Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
การอภิปรายไม่วางใจรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ในประเด็นจำนำข้าวโดยฝ่ายค้าน และวิวาทะของนักวิชาการอาวุโส อาจารย์นิธิ vs อาจารย์อัมมาร/นิพนธ์” เรื่องโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังร้อนแรง มีหลายประเด็นที่อยากจะลองคิดต่อด้วยท่าทีที่ไม่ได้คิดว่าจะมีสติปัญญาร่วมวิวาทะกับผู้หลักผู้ใหญ่
 
เหตุที่เลือกมองจำนำข้าวด้วยสามัญสำนึกแบบชาวนาเพราะเห็นว่า การมองโครงการรับจำนำข้าวว่าดี-เลว ชอบ-ไม่ชอบ มักขึ้นอยู่กับทัศนะ ท่าที และจุดยืนบางอย่างอยู่เสมอ โดยเฉพาะในจุดยืนที่ว่า พี่น้องถูกกดถูกรีดด้วยรูปแบบสารพัดมายาวนาน เมื่อมีนโยบายที่ลืมตาอ้าปากบ้างก็ต้องชื่นชอบ
 
ที่สำคัญคือ การพูดจากแง่มุมชาวนาก็อาจจะไม่ต้องรับผิดชอบด้านความมีเหตุมีผลมากนัก เพราะชาวนามักจะถูกดูถูกอยู่แล้วว่าเป็นพวกโง่งก เหยื่อประชานิยม เป็นผู้คนที่มักถูกมองว่าใช้แต่อารมณ์ความรู้สึก ไม่มองการณ์ไกลเหมือนคนชั้นกลาง
 
 
ข้อถกเถียงเรื่องชาวนายากจน vs ปานกลาง-รวย
 
การมองว่าการอุดหนุนควรให้คนเล็กๆ ได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรกหรือในสัดส่วนที่มากมากกว่า หรือคนรวยไม่ควรได้รับการอุดหนุนเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ข้อถกเถียงในประเด็นว่า ชาวนารายเล็กได้ประโยชน์ในสัดส่วนที่น้อยกว่าชาวนาปานกลางและชาวนารวย หรือในการอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงกับมีข้อสรุปทำนองว่าชาวนารายเล็กไม่ได้ประโยชน์ การพิจารณาประเด็นนี้ต้องแยกแยะเพราะบางส่วนจริง เช่น คนที่ทำนาไว้กินหรือสีข้าวขายเอง แต่ก็มีข้อควรพิจารณาอื่น
 
นิยามชาวนาขนาดเล็กที่ใช้กันอยู่คือ ขายข้าวได้ไม่เกิน 200,000 บาท ในจำนวนราว 14 เกวียนหรือตัน มีข้อน่าสังเกตคือ ชาวนารายเล็กที่เก็บข้าวไว้กินไม่ได้ประโยชน์จากการรับจำนำแน่ๆ แต่การเก็บข้าวไว้กินในหนึ่งปีเพียงเกวียนเดียวเพื่อสีข้าวสารในครอบครัวก็กินแทบไม่หมดแล้ว
 
ส่วนพี่น้องชาวนาแถบภาคกลางหรือในเขตชลประทานได้รับการส่งเสริมให้ปลูกข้าว กข.มายาวนานแล้ว พวกเขาจึงปลูกข้าวเหมือนปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ เพราะสีข้าวสารกินไม่ได้สักเม็ดหนึ่ง เป็นข้าวคุณภาพต่ำเข็นส่งโรงทำแป้งอย่างเดียว ปลูกข้าวเท่าไรก็เข็นเข้าขายให้แก่โรงสีทั้งหมด
 
จึงเชื่อได้ว่า คนปลูกข้าวไว้กินจะเหลือน้อยมากในภาคกลาง และอาจจะมีมากในภาคเหนือ ใต้ ที่มีพื้นที่เล็กๆ รวมทั้งในภาคอีสานซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปีก็สามารถเก็บไว้บริโภคเองแน่ๆ แต่ปริมาณชาวนาและจำนวนข้าวเปลือกโดยรวมที่ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวเพราะเป็นการปลูกข้าวไว้กินจึงไม่น่าจะมากมายนัก
 
อีกประการหนึ่งสำหรับคนปลูกข้าวไว้กินนั้นหากมองการอุดหนุนนับชาวนาในฐานะ “อาชีพ” ที่ควรได้รับการอุดหนุน ก็น่าพิจารณาเหมือนกันการทำนาไว้กินในครัวเรือนจะนับเป็นอาชีพที่ควรจะเข้าไปดูแลอุดหนุนหรือไม่
 
สิ่งที่พบเห็นบ่อยๆ คือ คนเหล่านี้เขาก็ไม่ได้สนใจที่อยากจะเข้าสู่การรับเงินอุดหนุนในช่วงประกันรายได้มากนัก เพราะไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปตั้งแต่ต้องไปแจ้งขึ้นทะเบียน เข้าร่วมจัดประชาคม ไปติดต่อ ธกส.เพื่อเบิกเงิน ฯลฯ ได้ส่วนต่างแค่ราวๆ เกวียนละ 1,000 กว่าบาท และยังไม่แน่นอนว่าจะได้หรือไม่เนื่องจากราคาข้าวอาจจะสูงใกล้ 12,000 บาท โดยรัฐบาลไปต้องจ่ายเงินส่วนต่าง
 
ส่วนประเด็นชาวนาปานกลาง-รวย ที่นิยามว่า ชาวนาที่รายได้มากกว่า 2 แสนบาท ขายข้าวเปลือกได้ 14 เกวียน/ตัน ไม่เรียกชาวนารายเล็ก เรื่องนี้ทำให้นึกถึงพี่น้องในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยงที่มีพื้นที่ทำนากันราว 20 ไร่ต่อครัวเรือน และทำนาได้ข้าวเปลือกไร่ละ 100 ถังหรือหนึ่งตันนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวนาภาคกลางที่ทำนาตั้งแต่ 15 ไร่ขึ้นไปก็กลายเป็นกลุ่มชาวนาปานกลาง-รวยไปหมดแล้ว
 
แต่พี่น้องที่กล่าวมานี้คงจะไม่นับตนเองว่าอยู่ในกลุ่มชาวนาที่พอมีฐานะ และที่ซับซ้อนไปกว่านั้นก็คือ ในครัวเรือนที่ทำนา 20 ไร่ หรืออาจจะเป็น 30-40 ไร่ ก็แล้วแต่ การทำนาแปลงใหญ่ๆ ที่เห็นและนับจากใบประทวน/ใบเสร็จรับเงินจะเป็นเพียงภาพลวงตา เพราะรายได้ดังกล่าวอาจจะเป็นรายได้ของครอบครัวใหญ่ และก็สามารถพบได้โดยทั่วไปเนื่องจากการทำนาเดี๋ยวนี้สามารถบริหารจัดการด้วยจำนวนคนไม่มาก
 
ที่ดินจำนวน 20 ไร่ หรือแม้แต่ 30-40 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของครัวเรือนจนถึงคนรุ่นนี้แล้วหากแบ่งกันตามเจ้าของซึ่งเป็นสมาชิกในครัวเรือนอาจจะเหลือคนละไม่กี่ไร่ รายได้จากการขายข้าวก็ต้องนำมาเฉลี่ยกัน ลุงผมซึ่งเป็นประธานสหกรณ์ที่ดินคลองโยงฯ มายาวนานมาก ตอนนี้อายุ 92 ปีแล้ว มีลูก 12 คน นี่ไม่ต้องนับหลาน เหลน โหลน แบ่งนา 20 ไร่ที่ได้รับมอบจากสหกรณ์เมื่อปี 2519 จะเหลือกันคนละกี่ตารางวา
 
ยังมีเพื่อนๆ ที่ไล่ล่าหาเช่าที่ดินจากนายทุนซึ่งซื้อเก็บเอาไว้ เขายอมจ่ายค่าเช่านาไร่ละ 1,000-1,500 บาทต่อรอบ ดังนั้น การมีนาเช่า 40-50 ไร่ก็ใช่ว่าเขาจะสามารถลืมตาอ้าปากได้แบบรุ่งโรจน์ โดยไม่สมควรจะต้องได้รับการอุดหนุน ผมไม่มีตัวเลขภาพรวมที่จะโต้แย้งว่าคนสองสามกลุ่มเหล่านี้ว่ามีจำนวนเท่าไร เพียงแต่เห็นว่าการนิยามน่าจะมีปัญหาและควรจะตรวจสอบกันอีกมาก
 
 
ข้อถกเถียงเรื่องคุณภาพข้าว
 
แน่นอนว่า การอุดหนุนรายได้แก่ผู้ปลูกข้าวจะทำให้ชาวนาเร่งปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วที่สุด ชาวนาที่เคยปลูกข้าวนาปีจะแห่กันมาปลูกข้านาปรังเพราะข้าวพันธุ์ห่าเหวอะไรก็จำนำได้ 15,000 บาทเหมือนกัน แต่เราต้องไม่ลืมว่าชาวนาในเขตชลประทานแห่มาปลูกข้าว กข.และซื้อข้าวกินกันมานานแล้ว
 
โรงสีชุมชนตั้งแต่สมัยโครงการลงทุนเพื่อสังคม (SIF) โครงการที่อาจมีชื่อแตกต่างไปในจุดประสงค์เดียวกัน ที่มุ่งให้ชาวนาผลิตข้าวคุณภาพดีและสีกินสีขายส่วนใหญ่จึงล้มเหลวและกลายเป็นอนุสาวรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ภาคกลาง โรงสีบางแห่งสีข้าวบ้างแต่เป็นการสีข้าวเปลือกคุณภาพต่ำเพื่อเอาไปหุงให้หมากิน
 
อย่างไรก็ดี นโยบายจำนำได้เปิดรับข้าวคุณภาพต่ำลงไปอีก กล่าวคือ ช่วงนโยบายประกันราคาเคยกำหนดว่าไม่รับข้าวคุณภาพต่ำที่ใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวน้อยกว่า 100 วัน แต่นโยบายจำนำข้าวไม่ได้จำกัดเอาไว้ชาวนาจึงแห่กันหาข้าวอายุ 90 วันหรือน้อยกว่า จนกระทั่งพันธุ์ข้าวเช่นนี้ขาดท้องตลาด ไม่พอความต้องการของชาวนา
 
ความกังวลเรื่องผลจากนโยบายจำนำที่จะนำไปสู่คุณภาพข้าวที่ต่ำ อาจจะเป็นจริงอีกในพื้นที่ซึ่งปลูกข้าวนาปี ดังเช่นในภาคอีสานและภาคเหนือ เพราะข้าวหอมมะลิเป็นข้าวนาปีที่ต้องใช้เวลาปลูกราว 6 เดือน แต่การปรับระบบการผลิตจากข้าวนาปีมาเป็นข้าวนาปรังก็ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ เพราะหากมีข้อจำกัดเรื่องระบบชลประทานก็ไม่สามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น
 
ส่วนข้าวนาปรังที่มีคุณภาพดีในระดับที่บริโภคได้ เช่น พันธุ์ปทุมธานีหรือหอมปทุม (อายุการผลิตราว 4 เดือนหรือ 120 วัน) รวมทั้งข้าวพันธ์พื้นเมืองและข้าวพันธุ์ดีที่มีการพัฒนาใหม่ (เช่น ข้าวนิล สินเหล็ก ปิ่นเกษตร ไรซ์เบอร์รี (Rice Berry) ฯลฯ) ชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่ปลูกอยู่ดีไม่ว่าจะเป็นนโยบายแบบใด จะมีก็แต่โรงสีชุมชนเล็กๆ หรือกิจการวิสาหกิจชุมชนจำนวนหนึ่งซึ่งไม่น่าจะมากนัก
 
การผลิตดังกล่าวนี้ได้รับประโยชน์จากการประกันราคามากกว่าจำนำแน่ๆ เพราะแม้จะสีข้าวขายสีกินเองก็ได้รับส่วนต่างจากการอุดหนุนอยู่ดี แต่กรณีการรับจำนำจะไม่ได้ประโยชน์หากไม่นำข้าวไปขาย ในช่วงโครงการรับจำนำจึงทำให้โรงสีเหล่านี้อยู่ในสภาพแทบจะร้างไปเหมือนกัน
 
นี่อาจจะต้องเป็นสิ่งที่โครงการรับจำนำข้าวควรพิจารณาทางเลือกเชิงนโยบาย เช่น ใช้นโยบายการประกันราคาสำหรับพื้นที่ซึ่งปลูกข้าวไว้กินหรือสีขายในลักษณะโรงสีชุมชน เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ข้าวที่สีขายมีส่วนต่างระหว่างการขายข้าวเปลือกกับสีเป็นข้าวสารขายไม่มากนัก เพราะโรงสีขนาดเล็กมีประสิทธิภาพต่ำ มีต้นทุนต่อหน่วยสูงอยู่แล้ว
 
ตัวอย่างเช่น หากปลูกข้าวหอมปทุมซึ่งรัฐบาลรับจำนำราคาตันละ 16,000 บาท ถ้าสีเป็นข้าวกล้อง (โดยประมาณข้าวเปลือกหนึ่งตันได้ข้าวสารราว 500 ก.ก.) และขายที่ราคา ก.ก.ละ 32 บาท ราคาก็จะเท่ากับขายข้าวเปลือกโดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายใดๆ เลย แต่หากขาย 40 บาทซึ่งคนกินก็ร้องว่าแพงแล้ว ก็อาจจะไม่ได้กำไรเลย
 
เพราะมีค่าใช้จ่ายเรื่องการสี (โรงสีชุมชนส่วนใหญ่รับสีโดยหักเอาข้าวสารไว้ 12% หรือราว 480 บาท) ค่าบรรจุภัณฑ์อีก รวมทั้งค่าขนส่งไปยังผู้บริโภคซึ่งมักมีต้นทุนแพงเนื่องจากทำในขนาดการผลิตที่น้อย รายได้กลับมาก็มีลักษณะเบี้ยหัวแตก สุดท้ายแล้วถ้าเป็นชาวนาที่สมเหตุสมผลเขาจะไม่ทำธุรกิจเช่นนี้ เพราะเข็นข้าวเข้าโรงสีคุ้มกว่า ง่ายกว่า จะมีที่ยังทำอยู่ก็แต่พวกชาวนาดัดจริตหรือกรณีที่มีการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เท่านั้น
 
กล่าวโดยสรุป นโยบายประกันราคาส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพดีอยู่บ้างเล็กน้อย เรื่องกำหนดเกณฑ์ชนิดข้าวที่ไม่ให้มีอายุสั้นจนเกินไป และทำให้การปลูกข้าวคุณภาพดีที่เป็นข้าวนาปีและข้าวพันธุ์ดีโดยเฉพาะการปลูกข้าวอินทรีย์ที่ผลิตเพื่อบริโภคหรือสีขายได้ประโยชน์จากส่วนต่างเงินอุดหนุน ทำให้ต้นทุนต่ำลง
 
แต่ทิศทางหลักของนโยบายทั้งสองมุ่งส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพต่ำเหมือนกัน หากมุ่งที่จะให้เกิดการส่งเสริมข้าวคุณภาพดีสำหรับการบริโภค ข้าวอินทรีย์ ฯลฯ จึงยังต้องการความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในเรื่องระบบตลาดรองรับ การสนับสนุนเชิงนโยบายอื่นๆ ที่มากไปกว่าการย้ายจากโครงการรับจำนำมาสู่การประกันราคา ดังจะพิจารณาต่อไป
 
 
ทำไมชาวนาจึงชอบจำนำข้าว
 
ถ้าคิดแบบสามัญสำนึกคำตอบง่ายนิดเดียวคือ ชาวนาที่ไหนต้องชอบการขายข้าวได้แพง ข่าวทีวีตอนเช้าเมื่อสองสามวันก่อนรายงานว่า ราคาข้าวเปลือกทั่วไปตันละ 8,500 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมะลิตันละ 13,500 บาท ราคาจำนำเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ นั่นหมายความว่า รัฐช่วยอุดหนุนชาวนาเกวียนละ 6,500 บาท
 
