักศึกษาประชาชนภาคเหนือ โดย ผดุงศักดิ์ พื้นแสน”. จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.16

[29] กลุ่มนักเรียนประวัติศาสตร์เพื่อ(ประชา)ชาติ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. “004 เพื่อนของผม”ใน จดหมายเหตุความเคลื่อนไหว นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่. เอกสารอัดสำเนา,  น.9

[30] Tyrell Haberkorn ได้รวบรวมรายชื่อบุคคลในภาคเหนือที่ถูกลอบสังหารและทำร้ายซึ่งแทบทั้งหมดจะเป็นสมาชิก สมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย มีรายชื่อดังนี้

  1. นายองอาจ ธงโท ชาวลำพูน ถูกยิงเสียชีวิต เมษายน 2518
  2. นายประเสริฐ โอมอมฤต ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต เมษายน 2518
  3. นายบุญสม จันแดง ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 8 พฤษภาคม 2518
  4. นายผัด เมืองมาหล้า ชาวลำปาง ถูกยิงบาดเจ็บ 11 พฤษภาคม 2518
  5. นายพุฒ ปงลังกา ชาวเชียงราย ถูกยิงเสียชีวิต 22 มิถุนายน 2518
  6. นายแก้ว ปงซาคำ ชาวเชียงราย ถูกยิงเสียชีวิต 22 มิถุนายน 2518
  7. นายจา จักรวาล ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 3 กรกฎาคม 2518
  8. นายบุญช่วย ดิเรกชัย ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 3 กรกฎาคม 2518
  9. นายบุญทา โยทา ชาวลำพูน ถูกยิงเสียชีวิต 18 กรกฎาคม 2518
  10. นายเกลี้ยง ใหม่เอี่ยม ชาวลำปาง ถูกยิงเสียชีวิต 22 กรกฎาคม 2518
  11. นายอินถา ศรีบุญเรือง ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 30 กรกฎาคม 2518
  12. นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 3 สิงหาคม 2518
  13. นายมี สวนพลู ชาวเชียงใหม่ หายสาบสูญ 8 สิงหาคม 2518
  14. นายต๋า แก้วประเสริฐ ชาวเชียงใหม่ หายสาบสูญ 8 สิงหาคม 2518
  15. นายตา อินต๊ะคำ ชาวเชียงใหม่ หายสาบสูญ 8 สิงหาคม 2518
  16. นายนวล สิทธิศรี ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 11 สิงหาคม 2518
  17. นายพุฒ ทรายคำ ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 11 สิงหาคม 2518
  18. นายแสวง จันทาพูน ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 27 สิงหาคม 2518
  19. นายนวล กาวิโล ชาวลำปาง ถูกระเบิดเสียชีวิต 12 ตุลาคม 2518
  20. นายมี กาวิโล ชาวลำปาง ถูกระเบิดบาดเจ็บ 12 ตุลาคม 2518
  21. นายบุญรัตน์ ใจเย็น ชาวลำปาง ถูกยิงเสียชีวิต 18 ตุลาคม 2518
  22. นายจันทร์เติม แก้วดวงดี ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 5 ธันวาคม 2518
  23. นายลา สุภาจันทร์ ชาวลำปาง ถูกยิงเสียชีวิต 12 ธันวาคม 2518
  24. นายปั๋น สูญใส ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงบาดเจ็บ 20 มีนาคม 2519
  25. นายคำ ต๊ะมูล ชาวลำปาง ถูกยิงเสียชีวิต  31 มีนาคม 2519
  26. นายวงศ์ มูลอ้าย ชาวลำปาง หายตัวไป วันที่ 13 เมษายน 2519 NSC (North Student Center) รายงานว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
  27. นายพุฒ บัววงศ์ ชาวลำปาง หายตัวไป วันที่ 13 เมษายน 2519 NSC (North Student Center) รายงานว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
  28. นายทรง กาวิโล ชาวลำปาง หายตัวไป วันที่ 13 เมษายน 2519 NSC (North Student Center) รายงานว่าเสียชีวิตวันที่ 19 พฤษภาคม 2519
  29. นายดวงคำ พรหมแดง ชาวเชียงราย ถูกยิงเสียชีวิต 28 เมษายน 2519
  30. นายนวล ดาวตาด ชาวเชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต 9 พฤษภาคม 2519
  31. นายศรีทน ยอดกันทา ชาวเชียงใหม่ ถูกระเบิดบาดเจ็บ 17 กรกฎาคม 2519
  32. นายชิต คงเพชร ชาวแม่ฮ่องสอน ถูกยิงเสียชีวิต 18 สิงหาคม 2519

Haberkorn, Tyrell. Revolution Interrupted : Farmers, Students, Law and Violence in Northern Thailand (Bangkok : O.S. Printing House), 2001. p.159-163

[31] เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. “ลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย 2516-2519” ใน จาก 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3), 2544, น.332-333

[32] เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช. เรื่องเดียวกัน, น.360

[33] ไทยรัฐ. "ประวัติความเป็นมา ยุคที่ 4 พ.ศ.2513-2531" . http://www.thairath.co.th/corp?subMenu=history&era=era04 (10 ธันวาคม 2555)

[34] js100. "ประวัติ ความเป็นมา, จส.100 "ด้วยใจเพื่อสังคม" " . ในเว็บบอร์ด จส.100 . http://js100.fix.gs/index.php?topic=79.0 (16 สิงหาคม 2553)

[35] อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเทศบาลนครเชียงใหม่ ศูนย์กู้ภัยพิเศษพิงค์นคร. "History". http://www.pingnakorn-rescue.org/# (11 ธันวาคม 2555)

[36] สมาคมกู้ภัยลำปาง. "ประวัติการก่อตั้งสมาคมกู้ภัยลำปาง". http://www.rescuelampang.org/index.php/joomla-overview (11 ธันวาคม 2555)

[37] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ (เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม, พิมพ์ครั้งที่ 3), 2546, น.506-510

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท