Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กำเนิด “นักข่าวพลเมือง” ในกระแสท้องถิ่นนิยมสิทธิ และประชาธิปไตย

ในช่วงปี 2540-2550 คำว่า “นักข่าวพลเมือง” ยังไม่ปรากฏขึ้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราพยายามนิยามความหมายของประชาธิปไตยการสื่อสาร โดยการให้เสียงของคนที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ในสื่อสมัยใหม่ ได้เริ่มปรากฏขึ้น พร้อมกับการเติบโตของเทคโนโลยีแบบใหม่ในสมัยนั้น และได้กลายเป็นฐานของการนำมาอธิบายความเป็น “นักข่าวพลเมือง” ของแวดวงการสื่อสารในช่วงเวลาต่อมา(ช่วง 2550-ปัจจุบัน)  ซึ่งแน่นอนว่า ความคิดเรื่อง “การให้พื้นที่ของคนไม่มีเสียง” ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่ผูกโยงกับอุดมการณ์  ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงอำนาจในการกุมทรัพยากรสื่อ อย่างแยกกันไม่ออก

หัวข้อนี้จึงจะนำเสนอให้เห็นถึง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในภาพรวมเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงบริบทที่แวดล้อม จนก่อให้เกิดความพยายามจะสร้างทางเลือกในการสื่อสารซึ่งเป็นผลมาจากฐานความคิด “เรื่องประชาธิปไตยในการสื่อสาร” จากนั้นจะพาสำรวจปริมณฑลการสื่อสารในท้องถิ่น(ภาคเหนือ) ว่าเป็นลักษณะใด สุดท้ายจะขมวดปมเพื่อให้เห็นว่า ขอบเขตการสื่อสารภาคพลเมืองที่เกิดขึ้นในพื้นทีสื่อกระแสหลัก และกระแสรองว่าอยู่ตรงไหน อะไรที่กลายเป็นข้อจำกัด อันจะทำให้เข้าใจช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การสื่อสารพลเมืองที่อยู่นอกพื้นที่วงการสื่อสารในเวลาต่อมา

 

นโยบายพัฒนา กับ กระแส “ท้องถิ่นนิยม”ช่วงทศวรรษ 2540

ต้นทศวรรษ 2530 เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเกิดขึ้นของแนวความคิดที่เน้นวัฒนธรรมของชาวบ้าน และได้ก่อเกิดนักพัฒนาเอกชนและชาวบ้านที่เคลื่อนไหวภายใต้มโนทัศน์ ”วัฒนธรรมชุมชน” ทั่วประเทศอันเป็นผลมาจากขบวนนักศึกษาที่สืบทอดอุดมการณ์ “ ซ้าย” ได้ปรับบทบาทตนเองจากความคาดหวังว่าที่จะเป็นนักปฏิวัติสังคมมาสู่การเป็น “นักพัฒนา” แทน  และได้ออกเดินทางทำงานพัฒนาในรูปแบบการทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องปัจจัยการผลิต เช่น ธนาคารข้าว ธนาคารควาย ในทศวรรษ 2520[2]

อันที่จริงแล้ว กระแสเรื่อง “ท้องถิ่นนิยม” เป็นที่แพร่หลายตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เราจะเห็นงานศึกษาท้องถิ่นในแวดวงวิชาการเป็นจำนวนมากทั้งงานด้านเศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ[3] โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของมหาวิทยาราชภัฎทั่วประเทศ(หรือสมัยนั้นเรียกว่า “วิทยาลัยครู”)ก่อให้เกิดงานศึกษาเรื่องท้องถิ่นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามพบว่างานเกี่ยวกับท้องถิ่นโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ แตกออกเป็นสองกระแส หนึ่งคือ เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่พยายามผูกท้องถิ่นกับประวัติศาสตร์ของชาติ สองคือ ประวัติศาสตร์แนววัฒนธรรมชุมชนโดยพวก”นักพัฒนา”ที่เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นและการเป็นที่นิยมในงานวิชาการในช่วงทศวรรษต่อมา

ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ความคิดเรื่อง “วัฒนธรรมชุมชน” ได้เป็นผลผลิตใหม่ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับรัฐจากนโยบายการพัฒนาที่เข้ามาและเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรของชาวบ้าน[4]กรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจน งานวิจัยไทบ้าน “แม่มูน”การกลับมาของคนหาปลา[5]

ถึงแม้ว่า การใช้ “วัฒนธรรมชุมชน” ในการต่อสู้ กับรัฐจะสามารถเปลี่ยนจินตนาการ การขยายตัวของการเคลื่อนไหวของชาวบ้านได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในจินตนาการทางการเมืองที่สำคัญได้แก่ การเกิดขึ้นของความคิดเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน” [6]และผลสำเร็จในการต่อสู้ที่เห็นได้ชัดและเป็นรูปธรรมที่สุด คือ การออกรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มีการรับรอง “สิทธิชุมชน”  ในมาตรา 46

แต่การที่ต้องต่อสู้กับวาทกรรมการพัฒนาอย่างหนักที่พยายามตีตราพวกเขาว่า พวกขัดขวางการพัฒนา นายหน้าค้าความจน พวกค้านอย่างเดียว ฯลฯ ผ่านพื้นที่สื่อที่ชนชั้นนำได้กุมไว้ ทำให้ขบวนการของกลุ่มคนที่เรียกว่า “ภาคประชาชน”(นักพัฒนา นักวิชาการ)เริ่มทำการสรุปบทเรียนถึงความล้มเหลวในขบวนการต่อสู้โดยเฉพาะช่วงหลังทักษิณขึ้นมานายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 พวกเขาได้ตระหนักว่า ข่าวที่ถูกนำเสนอเป็นเพียงแค่ “ปรากฏการณ์ของข่าว” เท่านั้น[7]กลุ่มคนเหล่านี้จึงเลือกที่จะสร้างพื้นที่สื่อสารใหม่เพื่อต่อสู้กับ วาทกรรมเหล่านี้ พร้อมกับเรียกขานตัวเองว่า “สื่อทางเลือก” อันหมายถึง หนึ่ง รูปแบบที่ไม่ธรรมดาตามความเคยชิน สอง  เนื้อหาและการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในสังคมไทย[8]

 

ตลาดหนังสือพิมพ์ภาคเหนือขยายตัวอีกระลอก

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ ในฐานะสื่อท้องถิ่นซึ่งที่มีรูปแบบสื่อมวลชนมาตรฐาน ที่พบว่าแทบทั้งหมดทำงานเชื่อมโยงกับสำนักข่าวในกรุงเทพฯ ทั้งยังเป็นผู้ส่งข่าวภูมิภาค หรือสกู๊ปเกี่ยวกับจังหวัดต่างๆเข้าไปยังส่วนกลาง พบการเกิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ดังนี้ จังหวัดลำปางมี สะกิดข่าว (ลำปาง 2543),  แมงมุม (ลำปาง ), ลำปางนิวส์ (ลำปาง 2548), จ.พะเยา มีพะเยารัฐ (พะเยา 2546 ได้รับอิทธิพลจาก สนธิ ลิ้มทองกุล และเครือผู้จัดการ) เม็งราย (เชียงราย 2546 เดิมออกเป็นรายสัปดาห์ พอปี 2548 ปรับมาออกเป็นรายปักษ์) ฯลฯ อย่างไรก็ตามสื่อกระแสหลักเช่นนี้ ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเอาตัวรอดในตลาดรัฐและทุน การดำรงอยู่ได้ทำให้ต้องประนีประนอมกับฝ่ายรัฐและทุนและผลประโยชน์ทับซ้อนในฐานะที่เป็นธุรกิจในท้องถิ่นอีกด้วย กล่าวโดยสรุป พื้นที่สื่อสารของสื่อกระแสหลักยังคงถูกครอบงำโดยรัฐและทุน แม้ว่าจะมีความพยายามแย่งชิงพื้นที่ของสื่อ บางกลุ่ม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

 

กำเนิดสื่อทางเลือกบนพื้นที่การสื่อสารใหม่

ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้ “สื่อทางเลือก” ขยายตัวขึ้นในหลายรูปแบบและทวีบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็น อินเทอร์เน็ต เครือข่ายสังคมออนไลน์ เคเบิลทีวี สิ่งพิมพ์ท้องถิ่น หรือวิทยุชุมชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติในมาตรา 40 ที่ว่าด้วยคลื่นความถี่วิทยุและการกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ที่ระบุว่า “คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม  รวมทั้งมีการตรากฎหมายลูก คือพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ซึ่งมาตรา 26 สำคัญระบุให้ภาคประชาชนเข้าถึงและใช้คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยต้องไม่เป็นไปเพื่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ

 

วิทยุชุมชน สื่อของชุมชน?

การออกกฎหมายฉบับนี้ได้เกิดการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ จากเดิมอยู่ในอำนาจรัฐและทุน มาอยู่ในมือภาคประชาชนร้อยละ 20 ชุมชนสามารถบริหารจัดการวิทยุได้ด้วยตนเอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และนักพัฒนาองค์กรเอกชน ได้ออกมาส่งเสริมและขยายความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดำเนินงานวิทยุชุมชน ให้แก่ประชาชนผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการที่ว่า วิทยุชุมชนเป็นของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ดำเนินการโดยใช้รูปแบบอาสาสมัคร และไม่แสวงหากำไรทางธุรกิจ และในปี พ.ศ.2545 วิทยุชุมชนต้นแบบ 100.75 กาญจนบุรี ซึ่งถือว่าเป็นวิทยุชุมชนแห่งแรก จึงเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในช่วง พ.ศ.2547 รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์ อนุญาตให้วิทยุชุมชนสามารถมีโฆษณาได้ ส่งผลให้จำนวนวิทยุชุมชนจากประมาณ 500 สถานี เพิ่มเป็น 2,000 กว่าสถานี ภายในเวลา 3 เดือนหลังจากประกาศอนุญาตให้มีโฆษณา และเพิ่มเป็นกว่า 4,000 สถานี ในปี 2552[9] (ปัจจุบันมีวิทยุขอขึ้นทะเบียนกับกสทช.ถึง 7,000 สถานี)

การดำเนินการของวิทยุชุมชน (แม้จะมีการอ้างว่าแท้บ้าง เทียมบ้าง) โดยหลักการแล้วมันทำให้เกิด “นักสื่อสารภาคพลเมือง” ขึ้น เพราะคนจัดรายการไม่ได้ฝึกฝนให้เป็นนักจัดรายการหรือนักรายงานข่าวมืออาชีพ แต่สามารถใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการสื่อสารประเด็นของตนเองไปยังชุมชน จนเกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสารขึ้น และที่น่าสนใจคือ ประเด็นการนำเสนอไม่ได้อยู่ที่ปัญหาสัพเพเหระที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวันเพียงอย่างเดียว แต่มีการพูดถึงนโยบายของรัฐ การเมือง (สถานีวิทยุเสื้อเหลือง,แดงซึ่งจะกล่าวต่อไป) การแก้ปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติ (วิทยุชุมชนคนเมืองลี้) ฯลฯ

นอกจากนี้ กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “คนชายขอบ” ในสังคม และนักพัฒนาบางส่วนที่ทำในประเด็นดังกล่าวก็พยายามเข้ามาใช้พื้นที่นี้ในการสื่อสารกับกลุ่มประเด็นของตน เช่น แมพเรดิโอ เชียงใหม่ (2545) ทำเรื่องแรงงานข้ามชาติ “ วิทยุคลื่นเสียงเด็ก” Child Voice Radio (CVR) (2548)ของมูลนิธิศูนย์ลูกหญิงจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นรายการวิทยุที่จะให้ข้อมูลด้านสิทธิและการค้ามนุษย์ชาติ วิทยุชนเผ่า(มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา-เชียงราย(2545) ฯลฯ

อีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาใช้วิทยุชุมชน คือ กลุ่มพระสงฆ์โดยมีความมุ่งหวังจะเผยแพร่ธรรมคำสั่งสอนทางพุทธศาสนา เช่น (น่าสนใจว่า ณ ปัจจุบัน การขอคลื่นเกี่ยวกับธรรมะต่อกสทช.มีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว) วิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน(คลื่น 94 MHz จ.น่าน) วิทยุชุมชนเสียงธรรม ลำปาง 106.75 FM วิทยุชุมชนธรรมะห้วยตองสัก อ. จอมทอง เชียงใหม่ (FM 98.75 MHz) วิทยุชุมชนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม 104.5 MHz ฯลฯ

อาจกล่าวได้ว่า ทันทีที่มีการเปิดพื้นที่ ก็มีพลเมืองจากหลากหลายกลุ่มพยายามเข้ามาขอส่วนแบ่งเพื่อสื่อสารในประเด็นของตนให้กับสังคมและกลุ่มของตนเองได้รับรู้

ในปัจจุบัน กสทช.ได้ถือกำเนิดแล้ว แต่การยืนยันสถานะให้วิทยุชุมชนยังไม่เกิดขึ้นการเรียกคืนคลื่นจากกลุ่มทุนธุรกิจเพื่อมาจัดสรรใหม่ก็ถูกต่อต้านอย่างนักทำให้ต้องเลื่อนเวลาจัดสรรคลื่นไปอีก 3 ปี  นอกจากนี้ กสทช. ยังออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2555 เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา บังคับให้ผู้ประกอบการวิทยุรายใหม่และรายเดิมต้องลดกำลังส่งเหลือ 500 วัตต์ ลดความสูงเสาลงเหลือ 60 เมตร และลดรัศมีกระจายเสียงเหลือ 20 กม[10] จึงอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่สื่อสารทรงพลัง และมีผลต่ออำนาจมาก รัฐจึงพยายามเข้ามาจัดการควบคุม

 

ข่าวออนไลน์ สื่อทางเลือก

ส่วนสื่อทางเลือกที่เกิดขึ้นบนอินเตอร์เน็ตในช่วงแรกเริ่มและเปิดพื้นที่ให้กับประชาชน หรือสาธารณชนได้เข้ามาสื่อสาร ประเด็นของตนเอง ที่เด่นๆ คือ ประชาธรรม และประชาไท แม้ว่าข่าว สาร หรือบทความโดยส่วนใหญ่ของทั้งสองเว็บนี้จะเป็นการผลิตโดยกองบรรณาธิการ หรือคอลัมนิสต์ แต่ได้เปิดโอกาสให้คนอ่าน ชาวบ้าน ส่งข่าวสาร ข้อมูลเข้ามา แต่สื่อทางเลือกในช่วงนี้ก็เป็นสำนักข่าวชายขอบที่ไม่ได้มีตลาดมวลชนที่กว้างขวางนัก โดยเฉพาะในทศวรรษ 2540 ที่ยังไม่มีแรงกระตุ้นทางการเมือง

การต่อตั้งสำนักข่าวประชาธรรมเกิดขึ้นจากการที่กลุ่มนักคิด นักพัฒนาเอกชน และนักกิจกรรมภาคเหนือในช่วงปลายปี 2542 (ซึ่งได้กล่าวตั้งแต่ต้นแล้วว่าเป็นคนที่เรียกตนเองว่า “ภาคประชาชน”)ที่สรุปบทเรียนการต่อรู้กับรัฐในช่วงทศวรรษ 2530 ว่าข่าวสารภาคประชาชน อันได้แก่ ปัญหาความยากจน ปัญหาคนชายขอบและปัญหาของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ยังมิได้ถูกนำเสนอสู่สังคมมากเพียงพอ เนื่องด้วยข้อจำกัดของสื่อมวลชนและของภาคประชาชนเอง ทุนพาณิชย์และบริโภคนิยมมีส่วนทำให้เกิดการสื่อสารทางเดียวจากรัฐมาสู่ประชาชน และจากเมืองสู่ชนบทในขณะที่สังคมไทยได้ก้าวล่วงสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน ประชาชนระดับล่างลุกขึ้นทวงถามสิทธิในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อันเป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานที่ถูกการพัฒนาในห้วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมาพล่าผลาญไป คนไทยจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ชนชั้นกลาง ชาวบ้านกำลังตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ การติดตาม ตรวจสอบรัฐ และการพึ่งตนเองในการจัดการปัญหา ทั้งประเด็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การศึกษา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ฯลฯ ทว่าข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนเหล่านี้จะปรากฏเป็นข่าวต่อเมื่อมีความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้น หรือไม่หากเป็นข่าวก็มักนำเสนอแต่เพียงปรากฏการณ์ของข่าวเท่านั้น[11]

ต่อมาใน ปี 2543 มีการจัดตั้งสำนักข่าวประชาธรรม โดยการระดมทุนในเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้าน และนักวิชาการ เงินทุนเริ่มต้นของสำนักข่าวประชาธรรมเริ่มต้นเพียง 300,000 บาท เป็นเงินทุนจำนวนไม่มากเลยเมื่อเทียบกับสำนักข่าวใหญ่ๆ ที่ใช้เงินทุนมหาศาล[12] ด้วยเงินทุนที่จำกัด ประชาธรรมจึงเน้นกองบรรณาธิการขนาดเล็ก และเดินสายอบรมการทำข่าวทั่วประเทศโดยเน้นไปที่เครือข่ายภาคประชาชน ก่อให้เกิด “นักข่าวภาคประชาชน” (ตอนนั้นใช้คำเรียกว่า “เหยี่ยวข่าว”) ส่งข่าวในพื้นที่เข้ามา หากไม่เข้ารูปแบบข่าว กองบรรณาธิการประชาธรรมจะเรียบเรียงใหม่ให้ดูเป็นข่าวแล้วลงเว็บ ส่วนที่เขียนมาดีแล้วก็จะนำลงเลย ข่าวเล็กข่าวน้อยที่ปรากฏเป็นข่าวจะค่อยๆ สร้างภาพ สร้างประเด็นปัญหาสาธารณะขึ้นมาทำให้สังคมเข้าใจปัญหาอันสลับซับซ้อนได้ กองบก.จะเชื่อมโยงข่าวเล็กข่าวน้อยให้กลายเป็นภาพใหญ่เพื่อให้เห็นถึงปัญหาเชิงนโยบาย[13] ที่น่าสนใจก็คือ ความเชื่อมโยงของสำนักข่าวประชาธรรมนี้มีความเชื่อมโยงกับเมืองหลวงของภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ทั้งในฐานะตำแหน่งที่ตั้ง และโต๊ะข่าว (กองบรรณาธิการ) ที่ในเว็บไซต์ประวัติของสำนักข่าวบอกว่า ประกอบด้วย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม ผู้สื่อข่าว อาสาสมัครนักวิชาการ นักกิจกรรมอิสระ ผู้ปฏิบัติงานองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ และประเด็นที่นำเสนอโดยเฉพาะในระยะหลังๆ พร้อมๆไปกับยุบตัวของศูนย์ข่าวภูมิภาคอีสานและใต้ที่ยุบตัวลงไปในปีที่ 3 ของการก่อตั้ง

มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย-โทรทัศน์ชุมชน[14] ถือกำเนิดขึ้นโดยมีที่มาไม่ต่างจากประชาธรรม เริ่มจากคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งจำนวน 5 คน ในปลายปี 2534 ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมในรั้วและนอกรั้วมหาวิทยาลัย รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองหลังช่วงการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช) โดยในขณะนั้นใช้ชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา” ทำกิจกรรมโดยแสดงละครสะท้อนสังคมตามที่ต่างๆ ในปี 2538 ทำเวบไซต์ขึ้นในชื่อ www.thebangkok.com  และ ได้พยายามส่งเสริมการใช้ ICT ในงานพัฒนาสังคม ปี2541 เคลื่อนย้ายพื้นที่งานสู่เชียงรายพร้อมกับเปลี่ยนชื่อเวปเป็นบ้านนอกดอทคอม

มูลนิธิกระจกเงาเชียงรายพยายามสร้างพื้นที่สื่อสารที่แตกแขนงแยกย่อยออกไปอีก อาทิ หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ด้วยความหวังว่าการกระจายคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ตามมาตรา 26 จึงพยายามทดลองโทรทัศน์ชุมชน โดยให้ชุมชนออกแบบ ซึ่งมีถึงสิบรายการ ทั้งรายการกฎหมาย อาหาร สุขภาพ รายการเยี่ยมชุมชน รายการวัฒนธรรม รายการข่าว แต่พอทำมาระยะหนึ่งก็เริ่มพบว่า การทำงานรูปแบบนี้ เราเสียเวลาไปกับกระบวนการผลิตเยอะมาก ทำให้ริเริ่มปรับรูปแบบรายการให้มีจำนวนลดลง และทำให้ง่ายขึ้น จนเหลือเพียงรายการเวทีเสวนาในชุมชน โดยประเด็นการเสวนาก็ยังมาจากคนในชุมชน ที่เขาจะกำหนดกันเองว่า อยากจะคุยกันเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งมีทั้งเรื่อง เด็ก เรื่องการกินเหล้า ยาเสพติด เป็นต้น แล้วเชิญคนในชุมชนมาแลกเปลี่ยน แต่ก็การออกอากาศของทีวีชุมชนก็ไม่ประติดปะต่อ ออกบางคราว อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่าในพื้นที่ภาคเหนือ รัฐไม่ถึงกับแข็งกร้าวใส่[15] แต่ในขณะที่ภาคใต้ถูกจับ[16]

ส่วน ประชาไท เกิดขึ้นจากการริเริ่มของจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และคณะบุคคลซึ่งประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา, นักกิจกรรมสังคม, นักวิชาการด้านสื่อมวลชน และสื่อมวลชนโดยให้เหตุผลของการจัดตั้งหนังสือพิมพ์อิสระบนเว็บว่า ความคิดเรื่องการทำหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นนานแล้ว ถ้าถามว่ามีเหตุการณ์อะไรที่เป็นแรงผลักดันให้สนใจที่จะทำสื่อ เป็นเหตุการณ์ชัดๆคงไม่มี แต่เป็นความรู้สึกจากสถานการณ์ภาพรวมว่าสื่อมวลชนบ้านเราไม่เป็นอิสระ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ บรรยากาศของสื่อมันกลับไปคล้ายยุคเผด็จการทหาร ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งคณะบุคคลร่วมดำเนินโครงการวารสารข่าว ทางอินเตอร์เน็ตเพื่อการศึกษาและสุขภาวะของชุมชน ระบุวัตถุประสงค์ของคณะบุคคลไว้ว่าเพื่อดำเนินการจัดทำเว็บไซต์วารสารข่าวและสาระบันเทิงสำหรับประชาชนทั่วๆไป ให้ได้มีมุมมองที่รอบด้านในการติดตามข่าวสาร และเป็นช่องทางการสื่อสารสำหรับประชาชนในทุกระดับ โดยเป็นการดำเนินการแบบไม่แสวงผลกำไร  และเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 ได้เผยแพร่ข่าวและสาระบันเทิงอย่างเป็นทางการและดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[17]

ประชาไท เป็นเว็บข่าวทางเลือกที่นำเสนอข่าวสาร บทความ ความคิดเห็น คอลัมน์ที่แตกต่างออกไปจากสื่อกระแสหลัก นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้คนอ่าน ชาวบ้าน นิสิต นักศึกษา ส่งข่าวสาร ข้อมูล ประสบการณ์เข้ามาให้ โดยเปิดพื้นที่ในส่วน“บทความ” “เว็บบอร์ด”(ปัจจุบันถูกปิดไปเนื่องจากไม่สามารถดูแลจัดการได้) “Blog” “นักข่าวพเนจร” (ปัจจุบันมีการให้พื้นที่กับสิ่งที่เรียกว่า “นักข่าวพลเมือง”โดยเฉพาะ) ที่น่าสนใจคือ ประชาไทมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้ามาช่วยแปลข่าว แปลบทความจากเวอร์ชั่นภาษาไทยเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ทำให้นิสิต นักศึกษา นักเลงภาษาผู้สนใจการเขียน การแปล สามารถใช้เป็นเวทีฝึกฝนฝีมือ[18] ไม่เพียงเท่านั้น ประชาไท ยังนำเสนอข่าวสารจากภูมิภาคต่างๆ เนื่องจากว่าเคยมีสาขาอยู่ในภูมิภาค ที่ภาคเหนือก็ตั้งอยู่ที่เชียงใหม่ จึงพบการนำเสนอทั้งข่าวสาร สรุปการเสวนา ประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวกับพื้นที่ภาคเหนือ น่าเสียดายที่ว่า สาขาภาคเหนือถูกยุบไปแล้ว

การเกิดขึ้นของประชาไท คาบเกี่ยวระหว่างการเกิดขึ้นของนักข่าวพลเมืองในสื่อรูปแบบเดิม(งานเขียน, วิทยุ,  web1.0 ฯลฯ) กับการเกิดขึ้นของสื่อรูปแบบใหม่ ( ดิจิตอล มีเดีย Web2.0 ฯลฯ) ประกอบกับเนื้อหา (Content) ที่ดึงดูด พื้นที่ที่เปิดกว้างให้ผู้อ่านได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดชุมชนของข้อมูลข่าวสารขนาดใหญ่ทั้งในรูปแบบของข่าวสารที่เป็นแบบแผน กับข้อมูลข่าวสารความเห็นจากผู้อ่าน จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นชุมทางข่าวสาร และเป็นพื้นที่แรกๆที่ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางด้านข่าวสารของนักข่าวมืออาชีพ กับนักข่าวพลเมือง

สื่อทางเลือกเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นภาพของการเคลื่อนของความต้องการเสพข่าวสารที่นอกเหนือไปจากสื่อกระแสหลักที่เสนอความบันเทิง และทิศทางการพัฒนาที่ชนชั้นนำเหล่านั้นเป็นผู้กำหนด หากเราลองพิจารณาที่มาของสื่อทางเลือกนี้จะพบว่า ประเด็นที่พวกเขาเห็นว่าควรนำเสนอเป็นประเด็นที่ไม่มีอยู่ในสื่อกระแสหลัก พวกเขาพยายามจะสร้างแนวทางการสื่อสารแบบสองทาง และสื่อสารจากล่างขึ้นบน

 

เสียงจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนประชาชนที่ถูกเหยียด

ในทศวรรษ 2540 ภาคประชาชน เอ็นจีโอ มีบทบาทครอบงำความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นและชนบทอย่างสูง ทั้งในแง่ความรู้ความเข้าใจ และภาพลักษณ์ต่างๆ ความรังเกียจ “นักการเมือง” และ “การเมืองในระบบ” ทำให้สนามเลือกตั้งท้องถิ่นในเบื้องต้นถูกละเลยความสำคัญ

หลังจากที่ รัฐสภาได้พิจารณาผ่านกฎหมายท้องถิ่นแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ฉบับที่ 3 พ.ศ.2546, พระราชบัญญัติเทศบาลฉบับที่ 12 พ.ศ. 2546,  และพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2546 ทำให้ทุกตำแหน่งขององค์กรปกครองระดับท้องถิ่นในทุกระดับมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546[19] การกระจายอำนาจอย่างมหาศาลในครั้งนั้น แม้จะไม่เป็นที่ตระหนักการมากในช่วงแรกถึงพลังของมัน แต่ก็พบว่า อปท. เหล่านั้นเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น  รวมถึงสามารถสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้ในระดับหนึ่ง เช่น กรณีอบต.เวียงแหงร่วมกับชาวบ้านต้านโรงฟ้าถ่านหินได้สำเร็จ ฯลฯ

หน่วยทางการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นนี้พยายามสร้างการสื่อสารทั้งในพื้นที่ และภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข่าวสาร ประกาศเสียงตามสาย ขอคลื่นวิทยุ สร้างเวปในโลกอินเตอร์เน็ต(เข้าใจว่า หลัง 2547 เป็นต้นมา) สิ่งที่พวกเขาพยายามขอใช้โดยเฉพาะหน่วยอบต. คือ วิทยุ ซึ่งรัฐก็เปิดโอกาสให้แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรความถี่วิทยุทุกแห่ง ต้องเฝ้าฟัง (Monitoring) ความถี่ 162.525 MHz ที่เป็นช่องเรียกขาน เพื่อการติดต่อประสานงานหรือสั่งการจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งการเรียกขานของสถานีวิทยุคมนาคมที่เกี่ยวข้องหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสงค์ จะติดต่อประสานงานกับหน่วยงานในสังกัดกรมการปกครอง ให้ใช้ความถี่ 162.125 MHz ของกรมการปกครอง[20] ซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์ว่าวิทยุ อบต. เป็นเพียงการสวมรอยของกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ใช่วิทยุชุมชน เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่ใช้อำนาจรัฐในการทำงาน อบต. จึงจัดว่าเป็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาครัฐไม่ใช่องค์กรภาคประชาชน นอกจากนี้ การที่รัฐนำคลื่นไปแจกเท่ากับเป็นการคงความคิดการบริหารแบบบนลงล่างของระบอบอำนาจนิยม ซึ่งตรงกันข้ามกับกระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนอาสาเข้ามาดำเนินการเองอย่างเป็นอิสระ[21] ที่น่าสนใจก็คือ มีผู้เห็นโอกาสในการลงทุนกับ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดังกล่าว ถึงกับทำหนังสือพิมพ์รายปักษ์ อปท.นิวส์ ในปี 2549 อ้างว่ามียอดพิมพ์ 120,000 ฉบับ/ครั้ง เพียงแต่เนื้อหาภายในเป็นข่าวและความเคลื่อนไหวในโครงการสำคัญๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร เทศบาล อบต. อบจ. และผู้นำชุมชนท้องถิ่น

แต่นั่นก็คือ รูปแบบเดิมของการนำเสนอยังเป็นแบบสื่อกระแสหลัก และยังเป็นเสียงจากมุมมองของผู้นำเสียมากกว่า[22]

 

สื่อสมัครเล่น ชุมนุมความรู้สาธารณะและการสื่อสารของท้องถิ่น

พื้นที่ในโลกอินเตอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2540 ทำให้เกิดชุมชนออนไลน์ อันเป็นพื้นที่แบบใหม่ ที่ทำให้คนอีกมากที่ปรากฏตัวในนามของสำนึกท้องถิ่นนิยมผ่านความรู้ท้องถิ่น กีฬา และบันเทิง แรกเริ่มมันเป็นเว็บไซต์ที่นำเสนอผ่านหน้าเว็บได้เพียงอย่างเดียว แต่ก็ได้มีกลุ่มคนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่เข้าถึงพื้นที่และพยายามสร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นที่รวบรวม เสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับสิ่งที่ตัวเองสนใจดังกรณีของเว็บไซต์โลกล้านนา[23] ก่อตั้งราวเมษายน ปี 2543 ปาวารนาว่าเป็นเว็บไซต์ของคนเมือง กำเนิดขึ้นในเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่ผู้สนใจในข้อมูล ความรู้และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ ของชาวล้านนา ทั่วประเทศไทย

            เว็บไซต์ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ น่าจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องต่างๆเพียงด้านเดียว จนมาช่วงหลังจากเกิดการพัฒนาเว็บเวอร์ชั่นใหม่แล้ว บางเว็บจึงเปลี่ยนมาเป็นชุมชนเว็บบอร์ด ซึ่งน่าจะหลัง 2545 เป็นต้นมา เว็บไซต์-เว็บบอร์ดเชียงใหม่ 108 เกิดขึ้นราวปี 2546 สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นชุมชนชาวอินเตอร์เน็ตของจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน และคนเมืองที่อยู่ไกลบ้าน และ/หรือผู้มาเยี่ยมเยือนทุกคนเป็นสังคมแลกเปลี่ยนข่าวสาร ร้องทุกข์ และเรื่องสัพเพเหระ ยกเว้นเรื่องการเมือง

เว็บไซต์ทำนองเดียวกัน ก็เกิดขึ้นในจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงรายโฟกัส (2547), เว็บบล็อก on Lampang : เปิดโลกลำปาง (2549), เว็บบอร์ด 108 Lampang (2552) แอดแพร่ Addphrae.com ฯลฯ ที่น่าสนใจเป็นพิเศษก็คือ การเติบโตของมวลชนท้องถิ่นผ่านกิจกรรมกีฬานั่นก็คือ ฟุตบอลอาชีพที่กลายเป็นกีฬามวลชนที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายอันเนื่องมาจากการบูมของฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีกในระดับชาติ ตั้งแต่ช่วงปี 2552-2553 อานิสงส์ของความนิยมกีฬาดังกล่าวเชื่อมโยงมาสู่ระดับจังหวัด และได้ปลุกกระแสท้องถิ่นนิยม-จังหวัดนิยม ได้เป็นอย่างดี เพราะการเกิดขึ้นของทีมฟุตบอลไม่ได้มีแต่นักเตะ แต่ยังมีทีมกองเชียร์แฟนคลับที่ติดตามเชียร์ทีมรักของตัวเองด้วย การพบปะของพวกเขาไม่ได้มีเพียงบนอัฒจันทร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านเว็บไซต์-เว็บบอร์ดด้วย บางแห่งก็ใช้พื้นที่ของเว็บไซต์สโมสร บางแห่งก็ใช้พื้นที่เว็บไซต์ของตัวเอง ตัวอย่างเว็บไซต์-เว็บบอร์ดเช่น หมาเห่าใบตองแห้ง (www.mhahao.com) แฟนคลับของเชียงใหม่เอฟซี  กรีนแก๊ง (www.gglampang.com) แฟนคลับของลำปางเอฟซี, น่านริเวอร์แก๊ง (www.nanrivergang.com) แฟนคลับของ น่านเอฟซี

ขณะที่บางแห่งแฟนคลับก็ใช้พื้นที่ของสโมสรเปิดให้เลยเช่น แพร่ยูไนเต็ด (www.phraeutd.net) ลำพูนวอร์ริเออร์ (http://board.lamphunwarrior.com/) เชียงรายยูไนเต็ด (www.chiangrai-united.com/board)

สอดคล้องกับสถิติการใช้อินเตอร์เน็ตของ TrueHits ที่พบว่าปริมาณเข้าชมเว็บไซต์ของไทยโตขึ้นประมาณ 6 เท่าตัวในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2547-2553) หรือคิดเป็นต่อปี คือโตปีละ 1 เท่าตัว โดยมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างต่อเนื่องและคงที่[24]

 

ประชาธิปไตยของผู้บริโภคและอำนาจการโหวต

          พบว่ากระแสการบริโภคข่าวเกิดขึ้นอย่างมหาศาล เนื่องมาจากรายการข่าวโทรทัศน์ที่เกิดจากการ “เล่าข่าว” ซึ่งลดทีท่าและอารมณ์ข่าวที่เป็นทางการแบบผู้รายงานข่าว มาเป็นการเล่าข่าวที่ผ่านการออกแบบ และจงใจ เรื่องเล่าเช้านี้ (ช่อง 3 ปี 2546-ปัจจุบัน) คุยคุ้ยข่าว (ช่อง 9 ปี 2547-2549) ซึ่งกลายมาเป็นรายการเล่าข่าวต้นแบบมาถึงปัจจุบัน ที่น่าสนใจก็คือว่าได้มีการเริ่มเปิดการส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์ (SMS) เพื่อแสดงความรู้สึกต่อข่าวสาร รายการและผู้ดำเนินรายการ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การเปิดให้มีการโหวตความคิดเห็นของผู้ชมทางบ้านในประเด็นต่างๆ ซึ่งปรากฏในรายการ คุยคุ้ยข่าว

นอกจากรายการ ทรู อคาเดมี แฟนตาเชีย (2547) ที่เป็นรายการทางโทรทัศน์ระบบรับสมาชิกแล้ว รายการ เดอะสตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว (The Star) ที่ออกอากาศทางช่อง 9 ในปี 2546 ยังเป็นรายการประกวดร้องเพลงที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านโหวตเพื่อหาผู้ชนะ เสียงของผู้โหวตคือเสียงตัดสินสำคัญ

          กรณีที่น่าสนใจมากก็คือ การแพร่หลายของการที่โน้ต อุดม แต้พานิช เลือกคำว่า “ลำปางหนาวมาก” ในการแสดง เดี่ยว 7 (2551) โดยอ้างว่ามาจาก SMS รายการเล่าข่าว รายการหนึ่ง

ในด้านหนึ่งแล้วทำให้เห็นถึงการตอบโต้และการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่งทำให้เราเห็นถึงอำนาจโหวตที่ผู้มีสิทธิคือผู้มีเงิน สถิติของรายการ ทรู อคาเดมี แฟนตาเชีย พบว่า AF1ที่มียอดการโหวต 9 ล้านโหวต AF2 มียอด 11 ล้านโหวต AF3 มียอด 13.5 ล้านโหวต และ AF4 ที่มีจำนวนการโหวตถึง 20 ล้านโหวต[25] และแน่นอนปริมาณมหาศาลดังกล่าวก็คือ การโหวตเข้าสู่ส่วนกลาง ประชาธิปไตยแบบผู้บริโภคอย่างเหลื่อมล้ำเช่นนี้ เป็นคนละเรื่องกับประชาธิปไตยแบบพลเมืองที่เห็นคนเท่าเทียมกัน

 

ท้องถิ่นนิยม กับ การเมืองร่วมสมัยปลายทศวรรษ 2540

            รัฐประหาร 2549 เป็นหมุดหมายสำคัญของการเมืองร่วมสมัยยุคนี้ ในด้านหนึ่งมันทำให้เกิดการเขย่าตัวครั้งสำคัญของอุดมการณ์ทางการเมือง มีการแบ่งแยกขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจนที่สุดนับแต่หลังคำสั่ง 66/2533 แต่ในด้านหนึ่งแล้วมันทำให้สำนึกท้องถิ่นและเสียงเหล่านั้นจากพื้นที่ต่างๆ ถูกเบียดบังด้วยเสียงเรียกร้องทางการเมืองระดับชาติ ไม่เพียงเท่านั้นความเคลื่อนไหวด้านท้องถิ่นนิยมที่ผูกพันกับแนวความคิดชุมชนนิยมและการเคลื่อนไหวของประชาชน ถูกผนวกไปกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่แบ่งฝั่งกันอย่างชัดเจน ทำให้แรงทางการเมืองยิ่งผลักความชอบธรรมด้านนี้ออกไปอยู่ในมุมที่มืดมิดมากยิ่งขึ้น เรื่องของเรื่องมันเริ่มต้นมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารที่พลังทางการเมืองที่สอบทานรัฐบาลกลับกลายเป็นพลังอนุรักษ์นิยมที่บ่อนเซาะประชาธิปไตย

          ในด้านหนึ่งแล้วการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลังรัฐประหาร 2549 เป็นการรวมศูนย์การเมืองเข้าสู่เมืองหลวง และพื้นที่ส่วนกลางอีกครั้ง ทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะการสื่อสารจึงถูกใช้อย่างมากมายเพื่อการนี้ด้วย

         

การลุกฮือของ “ประชาชนต้านทักษิณ” หนทางสู่ “รัฐประหาร”

การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร มีมาอยู่อย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยถูกสื่อมวลชนและนักวิชาการตรวจสอบ แต่จุดที่ทำให้รัฐบาลไปอยู่ในจุดที่เพลี่ยงพล้ำและถือเป็นจุดชี้ขาด ก็คือ การสร้างกระแสและสื่อสารร่วมกันของมวลชนที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองที่นำโดยกลุ่มสื่อสารมวลชนอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล

การแตกหักกับรัฐบาลจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ในปี 2548 นำไปสู่การจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ณ สวนลุมพินีที่ทำให้มวลชนต้านทักษิณมาพบกันแบบเห็นหน้าค่าตากันอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก เมื่อมีพื้นที่มีเวทีกระแสต่อต้านก็ถูกหล่อเลี้ยงและจุดติดเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ขายหุ้นชินคอร์ป ฯลฯ ที่น่าสนใจก็คือ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของฐานผู้อ่าน Manager Online  เว็บไซต์ดังกล่าวนอกจากมีเนื้อหาที่ครอบคลุมข่าวสารในประเภทต่างๆแล้ว ยังเป็นเว็บไซต์ที่เกาะติดสถานการณ์การเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอย่างถึงพริกถึงขิง ผู้จัดการออนไลน์ นับเป็นเว็บต้นธารของข่าวสารฝ่ายต่อต้าน เสียงที่ดังจนกลบฝ่ายผู้สนับสนุน ยังได้รับการประสานเสียงผ่านนักวิชาการอาวุโส เทคโนแครตอีกจำนวนมาก ยังไม่ต้องนับว่ามีเว็บบอร์ดทางการเมืองอีกหลายแห่งที่ต่อต้านทักษิณยืนโรงอยู่ เช่น เสรีไทย, pantip.com ผู้ต่อต้านรัฐบาล ในด้านหนึ่งแล้วอาจนับว่าเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ตื่นตัวทางการเมืองอยู่เช่นกัน แม้ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามว่าหนทางล้มรัฐบาลโดยไม่ผ่านกรรมวิธีทางรัฐสภาและไม่แยแสการเลือกตั้งจะนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งก็เข้านิยาม “นักข่าวพลเมือง” ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองและต้องการที่ส่งสารแบ่งปันข้อมูลสู่ที่สาธารณะ ในกรณีก็คือ การทุจริตคอรัปชั่น นโยบายระดับต่างๆที่มีปัญหา

สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลถูกทำให้เป็นอื่น ในข้อหาเป็นพวกลิ่วล้อของทักษิณ ไม่ว่าจะกรณีคาราวานคนจน ฯลฯ คดีคาร์บอมบ์ที่หมายลอบสังหารทักษิณ ก็ถูกสื่อทำให้กลายเป็นเรื่องตลก ในที่สุดรัฐประหารก็เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยข้ออ้างว่า ถ้าทหารไม่ออกมาประชาชนที่เป็นพวกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะถูกรัฐบาลปราบปราม

 

“นักข่าวพลเมือง” คำที่ผุดเกิดจากผืนดินที่ทหารเป็นใหญ่

            เว็บบล็อกของสุทธิชัย หยุ่นในปี 2550 เป็นผู้แปลคำว่า “citizen journalist” เป็นคำว่า “นักข่าวพลเมือง” ขึ้นเป็นคนแรกดังที่กล่าวไปแล้วในตอนที่1 การเกิดขึ้นของเว็บบล็อก oknation จึงเป็นการเปิดพื้นที่ตามนิยาม “ข่าวพลเมือง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสอดคล้องกับการล้มลงของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งจากผู้เขียนบล็อกคนอื่นๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีท่าทีในการสนับสนุนรัฐประหารดูจากบทความ เช่น "รัฐประหาร 2549 สกัดกั้นการเผชิญหน้า" (2550) [26] "มือใหม่หัดขับ ปฐมฤกษ์ blog ด้วยเพลงหน้าเหลี่ยม!!" (2550) [27] น่าสงสัยกับการตื่นตัวของเครือเนชั่นเรื่อง นักข่าวพลเมือง ราวกับว่าช่องทางนี้ เป็นความต้องการจะไถ่บาปให้กับการเป็นบันไดให้กับรัฐประหาร

การขยายตัวของเว็บบอร์ดฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร

          นอกจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทักษิณจะต่อสู้อย่างต่อเนื่องแล้ว พบว่า หลังจากที่นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมเริ่มหายมึนงง กับการรัฐประหาร ก็เริ่มมีการท้าทายเผด็จการทหารมากขึ้นเรื่อยๆ วันที่ 27 กันยายน 2549 ได้มีการรวมตัวกันเสวนาต้านรัฐประหารที่สนามหญ้าหน้าคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งแจ้งว่า ทราบข่าวมาจากเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง[28]

          การต่อต้านรัฐประหารในทางกายภาพนั้นถูกกดดันอย่างมาก การแสดงออกในพื้นที่สาธารณะตามที่ต่างๆล้วนมีอุปสรรคด้วยกฎหมายห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน แม้กระทั่ง สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ปราศรัยต่อต้านรัฐประหาร ก็ยังถูกจับกุมที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550[29]

ดังนั้น การสื่อสารสำคัญในช่วงนี้จึงมีการขยายตัวผ่านพื้นที่สาธารณะลับ และกึ่งลับ อย่าง No Coup (www.nocoup.org), เว็บบอร์ดประชาไท (www.prachathai.com), เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน (www.sameskybooks.com) ฯลฯ ในที่นี้เราจะเห็นได้ว่า ผู้ส่งสารในพื้นที่เว็บบอร์ดได้ทำตัวเป็น “นักข่าวพลเมือง” นั่นเอง โดยมีเนื้อหาอยู่ที่การต่อต้านรัฐประหารและความไม่ชอบธรรมในรัฐเผด็จการ ผ่านพื้นที่สาธารณะทางอินเตอร์เน็ต

อย่างไรก็ตามรัฐบาลเผด็จการก็ออกกฎหมายสำคัญออกมา 2 ฉบับนั่นคือ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ในระบอบการสื่อสารการพิมพ์ที่ได้ยกเลิก กฎหมายเผด็จการตัวเก่าตั้งแต่ปี 2484-2519 และที่น่าสนใจก็คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 สอดคล้องกับการขยายตัวของการสื่อสารและความพยายามของรัฐที่ต้องการจะควบคุมพื้นที่เหล่านี้อยู่แล้ว

 

การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และการเมืองของพื้นที่ โอกาสการต่อสู้ใต้อำนาจเผด็จการ

          สนามการต่อสู้ครั้งใหญ่อีกครั้งที่มีการตอบโต้ข้อมูลสนับสนุนและต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากว่า เป็นโอกาสที่เปิดกว้างที่สุดภายใต้บรรยากาศรัฐประหารที่ให้นักวิชาการได้ถกเถียงกันในที่สาธารณะทั้งสองฝ่าย[30]  แต่ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เอาเข้าจริงมันไม่ใช่การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณอย่างอิสระ การลงมตินั้นถูกข่มขู่ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญเช่น สังศิต พิริยะรังสรรค์ หนึ่งในสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นไปได้ว่าจะห้ามการรณรงค์ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี[31] กระแสการต่อสู้ดังกล่าวนอกจากการเสนอเรื่อง รับ ไม่รับแล้ว ยังมีอีกกระแสหนึ่งก็คือ ไม่ร่วมกับการดีเบทครั้งนี้เลย เพราะถือว่าเป็นกระบวนการที่ผิดมาตั้งแต่รัฐประหารแล้ว ผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่มีความชอบธรรมใดๆ[32]

          การรณรงค์นี้มีทั้งการปรากฏตัวในที่สาธารณะการปล่อยข่าวให้ร้ายฝ่ายต่อต้านผ่านทางสื่อกระแสหลัก การที่ฝ่ายรัฐใช้งบซื้อสื่อผ่านหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ฝ่ายต่อต้านก็พยายามรณรงค์ผ่านวิธีการที่หลากหลาย ด้านหนึ่งก็คือการลงโฆษณาในเว็บไซต์ ที่มีตัวอย่างหลงเหลืออยู่ก็คือ รณรงค์ Vote No ในเว็บกระปุก (www.krapook.com)

 

เปลี่ยนไอทีวีเป็นทีไอทีวีและสู่ทีวีสาธารณะ?

            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไทยพีบีเอส หรือทีวีไทย เกิดขึ้นภายใต้การรัฐประหาร 2549 ความหวังดีของการเกิดโทรทัศน์สาธารณะนั้นก็เกิดขึ้นบนรากฐานความคิดเดียวกับ 2550 ที่หวังผลจะสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคมไทย โดยไม่ดูกระบวนการว่ามันกำเนิดขึ้นด้วยกระบอกปืน รถถังและท็อปบูธ ความน่าผิดหวังดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยี่หระต่อความเสียหายจากการรัฐประหาร และเลือกใช้สถานะที่คนอื่นไม่สามารถโต้แย้งได้อย่างถนัดสถาปนาเครื่องมือทางอำนาจในนามของความหวังดีขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ทีวีสาธารณะแห่งนี้จะทำการเปิดพื้นที่สาธารณะมากกว่าโทรทัศน์ที่บริษัทเอกชนได้รับสัมปทาน และมีรายการที่มีเนื้อหาน่าสนใจไม่น้อย กระทั่งมีการเปิดพื้นที่ที่เรียกว่า “นักข่าวพลเมือง” ขึ้นด้วยก็ตาม อย่างไรก็ตาม แบรนด์ทีวีสาธารณะที่พร่ำบอกถึงความหวังดี ความเป็นกลาง การเอาใจใส่วิถีชุมชน แต่ภายใต้เสื้อคลุมนี้ที่มีภาพลวงคล้ายกับประชาธิปไตย มันแย้งกับจุดกำเนิดที่มาจากรัฐประหาร สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสร้างนิสัยแบบเดียวกับพวกที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า “รับๆไปก่อน” แล้ว มันยังทำให้เกิดข้อกังขาต่อผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยด้วย สิ่งที่ปรากฏเห็นชัดก็คือ สารคดี 2475 ในวาระที่ครบรอบ 80ปี ที่ไม่ได้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำนาจอธิปไตยเอาเสียเลย จนไม่แน่ใจว่าจริงๆแล้วเป็นสารคดีที่ตั้งใจประชดหรือเปล่า ทีวีสาธารณะกับนักข่าวพลเมืองในนามของไทยพีบีเอสจึงเป็นที่น่ากังขา ในสถานการณ์การเมืองและประชาธิปไตยที่ยังไม่ลงตัว

 

ความไม่พอใจต่อเนื่อง จากยุบ 2 พรรค สู่การปราบปราม 2553

          การชนะเลือกตั้งของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนจนถึงความไม่พอใจไปจนถึงการยึดทำเนียบรัฐบาล และปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2551 ถือเป็นการเปิดสมรภูมิรบ การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นอย่างท่วมท้นจนในที่สุดก็เป็นแรงกดดันทำให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรค สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะขึ้นรับตำแหน่งด้วยการผลักดันของกองทัพด้วยการจับขั้วกับเนวิน ชิดชอบ หลังจากนั้นก็นำไปสู่การชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2552 และ 2553 กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลกระจายไปทั้งในการชุมนุมและการรายงานข่าวผ่านเว็บไซต์-เว็บบอร์ดทางการเมือง ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพบการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นชุมชนท้องถิ่นด้วยการระบุอัตลักษณ์ผ่านป้าย เช่น กลุ่มรักเชียงใหม่ 51, กลุ่มเสื้อแดงรักลำปาง 51 ฯลฯ

จนในที่สุดก็เกิดเหตุล้อมปราบจากรัฐบาลจนเกิดการเสียชีวิตเกือบ 100 ศพ ระหว่างนั้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้ใช้ช่องทางการสื่อสารใหม่ของผู้เสพและติดตามข่าวสารนั่นก็คือ ผ่าน Facebook ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นพื้นที่สื่อสารขนาดมหึมาของผู้ต่อต้านรัฐบาลอันเนื่องมาจากความรุนแรง และเป็นช่องทางในการนัดพบกันเพื่อไว้อาลัยและแสดงพลังของคนเสื้อแดงผ่านแคมเปญต่างๆ เนื่องจากว่ามันมีฟังก์ชั่น แชร์รูป โพสต์สเตตัส การทำบันทึกข้อความ การจัดกลุ่ม การทำเพจ รวมไปถึงการจัดอีเวนต์กิจกรรมต่างๆ พบว่าผู้ใช้ Facebook กลายเป็น “นักข่าวพลเมือง” ที่มีบทบาทถ่ายทอดข้อมูลจากพื้นที่จริง หรือพบการแชร์ ส่งต่อ หรือการรวบรวมข้อมูลต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม  

กิจกรรม “ที่นี่ มีคนตาย” ของ สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) ที่เกิดขึ้นจริงบริเวณราชประสงค์ก็ได้รับการส่งต่อผ่านทาง Facebook และช่องทางอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีการเผยแพร่วิธีเดียวกันนี้ ด้วยการถ่ายรูปรณรงค์เรื่อง “ที่นี่ มีคนตาย” ไปสู่ที่ต่างๆทั่วโลก เพื่อแชร์ให้เห็นความผิดปกติของรัฐบาลที่สั่งฆ่าประชาชน

แน่นอนว่า Facebook มีลักษณะต่างไปกับ เว็บไซต์เว็บบอร์ด เนื่องจากมันเกี่ยวโยงกับอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน และความเป็นส่วนตัวที่คาบเกี่ยวกับพื้นที่ส่วนรวมได้ ความกระอักกระอ่วนหลายครั้งเกิดจากความเห็นที่ต่างกันของเพื่อนแต่ยืนอยู่คนละสีเสื้ออุดมการณ์ ความรุนแรงของการเขย่าทางการเมืองนี้ ทำให้เกิดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างกันมากขึ้นในท้องถิ่นและพื้นที่ขนาดเล็ก

 

การเมืองระดับประเทศ ผ่านสมรภูมิน้ำท่วม 2554

          นอกจากนั้น ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังพบการปะทะกันสมรภูมิข้อมูลฝั่งต่อต้านและสนับสนุนรัฐบาลในประเด็นน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ด้วยการต่อสู้ด้วยกระสุนและดงระเบิดข้อมูล ฝ่ายต่อต้านก็ลากความเลวทราม ความผิดพลาดออกมาโจมตี ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็ต้องหาทางปกป้อง หรือพิสูจน์สิ่งที่ถูกกล่าวหากันไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกลิ่มความขัดแย้งและแบ่งเขาแบ่งเรามากขึ้นไปอีก         

 

หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกับสถานภาพและบทบาทที่สับสน

พวกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ได้มีการนัดประชุมใหญ่ร่วมกันเมื่อปี 2552[33] ได้สะท้อนปัญหาจากการวิจัยทั่วประเทศ พบว่าจากการสำรวจหนังสือพิมพ์ 254 ฉบับ พบว่าปัจจัยภายในองค์การหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องความอยู่รอดและเสี่ยงต่อการดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างยิ่ง นั่นหมายถึงการจะเกิดผลกระทบโดยตรงกับบทบาทของสื่อในการทำหน้าที่ตรวจสอบสังคม มีความสุ่มเสี่ยงต่อจริยธรรมวิชาชีพ ต้องพึ่งพาทุนหรือโฆษณา ทำให้หนังสือพิมพ์ขาดความเป็นอิสระ แต่หากมองอีกมุมจะเห็นได้ว่า บทบาทของสื่อกระดาษในปัจจุบัน อาจไม่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมที่คนบริโภคสื่อดิจิตอลมากขึ้น ยังไม่นับว่าเนื้อหาของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่นมากเท่าใดด้วย

 

ทรัพยากรการสื่อสารที่ผ่านมามุ่งไปสู่ส่วนกลางแทบทั้งสิ้น

ความพยายามในการสื่อสารของ “นักข่าวพลเมือง” ดังกล่าว เป็นไปตามแอกภาระทางการเมืองอันหนักอึ้ง พลังดังกล่าวล้วนดึงเอาทรัพยากรไปสู่สมรภูมิการต่อสู้เพื่อพยุงและล้มรัฐบาลทั้งสิ้น นอกจากต้นทุนชีวิตที่ต้องสูญเสียไปแล้ว การใช้ช่องทางการสื่อสารในทางการเมืองที่มุ่งไปสู่ศูนย์กลางคือ รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯอย่างเดียว นั่นอาจหมายถึงการเบียดบัง และปิดกั้นโอกาสของช่องทางการสื่อสารอันหลากหลายอื่นๆไปในตัวหรือไม่?

 

นักข่าวพลเมือง กับ การแยกออกจากการเมือง?

          จากการขยายตัวของ Facebook  และการเกิดขึ้นของ application ทางสมาร์ทโฟน ทำให้การแชร์ข้อมูล รูปภาพ ข่าวสารต่างๆ ถูกทำให้ง่ายขึ้นและเข้าถึงอย่างเป็นไปได้มากขึ้นแม้จะไม่ทั้งหมด เราจึงพบเห็นการรายงานข่าวสารข้อมูลอย่างมากมายมหาศาล ผ่านคนรายงานเดินดิน ขอให้มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต พวกเขาก็พร้อมที่จะรายงาน ซึ่งในมิตินี้ส่วนใหญ่เป็นการรายงานข่าวที่ลบมิติทางการเมืองแบบเข้มข้นออกไป การเมืองที่หมายถึงพรรคการเมือง การเลือกตั้ง หรืออุดมการณ์เสื้อสี เราจึงพบการแชร์ข้อมูลข่าวสารของ “นักข่าวพลเมือง” ในแง่การบริโภคและชีวิตประจำวัน ที่กลายเป็นการสร้างชุมชนออนไลน์อีกแบบที่แตกต่างไปจากเว็บบอร์ดในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพจแนะนำร้านอาหารในท้องถิ่นของตน เช่น Facebook/ลำปางยังหวานอยู่, หรือการรายงานการตั้งด่านของตำรวจเช่น Facebook/ด่านเชียงใหม่, Facebook/มีด่าน บอกด้วย เพราะเรารักด่านตรวจ@ลำปาง ฯลฯ

 

คำถามต่อไปถึง นักข่าวพลเมือง กับ ประเด็นท้องถิ่นจัดการตนเอง?

          ในขณะที่การเมืองระดับชาติยังฟาดกันอยู่อีกยกใหญ่ แต่ก็ปรากฏว่าเริ่มมีการผลักดันประเด็นท้องถิ่นจัดการตนเอง โดยเนื้อหาและความตั้งใจ รวมถึงปลายก็นับว่าเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกตอย่างมากก็คือ เราจะพบว่า ประเด็นท้องถิ่นจัดการตนเองนี้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ห่างไกลจากการรับรู้ของมวลชน การถกเถียงในที่สาธารณะอย่างกว้างขวางนัก บทบาทตรงนี้ควรเป็นพื้นที่ใหม่ๆของนักข่าวพลเมืองหรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้นการตรวจสอบการเมืองท้องถิ่น สภาเทศบาล ที่เป็นอำนาจสำคัญที่เกิดขึ้นมาใหม่และยึดโยงกับพื้นที่และอำนาจของประชาชน แทบจะไม่เป็นข่าว ในขณะที่พื้นที่เมือง พื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท และพื้นที่ชนบท กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล ข่าวสารและความรู้จากท้องถิ่นเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาเล่าไม่ว่าจะโดยสื่อกระแสหลัก หรือคนที่เรียกตัวอเองว่าเป็น “นักข่าวพลเมือง”

          อย่าลืมว่าในพลังการสื่อสารมหาศาลในยุคนี้ที่ถูกยึดพื้นที่ด้วยสองส่วนสำคัญนั่นคือ ในด้านการเมือง และอีกด้านหนึ่งคือการบันเทิงและพักผ่อนดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งนี่คืองานยากที่จำเป็นต้องตระหนัก ดังนั้นพลังของนักข่าวพลเมืองนั้น ไม่ใช่ว่าจะหมดหนทางหรือโอกาสที่จะทำงานเป็นปากเสียงเพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคในระบบประชาธิปไตยเสมอไป เพียงแต่ว่าต้องครุ่นคิดกันอย่างหนักถึงบทบาท สถานภาพที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และประเมินกันว่า ท่าทีและรูปแบบที่จะอยู่รอด และการกลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างสรรค์ประชาธิปไตยได้นั้น มีทางออกทางไปสู่ทางใดได้บ้าง