ในขณะที่นโยบายประกันราคาข้าวเปลือกทั่วไปกำหนดไว้เพียง 12,000 บาท ได้ซึ่งหมายความว่า ชาวนาจะได้ส่วนต่างเพียง 3,500 บาทเท่านั้น คิดง่ายๆ ว่า เมื่อรัฐบาลรับซื้อข่าวเปลือกในราคาจำนำเช่นในปัจจุบัน ทำให้ชาวนาขายข้าวได้แพงกว่าเกวียนละ 3,000 บาท เข้าใจง่ายจะตายไป
 
อาจมีข้อถกเถียงว่า ในการจำนำข้าวนั้นชาวนาได้ไม่เต็ม 15,000 บาทต่อเกวียน โดยเฉพาะการถูกตัดความชื้น คำตอบง่ายนิดเดียวอีกเหมือนกันคือ การประกันราคาก็ถูกตัดความชื้นเหมือนกัน กรณีประกันราคาที่ 12,000 บาท หากโรงสีรับซื้อที่ราคา 9,000 บาท จะได้ส่วนต่างที่รัฐบาลอุดหนุน 3,000 บาท แต่ราคา 9,000 บาท ต้องมีความชื้นปกติที่ 15% แต่การเกี่ยวด้วยรถเกี่ยวมักมีความชื้นราว 30% จึงถูกหักราว 15 จุดๆ ละ 150 บาท และการรับจำนำก็ถูกหักในตรรกะเดียวกันเมื่อเป็นดังนี้เงินจึงหายไปเหมือนๆ กัน
 
นี่อาจจะต้องรวมการหักราคาเรื่องสิ่งเจือปนอีก เพราะข้าวที่เกี่ยวโดยรถเกี่ยวและเข้าโรงสีเลยมักจะมีสิ่งเจือปนสูง และไม่มีชาวนาที่ไหนดัดจริตเอาข้าวมาตากและทำความสะอาดด้วยสีฝัดหรือสีโบกเหมือนยุคโบร่ำโบราณ เพราะเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่คุ้มกัน (กล่าวคือ ต้องมีลานตาก ยุ้งฉางเก็บ ฯลฯ แต่กรณีเช่นนี้ยังพบในภาคอีสานและภาคเหนืออยู่พอสมควร) แต่ก็ตรรกะเดียวกันคือ ทั้งจำนำหรือประกันก็ถูกหักเหมือนกัน
 
นอกจากนี้ การประกันราคาภายใต้รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ยังคิดผลผลิตที่ไม่ค่อยเป็นจริง เช่น ในภาคกลางคิดให้เพียงราวไร่ละราว 75 ถัง ทั้งๆ ที่ชาวนามักปลูกข้าวได้ไร่ละ 100 ถัง (เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาชาวนาอินทรีย์ดัดจริตแบบผมเองขนาดเกี่ยวข้าวเขียวๆ สดๆ หนีพายุแกมีทำให้ได้ข้าวแบบไม่เต็มเต็มหน่วย แต่ยังได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละราว 80 ถัง) เมื่อรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ประกาศรับจำนำข้าวเปลือกทุกเม็ดจะมีใครไม่ชอบบ้าง
 
เมื่อเป็นดังนี้ สำหรับกลุ่มชาวนาที่ขายข้าวจึงชอบนโยบายจำนำข้าวของคุณยิ่งลักษณ์ จะมีชาวนาบ้าที่ไหนไม่ชอบการขายข้าวได้ราแพงและออกมาร้องเรียนรัฐบาลว่า นโยบายรับจำนำให้เงินอุดหนุนชาวนามากเกินไปเดี๋ยวประเทศชาติจะล่มจม เป็นการทำลายกลไกตลาด ทำลายประสิทธิภาพในการผลิตข้าว ฯลฯ (เช่นเดียวกับที่เราก็ไม่เคยเห็นเจ้าของธุรกิจรถยนต์ออกมาบอกว่า อย่าลดภาษีรถยนต์เลย เดี๋ยวจะทำให้มีคนมาซื้อรถใหม่กันมากแล้วธุรกิจของเขาจะรวยไม่หยุด)
 
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคุยกับชาวนาหลายรายเขาเห็นว่าหากนโยบายการประกันราคาข้าวของประชาธิปัตย์ยกระดับราคาให้สูงเท่ากับหรือมากกว่า 15,000 บาท ก็เชื่อได้ว่าชาวนาจะแห่มาชอบด้วยสามัญสำนึกอีกเช่นกัน เพราะเขาก็รู้ว่าการรับจำนำข้าวเปิดโอกาสให้เกิดการโกงได้มากหลายทาง ใครๆ ก็เห็นได้ว่า การประกันรายได้รั่วไหลน้อยกว่าแต่ชาวนาได้น้อยกว่าถ้าเพดานยังอยู่ที่ 12,000 บาท (รวมทั้งการผลผลิตเพียง 75 ถังต่อไร่ดังกล่าว)
 
ดังนั้น หากประชาธิปัตย์และฝ่ายที่คัดค้านนโยบายจำนำข้าวจะสามารถชักจูงชาวนาให้ไม่ชอบ ก็มีเพียงสองทางเลือกคือ ด้านหนึ่งทำให้นโยบายนี้เป็นเรื่องถาวรและยกระดับการต่อสู้ด้วยเพดานการอุดหนุนให้สูงกว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์
 
หรืออีกด้านหนึ่งคือ พูดเหตุผลให้ชาวนาเห็นว่าการอุดหนุนราวเกวียนละ 6,500 บาท มันมากเกินไปและจะทำให้ชาวนารวยมากเกินไป แต่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา (หรือแม้แต่ในบทความของ อ.อัมมาร/นิพนธ์) ฝ่ายค้านก็ไม่กล้าที่จะหยิบยกประเด็นว่าการตั้งราคาที่ 15,000 บาทไม่สมเหตุสมผล ไม่เหมือนการประกันรายได้ที่มีการคำนวณเอาไว้อย่างดีว่าให้กำไรชาวนาพอลืมตาอ้าปากได้แล้ว
 
เราจึงเห็นแต่ประเด็นอภิปรายมุ่งไปยังปัญหาการได้ส่วนแบ่งของโรงสี ชาวนาระดับกลาง-รวย และ การทุจริตในกระบวนการการค้าข้าวของรัฐบาล และเลือกกล่าวแต่เพียงว่า หากใช้เงินมากเกินไปเราจะไม่มีใช้ในโครงการสวัสดิการ สังคมต่างๆ
 
ถึงวันนี้น่าจะเป็นเรื่องดีเมื่อนโยบายการอุดหนุนชาวนาเป็นสิ่งที่ลงรากปักฐานในสังคมแล้ว ที่เหลือจึงเป็นการถกเถียงในกรอบว่าจะช่วยอุดหนุนชาวนาเท่าไร-อย่างไร ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองที่แข่งขันเชิงนโยบายที่จะต้องตอบคำถามกับสังคมว่าจะเอาเงินมาจากไหนและบริหารจัดการอย่างไร ถ้าจะบริหารจัดการด้วยการดัดจริตเป็นแม่ค้าข้าวเสียเองแล้วเจ๊งก็ต้องรับผิดชอบ
 
ส่วนพรรคการเมืองไหนที่คิดว่า นโยบายของตน (เช่น การประกันรายได้) สมเหตุสมผลกว่าก็ไม่ต้องอมพะนำ ว่ากันออกมาให้ชาวนาได้ฟังกันตรงๆ เลยว่าดีกว่าอย่างไร ในเมื่อชาวนาได้ประโยชน์จากรายได้ที่น้อยกว่าถึงราวเกวียนละ 3,000 บาท ถ้าอยากจะซื้อใจชาวนาหรือสร้างความนิยมก็ขอให้กล้าๆ กันหน่อย
 
 
การปรับเชิงนโยบาย
 
เราจะปรับทางเลือกเชิงนโยบายได้อย่างไร อาจมีหลายคำถาม บางคำถามเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่มีความรู้ก็ขอให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตอบ เช่น ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการข้าวค้างสต็อกและการขายข้าวที่รับซื้อราคาแพงมาเก็บไว้ ที่ผ่านมา เราไม่เห็นรัฐบาลจะตอบคำถามได้ชัดเจนว่า ขายให้ใครได้เท่าใดและที่สำคัญคือ ในราคาเท่าไรด้วย เรื่องแบบนี้ก็เดาได้ว่าถ้าขายได้มากแล้วได้กำไรรัฐบาลที่ไหนก็คงรีบเอาตัวเลขมาเปิดเผย
 