         

 

 

 

 




[1] บทความประกอบการเสวนาสาธารณะ “น้ำยานักข่าวพลเมือง : กำเนิด ความเสื่อมถอย และการเกิดใหม่? : กรณีศึกษาภาคเหนือประเทศไทย” ที่ตัดมาจากงานวิจัย การเกิดขึ้นและขยายตัวของนักข่าวพลเมือง กับความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยในภาคเหนือของประเทศไทย วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555 ณ ร้านหนังสือ Book Re:public จังหวัดเชียงใหม่

[2]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์,อ้างแล้ว น.32

[3]ดูเพิ่มในธงชัย วินิจจะกูล. (2543) การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอดีต: ประวัติศาสตร์ใหม่ในประเทศไทย

หลัง 14 ตุลาคม. ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ. (บรรณาธิการ) สถานภาพไทยศึกษา: การสำรวจเชิงวิพากษ์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

[4]ดูในยุกติ มุกดาวิจิตร. การก่อตัวของกระแสวัฒนธรรมชุมชนในสังคมไทย พ.ศ. 2520-2537.วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2538

[5]คณะนักวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจนกรณีปากมูนและเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.2545. “แม่มูน”การกลับมาของคนหาปลา.กรุงเทพฯ : เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย

[6]อรรถจักร สัตยานุรักษ์,อ้างแล้ว น.32

[7]ประชาธรรม. (2547). “ความเป็นมา”(ออนไลน์). สืบค้นจาก: ประชาธรรม http://prachatham.com/about.htm . [11ธันวาคม 2555]

[8]นิธิ เอียวศรีวงศ์. ปาฐกถาในเวทีประชุมประชาธรรมประจำปี 2547 "ผ่าทางตันสื่อไทยสู่สื่อทางเลือก"  24 เมษายน 2547(ออนไลน์).สืบค้นจาก: ประชาธรรม www.prachatham.com. [11 ธันวาคม2555]

[9]พูลสมบัติ นามหล้า. (2552). “วิทยุชุมชน: การมีส่วนร่วมของประชาชนในสื่อเพื่อชีวิตและสังคมท้องถิ่น” (ออนไลน์). สืบค้นจาก: ประชาไท http://prachatai.com/journal/2009/06/24613 .[11ธันวาคมม 2555]

[10]มติชนออนไลน์,กสทช.ลุย"500วิทยุชุมชน"ทั่วปท. ลด"กำลังส่ง-เสาสูง"ฝ่าฝืนปรับ5ล้าน 5 พฤศจิกายน 2555(ออนไลน์), สืบค้นจาก:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352084053&grpid=00&catid=00. (11 ธันวาคม 2555)

[11]ประชาธรรม. (2547). “ความเป็นมา”(ออนไลน์). สืบค้นจาก: ประชาธรรม http://prachatham.com/about.htm .[12 ธันวาคม 2555]

[12]เรื่องเดียวกันกับเชิงอรรถที่ 24

[13]นันทา เบญจศิลารักษ์. (มกราคม 2552),สัมภาษณ์

[14] สรุปจาก บ้านนอกดอทคอม,(2554), “กว่าจะเป็นกระจกเงา”(ออนไลน์). สืบค้นจากบ้านนอกดอทคอม : http://home.bannok.com/aboutus  ,(13 ธันวาคม 2555)

บ้านนอกทีวี, (ไม่ระบุ), “กว่าจะเป็นบ้านนอกทีวี”(ออนไลน์). สืบค้นจากบ้านนอกทีวี: http://home.bannoktv.com/about ,(13 ธันวาคม 2555)

[15] บ้านนอกTV อนาคตทีวีชุมชน. (ไม่ระบุ), บ้านนอกTV อนาคตทีวีชุมชน(ออนไลน์), สืบค้นจากไทยเอ็นจีโอ : http://www.thaingo.org/story3/news_television_120546.htm ,(13 ธันวาคม 2555)

[16] ประชาไท,  (2554), จับวิทยุ-โทรทัศน์ชุมชนนครศรีฯไม่ได้รับอนุญาตยึดเครื่องส่งดำเนินคดี (ออนไลน์), (13 ธันวาคม 2555)

[17]ประชาไท. (2547). “เกี่ยวกับประชาไท”(ออนไลน์). สืบค้นจาก: ประชาไท http://prachatai.com/about. [10 ธันวาคม 2555]

[18]มานะ ตรีรยาภิวัฒน์.(2552). “Citizen Journalism...วารสารศาสตร์พลเมือง (2)” (ออนไลน์). สืบค้นจาก: สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย. http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1071:citizen-journalism-2&catid=46:academic. [11 ธันวาคม2012]

[19]ชัยพงษ์  สำเนียง, (2555),รากฐานประชาธิปไตยและพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน: ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)(ออนไลน์), สืบค้นจากประชาไท : http://prachatai.com/journal/2012/06/41247,(12 ธันวาคม 2555)

[20]อบต.คุริง, (2548), การขออนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ออนไลน์),สืบค้นจาก เวปอบต.คุริง:http://www.khuring.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5364774&Ntype=4,(12 ธันวาคม 2555)

[21]อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์, (2546), ความแตกต่างระหว่างวิทยุชุมชน และวิทยุ อบต.(ออนไลน์),สืบค้นจาก วิทยุชุมชนท่าทราย:http://www.watthasai.org/chumchon/c_obt_radio.html, (12 ธันวาคม 2555)

[22]อปท.นิวส์, (2549),เกี่ยวกับเรา อปท.นิวส์(ออนไลน์), สืบค้นจากอปท.นิวส์: http://www.opt-news.com/th/about.html,(12 ธันวาคม 2555)

[23] โลกล้านนา, (2546), เกี่ยวกับโลกล้านนา(ออนไลน์), สืบค้นจาก โลกล้านนา: http://www.lannaworld.com/about_us/ ,(13 ธันวาคม 2555)

[24] เครือข่ายพลเมืองเน็ต.(2553). “คู่มือนักข่าวพลเมือง”. กรุงเทพฯ : ภาพพิมพ์,น.21

[25] "โหวตง่าย โหวตกระจาย" ใน  Positioning Magazine (พฤษภาคม 2551)  อ้างใน http://www.positioningmag.com/magazine/printnews.aspx?id=69700 (13 ธันวาคม 2555)

[26] Nity. "รัฐประหาร2549 สกัดกั้นการเผชิญหน้า" . http://www.oknation.net/blog/nity/2007/01/29/entry-10 (29 มกราคม 2550)

[27] prigsir. "มือใหม่หัดขับ ปฐมฤกษ์ blog ด้วยเพลงหน้าเหลี่ยม!!" . http://www.oknation.net/blog/print.php?id=36503 (พฤษภาคม 2550)

[28] "รายงานพิเศษ : ด้วยแรงแห่ง "ความกดดัน" ตำรวจเกาะติดเสวนา "กลางแจ้ง" เกิน 5 คนที่ มช.". http://www.prachatai.com/journal/2006/09/9878 (28 กันยายน 2549)

[29] สำนักข่าวชาวบ้าน "ใช้อัยการศึก จับ “สมบัติ บุญงามอนงค์” เหตุปราศรัยพาดพิงคมช."  http://www.peoplepress.in.th/archives/autopagev3/show_page.php?group_id=1&auto_id=43&topic_id=905&topic_no=116&page=1&gaction=on (13 ธันวาคม 2555)

[30] ประชาไทออนไลน์. "ดีเบต รับ-ไม่รับ ร่าง รัฐธรรมนูญ 2550 : วันที่ 3 สิงหาคม 2550". http://prachatai.com/page/constitution-debate-2007-08-03 (13 ธันวาคม 2555)

[31] “Referendum law or penalty law? Focus is on punishments rather than procedures and guidelines for holding a vote on new charter" The Nation, [1], 6 July 2007. http://www.nationmultimedia.com/2007/07/06/politics/politics_30039559.php (December 13, 2012)

[32] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. "เราต้องโฆษณาว่า "ไม่รับการลงประชามติ" ไม่ใช่ "ไม่รับรัฐธรรมนูญ".http://prachatai.com/journal/2007/07/13319 (3 กรกฎาคม 2550)

[33] ประชาธรรม.  "หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น : เศษกระดาษใต้เบื้องบาทอำนาจทุน" .http://www.prachatham.com/detail.htm?dataid=6231&code=r1_22052009_01 (22 พฤษภาคม  2552)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net