ประการแรก รัฐบาลควรเข้าไปดูแลกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจำนำ กลุ่มแรกคือ บรรดาโรงสีชุมชนทั้งหลาย โดยเฉพาะที่มุ่งผลิตข้าวอินทรีย์/ปลอดสาร หรือข้าวที่มีคุณภาพดี โรงสีชุมชนหลายแห่งที่สามารถพัฒนาตลาดเชื่อมโยงกับผู้บริโภคและตลาดต่างประเทศในระบบการค้าที่เป็นธรรม แต่กำลังจะล้มละลายเพราะชาวนาเข็นข้าวเข้าโครงการรับจำนำหมด
 
ดังกลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์กองทุนข้าวจังหวัดสุรินทร์ที่มีการเชื่อมโยงไปสู่ตลาดในยุโรปประสบปัญหามากเพราะเมื่อช่วงก่อนนโยบายจำนำการรับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากชาวบ้านได้ในราคา 20 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกในตลาดราคาเพียง ก.ก.ละ 16 บาท ช่วงนโยบายจำนำทำให้ต้องซื้อข้าวจากชาวบ้านในราคาที่สูงแต่ก็ทำได้เพียงก.ก.ละ 21.50 บาท เพราะยิ่งซื้อแพงสีข้าวไปขายก็ไม่คุ้ม ผู้บริโภคต่างประเทศก็สามารถหันไปหาตลาดที่อื่น
 
ทางออกจึงควรจะมีนโยบายที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนกลุ่มชาวนาที่รักษาหรือหันมาปลูกข้าวคุณภาพดีและเชื่อมโยงกับโรงสีชุมชนและตลาดข้าวทางเลือก กล่าวคือ อาจจะเป็นการอุดหนุนเงินส่วนต่างโดยใช้นโยบายประกันราคาแต่เพิ่มเพดานเงินให้สูงเท่ากับการรับจำนำคือ 15,000 บาท หรือถ้าแสลงหัวใจไม่อยากเรียกประกันรายได้ก็อาจเรียกเงินอุดหนุนก็ได้ เพราะจะเรียกอย่างไรก็คือเงินที่รัฐเข้าไปอุดหนุนเหมือนกัน และเป็นการอุดหนุนที่ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นแม่ค้าเอาข้าวไปหาที่ขายเองอีกด้วย
 
ยิ่งถ้าเป็นการผลิตข้าวอินทรีย์ก็ยิ่งควรสนับสนุนให้มากขึ้นด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจในการปรับระบบการผลิต แต่สิ่งที่เป็นอยู่ก็คือ ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ภายใต้นโยบายทั้งจำนำและประกันรายได้ ก็ปล่อยให้ธุรกิจข้าวสารเพื่อการบริโภคถูกผูกขาดโดยบริษัทค้าข้าวถุงไม่กี่แห่งเท่านั้น ไม่มีรัฐบาลไหนๆ สนใจส่งเสริมข้าวคุณภาพดีดังกล่าวนี้เหมือนกัน
 
ประการที่สอง ถ้าเห็นว่าประเด็นเรื่องการปลูกข้าวหรือเก็บข้าวไว้กินเป็นเรื่องใหญ่ก็น่าจะมีนโยบายอุดหนุนเฉพาะลงไปอีกเช่นนี้ ซึ่งนี่อาจจะเป็นการผสมผสานด้านดีของนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิปัตย์เข้ามา ชาวนารายเล็กๆ จะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
 
ประการที่สาม รัฐบาลอาจพิจารณาจำกัดการช่วยเหลือชาวนารวยโดยมุ่งให้ชาวนารายเล็กก็ได้ แต่ต้องดูจากสภาพความเป็นจริงดังที่ได้พิจารณามาแล้ว ผู้คนคงจะเห็นร่วมกันว่า เจ้าที่ดินรายใหญ่ไม่ควรได้รับประโยชน์จากนโยบายอุดหนุน ส่วนเกณฑ์ชาวรวยจะเป็นแค้ไหน อย่างไรก็ว่ากันในรายละเอียดต่อไป
 
 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1071 และฉบับที่ 1072

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net